สรุปความสำคัญ

ณัฐชนน ไพโรจน์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถูกดำเนินคดี "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ผลิตหนังสือปกแดง "ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา 10 ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์” ซึ่งเป็นหนังสือรวมคำปราศรัยถึงข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของ อานนท์ นำภา, "ไมค์" ภาณุพงศ์ จาดนอก และ "รุ้ง" ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 และคำปราศรัยของ "เพนกวิน" พริษฐ์ ชิวารักษ์ ในการชุมนุม #จัดม็อบไล่แม่งเลย ที่ขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563 หลังกำลังตำรวจเข้าตรวจยึดหนังสือดังกล่าวจํานวน 45,080 เล่ม ที่เตรียมนำไปแจกจ่ายในการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร

ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยตั้งแต่กลางปี 2563 ไม่เคยได้รับการพิจารณาหรือตอบรับจากผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ ในทางตรงข้ามรัฐบาลกลับดำเนินคดีแกนนำที่นำเสนอข้อเรียกร้องดังกล่าวและผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนหลายสิบคดี โดยเฉพาะข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ"

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ณัฐชนน ไพโรจน์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

19 ก.ย. 2563 เวลา 10.40 น. ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจาก สภ.คลองหลวง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เดินทางไปบ้านนักกิจกรรมใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ รังสิต จากนั้นพยายามยึดหนังสือ “ปรากฎการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” ซึ่งเป็นหนังสือบันทึกคำปราศรัยวิจารณ์พระราชอำนาจจากเวที #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อ 10 ส.ค. 2563 จำนวน 49,990 เล่ม สำหรับแจกผู้ชุมนุมวันนี้ซึ่งจัดเรียงอยู่ในรถบรรทุกเรียบร้อยแล้ว โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าจะนำหนังสือไปตรวจสอบว่ามีเนื้อหาล้มล้างการปกครองหรือไม่

ทั้งนี้ ตำรวจไม่ได้แสดงหมายค้นซึ่งแสดงว่าเจ้าหน้าที่คนใดเป็นผู้ค้น เจ้าหน้าที่มีจำนวนเท่าใด มีอำนาจใดในการค้น ตลอดจนต้องการค้นหาที่ใดของบริเวณที่พัก และไม่ได้แสดงหมายจับ นักศึกษานั่งคล้องแขนขวางรถบรรทุกขนหนังสือไว้ และเสนอให้ตำรวจนำหนังสือไปตรวจได้จำนวนหนึ่ง หากหนังสือเหล่านี้มีเนื้อหาเข้าองค์ประกอบความผิดฐานการล้มล้างการปกครองดังกล่าว ให้ตามไปยึดได้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แต่ตำรวจอ้างว่าในรถอาจมีสิ่งของอื่นที่อาจผิดกฎหมายอีก

11.17 น. ตำรวจกว่า 20 นาย ล้อมกลุ่มนักศึกษาราว 10 รายไว้ และมีการนำกำลังตำรวจมาสมทบมากขึ้น จากนั้นตำรวจ 3 นาย ได้เปิดประตูหลังของรถบรรทุกและตะโกนถามว่ามีอะไรผิดกฎหมายอีกหรือไม่ ตำรวจอีกส่วนหนึ่งที่อยู่ด้านหน้ารถบรรทุกพยายามลากตัวนักศึกษา 2 คนออกไป จนเกิดเหตุชลมุน นักศึกษาที่เหลือขอร้องไม่ให้มีการพาตัวเพื่อนนักศึกษาออกไปที่ไหนระหว่างค้นรถบรรทุก ก่อนเหตุการณ์สงบลง

หลังเจ้าหน้าที่ตรวจค้นรถบรรทุกเสร็จสิ้น ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย นักศึกษาเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันก่อนว่าสิ่งของในรถไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม ม.116 ยุยงปลุกปั่น ดังที่ตำรวจกล่าวอ้าง จากนั้นมีการสนธิกำลังระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเริ่มขนถ่ายหนังสือจากรถบรรทุกไปที่รถกระบะของตำรวจ นักศึกษากล่าวว่า “เราไม่ยินยอม แต่จำยอมด้วยกำลัง เจ้าหน้าที่มาเต็มซอยหอพักแล้ว” จากนั้นนักศึกษาได้เดินทางไปลงบันทึกประจำวันเรื่องการตรวจยึดหนังสือ ที่ สภ.คลองหลวง (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/21453)

11 ม.ค. 2564 ณัฐชนน ไพโรจน์ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกที่ สภ.คลองหลวง หลังจากทนายความได้รับการแจ้งจากพนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง ว่าได้ออกหมายเรียกณัฐชนนให้ไปรับทราบข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” จากเหตุการครอบครองและพิมพ์หนังสือ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ที่เจ้าหน้าที่ตรวจยึดเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563

คณะพนักงานสวบสวนแจ้งข้อกล่าวหาณัฐชนนระบุว่า จากการตรวจสอบหนังสือที่ตรวจยึดมาดังกล่าวพบว่า มีเนื้อหาเดียวกันกับการปราศรัยของอานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และพริษฐ์ ชิวารักษ์ โดยมีเนื้อหากล่าวพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ ที่จะนำไปแจกจ่ายหรือเผยแพร่ให้กับผู้ชุมนุมที่สนามหลวง ในวันที่ 19 ก.ย. 2563 และทราบว่ามีการแจกจ่ายให้กับผู้ชุมนุมไปบางส่วน

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อณัฐชนนใน 2 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 มาตรา 8 จัดทำสิ่งพิมพ์ซึ่งเป็นหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือพิมพ์และพิมพ์ขึ้นในราชอาณาจักรโดยไม่แสดงข้อความ (1) ชื่อของผู้พิมพ์และที่ตั้งโรงพิมพ์, (2) ชื่อและที่ตั้งของผู้โฆษณา และ (3) เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือที่หอสมุดแห่งชาติได้ออกให้

ณัฐชนนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวไปโดยไม่มีการควบคุมตัวไว้

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.คลองหลวง ลงวันที่ 11 ม.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/24934)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์