สรุปความสำคัญ

3 นักกิจกรรม "ราษฎร" ได้แก่ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ และ "ไมค์" ภาณุพงศ์ จาดนอก ถูกดำเนินคดีข้อหาตามมาตรา 112, 116, พ.ร.กฉุกเฉินฯ จากการปราศรัยประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในการชุมนุมหน้าโรงเรียนภูเขียวและ สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ตำรวจ สภ.ภูเขียว ขอโทษ กรณีไปคุกคามนักเรียนที่บ้าน นอกจากนักกิจกรรมทั้งสามที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาหนักแล้ว การชุมนุมครั้งนี้ยังมีนักกิจกรรมอีก 23 ราย ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุ 15 ปี 1 ราย ซึ่งถูกตำรวจไปคุกคามที่บ้าน ถูกดำเนินคดีข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ด้วย

การบังคับใช้มาตรา 112 อย่างกว้างขวางต่อนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย ทำให้มีนักกิจกรรมและประชาชนจำนวนมากถูกดำเนินคดีในข้อหาที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี ซึ่งเพียงแต่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบสันติเท่านั้น

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา
    • อรรถพล บัวพัฒน์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • ภาณุพงศ์ จาดนอก
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

1 ก.พ. 2564 เวลาประมาณ 8.00 น. นักกิจกรรม “ราษฎร” ผู้จัดค่าย “ราษฎรออนทัวร์” จัดกิจกรรมด้านนอกรั้วโรงเรียนภูเขียว จ.ชัยภูมิ จากกรณีที่นักเรียนที่ลงชื่อไปค่ายถูกคุกคาม และโรงเรียนภูเขียวออกแถลงการณ์ระบุว่า โรงเรียนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งไม่รู้วัตถุประสงค์ของค่าย “ราษฎรออนทัวร์”

“ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ปราศรัยว่า ที่จัดกิจกรรมวันนี้ เนื่องจากครูโรงเรียนภูเขียวปิดกั้นเสรีภาพของนักเรียน และตั้งคำถามว่า คณะราษฎรมีเพื่ออะไร จึงมาชี้แจงว่า คณะราษฎรตั้งขึ้นมาเพื่อ 1.ไล่ประยุทธ์ 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

นักเรียนโรงเรียนภูเขียวได้อ่านแถลงการณ์ “ราษฎร” ตอบโต้แถลงการณ์ของโรงเรียน รวมทั้งประณามการกระทำของครู บุคลากร เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง จากการที่ครูนำข้อมูลนักเรียนแจ้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเพื่อให้มาละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยการถ่ายรูป ติดตามรถ และพยายามข่มขู่นักเรียนและครอบครัวเพื่อไม่ให้เข้าร่วมค่าย ก่อนย้ำว่า ค่าย “ราษฎรออนทัวร์” เป็นค่ายส่งเสริมความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ค่ายล้างสมองอย่างที่ทาง ร.ร.ภูเขียว กล่าวหา

จากนั้น “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และนักกิจกรรมคนอื่นๆ ผลัดกันปราศรัยกล่าวถึงการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพที่โรงเรียนกระทำต่อนักเรียน วิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษา รัฐบาล รัฐธรรมนูญ ตลอดจนกล่าวถึงประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

มีนักเรียนสนใจนั่งฟังการปราศรัยบนลานซีเมนต์กลางแจ้งใกล้รั้ว รวมทั้งจับกลุ่มกระจายอยู่บริเวณโดมไกลออกไปรวมกว่า 100 คน โดยมีตำรวจในและนอกเครื่องแบบจาก สภ.ภูเขียว ราว 15 นาย มาสังเกตการณ์ บันทึกวีดิโอด้วยกล้องโกโปรที่ติดบนหมวก

ต่อมา ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปตามถนน มุ่งหน้าไป สภ.ภูเขียว เมื่อถึง สภ.ภูเขียว ได้เข้ากางเต็นท์และจัดสถานที่ลักษณะจำลองการจัดค่ายมาไว้หน้า สภ.ภูเขียว มีการตั้งเครื่องเสียง ไผ่กล่าวชี้แจงว่า วันที่ 29-31 ม.ค. ที่ผ่านมา นักเรียนที่ลงชื่อสมัครไปค่ายกว่า 20 คน ถอนตัวเหลือไปแค่ 3 คน เนื่องจากหวาดกลัวที่มีตำรวจไปตามถ่ายรูป วันนี้จึงมาชุมนุมเพื่อให้ตำรวจออกมายอมรับผิดและไปขอโทษนักเรียนที่ถูกละเมิดสิทธิทุกคน

ผกก.สภ.ภูเขียว เข้าพูดคุยกับไผ่ ไผ่ยื่นข้อเสนอให้ตำรวจแถลงข่าวขอโทษต่อสาธารณะในช่วง 6 โมงเย็น ซึ่งเป็นเวลาที่นักเรียนเลิกเรียน รวมทั้งให้ตำรวจไปขอโทษนักเรียนทุกคนที่ถูกคุกคามถึงบ้าน ทั้ง ผกก., รอง ผกก. (สอบสวน) และ รอง ผกก.ปราบปราม ยอมรับว่าคำสั่งให้ติดตามนักเรียนไม่ถูกต้อง และรับว่าจะดำเนินการตามข้อเสนอของไผ่

ไผ่และกลุ่มราษฎรยังชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว เพื่อรอการแถลงขอโทษของตำรวจในช่วงเย็น มีการนำป้าย “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ขึ้นแขวน หน้า สภ.ภูเขียว และเปิดเวทีปราศรัย จนถึง 20.30 น. "ราษฎร" โดยตำรวจไม่มีการแถลงขอโทษตามที่รับปากไว้

(อ้างอิง: https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/3628174177232410)

11 ม.ย. 2564 จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ เดินทางไป สภ.ภูเขียว เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาอื่นๆ ตามหมายเรียกผู้ต้องหา

พนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์ที่กล่าวหาจากการปราศรัยในการชุมนุมเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ซึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
โดยพนักงานสอบสวนระบุว่า ก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนได้ ทั้งยังทำให้ผู้ที่ได้รับฟังเกิดความรู้สึกไม่ดี เกิดความเคลือบแคลง และไม่เทิดทูนสถาบันกษัตริย์ จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาจตุภัทร์และอรรถพลรวม 5 ข้อหา คือ ร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ยุยงปลุกปั่น, ชุมนุมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้อโรค, แขวนสิ่งใดๆ ที่อาคารในลักษณะที่สกปรกรุงรัง และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

จตุภัทร์และอรรถพล ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากนั้นพนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวทั้งสองคนไว้แต่อย่างใด เนื่องจากเป็นการมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก

นอกจากไผ่และครูใหญ่แล้ว คณะกรรมการสอบสวนคดีนี้ได้ออกหมายเรียก “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก มารับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และ 116 ด้วยอีกราย แต่เนื่องจากไมค์ยังไม่ได้รับหมายเรียก ประกอบกับอยู่ในระหว่างการกักตัวตามคำแนะนำของแพทย์ หลังหายจากการติดเชื้อโควิดขณะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จึงยังไม่ได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ ซึ่งหลังจากครบกำหนดกักตัวแล้วจะได้เข้าพบพนักงานสอบสวนต่อไป

คดีนี้เป็นคดีตามมาตรา 112 คดีที่ 2 ของไผ่และครูใหญ่ หลังการกลับมาใช้มาตรา 112 กับการแสดงออกทางการเมืองอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2563

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.ภูเขียว ลงวันที่ 11 มิ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/30752)

ภูมิหลัง

  • จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา
    อดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน และ NDM อีสาน ทำกิจกรรมปกป้องสิทธิของชุมชนท้องถิ่น จนถึงเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารและ คสช. มาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร

ผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ

  • จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา
    ถูกดำเนินคดีอาญาจากการแสดงออกทางการเมืองภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติรวม 6 คดี อีกทั้งถูกจำคุกในคดี ม.112 เป็นเวลาเกือบ 2 ปีครึ่ง

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์