ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.898/2565
แดง อ.1715/2566

ผู้กล่าวหา
  • กัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์สกุล (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.898/2565
แดง อ.1715/2566
ผู้กล่าวหา
  • กัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์สกุล

ความสำคัญของคดี

"พงษ์" (นามสมมติ) ชาวภูเก็ตวัย 59 ปี ถูกจับกุมและตรวจค้นที่พัก ตามหมายจับในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และหมายค้นของศาลอาญา ซึ่งออกเมื่อ 19 ม.ค. 2565 หลังประชาชนรายหนึ่งเข้าแจ้งความที่ บก.ปอท. เมื่อ 6 ม.ค. 2565 ให้ดำเนินคดีผู้ใช้เฟซบุ๊กซึ่งโพสต์ข้อความพร้อมภาพวิจารณ์กษัตริย์รวม 6 โพสต์ ในช่วง ต.ค. - พ.ย. 2564 หลังถูกจับกุม ศาลอาญาไม่ให้ประกันตัวในชั้นฝากขัง ก่อนให้ประกันในการยื่นประกันครั้งที่ 2 หลังพงษ์ถูกคุมขังในเรือนจำได้ 4 วัน

เป็นอีกกรณีที่ชี้ให้เห็นปัญหาของมาตรา 112 ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดเข้าแจ้งความก็ได้แม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหายเอง ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลที่มีความเห็นต่างทางการเมืองได้โดยง่าย

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ภัทรกร อุดมผล พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 บรรยายฟ้องมีใจความสำคัญระบุว่า

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ถึง 14 พ.ย. 2564 จำเลยได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวรวม 6 ข้อความ โดยมี 2 โพสต์ ที่มีการโพสต์ภาพรัชกาลที่ 10 ประกอบด้วย

ข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จและเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง โดยจำเลยมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้

นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 23 พ.ค. 2565

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.898/2565 ลงวันที่ 12 เม.ย. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • ประมาณ 13.00 น. พงษ์ (นามสมมุติ ) ถูกเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เข้าจับกุมตามหมายจับจากบ้านพักใน จ.ภูเก็ต ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 69/2565 ลงวันที่ 19 ม.ค. 2565 ในความผิดฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิด เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา” โดยมีชุดจับกุมจากจากทั้ง บก.ปอท., ตำรวจภูธรภาค 8, ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต และ สภ.เมืองภูเก็ต มีรายชื่อในบันทึกจับกุมรวมกันกว่า 22 นาย

    นอกจากนี้ตำรวจยังได้นำหมายค้นของศาลอาญาที่ 29/2565 ลงวันที่ 19 ม.ค. 2565 เข้าค้นห้องเช่าของเขา และตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง, คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 1 เครื่อง, เอกซานอลไดรฟ์ 1 อัน และกระดาษจดเนื้อเพลง 1 แผ่น การถูกยึดอุปกรณ์สื่อสารทำให้เขาไม่สามารถติดต่อญาติหรือทนายความได้

    พงษ์ถูกนำตัวขึ้นเครื่องบินมาถึงกรุงเทพฯ นำตัวไปทำบันทึกจับกุมที่กองกำกับการตำรวจสันติบาล ก่อนจะถูกควบคุมตัวไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้อง ทั้งคืน

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม กก.5 บก.ส.1 ลงวันที่ 20 ม.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/39848)
  • เวลาประมาณ 12.00 น. ทนายความเดินทางไปพบพงษ์ ที่ บก.ปอท. เพื่อเข้าร่วมกระบวนการในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์คดีที่กล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2565 กัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์สกุล ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชีหนึ่ง (ไม่ใช่ชื่อสกุลจริงของพงษ์) กรณีโพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จำนวน 6 โพสต์ โดยพงษ์ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของแอคเคาท์เฟซบุ๊กดังกล่าว

    ข้อความทั้ง 6 โพสต์ เป็นการโพสต์ในช่วงวันที่ 11 ต.ค. – 14 พ.ย. 2564 ในเวลากลางวันและกลางคืน โดยเป็นการโพสต์ข้อความประกอบภาพรัชกาลที่ 10 จำนวน 2 ข้อความ และเป็นการโพสต์ข้อความเพียงอย่างเดียว 4 ข้อความ

    พนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าการโพสต์ข้อความข้างต้น เป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อความที่มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท และ/หรือดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นการดูหมิ่นพระเกียรติ และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติยศ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยเจตนาทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ ซึ่งองค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้

    เมื่อพงษ์ได้พบกับทนายความในชั้นสอบสวน พงษ์ได้ให้การปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยจะส่งคำให้การเพิ่มเติมภายในวันที่ 21 ก.พ. 2565

    อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ.ปฐมพงษ์ ชุมมาก พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลอาญา โดยอ้างเหตุว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบพยานเพิ่มเติมอีก 7 ปาก และรอผลตรวจลายนิ้วมือ-ประวัติการต้องโทษของผู้่ต้องหา พร้อมยังคัดค้านการขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยอ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง ประกอบกับเป็นคดีสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น

    เวลา 16.35 น. ศาลได้อนุญาตให้ฝากขังพงษ์ผ่านทางระบบวิดิโอคอนเฟอเรนซ์ เป็นระยะเวลา 12 วัน ตามคำขอของพนักงานสอบสวน ทั้งได้ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา ซึ่งขอประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์ 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยศาลให้เหตุผลว่า ผู้ขอประกันมิได้มีความเกี่ยวข้องหรือเป็นญาติกับผู้ต้องหา ทำให้เขาถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที

    คำสั่งไม่ให้ประกันตัวลงนามโดยอรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา

    ข้อมูลเบื้องต้นทราบว่า พงษ์ไม่มีครอบครัว เขาอาศัยอยู่คนเดียวในบ้านเช่าและเพิ่งถูกบริษัทเอกชนเลิกจ้างจากงานรับจ้างงานหนึ่ง

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญา ลงวันที่ 21 ม.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/39848)
  • ทนายความยื่นประกันพงษ์เป็นครั้งที่ 2 โดยขอวางหลักทรัพย์ประกันตัว 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และมีตัวแทนจากกองทุนเป็นนายประกัน ระบุความเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาว่า เป็นตัวแทนจากกองทุนราษฎรประสงค์ซึ่งให้ความช่วยเหลือด้านการประกันตัวแก่ผู้ต้องหาในคดีการเมือง ให้ได้รับสิทธิในการประกันตัวตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญโดยไม่คิดค่าตอบแทน

    เวลา 16.00 น. ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในวงเงินประกัน 90,000 บาท โดยไม่กำหนดเงื่อนไข ระบุในคำสั่งว่า “ผู้ประกันเคยประกันผู้ต้องหาหลายราย จึงเป็นนายประกันที่น่าเชื่อถือ” พร้อมนัดรายงานตัวในวันที่ 10 มี.ค. 2565

    ทำให้พงษ์ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในเวลาราว 3 ทุ่ม หลังถูกคุมขังในเรือนจำรวม 4 วัน โดยเขาต้องหาที่พักค้างคืนก่อน เนื่องจากเป็นเวลาดึก ไม่มีพาหนะเดินทางแล้ว

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญา ลงวันที่ 21 ม.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/39899)
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 ยื่นฟ้องพงษ์ต่อศาลอาญาในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) คำฟ้องมีใจความสำคัญระบุว่า เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ถึง 14 พ.ย. 2564 จำเลยได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวรวม 6 ข้อความ โดยมี 2 โพสต์ ที่มีการโพสต์ภาพรัชกาลที่ 10 ประกอบด้วย

    อัยการระบุอีกว่า ข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จและเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ โดยจำเลยมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

    ท้ายคำฟ้อง อัยการคัดค้านการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี อ้างเหตุว่าเป็นคดีอัตราโทษสูงและเกี่ยวกับความมั่นคง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.898/2565 ลงวันที่ 12 เม.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/56930)
  • พงษ์เข้ารายงานตัวต่อศาลตามนัดเพื่อรับทราบฟ้อง ก่อนทนายความยื่นประกันระหว่างพิจารณา ต่อมา หลังศาลถามคำให้การเบื้องต้น โดยพงษ์ให้การปฏิเสธ ศาลอนุญาตให้ประกันโดยใช้ทรัพย์เดิมในชั้นฝากขัง และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 23 พ.ค. 2565
  • นัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยในวันที่ 9, 10 พ.ค. 2566
  • ก่อนเริ่มสืบพยานในวันแรก พงษ์ตัดสินใจให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ศาลจึงให้งดการสืบพยาน และมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยรายงานต่อศาล ก่อนนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 มิ.ย. 2566
  • ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 716 พงษ์เดินทางมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษา ผู้พิพากษาที่ออกนั่งพิจารณาได้เรียกให้ผู้รับมอบฉันทะทนายจำเลยและจำเลยไปด้านหน้าห้องพิจารณา ก่อนอ่านคำพิพากษาสรุปใจความได้ว่า

    พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษหมิ่นประมาทกษัตริย์ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 6 กระทง จำคุก 18 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 ปี 36 เดือน

    พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะประกอบคำแถลงประกอบคำรับสารภาพ ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน อีกทั้งอายุมากแล้ว รู้สำนึกในการกระทำและพยายามบรรเทาผลร้าย จึงให้รอการลงโทษไว้เป็นเวลา 2 ปี กับให้ไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง ในระยะเวลา 2 ปี และทำกิจกรรมบริการสังคม 24 ชั่วโมง

    นอกจากนี้ผู้พิพากษายังได้กล่าวกับจำเลยว่า ในครั้งนี้ศาลจะให้โอกาสจำเลย ขอให้จำเลยอย่าไปกระทำความผิดซ้ำอีก และพนักงานคุมประพฤติจะจัดให้มีอบรมเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อไป

    ผู้พิพากษาที่ลงนามในคำพิพากษา ได้แก่ จันทรทัต สิทธิกำจร

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.898/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1715/2566 ลงวันที่ 26 มิ.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/56930)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พงษ์ (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พงษ์ (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. จันทรทัต สิทธิกำจร
  2. อภิชัย วิเศษพานิชกิจ

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 26-06-2023

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์