สรุปความสำคัญ

"พงษ์" (นามสมมติ) ชาวภูเก็ตวัย 59 ปี ถูกจับกุมและตรวจค้นที่พัก ตามหมายจับในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และหมายค้นของศาลอาญา ซึ่งออกเมื่อ 19 ม.ค. 2565 หลังประชาชนรายหนึ่งเข้าแจ้งความที่ บก.ปอท. เมื่อ 6 ม.ค. 2565 ให้ดำเนินคดีผู้ใช้เฟซบุ๊กซึ่งโพสต์ข้อความพร้อมภาพวิจารณ์กษัตริย์รวม 6 โพสต์ ในช่วง ต.ค. - พ.ย. 2564 หลังถูกจับกุม ศาลอาญาไม่ให้ประกันตัวในชั้นฝากขัง ก่อนให้ประกันในการยื่นประกันครั้งที่ 2 หลังพงษ์ถูกคุมขังในเรือนจำได้ 4 วัน

เป็นอีกกรณีที่ชี้ให้เห็นปัญหาของมาตรา 112 ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดเข้าแจ้งความก็ได้แม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหายเอง ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลที่มีความเห็นต่างทางการเมืองได้โดยง่าย

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • พงษ์ (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

20 ม.ค. 2565 ประมาณ 13.00 น. พงษ์ (นามสมมุติ ) ถูกเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เข้าจับกุมตามหมายจับจากบ้านพักใน จ.ภูเก็ต ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 69/2565 ลงวันที่ 19 ม.ค. 2565 ในความผิดฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิด เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา” โดยมีชุดจับกุมจากจากทั้ง บก.ปอท., ตำรวจภูธรภาค 8, ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต และ สภ.เมืองภูเก็ต มีรายชื่อในบันทึกจับกุมรวมกันกว่า 22 นาย

นอกจากนี้ตำรวจยังได้นำหมายค้นของศาลอาญาที่ 29/2565 ลงวันที่ 19 ม.ค. 2565 เข้าค้นห้องเช่าของเขา และตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง, คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 1 เครื่อง, เอกซานอลไดรฟ์ 1 อัน และกระดาษจดเนื้อเพลง 1 แผ่น การถูกยึดอุปกรณ์สื่อสารทำให้เขาไม่สามารถติดต่อญาติหรือทนายความได้

พงษ์ถูกนำตัวขึ้นเครื่องบินมาถึงกรุงเทพฯ นำตัวไปทำบันทึกจับกุมที่กองกำกับการตำรวจสันติบาล ก่อนจะถูกควบคุมตัวไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้อง ทั้งคืน

21 ม.ค. 2565 เวลาประมาณ 12.00 น. ทนายความเดินทางไปพบพงษ์ ที่ บก.ปอท. เพื่อเข้าร่วมกระบวนการในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์คดีที่กล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2565 กัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์สกุล ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชีหนึ่ง (ไม่ใช่ชื่อสกุลจริงของพงษ์) กรณีโพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จำนวน 6 โพสต์ โดยพงษ์ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของแอคเคาท์เฟซบุ๊กดังกล่าว

พนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าการโพสต์ข้อความข้างต้น เป็นการ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ พงษ์ให้การปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา

ต่อมา พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลอาญา หลังศาลอนุญาตให้ฝากขัง อรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน อ้างเหตุว่า ผู้ขอประกันมิได้มีความเกี่ยวข้องหรือเป็นญาติกับผู้ต้องหา ทำให้พงษ์ถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที

4 วันต่อมา ทนายความยื่นประกันอีกครั้ง โดยนายประกัน ระบุความเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาว่า เป็นตัวแทนจากกองทุนราษฎรประสงค์ซึ่งให้ความช่วยเหลือด้านการประกันตัวแก่ผู้ต้องหาในคดีการเมือง ให้ได้รับสิทธิในการประกันตัวตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญโดยไม่คิดค่าตอบแทน ต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ระบุในคำสั่งว่า “ผู้ประกันเคยประกันผู้ต้องหาหลายราย จึงเป็นนายประกันที่น่าเชื่อถือ”

ทำให้พงษ์ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในเวลาราว 3 ทุ่ม หลังถูกคุมขังในเรือนจำรวม 4 วัน โดยเขาต้องหาที่พักค้างคืนก่อน เนื่องจากเป็นเวลาดึก ไม่มีพาหนะเดินทางแล้ว

ข้อมูลเบื้องต้นทราบว่า พงษ์ไม่มีครอบครัว เขาอาศัยอยู่คนเดียวในบ้านเช่าและเพิ่งถูกบริษัทเอกชนเลิกจ้างจากงานรับจ้างงานหนึ่ง

(อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญา ลงวันที่ 21 ม.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/39899)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์