ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.212/2565
แดง อ.3515/2566

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ต.สิรภพ บัวหลวง สารวัตรสืบสวน สภ.คลองหลวง (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.212/2565
แดง อ.3515/2566
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ต.สิรภพ บัวหลวง สารวัตรสืบสวน สภ.คลองหลวง

ความสำคัญของคดี

ณัฐชนน ไพโรจน์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถูกดำเนินคดี "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ผลิตหนังสือปกแดง "ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา 10 ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์” ซึ่งเป็นหนังสือรวมคำปราศรัยถึงข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของ อานนท์ นำภา, "ไมค์" ภาณุพงศ์ จาดนอก และ "รุ้ง" ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 และคำปราศรัยของ "เพนกวิน" พริษฐ์ ชิวารักษ์ ในการชุมนุม #จัดม็อบไล่แม่งเลย ที่ขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563 หลังกำลังตำรวจเข้าตรวจยึดหนังสือดังกล่าวจํานวน 45,080 เล่ม ที่เตรียมนำไปแจกจ่ายในการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร

ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยตั้งแต่กลางปี 2563 ไม่เคยได้รับการพิจารณาหรือตอบรับจากผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ ในทางตรงข้ามรัฐบาลกลับดำเนินคดีแกนนำที่นำเสนอข้อเรียกร้องดังกล่าวและผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนหลายสิบคดี โดยเฉพาะข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ"

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ณัฐพงษ์ วายุพัฒน์ พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีบรรยายฟ้องโดยสรุปว่า

ประเทศไทยปกครองโดยพระมหากษัตริย์มาแต่สร้าง เริ่มตั้งแต่การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนถึงปัจจุบันที่ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผู้ใดจะล่วงละเมิด กล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ทั้งรัฐและประชาชนต่างมีหน้าที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 ย่อมเห็นได้โดยแจ้งชัดว่าพระมหากษัตริย์รวมถึงสถาบันกษัตริย์ ทรงเป็นที่เคารพสักการะ และทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทยมาแต่ครั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 จําเลยกับพวกอีก 1 คน ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันหมิ่นประมาทหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ ด้วยการร่วมกันผลิตสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือ ชื่อ “ฟ้ามืดเมื่อมีได้ ก็ฟ้าใหม่ย่อมคงมี ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา 10 ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์” จํานวน 45,080 เล่ม ซึ่งเนื้อหาในหนังสือประกอบด้วยข้อความที่เป็นการใส่ความต่อกษัตริย์ ทําให้ประชาชนทั่วไปที่ได้ทราบเข้าใจว่ารัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 เป็นคนไม่ดี รับรองให้มีการรัฐประหาร เพื่อทําลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เกี่ยวข้องและแทรกแซงการเมืองและประเด็นเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจในทางไม่ดี

อีกทั้งยังมีเนื้อหามุ่งหมายในการเปลี่ยนแปลง ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นสถาบันหลักของประเทศ อันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนคนไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งถือเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์

คำฟ้องได้แสดงข้อความจำนวน 15 ข้อความ และข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ตัวอย่างเช่น

“สิทธิเสรีภาพถูกทําลาย ผู้คนจํานวนมากต้องถูกจองจํา ลี้ภัย หรือไม่ก็สูญหาย ส่วนคนที่ยังอยู่ในประเทศต้องต่อสู้ด้วยข้อจํากัดเพราะคณะรัฐประหารมีตุลาการไว้รองรับอํานาจของตน”

“อํานาจของพระมหากษัตริย์ใกล้เคียงกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ว่าจะเป็นการโอนทรัพย์สินของสถาบันไปเป็นของกษัตริย์ การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามอําเภอใจ”

“เจตนาการพูดของผมในครั้งนี้ คือต้องการให้พระมหากษัตริย์อยู่ในที่ที่เหมาะสมและสามารถอยู่ร่วมกับประชาชนคนไทยได้และที่บอกว่าการอยู่เหนืออํานาจอธิปไตยคือการอยู่เหนืออํานาจของประชาชน โดยการที่ประชาชนไม่สามารถแตะต้องได้เพราะถ้าใครแตะต้องโดนมาตรา 112”

“ประเด็นสําคัญที่ผมจะมาพูดในวันนี้คือ ข้อเรียกร้องระหว่างบรรทัดของพวกเรา ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นั้นหมายถึงกษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมืองและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ”

“แต่ปัญหามันก็เกิดขึ้นเมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์พยายามขยายพระราชอํานาจผ่านทางคณะรัฐประหารปี 2557 ที่มีผู้นําชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา”

“พระมหากษัตริย์ถ้ายังเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ต้องไม่เซ็นรับรองการรัฐประหาร หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้น สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องยืนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยเท่านั้น”

“ในเหตุการณ์ของประเทศไทยนั้น ก็มีตัวอย่างกบฏยังเติร์ก ปี 2524 จะล้มยึดอํานาจรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นการก่อการยึดอํานาจที่ใช้กําลังคนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ทหาร 40 กว่ากองพัน คือเกินครึ่งของกองทัพบุกเข้ามาในกรุงเทพฯ สามารถยึดกรุงเทพฯได้ทั้งหมด ในปกติสมัยก่อนเวลาเขายึดอํานาจกัน ยึดทําเนียบ ยึดสภา ยึดสื่อมวลชน แค่นี้ก็สามารถที่จะชนะได้แล้ว แต่ในครั้งนี้ตัวคนเซ็นหนีไปอยู่กับนายกรัฐมนตรีที่โคราชพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงไม่ยอมอยู่เซ็นรัฐประหารให้กับคณะที่เขายึดอํานาจ แต่หนีไปปกป้องอยู่กับพลเอกเปรมที่ค่ายสุรนารี นี่ขนาดว่าเขายึดได้ทั้งกรุงเทพฯ แล้ว แต่ก็ไม่สามารถที่จะชนะได้เพราะผมคนเซ็นคือหลักฐานว่าการเซ็นนั้นสําคัญไฉน”

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดธัญบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ. 212/2565 ลงวันที่ 19 ม.ค. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลา 10.00 น. ที่ สภ.คลองหลวง ณัฐชนน ไพโรจน์ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก หลังจากทนายความได้รับการแจ้งจากพนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง ว่าได้ออกหมายเรียกณัฐชนนให้ไปรับทราบข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” จากเหตุการครอบครองและพิมพ์หนังสือ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

    คดีนี้มีการตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี ลงวันที่ 23 พ.ย. 2563 คณะพนักงานสวบสวนนำโดย พ.ต.อ.จักริน พันธ์ทอง รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี และ พ.ต.อ.สุชัย แสงส่อง รองผู้กำกับสอบสวน สภ.คลองหลวง เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อณัฐชนน

    พฤติการณ์ข้อกล่าวหาโดยสรุประบุว่าเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ได้มีการจัดการชุมนุมที่ใช้หัวข้อว่า #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ณ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยผู้ขึ้นปราศรัยมีเนื้อหาลักษณะพาดพิงและโจมตีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และมีการพาดพิงหรือก้าวล่วงสถาบันกษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ทำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมเกิดความรู้สึกเห็นด้วยหรือคล้อยตาม ต่อต้านรัฐบาลและสถาบันพระมหากษัตริย์ อันก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน หรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ และมีการแจ้งนัดหมายเชิญชวนให้ผู้ชุมนุมไปร่วมชุมนุมครั้งต่อไปในวันที่ 24 ส.ค. 2563 และ 19 ก.ย. 2563

    ต่อมาวันที่ 19 ก.ย. 2563 พ.ต.ต.สิรภพ บัวหลวง ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 1 เข้าทำการตรวจยึดหนังสือปกสีแดง “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” จำนวน 45,080 เล่ม ได้ที่ปากซอยทางเข้าออกหมู่บ้านในอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ภายในรถบรรทุก 6 ล้อ และมีนายณัฐชนนนั่งคู่มากับคนขับ

    จากการตรวจสอบพบว่าข้อความในหนังสือเล่มดังกล่าว มีเนื้อหาเดียวกันกับการปราศรัยของอานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 และมีเนื้อหาเดียวกันกับการปราศรัยของพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ปราศรัยที่เวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563 โดยมีเนื้อหากล่าวพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ ที่จะนำไปแจกจ่ายหรือเผยแพร่ให้กับผู้ชุมนุมที่สนามหลวง ในวันที่ 19 ก.ย. 2563 และทราบว่ามีการแจกจ่ายให้กับผู้ชุมนุมไปบางส่วน

    ต่อมา พนมบุตร จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ มาตรวจสอบหนังสือดังกล่าว เห็นว่าเป็นเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่เป็นหนังสือ ซึ่งมิได้ยื่นขอเลขมาตรฐานสากลการพิมพ์ต่อสำนักหอสมุดแห่งชาติ และภายในหนังสือ มิได้ปรากฏชื่อของผู้พิมพ์หรือที่ตั้งโรงพิมพ์ หรือชื่อและที่ตั้งของผู้โฆษณาแต่อย่างใด จึงได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550

    บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหายังมีการยกคำปราศรัยบางตอนที่ปรากฏในหนังสือเล่มดังกล่าวมา รวมทั้งเนื้อหาส่วนที่เป็นข้อเสนอ 10 ข้อเพื่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของผู้ชุมนุม และระบุว่าเนื้อหาดังกล่าว “เป็นการใส่ความหรือกล่าวหาพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 และที่ 10 ซึ่งไม่เป็นความจริง การใส่ความดังกล่าวเมื่อบุคคลทั่วไปได้ทราบหรือได้อ่านแล้ว ทำให้เข้าใจว่าพระมหากษัตริย์เป็นคนไม่ดี อาจทำให้ผู้อื่นประชาชนดูหมิ่นหรือเกลียดชังพระมหากษัตริย์ได้” พ.ต.ต.สิรภพ บัวหลวง จึงได้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา

    พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อณัฐชนนใน 2 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 มาตรา 8 จัดทำสิ่งพิมพ์ซึ่งเป็นหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือพิมพ์และพิมพ์ขึ้นในราชอาณาจักรโดยไม่แสดงข้อความ (1) ชื่อของผู้พิมพ์และที่ตั้งโรงพิมพ์, (2) ชื่อและที่ตั้งของผู้โฆษณา และ (3) เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือที่หอสมุดแห่งชาติได้ออกให้

    ณัฐชนนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การเบื้องต้นว่าคดีนี้เหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2563 เป็นระยะเวลาหลายเดือนแล้ว ประกอบกับคำปราศรัยที่ถูกกล่าวหาทั้งหมดไม่ใช่คำปราศรัยของณัฐชนน จึงจำเป็นต้องตรวจสอบก่อน และจำเป็นต้องตรวจสอบรายละเอียดในหนังสือของกลางด้วย จึงจะขอให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 45 วัน

    หลังการแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนให้ณัฐชนนพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และให้ลงบันทึกประจำวันไว้ ก่อนให้ปล่อยตัวไปโดยไม่มีการควบคุมตัวไว้ พร้อมกับนัดหมายเพื่อมาส่งสำนวนให้พนักงานอัยการต่อไปในวันที่ 11 ก.พ. 2564 เวลา 10.30 น.

    ทั้งนี้ ข้อหาตามมาตรา 112 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี ขณะที่ข้อหาตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ มาตรา 8 กำหนดโทษปรับทางปกครอง ไม่เกิน 10,000 บาท

    ในช่วงสายวันที่ 19 ก.ย. 2563 ก่อนการชุมนุมใหญ่ #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่สนามหลวง เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบได้นำกำลังเข้าตรวจยึดหนังสือดังกล่าวจำนวนกว่า 40,000 เล่ม จากบ้านพักของนักศึกษาใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต การตรวจยึดดังกล่าวเกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีหมายค้น เพียงแต่อ้างว่าจะนำหนังสือไปตรวจสอบว่ามีเนื้อหาล้มล้างการปกครองหรือไม่ ทำให้กลุ่มนักศึกษายังไม่ได้นำหนังสือเล่มดังกล่าวไปแจกจ่ายในที่ชุมนุม

    ขณะที่ณัฐชนนถูกดำเนินคดีทางการเมืองคดีนี้เป็นคดีที่ 5 ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 หลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ เขาได้ถูกควบคุมตัวร่วมกับ “เพนกวิน" พริษฐ์ และ “รุ้ง" ปนัสยา ในคดีการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน มาแล้ว โดยณัฐชนนถูกคุมขังที่เรือนจำธัญบุรีเป็นเวลา 6 วัน ก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.คลองหลวง ลงวันที่ 11 ม.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/24934)
  • ณัฐชนนเดินทางไปที่สำนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีในนัดส่งตัวให้พนักงานอัยการพร้อมสำนวนคดี พนักงานอัยการนัดฟังคำสั่งในวันที่ 30 เม.ย. 2564 เวลา 10.30 น.
  • อัยการมีคำสั่งเลื่อนนัดฟังคำสั่งไปในวันที่ 1 มิ.ย. 2564
  • อัยการมีคำสั่งเลื่อนนัดฟังคำสั่งไปในวันที่ 1 ก.ค. 2564 เวลา 10.30 น.
  • อัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้อง
  • ณัฐชนนเดินทางไปฟังคำสั่งอัยการ โดยพนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งฟ้อง และยื่นฟ้องณัฐชนนต่อศาลจังหวัดธัญบุรี ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ศาลรับฟ้องไว้เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.212/2565

    ในท้ายคำฟ้องพนักอัยการได้ขอศาลได้พิจารณาพิพากษาลงโทษจําเลยตามกฎหมาย และขอศาลได้สั่งริบหนังสือปกสีแดง “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” จำนวน 45,080 เล่ม ซึ่งยึดไว้เป็นของกลาง ทั้งยังคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย อ้างเหตุว่าคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี

    หลังศาลรับฟ้อง ทนายความได้ยื่นประกันตัวและศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันเป็นจำนวนเงิน 150,000 บาท ระบุในคำสั่งว่า จำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และไม่มีพฤติการณ์ก่อคดีอีก พร้อมกันนี้ศาลได้วางเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวครั้งนี้ 2 ข้อ ได้แก่

    1.ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร
    2.ห้ามหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ราชินี หรือรัชทายาท

    ทนายความได้ใช้หลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์วางเป็นหลักประกัน ศาลกำหนดนัดวันสอบคำให้การในวันที่ 25 ม.ค. 2565

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดธัญบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.212/2565 ลงวันที่ 19 ม.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/39760)
  • ณัฐชนนแถลงต่อศาลว่า ประสงค์จะแต่งตั้งนรเศรษฐ์ นาหนองตูม เป็นทนายความ แต่ในวันนี้ทนายป่วยไม่สามารถมาศาลได้ ศาลให้เลื่อนนัดไปในวันที่ 15 มี.ค. 2565 เวลา13.30 น.
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง ก่อนถามคำให้การ ณัฐชนนยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา อัยการโจทก์แถลงมีพยานบุคคลจะนำเข้าสืบ 17 ปาก ขอเวลาสืบ 2 นัด ทนายจำเลยอ้างพยาน 31 ปาก ขอเวลาสืบ 7 นัด แต่ศาลให้เวลาเพียง 5 นัด รวมทั้งหมด 7 นัด โดยกำหนดสืบพยานในวันที่ 15-16 ธ.ค. 2565, 19-21, 26-27 ก.ค. 2566
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ศาลเห็นสมควรให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์ในวันที่ 19-21 ก.ค. 2566
  • อัยการนำพยานโจทก์เข้าสืบทั้งสิ้น 9 ปาก ได้แก่ ตำรวจผู้กล่าวหา, ตำรวจสืบสวน-สอบสวน, พยานความเห็น, อธิบดีกรมศิลปากร, ผู้ขับรถบรรทุกหนังสือ และประชาชนทั่วไป ส่วนทนายจำเลยได้นำพยานจำเลยเข้าสืบ 1 ปาก คือ ณัฐชนนผู้เป็นจำเลย

    โจทก์นำสืบว่า จำเลยเป็นสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ และเป็นผู้ครอบครองหนังสือปกแดงจากการที่นั่งบนรถบรรทุกที่ขนหนังสือ โดยในหนังสือระบุในคำนำว่า ‘กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม’ เห็นว่าหนังสือมีเนื้อหาที่ดูหมิ่นกษัตริย์ มีจุดมุ่งหมายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองและล้มล้างสถาบันกษัตริย์

    ด้านจำเลยต่อสู้ว่า ถึงแม้จะเป็นสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ แต่ไม่ได้เป็นผู้จัดพิมพ์และเผยแพร่หนังสือ รวมทั้งข้อความในหนังสือ หรือข้อความตามคำฟ้องที่มาจากการปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ก็ไม่ได้มีคำพูดของจำเลย ผู้ที่ปราศรัยในวันนั้นก็ถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดีมาตรา 116 ไม่ใช่มาตรา 112 นอกจากนี้ในวันเกิดเหตุที่มีการตรวจยึดหนังสือไม่ได้มีเพียงจำเลยคนเดียวที่อยู่บนรถบรรทุก โดยในวันนั้นมี ชนินทร์ วงษ์ศรี ที่ถูกพาตัวไป สภ.คลองหลวง และแจ้งข้อหามาตรา 116 ส่วนคนอื่นนอกจากนั้น ก็ไม่ได้ถูกแจ้งความดำเนินคดีแต่อย่างใด

    ++ตำรวจผู้กล่าวหาเบิกความ หนังสือปกแดงเป็นการใส่ความกษัตริย์ ทำให้สถาบันกษัตริย์เสียหาย ไม่ทราบใครจัดทำ แต่กล่าวโทษจำเลยเนื่องจากนั่งอยู่บนรถขนหนังสือ

    พันตำรวจตรีสิรภพ บัวหลวง สารวัตรสืบสวน สภ.คลองหลวง ผู้กล่าวหา เบิกความว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 เวลา 10.00 น. มีการประสานงานมาจาก พลตำรวจตรีสุภธีร์ บุญครอง ผู้บังคับการกองบังคับการสืบสวน ตำรวจภูธรภาค 1 และพลเอกวิศิษฐ์ มะอักษร ผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการสืบสวน ตำรวจภูธรภาค 1 หลังจากพยานตรวจสอบข้อมูล พบรถยนต์ต้องสงสัย 2 คัน และพบว่าจะมีนักศึกษาขนย้ายอุปกรณ์ที่ผิดกฎหมายไปเข้าร่วมชุมนุม จากนั้น ผู้กำกับ สภ.คลองหลวง จึงประสานงานกับฝ่ายปกครอง อ.คลองหลวง และเดินทางไปที่หมู่บ้านนวลตอง

    เมื่อเดินทางไปถึง มีทีมสืบสวน ตำรวจภูธรภาค 1 อยู่ก่อนแล้วที่บริเวณหน้าหมู่บ้าน กำลังตรวจค้นภายในรถทั้งสองคัน โดยรถบรรทุกคันแรกมีจำเลยอยู่กับกลุ่มเพื่อน ส่วนอีกคันหนึ่งน่าจะมีประมาณ 7-8 คน

    จากการตรวจค้นพบว่า รถคันแรกมีห่อกระดาษสีน้ำตาลที่ภายในบรรจุหนังสือจำนวน 80 เล่ม มีทั้งหมด 563 ห่อ และมีหนังสือที่ไม่ได้อยู่ในห่อกระดาษสีน้ำตาลอีก 40 เล่ม จึงนำมาตรวจสอบ พบว่าเป็นหนังสือปกสีแดง มีข้อความเขียนที่หน้าปกว่า “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” ความยาวประมาณ 20-30 หน้า ซึ่งเป็นถ้อยคำปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563

    พยานเห็นว่า นักศึกษาที่อยู่กับรถเป็นผู้กระทำผิด แต่ในวันนั้นไม่สามารถควบคุมตัวจำเลยได้ เนื่องจากมีกลุ่มนักศึกษาประมาณ 10-15 คน เข้ามาขัดขวาง พยานได้ตรวจยึดหนังสือจากรถคันแรกไปทั้งสิ้น 45,080 เล่ม ส่วนรถอีกคันไม่พบหนังสือ และในวันนั้นจำเลยได้เข้ามาแสดงตนว่าเป็นเจ้าของหนังสือ

    หลังจากนั้นพยานได้ตรวจสอบและอ่านหนังสือดังกล่าว พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับคำปราศรัย และมีการกล่าวถึงการรัฐประหารว่าเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งมีข้อความที่เป็นการดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของรัชกาลที่ 9 สื่อให้เห็นว่า กษัตริย์ล้มล้างประชาธิปไตย เป็นการใส่ความด้านเดียวและโจมตีกษัตริย์ ทำให้สถาบันกษัตริย์เสียหายโดยที่ไม่มีข้อมูลรับรอง

    ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า เป็นเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 จัดโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ​ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีจำเลยเป็นสมาชิกอยู่ด้วย วันดังกล่าวมีหลายคนขึ้นกล่าวคำปราศรัย ถึงแม้หนังสือปกแดงจะไม่มีคำปราศรัยของจำเลย แต่พยานมีหน้าที่สังเกตการณ์การชุมนุม พบว่าจำเลยเป็นผู้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเป็นผู้ดูแลการ์ดรักษาความปลอดภัย

    หลังจากวันที่ 10 ส.ค. 2563 ผู้บังคับบัญชามอบหมายให้พยานเฝ้าติดตามพฤติกรรมของจำเลย และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล อย่างต่อเนื่อง พยานพบว่ามีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ตลอด และเข้าร่วมชุมนุมในที่อื่น ๆ ด้วย

    พยานทราบว่า จำเลยอาศัยอยู่กับเพื่อนในบ้านทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น ของหมู่บ้านนวลตอง แต่พยานไม่ทราบว่า วันเกิดเหตุจำเลยออกมาจากบ้านหลังนั้นหรือไม่ แต่ตำรวจสืบสวน ภาค 1 ยืนยันว่า จำเลยออกมาจากบ้านหลังนั้น

    พยานไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้จัดทำหนังสือ เพราะเป็นหน้าที่ของฝ่ายสอบสวน ในหนังสือระบุว่า ผู้จัดทำคือ “กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” แต่ไม่ได้ระบุเป็นชื่อบุคคล โดยหน้าปกระบุชื่อผู้ปราศรัยทั้งสี่คน แต่พยานทราบว่า จำเลยอยู่ในรถ เป็นผู้ครอบครองหนังสือ พยานจึงกล่าวหาจำเลยในข้อหาตามมาตรา 112

    พ.ต.ต.สิรภพ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในปี 2563 พยานเป็นผู้ติดตามกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ อย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ทราบจำนวนสมาชิกและโครงสร้างของกลุ่ม และในวันที่ 10 ส.ค. 2563 จำเลยได้เข้าร่วมการชุมนุม มีผู้ชุมนุมประมาณ 2-3 พันคน

    ในวันเกิดเหตุ ตำรวจชุดแรกจะไปถึงที่เกิดเหตุเมื่อใดพยานไม่ทราบ แต่พยานไปถึงเวลา 10.20 น. ขณะนั้นมีตำรวจภูธรภาค 1, ตำรวจ สภ.คลองหลวง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองรวมแล้ว 30 นาย ในระหว่างการตรวจค้น มีการบันทึกวิดีโอแต่ไม่ครบทั้งหมด พยานไม่เห็นว่า มีกล้องวงจรปิดติดตั้งในหมู่บ้านและบริเวณที่ตรวจค้น รวมถึงไม่มีภาพจำเลยขณะนั่งอยู่หน้ารถเช่นกัน

    หนังสือปกแดงส่วนใหญ่บรรจุอยู่ในหีบห่อ มีเพียงบางส่วนที่วางไว้ด้านนอก พยานไม่ทราบถึงโรงพิมพ์และผู้ที่จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้

    ขณะที่มีการตรวจยึดหนังสือ ผู้ที่โต้แย้งกับเจ้าหน้าที่คือ ชนินทร์ วงษ์ศรี พยานทราบด้วยว่า ในวันนั้นมีการควบคุมตัวชนินทร์ แต่ไม่ทราบว่า เขาถูกตั้งข้อกล่าวหามาตรา 116 นอกจากนี้ พยานเป็นผู้กล่าวหาและเป็นชุดสืบสวนในคดีการชุมนุมวันที่ 10 ส.ค. 2563 ซึ่งผู้ที่ปราศรัยในวันดังกล่าวถูกดำเนินคดีมาตรา 116 โดยที่ไม่มีผู้ใดถูกดำเนินคดีมาตรา 112

    พยานไม่มีความเห็นว่า หากทนายจำเลยเป็นผู้ครอบครองหนังสือเล่มนี้ จะถูกแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 112 หรือไม่

    พยานไม่ทราบว่า สถาบันกษัตริย์ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่อดีตพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหนังสือเล่มนี้ อย่างไรก็ตาม พยานรับว่า ตอนที่จัดทำหนังสือเล่มนี้ รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตแล้ว

    ในข้อความที่ 13 ไม่ได้เอ่ยพระนามของรัชกาลที่ 10 ส่วนในข้อความที่ 15 ซึ่งกล่าวถึงกบฏยังเติร์กนั้น​ พยานทราบเรื่องดังกล่าวจากสื่อโซเชียลมีเดีย แต่ไม่ทราบถึงรายละเอียด

    ตั้งแต่รัชกาลที่10 ขึ้นครองราชย์ยังไม่มีการทำรัฐประหาร ซึ่งข้อความ “ต้องไม่เซ็นรับรองการรัฐประหาร หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้น” ในข้อความที่ 13 เป็นการพูดถึงอนาคตและยังไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ ส่วนข้อความตามคำฟ้องทั้งหมดจะเป็นจริงหรือไม่ อย่างไร พยานไม่ยืนยัน ทั้งนี้ ก่อนจะมีการกล่าวหาให้ดำเนินคดีจำเลย พยานได้ส่งให้ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นก่อน แต่ไม่ทราบชื่อ

    จำเลยจะใช้เลขบัญชีของธนาคารใด และติดต่อว่าจ้างรถบรรทุกทั้งสองคันอย่างไร พยานไม่ทราบ เพราะเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน

    พยานไม่ได้เป็นผู้จัดทำบันทึกการตรวจยึดและบันทึกการจับกุม และในบันทึกการตรวจยึดก็ไม่ได้ระบุว่า จำเลยเป็นเจ้าของหนังสือ หรือว่าได้หนังสือมาจากจำเลย

    อย่างไรก็ตาม พ.ต.ต.สิรภพ ตอบอัยการถามติงว่า พยานเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จับกุม และมีรูปภาพจำเลยปรากฏอยู่ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตรวจยึดหนังสือ

    ++ตำรวจสืบสวนระบุ ไม่ทราบใครจัดทำหนังสือปกแดง แต่จำเลยครอบครองเพราะนั่งอยู่หน้ารถขนหนังสือ คาดว่าเป็นเจ้าของ

    พันตำรวจโทสามารถ เปาจีน รองผู้กำกับสืบสวน สภ.เมืองปทุมธานี ขณะเกิดเหตุเป็นสารวัตรสืบสวน สภ.คลองหลวง เบิกความว่า วันที่ 19 ก.ย. 2563 ผู้บังคับการตำรวจภูธรภาค 1 มาขอความร่วมมือให้ไปตรวจสอบการขนย้ายของที่ผิดกฎหมายบริเวณหน้าหมู่บ้านนวลตอง พยานจึงเดินทางไปกับพันตำรวจตรีสิรภพ, กำลังตำรวจจาก สภ.คลองหลวง และตำรวจภูธรภาค 1 รวมทั้งฝ่ายปกครอง เมื่อไปถึงพบรถบรรทุกหกล้อ 2 คัน กำลังขับออกจากหมู่บ้านจึงเข้าตรวจสอบ

    ในรถคันแรกพบหนังสือปกแดง ซึ่งมีจำเลยกับนักศึกษาผู้หญิง จำชื่อไม่ได้ นั่งอยู่กับคนขับ ส่วนคันที่สองพบเจอของที่ใช้ในการชุมนุม พยานเห็นว่าหนังสือปกแดงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย จากการสอบถามคนขับรถได้ความว่า ถูกจ้างให้มาขนของ แต่ไม่ทราบว่าเป็นสิ่งใด รถบรรทุกดังกล่าวมาจากบริเวณใกล้เคียงที่เกิดเหตุ เพราะยังออกมาไม่พ้นจากหมู่บ้าน คาดว่าน่าจะไปในกรุงเทพฯ เนื่องจากในวันนั้นมีการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

    กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ เป็นกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่จัดการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 จำเลยเป็นสมาชิกอยู่ในกลุ่ม พยานทราบว่า จำเลยและเพื่อนในกลุ่มพักอยู่ที่หมู่บ้านนวลตอง แต่ไม่ทราบรายละเอียด เพราะไม่เคยไป

    ในเหตุการณ์ตรวจยึดหนังสือ ช่วงแรกมีจำเลยและนักศึกษาอีก 3-4 คน เข้ามาขัดขวางและไม่ให้ความร่วมมือ โดยจำเลยน่าจะเป็นผู้ที่ควบคุมนักศึกษาที่เข้ามาขัดขวาง ในวันดังกล่าวได้ตรวจยึดหนังสือไปทั้งสิ้น 45,080 เล่ม มีชื่อพยานลงชื่อในบันทึกการตรวจยึดด้วย เกี่ยวกับหนังสือปกแดง พยานไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัดทำ แต่จำเลยเป็นผู้ครอบครองเพราะนั่งอยู่หน้ารถ จึงคาดว่าเป็นเจ้าของ

    ต่อมา พ.ต.ท.สามารถ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไปถึงที่เกิดเหตุเวลา 10.00 น. แต่ไม่แน่ใจว่าตำรวจภูธรภาค 1 จะตรวจค้นไปก่อนแล้วหรือไม่ ขณะนั้นบริเวณที่เกิดเหตุมีนักศึกษา สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่รวมทั้งหมดประมาณ 40-50 คน

    เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายคนรวมถึงพยานช่วยกันถ่ายภาพขณะตรวจยึดหนังสือ โดยพยานเดินไปรอบ ๆ รถ ไม่ปรากฏในรายงานการสืบสวนว่า จำเลยนั่งอยู่บนรถ และจะมีผู้เชิญจำเลยลงมาหรือไม่ พยานไม่ทราบ

    เกี่ยวกับบ้านพักที่จำเลยอาศัยอยู่ พยานไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ พยานได้รับรายงานจากสายสืบว่า จำเลยอยู่ที่นั่น แต่พยานก็ไม่เคยไปที่บ้านหลังนั้น และไม่ได้เรียกเจ้าของบ้านมาสอบปากคำ

    ++คนขับรถบรรทุกหนังสือปกแดงระบุ ไม่ทราบว่าใครว่าจ้าง เหตุไม่ได้รับงานเอง ส่วนจำเลยไม่ได้ขนหนังสือขึ้นรถ ทั้งบนรถยังมีคนอื่นนอกจากจำเลยด้วย

    อมรรัตน์ พระสุมี คนขับรถบรรทุกหนังสือปกแดง เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุพยานมีอาชีพรับจ้างทั่วไป โดยใช้รถยี่ห้อ HINO สีขาว พยานไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้ว่าจ้างขนหนังสือในวันเกิดเหตุ และมีค่าจ้างเท่าไหร่ เนื่องจากลูกพี่ลูกน้องของพยานเป็นผู้รับงาน

    พยานได้รับมอบหมายให้ไปรับของจากหมู่บ้านนวลตอง ซึ่งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต นำไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พยานไม่ทราบว่า ที่จุดหมายจะมีการชุมนุมของผู้ใด และไม่ทราบว่า ของที่ขนย้ายเป็นสิ่งใด

    เมื่อพยานไปถึงจุดรับงาน เป็นหมู่บ้านทาวเฮาส์ 2 ชั้น มีคนอยู่ในบ้านหลายคน แต่พยานไม่ได้นับจำนวน จากนั้นมีการขนของซึ่งเป็นหีบห่อสีน้ำตาล ไม่ทราบว่ามีจำนวนกี่ห่อ ขึ้นรถบรรทุกของพยานก่อน ส่วนรถอีกคันหนึ่งมีการขนถังขยะสีเขียวและสีเหลืองขึ้นไป เมื่อขนของเสร็จ มีผู้ชายและผู้หญิงขึ้นรถไปกับพยาน โดยที่ผู้หญิงนั่งตรงกลาง และจำเลยตามขึ้นมา จำเลยไม่ได้ถือสิ่งใดขึ้นรถมาด้วย ส่วนรถอีกคันมีใครขึ้นรถไปด้วยหรือไม่ พยานไม่ทราบ

    ขณะพยานขับรถออกเพื่อไปยังจุดหมาย ยังไม่ทันออกจากหมู่บ้านก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบสกัดรถไว้ ตำรวจถามพยานว่า จะไปที่ไหน พยานก็ตอบว่า ไปสนามหลวง จากนั้นจำเลยและผู้หญิงก็ลงไปเจรจากับตำรวจ สักพักก็มีรถกระบะมาขนถ่ายของไป และตำรวจก็เปิดทางให้ไปสนามหลวงตามเดิม

    พยานถึงสนามหลวงประมาณบ่ายโมง ซึ่งในรถขณะนั้นเหลือเพียงถังขยะ จากนั้นพยานก็เดินทางกลับมาบ้านที่ อ.คลองหลวง และได้ไปให้การกับพนักงานสอบสวน ซึ่งพยานเคยให้การว่า นอกจากจำเลย มีคนชื่อว่า “บิว” นั่งอยู่บนรถอีกคนด้วย

    อมรรัตน์ตอบทนายจำเลยถามค้านด้วยว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้ขนหนังสือขึ้นรถ และนอกจากมีคนนั่งด้านหน้ารถของพยาน 2 คนแล้ว ยังมีคนนั่งด้านหลังอีกประมาณ 6 คน ซึ่งคนที่นั่งด้านหน้าก็เพื่อบอกทางไปยังจุดหมาย

    เหตุการณ์ที่ตำรวจมาถึงและคนที่อยู่หน้ารถลงไปเจรจากันอย่างไร พยานไม่ทราบ ส่วนรถกระบะที่มารับหนังสือจากรถบรรทุกเป็นรถตำรวจ หลังจากขนย้ายเสร็จแล้ว จำเลยก็นั่งรถไปจุดหมายกับพยานต่อ

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/61220)
  • ++ตำรวจสืบสวนคดีชุมนุม 10 สิงหา เบิกความเห็นว่า เนื้อหาคำปราศรัยในหนังสือปกแดงมีลักษณะหมิ่นเหม่ - ผู้จัดพิมพ์มุ่งเผยแพร่คำปราศรัยให้คนที่ไม่ได้ร่วมชุมนุม แต่รับว่า ไม่มีการเอ่ยชื่อ รัชกาลที่ 10 ในหนังสือ

    พันตำรวจโทคชา ศรชัย ตำรวจกองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 เบิกความว่า พยานได้รับมอบหมายให้มาเป็นหัวหน้าตำรวจสันติบาล จังหวัดปทุมธานี และเป็นผู้สืบสวนคดีจากเหตุชุมนุม 10 ส.ค. 2563

    ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา คือการชุมนุมของนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ส่วนแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ เป็นกลุ่มที่นักศึกษาจัดตั้งขึ้นจากพรรคโดมปฏิวัติกับแนวร่วมในมหาวิทยาลัย พยานได้รับคำสั่งให้มาสืบสวนติดตามและสังเกตการณ์ชุมนุม โดยในวันที่ 10 ส.ค. 2563 พยานแต่งกายนอกเครื่องแบบเข้าไปฟังและบันทึกวิดีโอผู้ที่ขึ้นปราศรัย และถอดเทปคำปราศรัยเพื่อรายงานผู้บังคับบัญชา

    คนที่ขึ้นปราศรัยในวันดังกล่าว พยานจับตาดู อานนท์ นำภา, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และณัฐชนน ไพโรจน์ เป็นพิเศษ โดยณัฐชนนเป็นแกนนำของนักศึกษาที่จัดกิจกรรมในวันนั้น

    การจัดกิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อขับไล่รัฐบาล และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จากที่พยานฟังคำปราศรัยก็ทำให้เข้าใจว่า สถาบันกษัตริย์อาจมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองและเหตุการณ์ผู้ลี้ภัย

    พยานเคยเห็นหนังสือปกแดง เนื้อหาในหนังสือบางส่วนมาจากการปราศรัย ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนประมาณ 5% เมื่อเทียบกับคำถอดเทปของพยาน โดยมีการกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ในลักษณะที่หมิ่นเหม่ อย่างในข้อความที่ 9 ตามฟ้อง พยานเป็นว่า เป็นการพยายามพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ว่า ส่งทหารมาจัดการผู้ลี้ภัย ส่วนจุดมุ่งหมายของผู้ที่จัดพิมพ์ก็เพื่อนำคำปราศรัยดังกล่าวมาเผยแพร่ให้กับคนที่ไม่ได้ไปร่วมชุมนุมในวันนั้น

    พ.ต.ท.คชา ตอบทนายจำเลยถามค้านในเวลาต่อมาว่า ที่พยานเบิกความว่า คำปราศรัยที่ปรากฏในหนังสือกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ในลักษณะที่หมิ่นเหม่นั้น พยานไม่เคยให้การในชั้นสอบสวนมาก่อน ส่วนที่พยานเบิกความถึงคำปราศรัยเรื่องผู้ลี้ภัย จำเลยก็ไม่ได้เป็นผู้กล่าวคำปราศรัยดังกล่าว และเรื่องวันเฉลิมถูกอุ้มหายในกัมพูชา พยานเคยเห็นจากข่าวเท่านั้น แต่ไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าหายจริงหรือไม่

    ทนายความถามว่า คำว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์” ประกอบด้วยอะไรบ้าง พยานตอบว่า ก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ อดีตกษัตริย์ อดีตพระราชินี และอดีตราชวงศ์ จะเป็นส่วนประกอบของสถาบันกษัตริย์หรือไม่ พยานไม่ทราบ และในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้มีการเอ่ยพระนามของรัชกาลที่ 10

    พยานตอบทนายจำเลยโดยยืนยันว่า รัชกาลที่ 10 ประทับอยู่ที่เยอรมัน และมีขบวนเสด็จไปอยู่ที่เยอรมันด้วย เดินทางโดยเครื่องบินซึ่งใช้งบประมาณแผ่นดิน พยานทราบข้อมูลจากข่าวและคนทั่วไปก็น่าจะทราบ ส่วนจะไปอยู่นานหรือไม่ หรือจะมีพระบรมวงศานุวงศ์เดินทางไปด้วยหรือไม่ พยานไม่ทราบ

    ในวันเกิดเหตุ พยานไม่ได้ร่วมตรวจยึดหนังสือและไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุด้วย ไม่ทราบด้วยว่า หนังสือดัง กล่าวถูกพิมพ์ขึ้นที่ใด และใครเป็นผู้จัดพิมพ์ ทั้งนี้ ถ้าหนังสือดังกล่าวไปอยู่กับใคร และบุคคลนั้นไม่ใช่ผู้พิมพ์หรือผู้เผยแพร่ จะมีความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่ พยานไม่ทราบข้อกฎหมาย

    ++“อานนท์” ให้ความเห็น หนังสือปกแดงระบุถึง ร.9 - ร.10 ให้เห็นว่า ไม่ดี - อยู่เหนือกฎหมาย ทำให้ประชาชนเกลียดชัง ผู้จัดพิมพ์มุ่งล้มล้างสถาบันกษัตริย์ แต่ไม่ทราบว่า มีการประกาศให้เป็นหนังสือต้องห้ามหรือไม่

    อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์คณะสถิติประยุกต์ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ เบิกความว่า เกี่ยวข้องในคดีนี้เนื่องจากตำรวจต้องการความเห็นของพยานเกี่ยวกับหนังสือที่ยึดมาสี่หมื่นกว่าเล่มว่า เข้าข่ายหมิ่นสถาบันกษัตริย์หรือไม่ พยานจึงเข้าพบพนักงานสอบสวนและให้ความเห็นในแต่ละข้อความ

    ข้อความที่ 1 พยานเห็นว่า เป็นการดูหมิ่น พาดพิงว่า มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งพลเอกประยุทธ์เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร เป็นการพาดพิงถึงรัชกาลที่ 9 ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าสถาบันกษัตริย์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งไม่จริง

    ข้อความที่ 2 พยานเห็นว่า เป็นการหมิ่นประมาทและข้อความเป็นเท็จ เพราะไม่มีหลักฐานว่าประเทศไทยกลับไปปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นการกล่าวหาว่าสถาบันกษัตริย์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เรื่องทรัพย์สินของกษัตริย์และการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นความจริง เป็นการกล่าวหาทำให้คนเข้าใจผิดได้

    ข้อความที่ 3 พยานเห็นว่า เป็นการกล่าวหาว่าสถาบันกษัตริย์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองทั้งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจน กษัตริย์ใช้อำนาจผ่านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ

    ข้อความที่ 4 เป็นการดูหมิ่นกษัตริย์ว่าไม่สามารถอยู่ร่วมกับคนไทยได้ ทำให้คนเกิดความเกลียดชัง

    ข้อความที่ 5 เป็นการกล่าวหาว่ากษัตริย์เข้ามายุ่งเกี่ยวการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้คนเกิดความเกลียดชัง

    ข้อความที่ 6 พยานเห็นว่า การกล่าวหาว่ากษัตริย์อยู่เหนืออำนาจอธิปไตยโดยประชาชนไม่สามารถแตะได้ก็เป็นความเท็จ เพราะว่าอันที่จริงแล้วกษัตริย์ก็วิจารณ์ได้ โดยพูดข้อเท็จจริงอย่างสุภาพและไม่ก้าวล่วงหรือดูหมิ่น

    ข้อความที่ 7 พยานเห็นว่า การพูดให้กลับประเทศไทยเป็นการก้าวล่วงเรื่องส่วนตัว ส่วนเรื่องภาษีก็ไม่เป็นความจริง เพราะอยู่ต่างประเทศหรือไม่ การทำพระราชกรณียกิจก็ไม่ได้ใช้ภาษีประเทศ จึงเป็นการดูหมิ่น

    ข้อความที่ 8 พยานเห็นว่า เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 6 กษัตริย์อยู่ในที่เคารพสูงสุด ข้อความนี้เป็นการดูหมิ่นว่ากษัตริย์เป็นไพร่

    ในข้อความที่ 9 ที่พูดเรื่องวันเฉลิม เป็นการกล่าวหาว่ากษัตริย์โหดเหี้ยม สั่งฆ่าประชาชน แต่ไม่มีหลักฐาน เป็นแค่ทฤษฎีสมคบคิด ทำให้ประชาชนเกิดความเกลียดชัง

    ข้อความที่ 11-12 พยานเห็นว่าการเรียกร้องให้กษัตริย์อยู่เหนือการเมืองไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีหลักฐานว่าท่านมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรืออยู่เหนือกฎหมาย เป็นการก้าวล่วงกษัตริย์

    ข้อความที่ 13 พยานเห็นว่า เป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจ คณะรัฐประหารตัดสินใจโดยที่กษัตริย์ไม่รับรู้มาก่อน และไม่สามารถแก้ไขอะไรได้

    ข้อความที่ 14 พยานเห็นว่า เป็นการกล่าวหาว่ากษัตริย์และสถาบันกษัตริย์ไม่น่าศรัทธา การกล่าวหาด้วยข้อความดังกล่าวทำให้ประชาชนดูหมิ่น เหยียดหยามสถาบันกษัตริย์

    ข้อความที่ 15 พยานเห็นว่า เป็นการกล่าวหาว่าสถาบันกษัตริย์ร่วมสมคบคิด จะทำรัฐประหารได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งไม่เป็นความจริง

    และข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ได้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 ว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 49 ให้เลิกการกระทำดังกล่าวทันที

    พยานเห็นว่า จุดมุ่งหมายของผู้จัดพิมพ์หนังสือดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์ ต่อต้าน และล้มล้างสถาบันกษัตริย์ จากที่พยานอ่าน หนังสือระบุถึงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ให้เห็นว่า ไม่ดี โหดร้าย ทารุณ เห็นแก่อำนาจ เหนือกฎหมาย ทำให้เกิดความเกลียดชังได้

    จากนั้น อานนท์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรมในเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ กฎหมาย หรือสังคม นอกจากนั้นแล้วการศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก และงานวิจัยของพยานก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์

    หนังสือของพยานเรื่อง “สถาบันกษัตริย์ ความจริงที่ถูกบิดเบือน” ตีพิมพ์เมื่อปี 2565 ขณะที่พยานไปให้การในคดีนี้ก็ยังไม่ได้เผยแพร่หนังสือเล่มนี้ออกมา รวมทั้งเนื้อหาในหนังสือดังกล่าวก็ไม่ได้มีการอ้างอิงข้อมูลตามหลักบรรณานุกรม

    พยานเคยไปเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีมาตรา 112 ของทิวากร วิถีตน จากการใส่เสื้อสกรีนข้อความ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ซึ่งศาลขอนแก่นพิพากษายกฟ้อง พยานมีความเห็นไม่ตรงกับศาล แต่ยอมรับในคำพิพากษาดังกล่าว นอกจากนี้ พยานเคยไปเบิกความเป็นพยานโจทก์ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ว่า การเรียกชื่อกษัตริย์โดยใช้ชื่อเล่นโดยไม่เคารพ เป็นการผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 จึงทำให้มีความผิดตามมาตรา 112 ด้วย

    พยานทราบว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 มาตรา 6 บัญญัติไว้ว่ากษัตริย์จะถูกฟ้องร้องได้ แต่เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นฉบับเดียวเท่านั้นที่ระบุเช่นนี้

    ส่วนในปี 2560 ที่มีการออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บัญญัติให้ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น พยานเห็นว่า ไม่ผิดแต่อย่างใด เพราะกรรมสิทธิ์อยู่ที่เดิม

    เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ที่ผ่านการทำประชามติแล้ว พยานเห็นว่า สามารถแก้ไขได้ผ่านกลไกรัฐสภาโดยไม่ต้องทำประชามติใหม่ แต่พยานไม่เคยทราบว่า ในหลวงรับสั่งให้แก้รัฐธรรมนูญฉบับที่มีการทำประชามติแล้ว ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการบัญญัติให้กษัตริย์แก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่นั้น พยานก็ไม่ทราบ เนื่องจากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญ

    กรณีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 16 บัญญัติเรื่องผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์กรณีกษัตริย์ไม่อยู่ในประเทศว่าจะมีการแต่งตั้งหรือไม่ก็ได้นั้น พยานเห็นว่า ทำได้ เนื่องจากยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

    นอกจากนี้ กษัตริย์เป็นจอมทัพไทยตามรัฐธรรมนูญ จึงมีการโอนกำลังพลส่วนหนึ่งเข้ามาเป็นกำลังพลส่วนพระองค์ เพราะมิเช่นนั้นก็จะกล่าวว่ากษัตริย์แทรกแซง

    พยานทราบว่า ที่ในหลวงเสด็จไปเยอรมันซึ่งอาจจะมีข้าราชบริพารไปด้วย เป็นการใช้ทรัยพ์ส่วนพระองค์ ไม่ใช่งบประมาณแผ่นดิน อีกทั้งทราบว่า หน่วยงานข้าราชการในพระองค์ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาษีทุกปี แต่ไม่เคยเห็นการจัดสรรงบประมาณเป็นค่าพาหนะในการเดินทางของสถาบันกษัตริย์ ส่วนข้าราชบริพารที่เดินทางไปด้วย เท่าที่พยานทราบก็ไม่ได้ใช้ภาษีของประชาชน

    พยานไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคณะกรรมาธิการงบประมาณฯ และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบงบประมาณ แต่พยานเป็นประชาชนก็สามารถหาความรู้ได้

    พยานไม่เคยอ่านกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่พยานให้ความเห็นต่อข้อความตามฟ้องนั้น พยานยึดตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เท่านั้น

    ข้อความตามฟ้องเรื่องข้อเสนอการแก้ปัญหาการขยายอำนาจของกษัตริย์นั้น พยานไม่ทราบว่า ปัจจุบันมีการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ให้กษัตริย์มีอำนาจแต่งตั้งพระสังฆราช ซึ่งแต่เดิมเป็นอำนาจของมหาเถรสมาคม

    ข้อความ “กษัตริย์ต้องไม่เซ็นรับรองการรัฐประหาร หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้น” พยานเข้าใจว่า เป็นการพูดถึงอดีต

    เกี่ยวกับข้อความตามฟ้องที่กล่าวถึงเรื่องกบฏยังเติร์กนั้น ขณะนั้นพยานอายุ 4 ขวบ ได้อ่านเพียงประวัติศาสตร์ จึงไม่ทราบว่าคนยึดอำนาจได้เข้าเฝ้ารัชกาลที่ 9 หรือไม่

    การรัฐประหารและการล้มล้างการปกครองจะมีความผิดตามมาตรา 113 หรือไม่ พยานไม่ทราบ บางครั้งพยานก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จอย่างไร ไม่ทราบ ซึ่งการให้กษัตริย์เซ็นเป็นการบังคับไปโดยปริยาย เพราะไม่ได้มีการบอกล่วงหน้าก่อน

    การครอบครองหนังสือที่ผิดกฎหมายน่าจะผิดมาตรา 112 แต่มีการประกาศให้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือต้องห้ามหรือไม่ พยานไม่ทราบ ทั้งนี้ พยานเห็นคนหมิ่นประมาทอดีตกษัตริย์แล้วรับไม่ได้ จึงเคยไปร่วมกับพรรคไทยภักดีขอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 ให้ขยายความคุ้มครองครอบคลุมถึงอดีตกษัตริย์และสถาบันกษัตริย์

    ทั้งนี้ อานนท์ตอบอัยการถามติงด้วยว่า ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ เป็นของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ แต่จำเลยอยู่ในกลุ่มดังกล่าวหรือไม่ พยานไม่มั่นใจ

    ++อธิบดีกรมศิลปากรเบิกความ เข้าแจ้งความเรื่องหนังสือไม่มีเลข ISBN ตามหน้าที่เท่านั้น ไม่ได้ให้การว่า เนื้อหาเหมาะสมหรือไม่

    พนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เบิกความว่า ขณะพยานเป็นรองอธิบดี ได้รับแจ้งเหตุทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ให้พยานไปที่ สภ.คลองหลวง เนื่องจากมีหนังสือที่มีข้อความไม่เหมาะสม และไม่มีเลข ISBN หรือเลขกำกับหนังสือ ซึ่งจะระบุชื่อผู้พิมพ์หรือผู้โฆษณา ที่หอสมุดแห่งชาติจะเป็นผู้ออกเลขนี้ให้ พยานจึงไปที่ สภ.คลองหลวง ทันที และได้แจ้งความตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ ไว้ตามหน้าที่

    จากการตรวจสอบหนังสือดังกล่าวไม่ได้ระบุโรงพิมพ์ แต่จะมีชื่อที่อยู่ของผู้โฆษณาหรือไม่ และใครเป็นผู้จัดทำ พยานไม่ทราบ พยานไม่ได้ตรวจสอบเนื้อหาในหนังสือโดยละเอียด แต่เข้าใจว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ส่วนเนื้อหาจะเหมาะสมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละบุคคล

    แม้พยานอ่านหนังสือดังกล่าวแล้วและเห็นว่าเนื้อหาไม่เหมาะสม พยานก็ไม่ได้ให้การกับพนักงานสอบสวนในประเด็นดังกล่าวไว้ พยานมีหน้าที่เพียงแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของพยานเท่านั้น

    พยานไม่ทราบว่า ใครเป็นคนพิมพ์หนังสือเล่มดังกล่าว เพราะปรากฏเพียงชื่อกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งคำว่า ‘กลุ่ม’ ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นบุคคลใด ซึ่งเมื่อไม่ปรากฏชื่อผู้พิมพ์พยานก็แจ้งความไว้ เพราะไม่ถูกกฎหมาย

    พนมบุตรตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า วันที่ 19 ก.ย. 2563 เป็นวันหยุด ขณะเกิดเหตุพยานอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตำรวจที่แจ้งเหตุได้บอกเล่าพฤติการณ์การจับกุมให้พยานฟัง พยานเห็นว่า ไม่มีเหตุที่จะไม่เชื่อ

    โดยหลักการแล้ว แม้หนังสือจะมีการจดแจ้งการพิมพ์ตามกฎหมาย ก็จะต้องเอาผิดกับผู้ที่เผยแพร่เท่านั้น ไม่ใช่ผู้ที่ครอบครองหนังสือ

    หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือที่ ผบ.ตร. ประกาศห้ามนำเข้า และไม่ได้อยู่ในรายชื่อหนังสือต้องห้าม ส่วนใครจะเป็นผู้สั่งพิมพ์ หรือพิมพ์ที่ใดนั้น พยานไม่ทราบ และจะมีการเผยแพร่อย่างไร พยานก็ไม่ทราบ

    ++ประชาชนทั่วไปให้ความเห็น หนังสือปกแดงมุ่งหมายล้มล้างการปกครอง แต่พยานไม่ได้อ่านทั้งหมด อ่านเพียงเนื้อหาบางส่วนที่มีการเน้นข้อความไว้แล้ว

    ศรัญญา วัลลิสุพรรณ แม่บ้าน เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุพยานอยู่ที่บ้าน และเคยเห็นหนังสือปกแดงตามสื่อโซเชียลมีเดียว่าเป็นการกล่าวหากษัตริย์ ภายหลังเกิดเหตุตำรวจมาขอให้เป็นพยานและได้ไปให้การไว้เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2563

    พยานเห็นว่า จุดมุ่งหมายของหนังสือเล่มนี้ต้องการล้มล้างการปกครอง เนื้อหาในหนังสือส่วนใหญ่จะกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ พยานจับใจความได้ว่า กษัตริย์แทรกแซงการเมือง กษัตริย์เซ็นรับรองรัฐประหาร พยานจำได้เท่านี้ แต่จะอยู่หน้าใด พยานจำไม่ได้ เนื่องจากได้อ่านมานานแล้ว

    ต่อมา พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่ทราบว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 คืออะไร แม้ในชั้นสอบสวนพยานได้เคยให้การถึงมาตราดังกล่าวไว้ ส่วนข้อเรียกร้อง 10 ข้อ พยานก็จำไม่ได้ แต่เคยเห็นเมื่อนานมาแล้ว

    พยานรู้จักกับตำรวจ สภ.คลองหลวง จึงได้รับการติดต่อให้มาเป็นพยานในคดีนี้ ซึ่งในขณะให้การ พยานพูดไม่เป็นขั้นเป็นตอน แต่ตำรวจนำไปเรียบเรียงเป็นบันทึกคำให้การเอง

    พยานจำไม่ได้ว่า ข้อความในหนังสือที่ตำรวจนำมาให้ดูและให้ความเห็นเป็นเรื่องใดบ้าง และไม่ทราบว่า ข้อความเหล่านั้นเป็นคำปราศรัยของผู้ใด ใครเป็นผู้จัดพิมพ์หนังสือเล่มดังกล่าว รวมถึงไม่ทราบว่า จำเลยเป็นใคร พยานเพิ่งเคยอ่านเนื้อหาในหนังสือที่ สภ.คลองหลวง โดยอ่านเพียงบางส่วนที่มีการเน้นข้อความสำคัญไว้ ซึ่งใครเป็นคนเน้นข้อความไว้ พยานก็ไม่ทราบ

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/61220)
  • ++“กิตติพงศ์” ให้ความเห็น คำปราศรัยในหนังสือปกแดงเข้าข่ายผิด 112 เนื่องจากทำให้ ร.10 เสื่อมเสีย แต่ยืนยันว่า หากมีหนังสือในครอบครอง ก็ไม่ได้ถือว่าผิด 112

    ผศ.กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เบิกความว่า พยานมีประสบการณ์เขียนหนังสือเกี่ยวกับการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริยในรัฐธรรมนูญและมาตรา 112 และเขียนบทความถึงการไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ 10 ข้อในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ

    พยานทราบว่า หนังสือปกแดงจัดทำขึ้นโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ เนื้อหาเป็นคำปราศรัยจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ซึ่งการชุมนุมวันดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อประกาศข้อเสนอทางการเมือง 10 ข้อ เพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

    เมื่อพิจารณาถ้อยคำปราศรัยในหนังสือแล้วเห็นว่า เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 เนื่องจากทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสีย เนื้อหาตั้งแต่หน้าที่ 3 เป็นต้นไป เป็นการหมิ่นประมาท มีการกล่าวหาว่า รัชกาลที่ 10 ทรงใช้เงินภาษีประชาชนไปใช้จ่ายส่วนพระองค์ แต่ในความจริงแล้วพยานเห็นว่าตั้งแต่ปี 2475 กษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีอำนาจเหนือประชาชนอย่างที่ถูกกล่าวหา

    พยานเห็นว่า ข้อความที่ 9 ตามฟ้อง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า รัชกาลที่ 10 เป็นผู้สั่ง ทำให้พระองค์เสียหาย ซึ่งไม่มีหลักฐานที่เป็นความจริง เป็นการพยายามปลุกปั่นกลุ่มผู้ชุมนุมกันเองมากกว่า และข้อความที่ 12 ก็ไม่เป็นความจริง เพราะพระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ

    เกี่ยวกับข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อ ในข้อเรียกร้องที่ 1 ให้ยกเลิกมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญ พยานเห็นว่า มาตรา 6 ตราขึ้นเพื่อปกป้องและคุ้มครองสถาบันกษัตริย์ จึงไม่เห็นด้วยที่เรียกร้องให้ยกเลิก เพื่อให้ใครมาพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ ส่วนข้อเสนอข้ออื่นก็เห็นว่า กระทบต่อรัชกาลที่ 10 เช่นกัน และศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยข้อเรียกร้องดังกล่าวแล้วว่า ไม่สามารถทำได้ เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์ทรงเป็นประมุข

    พยานเห็นว่า ที่บ้านเมืองมีปัญหาทางการเมืองอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้เป็นปัญหาที่มาจากกษัตริย์ แต่เป็นปัญหาจากการคอรัปชั่นของนักการเมือง ซึ่งสถาบันกษัตริย์มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์รวมใจของคนทั้งชาติ ในหลาย ๆ ครั้งก็นำพาประเทศฝ่าฟันวิกฤตทางการเมืองไปได้

    ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน กิตติพงศ์ยืนยันว่า หากใครมีหนังสือปกแดงในครอบครอง ก็ไม่ได้ถือว่าเข้าข่ายมีความผิดตามมาตรา 112 และพยานไม่ทราบว่าหนังสือเล่มดังกล่าวใครเป็นผู้ผลิต

    พยานจบนิติศาสตร์ เอกกฎหมายมหาชน และทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับกฎหมายปกครอง ไม่ได้มีผลงานวิชาการ ผลงานตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ รวมถึงไม่ได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษาในเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ อีกทั้งพยานไม่ได้ขึ้นบัญชีเป็นผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานศาลยุติธรรม

    พยานได้รับการติดต่อให้ไปเป็นพยานโจทก์ในคดีมาตรา 112 มาแล้วกว่า 50 คดี และมีความเห็นว่า หลายคดีมีความผิดไปแล้วกว่า 90% แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีมานี้ ศาลชั้นต้นก็เคยพิพากษายกฟ้องคดีมาตรา 112 หลายคดี โดยวินิจฉัยว่า การหมิ่นประมาทกษัตริย์องค์ปัจจุบันเท่านั้นจึงจะเข้าองค์ประกอบความผิด

    ในประวัติศาสตร์คณะราษฎรก็เคยเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 โดยให้มีการพิจารณาความผิดขององค์พระมหากษัตริย์ได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร แต่มีการบังคับใช้เพียงชั่วคราวเท่านั้น และใช้เพียงไม่กี่เดือน ซึ่งข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 6 นั้น ก็เป็นการเรียกร้องให้กลับไปใช้ในรูปแบบเดียวกับที่คณะราษฎรเคยประกาศใช้ อีกทั้งข้อเสนอทั้ง 10 ข้อ ก็ไม่ได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแต่อย่างใด

    ในประเด็นที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า รัชกาลที่ 10 ทรงมีรับสั่งให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ที่ผ่านประชามติแล้วนั้น พยานกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่มีหลักฐานอื่นนอกจากนี้

    ในรัฐธรรมนูญ​ พ.ศ.2560 มาตรา 16 ที่มีการแก้ไขจากร่างรัฐธรรมนูญให้กษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการพระองค์หรือไม่ก็ได้นั้น พยานกล่าวว่า มีการเปลี่ยนแปลงจริง แต่ไม่มีหลักฐานว่า รัชกาลที่ 10 เป็นผู้สั่งให้แก้โดยพระองค์เอง ส่วนระบอบการปกครองใดที่อนุญาตให้กษัตริย์มีกองกำลังส่วนพระองค์ พยานไม่สามารถตอบได้

    พยานยอมรับว่า มีการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จริง แต่เป็นการแก้ไขโดยผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่ใช่รัชกาลที่ 10 สั่งให้แก้แล้วจะแก้ได้ทันที แต่ยอมรับว่าในสมัยรัชกาลที่ 9 ไม่เคยมีการแก้ไข ซึ่งพยานเห็นว่า ฉบับปัจจุบันก็คงเหมาะสมแล้ว เพราะหากมีการแก้ไขก็แสดงว่ามีความจำเป็น

    พยานทราบเรื่องการประทับที่ต่างประเทศของรัชกาลที่ 10 จากข่าว และเห็นว่าเป็นเรื่องจริง แต่จะใช้เงินภาษีประชาชนมาใช้จ่ายเป็นค่าเดินทางหรือไม่ พยานไม่ทราบ เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน และสภาจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับการเดินทางของกษัตริย์เป็นเงินเท่าใด พยานก็ไม่ทราบ

    ++พนักงานสอบสวนอ้างเหตุ จำเลยเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ และร่วมชุมนุม 10 สิงหา จึงแจ้งข้อหา 112 แม้แกนนำที่ปราศรัยถ้อยคำในหนังสือถูกฟ้องเพียง ม.116

    ร้อยตำรวจเอกดล ชูเกลี้ยง พนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง เบิกความว่า พยานได้รับรายงานจากฝ่ายสืบสวนว่า มีการตรวจยึดหนังสือปกแดงจากกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้มีการทำบันทึกการตรวจยึด และลงบันทึกประจำวันไว้ด้วย

    ผู้ที่เข้าแจ้งความสงสัยว่าจำเลยจะนำหนังสือดังกล่าว ซึ่งมีเนื้อหาผิดตามมาตรา 112 ไปเผยแพร่ จึงได้เข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ ในวันเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีการควบคุมตัวจำเลยไว้ ส่วนหนังสือปกแดงจะมีใครเป็นผู้ครอบครอง พยานไม่สามารถตอบได้

    ในวันเกิดเหตุ พยานได้รับแจ้งว่า มีนักศึกษาพยายามนำหนังสือดังกล่าวใส่รถบรรทุกไปที่สนามหลวง โดยพบอุปกรณ์อื่น ๆ เป็นโต๊ะ เก้าอี้รวมอยู่กับกองหนังสือด้วย พร้อมทั้งพบจำเลยกับผู้หญิงไม่ทราบชื่อนั่งอยู่หน้ารถบรรทุกกับคนขับ พยานสอบปากคำคนขับรถบรรทุกจึงทราบว่า ได้รับการว่าจ้างจาก “บิว” และมีพยานหลักฐานเป็นภาพบทสนทนาตกลงว่าจ้างกันในแอปพลิเคชันไลน์

    พยานเป็นผู้สอบปากคำพยานโจกท์ปากอื่น ๆ ในชั้นสอบสวนทั้งหมด และในการสอบสวนการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 เป็นเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ และในหนังสือปกแดงก็เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับถ้อยคำปราศรัยในวันนั้น โดยเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 พยานแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 กับจำเลย

    ทั้งนี้ ศาลได้ถาม ร.ต.อ.ดล ว่า จากการสอบสวนทั้งหมดหนังสือปกแดงมีเนื้อหาส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับจำเลย พยานตอบว่า มีชื่อจำเลยอยู่ในหนังสือด้วย แต่ศาลแย้งว่า ในหนังสือเล่มนี้ไม่ปรากฏชื่อจำเลย ซึ่งทำให้ศาลสงสัยและถามพยานต่อว่า พยานเบิกความว่า มีอีกคนนั่งอยู่หน้ารถบรรทุกกับจำเลยด้วย พยานได้แจ้งความบุคคลดังกล่าวด้วยหรือไม่ พยานตอบว่า ในคดีนี้มีการแจ้งข้อหามาตรา 112 กับจำเลยเพียงคนเดียว

    ศาลจึงถามต่อไปว่า แล้วบุคคลที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้ พยานไม่แจ้งข้อกล่าวหาในมาตรา 112 ด้วยหรือ ในเมื่อเขาเป็นผู้ปราศรัยถ้อยความนี้ด้วยตนเอง พยานตอบว่า เหตุที่แจ้งข้อหาจำเลยเพียงคนเดียวเพราะจำเลยเป็นสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ และได้เข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 ส่วนแกนนำที่ปราศรัยถ้อยคำในหนังสือ พยานทราบว่า ได้มีการฟ้องมาตรา 116 ไปแล้ว แต่ไม่ได้ฟ้องมาตรา 112

    ศาลถามต่ออีกว่า ที่พยานอธิบายเหตุที่แจ้งข้อหาจำเลยเพียงคนเดียว เพราะเป็นสมาชิกกลุ่มและเข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว แล้วแกนนำที่มีชื่อในหนังสือปกแดงฉบับนี้ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมในวันดังกล่าวหรืออย่างไร พยานไม่ได้ตอบคำถามนี้กับศาล

    ศาลจึงถามสรุปว่า ทำไมคนปราศรัยถึงโดนมาตรา 116 แต่คนนั่งหน้ารถบรรทุกถึงโดนมาตรา 112 พยานอธิบายเพียงว่า คดีมาตรา 116 เข้าใจว่าได้มีการพิจารณาที่ศาลนี้ แต่ยังไม่มีคำพิพากษาออกมา และพยานเป็นเพียงหนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนสืบสวนเท่านั้น

    ร.ต.อ.ดล ตอบทนายจำเลยถามค้านต่อมาว่า การชุมนุมในวันที่ 10 ส.ค. 2563 เป็นการชุมนุมใหญ่ และเป็นคดีใหญ่ที่พยานเป็นหนึ่งในคณะพนักงานสอบสวน คำปราศรัยทั้งหมดในหนังสือปกแดงก็เป็นถ้อยคำของแกนนำที่ขึ้นพูดในวันนั้น

    ในคดีที่มีการฟ้องมาตรา 116 กับแกนนำที่ปราศรัยในหนังสือปกแดง ตั้งแต่ในชั้นตำรวจจนถึงอัยการจะมีการแจ้งมาตรา 112 หรือไม่ พยานไม่ทราบ เนื่องจากเป็นเพียงหนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนเท่านั้น ไม่ใช่พนักงานสอบสวนหลักเหมือนคดีนี้

    พยานไม่ทราบว่า หนังสือปกแดงถูกจัดพิมพ์โดยผู้ใด และจากการสอบสวนคนขับรถบรรทุกที่ขนย้ายหนังสือทราบว่า บนรถดังกล่าวไม่ได้มีเพียงจำเลยที่นั่งมาด้วย แต่ที่ท้ายรถมีนักศึกษาอีก 6-7 คน ซึ่งไม่ได้มีใครถูกดำเนินคดี นอกจากนี้ในหนังสือเล่มดังกล่าวไม่มีส่วนใดที่เป็นคำปราศรัยของจำเลย ส่วนกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ จะมีกี่คนและมีโครงสร้างกลุ่มเป็นอย่างไร พยานไม่ทราบ

    จำเลยยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาตั้งแต่ในชั้นสอบสวนว่า ไม่ได้เป็นผู้ผลิตหรือครอบครองหนังสือปกแดง และพยานก็ไม่ได้สอบปากคำหรือสอบสวนเพื่อหาว่าใครเป็นผู้จัดพิมพ์

    เมื่ออัยการถามติงในประเด็นนี้ พยานตอบว่า เนื่องจากทราบว่าหนังสือเล่มดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ และจำเลยก็เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มอยู่แล้ว จึงไม่ได้สอบสวนหาข้อเท็จจริงในส่วนดังกล่าวต่อ

    ศาลถามพยานอีกว่า เหตุใดชนินทร์จึงไม่ถูกดำเนินคดีร่วมกับจำเลยในคดีนี้ด้วย พยานตอบว่า สำหรับชนินทร์ ถูกดำเนินคดีในมาตรา 116 แต่พยานไม่ทราบในรายละเอียด

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/61220)
  • ++“ณัฐชนน” ยืนยัน ไม่ใช่ผู้ผลิตหนังสือปกแดง ในหนังสือ - ข้อความที่ถูกฟ้อง ก็ไม่มีคำปราศรัยของตน ทั้งข้อความไม่เข้าข่ายผิด 112 เป็นเพียงความเห็นต่อการพัฒนาประชาธิปไตย - ผู้ปราศรัยไม่โดน 112

    ณัฐชนน ไพโรจน์ จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเข้าเบิกความ ระบุว่า พยานเพิ่งจบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะเกิดเหตุพยานเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 โดยขณะเรียน พยานเป็นสมาชิกพรรคโดมปฏิวัติ และกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ด้วย พยานให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้พิมพ์และโฆษณาหนังสือ

    เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 มีชุมนุมที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีการถอดเทปคำปราศรัยออกมาเป็นหนังสือปกสีแดง ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ ในหนังสือนั้นไม่มีคำปราศรัยของพยาน และข้อความที่ถูกฟ้องก็ไม่มีคำพูดของพยานเช่นกัน ส่วนผู้ที่กล่าวคำปราศรัยที่ปรากฏในหนังสือก็ไม่ได้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 โดยมีการดำเนินคดีในข้อหาอื่นเป็นคดีของศาลนี้ ซึ่งพยานก็ถูกดำเนินคดีด้วย

    วันเกิดเหตุเพื่อนได้ชวนพยานไปทำกิจกรรมทางการเมืองที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยเริ่มเดินทางออกจากหมู่บ้านนวลตอง ก่อนที่ตำรวจจะไปถึง พยานไม่ได้ขนของขึ้นรถเนื่องจากความพิการที่ขาขวา จึงยืนให้กำลังใจเพียงอย่างเดียว ของที่ขนขึ้นรถบรรทุกมีทั้งโต๊ะ เก้าอี้ เชือก ปากกา ไมค์ ถังขยะ และอีกหลายอย่าง รวมทั้งมีหนังสือเล่มแดงที่อยู่ในหีบห่อ ซึ่งพยานไม่ทราบมาก่อนว่ามีหนังสืออยู่ในหีบห่อนั้น พยานไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้ผลิตหนังสือ และพยานเองก็ไม่ได้เป็นผู้ผลิต

    จากนั้นพยานขึ้นนั่งข้างหน้ารถเพื่อบอกทางแก่คนขับ มีผู้หญิงอีกคนนั่งด้านหน้าไปด้วยกัน แต่พยานจำไม่ได้ว่าเป็นใคร หลังจากที่รถขับมาได้ไม่ถึง 50 เมตร ก็พบตำรวจดักที่หน้าปากซอยอ้างว่า ของที่อยู่ในรถผิดกฎหมาย หลังจากนั้นตำรวจก็มีการเจรจากับทุกคน

    รถบรรทุกที่อยู่ในเหตุการณ์มี 2 คัน มีคนที่อยู่ในเหตุการณ์รวมแล้วกว่า 10 คน ซึ่งหลายคนนั่งอยู่กับห่อหนังสือปกแดง แต่ไม่มีใครถูกดำเนินคดี หลังจากที่ตำรวจยึดหนังสือไปแล้ว ได้นำตัว ชนินทร์ วงษ์ศรี ไปกับตำรวจด้วย ส่วนพยานถูกปล่อยตัวและได้เดินทางไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตามเดิม

    พยานกล่าวว่า ข้อความที่ถูกฟ้องนั้นไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 เพราะว่าเป็นการให้ความเห็นต่อการพัฒนาการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย และผู้ที่กล่าวคำปราศรัยดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112

    พยานทราบว่า พยานโจทก์ปากอานนท์และกิตติพงศ์เคยออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะบ่อยครั้ง ซึ่งขัดแย้งกับแนวทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มพยาน เช่น การสนับสนุนการรัฐประหาร ทั้งสองเบิกความว่า ไม่ได้มีเหตุโกรธเคืองกับพยาน แต่คดีนี้เป็นคดีทางการเมือง และเท่าที่พยานทราบ พนักงานสอบสวนก็ไม่ได้ไปถามความเห็นจากพยานผู้เชี่ยวชาญคนอื่นนอกจากบุคคลทั้งสองอีก

    จากนั้น ณัฐชนนตอบอัยการถามค้านว่า พยานไม่แน่ใจว่า การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 มีกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ เป็นแกนนำหรือไม่ แต่พยานเป็นสมาชิกกลุ่มดังกล่าว และได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีในวันนั้นด้วย

    พยานไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้จัดพิมพ์หนังสือ ซึ่งกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ไม่ได้เป็นผู้จัดพิมพ์ แต่คำลงท้ายและคำนำระบุชื่อ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และในหนังสือนี้เป็นคำปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค.​ 2563

    ในวันเกิดเหตุ พยานอยู่ในเหตุการณ์ที่มีการตรวจยึดหนังสือ แต่ไม่มั่นใจว่า หนังสืออยู่บนรถคันที่พยานนั่งหรือไม่ นอกจากนี้ พยานไม่ทราบว่า ใครจ้างรถบรรทุกมา แต่ทราบว่า รถคันดังกล่าวจะไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

    พยานอาศัยอยู่กับเพื่อนที่หมู่บ้านนวลตอง ซึ่งเพื่อนที่เช่าบ้านร่วมกันจะเป็นสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ด้วยหรือไม่ พยานจำไม่ได้เพราะว่าผ่านมานานแล้ว และไม่มั่นใจว่า หนังสือปกแดงขนออกจากบ้านที่พยานอาศัยอยู่หรือไม่

    หนังสือปกแดงถูกตำรวจมาดักและตรวจยึดที่หน้าหมู่บ้านนวลตอง จากนั้นก็ถูกนำไปที่ สภ.คลองหลวง ซึ่งในวันนั้นพยานไม่ได้ไปด้วย พยานมาทราบในภายหลังว่า ภายในกระดาษห่อสีน้ำตาลเป็นหนังสือดังกล่าว ซึ่งในขณะตรวจยึดหนังสือ พยานเจรจากับตำรวจเพื่อไม่ให้ถูกยึด เพราะพยานเข้าใจว่า เป็นของประชาชน โดยที่ไม่คิดว่าจะเป็นหนังสือ

    อุปกรณ์และหนังสือที่อยู่บนรถบรรทุกจะนำไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งมีการชุมนุมทางการเมือง หนังสือดังกล่าวพยานคาดว่า จะนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนในที่ชุมนุม

    ณัฐชนนตอบทนายจำเลยถามติงด้วยว่า พยานไม่ได้เป็นผู้ทำสัญญาเช่าบ้าน และไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ทำสัญญาเช่า อีกทั้งในหมู่บ้านนวลตองก็มีบ้านอยู่หลายหลัง

    พยานเป็นสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ แต่ไม่ทราบว่า สมาชิกในกลุ่มมีกี่คน และไม่ได้รู้จักทั้งหมด ซึ่งอาจจะมีมากกว่า 50 คน และแม้จะมีคำว่า แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ระบุอยู่ที่คำนำของหนังสือ แต่ไม่มีส่วนใดที่ระบุว่าเป็นผู้จัดพิมพ์ ซึ่งผู้ใดจะจัดพิมพ์โดยใส่ชื่อดังกล่าวไปก็เป็นได้ นอกจากนี้ หนังสือเล่มดังกล่าวยังไม่ได้มีการแจกจ่ายให้กับผู้ใดเนื่องจากถูกยึดไปก่อน แม้แต่พยานเองก็ยังไม่ได้เห็น
    .
    คดีเสร็จการสืบพยาน ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 8 พ.ย. 2566

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/61220)
  • ณัฐชนนและทนายความมาถึงศาลราว 08.45 น. มีเพื่อนนักกิจกรรม รวมถึงสื่ออิสระมาพูดคุยให้กำลังใจณัฐชนน ก่อนเดินขึ้นไปฟังคำพิพากษาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 12 โดยพร้อมเพรียงกัน

    เวลาประมาณ 09.55 น. ศาลออกพิจารณาคดี ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลได้ถามกับผู้ที่นั่งอยู่ในห้องว่าใครมาฟังคำพิพากษาคดีณัฐชนนบ้าง คนทั้งห้องราว 15 คน ก็ยกมือและกล่าวว่ามาร่วมฟังคดีนี้ จากนั้น ศาลถามณัฐชนนว่า ต้องการให้อ่านอย่างละเอียดหรือแบบสรุป ณัฐชนนบอกศาลว่าต้องการฟังอย่างละเอียด ศาลบอกให้ณัฐชนนนั่งลงและเริ่มอ่านคำพิพากษา สรุปใจความสำคัญได้ดังนี้

    หนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” ซึ่งมีข้อความตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง เป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ นอกจากจำเลยแล้วก็มีบุคคลอีกหลายคนที่อยู่ในที่เกิดเหตุ และถึงแม้ว่าจำเลยจะขึ้นปราศรัยในวันที่ 10 ส.ค. 2563 แต่ก็ไม่มีคำปราศรัยของจำเลยในหนังสือ และไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้จัดพิมพ์หนังสือ อีกทั้งไม่ปรากฏหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ตรวจยึดหนังสือมาจากจำเลย ประกอบกับจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอด แม้จำเลยจะนั่งรถมากับหนังสือ แต่พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ผลิตหรือครอบครองหนังสือดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อนึ่ง หนังสือเล่มนี้ไม่มีเลข ISBN และที่อยู่โรงพิมพ์ จึงให้ริบหนังสือของกลางทั้งหมด 45,080 เล่ม

    พิพากษายกฟ้อง แต่ให้ริบหนังสือของกลางทั้งหมด

    วิชาญ ชำนาญกุล และ ภูมิภัทร ลาภนิยม ผู้พิพากษาในคดีนี้

    ทั้งนี้ ณัฐชนนถูกดำเนินคดีทางการเมืองในข้อหา มาตรา 112 ทั้งสิ้น 2 คดี ได้แก่ คดีนี้ และคดีจากกรณีปาอาหารหมาและปราศรัยในระหว่างติดตาม “นิว” สิริชัย นาถึง ซึ่งถูกจับกุมในยามวิกาลตามหมายจับคดีมาตรา 112 ที่หน้า สภ.คลองหลวง ซึ่งยังอยู่ในชั้นสอบสวน

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/61274)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ณัฐชนน ไพโรจน์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ณัฐชนน ไพโรจน์

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. วิชาญ ชำนาญกุล
  2. ภูมิภัทร ลาภนิยม

ผลการพิพากษา
ยกฟ้อง
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 08-11-2023

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์