ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.266/2565

ผู้กล่าวหา
  • นิติพงษ์ ห่อนาค (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.266/2565
ผู้กล่าวหา
  • นิติพงษ์ ห่อนาค

ความสำคัญของคดี

“รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักศึกษาและนักกิจกรรมกลุ่ม "ราษฎร" ถูกนิติพงษ์ ห่อนาค นักแต่งเพลง แจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 112 กรณีเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 ปนัสยาแชร์โพสต์จากเพจ "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ซึ่งโพสต์จดหมายถึงรัชกาลที่ 10 ในกิจกรรม #ราษฎรสาส์น ยืนยัน 3 ข้อเรียกร้องของราษฎร คือ ประยุทธ์ลาออก, แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยนิติพงษ์กล่าวหาว่า มี 2 ข้อความ เป็นการหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นกษัตริย์

ทั้งนี้ กิจกรรม #ราษฎรสาส์น ซึ่งจัดโดยกลุ่มประชาชนปลดแอก ได้เชิญชวนประชาชนให้ร่วมกันเขียนจดหมายถึงกษัตริย์ โดยมีนักกิจกรรมร่วมเขียนจดหมายยืนยันข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ภายหลังกิจกรรมมีแกนนำ "ราษฎร" ถึง 5 ราย ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยมีประชาชนที่เห็นต่างในประเด็นดังกล่าวเป็นผู้เข้าแจ้งความ

กรณีดังกล่าวสะท้อนปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ใครก็ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยไม่ต้องเป็นผู้เสียหายเองเหมือนกับข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ทำให้กฎหมายมาตรานี้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกลั่นแกล้งกลุ่มคนที่เห็นต่าง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

อานนท์ ปราการรัตน์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 บรรยายคำฟ้อง ใจความโดยสรุปว่า

ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ระบุไว้ตามมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 มีรัชกาลที่ 10 เป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบัน และมาตรา 6 ระบุว่า องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องไม่ได้

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 จำเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยการส่งต่อข้อมูล รูปภาพ ข้อความ และตัวอักษรที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ ในเฟซบุ๊กซึ่งตั้งค่าสาธารณะ โดยโพสต์ดังกล่าวเป็นจดหมายถึงรัชกาลที่ 10 ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำเสนอปัญหาของราษฎร ซึ่งมีข้อเรียกร้องดังนี้

1. เรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องมาจากการบริหารบ้านเมืองที่ล้มเหลว และเป็นต้นตอของปัญหาบ้านเมืองในปัจจุบัน

2. เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นของประชาชน ซึ่งต้องแก้ไขทุกหมวด ทุกมาตรา ไม่เว้นแม้แต่หมวด 1 หมวด 2 ที่มิอาจแตะต้องมาเป็นเวลานาน

3. เรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งมิใช่การล้มล้าง เพื่อให้สถาบันกษัตริย์อยู่อย่างมั่นคง สถาพร ภายใต้รัฐธรรมนูญ

จดหมายดังกล่าวทำให้คนทั่วไปที่พบเห็นโพสต์เข้าใจได้ว่ารัชกาลที่ 10 ทรงมีความเป็นอยู่สุขสบาย และไม่ต้องปฏิบัติพระราชภารกิจใดๆ อีกทั้งมีการกระทำที่เป็นศัตรูกับประชาชน โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและปลุกปั่น ทำให้ประชาชน และบุคคลทั่วไปเกิดความตระหนกตกใจ เกิดความเข้าใจผิดและถูกชักจูงให้ต่อต้านพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักและศูนย์รวมจิตใจของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ จนอาจนำมาซึ่งความเกลียดชัง หรือความแตกแยกในสังคม ถึงขั้นออกมากระทำความผิดต่อกฎหมาย ก่อความเดือดร้อน หรือก่อให้เกิดความไม่สงบของประชาชนในประเทศ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

การกระทำดังกล่าวยังเป็นการมิบังควร จาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือกระทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง จำเลยมีเจตนาทำลายพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพบูชาของคนไทย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ใครจะละเมิดมิได้

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.266/2565 ลงวันที่ 9 ก.พ. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลา 13.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 ในคดีที่มีนิติพงษ์ ห่อนาค แจ้งความร้องทุกข์เอาไว้ จากกรณีแชร์จดหมายถึงรัชกาลที่ 10 จากเพจ "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม"

    พ.ต.ท.นิติธร เดชระพีร์ และ ร.ต.อ.ปิยวัฒน์ ปรัญญา พนักงานสอบสวน เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาปนัสยา ระบุว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2563 นิติพงษ์ ห่อนาค หรือ “ดี้” ซึ่งเป็นผู้กล่าวหา ได้ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ “Panusaya Sithijirawattanakul” เหตุจากบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวได้แชร์โพสต์จากเพจ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ซึ่งโพสต์เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 เป็นการโพสต์ "ราษฎรสาส์น" ถึงรัชกาลที่ 10 ยืนยัน 3 ข้อเรียกร้องของราษฎร คือ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก, แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยนิติพงษ์เห็นว่ามี 2 ข้อความ ที่เป็นการหมิ่นประมาท และดูหมิ่น พระมหากษัตริย์

    พนักงานสอบสวนระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ” อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (5) ประกอบมาตรา 14 (3)

    ปนัสยาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยขอยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 22 ม.ค. 2564 และปฏิเสธลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา โดยเขียนหมายเหตุไว้ว่า “ไม่ประสงค์ลงลายมือชื่อ เนื่องจากไม่ยอมรับอำนาจศักดินา ไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการ และไม่ยอมรับมาตรา 112 เป็นกฎหมาย” จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ให้ปล่อยตัวปนัสยา โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้ และไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัว เนื่องจากมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก

    ในวันนี้ปนัสยาเข้ารับทราบข้อกล่าวหาพร้อม "เพนกวิน" พริษฐ์ ชิวารักษ์ ซึ่งถูกสุเฑพ ศิลปะงาม แจ้งความ จากกรณีที่เพนกวินโพสต์จดหมายถึงรัชกาลที่ 10 เรียกร้องให้มีการปฏิบัติตาม 3 ข้อเรียกร้อง และ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 เช่นเดียวกัน

    ทั้งนี้เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 กลุ่มประชาชนปลดแอกได้จัดการชุมนุม #ราษฎรสาส์น ให้ประชาชนร่วมกันเขียนจดหมายถึงกษัตริย์ และมีการเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปใกล้พระบรมมหาราชวัง เพื่อส่งจดหมาย ทำให้นักกิจกรรมมีการเขียนจดหมายถึงกษัตริย์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อยืนยันข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 9 ธ.ค. 2563 และ https://tlhr2014.com/archives/23916)
  • พนักงานสอบสวน บก.ปอท.นัดส่งตัวปนัสยาให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการรัชดา อัยการนัดฟังคำสั่งอัยการในวันที่ 22 ก.ย.2564 เวลา 09.30 น.
  • อัยการมีคำสั่งเลื่อนนัดฟังคำสั่งไปในวันที่ 20 ต.ค. 2564 เวลา 09.30 น.
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 มีคำสั่งฟ้องปนัสยา และยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14

    โดยท้ายคำฟ้องพนักงานอัยการคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวปนัสยา อ้างเหตุว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ทั้งขอให้ศาลนับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีของศาลอาญาและศาลแขวงปทุมวันอีก 4 คดี

    ภายหลังจากที่ศาลรับฟ้อง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวในชั้นพิจารณาคดี และศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาต โดยให้วางหลักประกันจำนวน 90,000 บาท ซึ่งเป็นหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์

    ศาลยังกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว

    1. ห้ามจำเลยทำกิจกรรมหรือกระทำการใดใดที่อาจกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน
    2. ห้ามจำเลยเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
    3. ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักรจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

    และให้ตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์ บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้กำกับดูแล และให้จำเลยมารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน หรือพร้อมกับคดีของศาลที่จำเลยได้รับการปล่อยตัวไปแล้วในระหว่างการปล่อยชั่วคราวอันจำกัดนี้ และให้จำเลยมารายงานตัวและส่งตัววันที่ 16 มิ.ย. 2565 เวลา 10.00 น.

    ศาลยังกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีในวันที่ 4 เม.ย. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.266/2565 ลงวันที่ 9 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40378)
  • ปนัสยาเดินทางไปศาลในนัดพร้อมเพื่อประชุมคดี สอบคําให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกําหนดวันนัดสืบพยาน พร้อมกับยื่นคําร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากประสงค์จะแต่งตั้งนรเศรษฐ์ นาหนองตูม เป็นทนายจําเลย แต่เนื่องจากทนายนรเศรษฐ์ ติดว่าความในคดีอื่นที่ศาลแขวงดุสิต จึงขอเลื่อนคดีออกไปสักนัด โจทก์ไม่ค้าน ศาลจึงให้เลื่อนนัดในวันนี้เป็นวันที่ 25 เม.ย. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.266/2565 ลงวันที่ 4 เม.ย. 2565)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์