สรุปความสำคัญ

นักกิจกรรม "ราษฎร" 8 ราย ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, “ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา, "บอย" พงศธรณ์ ตันเจริญ และ "แอมป์" ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมอีกหลายข้อหา หลังร่วมชุมนุม #25พฤศจิกาไปSCB บริเวณหน้าธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2563 และขึ้นปราศรัยตั้งคำถามกรณีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ออกกฎหมายหลายฉบับทำให้ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินกลายเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยมีประชาชนเป็นผู้เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดี

หลังอัยการยื่นฟ้อง ศาลอาญาไม่ให้ประกันอานนท์, พริษฐ์ และภาณุพงศ์ ระหว่างพิจารณาคดี อ้างเหตุว่าพฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรง ประกอบกับจำเลยถูกดำเนินคดีซ้ำกันหลายคดี หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เชื่อว่าจะก่อเหตุอันตรายประการอื่น หรือหลบหนี

เป็นอีกกรณีที่สะท้อนปัญหาสำคัญของการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ใครก็ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ ทำให้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งกลุ่มคนที่เห็นต่างทางการเมืองอย่างกว้างขวางเช่นในปัจจุบัน

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ชินวัตร จันทร์กระจ่าง
    • พริษฐ์ ชิวารักษ์
    • อานนท์ นำภา
    • วรรณวลี ธรรมสัตยา
    • พรหมศร วีระธรรมจารี
    • ภาณุพงศ์ จาดนอก
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • พงศธรณ์ ตันเจริญ
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

25 พ.ย. 2563 กลุ่ม “ราษฎร” ได้นัดหมายชุมนุม บริเวณหน้าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แยกวังแดง ต่อมาหลังมีการวางตู้คอนเทนเนอร์ ลวดหนาม พร้อมทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนจำนวนมากโดยรอบสำนักงานทรัพย์สินฯ ทำให้ “ราษฎร” เปลี่ยนแปลงสถานที่นัดหมายเป็นหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ถ.รัชดาภิเษก #25พฤศจิกาไปSCB เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกับเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ต้องการสร้างความรุนแรง

โดยตั้งแต่ช่วงเช้าถึงเย็นก็ปรากฏว่า ตำรวจยังคงตรึงกำลังเข้มโดยรอบเส้นทางที่จะไปสู่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

การชุมนุมในวันดังกล่าวมีการปราศรัยตั้งคำถามต่อกรณีที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ออกกฎหมายหลายฉบับที่ทำให้ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินกลายเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

22 ธ.ค. 2563 นักกิจกรรมกลุ่ม “ราษฎร” 6 ราย ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, “ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา นักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยา เข้ารับทราบข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการชุมนุม #25พฤศจิกาไปSCB เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2563 ที่บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ หลังได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาจาก สน.พหลโยธิน

พนักงานสอบสวนแจ้งข้อเท็จจริงที่กล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหกทราบ สรุปใจความได้ว่า ผู้ต้องหาทั้งหกทำหน้าที่ในการชักชวนคนมาร่วมชุมนุม ทำการขึ้นปราศรัย ในกิจกรรมทวงคืนทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์มาเป็นของประชาชน โดยต้องการให้ประชาชนทั่วไปได้รับฟังการปราศรัยเชื่อว่าพระมหากษัตริย์เบียดบังเอาทรัพย์สินของแผ่นดินมาเป็นของตนเอง มีการปิดถนนรัชดาภิเษกขาออก ช่วงบริเวณด้านหน้าธนาคารไทยพาณิชย์สาขาสำนักงานใหญ่ มีการใช้เครื่องขยายเสียง โดยที่การชุมนุมดังกล่าวไม่ได้มีการขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบก่อนจัดให้มีการชุมนุมแต่อย่างใด อีกทั้งเป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก เสี่ยงต่อการติดโรคระบาด

จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหานักกิจกรรมทั้งหกรวม 8 ข้อหา นอกจากข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 ยังมีข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมอีก 6 ข้อหา ได้แก่ ไม่แจ้งการชุมนุม, มั่วสุมก่อความวุ่นวาย, ไม่เลิกมั่วสุมเมื่อเจ้าหน้าที่สั่งให้เลิก, กีดขวางทางสาธารณะ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหกให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวไป

คดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น 7 ราย ผู้ถูกกล่าวหาอีกหนึ่งรายที่ติดธุระไม่ได้มาในวันนี้ คือ พงศธรณ์ ตันเจริญ กลุ่มแนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตย โดยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 4 ม.ค. 2564 นอกจากนี้ ตำรวจยังได้ออกหมายเรียกณวรรษ เลี้ยงวัฒนา นักกิจกรรมอีกรายที่ขึ้นปราศรัยในการชุมนุมครั้งดังกล่าวมาแจ้งข้อหาเพิ่มอีก 1 ราย

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สน.พหลโยธิน ลงวันที่ 22 ธ.ค. 2563 และ https://tlhr2014.com/archives/24348)

ภูมิหลัง

  • อานนท์ นำภา
    จบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี 2551 เริ่มเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ปี 2553 ก่อตั้งสำนักงานทนายความราษฎรประสงค์ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน นอกจากนี้ยังเป็นทนายความในเครือข่ายของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม (ศปช.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
  • ชินวัตร จันทร์กระจ่าง
    แกนนำกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป. รุ่น 2, ประธานเครือข่ายคนรุ่นใหม่ จ.นนทบุรี
  • พริษฐ์ ชิวารักษ์
    อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท
  • พงศธรณ์ ตันเจริญ
    นิสิตวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และนักกิจกรรมกลุ่ม "แนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตย"
  • ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา
    เริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่การเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. โดยค่อนข้างเอนเอียงไปกับ กปปส. แต่ด้วยความที่ที่บ้านมีช่องเคเบิ้ลของทั้งเสื้อแดง ทั้งเสื้อเหลือง ทำให้ณวรรษเริ่มตั้งคำถาม

    ต้นปี 2563 ที่ณวรรษเพิ่งเรียนจบ กำลังรอรับปริญญา ได้รู้จักนักเคลื่อนไหวหน้าใหม่ เข้าร่วมกลุ่มตลาดหลวง (Royalist Marketplace) ในเฟซบุ๊ก จนชัดเจนกับตัวเองว่าจะอยู่ฝั่งไหน เวลาผ่านไป 2 ปี ณวรรษเปลี่ยนมาสนใจการเมืองขนาดที่กลายเป็นทุกอย่างในชีวิต มองโลกด้วยมุมมองของคนที่เป็นผู้ใหญ่ เข้าใจว่าหลายอย่างในประเทศมันถูกกดทับด้วยโครงสร้างทางการเมือง

    (อ่านเพิ่มเติมที่ https://tlhr2014.com/archives/40629)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์