ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • twitter
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.2964/2564

ผู้กล่าวหา
  • อารีย์ จิวรรักษ์ รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลฯ (ฝ่ายปกครอง)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • twitter
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.2964/2564
ผู้กล่าวหา
  • อารีย์ จิวรรักษ์ รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลฯ

ความสำคัญของคดี

“ใจ” (นามสมมติ) อายุ 19 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ถูกอารีย์ จิวรรักษ์ ซึ่งรับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แจ้งความดำเนินคดี ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กล่าวหาว่า เธอใช้บัญชีทวิตเตอร์ซึ่งไม่ใช่ชื่อของเธอทวิตข้อความที่มีเนื้อหาใส่ความว่า รัชกาลที่ 9 เป็นฆาตกร

แม้ใจจะไม่ถูกควบคุมตัวในชั้นสอบสวน เนื่องจากเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณาคดี โดยใช้หลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์ แต่เป็นที่น่าจับตาในขั้นตอนการพิจารณาคดีว่าศาลจะพิจารณาและพิพากษาอย่างไร เนื่องจากข้อความที่ถูกกล่าวหามีเนื้อหาเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นอดีตกษัตริย์ ทั้งนี้ หากตีความมาตรา 112 โดยเคร่งครัด บุคคลที่มาตรา 112 มุ่งคุ้มครอง ประกอบด้วย กษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งครอบคลุมเพียงกษัตริย์องค์ปัจจุบันเท่านั้น ไม่ได้คุ้มครองอดีตกษัตริย์ด้วย

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

บรรดิษฐ์ มะลิรส พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 บรรยายคำฟ้องมีเนื้อความโดยสรุปว่า

พระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน คือ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงครองราชย์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระมหากษัตริย์รัชกาลก่อนซึ่งเป็นพระราชบิดา อันเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนอย่างแท้จริง

วันที่ 14 ตุลาคม 2563 จําเลยใช้บัญชีทวิตเตอร์ซึ่งตั้งค่าการมองเห็นเป็นสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่า เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา โดยการโพสต์ข้อความ “…” พร้อมติดแฮซแท็กเกี่ยวกับกษัตริย์ ใต้พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีข้อความประกอบภาพว่า “ไม่ต้องจำว่าฉันคือใคร แต่จำว่าฉันทำอะไรก็พอ” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในรัชกาลที่ 9

อันเป็นการล่วงละเมิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 ซึ่งประชาชนทั่วไปที่พบเห็นข้อความประกอบพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าวเข้าใจความหมายได้ว่า รัชกาลที่ 9 เป็นฆาตกร และกษัตริย์เป็นสิ่งที่เหลือทิ้ง เสื่อมสภาพจนใช้การไม่ได้ หรือไม่ต้องการใช้ ไม่ควรคู่อยู่ในสังคมไทย อันเป็นการกล่าวหา ใส่ความ หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย รัชกาลที่ 9 และส่งผลกระทบโดยตรงต่อรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นพระราชโอรส และเป็นพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน โดยประการที่น่าจะทําให้ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ และประชาชนเสื่อมความเคารพศรัทธาในพระมหากษัตริย์

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2964/2564 ลงวันที่ 25 พ.ย. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) “ใจ” (นามสมมติ) เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ก่อนพบว่าเธอถูกกล่าวหาว่า ทวิตข้อความเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 ในทวิตเตอร์

    ก่อนหน้านี้ “ใจ” ได้รับหมายเรียกจาก บก.ปอท. ลงวันที่ 3 ก.พ. 2564 ระบุว่าให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาใน 2 ข้อหาดังกล่าว โดยมีอารีย์ จิวรรักษ์ รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้กล่าวหา และมี พ.ต.อ.ประดิษฐ์ เปการี รองผู้บังคับการ บก.ปอท. เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน

    เมื่อใจเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา พร้อมกับทนายความ พ.ต.ท.ภีมพศ เกตุเทศ รองผู้กำกับ (สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. และ ร.ต.อ.หญิงศศิพันธ์ คงเอียด รองสารวัตร (สอบสวน) ปรท.กก.3 บก.ปอท. ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการทวิตข้อความในทวิตเตอร์ 1 ข้อความ

    พฤติการณ์ที่กล่าวหาระบุว่า เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ผู้กล่าวหาได้ตรวจสอบพบบัญชีทวิตเตอร์บัญชีหนึ่ง (ไม่ใช่ชื่อสกุลของ “ใจ”) ได้โพสต์แบบสาธารณะ มีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 และข้อความประกอบ พร้อมติดแฮซแท็กเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อความที่มีการกล่าวหา ใส่ความรัชกาลที่ 9 มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย และมีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนที่เข้ามาอ่าน เกิดความรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชังพระมหากษัตริย์ และสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยผู้กล่าวหาตรวจพบการกระทำดังกล่าวที่สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

    “ใจ” ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป พนักงานสอบสวนจึงได้ให้พิมพ์ลายนิ้วมือและลงบันทึกประจำวันไว้ พร้อมกับให้ปล่อยตัวไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้ระหว่างสอบสวน และจะนัดหมายรายงานตัวเพื่อฟังคำสั่งทางคดีอีกครั้ง

    ทั้งนี้ คดีนี้น่าจับตาในข้อกล่าวหาที่กล่าวหาไปถึงการเผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในอดีต หากพิจารณาองค์ประกอบความผิดของมาตรา 112 นั้น ครอบคลุมถึง 4 บุคคล ได้แก่ “พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” หากตีความกฎหมายโดยเคร่งครัด กฎหมายควรจะครอบคลุมเพียง “พระมหากษัตริย์” องค์ปัจจุบันเท่านั้น จึงต้องจับตาแนวทางการตีความในประเด็นนี้ต่อไป

    จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีนี้ยังเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 2 ที่มีการกล่าวหาจากการแสดงความคิดเห็นในทวิตเตอร์ ภายหลังจากเริ่มนำข้อหานี้กลับมาใช้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 ก่อนหน้านี้มีคดีของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ซี่งถูกกล่าวหาจากกรณีการโพสต์และทวิตข้อความเกี่ยวกับการแบนธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) โดยเป็นคดีที่ บก.ปอท. เช่นเดียวกัน และเป็นคดีที่สามเป็นอย่างน้อย ที่มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้กล่าวหา

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 11 ก.พ. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/25937)
  • พนักงานสอบสวนนัดหมายใจส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 อัยการนัดรายงานตัวอีกครั้งวันที่ 15 ต.ค. 2564 เวลา 10.00 น.
  • ใจเดินทางไปที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 ตามที่อัยการนัด อัยการยังไม่มีคำสั่งในวันนี้ นัดมาฟังคำสั่งฟ้องในวันที่ 25 พ.ย. 2564
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 มีความเห็นสั่งฟ้องและยื่นฟ้องใจต่อศาลอาญา ในฐานความผิด ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ’ และเผยแพร่และนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14

    อย่างไรก็ตาม อัยการไม่ได้ค้านการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ภายหลังศาลรับฟ้อง และทนายความยื่นประกันตัว ใจก็ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสด 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 24 ม.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    เป็นที่น่าสังเกตว่า การกระทำที่ถูกฟ้องว่าเป็นความผิด เป็นการโพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาพาดพิงถึงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นอดีตกษัตริย์ และไม่ได้เป็นบุคคลที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มุ่งคุ้มครอง ที่ครอบคลุมเพียง พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เท่านั้น หากแต่อัยการตีความกว้างขวาง ขยายขอบเขตของกฎหมายครอบคลุมไปถึงอดีตกษัตริย์ โดยเชื่อมโยงว่าส่งผลกระทบต่อกษัตริย์องค์ปัจจุบัน และฟ้องคดีเพื่อเอาผิดจำเลย จึงต้องจับตาแนวทางการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลในคดีนี้ต่อไป

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2964/2564 ลงวันที่ 25 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/38328)
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟังแล้ว จําเลยแถลงยืนยันให้การปฏิเสธ ตามคําร้องฉบับลงวันที่ 17 ม.ค. 2565

    โจทก์อ้างส่งเอกสารและภาพถ่ายรวม 7 ฉบับ ทนายจําเลยแถลงว่า ไม่ขอรับข้อเท็จจริงหรือพยานปากใด ๆ โดยให้โจทก์นําพยานเข้าสืบตามกระบวนการตามกฎหมาย

    โจทก์แถลงติดใจสืบพยานรวม 8 ปาก ได้แก่ อารีย์ จิวรรักษ์ ผู้กล่าวหา, ตำรวจสืบสวน, ประชาชนที่พบเห็นข้อความและให้ความเห็น 3 ปาก และพนักงานสอบสวน 3 ปาก ขอใช้เวลาสืบ 2 นัด

    จําเลยและทนายจําเลยแถลงข้อต่อสู้ว่า ไม่ได้กระทําความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง เนื่องจากการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ หมายถึงพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ในปัจจุบัน ไม่ได้หมายความถึงพระมหากษัตริย์ที่สวรรคต และโจทก์ไม่มีอํานาจฟ้องตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพราะกระทรวงดิจิทัลไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้ มีพยานที่จะสืบ 4 ปาก ขอใช้เวลาในการสืบพยาน 1 นัด

    นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 31 ม.ค. และ 1 ก.พ. 2566 สืบพยานจำเลยในวันที่ 2 ก.พ. 2566

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2964/2564 ลงวันที่ 24 ม.ค. 2565)
  • ++ผู้กล่าวหาจากกระทรวง DE — เห็นข้อความเข้าข่ายหมิ่นประมาท ม.112 จึงประสานงานกับ ปอท. ช่วยพิสูจน์ทราบบุคคลเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์

    อารีย์ จิวรรักษ์ จบการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี สาขาภูมิศาสตร์แผนที่ ปริญญาโท สาขานิติวิทยาศาสตร์ ดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีและสารสนเทศ ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ปัจจุบันเป็นข้าราชการเกษียณอายุ

    เกี่ยวกับคดีนี้ พยานเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยในคดีนี้ โดยเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ในขณะที่พยานทำงานอยู่ที่กระทรวง ได้พบข้อความบนทวิตเตอร์ว่า “เขาไม่ใช่กษัตริย์ เขาคือฆาตกรที่ตายไปแล้ว” ซึ่งพยานเห็นว่าเป็นข้อความที่กล่าวถึงรัชกาลที่ 9 ในทำนองว่าทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิด

    นอกจากนี้ ยังมีภาพรัชกาลที่ 9 ประกอบข้อความดังกล่าว ซึ่งพยานได้นำมาใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ เมื่อดูภาพประกอบข้อความในโพสต์แล้ว พยานจึงลงความเห็นว่าเข้าข่ายฐานความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงได้นำเสนอต่อผู้บังคับบัญชา เพื่อขออนุญาตให้แจ้งความร้องทุกข์กับ บก.ปอท.

    เมื่อพยานได้ดำเนินการไปแจ้งความแล้ว ได้มีการประสานงานร่วมกันระหว่างพยานกับตำรวจ เพื่อตรวจสอบหาเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าว โดยจากการพิสูจน์ตัวตนแล้วพบว่า เป็นผู้หญิง และมีการผูกแอคเคาท์เชื่อมกับโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่น แต่ในช่วงแรกยังไม่ทราบชื่อ

    ทั้งนี้ ตำรวจ บก.ปอท. ได้ดำเนินการใช้โปรแกรมเพื่อพิสูจน์หาตัวบุคคลทั้งในทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และอินสตราแกรม พบว่าเป็นตัวจำเลยในคดีนี้ 99.9% และเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนราษฎร์จากกระทรวงมหาดไทย จึงได้ชื่อจริงของจำเลยมา

    อย่างไรก็ตาม อารีย์ได้เบิกความว่าไม่เคยเจอตัวจริงของจำเลยมาก่อน จึงไม่สามารถตอบได้ว่า อยู่ในห้องพิจารณาด้วยหรือไม่ และศาลได้ถามต่อพยานว่า ในตอนที่พิสูจน์ทราบตัวบุคคล มีขั้นตอนกระบวนการอย่างไรให้ได้ชื่อจริงของจำเลยในคดีนี้มา พยานไม่สามารถตอบได้ และบอกเพียงว่าเป็นการดำเนินงานของตำรวจ บก.ปอท.

    พยานเบิกความต่อไปว่า ผู้บริหารได้มอบอำนาจให้พยานไปแจ้งความร้องทุกข์ โดยมีหลักฐานเป็นภาพบัญชีเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ของจำเลย และหนังสือร้องทุกข์ โดยพยานได้มอบทั้งหมดให้กับพนักงานสอบสวน

    ต่อมา อารีย์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่แน่ใจว่าบุคคลในห้องพิจารณากับจำเลยในคดีนี้เป็นบุคคลคนเดียวกัน และไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่

    พยานตอบทนายจำเลยอีกว่า พยานไม่ได้จบการศึกษาสาขานิติศาสตร์ และคดีนี้ไม่ใช่คดีมาตรา 112 คดีแรกที่พยานเข้าแจ้งความ พยานเห็นว่า มาตรา 112 ครอบคลุมถึงอดีตกษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว แต่ก็เป็นเพียงความเห็นของพยานเท่านั้น ไม่ใช่ข้อเท็จจริงของกฎหมายแต่อย่างใด

    ทนายจำเลยถามต่อว่า พยานทราบหรือไม่ว่า ตามองค์ประกอบของมาตรา 112 มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า คุ้มครองเฉพาะกษัตริย์องค์ปัจจุบันเท่านั้น ไม่ได้คุ้มครองถึงอดีตกษัตริย์ ซึ่งพยานได้ตอบว่า ในคดีนี้พยานไม่แน่ใจว่าผิดมาตรา 112 หรือไม่ แต่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แน่นอน ซึ่งการพิจารณาว่าจะผิดมาตรา 112 หรือไม่ เป็นหน้าที่ของตำรวจ บก.ปอท.

    พยานไม่เห็นด้วยกับที่ทนายจำเลยถามว่า การที่จะผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้ จะต้องเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก่อน ซึ่งพยานตอบทนายว่าไม่เสมอไป แต่รับว่า คำฟ้องในคดีนี้ ไม่ได้ระบุไว้ว่า ฟ้องจำเลยตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อนุมาตราใด

    ทนายจำเลยให้พยานดูคำพิพากษาของศาลจังหวัดจันทบุรี ซึ่งศาลเห็นว่าการกล่าวถึงกษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว ไม่เข้าองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 112 พยานยอมรับตามคำพิพากษาดังกล่าว ส่วน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พยานได้อธิบายว่า มีระบุไว้ 3 วรรค ซึ่งในวรรคที่ 3 เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ส่วนวรรคที่ 1 – 2 เป็นความผิดเกี่ยวกับความเท็จ จำเลยในคดีนี้ได้กระทำการที่เกี่ยวกับความมั่นคง

    เมื่อทนายจำเลยถามอารีย์ต่อว่า พยานเป็นคนที่เข้าแจ้งความร้องทุกข์ในมาตรา 112 มาหลายคดี เป็นไปได้หรือไม่ที่พยานมีความเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวครอบคลุมถึงอดีตกษัตริย์ และอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พยานตอบว่าเพิ่งได้แจ้งร้องทุกข์ และดำเนินการกับกลุ่มคนที่หมิ่นตั้งแต่รัชกาลที่ 9 ไปแล้วเท่านั้น และไม่แน่ใจว่า มาตรา 112 สามารถคุ้มครองทั้งราชวงศ์ไทยได้หรือไม่

    เมื่อถามต่อว่า กษัตริย์ไทยมีกี่ราชวงศ์ พยานตอบว่า ไม่ทราบ ทนายจึงถามต่อไปว่า ที่มาเบิกความและแจ้งข้อหามาตรา 112 พยานก็ไม่รู้ใช่หรือไม่ว่า การกระทำของจำเลยในคดีนี้ผิดตามมาตรา 112 หรือไม่ พยานตอบว่าเป็นหน้าที่ของ บก.ปอท. ต้องพิสูจน์

    ทนายจำเลยให้พยานดูพระนามอดีตกษัตริย์ก่อนถามว่า “ขุนวรวงศาธิราช” ซึ่งเป็นกษัตริย์สมัยอยุธยาและเป็นหนึ่งในกษัตริย์ที่ครองราชย์สั้นที่สุดเพียง 42 วัน ในตำราประวัติศาสตร์บางเล่มได้กล่าวว่าพระองค์ไม่ใช่กษัตริย์ หากมีการหมิ่นขุนวรวงศาธิราชเกิดขึ้นในปัจจุบัน พยานจะถือว่าเข้าข่ายการหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 112 หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ

    พยานรับว่า สถาบันกษัตริย์ และพระมหากษัตริย์มีความแตกต่างกัน โดยในโพสต์ดังกล่าว ไม่ได้มีการกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 และไม่มีภาพของรัชกาลที่ 10 และพยานไม่ขอตอบว่าในอดีตมีพระราชินี หรือองค์รัชทายาทกี่พระองค์

    พยานยังไม่ขอตอบประเด็นที่มีข่าวสาธารณะว่า มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งเข้าไปยื่นหนังสือขอให้แก้กฎหมาย มาตรา 112 ให้คุ้มครองถึงอดีตกษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์

    ทนายจำเลยถามพยานอีกว่า ในปัจจุบันมีการถกเถียงเกี่ยวกับเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 ว่าผู้ใดเป็นผู้ลอบปลงพระชนม์ โดยในหนังสือที่ทนายได้ยื่นให้พยานดูมีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า พฤติการณ์ตามสำนวน ไม่แสดงเลยว่าจำเลยทั้งสองที่ถูกกล่าวหาว่าปลงพระชนม์ ร.8 เป็นผู้กระทำผิด พยานตอบว่าก็ปรากฏตามหนังสือ

    ทั้งนี้ ทนายได้ยื่นเอกสารฉบับหนึ่งเรื่องที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เคยประกาศจะให้รื้อคดีของรัชกาลที่ 8 ขึ้นมาใหม่ พยานตามว่าเป็นไปตามเอกสาร และนอกจากนี้ตามบทความต่างประเทศที่มีการระบุข้อเท็จจริงตามเอกสารทางประวัติศาสตร์ว่า คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเตรียมแถลงถึงเหตุจากอุบัติเหตุในกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 โดยถามต่อพยานว่า ถ้าจำเลยในคดีนี้ได้อ่านเอกสารฉบับดังกล่าวมา เป็นไปได้หรือไม่ที่จำเลยจะเชื่อถึงสาเหตุการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ดังกล่าว พยานตอบว่า เป็นไปได้

    อย่างไรก็ตาม อารีย์ตอบอัยการถามติงว่า คำพิพากษาของศาลจังหวัดจันทบุรี ยังไม่ใช่คำพิพากษาจากศาลฎีกา ซึ่งมีความหมายว่าคดีดังกล่าวนี้ยังไม่มีการพิพากษาถึงที่สุด

    ++พนักงานสืบสวน — สืบทราบตัวบุคคลจากการหาความเชื่อมโยงในบัญชีทวิตเตอร์ พบมีร่องรอยของบัญชีโซเชียลอื่น จึงชี้ตัวบุคคลได้จากภาพโปรไฟล์ที่มีใบหน้าเดียวกัน

    พ.ต.ต.ประยุทธ สอนสวาท เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนจากกองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เข้าเบิกความว่า ในขณะเกิดเหตุ พยานได้รับหน้าที่ช่วงเดือน ธ.ค. 2563 ถึง ก.พ. 2564 ให้สืบหาตัวบุคคลจากบัญชีทวิตเตอร์ที่มีการกระทำผิดในวันที่ 14 ต.ค. 2563

    พยานตรวจสอบในตอนแรก ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ใช้งาน พอเริ่มตรวจค้นจากภาพในบัญชีทวิตเตอร์ จึงได้พบว่ามีการโพสต์ภาพบัญชีเฟซบุ๊กถึงตัวบุคคล และมีการใช้ชื่อจริงและชื่อเล่นสอดคล้องกับบัญชีทวิตเตอร์ และตรวจสอบต่อไปจึงได้พบกับบัญชีอินสตาแกรม มีภาพโปรไฟล์เป็นผู้หญิง มีใบหน้าคล้ายกันทั้ง 3 บัญชี เมื่อนำชื่อจริงไปค้นในทะเบียนราษฎร์ พบเจอตัวตน 1 คน ในทางสืบสวนสามารถเชื่อได้ว่า บุคคลในภาพมีความเกี่ยวข้องกับบัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าว

    ต่อมา พ.ต.ต.ประยุทธ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่สามารถยืนยันได้ว่าจำเลยเป็นคนโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์หรือไม่ และพยานไม่ได้มีความรู้ทางกฎหมายเพียงพอจะบอกได้ว่าต้องผิดมาตรา 112 มาก่อนถึงจะสามารถเอาผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้ แต่รับว่าในขณะที่เกิดเหตุคดีนี้ เป็นช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ 10 ไม่ใช่รัชกาลที่ 9

    เมื่อทนายจำเลยถามว่า เหตุใดจึงมีการนำมาตรา 112 มาดำเนินคดีกับจำเลย พยานตอบว่า ในการแจ้งดำเนินคดีดังกล่าว มีการประชุมของคณะกรรมการมาก่อนแล้ว พบว่าเข้าข่ายความผิด ซึ่งพยานมีหน้าที่ในการสืบสวนเท่านั้น

    ทั้งนี้ ในส่วนการสืบหาตัวบุคคลนั้น ไม่ได้ผ่านกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ แต่เป็นการเปรียบเทียบภาพถ่ายจากเฟซบุ๊กที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ พยานอธิบายว่า มีการนำไปเข้าโปรแกรมที่ บก.ปอท. เป็นผู้จัดทำขึ้นมา
    .
    ++พยานโจทก์พนักงานสอบสวน 3 ปาก — มีความเห็นสั่งฟ้องคดี แม้เบิกความไม่ตรงกันว่า ม.112 ครอบคลุมถึงอดีตกษัตริย์จริงหรือไม่

    โจทก์ได้นำ ร.ต.อ.พงศ์ปิติ ตรีนิคม, ร.ต.อ.หญิง ศศิพันธ์ คงเอียด และ ร.ต.อ.นัฐพล ทะเลน้อย พนักงานสอบสวนจาก บก.ปอท. เข้าเบิกความสอดคล้องกันในประเด็นการรับแจ้งความร้องทุกข์ว่า มี อารีย์ จิวรรักษ์ จากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เข้ามาแจ้งความในวันที่ 16 ต.ค. 2563 พร้อมกับพยานหลักฐานที่กล่าวหาจำเลยถึงโพสต์บนทวิตเตอร์ที่มีการหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 9
    โดยมี ร.ต.อ.พงศ์ปิติ เป็นผู้รับแจ้งความและรายงานบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีนี้ให้ผู้บังคับบัญชาทราบ แต่เนื่องจากในวันที่อารีย์มาแจ้งความ มีคดีที่พยานต้องจัดการเป็นจำนวนมาก จึงได้ส่งต่อให้พนักงานสอบสวนคนอื่นมาดูแลต่อ

    ส่วน ร.ต.อ.หญิง ศศิพันธ์ รองสารวัตร กองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย เป็นพนักงานสอบสวนในคดีนี้ร่วมด้วย และได้ทำการสอบปากคำพยานโจทก์ในคดีนี้ โดยในวันที่ 20 ม.ค. 2564 ได้ทำการสอบปากคำประชาชนที่เป็นหนึ่งในพยานโจทก์ของคดีนี้ และทำการสอบสวนพนักงานสืบสวนที่สืบหาบุคคลเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ว่ามีความเชื่อมโยงกับจำเลย

    ในวันที่จำเลยมารับทราบข้อกล่าวหาที่ บก.ปอท. พยานได้ให้จำเลยได้พิมพ์ลายนิ้วมือไว้ ก่อนจะปล่อยตัวไป และไม่ได้รับผลพิมพ์ลายนิ้วมือ ซึ่งหน้าที่ของพยานได้สิ้นสุดลงตรงนี้ เนื่องจากได้ถูกโยกย้ายให้ไปปฏิบัติงานในตำแหน่งอื่น จึงได้ส่งมอบงานให้กับพนักงานสอบสวนคนอื่นทำแทน

    ร.ต.อ.นัฐพล ได้รับมอบหมายจาก ร.ต.อ.หญิง ศศิพันธ์ ตามคำสั่งแต่งตั้งจากผู้บังคับบัญชา พยานได้รับผลตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลย ซึ่งไม่พบประวัติอาชญากรรม นอกจากนี้ พยานยังได้สอบปากคำระพีพงศ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในพยานโจทก์ด้วย

    พนักงานสอบสวนทั้งสามตอบทนายจำเลยถามค้านในทำนองเดียวกันว่า จำเลยในคดีนี้ได้ทำการหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 9 โดยการโพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ ถึงแม้จะยืนยันไม่ได้ว่า จำเลยเป็นผู้โพสต์ด้วยตนเองจริงหรือไม่

    ทั้งสามยังเบิกความสอดคล้องกันว่า ไม่ทราบว่าประชาชนที่เป็นพยานให้ความเห็นในคดีนี้เป็นกลุ่มผู้ชุมนุม ศปปส. หรือกลุ่มศูนย์ประชาชนปกป้องสถาบันหรือไม่ ทราบเพียงว่าเป็นประชาชนที่เข้ามาติดต่อราชการที่ บก.ปอท. จึงได้ไปขอความร่วมมือให้มาให้ปากคำเกี่ยวกับคดีนี้

    ร.ต.อ.พงศ์ปิติ และ ร.ต.อ.หญิง ศศิพันธ์ ให้ความเห็นที่คล้ายกันว่า เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 112 แม้จะเป็นการหมิ่นประมาทอดีตกษัตริย์ที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่เมื่อทนายจำเลยถามว่า หากมีการดูหมิ่นพระนเรศวรหรือพระเจ้าตาก ก็แสดงว่าเป็นการทำผิดตามมาตรา 112 ด้วยหรือไม่ พยานทั้งสองคนก็ให้ความเห็นว่า คุ้มครองกษัตริย์ไทยทุกพระองค์ แต่ไม่สามารถตอบได้ว่ากษัตริย์ไทยทั้งหมดมีกี่พระองค์

    เมื่อทนายได้ยื่นเอกสารคำพิพากษาของศาลจังหวัดจันทบุรี ให้พยานทั้งหมดดูว่าในคำพิพากษาฉบับดังกล่าวศาลได้วินิจฉัยว่า การกล่าวถึงอดีตกษัตริย์ไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งพยานได้ตอบว่า ไม่ทราบ และเมื่อทนายจำเลยได้ถามต่อไปว่า มาตราดังกล่าวก็ต้องคุ้มครองถึงอนาคตกษัตริย์และอนาคตผู้สำเร็จราชการด้วยใช่หรือไม่ ซึ่งพยานทั้งสองก็ให้ความเห็นว่า ไม่ทราบเหมือนกันว่าในอนาคตจะมีกษัตริย์อีกกี่พระองค์

    ทนายถามต่อไปว่า หากมีการหมิ่นกษัตริย์ต่างประเทศ หรือประมุขต่างประเทศ หรืออดีตประมุขต่างประเทศ เช่น พระเจ้าบุเรงนอง ก็ถือว่าเป็นการหมิ่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 133 และ มาตรา 134 ด้วยใช่หรือไม่ ซึ่ง ร.ต.อ.หญิง ศศิพันธ์ ได้ตอบว่า ใช่ แต่ ร.ต.อ.พงศ์ปิติ ตอบเพียงว่า ไม่ทราบ

    อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ.นัฐพล เป็นพยานโจทก์ปากพนักงานสอบสวนที่ตอบคำถามค้านแตกต่างจากอีกสองคน โดยพยานรับว่า ไม่ทราบว่าหากมีการหมิ่นอดีตกษัตริย์จะเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 112 หรือไม่ และไม่ทราบตามที่ทนายถามค้านว่า หากหมิ่นอดีตประมุขของต่างประเทศ จะผิดมาตรา 133 – 134 หรือไม่ ตลอดจนเมื่อทนายจำเลยถามว่า พยานเห็นด้วยหรือไม่ว่ามาตรา 112 ควรครอบคลุมถึงอดีตกษัตริย์ และในปัจจุบันก็มีการไปเรียกร้องให้แก้กฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อครอบคลุมทั้งสถาบันกษัตริย์ พยานไม่ขอตอบ

    ทนายจำเลยจึงได้ถาม ร.ต.อ.นัฐพล ต่อว่า พยานทราบหรือไม่ที่พยานเบิกความมาไม่ตรงกับพยานโจทก์ปากอื่น และขัดแย้งกับพยานโจทก์ปากพนักงานสอบสวนอีก 2 ราย พยานตอบว่าไม่ทราบ

    ต่อมา พนักงานสอบสวนทั้งสามตอบอัยการโจทก์ถามติงว่า คำพิพากษาของศาลจังหวัดจันทบุรี ยังไม่ใช่คำพิพากษาถึงที่สุด และหากมีการสู้ไปจนถึงชั้นฎีกา คำพิพากษาก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ และที่พยานไม่สามารถตอบทนายจำเลยได้ว่า จำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้องจริงหรือไม่ เนื่องจากอาศัยพยานหลักฐานจากพนักงานสืบสวนที่มีการยื่นหลักฐานพิสูจน์เป็นรูปภาพและชื่อของจำเลย

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/54307)
  • ++พยานความเห็นปากที่ 1 — เห็นข้อความตามฟ้องแล้วคิดว่ามีเจตนาหมิ่นรัชกาลที่ 9 ถึงแม้ยืนยันว่าไม่มีการเอ่ยพระนามถึงรัชกาลที่ 10 และไม่ขอออกความเห็นว่า ม.112 ครอบคลุมถึงอดีตกษัตริย์หรือไม่

    คมสันต์ โพธิ์คง อาชีพรับจ้างทั่วไป จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาโทกฎหมายมหาชน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับคดีนี้ พยานได้ถูกพนักงานสอบสวนเรียกไปให้ปากคำ เนื่องจากเคยมีประสบการณ์เขียนหนังสือกฎหมายอาญาให้กับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช ในหัวข้อความผิดต่อความมั่นคง จึงได้เข้ามาให้ปากคำที่ บก.ปอท.

    พยานได้รับการติดต่อจากพนักงานสอบสวน ในเดือนมกราคม 2564 ให้เข้ามาแสดงความเห็นและความรู้สึกต่อข้อความที่จำเลยโพสต์ในทวิตเตอร์ ซึ่งพยานรู้สึกว่าเป็นการหมิ่นประมาทแน่นอน เนื่องจากมีการกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร และถึงแม้จะเป็นคำกล่าวหาที่เกิดขึ้นกับบุคคลธรรมดา ก็ย่อมเป็นการหมิ่นประมาท ทำให้บุคคลอื่นคิดว่าเขาเป็นฆาตกรจริงๆ หรือทำให้ถูกเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นมีพฤติกรรมอย่างที่ว่าจริง

    อย่างไรก็ตาม คมสันต์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานยืนยันไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริงหรือไม่ เมื่อทนายถามว่า พยานเป็นสมาชิกของกลุ่มศูนย์รวมปกป้องสถาบันฯ (ศปปส.) หรือไม่ พยานก็ตอบทันทีว่าตนเองไม่ได้เป็นสมาชิก และในการเดินทางมาเบิกความวันนี้ ก็มาเพียงคนเดียว ไม่ได้มากับกลุ่ม ศปปส. ที่นั่งสังเกตการณ์อยู่ในห้องพิจารณาคดีนี้ด้วย

    ทนายถามพยานอีกว่า คดีนี้ไม่ได้มีการกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 และในมาตรา 112 ไม่ได้มีบทบัญญัติไว้เหมือนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 327 ที่ระบุไว้ว่าผู้ใดใส่ความคนตายต่อบุคคลที่ 3 อันเป็นการทำให้ บิดา มารดา คู่สมรสหรือบุตรของผู้ตายเสื่อมเสียชื่อเสียงด้วย ผู้นั้นถือเป็นการหมิ่นประมาท ทำไมมาตรา 112 ถึงไม่ระบุอย่างชัดเจนในเรื่องนี้เหมือนกับมาตรา 327 พยานตอบว่า ไม่ทราบ

    พยานยืนยันว่า ขณะที่เกิดเหตุของคดีนี้ กษัตริย์ที่ครองราชย์มีเพียงพระองค์เดียวคือรัชกาลที่ 10 และไม่ขอออกความเห็นว่า มาตรา 112 ควรจะครอบคลุมไปถึงอดีตกษัตริย์ที่สิ้นพระชนม์ไปแล้วหรือไม่

    เมื่อทนายจำเลยถามพยานต่อไปว่า หากมีการหมิ่นพระเจ้าทองลันจะเป็นการผิดมาตรา 112 หรือไม่ พยานตอบว่าหากพระเจ้าทองลันมีทายาทสืบสกุลมาถึงปัจจุบันก็คิดว่าผิด แต่ปัจจุบันไม่ทราบว่ามีใครเป็นทายาทของพระเจ้าทองลันหรือไม่

    พยานอธิบายต่อว่า ที่เบิกความว่า จำเลยกล่าวถึงบิดาของรัชกาลที่ 10 ก็เป็นเจตนาที่มุ่งหมายทำให้กระทบต่อกษัตริย์องค์ปัจจุบันได้รับความเสียหาย แต่ในโพสต์ดังกล่าวไม่ได้มีการกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 เป็นความเข้าใจของพยานเอง

    ทนายจำเลยยื่นเอกสารรายพระนามของกษัตริย์ในราชวงศ์ไทยทั้งหมดให้ดู และถามว่าหากมีการหมิ่นอดีตกษัตริย์ตามรายชื่อดังกล่าวนี้ จะถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทตามมาตรา 112 หรือไม่ พยานตอบว่า ถ้าอดีตกษัตริย์ในรายชื่อมีทายาทก็ถือว่าหมิ่น หรือหากมีการต่อว่าอดีตราชินี อดีตรัชทายาท ก็สามารถเข้าข่ายมาตรา 112 ได้ ถึงแม้จะไม่อยู่ในองค์ประกอบของกฎหมาย แต่ก็กระทบกับกษัตริย์ที่ครองราชย์ ซึ่งต้องใช้มาตรา 112 มาพิจารณาอยู่ดี

    พยานทราบว่า ปัจจุบันมีกลุ่มคนพยายามยื่นหนังสือเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้ครอบคลุมถึงอดีตกษัตริย์ แลรับว่า หากจะผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้ ต้องมีการผิดมาตรา 112 มาก่อน

    ++พยานความเห็นปากที่ 2 สมาชิกกลุ่ม ศปปส. — ชี้ข้อความเป็นการปรักปรำกษัตริย์และเห็นว่า ม.112 ไม่ได้มีการระบุถึงความผิดต่อ “สถาบัน” แต่พยานเข้าใจว่าคำว่า “สถาบัน” หมายรวมถึงกษัตริย์ที่เป็นองค์ประกอบของ ม.112

    นพคุณ ทองถิ่น อาชีพรับจ้างทั่วไป จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตร์เครื่องกล มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร มาให้ความเห็นในคดีนี้ในฐานะกลุ่ม ศปปส. และเคยยื่นหนังสือถึงกระทรวง DE ให้ตรวจสอบกลุ่มคนที่มีการจาบจ้วงสถาบันกษัตริย์ในทวิตเตอร์ พยานมีหน้าที่ในกลุ่มดังกล่าวตามสอดส่องว่าผู้ใดกระทำผิดต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งในคดีนี้พยานได้เข้ามาให้ความเห็นต่อพนักงานสอบสวนไปเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564

    พยานเบิกความว่า ได้ให้ความเห็นต่อรูปที่พนักงานสอบสวนนำมาให้ดูว่า ในโพสต์ที่มีการกล่าวหารัชกาลที่ 9 เป็นสิ่งที่ไม่มีหลักฐาน มีเจตนาปรักปรำให้ร้ายต่อรัชกาลที่ 9 ว่าเป็นฆาตกร ส่วนแฮชแท็กที่กล่าวหาว่ากษัตริย์ พยานเข้าใจว่ามีเจตนาสื่อถึงรัชกาลที่ 10 เนื่องจากเวลาโพสต์เป็นช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ 10 ขึ้นครองราชย์สมบัติ

    ส่วนในภาพรัชกาลที่ 9 ที่มีพระราชดำรัสอยู่ว่า “ไม่ต้องจำว่าฉันเป็นใคร จำว่าฉันทำอะไรก็พอ” พยานรู้สึกว่าไม่มีการอาฆาตใดๆ แต่พยานได้อธิบายโดยรวมว่า หากผู้โพสต์ไม่มีเจตนาใส่ร้ายรัชกาลที่ 9 คงไม่โพสต์ข้อความดังกล่าวออกมาตั้งแต่แรก

    จากนั้นนพคุณตอบทนายจำเลยถามค้านว่า การที่พยานทำงานอยู่ที่ ศปปส. ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ก่อตั้งตามกฎหมาย ชื่อศูนย์ดังกล่าวมีคำว่า “สถาบัน” ซึ่งเป็นการปกป้องกษัตริย์ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทั้งนี้ ในมาตรา 112 ไม่ได้มีการระบุถึงความผิดต่อ “สถาบัน” แต่เป็นการผิดต่อพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตาม พยานเข้าใจว่าคำว่า “สถาบัน” หมายรวมถึงกษัตริย์ที่เป็นองค์ประกอบของมาตรา 112

    ทนายจำเลยถามว่า ประเทศไทยมีกษัตริย์ขึ้นครองราชย์มาแล้วกี่พระองค์ พยานได้ตอบทันทีว่าไม่สำคัญว่าประเทศนี้จะมีกษัตริย์มาแล้วกี่พระองค์ แต่เรากำลังพูดถึงกษัตริย์ในรัชกาลนี้ แต่เมื่อทนายถามต่อว่า โพสต์ดังกล่าวของจำเลยมีการกล่าวหารัชกาลที่ 10 หรือไม่ พยานก็ตอบว่าไม่มี แต่พยานบอกว่าโพสต์ดังกล่าวเกิดขึ้นในรัชสมัยของรัชกาลที่ 10 โดยคำว่า “กษัตริย์” ไม่ว่าจะพูดตอนไหน ถ้าเขียนว่ากษัตริย์ก็หมายถึงรัชกาลที่ 10 ส่วนที่ทนายจำเลยถามว่าทางกลุ่มมีการยื่นหนังสือขอให้แก้กฎหมายมาตรา 112 ให้ครอบคลุมอดีตกษัตริย์นั้น พยานไม่ขอออกความเห็น

    ++พยานความเห็นปากที่ 3 สมาชิกกลุ่ม ศปปส. — ชี้อ่านแล้วรู้สึกว่ามีการหมายรวมถึงรัชกาลที่ 1 – 10 เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของรัชกาลที่ 10 ด้วย

    ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ อาชีพรับจ้างทั่วไป จบการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี สาขาจิตรกรรม วิทยาลัยเพาะช่าง เป็นสมาชิกกลุ่ม ศปปส. เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้ เนื่องจากในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 นำโดยอานนท์ กลิ่นแก้ว ได้ไปยื่นหนังสือถึงกระทรวง DE ร้องเรียนเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ในทางสื่อออนไลน์

    หลังจากนั้น จึงได้ถูกพนักงานสอบสวนเรียกสอบปากคำ โดยพยานกล่าวว่า ตนจำข้อความที่โพสต์ในคดีนี้ได้ และมีความเห็นในฐานะประชาชนผู้จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ คำว่า “ฆาตกร” เป็นการใส่ร้าย ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่อย่างไร และคำในแฮชแท็ก อ่านแล้วรู้สึกว่ามีการหมายรวมถึงรัชกาลที่ 1 – 10 เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ด้วย และผู้โพสต์มีเจตนาที่ต้องการหมิ่นกษัตริย์ หากคนที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ จะไม่มีการโพสต์ข้อความในทำนองนี้เด็ดขาด

    อีกทั้ง ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 (1) ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าบุคคลมีหน้าที่ต้องธำรงไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามรัฐธรรมนูญ พยานเห็นว่ามีกฎหมายที่บัญญัติชัดเจนว่ากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้

    เมื่อทนายจำเลยถามค้านว่า ที่พยานเบิกความกล่าวถึงคำว่า “กษัตริย์” คือสถาบันกษัตริย์มีตั้งแต่รัชกาลที่ 1 – 10 แต่นอกเหนือจากนี้ครอบคลุมใครได้อีกบ้าง พยานไม่ขอตอบ ทนายจำเลยถามอีกว่า ที่พยานกล่าวว่า มาตรา 112 มีการครอบคลุมถึงอดีตกษัตริย์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 หรือความเห็นต่อการยื่นหนังสือเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ในปัจจุบัน ให้ครอบคลุมไปถึงอดีตกษัตริย์ พยานก็ไม่ขอตอบคำถาม

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/54307)
  • คดีนี้ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่า จำเลยไม่ได้โพสต์ภาพหรือข้อความที่สื่อถึงรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบัน และไม่มีข้อความใดที่สามารถเชื่อมโยงถึงรัชกาลที่ 10 ได้ ทั้งจำเลยไม่ได้ทำความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามมาตรา 112 เนื่องจากการกระทำของจำเลยไม่ได้เข้าองค์ประกอบ

    ++พยานจำเลยปากผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอาญา — ชี้การตีความกฎหมายต้องตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนั้น ในคดีนี้ไม่เข้าองค์ประกอบของมาตรา 112 เนื่องด้วยกฎหมายไม่ได้ครอบคลุมถึงอดีตกษัตริย์

    สาวตรี สุขศรี รองคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันรับผิดชอบสอนวิชากฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายอาญา อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ยังเป็นอนุกรรมการของรัฐสภา เพื่อศึกษาการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    พยานเบิกความต่อศาลในประเด็นมาตรา 112 นั้น ไม่ครอบคลุมถึงอดีตกษัตริย์ของไทย ด้วยเหตุผลทางวิชาการ 3 ประการ
    1. ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การตีความต้องตีตามเจตนารมณ์และถ้อยคำของกฎหมาย เพื่อพิจารณาสิ่งที่กฎหมายต้องการคุ้มครอง เนื่องจากตำแหน่งกษัตริย์เป็นตำแหน่งพิเศษที่จะต้องได้รับการคุ้มครอง ดังนั้น กฎหมายจึงคุ้มครองบุคคลที่ดำรงตำแหน่งประมุขที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่เท่านั้น หากไม่ได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว มาตรา 112 จะไม่สามารถใช้คุ้มครองได้
    2. การตีความกฎหมายต้องตีความแบบคงเส้นคงวา หมายความว่า หากพิจารณาลักษณะการบัญญัติไว้ มี 3 ลักษณะคือ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และอาฆาตมาดร้าย ซึ่งคำว่า “อาฆาตมาดร้าย” เป็นการขู่เข็ญว่าจะเกิดอันตรายต่อผู้ถูกข่มขู่ในอนาคต ดังนั้น การตีความแบบนี้ กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นการคุ้มครองเฉพาะบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น และหากตีความหมายรวมกันทั้ง 3 คำเป็นคำเดียวจึงเป็นการตีความที่ไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์และความหมายของคำ และจะประหลาดมาก หากจะกล่าวหาว่าใครอาฆาตมาดร้ายต่อบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้ว และกฎหมายมาตรานี้ก็ไม่ได้ครอบคลุมถึงอดีตกษัตริย์
    3. อาศัยการตีความผ่านนักวิชาการด้านกฎหมายอาญา เช่น หยุด แสงอุทัย, จิตติ ติงศภัทิย์ และทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ โดยในหนังสืออธิบายกฎหมายอาญาของทั้ง 3 คน ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่ามาตรา 112 ไม่ได้ครอบคลุมถึงอดีตกษัตริย์
    นอกจากนี้ พยานยังอธิบายเพิ่มว่า ก่อนที่จะมีการบัญญัติมาตรา 112 ในสมัยกฎหมายลักษณะอาญา รศ.127 กำหนดฐานความผิดหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 98 ซึ่งเป็นตัวแม่บทของมาตรา 112 หยุด แสงอุทัย ก็ได้มีการอธิบายไว้โดยไม่ได้มีการระบุว่ากฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ครอบคลุมถึงอดีตกษัตริย์

    หากมองความสัมพันธ์ของกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาอย่างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 327 กับ มาตรา 112 พยานอธิบายว่า ในมาตรา 327 เป็นกฎหมายคนละหมวดกับมาตรา 112 และแนวทางของศาลก็ไม่ได้นำมาเทียบกับมาตรา 112

    และหากจะหยิบกฎหมายมาตรา 327 มาใช้ ก็ตีความไม่ได้เหมือนกันว่าการโพสต์ในคดีนี้จะเข้าความผิดในมาตรานี้อย่างไร เนื่องจากคำฟ้องระบุว่าเป็นการหมิ่นรัชกาลที่ 9 ซึ่งสวรรคตไปแล้ว แต่ตามมาตรา 327 ระบุไว้ว่าเป็นการคุ้มครองบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่บุคคลที่เสียชีวิตไปแล้ว

    หรือจะให้ตีความว่าตามคำฟ้องมีการกล่าวถึงรัชกาลที่ 9 จะทำการกระทบต่อรัชกาลที่ 10 แต่ในมาตรา 327 การกล่าวถึงผู้ตาย ไม่ได้หมายความว่าจะกระทบบุคคลที่ยังอยู่ให้เสื่อมเสียชื่อเสียงได้ พยานขอยกตัวอย่างให้ศาลเข้าใจเพิ่ม โดยกล่าวว่า หากนาย ก. พูดถึงพ่อของนาย B. แต่ก็ต้องมาดูถึงพฤติกรรมของบุคคลอีกว่า คำพูดของนาย ก. จะสร้างความเสื่อมเสียต่อนาย B. อย่างไร

    หากพฤติกรรมที่เข้าข่ายมาตรา 327 ก็ต้องเป็นการพูดถึงสิ่งที่ทำให้ นาย B. เสื่อมเสียชื่อเสียงได้ เช่น หากกล่าวหาว่าพ่อของนาย B. ที่เสียชีวิตไปแล้วเป็นโรคติดต่อร้ายแรง เป็นต้น

    นอกจากนี้ พยานยังได้เบิกความว่าการหมิ่นประมาทประมุขต่างประเทศก็เช่นเดียวกัน ตามมาตรา 133 และ มาตรา 134 ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงอดีตประมุขต่างประเทศ

    ต่อมา อัยการโจทก์ถามค้านว่า ที่พยานเบิกความเป็นความเห็นทางหลักกฎหมาย หรือเป็นความเห็นส่วนตัวของพยานเอง พยานตอบว่าที่เบิกความมาทั้งหมด ไม่ได้เป็นการเบิกความเพื่อเป็นประโยชน์กับจำเลยในคดีนี้ และการตีความกฎหมายของพยานในคดีนี้ ก็เป็นการตีความกฎหมายตามหลักวิชาการ ไม่ใช่ความเห็นส่วนตัวของพยาน
    .
    หลังสืบพยานจำเลยปากนี้เสร็จ และทนายจำเลยแถลงหมดพยาน ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 14 มี.ค. 2566 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/54307)
  • อุไรวรรณ ประชุมจิตร ไชยพรรค ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนอ่านคำพิพากษา มีใจความโดยสรุปว่า พิเคราะห์แล้ว ตามที่พยานโจทก์นำสืบว่า บัญชีทวิตเตอร์ของจำเลยมีความเชื่อมโยงกับบัญชีโซเชียลมีเดียอื่น และมีโปรไฟล์ใบหน้าเดียวกันทั้ง 3 บัญชี พยานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ และเชื่อได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของบัญชีทวิเตอร์ที่มีการโพสต์รูปและข้อความตามฟ้อง ที่จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาตั้งแต่ในชั้นสอบสวนว่า ไม่ใช่ผู้นำเข้าข้อมูล จึงรับฟังไม่ได้

    ทั้งพระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งในฐานะประมุขของประเทศ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ และเมื่อการนำเข้าข้อมูลดังกล่าว มีพยานโจทก์ประชาชนเข้าเบิกความสอดคล้องกันว่า ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใจข้อความได้ว่า รัชกาลที่ 9 เป็นฆาตกร อันเป็นการละเมิดต่อรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชน

    ที่พยานจำเลยนำสืบว่า มาตรา112 ไม่ได้คุ้มครองอดีตกษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติไว้ว่า คุ้มครองกษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่เท่านั้น และแม้รัชกาลที่ 9 จะสวรรคตไปแล้ว การกระทำของจำเลยก็ยังเป็นความผิดตามมาตรา 112 เนื่องจากเป็นการกระทำที่กระทบต่อรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นพระราชโอรส และทรงครองราชย์อยู่ในปัจจุบัน ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน

    พิพากษาให้จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) แต่ขณะจำเลยกระทำผิดมีอายุเพียง 19 ปีเศษ จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา

    ภายหลังศาลมีคำพิพากษา ทนายความได้ยื่นประกันตัวใจระหว่างอุทธรณ์ โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เพิ่มจากที่เดิมวางไว้ในชั้นพิจารณาอีก 10,000 บาท

    ต่อมาเวลา 16.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวตามที่ยื่นคำร้อง โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ

    ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลอาญาไม่ได้ระบุอัตราโทษจำคุกที่ลงก่อนลดมาตราส่วนโทษลง 1 ใน 3 แต่เมื่อพิจารณาจากโทษจำคุกที่ลดโทษให้แล้ว จึงทราบได้ว่า ศาลลงโทษจำคุก 3 ปี ก่อนลด 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี

    นับเป็นอีกคดีที่ศาลตีความมาตรา 112 ครอบคลุมไปถึงอดีตกษัตริย์ โดยวินิจฉัยว่า การกระทำส่งผลกระทบต่อกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ซึ่งคาดว่า จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ต่อไปในประเด็นนี้

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/54381)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ใจ (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ใจ (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. อุไรวรรณ ประชุมจิตร ไชยพรรค
  2. ณัฐพร สังข์น้อย
  3. ธีรพัฒน์ ศรีแก้ว

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 14-03-2023

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ใจ (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์