ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
ดำ อ.224/2565
แดง อ.1155/2567

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.อภิรักษ์ ดวงใจ รอง ผกก.ปราบปราม สภ.ภูเขียว (ตำรวจ)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
ดำ อ.224/2565
แดง อ.1155/2567

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.อภิรักษ์ ดวงใจ รอง ผกก.ปราบปราม สภ.ภูเขียว (ตำรวจ)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
ดำ อ.224/2565
แดง อ.1155/2567

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.อภิรักษ์ ดวงใจ รอง ผกก.ปราบปราม สภ.ภูเขียว (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • การชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)

หมายเลขคดี

ดำ อ.224/2565
แดง อ.1155/2567
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.อภิรักษ์ ดวงใจ รอง ผกก.ปราบปราม สภ.ภูเขียว

ข้อหา

  • การชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)

หมายเลขคดี

ดำ อ.224/2565
แดง อ.1155/2567
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.อภิรักษ์ ดวงใจ รอง ผกก.ปราบปราม สภ.ภูเขียว

ข้อหา

  • การชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)

หมายเลขคดี

ดำ อ.224/2565
แดง อ.1155/2567
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.อภิรักษ์ ดวงใจ รอง ผกก.ปราบปราม สภ.ภูเขียว

ความสำคัญของคดี

3 นักกิจกรรม "ราษฎร" ได้แก่ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ และ "ไมค์" ภาณุพงศ์ จาดนอก ถูกดำเนินคดีข้อหาตามมาตรา 112, 116, พ.ร.กฉุกเฉินฯ จากการปราศรัยประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในการชุมนุมหน้าโรงเรียนภูเขียวและ สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ตำรวจ สภ.ภูเขียว ขอโทษ กรณีไปคุกคามนักเรียนที่บ้าน นอกจากนักกิจกรรมทั้งสามที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาหนักแล้ว การชุมนุมครั้งนี้ยังมีนักกิจกรรมอีก 23 ราย ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุ 15 ปี 1 ราย ซึ่งถูกตำรวจไปคุกคามที่บ้าน ถูกดำเนินคดีข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ด้วย

การบังคับใช้มาตรา 112 อย่างกว้างขวางต่อนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย ทำให้มีนักกิจกรรมและประชาชนจำนวนมากถูกดำเนินคดีในข้อหาที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี ซึ่งเพียงแต่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบสันติเท่านั้น

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

จิตรปรีดี สกุลเสาวภาค พนักงานอัยการจังหวัดภูเขียว บรรยายฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า จําเลยทั้งสามกับพวกซึ่งได้แยกดําเนินคดีต่างหากแล้ว ได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรม กล่าวคือ

1. เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ทั้งเวลากลางวันและเวลากลางคืนหลังเที่ยงต่อเนื่องกัน จําเลยทั้งสามกับพวกได้ร่วมกันจัดเวทีปราศรัยและเล่นดนตรีผ่านเครื่องขยายเสียง บริเวณหน้าโรงเรียนภูเขียววิทยา จากนั้นได้เคลื่อนขบวนไปหน้าสถานีตํารวจภูธรภูเขียว โดยผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่รักษาระยะห่าง และไม่มีกระบวนการคัดกรองตามมาตรการควบคุมโรค ในเขตพื้นที่เฝ้าระวังสูง ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ

2. วันเกิดเหตุ จําเลยทั้งสามกับพวกได้ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้ากล่าวปราศรัยบนเวทีแก่ประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

3. ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”

วันเกิดเหตุ เวลาใดไม่ปรากฏชัด จําเลยทั้งสามได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ด้วยการขึ้นกล่าวปราศรัยแก่ประชาชนซึ่งอยู่บริเวณหน้าโรงเรียนภูเขียว และบริเวณสถานีตํารวจภูธรภูเขียว

จตุภัทร์ จำเลยที่ 1 ปราศรัยว่า “ปัญหาของสังคมไทยที่ยาวนานก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์ กษัตริย์ไทยนี้รวยที่สุด แต่ประชาชนจนที่สุด ในยามวิกฤตกษัตริย์ไม่เคยมาเยียวยา ไม่เคยมาดูแลประชาชน” และ “..ตั้งแต่รัชกาลที่ 10 ขึ้นบัลลังค์มา… ปัญหารัฐธรรมนูญ 60 ที่ต้องฟังเสียงประชามติของประชาชนก็ไม่ได้เกิดขึ้น หลังจากประชามติเดือนสิงหาคม 2559 ผ่านพ้นแล้ว พระมหากษัตริย์คนใหม่ ในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้มีการแก้กฎหมายทั้งที่ไม่ผ่านประชามติ นี้แหละครับคือเหตุผลหนึ่ง ที่เราต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้มันอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ…”

อรรถพล จำเลยที่ 2 ปราศรัยว่า “ต้องไม่เอานโยบายรัฐบาลไปผูกขาดสัมปทานโรงงานปูนแถวสระบุรี ระเบิดภูเขาหายไปเป็นลูก ถ้าไม่ใช่กษัตรย์จะใช้ใคร ต้องกําจัดงบประมาณของกษัตริย์”

ภาณุพงศ์ จำเลยที่ 3 ปราศรัยมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์และการศึกษาไทยว่า การสอนให้เด็กนักเรียนเทิดทูนกษัตริย์ที่... (คำวิจารณ์) ถือเป็นการหลอกลวง

คำปราศรัยดังกล่าวเป็นความเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ โดยจําเลยมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้

4. วันเกิดเหตุ จําเลยทั้งสามกับพวกยังได้กล่าวคําปราศรัยบนเวที และไลฟ์สดทางเฟซบุ๊กที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โดยมีสาระสําคัญเป็นการโจมตีการทํางานของรัฐบาล เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และกระทําการจาบจ้วง หมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ซึ่งมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต โดยมีเจตนาบิดเบือนใส่ร้ายพระมหากษัตริย์ และบิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560

และจําเลยทั้งสามกับพวกยังติดป้ายผ้าหน้าสถานีตํารวจภูธรภูเขียว มีข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” “ผูกขาดวัคซีนหาซีนให้เจ้า” “ประยุทธออกไป” “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” อันเป็นการปลุกปั่น ยุยงประชาชนให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เคลือบแคลงสงสัยในพระมหากษัตริย์ และการบริหารงานของรัฐบาล ถึงขนาดที่จะไปชุมนุมประท้วง กดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออก และขู่เข็ญหรือบังคับให้พระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้ประชาชน อันจะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร เป็นเหตุให้ประชาชนที่ได้รับฟังคําปราศรัยดังกล่าว ได้ตะโกน ตอบโต้ โห่ร้อง ปรบมือสนับสนุน อันเป็นการทําให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดภูเขียว คดีหมายเลขดำที่ อ.224/2565 ลงวันที่ 28 ม.ค. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ เดินทางไป สภ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาอื่นๆ ตามหมายเรียกผู้ต้องหา

    พนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์ที่กล่าวหาจตุภัทร์และอรรถพลโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 เวลาประมาณ 08.00 น. จตุภัทร์, อรรถพล, และภาณุพงศ์ จาดนอก และกลุ่มคณะราษฎร กับพวกรวมประมาณ 20-30 คน ได้มารวมกลุ่มชุมนุม ปราศรัย อยู่ที่บริเวณข้างรั้วโรงเรียนภูเขียว โดยไม่ได้มีมาตรการป้องกันโควิด และไม่ได้แจ้งจัดกิจกรรม อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ

    ขณะพูดปราศรัยบริเวณหน้าโรงเรียนภูเขียว ผู้ต้องหากับพวกได้แจ้งให้ผู้ร่วมชุมนุมทราบถึงจุดมุ่งหมายเพื่อขับไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยจตุภัทร์ปราศรัยด้วยว่า ปัญหาของสังคมไทยที่ยาวนานก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์ กษัตริย์ไทยรวยที่สุด แต่ประชาชนจนที่สุด ในยามวิกฤตกษัตริย์ไม่เคยมาเยียวยาหรือดูแลประชาชน ซึ่งนักภาษาศาสตร์ให้ความเห็นว่า มีความหมายที่ผู้ฟังได้ฟังแล้วเกิดความรู้สึกไม่ดี เกิดความเคลือบแคลงสงสัย และรู้สึกไม่เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และก่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนได้

    จากนั้นเวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มของผู้ต้องหาเคลื่อนขบวนเดินทางเข้ามาชุมนุมกันที่บริเวณหน้า สภ.ภูเขียว มีการนําป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” และข้อความว่า “SAVE เมียนมาร์” มาติดที่บริเวณป้ายหน้าสถานีตํารวจ ทั้งยังติดป้ายข้อความว่า “เจ้าของประเทศที่แท้จริงคือ ปชช.” “หยุดคุกคามประชาชน” อยู่บริเวณรั้วด้านหน้าทางเข้า สภ.ภูเขียว

    ต่อมาเวลา 16.45 น. ไผ่ จตุภัทร์ขึ้นปราศรัยอีกครั้ง มีเนื้อหาโดยสรุปว่า หลังจากประชามติรัฐธรรมนูญ 60 ในเดือนสิงหาคม 2559 ผ่านพ้นไปแล้ว รัชกาลที่ 10 ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งที่ไม่ผ่านประชามติ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ต้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ คำพูดดังกล่าวสื่อให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจแก้กฎหมายโดยอำเภอใจ ซึ่งก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนได้ ทั้งยังทำให้ผู้ที่ได้รับฟังเกิดความรู้สึกไม่ดี เกิดความเคลือบแคลง และไม่เทิดทูนสถาบันกษัตริย์

    ส่วนอรรถพลได้กล่าวปราศรัยใจความว่า ต้องจำกัดงบประมาณของกษัตริย์ ต้องไม่เอานโยบายรัฐบาลไปผูดขาดสัมปทานโรงงานปูนแถวสระบุรี ระเบิดภูเขา หายไปเป็นลูก ซึ่งสื่อความหมายให้คนที่ได้ฟังเข้าใจว่าสถาบันกษัตริย์หรือพระมหากษัตริย์เป็นผู้บงการรัฐบาล เป็นการใส่ร้ายป้ายสีสถาบันกษัตริย์ โดยในการจัดกิจกรรมและการปราศรัยได้ทำการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กในเพจกลุ่มของผู้ต้องหาตลอดการชุมนุม ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้

    จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาจตุภัทร์และอรรถพลรวม 5 ข้อหา ดังนี้
    1. ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
    2. ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116(2)
    3. ร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้อโรค ภายในเขตพื้นที่ควบคุมพื้นที่เฝ้าระวังสูง หรือพื้นที่เฝ้าระวังแพร่โรค ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง (ฉบับที่ 2)
    4. ติดตั้ง ตาก วาง หรือแขวนสิ่งใดๆ ที่อาคารในลักษณะที่สกปรกรุงรังหรือไม่เป็นระเบียบ และมีสภาพที่ประชาชนอาจเห็นได้จากที่สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 40
    5. ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493

    จตุภัทร์และอรรถพล ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จะให้การในรายละเอียดเป็นหนังสือภายใน 30 วัน หลังพิมพ์ลายนิ้วมือ พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวทั้งสองคนไว้แต่อย่างใด เนื่องจากเป็นการมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก

    นอกจากไผ่และครูใหญ่แล้ว คณะกรรมการสอบสวนคดีนี้ได้ออกหมายเรียก “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก มารับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และ 116 ด้วยอีกราย แต่เนื่องจากไมค์ยังไม่ได้รับหมายเรียก ประกอบกับอยู่ในระหว่างการกักตัวตามคำแนะนำของแพทย์ หลังหายจากการติดเชื้อโควิดขณะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จึงยังไม่ได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ ซึ่งหลังจากครบกำหนดกักตัวแล้วจะได้เข้าพบพนักงานสอบสวนต่อไป

    คดีนี้เป็นคดีตามมาตรา 112 คดีที่ 2 ของไผ่และครูใหญ่ หลังการกลับมาใช้มาตรา 112 กับการแสดงออกทางการเมืองอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยคดีแรกของไผ่คือ คดีจากการปราศรัยในชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ส่วนครูใหญ่คือคดีจากการปราศรัยในการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมัน เมื่อ 26 ต.ค. 2563

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.ภูเขียว ลงวันที่ 11 มิ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/30752)
  • เวลาประมาณ 10.30 น. "ไมค์" ภาณุพงศ์ จาดนอก พร้อมแม่ เดินทางจาก อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.ภูเขียว ตามที่ได้รับแจ้งจาก รอง ผกก.สอบสวน สภ.ภูเขียว ผ่านทนายความว่า เป็นผู้ถูกกล่าวหาและถูกออกหมายเรียกในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการเข้าร่วมชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว ซึ่งจัดโดยกลุ่ม “ราษฎร” เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 เช่นเดียวกับจตุภัทร์และอรรถพล

    ก่อนที่ พ.ต.ท.พัชรพล สอนเวียง รอง ผกก.สอบสวน สภ.ภูเขียว จะเริ่มแจ้งพฤติการณ์ในคดี ภาณุพงศ์ได้สอบถามว่า ได้ออกหมายเรียกตนหรือไม่ เนื่องจากไม่เคยมีหมายเรียกในคดีนี้ไปส่งที่บ้านใน จ.ระยอง พ.ต.ท.พัชรพลตอบว่า ออกหมายเรียกไป 3 ครั้ง ภาณุพงศ์จึงขอดูสำเนาหมายเรียกดังกล่าวก่อน พักใหญ่พนักงานสอบสวนจึงนำสำเนาหมายเรียกภาณุพงศ์ ออกเมื่อวันที่ 6, 14 และ 26 มิ.ย. 2564 มาให้ดู แต่ไม่มีหลักฐานจาก สภ.บ้านฉาง ซึ่งเป็นสถานีตำรวจในพื้นที่ ส่งคืนกลับมาว่า ได้ส่งหมายเรียกดังกล่าวไปที่บ้านของภาณุพงศ์แล้วหรือไม่

    จากนั้น พนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์ในคดีให้ภาณุพงศ์ทราบ มีเนื้อหาเช่นเดียวกับที่ได้แจ้งจตุภัทร์และอรรถพล ก่อนว่า ภาณุพงศ์ได้ขึ้นปราศรัยในเวลาประมาณ 17.40 น. มีเนื้อหาตอนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์และการศึกษาไทยว่า การสอนให้เด็กนักเรียนเทิดทูนกษัตริย์ที่... (คำวิจารณ์) ถือเป็นการหลอกลวง พนักงานสอบสวนระบุว่า คําพูดดังกล่าวเมื่อผู้คนทั่วไปและประชาชนได้ฟังแล้วเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในสถาบันกษัตริย์ และรู้สึกไม่เทิดทูน อีกทั้งเป็นการดูหมิ่นที่ระบุชัดเจนกับการเรียกชื่อ “วชิราลงกรณ์” ซึ่งคนไทยทุกคนทราบว่าหมายถึงผู้ใด

    พนักงานสอบสวนกล่าวว่า การกระทำของภาณุพงศ์และพวกดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดรวม 5 ข้อหา เช่นเดียวกัน ภาณุพงศ์ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด โดยไม่ให้การในรายละเอียด แต่จะยื่นคำให้การเป็นเอกสารภายใน 30 วัน รอง ผกก. (สอบสวน) นัดส่งตัวให้อัยการในวันที่ 9 ส.ค. 2564 พร้อมจตุภัทร์และอรรถพล

    พ.ต.ท.พัชรพล กล่าวกับไมค์ในระหว่างสอบปากคำว่า ไม่ใช่ตำรวจเห็นเองว่า คำปราศรัยเข้าข่ายผิดมาตรา 112 แต่เป็นความเห็นของนักวิชาการที่พนักงานสอบสวนเชิญมาให้ความเห็น ทำให้ไมค์ตั้งคำถามว่า ทำไมตำรวจให้เขามาตัดสิน ถ้าเขาไม่ชอบหน้าผม เขาก็บอกว่าเข้าข่าย 112

    ในการเข้ารับฟังการแจ้งข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามจำกัดให้เข้าเฉพาะไมค์ แม่ และทนายความ อ้างว่าจะติดโควิดและระบุว่า ตามกฎหมายให้เพียงทนายความและผู้ไว้วางใจ แต่ผู้สังเกตการณ์และนักศึกษาฝึกงานยืนยันขอเข้าร่วม สุดท้าย รอง ผกก.(สอบสวน) ให้เข้าร่วมฟังทั้งหมด เจ้าหน้าที่ตำรวจยังสำทับให้เก็บโทรศัพท์ รวมทั้งไม่ให้ถ่ายรูปและบันทึกเสียง แต่ในระหว่างการแจ้งข้อกล่าวหา ได้มีตำรวจ 2 นาย เดินมาพยายามถ่ายรูปไมค์ จน รอง ผกก.ต้องยกมือห้าม และในขณะที่ไมค์พิมพ์ลายนิ้วมือ ตำรวจก็เดินมาถ่ายรูปอีก ทำให้ไมค์ต่อว่าและให้ลบรูปทิ้งทันที

    หลังพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อนำไปตรวจสอบประวัติอาชญากรรม พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวไมค์ไว้ เนื่องจากเป็นการมาพบพนักงานสอบสวนเอง ไม่ได้ถูกจับ ไมค์และแม่จึงเดินทางกลับในเวลาประมาณ 11.30 น.

    คดีนี้นับเป็นคดีที่ไมค์ถูกดำเนินคดีที่จังหวัดในภาคอีสานคดีแรก

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.ภูเขียว ลงวันที่ 6 ก.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/31824)
  • ทนายความยื่นหนังสือขอเลื่อนคดีที่พนักงานสอบสวนนัดส่งสำนวนคดีให้อัยการ ไปเป็นวันที่ 20 ส.ค. 2564 เนื่องจากนักกิจกรรมทั้งสามติดนัดหมายในคดีอื่น
  • ทนายความยื่นหนังสือขอเลื่อนคดี เหตุจตุภัทร์ถูกขังอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง เนื่องจากไม่ได้รับการประกันตัวชั้นฝากขังในคดีสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง และภาณุพงศ์ถูกขังอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวรังสิต เนื่องจากไม่ได้รับการประกันตัวชั้นฝากขังในคดีชุมนุมหน้า บก.ตชด.
  • พนักงานสอบสวนนัดอรรถพลส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการจังหวัดภูเขียว อัยการนัดฟังคำสั่งวันที่ 29 ต.ค. 2564
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง นัดอีกครั้งปลายเดือน พ.ย. 2564
  • ‘ครูใหญ่’ อรรถพล บัวพัฒน์ เดินทางไปสำนักงานอัยการจังหวัดภูเขียว ในนัดรายงานตัวเพื่อยื่นฟ้องต่อศาล หลังอัยการมีคำสั่งฟ้อง ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, อรรถพล บัวพัฒน์ และ ‘ไมค์’ ภาณุพงศ์ จาดนอก ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยการใช้เครื่องขยายเสียงฯ จากการชุมนุม #ราษฎรออนทัวร์ ของกลุ่ม “ราษฎร” บริเวณหน้าโรงเรียนภูเขียวและหน้า สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564

    เวลา 10.30 น. เจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการแจ้งให้อรรถพลและทนายความไปที่ศาลเพื่อยื่นฟ้อง และทำเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อไป

    ทั้งนี้ อัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย โดยให้อยู่ในดุลพินิจของศาล แต่ขอให้เพิ่มโทษจตุภัทร์กึ่งหนึ่ง อ้างเหตุว่าจตุภัทร์เคยต้องคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจําคุก 2 ปี 6 เดือน ในความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ในคดีของศาลจังหวัดขอนแก่น โดยพ้นโทษยังไม่ถึง 3 ปี ได้กลับมากระทําผิดคดีนี้ซึ่งเป็นฐานความผิดเดียวกันอีก และขอให้นับโทษจำคุกของจำเลยทั้งสามในคดีนี้ต่อจากคดีอื่นๆ ทั้งยังขอให้ริบป้ายผ้า 7 ผืน ซึ่งตำรวจยึดไว้เป็นของกลางด้วย

    อัยการยังแนบคำปราศรัยของทั้ง 3 คน ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจถอดเทปมาท้ายคำฟ้องด้วย

    เมื่อไปถึงห้องพิจารณาคดี ผู้พิพากษากล่าวย้ำกับอรรถพลว่า คดีนี้อัยการยื่นฟ้องแล้ว จากนั้นกล่าวว่า ถ้าอยากได้รับการปล่อยตัวก็ให้ทนายไปยื่นประกันตัวมา และให้ตำรวจควบคุมตัวอรรถพลไปไว้ที่ห้องควบคุมใต้ถุนศาล

    ต่อมา พัฒนะ ศรีใหญ่ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีโดยใช้ตำแหน่งของ อภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เป็นหลักประกัน ระบุเหตุผลว่า เป็นหลักประกันที่มีจํานวนสูงและมีความน่าเชื่อถือว่า จําเลยจะไม่หลบหนีหรือไปก่อภยันตรายประการอื่น อีกทั้งจําเลยมีภูมิลําเนาที่แน่นอน มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง กล่าวคือทําอาชีพเป็นติวเตอร์สอนหนังสือ และไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี

    ก่อนที่เวลา 14.20 น. ศาลจังหวัดภูเขียวจะมีคำสั่งให้ประกันครูใหญ่ อรรถพล โดยใช้ตำแหน่ง ส.ส.ตามที่ยื่นคำร้อง หากผิดสัญญาประกันให้ปรับ 200,000 บาท กำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำความผิดในลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้องนี้อีก และในวันที่ 2 ก.พ. 2565 ศาลนัดให้ครูใหญ่ไปที่ศาลอีกครั้ง เนื่องจากจะเบิกตัวจตุภัทร์และภาณุพงศ์ซึ่งถูกขังอยู่ในคดีอื่น ผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่ออ่านและอธิบายคำฟ้องให้ทั้งสองฟัง พร้อมทั้งยืนยันตัวว่า จตุภัทร์และภาณุพงศ์เป็นบุคคลที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องหรือไม่

    ภายหลังได้รับการปล่อยตัว ครูใหญ่กล่าวถึงคดีนี้ว่า เขาถูกฟ้องอย่างไม่สมเหตุสมผล เพียงเพราะต้องการปราศรัยให้สถาบันกษัตริย์ปรับตัวเข้ากับสังคมไทยเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามที่ถูกฟ้อง นอกจากนี้ การชุมนุมในวันดังกล่าว เขาไปเข้าร่วมแค่ในช่วงเย็นที่หน้า สภ.ภูเขียว ไม่ได้ไปร่วมชุมนุมที่หน้าโรงเรียนภูเขียวตามที่ทั้งพนักงานสอบสวนและอัยการกล่าวอ้างในสำนวน

    ทั้งนี้ในส่วนคำปราศรัยของอรรถพลที่ถูกหยิบยกมาฟ้อง มีข้อสังเกตว่า อัยการบรรยายในคำฟ้องว่า “ต้องกำจัดงบประมาณของกษัตริย์” แต่ในเอกสารถอดเทปคำปราศรัยที่แนบมาท้ายคำฟ้อง ระบุข้อความในส่วนนั้นว่า “ต้องจำกัดงบประมาณของกษัตริย์” ซึ่งมีความหมายแตกต่างกันอย่างมาก โดยถ้อยคำในคำฟ้องมีความหมายในทางเป็นโทษต่อจำเลยที่ถูกฟ้อง

    ในส่วนของนักกิจกรรมอีก 23 ราย ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ คดียังอยู่ในการพิจารณาของอัยการ โดย 11 ราย อัยการมีคำสั่งฟ้องแล้ว และนัดรายงานตัวเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดภูเขียวในวันที่ 10 ก.พ. 2565

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดภูเขียว คดีหมายเลขดำที่ อ.224/2565 ลงวันที่ 28 ม.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40072)
  • ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 1 บรรพต วิภูภิญโญ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดภูเขียว ออกพิจารณาคดี อรรถพลและทนายจําเลยที่ 2 มาศาล ศาลเบิกตัวจตุภัทร์และภาณุพงศ์ จําเลยที่ 1 และที่ 3 มาร่วมพิจารณาคดีผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ โดยทั้งสองไม่คัดค้านกระบวนการดังกล่าว จตุภัทร์และภาณุพงศ์รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจําเลยที่ 1 และที่ 3 ในคดีนี้จริง ศาลประทับฟ้อง รับตัวไว้ และออกหมายขัง

    ศาลแจ้งกับไผ่และไมค์ว่า คดีนี้อัยการยื่นฟ้องแล้ว ก่อนถามว่า จำเลยทั้งสองมีทนายความแล้วหรือไม่ ไผ่และไมค์แถลงว่า ยังไม่มีทนายความ และต้องการให้อานนท์ นำภา ซึ่งขณะนี้ถูกขังอยู่ที่เรือนจำในแดนเดียวกันเป็นทนายความ เพื่อปรึกษาคดีกันได้สะดวก และขอให้ศาลแจ้งให้ราชทัณฑ์เบิกตัวทนายอานนท์มาพร้อมกันในนัดหน้า ส่วนพวกตนจะแต่งตั้งทนายจำเลยเข้ามาในนัดหน้า และขอให้การภายหลังแต่งตั้งทนายจำเลยแล้ว ด้านอรรถพลแถลงว่า ประสงค์ให้การในวันเดียวกับวันนัดสอบคําให้การจตุภัทร์และภาณุพงศ์

    ศาลสอบถามถึงความเป็นไปได้ที่ทนายอานนท์จะว่าความได้ในขณะถูกคุมขัง ไผ่ตอบว่า สามารถทำได้ เพราะก่อนหน้านี้เช่นในคดีคนอยากเลือกตั้งของศาลอาญา ศาลก็ให้ทนายอานนท์สวมชุดครุยทำหน้าที่ว่าความในฐานะทนายจำเลย เพราะคดียังไม่ตัดสิน ก็ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ เมื่อยังเป็นทนายความ ก็ถือว่ายังมีศักดิ์และสิทธิ์ตามกฎหมายให้ทำหน้าที่นั้นได้

    ศาลถามต่อว่าจะใช้เวลาคุยและปรึกษาคดีกับทนายอานนท์เป็นระยะเวลาเท่าไหร่ เพราะจะได้นัดพิจารณาคดีในนัดหน้า ไผ่ชี้แจงว่ากระบวนการจัดส่งเอกสารจากศาลมาที่เรือนจำค่อนข้างล่าช้าจึงขอเวลาประมาณ 1 เดือน จากนั้นศาลปรึกษากับอรรถพลว่า สะดวกนัดอีกครั้งเมื่อไหร่ ก่อนจะได้ข้อสรุปเลื่อนไปสอบคำให้การจำเลยพร้อมกันทั้งสามคน และตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 23 มี.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    หลังเสร็จสิ้นกระบวนการ ศาลกล่าวกับไผ่และไมค์ว่า หากจะขอประกันตัวในคดีนี้ ก็สามารถยื่นคำร้องขอประกันได้ตลอด และสอบถามจำเลยทั้งสามว่าหากไม่ถูกคุมขังในเรือนจำประกอบอาชีพอะไร ครูใหญ่ตอบไปว่าเป็นติวเตอร์ให้นักเรียนมัธยมปลายและคนจะสอบเข้าโรงเรียนนายสิบตำรวจ ไผ่เล่าว่าเขาเรียนปริญญาโทด้านสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล และกำลังจะสอบตั๋วทนายภาคทฤษฎี แต่ศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันออกไปสอบ ส่วนไมค์กล่าวว่าเขายังเรียนอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

    ต่อมา น้องสาวของไผ่ที่ร่วมฟังการพิจารณาคดีอยู่ในห้องพิจารณาคดีของศาลด้วย ได้ขอพูดคุยกับไผ่ผ่านคอนเฟอเรนซ์ด้วย ศาลอนุญาตให้พูดคุยกันราว 10 นาที เธอกล่าวกับไผ่ว่า อยากให้ออกมาไวๆ เพราะทุกคนที่บ้านคิดถึง ส่วนไผ่กล่าวทักทายกับน้องสาวว่า ยังไหวอยู่ และขอโทษน้องสาวที่ไม่ได้ช่วยอยู่ดูแลพ่อแม่ในช่วงนี้ หากได้ออกไปจะช่วยดูแลพ่อแม่มากขึ้น

    ด้านพริ้ม บุญภัทรรักษา แม่ของไผ่ที่เพิ่งประสบอุบัติเหตุทำให้ต้องใช้ไม้เท้าพยุงเดิน กล่าวกับไผ่ว่าคิดถึงและขอโทษที่ไม่ได้ไปเยี่ยมในเรือนจำ ไผ่ตอบแม่ว่า ไม่เป็นไร เข้าใจว่าแม่คงติดธุระหลายอย่าง และเป็นห่วงสุขภาพของทั้งพ่อและแม่ หลังไต่ถามสารทุกข์กันสักพัก ครอบครัวไผ่จึงได้กล่าวร่ำลาไผ่และไมค์ โดยที่พวกเขาต่างไม่รู้ว่าจะได้พบพูดคุยกันแบบนี้อีกครั้งเมื่อไหร่

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดภูเขียว คดีหมายเลขดำที่ อ.224/2565 ลงวันที่ 2 ก.พ. 2565 และ https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/4771794969536986)
  • หลังวันที่ 9 ก.พ. 2565 ศาลอาญาอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจตุภัทร์ในคดีที่มีหมายขังรวม 3 คดี และภาณุพงศ์รวม 4 คดี ทนายความจึงได้เข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวทั้งสองในคดีนี้ โดยวางหลักประกันเป็นเงินสดคนละ 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

    ในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของจตุภัทร์ระบุเหตุผลว่า จำเลยเป็นนักศึกษาชั้นปริญญาโท หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตสาขาวิชาสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และอยู่ระหว่างการอบรมศึกษาเพื่อสอบขอรับใบอนุญาตว่าความในฐานะทนายความ จึงมีหน้าที่จะต้องเข้าเรียน จัดทำรายงานต่างๆ และเข้าสอบไล่ สอบปฏิบัติให้ครบตามกำหนด

    ยิ่งไปกว่านั้น ขณะนี้บิดาของจำเลยประสบอุบัติเหตุรถชน อยู่ระหว่างการรักษาตัว มารดาของจำเลยประสบอุบัติเหตุลื่นล้มจนทำให้ขาหัก บิดาและมารดาของจำเลยไม่สามารถประกอบกิจธุระส่วนตัวได้โดยสะดวก จำเลยเป็นบุตรชายคนเดียวของครอบครัว จึงมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือดูแลบิดาและมารดาในยามเจ็บป่วย

    ส่วนคำร้องของภาณุพงศ์ ระบุว่า จําเลยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคําแหง ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการศึกษาตามโครงสร้างหลักสูตรซึ่งมหาวิทยาลัยกําหนด จึงมีหน้าที่จะต้องเข้าเรียน จัดทํารายงานต่างๆ และเข้าสอบไล่ให้ครบตามกําหนดหลักสูตรของมหาวิทยาลัย การขังจําเลยไว้ต่อไปย่อมส่งผลกระทบต่อการศึกษา

    ยิ่งไปกว่านั้น ครอบครัวของจําเลยขณะนี้กําลังประสบปัญหาทางธุรกิจ ซึ่งเป็นกิจการทุเรียนทอดที่จําเลยทําร่วมกับครอบครัว โดยจําเลยเป็นผู้บริหารจัดการหลัก ประกอบกับมารดาของจําเลยมีปัญหาสุขภาพไม่สามารถบริหารจัดการกิจการ จําเลยจึงจำเป็นต้องออกมาช่วยเหลือครอบครัวเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

    คำร้องยังได้หยิบยกกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ว่า “บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทําผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด” เพื่อให้ศาลใช้ประกอบการพิจารณาให้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว

    ต่อมา ในช่วงบ่าย คมสันต์ ยวงเดชกล้า ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้น มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจตุภัทร์และภาณุพงศ์ กำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก

    จากนั้น ศาลได้มีหมายปล่อย และเจ้าหน้าที่ได้แฟกซ์หมายไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทำให้จตุภัทร์ ซึ่งวันเดียวกันนี้ศาลอาญากรุงเทพใต้ให้ประกันอีกคดีเช่นกัน ได้รับการปล่อยตัวในช่วงค่ำ หลังถูกขังรวม 186 วัน ส่วนภาณุพงศ์ยังมีหมายขังของศาลจังหวัดอยุธยา ซึ่งศาลนัดไต่สวนคำร้องขอประกันในวันที่ 11 ก.พ. 2565

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลจังหวัดภูเขียว คดีหมายเลขดำที่ อ.224/2565 ลงวันที่ 10 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40382)

  • จตุภัทร์, อรรถพล และภาณุพงศ์มาศาล แต่จตุภัทร์และภาณุพงศ์ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากทนายความติดว่าความในคดีของศาลอื่น ศาลอนุญาตให้เลื่อนไปนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 12 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดภูเขียว คดีหมายเลขดำที่ อ.224/2565 ลงวันที่ 23 มี.ค. 2565)
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้อง จตุภัทร์, อรรถพล และภาณุพงศ์ ยืนยันให้การปฏิเสธ เนื่องจากไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง

    โจทก์แถลงว่า มีพยานบุคคลที่จะนำเข้าสืบรวม 36 ปาก ใช้เวลาสืบ 7 นัด ฝ่ายจำเลยแถลงมีพยานบุคคล 26 ปาก ขอใช้เวลา 7 นัดเช่นกัน นัดสืบพยานโจทก์ในัวที่ 17-19, 23-26 เม.ย. 2567 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 30 เม.ย., 1-3, 7-9 พ.ค. 2567

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดภูเขียว คดีหมายเลขดำที่ อ.224/2565 ลงวันที่ 12 พ.ค. 2565)
  • โจทก์นำพยานบุคคลเข้าเบิกความรวม 35 ปาก ประกอบด้วย ผู้กล่าวหาและตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันชุมนุม รวมถึง ผกก.สภ.ภูเขียว ทั้งหมด 10 ปาก, ตำรวจผู้ถอดเทปคำปราศรัยและตรวจพิสูจน์หลักฐาน 4 ปาก, ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข และ ร.ร.ภูเขียว 5 ปาก, พยานผู้เชียวชาญที่ให้ความเห็นต่อข้อความ 2 ปาก, พ่อค้าแม่ค้าละแวก สภ.ภูเขียว 7 ปาก และพนักงานสอบสวน 7 ปาก

    โดยโจทก์นำสืบในลักษณะว่า ไผ่และครูใหญ่ทำเป็นแกนนำการชุมนุม ขณะที่การชุมนุมไม่มีการขออนุญาตผู้ว่าฯ ไม่มีจุดคัดกรอง และผู้ชุมนุมบางส่วนไม่ใส่หน้ากากอนามัย เสี่ยงต่อการแพร่โควิด ที่สำคัญคำปราศรัยของทั้งสอง ทำให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง รู้สึกไม่ดีและไม่เทิดทูนสถาบันกษัตริย์

    เดิมไผ่แต่งตั้ง อานนท์ นำภา เป็นทนายจำเลย แต่ในช่วงสืบพยานอานนท์ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในคดีมาตรา 112 โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว การเบิกตัวอานนท์จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาทำหน้าที่ทนายที่ศาลจังหวัดภูเขียว ใน อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ จึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากและศาลอาจจะไม่อนุญาต ไผ่จึงแต่งตั้งทนายคนใหม่ทำหน้าที่ว่าความแทน

    สำหรับบรรยากาศในการสืบพยาน นอกจากมีนักศึกษาฝึกงาน ประชาชนที่สนใจ และเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ ตลอดการสืบพยาน 10 วัน มีตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบกว่า 10 นาย กระจายกำลังเฝ้าอยู่บริเวณทางเข้าศาล ในวันแรกมีการนั่งเฝ้าหน้าห้องพิจารณา รวมถึงมีตำรวจศาล 1 นาย และตำรวจอีก 1 นาย นั่งเฝ้าในห้องพิจารณา หากไผ่หรือครูใหญ่ไปเข้าห้องน้ำตำรวจก็จะติดตามไปด้วย แต่เมื่อไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติใด ๆ ในระหว่างการพิจารณา ในห้องพิจารณาจึงเหลือเพียงตำรวจนั่งเฝ้าเพียง 1 นาย

    การสืบพยานใช้วิธีบันทึกคำเบิกความพยานเป็นวีดิโอ โดยศาลให้เหตุผลว่า เนื่องจากเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงและอยู่ในความสนใจของประชาชน ในระหว่างการสืบพยานโจทก์ ไผ่และครูใหญ่นอกจากนั่งฟังพยานโจทก์เบิกความตอบอัยการและตอบทนายจำเลยถามค้านแล้ว ยังได้เป็นผู้ถามค้านพยานโจทก์บางปากด้วยตนเองอีกด้วย

    ++รอง ผกก. ผู้กล่าวหาอ้าง การชุมนุมไม่ได้รับอนุญาต-คำปราศรัยทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย ไม่เทิดทูนสถาบันกษัตริย์ แต่รับว่า ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์การออก กม.ขยายพระราชอำนาจได้

    พ.ต.ท.อภิรักษ์ ดวงใจ ผู้กล่าวหา ขณะเกิดเหตุเป็นรองผู้กำกับปราบปราม สภ.ภูเขียว เบิกความว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 เวลาประมาณ 10.00 น. ขณะพยานอยู่ที่บ้านพักได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาว่า มีกลุ่มคณะราษฎรนำโดย ไผ่ ดาวดิน เดินทางมาชุมนุมที่หน้า สภ.ภูเขียว พยานจึงเดินทางมาที่ สภ.ภูเขียว พบกลุ่มคนประมาณ 20 คน มีรถยนต์ขนเครื่องขยายเสียง เต็นท์ และนำมาวางกีดขวางทางขึ้น สภ.ภูเขียว แล้ว แต่ขณะนั้นยังไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียง

    ตามที่พยานสังเกตผู้ชุมนุมมีทั้งใส่หน้ากากอนามัยและไม่ใส่หน้ากากอนามัย ไม่มีการตั้งจุดคัดกรอง ทางเข้า สภ.ภูเขียว ก็เปิดโล่งโดยไม่มีการตั้งจุดคัดกรองเช่นกัน

    ต่อมา ผู้กำกับการ สภ.ภูเขียว ได้เรียกประชุมที่ห้องประชุมชั้น 2 โดยพยานได้เข้าร่วมด้วย พยานได้ทราบจากที่ประชุมว่า ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะเดินทางมาที่ สภ.ภูเขียว ได้ปราศรัยอยู่ที่ถนนข้างรั้วโรงเรียนภูเขียว

    ที่ประชุมมีมติให้ผู้กำกับฯ พูดคุยกับผู้ชุมนุมเพื่อสอบถามว่า มีวัตถุประสงค์รวมทั้งข้อเรียกร้องอย่างไรที่ให้ตำรวจดำเนินการบ้าง ผู้กำกับฯ พร้อมทั้งพยาน, พ.ต.ท.พัชรพล รองผู้กำกับ (สอบสวน) และตำรวจอีกหลายนายจึงได้ลงมาพบไผ่และพวก โดยไผ่และพวกได้เรียกร้องให้ผู้กำกับฯ รวมทั้งตำรวจแถลงขอโทษนักเรียนที่หน้า สภ.ภูเขียว จากสาเหตุที่ตำรวจพร้อมทั้งฝ่ายความมั่นคงไปพูดคุยที่บ้านห้ามนักเรียนโรงเรียนภูเขียวไปเข้าร่วมค่ายราษฎรออนทัวร์ที่ อ.วังสะพุง จ.เลย ทำให้ไม่มีนักเรียนไปร่วมค่าย

    ผู้กำกับฯ รับข้อเรียกร้องไปปรึกษากับผู้ใต้บังคับบัญชาและรายงานถึงผู้บังคับบัญชา ระหว่างนั้นผู้ชุมนุมเริ่มใช้เครื่องขยายเสียงเปิดเพลงและพูดคุย โดยยังไม่มีการปราศรัย

    จากนั้นผู้ชุมนุมได้ใช้ป้ายผ้าแขวนขวางทางขึ้น สภ.ภูเขียว และที่รั้วด้านนอก โดยพยานและผู้กำกับฯ เห็นเหตุการณ์ผ่านกล้องวงจรปิด พยานจึงได้สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าไปห้ามไม่ให้ขึงแผ่นผ้าขวางทางขึ้น สภ. แต่ผู้ชุมนุมไม่ยินยอม สารวัตรปราบปรามจึงให้พยานไปพูดคุยเอง แต่ก็ไม่เป็นผล ผู้ชุมนุมได้ดึงป้าย “save เมียนมาร์” และป้าย “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ขึ้นไปติดทับป้ายชื่อ สภ.ภูเขียว

    เวลาประมาณ 16.00 น. ไผ่ได้ขึ้นปราศรัยเป็นคนแรกจากนั้นก็มีไมค์, ครูใหญ่ และคนอื่นอีกหลายคนขึ้นปราศรัย มีทั้งผู้ชุมนุม, ผู้มาติดต่อราชการ และประชาชนที่มาตลาดได้ยินการปราศรัย โดยผู้ร่วมชุมนุมมีการปรบมือโห่ร้อง ใช้เสียงบ้าง เป็นปกติของการชุมนุม

    หลังเกิดเหตุพยานได้รับมอบหมายให้เข้าแจ้งความจำเลยทั้งสามและคนอื่น เช่น ทราย เจริญปุระ ซึ่งแยกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

    เบื้องต้นพยานได้แจ้งความร้องทุกข์จำเลยทั้งสามในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

    การปราศรัยในวันเกิดเหตุมีการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก คนรับฟังไปได้ทั่วโลก แต่พยานไม่ทราบว่าเผยแพร่ทางเพจไหน พยานได้ฟังคำปราศรัยทั้งจากการไลฟ์สดและจากการมอนิเตอร์ในห้องประชุม รวมทั้งได้ตรวจสอบบันทึกการถอดเทปการปราศรัยจากคณะทำงาน

    สำหรับคำปราศรัยของไผ่ตามฟ้อง ข้อความแรก พยานฟังแล้วรู้สึกไม่ดีกับสถาบันกษัตริย์ ทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องขึ้นในหมู่ประชาชน ทั้งที่สถาบันกษัตริย์ได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคมมาตลอด คำพูดดังกล่าวทำให้ประชาชนเกิดความเคลือบแคลงสงสัย ไม่เทิดทูนสถาบันกษัตริย์

    ส่วนคำปราศรัยของไมค์ พยานและประชาชนที่ได้ฟังเกิดความเคลือบแคลง ไม่เทิดทูนสถาบันกษัตริย์ มีการดูหมิ่นโดยการระบุชื่อ “วชิราลงกรณ์” ชัดเจน ซึ่งคนทั่วไปทราบดีว่าหมายถึงใคร

    คำปราศรัยของครูใหญ่สื่อให้ผู้ฟังเข้าใจว่า สถาบันกษัตริย์บงการรัฐบาล ทั้งที่จริงแล้วสถาบันกษัตริย์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลที่บริหารบ้านเมือง เป็นการใส่ร้ายป้ายสีสถาบันกษัตริย์

    หลังจากได้ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวจากบันทึกถอดเทปคำปราศรัย พยานจึงได้เข้าแจ้งความเพิ่มเติมให้ดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116

    เหตุที่พยานแจ้งความจำเลยตามมาตรา 116 เนื่องจากตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ 2560 กษัตริย์อยู่ในฐานะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องใด ๆ มิได้ ซึ่งนักวิชาการได้ให้ความเห็นว่า คำปราศรัยของจำเลยทั้งสามทำให้ผู้ฟังเกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่อง เกิดความเคลือบแคลงสงสัย ไม่เทิดทูนต่อสถาบันกษัตริย์

    ตามรายงานการสืบสวนระบุว่า จำเลยที่ 1 เป็นแกนนำกลุ่มดาวดินและกลุ่มราษฎรภูเขียว ภาพถ่ายแกนนำกับนักเรียนภูเขียวที่ปรากฏในรายงานการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎรมีทั้งคนที่ใส่หน้ากากอนามัยและไม่ใส่

    คดีนี้มีการตั้งคณะทำงานประกอบด้วยคณะพนักงานสอบสวนและคณะพนักงานสืบสวน โดยพยานไม่ได้อยู่ในคณะทั้งสอง ที่พยานเข้าแจ้งความเป็นการแจ้งในฐานะผู้ประสบเหตุ ผู้เสียหาย และได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา

    พยานไม่รู้จักกับจำเลยเป็นการส่วนตัว แต่รู้จักผ่านสื่อว่าเป็นผู้นำการชุมนุม

    ต่อมา พ.ต.ท.อภิรักษ์ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่ได้เป็นผู้จัดทำรายงานการสืบสวน, รายงานการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎร และบันทึกถอดเทปคำปราศรัย

    พยานทราบจากการสอบถามผู้ชุมนุมว่า การชุมนุมในวันดังกล่าวมีสาเหตุมาจากผู้ชุมนุมไม่พอใจที่ตำรวจไปคุกคามนักเรียนที่ลงชื่อไปค่ายราษฎรออนทัวร์ที่ อ.วังสะพุง จ.เลย

    จากรายงานการสืบสวน ค่ายราษฎรออนทัวร์ไม่ได้ไปทำผิดกฎหมาย แต่เป็นค่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รับเฉพาะนักเรียน ม.1 ถึง ม.3 ของโรงเรียนในอำเภอภูเขียว

    ผู้ชุมนุมในวันเกิดเหตุมีจำนวนประมาณ 25 คน พยานเห็นผู้ชุมนุมเอาเต็นท์มาวางหน้า สภ.ภูเขียว แต่พยานไม่ทราบว่าผู้ชุมนุมเดินทางกลับมาจากค่ายที่ จ.เลย หรือไม่

    หน้าโรงเรียนภูเขียวและ สภ.ภูเขียว เป็นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทสะดวก โดยลานกว้างหน้า สภ.ภูเขียว บรรจุคนได้ 300-400 คน ซึ่งข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 15) ข้อ 3 ระบุว่า ห้ามทำกิจกรรมในสถานที่แออัด หมายความว่า ไม่ได้ห้ามการทำกิจกรรมโดยเด็ดขาด สามารถทำได้หากไม่แออัด

    ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ข้อ 4 ห้ามการชุมนุมในสถานที่แออัด เสี่ยงต่อการแพร่โรค เป็นการกำหนดเพิ่มเติมจากข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 15) ข้อ 3 คนที่ออกประกาศดังกล่าวคือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด แต่พยานไม่ทราบว่า ตามหลักการ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสามารถออกประกาศเพิ่มเติมจากข้อกำหนดได้หรือไม่

    นอกจากนี้ ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ข้อ 4 ยังระบุว่า ผู้มีหน้าที่ในการขออนุญาตจัดการชุมนุมคือผู้จัดการชุมนุม ไม่ใช่ผู้ร่วมชุมนุม

    การตั้งจุดคัดกรองโดยปกติจะจัดให้มีบริเวณทางเข้าอาคาร ในเหตุการณ์นี้ผู้ชุมนุมใช้พื้นที่บริเวณลานด้านหน้า สภ.ภูเขียว ไม่ได้เข้าไปในอาคาร และทางเข้าอาคาร สภ. ก็มีจุดคัดกรองตั้งอยู่แล้ว

    ภายหลังการทำกิจกรรมพยานไม่ได้รับรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อจากกิจกรรมดังกล่าว แต่จริง ๆ มีหรือไม่พยานไม่ทราบ

    หากมีคนไปขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงในการชุมนุมแล้ว คนอื่นที่ใช้ก็ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตใช้อีก

    การชุมนุมปราศรัยทั้งที่หน้า ร.ร.ภูเขียว และ สภ.ภูเขียว เป็นไปโดยสงบ ไม่มีเหตุวุ่นวายหรือความรุนแรง มีเพียงการใช้เครื่องขยายเสียง ไม่มีผู้ชุมนุมคนใดใช้อาวุธ ไผ่ไม่ได้ปราศรัยให้ประชาชนทำลายทรัพย์สินราชการหรือเอกชน หรือทำร้ายบุคคลอื่น รวมทั้งไม่พบผู้ชุมนุมทำลายทรัพย์สินเอกชนหรือราชการ หรือทำร้ายบุคคลอื่น หลังเกิดเหตุก็ไม่พบว่ามีเหตุการณ์ความไม่สงบหรือเหตุวุ่นวายในอำเภอภูเขียว

    รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีการจัดทำประชามติในวันที่ 7 ส.ค. 2559 พยานไม่แน่ใจว่า ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้วจะแก้ไขได้หรือไม่ พยานจบการศึกษาชั้นปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งตามความเห็นพยานเห็นว่า รัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้โดยรัฐสภา

    เมื่อเดือนมกราคม 2560 มีข่าวพลเอกประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่า รัชกาลที่ 10 รับสั่งให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติแล้ว จากนั้นพลเอกประยุทธ์ได้ให้ สนช. แก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ และออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการขยายพระราชอำนาจหลายฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 และ พ.ร.บ.การจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561

    ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ฯ มาตรา 4 บัญญัติว่า การจัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ส่วนราชการในพระองค์ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและไม่เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายอื่นใด

    และมาตรา 7(4) บัญญัติว่า เมื่อ พ.ร.บ.ประกาศใช้ ให้โอนบรรดากิจการ อํานาจหน้าที่ ทรัพย์สิน สิทธิ และหนี้สิน ตลอดจนตําแหน่งและอัตราเงินเดือนของตํารวจราชสํานัก ประจําสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ไปเป็นของส่วนราชการในพระองค์

    พยานทราบว่า หลังออก พ.ร.บ.ดังกล่าว ทำให้ตำรวจราชสำนักถูกโอนไปโดยไม่ขึ้นกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและฝ่ายบริหาร แต่พยานไม่ทราบว่า มีตำรวจบางคนไม่ยินยอมถูกโอนไปเป็นข้าราชการในพระองค์และต้องถูกลงโทษ ถูกธำรงวินัย

    (ศาลติงทนายจำเลยว่า ขอให้ถามอยู่ในประเด็น ทนายจำเลยแถลงว่า การถามค้านประเด็นดังกล่าวเพื่อที่จะไปประกอบกับคำให้การของจำเลยที่ 1 เรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์)

    พยานรับว่า พลเอกประยุทธ์ได้ออกพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนไปเป็นหน่วยราชการในพระองค์ปี 2562 ซึ่งจะมีนักวิชาการและประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการขยายพระราชอำนาจและขัดกับหลักการประชาธิปไตยที่กษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ แต่เห็นว่าเป็นสิ่งที่นักวิชาการและประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้

    การออกกฎหมายขยายพระราชอำนาจและการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวส่งผลให้เกิดการชุมนุมขนาดใหญ่ในปี 2562 ที่จำเลยที่ 1 เข้าร่วมด้วย โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ให้ประยุทธ์ลาออก, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

    พยานเห็นว่า การวิจารณ์การออกกฎหมายขยายพระราชอำนาจ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เพื่อให้กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น สามารถทำได้ถ้าหากเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เพราะการปฏิรูปคือการทำให้ดีขึ้น ซึ่งพยานเห็นด้วย

    ข้อความตามฟ้อง ที่จำเลยที่ 1 กล่าวคำว่า “ยามวิกฤติ” นั้น พยานคิดถึงเหตุการณ์ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง

    พยานเห็นว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง มีคนรวยน้อย มีคนยากจนมาก (ศาลติงทนายจำเลยว่า ถ้าเป็นความเห็นไม่ต้องถามพยานก็ได้) และพยานเคยได้ยินว่า ต่างประเทศจัดอันดับว่า ราชวงศ์ไทยรวยที่สุดในโลก

    ช่วงเกิดเหตุมีการระบาดของโควิด 19 ทั่วโลก การป้องกันการระบาดดังกล่าวต้องใช้วัคซีน แต่พยานไม่ทราบว่า พลเอกประยุทธ์มอบให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์จัดหาวัคซีนหรือไม่ และรัชกาลที่ 10 เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของสยามไบโอไซเอนซ์หรือไม่

    พยานได้ไปให้การกับพนักงานสอบสวนรวมทั้งหมด 4 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 2 ก.พ. 2564 พยานกล่าวหาจำเลยเฉพาะข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครั้งที่ 2 วันที่ 16 เม.ย. 2564 พยานไปกล่าวหาจำเลยเพิ่มเติมในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 โดยพยานให้การว่า พยานและประชาชนที่ได้รับฟังคำปราศรัยของไผ่ในข้อความแรกแล้วรู้สึกไม่ดีต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งขณะเกิดเหตุรัชกาลที่ 10 เป็นพระมหากษัตริย์ พยานจึงหมายถึง มีความรู้สึกไม่ดีต่อรัชกาลที่ 10

    สถาบันกษัตริย์ หมายถึง พระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งในอดีตและในปัจจุบัน แต่จะรวมถึงองคมนตรีด้วยหรือไม่ พยานเห็นว่าเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

    ที่พยานไปให้การร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยในข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 นั้น พยานฟังความเห็นมาจากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา

    (อ้างอิง: คำเบิกความพยานโจทก์ ศาลจังหวัดภูเขียว คดีหมายเลขดำที่ อ.224/2565 ลงวันที่ 17 เม.ย. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/69832)
  • ++ตำรวจที่ติดตามการชุมนุมระบุ ไผ่เป็นแกนนำ – การชุมนุมไม่มีจุดคัดกรอง แต่รับว่า ที่ชุมนุมโล่งกว้าง คำปราศรัยทำให้รู้สึกไม่ดีต่อ “สถาบันกษัตริย์” แต่เป็นการเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้ รธน.

    ตำรวจ สภ.ภูเขียว ที่ได้รับคำสั่งให้ติดตามการชุมนุม รวมถึงที่เข้าเวรอยู่ที่ สภ.ภูเขียว และเห็นเหตุการณ์การชุมนุมรวม 8 นาย ได้แก่ พ.ต.อ.เจริญ สาระคำ และ ร.ต.อ.พณดล เกิงไพบูลย์ ขณะเกิดเหตุเป็นสารวัตรและรองสารวัตรสืบสวน สภ.ภูเขียว, พ.ต.ท.วันชัย จีนคำ, ร.ต.อ.บัลลังก์ คงไธสง, ร.ต.ต.ชูชาติ ชำนาญวงศ์ และ ด.ต.ปรเมศ สมรัตน์ ขณะเกิดเหตุเป็นสารวัตร, รองสารวัตร และผู้บังคับหมู่งานปราบปราม สภ.ภูเขียว, พ.ต.ท.นิติพัฒน์ พิกุล และ ร.ต.อ.พร้อมพงษ์ พะคะยะ ขณะเกิดเหตุเป็นสารวัตรและรองสารวัตร (สอบสวน) สภ.ภูเขียว เบิกความในทำนองเดียวกันว่า

    วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 08.00 น. ผู้บังคับบัญชาแจ้งว่า จะมีการชุมนุมของกลุ่ม “ราษฎร” ซึ่งมี ไผ่ ดาวดิน เป็นแกนนำ ที่ข้างรั้วโรงเรียนภูเขียว จากนั้นจึงมีคำสั่งให้ชุดสืบสวนประมาณ 10 นาย พร้อมทั้งฝ่ายปราบปราม ไปเฝ้าระวังสังเกตการณ์ความเรียบร้อย

    ไผ่และผู้ชุมนุมประมาณ 20 คน ตั้งเวทีอยู่ด้านนอกรั้วโรงเรียน และมีการปราศรัย มีนักเรียนประมาณ 50 คน นั่งฟังการปราศรัยอยู่ในรั้วโรงเรียน บริเวณสนามฟุตซอล ผู้ชุมนุมใส่บางคนใส่หน้ากากอนามัย บางคนไม่ใส่ ส่วนนักเรียนก็ใส่บ้างไม่ใส่บ้างเช่นกัน

    ผู้ปราศรัยหน้าโรงเรียนมีแกนนำคือ ไผ่ ดาวดิน และไมค์ ระยอง เนื้อหาการปราศรัยเป็นการโจมตีผู้บริหารโรงเรียนและตำรวจที่ไปคุกคามนักเรียนที่สมัครไปค่าย รวมทั้งโจมตีรัฐบาล

    หลังยุติการปราศรัยผู้ชุมนุมได้เข้าไปถ่ายรูปร่วมกับนักเรียนในรั้วโรงเรียนโดยมีการนั่งใกล้ชิดกัน

    ต่อมา ผู้ชุมนุมได้เคลื่อนออกจากหน้าโรงเรียนภูเขียว เมื่อถึงหน้า สภ.ภูเขียว ได้กางเต็นท์ ปราศรัยและร้องเพลงผ่านเครื่องขยายเสียง มีเสียงดังได้ยินชัด ผู้กำกับฯ และรองผู้กำกับฯ ได้ลงมาคุยกับแกนนำผู้ชุมนุม คือ ไผ่ สอบถามถึงวัตถุประสงค์ในการมาชุมนุม ผู้ชุมนุมอธิบายว่า มีตำรวจไปคุกคามนักเรียนไม่ให้ไปค่ายที่ อ.วังสะพุง จึงให้ผู้กำกับฯ และตำรวจที่ไปคุกคามกล่าวขอโทษ ผู้กำกับฯ ขอให้ผู้ชุมนุมอยู่ในกรอบของกฎหมาย และนำข้อเรียกร้องไปประชุมหารือ

    จากนั้นผู้ชุมนุมได้นำแผ่นผ้ามาและใช้สีเขียนอยู่ที่หน้า สภ.ภูเขียว ก่อนนำไปติดที่ด้านหน้า สภ. ผู้กำกับฯ เข้าไปห้ามแต่ผู้ชุมนุมไม่ฟัง ในที่สุดผู้ชุมนุมได้แขวนป้าย “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” “Save เมียนมาร์” ตรงป้ายชื่อ สภ.ภูเขียว และอีกหลายป้ายที่หน้ารั้ว สภ. รวมทั้งหมด 7 ป้าย เหตุการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีการยื้อแย่งป้ายกันบ้าง แต่ไม่ถึงกับทำร้ายร่างกาย ป้ายที่ติดก็ไม่ได้กีดขวางทางขึ้นลง สภ. ยังมีประชาชนมาติดต่อราชการได้ตามปกติ

    เวลาประมาณ 16.30 น. ผู้ชุมนุมเริ่มปราศรัย มีคนฟังการปราศรัยมีประมาณ 40-50 คน มีทั้งที่เดินไปเดินมา และนั่งรวมกลุ่มกัน บางคนไม่ใส่หน้ากากอนามัย ชาวบ้านที่มาตลาดยืนดูอยู่ด้านนอกรั้ว สภ. ไม่มีจุดคัดกรอง

    ผู้ชุมนุมปราศรัยถึงประมาณ 20.00 น. และแจ้งว่า จะค้างแรมหน้า สภ.ภูเขียว แต่ต่อมาแยกย้ายกันกลับเวลาประมาณ 5 ทุ่ม โดยไม่มีความรุนแรง ส่วนป้ายที่ผู้ชุมนุมนำมาติดมีทั้งหมด 7 ป้าย ต่อมาถูกยึดเป็นของกลาง

    คนที่ขึ้นปราศรัยมีไผ่, ไมค์ และครูใหญ่ โดยมีเนื้อหาโจมตีตำรวจ รัฐบาล และเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ด้วย

    จากการสืบสวนไม่ทราบว่า ใครเป็นคนจัดหาเครื่องขยายเสียงที่ใช้ในการชุมนุม

    พ.ต.อ.เจริญ และ ด.ต.ปรเมศ ได้เบิกความให้ความเห็นต่อข้อความปราศรัยตามฟ้องของ ไผ่, ไมค์ และครูใหญ่ เช่นเดียวกันว่า พยานเห็นว่า คำปราศรัยของไผ่ จำเลยที่ 1 (ตามฟ้องเฉพาะข้อความแรก) เมื่อพยานรวมถึงประชาชนทั่วไปได้ฟังแล้วเกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่อง รู้สึกไม่ดีต่อสถาบันกษัตริย์ ทั้งที่สถาบันกษัตริย์ได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคมไทยมาตลอด ทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัย ไม่เทิดทูนสถาบันกษัตริย์

    คำปราศรัยของครูใหญ่ จำเลยที่ 2 สื่อให้ผู้ฟังเข้าใจว่า สถาบันกษัตริย์บงการรัฐบาล ทั้งที่จริงแล้วสถาบันกษัตริย์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาล เป็นการใส่ร้ายป้ายสีสถาบันกษัตริย์

    ต่อมา ตำรวจที่ติดตามการชุมนุมทั้ง 8 นาย ตอบทนายจำเลยถามค้านสรุปความได้ว่า ก่อนเกิดเหตุผู้ชุมนุมไปค่ายราษฎรทัวร์ที่ อ.วังสะพุง จ.เลย

    เวทีปราศรัยหน้า ร.ร.ภูเขียว อยู่นอกรั้วโรงเรียน สูงกว่าจุดที่นักเรียนนั่งฟังการปราศรัย และอยู่ห่างกันโดยมีรั้วโรงเรียนกั้น สนามที่นักเรียนนั่งฟังกว้างพอบรรจุนักเรียนทั้งโรงเรียน นักเรียนที่มาฟังปราศรัยนั่งและยืนใกล้ชิดกันเป็นกลุ่ม แต่อยู่ในพื้นที่เปิดโล่ง

    วันเกิดเหตุเป็นวันเปิดเรียนตามปกติ นักเรียนต้องไปอยู่โรงเรียนอยู่แล้วไม่ว่าจะมีการชุมนุมหรือไม่ พ.ต.อ.เจริญ เข้าใจว่า ก่อนเข้าโรงเรียนนักเรียนได้รับการคัดกรองโควิดแล้ว

    ในกลุ่มผู้ชุมนุมมีนักร้องนักแสดงมาร่วมด้วยชื่อ ทราย อินทิรา เจริญปุระ และแอมมี่ ผู้ชุมนุมกับนักเรียนเข้ามาใกล้กันเฉพาะตอนถ่ายรูปก่อนที่ผู้ชุมนุมจะเคลื่อนออกจากโรงเรียนภูเขียวเท่านั้น โดยบางคนใส่หน้ากากอนามัย บางคนดึงลงมาใต้คาง ทั้งนี้ เวลาถ่ายรูปใช้เวลาสั้น ๆ ไม่นาน บริเวณดังกล่าวก็เป็นที่โล่งแจ้ง หน้าโรงเรียนภูเขียวเป็นถนน 8 เลน มีไหล่ทาง

    หน้า สภ.ภูเขียว ก็เป็นที่โล่งแจ้งอากาศถ่ายเทสะดวก จุตำรวจที่มีทั้ง สภ. ประมาณ 140 คนได้ ติดกับตลาดภูเขียว จะมีประชาชนเดินเข้าออก สภ.อยู่ตลอดเวลา มีจุดคัดกรองที่ทางขึ้นไปชั้น 2 ประชาชนที่มา สภ.ภูเขียว หรือเข้ามาจอดรถใน สภ. ถ้าไม่ได้ขึ้นไปชั้น 2 ก็ไม่ต้องคัดกรอง วันเกิดเหตุผู้ชุมนุมอยู่ที่บริเวณลานด้านหน้าเสาธงและโถงบันได ไม่ได้เข้าไปเกินกว่าจุดคัดกรอง

    เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันดังกล่าวมีประมาณ 50-60 นาย มีทั้งแต่งเครื่องแบบและไม่แต่งเครื่องแบบ ฝ่ายปกครองที่ร่วมปฏิบัติหน้าที่ก็มีประมาณ 30 นาย ทั้งในและนอกเครื่องแบบ

    ข้อกำหนดฉบับที่ 15 ไม่ได้นิยามคำว่า “ผู้จัดการชุมนุม”, “แออัด” หรือ “มั่วสุม”

    ระหว่างการชุมนุมไม่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาตรวจวัดอุณหภูมิ

    ผู้ชุมนุมเขียนป้ายผ้าและนำไปติดโดยใช้เชือกผูก ซึ่งอาจใช้กรรไกรตัดหรือมือดึงออกได้ และเมื่อเอาออกก็ไม่เกิดความเสียหายกับบริเวณที่ติดป้าย ข้อความในป้ายผ้าไม่ได้ยุยงให้ประชาชนทำผิดกฎหมาย

    จำเลยที่ 2 มาถึงที่ชุมนุมตอนค่ำประมาณ 19.10 น. โดยมาปราศรัยเพียงอย่างเดียว นอกจากจำเลยมีผู้ปราศรัยหลายคน ขณะปราศรัยผู้ปราศรัยยืนห่างจากบุคคลอื่น

    จำเลยปราศรัยโจมตีตำรวจ สภ.ภูเขียว และเรียกร้องความรับผิดชอบที่ตำรวจไปคุกคามนักเรียนไม่ให้ไปร่วมค่าย ไม่ได้ปราศรัยชักชวนให้ผู้ชุมนุมทำลายทรัพย์สินหรือทำร้ายบุคคลใด

    การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบ ไม่มีเหตุการณ์วุ่นวาย ไม่มีผู้ชุมนุมหรือบุคคลใดทำลายทรัพย์สินของราชการและเอกชน ไม่พบว่าผู้ชุมนุมมีหรือใช้อาวุธ

    หลังเกิดเหตุก็ไม่พบเหตุวุ่นวายหรือความไม่สงบ หรือการชุมนุมที่สืบเนื่องจากการชุมนุมครั้งนี้ในอำเภอภูเขียว และไม่มีประชาชนเข้าแจ้งความว่า ไม่สามารถติดต่อราชการหรือได้รับความเดือดร้อนจากผู้ชุมนุม

    ผู้ชุมนุมมีการไลฟ์สด แต่ไม่ทราบว่าเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มใด และไม่ได้มีการสืบสวนเพิ่มเติมในประเด็นนี้

    ในส่วน พ.ต.อ.เจริญ ตอบทนายจำเลยเกี่ยวกับคำปราศรัยว่า กลุ่มผู้ชุมนุมปราศรัยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หมายถึงให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และคำว่า “สถาบันกษัตริย์” หมายถึง กษัตริย์ รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ไม่ได้หมายถึงใครคนใดคนหนึ่ง

    ส่วน ด.ต.ปรเมศ ตอบทนายจำเลยในประเด็นคำปราศรัยว่า พยานไม่ได้ฟังคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 โดยตลอด ที่พยานไปให้ความเห็นต่อพนักงานสอบสวนเป็นการอ่านเฉพาะข้อความบางส่วนตามที่พนักงานสอบสวนถาม

    ตามบันทึกการถอดเทปคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 มีการกล่าวถึงทั้งสถาบันกษัตริย์, รัชกาลที่ 10, รัชกาลที่ 5 และอีกหลายคน โดยใช้คำรวม ๆ กัน แต่พยานไม่แน่ใจว่า สถาบันกษัตริย์หมายถึงใครบ้าง

    ที่จำเลยที่ 1 ปราศรัยถึงเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เรื่องรัฐธรรมนูญนั้น พยานไม่ทราบว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติถึงกษัตริย์ทุกพระองค์ไม่ใช่องค์ใดองค์หนึ่ง

    พยานให้การกับพนักงานสอบสวนว่า คำปราศรัยของจำเลยเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 116 แต่พยานไม่ทราบว่า คำปราศรัยดังกล่าวยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนใช้กำลังประทุษร้ายอย่างไร และที่พยานให้ความเห็นว่า คำปราศรัยของจำเลยที่ 2 สื่อว่า สถาบันกษัตริย์เป็นผู้บงการรัฐบาลอย่างไรนั้น ไม่ใช่ความเห็นของพยานเอง เป็นความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ แต่จำไม่ได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญคนใด

    นอกจากนี้มี ร.ต.อ.พร้อมพงษ์ ตอบทนายจำเลย พยานเห็นว่า ข้อความ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นความผิด อย่างไรก็ตาม พยานรับว่า ปฏิรูป แปลว่า ทำให้ดีขึ้น จำเลยที่ 1 ปราศรัยเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ความหมายก็คือให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

    ++ผู้กำกับฯ ยืนยัน ให้ความเห็นต่อถ้อยคำปราศรัยตามฟ้องด้วยตนเอง แม้มีถ้อยคำเหมือนความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาทุกตัวอักษร

    พ.ต.อ.เพิ่มสุข ศิริพละ ขณะเกิดเหตุเป็นผู้กำกับการ สภ.ภูเขียว เบิกความถึงเหตุการณ์ชุมนุมในวันที่ 1 ก.พ. 2564 สอดคล้องกับพยานโจทก์ที่เป็นตำรวจติดตามการชุมนุม รวมถึงเบิกความให้ความเห็นต่อข้อความตามฟ้องซึ่งเป็นบางช่วงในคำปราศรัยของไผ่, ไมค์ และครูใหญ่ เหมือนกับที่ พ.ต.ท.อภิรักษ์ ผู้กล่าวหา เบิกความ

    จากนั้น พ.ต.อ.เพิ่มสุข ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ ฝ่ายความมั่นคงประสานข้อมูลมาว่า จะมีการจัดทำค่ายราษฎรออนทัวร์ที่ อ.วังสะพุง จ.เลย พยานทราบข้อมูลคร่าว ๆ แต่ไม่รู้รายละเอียด จากนั้นพยานได้แจ้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝ่ายสืบสวนให้เฝ้าระวังและหาข้อมูลการข่าวในพื้นที่ว่า กลุ่มดังกล่าวมีใครบ้าง ใช้ยานพาหนะอะไร โดยให้ปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย ไม่มีปฏิบัติการที่ไประงับยับยั้งไม่ให้นักเรียนเข้าร่วมค่ายดังกล่าว

    พยานยืนยันว่าให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปหาข้อมูลเท่านั้น และกำชับให้ปฏิบัติอยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่จะมีคนที่ไปบ้านนักเรียนและถ่ายรูปผู้ปกครองนักเรียนหรือไม่นั้น พยานไม่ยืนยัน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ส่วนอื่นอย่างสันติบาลและฝ่ายปกครองก็จะมีปฏิบัติการของเขา

    พยานอยู่หน้าโรงเรียนภูเขียวประมาณ 15-20 นาที ขณะนั้นผู้ชุมนุมยืนกระจายและปราศรัยอยู่ด้านนอกรั้ว ส่วนนักเรียนที่ฟังการปราศรัยส่วนมากอยู่ในบริเวณสนามฟุตซอลซึ่งเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง

    สภ.ภูเขียว ตั้งจุดคัดกรองบริเวณบันไดทางขึ้น ไม่มีการตั้งในที่โล่งแจ้ง ประชาชนที่สัญจรในที่โล่งแจ้ง เช่น ริมฟุตบาท ก็ไม่จำเป็นต้องผ่านการคัดกรอง วันเกิดเหตุผู้ชุมนุมไม่ได้อยู่เลยบริเวณที่ตั้งจุดคัดกรอง ส่วนใหญ่อยู่ที่บริเวณด้านหน้า สภ.

    พยาน, พ.ต.ท.อภิรักษ์ และ พ.ต.ท.พัชรพล มาเจรจากับผู้ชุมนุม ซึ่งตามคลิปเหตุการณ์ พ.ต.ท.อภิรักษ์ยอมรับว่า ผู้บังคับบัญชาให้ติดตามนักเรียน แต่พยานยืนยันว่า ได้กำชับผู้ใต้บังคับบัญชาแล้วว่าให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุพยานไม่ได้ตรวจสอบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาได้ปฏิบัติตามคำสั่งหรือไม่

    พยานไม่ยืนยันว่า ตามรายงานการสืบสวนได้ระบุหรือไม่ว่า ผู้ชุมนุมมาชุมนุมด้วยสาเหตุอื่น นอกเหนือจากสาเหตุที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไปติดตามและถ่ายรูปนักเรียน จนสร้างความหวาดกลัวและทำให้นักเรียนไม่ไปค่าย

    ที่ สภ.วังสะพุง ทำรายงานการสืบสวนระบุว่า มีการจัดกิจกรรมราษฎรออนทัวร์ จึงได้มีการตั้งจุดตรวจคัดกรองเพื่อตรวจสอบและสะกัดกั้นไม่ให้มีกลุ่มบุคคลเข้าร่วมค่ายราษฎรออนทัวร์นั้น พยานไม่ยืนยันข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะพนักงานสอบสวนที่ตำรวจภูธรจังหวัดชัยภูมิตั้งขึ้น ซึ่งพยานไม่ได้อยู่ในคณะดังกล่าว

    พยานไม่ทราบรายละเอียดว่า สุดท้ายมีการดำเนินคดีกับการจัดกิจกรรมค่ายราษฎรออนทัวร์ที่อำเภอวังสะพุงหรือไม่ เนื่องจากพยานติดตามเฉพาะคดีนี้

    ตลอดการชุมนุมไม่มีเหตุรุนแรงหรือการกระทบกระทั่งทางร่างกาย มีแต่การกระทบกระทั่งทางวาจา ไม่มีทรัพย์สินของ สภ.ภูเขียว เสียหาย การติดป้ายผ้าเป็นลักษณะผูก เมื่อปลดออกก็ไม่ได้เกิดความเสียหายใด ๆ หลังเกิดเหตุก็ไม่มีการชุมนุมต่อเนื่องในอำเภอภูเขียว มีเพียงการมารับทราบข้อกล่าวหาในคดีนี้เท่านั้น

    ป้ายผ้าที่พยานยึดเป็นของกลางในคดีมีการดำเนินคดีในข้อหาตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ เท่านั้น ไม่มีการดำเนินคดีเกี่ยวกับข้อความในป้ายผ้า

    ในวันเกิดเหตุพยานไม่ได้นั่งฟังการปราศรัยของจำเลยตลอดเวลา ได้ยินเพียงบางส่วนผ่านจอมอนิเตอร์ของกล้องวงจรปิด รวมถึงขณะที่เดินออกมาดูที่หน้า สภ. ในบางช่วง และไม่ได้ตรวจสอบว่า บันทึกการถอดเทปคำปราศรัยมีถ้อยคำตรงกับคลิปเหตุการณ์ทั้งหมดหรือไม่ พยานดูเฉพาะที่พนักงานสอบสวนให้ดูและให้ความเห็นเท่านั้น

    พยานยืนยันว่า พยานให้ความเห็นต่อถ้อยคำที่พนักงานสอบสวนให้ดูด้วยตนเอง แม้ตามบันทึกคำให้การของพยานจะมีถ้อยคำตรงกับความเห็นของพยานคนอื่น รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยทุกตัวอักษร โดยพยานให้ความเห็นตามความคิด ความเชื่อ ความรู้สึกในฐานะเจ้าหน้าที่และประชาชนคนหนึ่ง และตามที่พยานมีประสบการณ์รับราชการมา ก่อนลงชื่อในบันทึกคำให้การ

    ถ้อยคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 ซึ่งพูดถึงสถาบันกษัตริย์ ไม่ใช่เอ่ยพระนามกษัตริย์พระองค์ใด เป็นการพูดรวม ๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งตีความได้กว้าง

    จำเลยที่ 2 ไม่มีบทบาทหน้าที่ในการเจรจากับตำรวจ ที่จำเลยที่ 2 ถูกกล่าวหาในคดีนี้ก็เกี่ยวกับการปราศรัยเท่านั้น ซึ่งคนที่ขึ้นปราศรัยในวันเกิดเหตุก็มีจำนวนหลายคน

    ก่อนให้การกับพนักงานสอบสวนพยานได้อ่านบันทึกถอดเทปคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 ทั้งหมดประกอบกับข้อเท็จจริงที่กล่าวหา แต่เพิ่งเห็นข้อความ ปฏิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง เนื่องจากพยานดูแต่เฉพาะข้อความที่เข้ากับข้อกฎหมายเท่านั้น

    พยานไม่ทราบว่า คำปราศรัยของจำเลยที่ 2 เรื่องการโอนย้ายทรัพย์สิน เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่เป็นปรากฏใน พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ หรือไม่ เนื่องจากไม่ได้ดู พ.ร.บ.ดังกล่าวประกอบก่อนให้ความเห็น

    พนักงานสอบสวนพิจารณาว่าข้อความไหนเป็นความผิดตามกฎหมายและเลือกมาให้พยานให้ความเห็น ซึ่งพยานก็ให้ความเห็นตามที่ได้รับข้อความมา

    (อ้างอิง: คำเบิกความพยานโจทก์ ศาลจังหวัดภูเขียว คดีหมายเลขดำที่ อ.224/2565 ลงวันที่ 18 เม.ย. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/69832)
  • ++ตำรวจผู้ถอดเทปคำปราศรัยระบุ ให้ความเห็นว่าข้อความตามฟ้องเป็นความผิดตาม ม.112-116 ตามที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ แต่รับว่า คำ “กษัตริย์” “สถาบันกษัตริย์” ไม่ได้มีความหมายเจาะจงถึง ร.10

    จ.ส.ต.อาทิตย์ พลโยธา, ร.ต.อ.ปุระเชษฐ์ ตั้งพร้อมทรัพย์ และ จ.ส.ต.จักรพงษ์ ครูชัยภูมิ ตำรวจ สภ.ภูเขียว ผู้ถอดเทปคำปราศรัยของไผ่, ครูใหญ่ และไมค์ เบิกความในทำนองเดียวกันว่า

    หลังเกิดเหตุในคดีนี้ พยานได้รับแต่งตั้งเป็นคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน และได้รับมอบหมายให้ถอดเทปคำปราศรัยของแกนนำ โดย จ.ส.ต.อาทิตย์ ถอดเทปคำปราศรัยของไผ่ จำเลยที่ 1, ร.ต.อ.ปุระเชษฐ์ ถอดเทปคำปราศรัยของครูใหญ่ จำเลยที่ 2 และ จ.ส.ต.จักรพงษ์ ถอดเทปคำปราศรัยของไมค์ จำเลยที่ 3

    คลิปการปราศรัยดังกล่าว จ.ส.ต.จักรพงษ์ เป็นผู้ดึงข้อมูลจากไลฟ์สดของผู้ชุมนุมในวันเกิดเหตุบันทึกลงแฟลชไดรฟ์ ทำการถอดเทปตามที่ได้รับมอบหมายแล้วมอบให้พนักงานสอบสวนเป็นเอกสาร รวมทั้งแฟลชไดร์ฟ ส่วน จ.ส.ต.อาทิตย์ และ ร.ต.อ.ปุระเชษฐ์ ได้รับเป็นแฟลชไดรฟ์ พยานทั้งสามเบิกความว่า ถอดเทปโดยใช้วิธีเปิดและบันทึกทุกคำพูด โดยไม่มีการแก้ไขต่อเติม

    หลังจากมอบบันทึกการถอดเทปให้พนักงานสอบสวน พยานทราบว่า มีการแจ้งความดำเนินคดีจำเลยทั้งสามแยกจากกลุ่มใหญ่ในข้อหาตามมาตรา 112 และ 116 พยานก็ได้ไปให้การเพิ่มเติมกับพนักงานสอบสวนในวันที่ 16 เม.ย. 2564 โดยพนักงานสอบสวนได้นำคำปราศรัยของจำเลยทั้งสามมาให้ดูและให้พยานให้ความเห็น

    สำหรับ ร.ต.อ.ปุระเชษฐ์ เบิกความว่า ในชั้นสอบสวนได้ให้ความเห็นต่อข้อความตามฟ้องเช่นเดียวกับพยานปากอื่น ๆ คือ พยานเห็นว่า คำปราศรัยของไผ่ (เฉพาะข้อความแรกตามฟ้อง) เมื่อพยานรวมถึงประชาชนทั่วไปได้ฟังแล้วเกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่อง รู้สึกไม่ดีต่อสถาบันกษัตริย์ ทั้งที่สถาบันกษัตริย์ได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคมไทยมาตลอด ทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัย ไม่เทิดทูนสถาบันกษัตริย์

    คำปราศรัยของครูใหญ่ จำเลยที่ 2 สื่อให้ผู้ฟังเข้าใจว่า สถาบันกษัตริย์บงการรัฐบาล ทั้งที่จริงแล้วสถาบันกษัตริย์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาล เป็นการใส่ร้ายป้ายสีสถาบันกษัตริย์

    ส่วนคำปราศรัยของไมค์ พยานและประชาชนที่ได้ฟังเกิดความเคลือบแคลง ไม่เทิดทูนสถาบันกษัตริย์ มีการดูหมิ่นโดยการระบุชื่อ “วชิราลงกรณ์” ชัดเจน ซึ่งคนทั่วไปทราบดีว่าหมายถึงใคร

    แต่สำหรับ จ.ส.ต.อาทิตย์ และ จ.ส.ต.จักรพงษ์ ศาลให้เบิกความในส่วนนี้โดยรวบรัด เนื่องจากเห็นว่า พยานเป็นผู้ถอดเทปเท่านั้น คงไม่รู้เห็นอย่างอื่น โดย จ.ส.ต.อาทิตย์ เบิกความว่า เมื่อพยานอ่านข้อความของจำเลยทั้งสามแล้วเห็นว่า เป็นถ้อยคำดูหมิ่นเหยียดหยามสถาบันกษัตริย์ ส่วน จ.ส.ต.จักรพงษ์ ให้ความเห็นว่า ถ้อยคำของจำเลยทั้งสามมีลักษณะไม่เทิดทูนสถาบันกษัตริย์

    ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน จ.ส.ต.อาทิตย์ เบิกความว่า พยานถอดเทปเป็นภาษาไทยทั้งหมด ในส่วนที่เป็นภาษาอีสานพยานก็แปลเป็นภาษาไทยตามความเข้าใจของพยานเอง พยานไม่ทราบว่า หลังจากส่งบันทึกถอดเทปไปแล้ว จะมีการตรวจสอบอีกทีหรือไม่

    พยานถอดเทปจากคลิปที่อยู่ในแฟลชไดรฟ์ แต่ไม่ได้ตรวจสอบว่า คลิปดังกล่าวกับคลิปที่อยู่ในโซเชียลมีเดียตรงกันหรือไม่

    เรื่องที่จำเลยที่ 1 ปราศรัยมีหลายเรื่อง และมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ไม่เอารัฐบาล, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

    ข้อความตามบันทึกการถอดเทปคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 ที่ขีดเส้นเป็นข้อความตามฟ้อง จำเลยที่ 1 พูดถึงสถาบันกษัตริย์โดยรวม ไม่มีการเอ่ยพระนามกษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง

    ตามความเข้าใจของพยาน คำว่า สถาบันกษัตริย์ หมายถึง พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

    จากถ้อยคำที่ถอดเทปคำปราศรัยจำนวน 13 หน้า จำเลยที่ 1 พูดถึงสถาบันกษัตริย์และรัชกาลหลายหน ซึ่งก็ไม่ได้หมายถึง กษัตริย์พระองค์ใดหรือรัชกาลที่ 10 โดยคำว่า รัชกาล หมายถึงช่วงเวลาก็ได้ ในบางช่วงจำเลยที่ 1 กล่าวถึงประวัติศาสตร์ โดยมีคำว่า กษัตริย์ ด้วย ก็หมายถึงกษัตริย์ในอดีต

    ข้อความในหน้า 11 “เมื่อปี 54 ที่นิตยสารฟอร์บส์จัดลำดับว่า กษัตริย์ไทยรวยที่สุดในโลก” ซึ่งปี 2554 อยู่ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9

    พยานเป็นตำรวจในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถ้ามีประชาชนเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันตำรวจก็หมายถึงการปฏิรูปทั้งองค์กร ไม่ใช่ปฏิรูปผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนเดียว หากมีการเรียกร้องให้แก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจ ก็หมายถึงให้แก้ไขเกี่ยวกับตำรวจในปัจจุบันไปจนถึงอนาคตด้วย

    ที่พยานให้การในชั้นสอบสวนว่า คำปราศรัยของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดตามมาตรา 112 และ 116 นั้น พยานดูเฉพาะข้อความตามฟ้องพี่พนักงานสอบสวนให้ดูเท่านั้น และให้ความเห็นไปตามความรู้สึกของพยานประกอบกับมีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำด้วย แต่พยานจำชื่อผู้เชี่ยวชาญคนดังกล่าวไม่ได้

    ภายหลังการชุมนุมในพื้นที่อำเภอภูเขียวไม่มีการมาชุมนุมติดตามว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดิน

    ด้าน ร.ต.อ.ปุระเชษฐ์ เบิกความตอบทนายจำเลยว่า คำว่า “วิกฤต” ในคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 หมายถึงเหตุการณ์ใด พยานไม่ทราบ

    จำเลยที่ 2 ปราศรัยเป็นภาษาถิ่น แต่พยานถอดเทปมาเป็นภาษาไทย โดยแปลเป็นภาษาราชการตามความเข้าใจของพยานเอง และที่ไม่มีใครตรวจทาน ทั้งนี้ พยานไม่ได้เป็นนักวิชาการเกี่ยวกับภาษาถิ่น

    พยานจำไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้กล่าวคำหยาบคายหรือเอ่ยพระนามของรัชกาลที่ 10 หรือไม่ แต่ไม่มีถ้อยคำที่ทำให้ประชาชนทำผิดกฎหมายหรือทำร้ายร่างกายผู้อื่น

    พยานไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ไลฟ์สดการปราศรัย ในทางสืบสวนก็ไม่ปรากฏว่าใครเป็นแอดมินเพจที่ไลฟ์สด หรือจำเลยเกี่ยวข้องอย่างไรกับเพจดังกล่าว

    ตามที่พยานให้การว่า คำปราศรัยของจำเลยเป็นการแสดงความเห็นเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือยุยงให้ใช้กำลังประทุษร้ายนั้น พยานยกถ้อยคำตามกฎหมายมาตอบเท่านั้น

    คำว่า “กษัตริย์” หมายถึง กษัตริย์ทั้งในอดีตถึงปัจจุบัน, “สถาบันกษัตริย์” หมายถึง พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

    ที่พยานถอดคำปราศรัยของครูใหญ่และปรากฏในบันทึกคำให้การพยานว่า “ต้องกำจัดงบประมาณ” นั้น ความจริงต้องเป็นถ้อยคำว่า “ต้องจำกัดงบประมาณ” ข้อความตามคำให้การของพยานไม่ถูกต้อง

    ต่อมา ร.ต.อ.ปุระเชษฐ์ ตอบโจทก์ถามติงว่า ขณะเกิดเหตุรัชกาลที่ 10 เป็นพระมหากษัตริย์ คำปราศรัยของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีคำว่า กษัตริย์ จึงมีความหมายถึงรัชกาลที่ 10

    ส่วน จ.ส.ต.จักรพงษ์ เบิกความตอบทนายจำเลยว่า ที่พยานให้การกับพนักงานสอบสวนว่า ถ้อยคำของจำเลยที่ 1 ที่พนักงานสอบสวนให้ดูนั้น เป็นถ้อยคำก่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เกิดความรู้สึกไม่ดีต่อสถาบันกษัตริย์ ทำให้เกิดความเคลือบแคลงและไม่เทิดทูนสถาบันกษัตริย์นั้น พยานมุ่งไปที่สถาบันกษัตริย์ไม่ใช่องค์พระมหากษัตริย์

    พนักงานสอบสวนพิมพ์บันทึกคำให้การตามความเห็นของพยานเอง ซึ่งเหมือนกันทุกตัวอักษรกับความเห็นในบันทึกคำให้การของ จ.ส.ต.อาทิตย์

    ++ตร.ตรวจพิสูจน์หลักฐานระบุ ตรวจสอบไฟล์ใน DVD ไม่ได้ตรวจในแฟลชไดรฟ์ที่โจทก์ใช้เป็นหลักฐาน ซึ่งจำนวนไฟล์ไม่เท่ากัน

    พ.ต.ท.หญิง สมร ดีแสง นักวิทยาศาสตร์ (สบ.3) กลุ่มงานตรวจพิสูจน์อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง เบิกความว่า คดีนี้พยานทำหน้าที่ตรวจแฟ้มข้อมูล โดยเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2564 พยานได้รับพยานหลักฐานและของกลางจากตำรวจภูธรจังหวัดชัยภูมิ เป็นแผ่น DVD 2 แผ่น ที่ส่งมาให้พยานตรวจพิสูจน์ว่า มีข้อมูลภาพยนตร์ในของกลางดังกล่าวหรือไม่ และมีการตัดต่อหรือไม่ พยานตรวจพิสูจน์แล้ว พบไฟล์ “64-02-01 ช่วงเช้า.mp4” และ “64-02-01 ช่วงเย็น.mkv” โดยไม่พบการตัดต่อ

    พ.ต.ท.หญิง สมร ตอบทนายจำเลยถามค้านต่อมาว่า วัตถุที่พยานตรวจสอบเป็นแผ่น DVD ไม่ใช่แฟลชไดรฟ์ พยานยืนยันไม่ได้ว่า ไฟล์ที่พยานตรวจสอบใน DVD กับไฟล์ในแฟลชไดรฟ์ที่โจทก์อ้างส่งในคดีนี้ซึ่งมีทั้งหมด 3 ไฟล์ เป็นไฟล์เดียวกันหรือไม่ และคลิปที่พยานตรวจสอบก็ไม่สามารถทราบได้ว่าใครเป็นผู้โพสต์ เนื่องจากพยานไม่มีหน้าที่ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว

    ต่อมา พ.ต.ท.หญิง สมร ตอบโจทก์ถามติงว่า ไฟล์วีดิโอใน DVD และแฟลชไดรฟ์ มีนามสกุล .mkv ตรงกัน 1 ไฟล์ โจทก์เปิดไฟล์ดังกล่าวจากแฟลชไดรฟ์ให้พยานดู พยานดูแล้วเบิกความว่า ภาพที่พยานดูมีลักษณะเดียวกับภาพที่ปรากฏในแผ่น DVD ที่พยานตรวจสอบ แต่อาจจะเป็นคนละมุมกัน

    (อ้างอิง: คำเบิกความพยานโจทก์ ศาลจังหวัดภูเขียว คดีหมายเลขดำที่ อ.224/2565 ลงวันที่ 19 เม.ย. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/69832)
  • ++อาจารย์รัฐศาสตร์-ภาษาไทยให้ความเห็น คำปราศรัยทำให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง-รู้สึกไม่ดีต่อสถาบันกษัตริย์ แต่ก็ไม่ได้ระบุเจาะจงว่าเป็นกษัตริย์องค์ใด

    ณัฐดนัย แก้วโพนงาม รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ เบิกความว่า พยานจบกรศึกษาระดับปริญญาเอก รัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาเศรษฐศาสตร์การเมืองและการบริหารจัดการ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการเมือง

    เกี่ยวกับคดีนี้เมื่อประมาณต้นปี 2564 มีพนักงานสอบสวนจาก สภ.เมืองชัยภูมิ ให้พยานมาเป็นพยาน โดยแจ้งว่า พยานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับถ้อยคำและให้พยานดูถ้อยคำปราศรัย โดยเปิดวีดีโอและให้ดูบันทึกการถอดเทปคำปราศรัยของจตุภัทร์, ภาณุพงศ์ และอรรถพล

    หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนได้นำถ้อยคำปราศรัยของทั้งสามคนเฉพาะในคดีนี้ให้พยานดูแล้วถามว่า มีความหมายเป็นการยุยงปลุกปั่นเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบหรือไม่ พยานให้ความเห็นว่า เป็นข้อความที่ก่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องสำหรับคนที่ไม่รู้ความจริง แต่จะถึงขนาดก่อความไม่สงบหรือไม่ พยานไม่แน่ใจ ในส่วนคำปราศรัยของอรรถพลนั้น พยานระบุด้วยว่า อาจเป็นการใส่ร้ายสถาบันกษัตริย์ด้วย

    ต่อมา ณัฐดนัยตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานสอนรัฐศาสตร์ไม่ได้สอนภาษาศาสตร์ พยานไม่ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยเกี่ยวกับการบริหารจัดการเศรษฐศาสตร์การเมืองในระดับท้องถิ่น, ส่งเสริมความรักสามัคคี, ศาสตร์พระราชา และการบริหารจัดการสังคมภายใต้บริบทความขัดแย้ง

    วันเกิดเหตุพยานอยู่ที่มหาวิทยาลัย ไม่ได้มาที่โรงเรียนภูเขียว ไม่ได้ฟังการไลฟ์สดในขณะเกิดเหตุ พยานได้ฟังคลิปเมื่อพนักงานสอบสวนเปิดให้ฟัง ซึ่งเปิดถ้อยคำปราศรัยทั้งหมด ใช้เวลาฟังนานเกือบทั้งวัน

    พนักงานสอบสวนพิมพ์คำปราศรัยทั้งหมดมาเป็นข้อความและไฮไลท์บางข้อความ พยานจำไม่ได้ว่ากี่ข้อความ ทั้งยังเปิดวีดิโอประกอบ จากนั้นได้ถามความเห็นของพยานในบางข้อความที่พนักงานสอบสวนได้ไฮไลท์ไว้

    ตามบันทึกคำให้การของพยาน พนักงานสอบสวนได้ไฮไลท์ถ้อยคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 เพียงข้อความเดียว ซึ่งพยานให้ความเห็นว่า คำพูดดังกล่าวทำให้ผู้ฟังรู้สึกไม่ดีและเข้าใจผิดต่อสถาบันกษัตริย์นั้น คำว่า สถาบันกษัตริย์ หมายถึง หน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และข้อความนี้ไม่ได้เอ่ยพระนามในหลวงรัชกาลที่ 10

    ทนายจำเลยถามว่า พยานเคยได้ยินนิตยสารต่างประเทศชื่อ ฟอร์บส์ จัดอันดับราชวงศ์ไทยว่ารวยที่สุดในโลก และพระมหากษัตริย์ไทยที่รวยที่สุดในโลกคือรัชกาลที่ 9 หรือไม่ พร้อมทั้งให้ดูข่าว พยานตอบว่า ไม่เคยอ่าน

    พยานไม่แน่ใจว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีการทำประชามติเวลาไหน โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 หรือไม่ และรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้ว ก่อนประกาศใช้จะไม่สามารถแก้ไขได้หรือไม่ รวมทั้งไม่แน่ใจว่า เคยได้ยินข่าว พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า รัชกาลที่ 10 มีคำสั่งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนพระราชอำนาจหรือไม่

    ทนายจำเลยถามว่า คำปราศรัยของจำเลยที่ 1 ไม่มีคำหยาบคาย ด่าทอ ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า เป็นถ้อยคำหยาบคาย ทนายจำเลยถามต่อว่า แต่พยานไม่ได้ให้การกับพนักงานสอบสวนไว้ว่า เป็นถ้อยคำหยาบคายใช่หรือไม่ พยานเบิกความตอบทนายจำเลยใหม่ว่า พยานไม่แน่ใจว่า คำปราศรัยของจำเลยที่ 1 มีถ้อยคำหยาบคายหรือไม่

    พยานไม่แน่ใจว่า มีการออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์, พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ฯ และ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ หรือไม่ ในส่วนที่จำเลยที่ 2 ปราศรัยว่า รัฐบาลออกกฎหมายโอนย้ายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์นั้น พยานให้ความเห็นไปโดยไม่มีข้อมูลว่า คำปราศรัยของจำเลยที่ 2 เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่

    พยานความเห็นอีกปากคือ ปุ่น ชมภูพระ อาจารย์สอนภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ เบิกความว่า พยานจบการศึกษาระดับปริญญาโทภาษาไทยจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย และหลักธรรมคำสอน เนื่องจากเคยบวชเรียนมา

    เกี่ยวกับคดีนี้ น่าจะประมาณช่วงกลางปี แต่จำ พ.ศ. ไม่ได้ มีพนักงานสอบสวนมาพบอธิการบดี จากนั้นอธิการและรองอธิการบดีก็ประสานพยานมาว่า อยากให้มีนักวิชาการให้ความเห็นต่อถ้อยคำ

    พนักงานสอบสวนได้เปิดคลิปและนำบันทึกการถอดเทปคำปราศรัยมาให้พยานอ่าน ที่พยานจำได้หลัก ๆ เป็นคำปราศรัยของไผ่ ดาวดิน มีของคนอื่นด้วยแต่พยานจำชื่อไม่ได้

    จากนั้นพนักงานสอบสวนได้นำถ้อยคำมาให้ดูและให้พยานให้ความเห็น ในส่วนคำปราศรัยของจตุภัทร์ เป็นข้อความว่า “ปัญหาของสังคมไทย…” พยานให้ความเห็นว่า คำพูดดังกล่าวให้ความหมายในเชิงลบ จาบจ้วง ใครได้ฟังจะรู้สึกไม่ดีต่อสถาบันกษัตริย์ แต่ไม่ได้ระบุเจาะจงว่าเป็นกษัตริย์พระองค์ใด

    ส่วนคำปราศรัยของภาณุพงศ์ พยานให้ความเห็นว่า ทำให้ผู้ฟังเกิดความเคลือบแคลงในสถาบันกษัตริย์ ไม่เทิดทูนต่อสถาบันกษัตริย์

    คำปราศรัยของอรรถพล ข้อความ “ถ้าบอกว่ากษัตริย์คือเจ้าฟ้า…” พยานให้ความเห็นว่า เป็นลักษณะคำพูดที่เหมือนดูถูกพระมหากษัตริย์ เป็นการเปรียบเทียบที่ผิดบริบทสังคมไทย ใช้คำพูดที่ทำให้เกิดอคติต่อสถาบันกษัตริย์ และข้อความว่า “ต้องไม่เอานโยบายรัฐ…” พยานให้ความเห็นว่า เป็นการกล่าวหาสถาบันกษัตริย์ว่าเป็นผู้บงการรัฐบาล โดยที่พระมหากษัตริย์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาลที่บริหารบ้านเมือง ทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย

    พยานยืนยันว่า บันทึกการถอดเทปคำปราศรัยของจำเลยทั้งสามเป็นฉบับเดียวกับที่พนักงานสอบสวนให้ดู โดยพยานได้อ่านเฉพาะบางข้อความที่มีการไฮไลท์มา แต่ก็ได้ดูข้อความอื่นด้วยเป็นภาพรวม

    ปุ่นตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านต่อมาว่า พยานเชี่ยวชาญด้านภาษาไทย แต่งานวิชาการของพยานเป็นงานเกี่ยวกับวรรณคดี กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริบททางการเมืองหรือสถาบันกษัตริย์

    พยานไม่ได้อ่านถ้อยคำที่พนักงานสอบสวนนำมาให้ดูทั้งหมด อ่านเฉพาะที่ไฮไลท์และให้ความเห็นในลักษณะที่เป็นการตีความ ซึ่งการตีความต้องดูบริบทที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้ พยานไม่ทราบวัตถุประสงค์ในการปราศรัยหรือข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม

    ก่อนข้อความ “ปัญหาของสังคมไทย…” มีข้อความระบุว่า “รัฐธรรมนูญต้องนำไปสู่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ซึ่งเป็นการพูดถึงสถาบันกษัตริย์โดยองค์รวมไม่ได้หมายถึงรัชกาลใดรัชกาลหนึ่ง และคำว่า สถาบัน เป็นคำกว้าง ๆ อย่าง สถาบันการศึกษา ไม่ได้หมายถึงอธิการหรือตัวบุคคลใด ๆ แต่หมายถึงทั้งหมดทั้งมวลที่เกี่ยวข้อง ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตด้วยก็ได้ ส่วนคำว่า ปฏิรูป ตามพจนานุกรมแปลว่า ทำให้ดีขึ้น

    ข้อความว่า “ฉันเกิดในรัชกาลที่ 9” ก็ไม่ได้หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แต่หมายถึงช่วงเวลาที่รัชกาลที่ 9 เป็นกษัตริย์ ดังนั้น การกล่าวคำว่า รัชกาล ต้องดูบริบทว่า จะมีความหมายใด

    ปุ่นยังได้ตอบอรรถพลที่ถามค้านด้วยตนเองว่า พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560, พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 และ พ.ร.ก.โอนย้ายอัตรากำลังพลฯ พ.ศ. 2562 ออกในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์

    เราสามารถกล่าวถึงบุคคลหรือองค์กรใด ๆ รวมถึงกษัตริย์และสถาบันกษัตริย์ในลักษณะอื่นนอกเหนือจากในลักษณะดูหมิ่น เกลียดชัง หรือยกย่อง โดยการกล่าวถึงข้อเท็จจริงซึ่งไม่ได้แสดงความรักเชิดชูหรือว่ารังเกียจ

    คำปราศรัยของจำเลยที่ 2 ที่ว่า “ถ้าบอกว่ากษัตริย์คือเจ้าฟ้า…” คำว่า กษัตริย์ ในที่นี้ ไม่ได้ระบุว่าเป็นกษัตริย์พระองค์ใด ส่วนที่พยานให้ความเห็นต่อข้อความ “ต้องไม่เอานโยบายรัฐ…” เป็นความเห็นเฉพาะต่อข้อความนี้ ไม่ใช่ความเห็นต่อคำปราศรัยทั้งหมด โดยพยานดูข้อความตามที่พนักงานสอบสวนให้มาแล้วให้ความเห็น จำเลยจะได้พูดเช่นนั้นจริงหรือไม่ พยานไม่ทราบ

    การจะให้ความหมายต่อข้อความใด ๆ จะต้องดูบริบทตั้งแต่ต้น การตัดข้อความมาบางตอนเป็นไปได้ว่า อาจทำให้ตีความเจตนาของผู้พูดไม่ได้ทั้งหมด

    ถ้อยคำที่พยานอ่านก่อนให้ความเห็นเป็นข้อความที่เป็นภาษาไทย ไม่มีภาษาอีสานปะปน แต่จำเลยปราศรัยเป็นภาษาใด พยานไม่ทราบ

    ภาษาอีสานของคนชัยภูมิ ขอนแก่น สกลนคร ภูไท ย้อ ส่วย กะเลิง ย้วย แสก ถึงจะเป็นภาษาตระกูลเดียวกัน แต่คนที่อยู่คนละท้องถิ่นกันก็อาจจะเข้าใจความหมายไม่ตรงกับที่ผู้พูดต้องการสื่อสาร เช่น คำว่า เสี่ยว ก็อาจจะเข้าใจไม่ตรงกัน คนอีสานด้วยกันก็อาจจะไม่ได้เข้าใจตรงกันทั้งหมด

    พยานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดี แต่ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านการออกเสียงหรือสัทศาสตร์

    บุคคลพิเศษ คนสำคัญ มีตำแหน่ง มีบารมี ในทางปฏิบัติมักได้รับอภิสิทธิ์บางอย่างจากสถานะดังกล่าวโดยไม่ต้องได้รับคำสั่งหรือไม่ พยานไม่แน่ใจ เดาไม่ได้

    (อ้างอิง: คำเบิกความพยานโจทก์ ศาลจังหวัดภูเขียว คดีหมายเลขดำที่ อ.224/2565 ลงวันที่ 23 เม.ย. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/69832)
  • ++รอง ผอ.โรงเรียนภูเขียวระบุ ครูแจ้งว่า ผู้ชุมนุมมาให้ความรู้นักเรียน ไม่ทราบใครเป็นแกนนำ – อยู่นอกรั้วตลอดกิจกรรม

    หัฐพงษ์ ชาติไทย รองผู้อำนวยการโรงเรียนภูเขียว เบิกความว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 08.00 น. พยานปฏิบัติหน้าที่ดูแลนักเรียนขณะทำกิจกรรมหน้าเสาธง หลังเสร็จกิจกรรมพยานได้ยินเสียงบริเวณริมรั้วโรงเรียนด้านนอกติดสนามฟุตซอล มีการใช้เครื่องขยายเสียง แต่จับใจความไม่ได้

    พยานแจ้งครูเวรประกาศให้นักเรียนขึ้นชั้นเรียนและสั่งการให้ปิดทางเข้าทั้ง 2 ประตู จากนั้นพยานยืนดูเหตุการณ์อยู่ห่าง ๆ ประมาณ 50-60 เมตร มองเห็นไม่ชัดเจน เห็นนักเรียนนั่งอยู่ที่สนามฟุตซอลไม่ถึง 100 คน ภายหลังได้รับแจ้งจากครูว่า เป็นกลุ่มที่มาให้ความรู้นักเรียน แต่ไม่ได้บอกว่าใครนำมา

    โรงเรียนมีเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิสแกนนักเรียนก่อนเข้าโรงเรียนและแจกหน้ากากอนามัยให้ใส่ทุกคน

    ไม่เกิน 09.00 น. เศษ กลุ่มดังกล่าวก็เคลื่อนออกจากหน้าโรงเรียน โดยไม่ได้เข้ามาในโรงเรียนเลย ภาพตามรายงานการสืบสวน ผู้ชุมนุมก็อยู่ข้างนอกรั้ว ส่วนนักเรียนอยู่ข้างในรั้ว ส่วนมากนักเรียนใส่หน้ากากอนามัย ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมใส่บ้าง ไม่ใส่บ้าง

    พยานเคยไปให้การกับพนักงานสอบสวนว่า กลุ่มดังกล่าวนำโดย ไผ่ ดาวดิน ซึ่งพยานทราบจากที่ครูเวรรายงาน เนื่องจากไผ่เคยเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียน

    หัฐพงษ์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ขณะเกิดเหตุโรงเรียนภูเขียวมีนักเรียนประมาณ 2,900 คน โดยปกตินักเรียนทั้งหมดมาเข้าแถวหน้าเสาธง บริเวณโดม วันเกิดเหตุน่าจะมีนักเรียนมาโรงเรียนประมาณ 2,800 คน ส่วนที่มาฟังผู้ชุมนุมมีไม่เกิน 100 คน

    ขณะเกิดเหตุนักเรียนมาเรียน on site แสดงว่า สถานการณ์โควิดผ่อนคลายขึ้น ตลอดกิจกรรมของผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมอยู่ด้านนอกรั้ว และนักเรียนอยู่ที่สนามฟุตซอลซึ่งโล่งแจ้ง

    ++สาธารณสุขยืนยัน จนท.ไปคัดกรอง ไม่พบผู้ชุมนุมเป็นไข้ แม้ไม่พบมีการขออนุญาตผู้ว่าฯ แต่การขออนุญาตต้องเป็นกรณีที่ผู้ชุมนุมเกิน 50 คน

    พีรยศ ย่อมสูงเนิน ขณะเกิดเหตุเป็นสาธารณสุขอำเภอภูเขียว เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุมีการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยจังหวัดชัยภูมิเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง การชุมนุมตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ว่าฯ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อนล่วงหน้าเป็นเวลา 3 วัน

    ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 09.00 น. ขณะพยานปฏิบัติงานที่สาธารณสุขอำเภอภูเขียว ได้รับแจ้งจากสารวัตรปราบปราม สภ.ภูเขียว ว่า มีการชุมนุมที่หน้าโรงเรียนภูเขียว พยานเดินทางไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลรวม 4 คน เพื่อขอตรวจวัดอุณหภูมิผู้ชุมนุมและสอบถามข้อมูลบันทึกลงไทยชนะ ตามที่มีคำสั่งจังหวัดว่า คนนอกพื้นที่เมื่อเข้ามาในพื้นที่ต้องรายงานตัวและตรวจสุขภาพก่อน

    พยานสังเกตเห็นผู้ชุมนุมใส่หน้ากากอนามัยบางคน มีการ์ดเดินคุมอยู่ห่างกลุ่มผู้ชุมนุมราว 20 เมตร เจ้าหน้าที่ได้ขอเข้าไปตรวจคัดกรอง แต่การ์ดไม่ให้เข้า พยานจึงออกมาสังเกตการณ์ห่างจากที่ชุมนุมประมาณ 30 เมตร และอยู่ที่นั่นราวครึ่งชั่วโมง ได้ยินเสียงการปราศรัยบ้าง มีนักเรียนเกิน 50 คนมาฟัง โดยนั่งเป็นแถวหลายแถว

    หลังจากพยานกลับไปที่สำนักงานได้รับแจ้งว่า ผู้ชุมนุมเคลื่อนไปที่ สภ.ภูเขียว พยานจึงให้เจ้าหน้าที่ไปทำการคัดกรอง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มารายงานว่า ผู้ชุมนุมยินยอมให้คัดกรองและบันทึกข้อมูลลงไทยชนะ ผลการตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อ

    ภาพตามรายงานการสืบสวนที่ผู้ชุมนุมถ่ายรูปกับนักเรียน ถ้ามีคนป่วย มีอาการไอจาม ก็จะมีความเสี่ยงแพร่โรคสูง แต่ถ้าไม่มีอาการ ความเสี่ยงก็ต่ำ ผู้ชุมนุมใส่หน้ากากอนามัยเป็นบางคนทำให้มีความเสี่ยงบ้าง

    จากการตรวจสอบไม่พบว่ามีการขออนุญาตที่สาธารณสุขอำเภอล่วงหน้า 3 วัน

    พีรยศตอบทนายจำเลยถามค้านว่า หน้าโรงเรียนภูเขียวเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเท ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่โรคโควิดน้อยกว่า พยานเห็นผู้ชุมนุมอยู่บนฟุตบาทนอกรั้ว ส่วนนักเรียนอยู่ในรั้ว มีผู้ชุมนุมประมาณ 20 คน

    เจ้าหน้าที่ที่ไปตรวจคัดกรองผู้ชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว รายงาน ว่า มีการบันทึกข้อมูลของผู้ชุมนุมทุกคน แต่ไม่ได้สรุปจำนวนผู้ชุมนุม ในการตรวจอุณหภูมิไม่พบคนเป็นไข้ และได้แจกหน้ากากอนามัยให้ผู้ชุมนุมทุกคนด้วย

    ช่วง 7 วันหลังการชุมนุม ไม่พบรายงานว่า มีผู้ติดเชื้อโควิดในพื้นที่อำเภอภูเขียว เฟซบุ๊กของ ศบค. ก็รายงานว่า 14 วัน หลังการชุมนุม ไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มในจังหวัดชัยภูมิ

    การถ่ายรูปเป็นกิจกรรมที่อนุโลมได้บ้าง เนื่องจากใช้เวลาสั้น ๆ และหากกิจกรรมนั้นมีมาตรการคัดกรองแล้ว เช่นเดียวกับกิจกรรมของสาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิที่จัดในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน

    กรณีที่จะต้องขออนุญาตต่อผู้ว่าฯ เป็นกรณีที่มีการชุมนุมเกิน 50 คน

    ++รองนายกเทศมนตรีภูเขียวระบุ วันเกิดเหตุไม่มีคำร้องขอใช้เครื่องขยายเสียง

    นิวัฒน์ สุพจิตร และณัฐวุฒิ เพียเกษม ขณะเกิดเหตุเป็นนายอำเภอและปลัดอำเภอภูเขียว มาเบิกความยืนยันว่า โรงเรียนภูเขียวและ สภ.ภูเขียว อยู่ในเขตเทศบาล การขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงต้องขอกับเทศบาล

    ด้านวิไลวรรณ มานะศิลป์ ขณะเกิดเหตุรักษาการรองนายกเทศมนตรีตำบลภูเขียว เบิกความว่า สภ.ภูเขียว มีหนังสือลงวันที่ 1 ธ.ค. 2564 สอบถามมาที่เทศบาลตำบลภูเขียวว่า วันที่ 1 ก.พ. 2564 มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงของกลุ่มคณะราษฎรภูเขียวที่ข้างรั้วโรงเรียนภูเขียวและ สภ.ภูเขียว หรือไม่ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วไม่พบคำร้องขอใช้เครื่องขยายเสียงในวันดังกล่าว

    ก่อนตอบทนายจำเลยถามค้านว่า โดยปกติในการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงใน 1 กิจกรรม ตัวแทนจะมาขออนุญาตว่าจะใช้เครื่องขยายเสียงเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ผู้ใช้เครื่องขยายเสียงคนอื่น ๆ ไม่จำเป็นต้องมาขออนุญาตอีก

    (อ้างอิง: คำเบิกความพยานโจทก์ ศาลจังหวัดภูเขียว คดีหมายเลขดำที่ อ.224/2565 ลงวันที่ 24 เม.ย. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/69832)
  • ++พ่อค้า-แม่ค้า ละแวก สภ.ภูเขียว ระบุ ผู้ชุมนุมบางคนไม่ใส่หน้ากากอนามัย – ไม่มีจุดคัดกรอง แต่รับว่า ไม่ได้ดูการชุมนุมโดยตลอด ไม่ทราบว่า จนท.มาตั้งจุดคัดกรอง

    โจทก์นำพยานที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าขายของหรือพักอาศัยใกล้ สภ.ภูเขียว และเห็นการชุมนุมในวันเกิดเหตุเข้าเบิกความเป็นพยานรวม 7 ปาก โดย 4 ราย ดูเหตุการณ์อยู่ที่ร้าน โดยไม่ได้เดินมาที่ สภ.ภูเขียว เลย อีก 3 ราย เดินไปดูที่รั้ว สภ.หรือเดินไปส่งอาหารใน สภ.ภูเขียว ในช่วงเวลาสั้น ๆ

    พยานทั้งหมดเบิกความคล้ายกันว่า วันเกิดเหตุ ประมาณ 9-10 โมงเช้า เห็นกลุ่มคนประมาณ 10 กว่าคน เดินเข้าไปใน สภ.ภูเขียว มีการใช้เครื่องขยายเสียงเปิดเพลงและพูด แต่จับใจความไม่ได้

    พยานไม่สังเกตเห็นจุดคัดกรอง ผู้ชุมนุมบางคนใส่หน้ากากอนามัย บางคนไม่ใส่ ซึ่งขณะนั้นมีโควิดระบาด พยานและลูกค้าที่มาซื้อของต้องใส่หน้ากากอนามัย

    พยานเห็นมีการติดป้ายผ้าข้างบนป้าย สภ.ภูเขียว ไม่ได้สังเกตว่ามีป้ายอื่นอีกหรือไม่ แต่ยืนยันตามรายงานการพิสูจน์ป้ายข้อความที่โจทก์ให้ดู

    ระหว่างการชุมนุมไม่มีเหตุการณ์วุ่นวาย ไม่มีเสียงเหตุการณ์กระทบกระทั่งกัน

    พยานส่วนใหญ่ไม่รู้จักผู้ชุมนุมเลย มีบางคนรู้จักไผ่ เพราะเป็นคนพื้นที่ และเคยเห็นทราย เจริญปุระ

    ในการตอบทนายจำเลย รวมถึงไผ่ถามค้าน พยานตอบสรุปสาระสำคัญว่า ลานหน้า สภ.ภูเขียว เป็นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก แต่พยานประมาณไม่ถูกว่จุคนได้เท่าไหร่ มีประชาชนสัญจรและเข้าไปจอดรถใน สภ. เป็นปกติ โดยไม่ต้องผ่านจุดคัดกรอง

    ในวันเกิดเหตุผู้ชุมนุมไม่ได้อยู่กันหนาแน่นเต็มลานด้านหน้า สภ ภูเขียว

    พยานไม่ได้ดูการชุมนุมโดยตลอดจึงไม่เห็นว่า ประมาณบ่าย 3 ถึงบ่าย 4 มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาตั้งจุดคัดกรองที่ทางเข้า สภ. ด้านหน้า

    พยานไม่ทราบว่า ในวันดังกล่าวมีชุดสืบแฝงตัวปะปนกับผู้ชุมนุมหรือไม่ ดังนั้น ที่พยานเห็นว่า ผู้ชุมนุมบางคนไม่ใส่หน้ากากอนามัยนั้น จึงไม่ทราบว่า เป็นผู้ชุมนุมหรือตำรวจ

    ++พนักงานสอบสวนระบุ ภาค 3 สั่งดำเนินคดี ม. 112, 116 กับจำเลย หลังนักภาษาศาสตร์เห็นว่า คำปราศรัยเข้าข่ายดูหมิ่นกษัตริย์ แต่รับ ไม่ได้สอบสวนเพิ่มในประเด็นที่จำเลยปราศรัย

    พ.ต.ท.พัชรพล สอนเวียง ขณะเกิดเหตุเป็นรองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.ภูเขียว ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ฝ่ายสอบสวน ตามคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดชัยภูมิที่ 244/2564

    ขณะเกิดเหตุมีการระบาดของโควิด-19 จังหวัดชัยภูมิเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง การชุมนุมต้องขออนุญาตจากผู้ว่าฯ ก่อน

    เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 พยานอยู่ที่ สภ.ภูเขียว เห็นเหตุการณ์ตลอด การชุมนุมไม่มีเหตุรุนแรง ผู้ชุมนุมมีประมาณ 30 คน เท่าที่ทราบมีจตุภัทร์, ภาณุพงศ์ และอรรถพลเป็นแกนนำ ผู้ชุมนุมบางคนใส่หน้ากากอนามัย บางคนไม่ใส่ ถือว่าไม่ได้ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเท่าที่ควร

    บริเวณหน้า สภ.ไม่กว้าง โรคสามารถแพร่ระบาดได้ ผู้ชุมนุมไม่มีจุดคัดกรอง ส่วน สภ.ภูเขียว มีจุดวัดอุณหภูมิ

    หลังมีการชุมนุมเบื้องต้นในวันที่ 2 ก.พ. 2564 พันตำรวจโทอภิรักษ์ได้เข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมซึ่งสืบทราบตัวบุคคล 12 คน พิจารณาแล้วเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

    หลังจากนั้นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ได้เดินทางมาประชุมที่ สภ.ภูเขียว และสั่งให้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน ชุดสืบสวนจึงได้พิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่ร่วมชุมนุมส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี

    ชุดสืบสวนได้ดาวน์โหลดคลิปที่กลุ่มจัดกิจกรรมเผยแพร่ ลงคอมพิวเตอร์ นำมาถอดเทป และไรท์ลงแผ่นซีดี 2 แผ่น ส่งให้กองพิสูจน์หลักฐานกลางพิสูจน์ ผลการตรวจสอบ ไม่มีการตัดต่อ

    หลังจากรวบรวมพยานหลักฐานส่งอนุกรรมการระดับภาคพิจารณา โดยนักวิชาการภาษาศาสตร์ได้ให้ความเห็นต่อคำปราศรัยของผู้ต้องหาทั้งสามว่า เข้าข่ายดูหมิ่น หมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ฯ และยุยงปลุกปั่นฯ จากนั้นมีหนังสือลงวันที่ 28 เม.ย. 2564 ให้ดำเนินคดีจตุภัทร์, ภาณุพงศ์ และอรรถพลในข้อหาตามมาตรา 112 และความผิดที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยให้ผู้กล่าวหามาแจ้งความเพิ่มเติมกับจตุภัทร์, ภาณุพงศ์ และอรรถพล ในข้อหาตามมาตรา 112 และ 116 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

    คณะพนักงานสอบสวนได้แบ่งกันสอบสวนพยานหลาย ๆ ปาก โดยส่วนใหญ่พยานได้ร่วมสอบสวนด้วย หลังรวบรวมพยานหลักฐาน เห็นว่า มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหา จึงได้ออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหาที่ 1 – 3 มารับทราบข้อกล่าวหา ชั้นสอบสวนผู้ต้องหาทั้งสามให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

    พ.ต.ท.พัชรพล ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ข้อกำหนดฉบับที่ 15 ข้อ 3 ห้ามการชุมนุม ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัด แสดงว่า ชุมนุมได้ในสถานที่ไม่แออัด ส่วนคำว่า แออัด ตามพจนานุกรมมีความหมายว่า ยัดเยียด, เบียดเสียด, เบียดกันแน่น หรือไม่ พยานไม่ทราบ เนื่องจากไม่ได้ดูพจนานุกรม

    ในชั้นสอบสวนสาธารณสุขอำเภอให้การว่า ไม่ว่าผู้ชุมนุมจะมีกี่คนก็ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบก่อน โดยไม่ได้บอกจำนวนคนชัดเจน และพยานไม่ได้ตรวจสอบจากผู้ว่าฯ

    ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้ออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ ฉบับที่ 2 ซึ่งข้อ 4 การชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคต้องขออนุญาตจากผู้ว่าฯ นั้น เป็นการออกเพิ่มเติมจากข้อกำหนดฉบับที่ 15 ข้อ 3 โดยไม่พบว่า พล.อ.ประยุทธ์ มอบอำนาจให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดออกประกาศเพิ่มเติมจากข้อกำหนด

    ข้อกำหนดฉบับที่ 15 รวมถึงประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ไม่มีนิยามของคำว่า “ผู้จัดการชุมนุม”

    จากการสอบสวนทั้งหน้าโรงเรียนภูเขียวและ สภ.ภูเขียว เป็นสถานที่โล่งแจ้ง วันเกิดเหตุมีสาธารณสุขอำเภอมาตั้งจุดคัดกรองที่หน้า สภ.ภูเขียว ในช่วงประมาณ 4-5 โมงเย็น ไม่มีข้อเท็จจริงว่า มีผู้ติดเชื้อจากการชุมนุม

    พยานไม่ทราบว่า เครื่องเสียงที่ใช้ในการชุมนุมเป็นของใคร

    จากการสืบสวนทราบว่า สาเหตุที่ผู้ชุมนุมมาปราศรัยเนื่องจากมีตำรวจไปติดตามไม่ให้นักเรียนไปค่าย รายงานการสืบสวนที่ระบุว่า พ.ต.อ.เพิ่มสุข พร้อมตำรวจชุดสืบสวนได้ออกไปพบผู้บริหารโรงเรียนภูเขียวเพื่อประชาสัมพันธ์และชี้แจงให้ทราบถึงการเข้าร่วมกิจกรรมของนักเรียน หากฝ่าฝืนอาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อฯ และอาจมีการติดเชื้อโควิด จึงไม่ควรให้นักเรียนไปร่วมทำกิจกรรมดังกล่าว นั้น เป็นการที่ผู้กำกับฯ ไปชี้แจงว่า ถ้าไปอาจจะเป็นความผิด เพราะไม่รู้ว่าไปทำกิจกรรมอะไรบ้าง

    การชุมนุมในวันเกิดเหตุตำรวจได้แยกดำเนินคดีเป็น 3 คดี คือ คดีนี้, คดีชุมนุมที่มีจำเลย 22 คน และคดีเยาวชน โดย 2 คดีหลัง มีคำพิพากษายกฟ้องถึงที่สุดแล้ว

    จำเลยที่ 1 มาปราศรัยเรียกร้องให้ตำรวจขอโทษนักเรียน ไม่ได้ปราศรัยยุยงให้ผู้ชุมนุมทำลายทรัพย์สินของราชการและเอกชนหรือทำร้ายบุคคลอื่น ขณะชุมนุมและหลังชุมนุมไม่มีเหตุวุ่นวายหรือไม่สงบ

    ข้อความในบันทึกการถอดเทปคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 ที่ไฮไลท์ว่าเข้าข่ายเป็นความผิดจำนวน 2 ข้อความ นั้น ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาไทยเป็นคนให้ความเห็น จากนั้นผู้กล่าวหาจึงเข้าแจ้งความ

    พยานได้ตรวจทานบันทึกการถอดเทปเฉพาะข้อความที่มีการไฮไลท์ว่าตรงตามคลิป ส่วนอื่นพยานดูแต่ภาพรวมเท่านั้น

    ในส่วนที่ผู้กล่าวหาให้ความเห็นต่อข้อความที่ 2 ของจำเลยที่ 1 นั้น เป็นความเห็นของนักภาษาศาสตร์ซึ่งเอามาประกอบกับความเห็นของผู้กล่าวหา ไม่ใช่ความเห็นของผู้กล่าวหา

    พยานไม่ได้สอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในประเด็นที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า รัชกาลที่ 10 สั่งให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ และในประเด็นที่จำเลยที่ 1 ปราศรัยว่า กษัตริย์ไทยรวยที่สุดในโลก ตามที่นิตยสารฟอร์บส์เคยรายงานข่าว

    พยานได้สอบปากคำผู้กล่าวหา ร่วมสอบพยานตำรวจอีก 5 คน และสอบปากคำทั้ง 6 คน เพิ่มเติม โดยให้พยานให้ความเห็นต่อความหมายของข้อความที่เข้าข่ายเป็นความผิด ซึ่งความเห็นของพยานในบันทึกคำให้การทั้ง 6 ฉบับ เหมือนกันทุกถ้อยคำทุกตัวอักษร รวมทั้งมีคำผิดในตำแหน่งเดียวกัน เนื่องจากใช้ไฟล์เดียวกันเอามาวาง

    มี พ.ต.ท.อภิรักษ์ คนเดียวที่ให้ความเห็นต่อทั้ง 2 ข้อความตามฟ้องของจำเลยที่ 1 ที่เหลืออีก 5 คนให้ความเห็นเพียงข้อความแรกข้อความเดียว

    จำเลยที่ 2 ปราศรัยเป็นภาษาไทยและภาษาอีสาน มีการถอดเทป โดยพยานไม่ได้รับผิดชอบตรวจสอบว่า ถ้อยคำในบันทึกการถอดเทปตรงกับคำปราศรัยทั้งหมดหรือไม่ เป็นความรับผิดชอบของผู้ถอดเทป

    ในการสอบปากคำพยานที่มาให้ความเห็นเกี่ยวกับถ้อยคำปราศรัยของจำเลย พยานได้เอาบันทึกการถอดเทปให้ดู โดยไม่ได้เปิดวีดีโอประกอบ

    จำเลยที่ 2 ปราศรัยเกี่ยวกับการโอนย้ายทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ซึ่งพยานไม่ยืนยันว่า เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ และประกาศการเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นฯ รวมถึง พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ หรือไม่ แต่เป็นไปตามกฎหมาย

    คำปราศรัยของจำเลยที่ 2 ไม่ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือล้มล้างสถาบันกษัตริย์หรือไม่ พยานยืนยันตามคำปราศรัย

    (อ้างอิง: คำเบิกความพยานโจทก์ ศาลจังหวัดภูเขียว คดีหมายเลขดำที่ อ.224/2565 ลงวันที่ 25 เม.ย. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/69832)
  • ++พนักงานสอบสวนร่วมสอบปากคำอ้าง พยานให้การโดยสมัครใจ ไม่โต้แย้งบันทึกคำให้การ

    ยังมีพนักงานสอบสวนที่สอบปากคำพยานเข้าเบิกความอีก 3 ปาก ทั้งสามเบิกความในประเด็นเดียวกันว่า พยานให้การด้วยความสมัครใจ และไม่ได้โต้แย้งเนื้อหาในบันทึกคำให้การก่อนลงลายมือชื่อแต่อย่างใด และมี ร.ต.อ.รังสรรค์ เอี่ยมไธสง เบิกความในประเด็นวัตถุพยานว่า แฟลชไดรฟ์ในบัญชีของกลางเป็นข้อมูลชุดเดียวกันกับที่อยู่ในแผ่นซีดีและส่งไปตรวจกับกองพิสูจน์หลักฐานกลาง โดยได้ก๊อปจากแผ่นซีดีมาใส่แฟลชไดรฟ์ ก่อนตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในแฟลชไดรฟ์มีไฟล์อยู่ 2 ไฟล์ แต่พยานไม่ทราบว่า ในแผ่นซีดีมีกี่ไฟล์ ชื่อไฟล์ว่าอะไรบ้าง

    นอกจากนี้ยังมีพนักงานสอบที่สอบปากคำอรรถพลเบิกความว่า ชั้นสอบสวนอรรถพลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาโดยไม่ได้ให้การเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่แจ้งไป จากนั้นตอบอรรถพลถามค้านว่า ขณะแจ้งข้อกล่าวหาพยานไม่ได้ให้ผู้ต้องหาดูบันทึกการถอดเทปและคลิปเหตุการณ์ แจ้งเพียงข้อเท็จจริงตามบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาและบันทึกคำให้การ

    ++พนักงานสอบสวนผู้สอบปากคำพยานผู้เชี่ยวชาญยืนยัน พยานให้ความเห็นโดยอิสระ แต่รับไม่รู้ว่าพยานเชี่ยวชาญด้านใด – ไม่รู้ว่าข้อความในบันทึกถอดเทปไม่ตรงคำปราศรัย

    พ.ต.อ.บัณฑิต พุทธลา กลุ่มงานสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดชัยภูมิ และ ร.ต.อ.โกศล กล้าสู้ รองสารวัตร (สอบสวน) สภ.บ้านเดื่อ คณะพนักงานสอบสวนคดีนี้ตามคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดชัยภูมิ ทำหน้าที่สอบปากคำพยานผู้เชี่ยวชาญคือ ปุ่น ชมพูพระ และณัฐดนัย แก้วโพนงาม เบิกความสอดคล้องกันว่า

    คดีนี้ผู้บังคับบัญชาได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาคลิปเหตุการณ์ที่จำเลยปราศรัยหน้าโรงเรียนภูเขียว และ สภ.ภูเขียว และบันทึกถอดเทปคำปราศรัย เห็นว่า ข้อความที่จตุภัทร์, ภาณุพงศ์ และอรรถพล ปราศรัย หมิ่นเหม่เป็นความผิด ผู้บังคับบัญชาจึงได้ประสานไปที่มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ โดยมหาวิทยาลัยได้ให้พยานผู้เชี่ยวชาญ 2 คน มาให้ความเห็น

    พยานได้นำคลิปเหตุการณ์และบันทึกถอดเทปคำปราศรัยที่คณะกรรมการได้ทำไฮไลท์ข้อความไว้แล้ว ไปให้พยานผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นต่อข้อความที่ไฮไลท์ พยานผู้เชี่ยวชาญทั้งสองมีอิสระ ให้ความเห็นโดยสมัครใจ โดยพยานไม่ได้ชี้นำ และผู้เชี่ยวชาญทั้งสองไม่ได้โต้แย้งข้อความในบันทึกคำให้การก่อนลงชื่อ

    จากนั้น พ.ต.อ.บัณฑิต และ ร.ต.อ.โกศล ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน สรุปสาระสำคัญได้ว่า ในการสอบปากคำพยานผู้เชี่ยวชาญ พ.ต.อ.บัณฑิต เป็นคนถาม ส่วน ร.ต.อ.โกศล เป็นคนบันทึกปากคำ

    พยานไม่ทราบว่า พยานผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 ปาก มีความเชี่ยวชาญในด้านใดเป็นพิเศษ และไม่ทราบว่า ปุ่น ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยนั้น เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวรรณคดี กาพย์, กลอน, โคลง, ฉันท์ เท่านั้น

    การเลือกพยานผู้เชี่ยวชาญทั้งสองมาให้ความเห็น เนื่องจากมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิเป็นสถาบันการศึกษาในพื้นที่ สะดวกต่อการสอบปากคำ ตำรวจภูธรจังหวัดชัยภูมิจึงประสานกับอธิการบดี และอธิการบดีให้พยานทั้งสองมาให้ปากคำ

    คณะทำงานได้นำซีดีมาให้พยาน แต่พยานไม่ทราบที่มา ส่วนบันทึกการถอดเทปผู้บังคับบัญชานำมาให้ โดยพยานไม่ได้ตรวจสอบว่าถูกต้องหรือไม่

    พยานเปิดคลิปและนำข้อความให้พยานผู้เชี่ยวชาญดูทั้งหมด ใช้เวลาดูคลิปทั้งหมดนานเกินครึ่งชั่วโมง แต่ไม่ทราบว่า มีกี่ไฟล์ และแต่ละไฟล์ยาวกี่นาที พยานผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นต่อข้อความที่พยานถามเท่านั้น ไม่ได้ให้ความเห็นต่อความข้อความอื่น

    ข้อความที่มีการไฮไลท์ที่ให้พยานผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นมี 3 ข้อความ โดยเป็นข้อความของจำเลยทั้งสามคนละข้อความ

    ปุ่นให้ความเห็นต่อข้อความของจำเลยที่ 1 “ปัญหาของสังคมไทย…” ว่า ไม่ได้เจาะจงถึงกษัตริย์องค์ใด

    นอกจากผู้เชี่ยวชาญ 2 คนนี้ พยานไม่ได้ไปสอบถามผู้เชี่ยวชาญคนอื่นถึงความหมายของคำว่า สถาบันกษัตริย์, ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หรือขั้นตอนการออกกฎหมาย

    นอกจากนี้ พ.ต.อ.บัณฑิต ยังตอบอรรถพล จำเลยที่ 2 ที่ถามค้านเองว่า ผู้บังคับบัญชาเลือกพยานผู้เชี่ยวชาญ ด้วยเหตุผลด้านความสะดวก ไม่ได้มุ่งว่าจะต้องมีความเชี่ยวชาญในด้านใด

    พยานจำไม่ได้ว่า ได้เปิดคลิปช่วงที่จำเลยที่ 2 ปราศรัย ให้พยานผู้เชี่ยวชาญดูตั้งแต่ต้นจนจบหรือไม่ และจำเลยที่ 2 ปราศรัยใช้เวลาทั้งหมดกี่นาที แต่ถอดความมาแล้วที่พยานเห็นเป็นเอกสารแค่ 1 หน้ากว่า

    พยานดูคลิปหลายรอบก่อนนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญดู พยานไม่แน่ใจว่า ถ้อยคำในคลิปตรงกับบันทึกการถอดเทปของจำเลยที่ 2 หรือไม่ แต่ได้ดูเปรียบเทียบแล้วก็เห็นว่าไม่ได้ตกหล่น

    ขณะจำเลยที่ 2 ปราศรัยไม่มีคนอยู่ใกล้และอยู่ในที่โล่ง สิ่งที่ห้อยอยู่ที่คอของจำเลยที่ 2 จะเป็นหน้ากากอนามัยหรือไม่ พยานไม่ยืนยัน เนื่องจากตาไม่ดี

    บันทึกถอดเทปคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 ไม่มีหลายข้อความที่จำเลยที่ 2 ได้ปราศรัย เช่น “การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่การล้มล้าง” “คำว่า กษัตริย์เนี่ยบ่แม่นโตบุคคล…” แต่พยานเห็นว่า แม้จะมีถ้อยคำหายไปก็มีคลิปให้ดู

    พนักงานสอบสวนและพยานผู้เชี่ยวชาญรวม 4 คน นั่งดูคลิปอยู่พร้อมกัน ไม่มีใครทักว่า บันทึกถอดเทปมีข้อความหล่นหาย พยานยืนยันอีกว่า ดูคลิปพร้อมกับพยานผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่ต้นจนจบภายในเวลาครึ่งชั่วโมง แม้ว่าคลิปที่โจทก์ส่งเป็นหลักฐานต่อศาลมีความยาว 3 ชั่วโมง

    จำเลยที่ 2 ปราศรัยเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมที่รัฐบาลออกกฎหมายโอนย้ายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ โอนกำลังพลไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ ซึ่งพยานไม่ได้สอบถามในประเด็นนี้ไว้

    คำปราศรัยของจำเลยที่ 2 ไม่มีการใช้ถ้อยคำหยาบคาย ด่าทอสถาบันกษัตริย์หรือพระมหากษัตริย์ จำเลยที่ 2 ไม่ได้ปราศรัยว่าจะโค่นล้มหรือล้มล้างสถาบันกษัตริย์ แต่ยืนยันว่าต้องมีสถาบันกษัตริย์

    จำเลยที่ 2 ไม่ได้ปราศรัยเชิญชวนหรือสั่งการให้ผู้ฟังกระทำผิดกฎหมาย หรือใช้ความรุนแรง หรือใช้อาวุธ ไม่ได้ขู่ว่าจะใช้กำลังก่อเหตุร้ายเพื่อที่จะโค่นล้มรัฐบาลหรือราชบัลลังก์

    ต่อมา พ.ต.อ.บัณฑิต ตอบโจทก์ถามติงว่า ช่วงเวลา 30 นาที ที่ดูคลิป พยานได้ให้พยานผู้เชี่ยวชาญดูช่วงที่เป็นถ้อยคำที่มีการไฮไลท์ทุกถ้อยคำ ส่วนอื่นให้ดูผ่าน ๆ ซึ่งข้อความที่ไฮไลท์ตรงกับในคลิป

    การดูหมิ่น เหยียดหยาม ไม่จำเป็นต้องเป็นถ้อยคำหยาบคาย การกระแนะกระแหน กระทบกระเทียบ ถือเป็นการดูหมิ่นด้วย

    (อ้างอิง: คำเบิกความพยานโจทก์ ศาลจังหวัดภูเขียว คดีหมายเลขดำที่ อ.224/2565 ลงวันที่ 26 เม.ย. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/69832)
  • ด้านจำเลยนำพยานเข้าเบิกความรวม 4 ปาก คือ ไผ่, ครูใหญ่, ผอ.ไอลอว์ ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามการบังคับใช้มาตรา 112 และการออกกฎหมาย และ สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ

    โดยฝ่ายจำเลยมีข้อต่อสู้ว่า ผู้ชุมนุมและการชุมนุมมีการคัดกรอง สถานที่ชุมนุมโล่งกว้าง ไม่แออัด ไผ่และครูใหญ่ปราศรัยวิจารณ์รัฐบาลที่ออกกฎหมายส่งผลกระทบสถาบันกษัตริย์ เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง รวมถึงปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่ได้เรียกร้องให้ล้มล้างสถาบันกษัตริย์

    ++“ไผ่” ยืนยัน ชุมนุมเรียกร้อง ตร.ขอโทษ – ปราศรัยเรียกร้องรัฐบาลแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ รวมถึงปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

    จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานให้ตนเอง โดยก่อนเบิกความได้กล่าวคำปฎิญาณว่า พยานขอสาบานต่อคาร์ล มาร์กซ์ และผู้ถูกกดขี่ทั้งหลายว่าจะเบิกความด้วยความสัตย์จริง

    ไผ่เบิกความว่า พยานเรียนจบชั้นมัธยมที่โรงเรียนภูเขียว ศึกษาต่อจนจบปริญญาตรีที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

    ขณะศึกษาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นพยานได้เข้าร่วมกลุ่มดาวดินหรือกลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม ทำกิจกรรมลงพื้นที่ให้คำปรึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนให้กับชาวบ้าน เช่น พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบด้านที่ทำกิน, เขื่อน, การศึกษา, เหมืองแร่โปแตช รวมทั้งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำที่ อ.วังสะพุง จ.เลย โดยพยานลงไปให้ความรู้ชาวบ้านเรื่องสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 66 และ 67

    ต่อมาเมื่อปี 2557 มีการรัฐประหารโดย คสช. พยานก็ออกมาแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการรัฐประหารโดยการชู 3 นิ้ว ซึ่งหมายถึง สิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค

    ในปี 2559 คสช.ได้จัดให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พยานร่วมกับเพื่อนทำกิจกรรมรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเผด็จการ ในขณะนั้นรัฐบาลนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ ไม่อนุญาตให้มีการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว พยานจึงถูกคุกคามและดำเนินคดี แต่ต่อมาคดีดังกล่าวยกฟ้องแล้ว

    ปี 2563 เกิดคณะราษฎรเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เนื่องจากนักศึกษาและประชาชนเกิดความไม่พอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 3 ข้อ ได้แก่ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ พยานเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดังกล่าวเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องทั้งสาม

    กลุ่มราษฎรได้เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2564 ได้มีการทำแคมเปญราษฎรออนทัวร์ โดยการลงพื้นที่ศึกษาปัญหา และได้เลือกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำที่ อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพยากร นโยบายการพัฒนา และการบริหารจัดการของรัฐบาล

    กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกมีกลุ่มเป้าหมายคือ นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น มีผู้เข้าร่วมประมาณ 20 คน กิจกรรมดำเนินไปได้จนสำเร็จเรียบร้อย ครั้งที่ 2 มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนในอำเภอภูเขียว แต่เมื่อเปิดรับสมัครแล้วปรากฏว่า มีนักเรียนหลายคนถอนตัว โดยทราบเหตุผลมาว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบไปคุกคามที่บ้าน ทั้งถ่ายรูปผู้ปกครองและสอบถาม ทำให้ผู้ปกครองไม่ให้น้องไปค่าย ทำให้จากผู้สมัครประมาณ 20 คน ถอนตัวจนเหลือนักเรียนไปค่ายแค่ 3 คน

    ค่ายดังกล่าวเป็นเพียงค่ายศึกษาปัญหา ตำรวจวังสะพุงเองก็ไม่ได้มาติดตามดูขณะจัดกิจกรรม หลังกิจกรรมก็ไม่ได้ถูกดำเนินคดี พยานและเพื่อนจัดกิจกรรมลักษณะนี้ทุกปีก็ไม่เคยมีปัญหา

    ค่ายทั้งสองจัดในช่วงปลายเดือนมกราคม 2564 พยานทราบว่าขณะนั้นมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากการระบาดของโควิด ทั้งทีมจัดค่ายและผู้เข้าร่วมจึงมีการตรวจ ATK ก่อนเข้าพื้นที่ ผลการตรวจไม่มีใครเสี่ยงติดโควิด

    หลังจัดกิจกรรมค่ายที่มีผู้เข้าร่วมเพียง 3 คน ทีมงานที่จัดค่ายก็ปรึกษากันว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่นักเรียนถูกคุกคามนั้นจะทำอย่างไรดี เมื่อกลับมาที่ภูเขียวจึงตกลงกันว่าจะไปเรียกร้องกับ 2 ที่ คือ โรงเรียนภูเขียว เนื่องจากมีการกปิดกั้นและส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ รวมทั้ง สภ.ภูเขียว ที่ไปถึงบ้านนักเรียน

    วันเกิดเหตุโรงเรียนเปิดเรียน มีนักเรียนไปโรงเรียนและเข้าแถวเคารพธงชาติ พื้นที่ที่จัดกิจกรรมโล่งกว้าง ไม่แออัด กลุ่มของพยานและนักเรียนมีระยะห่างกัน โดยนักเรียนอยู่ในสนามในรั้ว ส่วนผู้ปราศรัยอยู่บนรถสามล้อบริเวณฟุตบาทด้านนอกรั้ว มีผู้ชุมนุมประมาณ 10 กว่าคน ใช้เวลาทำกิจกรรมประมาณ 2 ชั่วโมง ผู้ชุมนุมและนักเรียนมารวมกันเฉพาะตอนถ่ายรูปในช่วงท้าย โดยคนถ่ายรูปอยู่บนฟุตบาทนอกรั้ว ยกกล้องถ่ายรูปจากมุมสูงลงมาในลักษณะเซลฟี่กับนักเรียนที่อยู่ด้านในรั้ว

    ระหว่างเคลื่อนขบวนไป สภ.ภูเขียว ผู้ชุมนุมได้แวะถ่ายรูปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย เพื่อเป็นที่ระลึก โดยใช้เวลาถ่ายรูปเพียงแป๊บเดียว

    พื้นที่ สภ.ภูเขียว ที่ผู้ชุมนุมเข้าไปใช้คือบริเวณเสาธง ซึ่งเป็นที่โล่ง ประตูทางเข้า สภ.ภูเขียว ก็ไม่มีจุดคัดกรอง ประชาชนที่ไปตลาดจะเข้าไปจอดรถใน สภ.ภูเขียว ได้โดยที่ไม่ต้องผ่านจุดคัดกรองซึ่งตั้งอยู่บริเวณทางเข้าอาคาร

    พยานและกลุ่มของพยานซึ่งไปค่ายมาก่อนมีการตรวจคัดกรองโควิดแล้ว และเลือกพื้นที่จัดกิจกรรมในที่โล่ง นอกจากนี้ พยานใส่หน้ากากอนามัยตลอดกิจกรรมแม้ในเวลาเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยกเว้นตอนปราศรัยและถ่ายรูป เนื่องจากขณะปราศรัยหากใส่หน้ากากอนามัยจะหายใจไม่ออก อีกทั้งขณะปราศรัยพยานก็อยู่ห่างจากคนอื่น

    ในการเจรจากับตำรวจ รองผู้กำกับฯ รับว่ามีการไปถ่ายรูปที่บ้านนักเรียน แต่ไม่ใช่การคุกคาม เป็นเรื่องปกติ แต่กลุ่มของพยานยืนยันว่า ไม่ใช่เรื่องปกติและขอให้ขอโทษนักเรียน ไม่เช่นนั้นจะทำให้การจำกัดสิทธิการไปเข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้เป็นเรื่องที่เกิดได้เป็นปกติ ซึ่งปัญหาดังกล่าวที่เกิดจากตำรวจ

    เวลาประมาณ 15.00 น. สาธารณสุขอำเภอภูเขียวได้มาตั้งจุดคัดกรองบริเวณด้านซ้ายของทางเข้า ทีมของพยานทุกคนจึงไปคัดกรอง ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีคนเสี่ยงหรือติดโควิด ทั้งก่อนและหลังการชุมนุมด้วย

    พยานปราศรัยหลายรอบ ประเด็นหลัก ๆ คือเรียกร้องให้ตำรวจขอโทษ รวมทั้งวิจารณ์การบริหารราชการของรัฐบาล โดยให้เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

    บันทึกการถอดเทปคำปราศรัยของพยาน พยานอ่านแล้วเห็นว่าไม่ตรงกับที่พยานพูด มีประเด็นสาระสำคัญที่หายไป คำเชื่อมตกหล่น ทำให้ความหมายเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในส่วนของถ้อยคำตามฟ้องข้อความแรก ซึ่งจริง ๆ พยานพูดว่า “เพราะท้ายที่สุดแล้วปัญหาสังคมไทยที่มีอยู่ยาวนานก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์” แต่ข้อความที่โจทก์ฟ้องคือ “ปัญหาสังคมไทยที่ยาวนานก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์”

    ที่พยานปราศรัยดังกล่าวนั้น พยานจะสื่อความหมายถึงความเหลื่อมล้ำ ตั้งแต่พยานเข้าเรียนพยานได้ไปศึกษาเรียนรู้ และได้ข้อสรุปว่า ปัญหาที่มีมาอย่างยาวนานในสังคมไทยคือ ความเหลื่อมล้ำ พยานติดตามข่าวด้วยว่า มีการจัดอันดับความรวย โดยสถาบันกษัตริย์ไทยซึ่งได้รับงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้ในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก แต่นิตยสารฟอร์บส์รายงานว่า กษัตริย์ไทยร่ำรวยที่สุด ถือครองที่ดินเป็นจำนวนมาก

    สถาบันกษัตริย์ที่พยานพูดมีความหมายถึง กลุ่มเครือข่ายชนชั้นนำที่ได้ผลประโยชน์จากความเหลื่อมล้ำ ทั้งทหาร ข้าราชการ ซึ่งอยู่ในโครงสร้างการเมืองแบบอุปถัมภ์ ส่งผลให้คนกลุ่มนี้ได้รับผลประโยชน์มากกว่าประชาชน เกิดความเหลื่อมล้ำ รวยกระจุก จนกระจาย ซึ่งรัฐไทยไม่เคยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ รายงานของนิตยสารฟอร์บส์ที่มีการเผยแพร่ในปี 2551 ระบุว่า พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงอยู่ในลำดับสูงสุดของทำเนียบราชวงศ์ที่รวยที่สุดในโลก โดยมีพระราชทรัพย์กว่า 35 พันล้านเหรียญ

    รายงานของนิตยสารฟอร์บส์ในปี 2558 และปีอื่น ๆ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน ทั้งนี้ สิ่งที่นิตยสารฟอร์บส์รายงานหมายถึงทั้งหมดที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไม่ได้เจาะจงเฉพาะกษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง เพราะเป็นทรัพย์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

    รายงานของกองทุนเกียรตินาคินภัทรก็ระบุว่า ความเหลื่อมล้ำของไทยมีแนวโน้มปรับขึ้นสูงเรื่อย ๆ สะท้อนจากสัดส่วนสินทรัพย์ที่ถือครองโดยคน 1% ที่รวยที่สุด เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดระหว่างปี 2551-2561 และในมิติการเติบโตของรายได้ ข้อมูลสะท้อนชัดเจนว่ากลุ่มคนรายได้สูงมีรายได้ที่เติบโตสูงขึ้นเร็วกว่าคนรายได้น้อย

    จากความเหลื่อมล้ำดังกล่าวทำให้โอกาสในการเข้าถึงการศึกษา เศรษฐกิจ ต่างกันมาก ระหว่างกลุ่มคนชั้นนำและประชาชนที่อยู่ชั้นล่าง คนรวยที่สุด 1% มีทรัพย์ 37 ล้านบาทต่อคน ต่างจากคนจนที่สุด 20% ล่างถึง 2,500 เท่า ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของธนาคารโลกในปี 2558 และ 2564 แสดงให้เห็นว่าปัญหาดังกล่าวยังคงมีอยู่ ที่พยานพูดว่า “ปัญหาในสังคมไทยที่มีอยู่ยาวนาน…” ก็คือเรื่องนี้

    ข้อเสนอของธนาคารโลกในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำคือ ต้องมีการกระจายอำนาจทั้งทางการเงิน เศรษฐกิจ การคลัง มีกฎหมายควบคุมความมั่งคั่ง แต่ประเทศไทยไม่เคยทำ เศรษฐกิจจึงยังเป็นระบบอุปถัมภ์ เอื้อประโยชน์แก่ชนชั้นนำ พยานกล่าวเรื่องนี้เพื่อให้มีการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

    ข้อความที่พยานพูดถัดจากถ้อยคำตามฟ้องนั้นพูดถึงเรื่องงบประมาณ ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล โดยตั้งแต่ประยุทธ์เข้ามาบริหารประเทศได้จัดสรรงบประมาณไปให้กองทัพและสถาบันกษัตริย์เป็นจำนวนมาก แต่จัดสรรไปที่โครงสร้างพื้นฐานน้อยมาก

    พยานจำเรื่องที่ปราศรัยทั้งหมดไม่ได้ แต่ยืนยันเฉพาะถ้อยคำตามฟ้องข้อความแรกและคลิปในส่วนนั้นเท่านั้น ไม่ยืนยันถ้อยคำในส่วนอื่น ส่วนข้อความตามฟ้องข้อความที่ 2 “…ตั้งแต่รัชกาลที่ 10 ขึ้นบัลลังก์มา…” ไม่ปรากฏในคลิปที่โจทก์อ้างส่งว่าพยานได้ปราศรัยถ้อยคำนี้

    ที่พยานปราศรัยโดยรวมมีเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งหมายถึงพยานอยากเห็นสังคมไทยเจริญก้าวหน้า ปัญหาของสังคมไทยได้รับการแก้ไขในระดับโครงสร้าง มีการบังคับใช้กฎหมายโดยเท่าเทียม ซึ่งก็คือปฏิรูปให้พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหลักการของประชาธิปไตย สถาบันกษัตริย์จะดำรงอยู่อย่างสง่างาม มีศักดิ์ศรี ต้องควบคู่ไปกับประชาธิปไตยที่ทุกคนอยู่ใต้กฎหมายเดียวกัน แข่งขันกันโดยเสรี โดยรัฐบาลสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้โดยปกติสุข

    ซึ่งการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในความหมายของพยานก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกแบบรัฐธรรมนูญให้ทุกคนมีอำนาจเท่าเทียมกัน ไม่ใช่เอื้อประโยชน์ให้แก่เฉพาะโครงสร้างส่วนบนเท่านั้น

    จากนั้น ไผ่เบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า ในวันเกิดเหตุมีการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กโดยตลอด เนื่องจากในต่างจังหวัดไม่มีสื่อ การไลฟ์สดจึงเป็นเครื่องมือการสื่อสารที่เข้าถึงประชาชนได้มาก

    พยานกล่าวถึงกษัตริย์ไทยรวยที่สุด ขณะเกิดเหตุอยู่ในช่วงปี 2564 ซึ่งขณะนั้นพระมหากษัตริย์คือรัชกาลที่ 10

    คำว่า ในยามวิกฤติ พยานพูดถึง วิกฤตเรื่องความเหลื่อมล้ำ การจัดสรรงบประมาณ ซึ่งเป็นหน้าที่ในการบริหารราชการของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จัดสรรงบประมาณให้สถาบันกษัตริย์เพิ่มขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ทั้งนี้ ในแต่ละปีรัฐบาลสามารถออกแบบได้ว่า จะจัดสรรงบไปพัฒนาการศึกษา ให้กองทัพ หรือให้สถาบันกษัตริย์กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรัฐบาลต้องจัดสรรส่วนมากไปที่โครงสร้างพื้นฐานจึงจะแก้ปัญหาได้

    ทั้งนี้ ตามหลักการประชาธิปไตย กษัตริย์ไม่ได้กระทำการใด ๆ โดยพระองค์เอง ในทางการเมืองมีฝ่ายบริหารและในทางกฎหมายมีฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่ ข้อเสนอของเราจึงเป็น 3 ข้อ ต่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ฝ่ายบริหารคือให้ลาออก ต่อฝ่ายนิติบัญญัติคือให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เป็นการพูดถึงการแก้ไขปัญหาทั้งโครงสร้าง

    ข้อความว่า “ในยามวิกฤตกษัตริย์ไม่เคยมาเยียวยา ไม่เคยมาดูแลประชาชน” นั้น พยานวิจารณ์ด้วยเจตนาสุจริต ต้องการเห็นการแก้ไขปัญหา ส่วนคำว่า “ไม่เคยดูแลประชาชน” หมายความว่า รัฐบาลมีแต่เพิ่มงบสถาบันกษัตริย์และกองทัพ สนับสนุนกลุ่มทุนผูกขาด ทำให้ประชาชนยากจน มีความเหลื่อมล้ำในสังคม พยานต้องการสื่อถึงทั้งองคาพยพ ทั้งทหาร ทุนผูกขาด ข้าราชการ นักการเมือง ทั้งหมดเป็นเครือข่าย

    ถ้อยคำว่า “งบให้กษัตริย์มากกว่างบที่ช่วยเหลือประชาชน” ก็เช่นกัน พยานพูดถึงการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่จัดสรรให้สถาบันกษัตริย์เพิ่มขึ้นทุกปี นำไปสู่ข้อเรียกร้องให้ประยุทธ์ออกไป

    ไผ่ยังตอบทนายจำเลยถามติงในเวลาต่อมาว่า ในปี 2554-2564 งบประมาณสถาบันกษัตริย์เพิ่มขึ้นทุกปี ปรากฏตามรายงานของไอลอว์ โดยเฉพาะงบส่วนราชการในพระองค์ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นภายหลังการออกกฎหมายใหม่ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วง 10 ปี ดังกล่าว ครอบคลุมถึงกษัตริย์ทุกพระองค์ ไม่เจาะจงถึงกษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง

    เป้าหมายการปราศรัยในวันเกิดเหตุของพยานคือ ต้องการวิเคราะห์ถึงปัญหาและนำเสนอข้อเสนอในการแก้ปัญหาต่อสังคมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในการปราศรัยไม่มีผู้ชุมนุมคนใดที่ใช้ความรุนแรง พยานไม่ทราบว่า มีคนดูไลฟ์สดผ่านโซเชียลกี่คน แต่ไม่มีใครไปกระทำการที่ผิดต่อกฎหมายหรือแสดงความกระด้างกระเดื่องในสังคมภายหลังการดูไลฟ์สดดังกล่าว

    ++“ครูใหญ่” ชี้ ปราศรัยเน้นวิจารณ์รัฐบาลที่ออกกฎหมายส่งผลกระทบสถาบันกษัตริย์ ย้ำ ประเทศไทยต้องมีกษัตริย์ – ปฏิรูปไม่ใช่การล้มล้าง

    “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ จำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานให้ตนเอง ซึ่งเริ่มด้วยการสาบานตนว่า “พยานขอสาบานต่อคุณพระรัตนตรัย คุณบิดามารดา คุณครูบาอาจารย์ และคุณพระแม่ธรณี ว่าจะให้การโดยความสัตย์จริง”

    พยานจบการศึกษาด้านภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบอาชีพวิทยากรและค้าขาย วันเกิดเหตุพยานได้เห็นไลฟ์สดในช่วงพักเที่ยง รู้ว่ามีการจัดกิจกรรมที่อำเภอภูเขียว หลังติวที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่นเสร็จในเวลาประมาณ 16.00 น. พยานจึงเดินทางไปร่วม

    เวลาประมาณ 19.00 น. พยานเข้าไปหน้า สภ.ภูเขียว ผ่านจุดคัดกรอง คาดว่าสาธารณสุขหรือ อสม.มาตั้ง โดยตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และลงชื่อ ผลการตรวจคือ พยานไม่มีไข้ ในวันนั้นพยานใส่หน้ากากอนามัยหรือห้อยไว้ที่คอตอนปราศรัย ขณะปราศรัยพยานอยู่ห่างจากคนอื่นไม่น้อยกว่า 3 เมตร

    พยานไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมครั้งนี้ เพียงแต่มีผู้ชุมนุมมาชวนให้ขึ้นปราศรัย และเหตุที่พยานขึ้นปราศรัยเนื่องจากมีการคุกคามนักเรียนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พยานยังปราศรัยวิจารณ์การบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ลาออก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

    พยานปราศรัยเน้นไปที่การดำเนินนโยบายและออกกฎหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ซึ่งออกกฎหมายโอนย้ายทรัพย์สินและกำลังพล รวมถึงแก้รัฐธรรมนูญซึ่งส่งผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์ พยานยังยืนยันด้วยว่า การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่การล้มล้าง

    พยานได้อ่านบันทึกการถอดเทปคำปราศรัยของพยานแล้วพบว่า มีข้อความคล้ายกับที่พยานพูดเพียงบางส่วน แต่บางถ้อยคำที่พยานพูดไม่มี ขณะที่กลับปรากฏบางข้อความที่พยานไม่ได้พูด นอกจากนี้ พยานปราศรัยเป็นภาษาถิ่นอีสาน แต่ถอดเป็นภาษาไทยกลาง ทำให้พยานไม่สามารถรับรองบันทึกการถอดเทปคำปราศรัยดังกล่าวได้

    สาระของคำปราศรัยที่หายไป เช่น ที่พยานพูดถึงการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้ว ซึ่งเป็นการพูดถึงรัฐบาลที่ออกกฎหมายขยายอำนาจกษัตริย์, ที่พยานพยายามอธิบายคำว่า กษัตริย์ ให้ชัดเจนว่า หมายถึงตำแหน่ง ไม่ใช่ตัวบุคคล รวมทั้งที่พยานกล่าวยืนยันว่า การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่การล้มล้างสถาบันกษัตริย์ และยืนยันเจตนาที่ต้องการให้มีสถาบันกษัตริย์

    ตามบันทึกถอดเทปที่มีข้อความว่า “ถ้าบอกว่ากษัตริย์คือเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน…” เป็นเพียงข้อความบางส่วนเท่านั้น ก่อนหน้านั้นพยานพูดถึงกษัตริย์ในประวัติศาสตร์ก่อน 2475 ต่อมาก็พูดถึงระบบไพร่ทาสก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 และขมวดความเข้าใจว่า ประชาชนและกษัตริย์เป็นเจ้าของแผ่นดินไทยร่วมกัน เมื่อข้อความบางส่วนถูกตัดทอนไป ทำให้ไม่เข้าใจถึงสิ่งที่พยานพูดทั้งหมด

    ข้อความ “…ต้องจำกัดงบประมาณกษัตริย์” ถูกตัดตอนมาฟ้อง ข้อความนี้ต้องฟังบริบทตั้งแต่ต้นและภายหลัง พยานพยายามพูดถึงกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยตามหลักการ ไม่ใช่พูดถึงกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่ง ซึ่งปัจจุบันมีการออกกฎหมายให้มีการโอนย้ายตำรวจทหารไปเป็นกองกำลังส่วนพระองค์ ขัดกับหลักการประชาธิปไตย

    รวมถึงการที่ สนช. ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. ออกกฎหมายโอนย้ายทรัพย์ประจำตำแหน่งกษัตริย์ไปเป็นในพระปรมาภิไธย เช่น บริษัทปูนซีเมนต์ไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ สนามหลวง

    เรื่องที่พยานพูดปรากฏในข่าวและกฎหมาย ได้แก่ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560, พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ฯ, พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ พ.ศ 2562 รวมถึงประกาศสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โอนหุ้นปูนซิเมนต์ไทยและธนาคารไทยพาณิชย์

    การที่เจ้าหน้าที่ตัดข้อความบางส่วนมาฟ้อง จึงเป็นการตัดส่วนที่พยานพูดถึงหลักการว่าสถาบันกษัตริย์ควรเป็นอย่างไร ทำให้ผู้ฟังเข้าใจเจตนาของพยานคลาดเคลื่อน รวมถึงการถอดเทปที่มีคำเชื่อมบางคำหายไป เช่น ถ้าไม่ใช่กษัตริย์จะใช่ใคร ซึ่งพนักงานสอบสวนชี้ว่า หมายถึงองค์กษัตริย์ แต่พยานปราศรัยว่า ถ้าไม่ใช่กษัตริย์จะใช่ของใคร ซึ่งหมายถึงบริษัทปูนซิเมนต์ไทย พยานวิจารณ์บริษัทปูนซีเมนต์ไทยซึ่งเป็นนิติบุคคล ไม่ใช่องค์พระมหากษัตริย์

    โดยปกติในสังคมไทยซึ่งเป็นระบบอุปถัมภ์ ผู้ที่มีชื่อเสียง ตำแหน่ง มักได้รับสิทธิพิเศษบางอย่าง ดังนั้น การนำพระปรมาภิไธยไปถือหุ้น ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ บอร์ดบริหารสามารถใช้อำนาจในการก่อให้เกิดอภิสิทธิ์ต่าง ๆ ได้ แม้กษัตริย์ไม่ได้รับทราบ และหากบริษัทดังกล่าวทำผิด เช่น ทำลายสิ่งแวดล้อม ผู้ที่ได้รับคำวิจารณ์ก็คือองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งพยานห่วงใยในเรื่องนี้

    ก่อนจบการปราศรัย พยานย้ำว่าข้อเรียกร้องคือ แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ประเทศไทยต้องมีกษัตริย์ และการปฏิรูปไม่เท่ากับการลบล้าง

    พยานเคยถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 116 ที่ศาลจังหวัดอุดรธานี จากการปราศรัยที่คล้ายกันกับในคดีนี้ แต่เป็นเรื่อง พ.ร.บ.สงฆ์ฯ ซึ่งต่อมาศาลจังหวัดอุดรธานีมีคำพิพากษายกฟ้อง

    นอกจากนี้ มีคดีมาตรา 112 ที่ศาลจังหวัดนครพนมวินิจฉัยว่า คำว่า สถาบันกษัตริย์ ไม่ใช่กษัตริย์และไม่ได้อยู่ในความคุ้มครองของมาตรา 112

    วิธีการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเป็นไปโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ผ่านสภา และมีการทำประชามติ ในการปราศรัยพยานไม่ได้ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังหรืออาวุธ หรือวิธีอื่นที่ไม่ใช่วิถีทางตามรัฐสภา

    คำปราศรัยของพยานไม่มีถ้อยคำดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท กษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท พยานวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่ออกกฎหมายและดำเนินนโยบายกระทบต่อกษัตริย์

    คำว่า กษัตริย์ อาจหมายถึงสถาบันกษัตริย์หรือองค์พระมหากษัตริย์ก็ได้ ต้องดูบริบทแวดล้อม ส่วนสถาบันกษัตริย์ หมายถึง ข้าราชบริพาร องค์กร หน่วยงานที่ใกล้ชิด รวมถึงองคมนตรี ซึ่งไม่ใช่องค์พระมหากษัตริย์ ภาษาอังกฤษเรียกว่า network monarchy ส่วนภาษาชาวบ้านก็คือ สายวัง

    การปราศรัยของพยานในคดีนี้พยานได้พูดชัดเจนหลายครั้งว่า ประเทศไทยต้องมีกษัตริย์ และการปฏิรูปไม่ใช่การล้มล้าง พยานพูดถึงหลักการว่า กษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยควรเป็นอย่างไร แต่พยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนใช้มีการตัดต่อตัดแต่ง ตัดบริบท นำเฉพาะข้อความตามฟ้องมาให้ตำรวจและผู้เชี่ยวชาญดู การที่ดูเฉพาะคำบางคำทำให้เข้าใจความหมายผิดไป ประชาชนที่ฟังโดยตลอดโดยปราศจากอคติจะเข้าใจดี ไม่ว่าจะฟังการพูดที่หน้า สภ.ภูเขียว หรือผ่านการไลฟ์สดก็จะเข้าใจ จึงไม่มีประชาชนคนใดแจ้งความ นอกจากตำรวจที่ต้องเอาผิดให้ได้

    ในการตอบโจทก์ถามค้าน อรรถพลเบิกความว่า พยานมาที่ภูเขียวเพราะเห็นข่าวจากในโซเชียล และอยากมาให้กำลังใจผู้ชุมนุม

    ในการทำสัมปทานที่มีการระเบิดภูเขา รัฐเป็นผู้ให้สัมปทาน เป็นการกระทำที่ถูกกฎหมาย ไม่ว่าจะมีกษัตริย์เกี่ยวข้องหรือไม่เขาก็ระเบิดอยู่แล้ว เป็นกิจการของเขา บริษัทปูนซีเมนต์ไทย ไม่ว่ากษัตริย์จะเป็นเจ้าของหรือไม่ก็จะระเบิดภูเขาเป็นปกติ

    คำว่า จำกัดงบประมาณของกษัตริย์ พยานพูดถึงงบที่รัฐบาลจัดสรร ซึ่งการจำกัดงบประมาณเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและรัฐสภา

    เจตนาของพยานในการพูดถึงเรื่องการโอนทรัพย์สินคือ ถ้าทรัพย์สินถูกโอนเป็นของกษัตริย์ การวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนจะกระทบต่อกษัตริย์

    ถ้อยคำว่า กษัตริย์ พยานไม่ได้ระบุพระองค์ เป็นการบอกช่วงเวลา ซึ่งในขณะที่พูดเป็นสมัยของรัชกาลที่ 10 ปัจจุบันก็เป็นรัชกาลที่ 10

    ก่อนตอบทนายจำเลยถามติงว่า เรื่องที่พยานเป็นห่วงก็คือทรัพย์ส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งถูกโอนไปเป็นทรัพย์ส่วนพระองค์ ซึ่งคนที่จะได้รับตกทอดอาจจะไม่ใช่รัชกาลที่ 11 แต่พยานไม่ได้พูดถึงรัชกาลที่ 10 เป็นเพียงการยกตัวอย่างปัญหาที่จะเกิดในอนาคตหากมีการเปลี่ยนแปลงรัชกาล

    (อ้างอิง: คำเบิกความพยานจำเลย ศาลจังหวัดภูเขียว คดีหมายเลขดำที่ อ.224/2565 ลงวันที่ 30 เม.ย. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/69832)
  • ++ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายชี้ การแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่ไม่ได้เสนอให้ล้มล้าง – จำเลยทั้งสองเพียงวิพากษ์วิจารณ์

    สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เบิกความเป็นพยานจำเลยในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญว่า พยานสอนวิชานิติปรัชญา, รัฐธรรมนูญ, รัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ และการวิจัยกฎหมาย มีผลงานวิจัยและเขียนตำราหลายเล่ม เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญหรือมาตรา 112 มี 3 ชิ้น

    คดีนี้โจทก์ฟ้องโดยอ้างถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 2 ซึ่งเป็นเรื่องรูปแบบของรัฐ และมาตรา 6 ซึ่งบัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ นั้น ในการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 พระยามโนปกรณ์ฯ ได้อธิบายหลักการไว้ว่า เพื่อไม่ให้ประชาชนฟ้องร้องกษัตริย์ในทางอาญาและแพ่ง หลังจากนั้นบทบัญญัติดังกล่าวก็ได้ปรากฏมาอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีข้อถกเถียงอื่น

    ตำราของ ศจ.ดร.หยุด แสงอุทัย ปรมาจารย์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ก็ยืนยันคำว่า “ล่วงละเมิดมิได้” นั้น มีความหมายใน 3 ด้าน กล่าวคือ ในทางรัฐธรรมนูญ ผู้ใดจะกล่าวหากษัตริย์มิได้ เพราะกษัตริย์ไม่ได้กระทำการใด ๆ เอง สอดคล้องกับหลักการ the king can do no wrong, ในทางอาญา ประชาชนไม่สามารถฟ้องร้องเป็นคดีอาญาต่อศาลได้ และในทางแพ่ง ประชาชนก็ไม่สามารถฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลได้ มากที่สุดคือฟ้องสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หรือทำหนังสือขอพระราชทานอนุเคราะห์

    สำหรับหลักการ the king can do no wrong หมายถึง ในระบอบประชาธิปไตยที่มีสถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ การกระทำทางการเมืองต่าง ๆ จะไม่ถือว่าเป็นการกระทำโดยกษัตริย์ แต่เป็นการกระทำของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น รัฐมนตรี หรือสถาบันทางการเมืองที่รับผิดชอบ หากมีคนวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่ใช่การกระทำที่กษัตริย์ทำเอง เพราะมีคนลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เมื่อกษัตริย์ไม่สามารถทำเองได้ ประชาชนก็ฟ้องร้องไม่ได้

    นอกจากมาตรา 6 รัฐธรรมนูญยังรับรองเสรีภาพในการแสดงความเห็น ซึ่งในทางรัฐธรรมนูญสถาบันกษัตริย์และเสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นหลักคุณค่าที่เสมอกัน เมื่อเกิดข้อขัดแย้งทางรัฐธรรมนูญเราไม่อาจให้หลักคุณค่าใดทำลายอีกคุณค่าหนึ่งได้ การตีความต้องรองรับให้คุ้มครองคุณค่าทั้งสองควบคู่กัน การห้ามหรือจำกัดทำได้เมื่อการแสดงความเห็นมุ่งล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ตราบเท่าที่เป็นการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์เท่านั้นย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

    ส่วนเสรีภาพในการชุมนุมเมื่อปะทะกับสถานการณ์โควิด รัฐสามารถจำกัดเสรีภาพการชุมนุมได้เมื่อเห็นได้ชัดเจนว่าการชุมนุมจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ถ้าการชุมนุมในสถานการณ์โควิดมีมาตรการป้องกัน รัฐก็จะจำกัดสิทธิภาพในการชุมนุมไม่ได้ ในทางสากลคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็มีความเห็นออกมาว่า การจำกัดการชุมนุมจะต้องถูกพิจารณาในฐานะทางเลือกสุดท้ายเท่านั้น

    ส่วนมาตรา 112 นั้น ตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา ต้องชัดเจนว่า เป็นการกระทำที่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายต่อบุคคลใน 4 ตำแหน่ง คือ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น อีกทั้งต้องเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตร้ายที่ชัดเจน เนื่องจากเป็นบทบัญญัติทางกฎหมายอาญา การตีความจะต้องเป็นไปโดยเคร่งครัด แม้แต่การล้อเลียน เสียดสี ศจ.จิตติ ติงศภัทิย์ ก็เขียนไว้ว่า ยังไม่เข้าข่าย ดูหมิ่น หมิ่นประมาท

    การวิจารณ์หรือกล่าวถึงหรือดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 เพราะมาตรา 112 เป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ หมายถึง มุ่งคุ้มครองบุคคลไม่ใช่สถาบันกษัตริย์ ถ้าเป็นการพูดหรืออภิปรายถึงสถาบันกษัตริย์ในแง่องค์กร พยานเห็นว่า มาตรา 112 ไม่สามารถครอบคลุม

    มีบางคนเห็นว่า การกระทบกระเทียบกษัตริย์ในอดีต อาจมีผลกระทบต่อกษัตริย์ในปัจจุบัน พยานเห็นว่า ต้องดูว่ามุ่งถึงองค์กษัตริย์ปัจจุบันหรือไม่ ถ้าหากตีความว่าการพูดถึงกษัตริย์ในอดีตส่งผลกระทบถึงกษัตริย์ปัจจุบันทุกกรณี จะเกิดปัญหาทั้งในทางรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ เราจะไม่สามารถกล่าวถึงประวัติศาสตร์ในแง่การศึกษาวิเคราะห์ได้เลย

    ถ้าเป็นการพูดถึงกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ พ.ศ. 2560 ผู้รับผิดชอบคือผู้ที่ออกและผลักดันกฎหมาย กรณีนี้คือ พล.อ.ประยุทธ์ และ สนช. ต้องรับผิดชอบที่ออกกฎหมายที่เป็นที่สงสัยและถกเถียงเป็นอย่างมาก

    หลังการรัฐประหารปี 2557 และยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และมีการทำประชามติในวันที่ 7 ส.ค. 2559 ซึ่งผ่านความเห็นชอบ แต่ยังไม่ได้ประกาศใช้ ในเดือนมกราคม 2560 มีข้อสังเกตจากพระมหากษัตริย์ จากนั้น สนช.ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ให้สามารถแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้หากพระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกต ซึ่งในแวดวงกฎหมายค่อนข้างสับสน และมีการวิพากษ์วิจารณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวครั้งนี้ โดยคนที่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการคือ พล.อ.ประยุทธ์

    หลังจากนั้นมีการนำความเห็นพระราชทานมาปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ที่ผ่านการประชามติแล้วในประมาณ 5-6 ประเด็น ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติและฉบับที่ประกาศใช้ไม่เหมือนกัน เป็นปัญหาเชิงหลักการพอสมควร

    จำเลยที่ 1 ปราศรัยหน้าโรงเรียนภูเขียวในวันที่ 1 ก.พ. 2564 ข้อความปราศรัยตามฟ้องคือ “ปัญหาของสังคมไทยที่ยาวนาน…” พยานอ่านแล้วเห็นว่า ปัญหาที่ยกมาไม่ใช่ปัญหาเฉพาะในรัชกาลปัจจุบัน นิตยสารฟอร์บส์ก็รายงานว่า ทรัพย์สินของกษัตริย์ไทยมีมาก การรายงานข่าวมุ่งไปที่สถาบันกษัตริย์ว่ามีพระราชทรัพย์เป็นจำนวนมาก พยานเห็นว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาเชิงสถาบัน

    ส่วนข้อความ “ตั้งแต่รัชกาลที่ 10 ขึ้นบัลลังก์มา…” พยานเห็นว่า เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏเป็นทางการและรับทราบกันในทางสาธารณะว่า ร่างรัฐธรรมนูญมีการปรับแก้หลังมีความเห็นพระราชทานให้แก้ไข

    เมื่ออ่านโดยรวมแล้ว พยานเห็นว่า คำปราศรัยของจำเลยที่ 1 ตามฟ้อง เป็นการแสดงความเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ แต่ไม่พบการแสดงความเห็นที่มุ่งให้ยกเลิกหรือล้มล้างสถาบันกษัตริย์ เป็นการกระทำที่เป็นไปตามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตราบเท่าที่ไม่ได้เสนอให้ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ก็ยังสามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ ส่วนเหมาะสมหรือไม่เป็นเรื่องที่ถกเถียงได้

    นอกจากนี้ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์มีการออกกฎหมายที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องทรัพย์สินที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์หลายฉบับ ทำให้ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ที่เดิมแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ซึ่งสามารถใช้ได้ตามพระราชอัธยาศัย, ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ดูแล และทรัพย์ที่เป็นสาธารณสมบัติ กลายเป็น 2 กลุ่ม คือ ทรัพย์ส่วนพระองค์ และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่ทั้ง 2 ส่วน สามารถใช้ได้ตามพระราชอัธยาศัย

    สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็เปลี่ยนเป็นสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จากเดิมมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งเกี่ยวโยงกับประชาชนเป็นประธาน ก็เปลี่ยนเป็นบุคคลที่พระมหากษัตริย์แต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย มีการตั้งคำถามมากมายวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะบริหารจัดการอย่างไร พระมหากษัตริย์สามารถโอนทรัพย์สินให้บุคคลใดก็ได้หรือไม่ เท่าที่พยานติดตาม ก็ไม่มีการชี้แจงอย่างเป็นทางการจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

    ถ้าตีความตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 พระมหากษัตริย์จะสามารถยกทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้บุคคลใดก็ได้ ซึ่งสาธารณชนก็เป็นห่วงในเรื่องนี้และหวังว่ารัฐบาลจะชี้แจง แต่ก็ยังไม่ปรากฏการชี้แจงอย่างเป็นทางการ ทำให้ยังมีการตั้งคำถามว่า ในทางปฏิบัติจะเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายจริงหรือไม่

    หลังการออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ก็มีการโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาเป็นในพระปรมาภิไธย โดยเท่าที่ปรากฏข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์มีการเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นบริษัทปูนซิเมนต์ไทยและธนาคารไทยพาณิชย์เป็นชื่อรัชกาลที่ 10 จากเดิมที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นไปตามประกาศสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

    ข้อความตามฟ้องซึ่งถอดจากคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 พยานเห็นว่า ดูไม่เป็นรูปประโยค มีหลายเรื่องเรียงซ้อนกันไปมา ไม่น่าให้ความหมายชัดเจน แต่ละประโยคเป็นคนละเรื่องกัน แต่หากดูประโยคก่อนหน้าและภายหลังประกอบ พยานเห็นว่า เป็นการวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายโอนบางหน่วยงานเป็นของในหลวงหรือจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

    พยานเห็นว่า ถ้าจะเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ต้องเห็นได้ชัดเจน แต่กรณีนี้น่าจะเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ จะหนักบ้างเบาบ้าง แต่อยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ สถาบันกษัตริย์เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ประชาชนสามารถแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ได้ ตราบเท่าที่ไม่ได้เสนอให้ล้มล้างสถาบันกษัตริย์

    พนักงานสอบสวนคดีนี้กล่าวหาว่า คำปราศรัยของจำเลยที่ 2 เป็นการกล่าวหาสถาบันกษัตริย์ว่าเป็นผู้บงการรัฐบาล แต่พยานเห็นว่าถ้อยคำดังกล่าวยังไม่ได้ให้ความหมายในลักษณะนั้นอย่างชัดเจน

    (อ้างอิง: คำเบิกความพยานจำเลย ศาลจังหวัดภูเขียว คดีหมายเลขดำที่ อ.224/2565 ลงวันที่ 1 พ.ค. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/69832)
  • ++ผอ.ไอลอว์ ระบุ การวิพากษ์วิจารณ์การออกกฎหมายขยายพระราชอำนาจกษัตริย์ของรัฐบาลในยุครัฐประหารสามารถทำได้

    ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการไอลอว์ เบิกความเป็นพยานจำเลยในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญว่า ไอลอว์เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ทำงานติดตามการบังคับใช้ของกฎหมาย สื่อสาร และรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วม

    หลังการรัฐประหารปี 2557 คสช.ได้แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 250 คน มากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นทหารหรืออดีตทหาร ไอลอว์กังวลว่า ในการออกกฎหมายที่มีผลกระทบต่อประชาชน สนช.จะมีความเห็นไปในทางเดียวกันหมด ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล จึงมีกิจกรรมจับตา สนช. โดยเขียนบทความสรุปกฎหมายที่เข้าพิจารณาหรือผ่านการพิจารณาและเผยแพร่ลงบนเว็บไซต์

    คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มาจาก คสช. โดยตรง ประชาชนไม่มีส่วนร่วม จากนั้นมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค. 2559 ผลคือประชาชนเห็นชอบ แต่ปลายปี 2559 ก็ยังไม่มีการบังคับใช้ ทำให้เป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้าง กระทั่งมกราคม 2560 พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ได้อธิบายว่า สาเหตุที่ล่าช้าเพราะมีกระแสรับสั่งจากรัชกาลที่ 10 ให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้วบางส่วน จากนั้นมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ให้กษัตริย์มีช่องทางในการให้ข้อสังเกตต่อร่างรัฐธรรมนูญ สนช. ยกมือให้ผ่านอย่างรวดเร็ว ออกเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4

    หลังแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ได้มีการพระราชทานข้อสังเกตใน 7 ประเด็น เกี่ยวกับพระราชอำนาจของกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 เช่น มาตรา 5 กรณีเกิดปัญหาไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกล่าวไว้ จากเดิมฉบับผ่านประชามติบัญญัติให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญเรียกประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระ ประชุมเพื่อวินิจฉัย แก้เป็น ให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองไทยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 7 ซึ่งเคยมีกรณีเรียกร้องนายกพระราชทานตามมาตรานี้ และรัชกาลที่ 9 เคยบอกว่าไม่ถูกต้อง แต่กลับเอามาเป็นมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ 2560

    นอกจากนี้ มีการแก้มาตรา 15 ให้มีส่วนราชการในพระองค์ เป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญเขียนเรื่องนี้ อีกเรื่องที่สำคัญพยานจำไม่ได้ว่ามาตราใด เรื่องการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีการแก้ไขเป็น หากกษัตริย์ไม่อยู่ในประเทศจะมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่แต่งตั้งก็ได้

    การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวทำให้เกิดคำถามว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือมีความชอบธรรมหรือไม่ เพราะประชาชนไม่ได้เห็นชอบ และเป็นการเพิ่มพระราชอำนาจของกษัตริย์ ซึ่งตามหลักกฎหมาย รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้วไม่สามารถแก้ไขได้

    หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 สนช. ก็ได้ออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจของกษัตริย์หลายฉบับ โดยฉบับแรกออกในแทบจะทันทีหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ คือ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ปี 2560 จากนั้นไม่กี่วันต่อมามีการออกพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560

    ทั้ง 2 ฉบับ เป็นการจัดระบบข้าราชการในพระองค์ทั้งหมด จากเดิมที่มีสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง เปลี่ยนเป็นข้าราชการในพระองค์ซึ่งมาจากการแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย ไม่ได้มีฐานะเป็นข้าราชการ และไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ ไม่อยู่ภายใต้ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ทำให้ไม่อยู่ในระบบตรวจสอบทางการเงินของ สตง. หรือ ป.ป.ช. โดยไอลอว์ได้เขียนบทความสรุปเรื่องนี้ไว้ชื่อ “ส่วนราชการในพระองค์: คสช. สร้างหน่วยงานพิเศษที่ตรวจสอบไม่ได้ ทำลายระบอบประชาธิปไตยฯ”

    เกี่ยวกับการจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มีการออกกฎหมาย 2 ฉบับ จัดระบบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ใหม่ทั้งหมด จากเดิมที่มีสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ถูกยกเลิกไปเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งพยานก็ไม่ค่อยเข้าใจความหมาย แต่โดยชื่อคือเป็นทรัพย์สินของพระองค์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานก็เปลี่ยนเป็นสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ที่แต่งตั้งกรรมการตามพระราชอัธยาศัย

    ในปี 2562 มีการออก พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ โดย พล.อ.ประยุทธ์ และ ครม. ใช้อำนาจประกาศใช้โดยไม่ผ่านสภา ไอลอว์ได้เขียนบทความ สรุปเนื้อหาพระราชกำหนดฉบับนี้ และแสดงให้เห็นปัญหาของกระบวนการออกกฎหมายที่ส่งผลให้กษัตริย์มีสถานะพิเศษและอำนาจพิเศษ มีกองกำลังส่วนพระองค์ ซึ่งพยานไม่แน่ใจว่ามีสายงานการบังคับบัญชาและมีอำนาจหน้าที่อย่างไร

    ทั้งนี้ พระมหากษัตริย์เป็นจอมทัพไทยตามรัฐธรรมนูญ มีอำนาจบังคับบัญชาทหารตำรวจได้อยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องมีกองกำลังส่วนพระองค์หรือกองกำลังพิเศษ

    กฎหมายเหล่านี้ออกโดย สนช. ซึ่งมาจากการรัฐประหาร สมาชิก สนช. จึงยกมือให้ผ่านเหมือนกันหมด โดยประชาชนไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบได้ เป็นปรากฏการณ์ในยุครัฐประหารที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการออกกฎหมายขยายพระราชอำนาจโดยพยานไม่แน่ใจว่าเกินขอบเขตรัฐธรรมนูญหรือไม่

    ในปี 2563 มีการชุมนุมใหญ่ของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน หลายกลุ่ม โดยมีกลุ่มคณะราษฎรด้วย มีการประกาศ 3 ข้อเรียกร้อง คือ ประยุทธ์และองคาพยพออกไป, แก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รวมถึงปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ไอลอว์ได้ติดตามการชุมนุมซึ่งเกิดจากความไม่พอใจรัฐบาล ทั้งการออกกฎหมาย, ที่มาของรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม, การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชน ซึ่งข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายขยายพระราชอำนาจกษัตริย์ของรัฐบาล การชุมนุมวิพากษ์วิจารณ์การออกกฎหมายดังกล่าวสามารถทำได้

    ไอลอว์ยังได้ออกบทความเรื่อง “เปิดงบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ปี ย้อนหลัง (บางส่วน)” ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับจัดสรรงบประมาณ โดยพบว่าในช่วงรัฐประหารโดยเฉพาะในปี 2561 และ 2562 มีการจัดสรรงบประมาณให้สถาบันกษัตริย์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหลังการออกกฎหมายที่ขยายพระราชอำนาจในปี 2560 ก็มีการจัดสรรงบพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างมีนัยยะสำคัญ
    .
    หลังสืบพยานจำเลยเสร็จ ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 13 ก.ย. 2567 เวลา 09.00 น. โดยอนุญาตให้ยื่นคำแถลงปิดคดีภายใน 30 วัน

    (อ้างอิง: คำเบิกความพยานจำเลย ศาลจังหวัดภูเขียว คดีหมายเลขดำที่ อ.224/2565 ลงวันที่ 2 พ.ค. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/69832)
  • ทนายจำเลยได้ยื่นคำแถลงปิดคดีโดยย้ำในประเด็นที่ต่อสู้คดี รวมถึงพยานหลักฐานที่เป็นคลิปของโจทก์ตลอดจนบันทึกการถอดเทปคำปราศรัยนั้นไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อน

    (อ้างอิง: คำแถลงปิดคดี ศาลจังหวัดภูเขียว คดีหมายเลขดำที่ อ.224/2565 ลงวันที่ 31 พ.ค. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/69832)
  • เวลา 10.00 น. ไผ่, ครูใหญ่ ทนายจำเลย พร้อมทั้งเพื่อน ๆ และประชาชนที่มาให้กำลังใจ ทยอยเดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดีที่ 2 เพื่อฟังคำพิพากษา จนเต็มม้านั่งในห้องพิจารณาคดี

    ราว 11.00 น. ศาลออกนั่งอ่านคำพิพากษามีสาระสำคัญในส่วนที่เป็นคำวินิจฉัยใน 4 ประเด็น โดยสรุปดังนี้

    1. ความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

    เห็นว่า วันเกิดเหตุอยู่ในช่วงขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินคราวที่ 9 เหตุผลที่ขยายระยะประกาศดังกล่าวก็เพื่อการบริหารจัดการและเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการ์การระบาดระลอกใหม่ แสดงว่าในช่วงเกิดเหตุสถานการณ์การแพร่ระบาดทุเลาเบาบาง เห็นได้จากโรงเรียนเปิดทำการเรียนการสอน on site ตามที่ รอง ผอ.ร.ร.ภูเขียว เบิกความ

    เจือสมกับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วงนั้นลดจำนวนลง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิยังจัดกิจกรรมประกวดเยาวชนต้นแบบ มีเยาวชนเข้าร่วมจำนวนไม่น้อย

    สอดคล้องกับพยานโจทก์ปากสาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิเบิกความว่า การจัดกิจกรรมจะมีความเสี่ยงสูงเมื่อมีผู้เข้าร่วมเป็นไข้ ถ้าผู้เข้าร่วมไม่แสดงอาการ การชุมนุมก็มีความเสี่ยงต่ำ เมื่อผู้ชุมนุมในคดีนี้ผ่านการตรวจคัดกรองแล้ว ไม่พบคนที่ติดเชื้อ การชุมนุมย่อมมีความเสี่ยงต่ำ จำเลยทั้งสองกับพวกย่อมทำกิจกรรมได้เช่นเดียวกับการประกวดเยาวชนต้นแบบ

    ประกอบกับสถานที่จัดกิจกรรมล้วนโล่งแจ้ง อากาศถ่ายเท มีพื้นที่กว้าง ไม่แออัด ผู้ชุมนุมเดินไปมาได้ มีการรวมกลุ่มก็เพียงบางช่วง ไม่นาน แม้มีบางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย แต่ทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุไม่ปรากฏมีผู้ติดเชื้อ การเข้าร่วมชุมนุมของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

    2. ความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ

    เห็นว่า พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 บัญญัติไว้ว่า ผู้ที่จะทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง ต้องขอรับการอนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน ดังนั้น ผู้ที่มีหน้าที่ขออนุญาตคือผู้จัดให้มีกิจกรรม แต่ไม่มีพยานโจทก์ปากใดเบิกความว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการชุมนุม พยานหลักฐานของโจทก์ไม่พอยืนยันว่า จำเลยที่ทั้งสองเป็นผู้จัดกิจกรรม แม้จำเลยทั้งสองจะเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป แต่จะอาศัยเพียงข้อเท็จจริงดังกล่าวมาพิจารณาเป็นโทษต่อจำเลย ก็จะเป็นผลร้ายต่อจำเลยเกินไป จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ

    3. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

    เห็นว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ผู้กระทำต้องมีมูลเหตุจูงใจที่ชัดเจน แม้ได้ความจากพยานโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองปราศรัยโจมตีรัฐบาล แต่ไม่ปรากฏว่ามีการยุยงปลุกปั่นเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดจะก่อความไม่สงบหรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตรงกันข้ามพยานโจทก์ได้ตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ระหว่างการชุมนุมไม่มีบุคคลถูกทำร้าย ผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธหรือก่อเหตุรุนแรง

    ยิ่งเมื่อพิจารณาจากข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่ต้องการให้ตำรวจขอโทษนักเรียนที่ถูกคุกคามไม่ให้ไปร่วมกิจกรรมค่าย พยานหลักฐานโจทก์จึงยังไม่เพียงพอรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองมีมูลเหตุจูงใจที่จะทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดก่อให้เกิดความไม่สงบหรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (2) (3)

    4. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    พยานโจทก์ปาก พ.ต.ท.อภิรักษ์ เบิกความว่า ระหว่างจำเลยที่ 1 และพวกปราศรัย พยานรับฟังอยู่ตลอดและเมื่ออ่านบันทึกการถอดเทปคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 มีถ้อยคำบางส่วนของจำเลยที่ 1 กล่าวว่า “ปัญหาของสังคมไทยที่ยาวนานก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์…” พยานโจทก์อีกหลายปากก็เบิกความในทำนองเดียวกันว่า คำปราศรัยของจำเลยที่ 1 มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ทั้ง จ.ส.ต.อาทิตย์ ที่ถอดเทปคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 ก็เบิกความว่าจำเลยที่ 1 ปราศรัยโดยใช้ภาษาไทยและภาษาอีสาน พยานฟังเข้าใจทุกถ้อยคำและถอดเทปทุกถ้อยคำ โดยจำเลยที่ 1 พูดปราศรัยถ้อยคำดังกล่าวจริง

    เห็นว่า เหตุการณ์บางส่วนเกิดหน้า สภ.ภูเขียว พยานโจทก์ทั้งหมดเป็นเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุ ไม่ผิดวิสัยที่จะเบิกความสอดคล้องกัน ประกอบกับวัตถุพยานที่เป็นคลิปคำปราศรัยพบจำเลยที่ 1 ปราศรัยด้วยถ้อยคำดังกล่าว เห็นได้ว่า ภาพและเสียงล้วนมีเนื้อหาตรงตามบันทึกการถอดเทปของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เองก็เบิกความรับว่า ปราศรัยด้วยถ้อยคำดังกล่าว เชื่อว่า จำเลยที่ 1 ปราศรัยถ้อยคำดังกล่าวจริง

    ส่วนที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 ปราศรัยถ้อยคำว่า “..ตั้งแต่รัชกาลที่ 10 ขึ้นบัลลังค์มา… ปัญหารัฐธรรมนูญ 60 ที่ต้องฟังเสียงประชามติของประชาชนก็ไม่ได้เกิดขึ้น…” แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลภาพและเสียงในคลิป ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ปราศรัยถ้อยคำดังกล่าว

    ประกอบกับ พ.ต.ท.หญิง สมร ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า วัตถุพยานที่ตรวจเป็น DVD ไม่ใช่แฟลชไดรฟ์ ซึ่งเป็นวัตถุพยานที่โจทก์อ้างส่งต่อศาล วัตถุพยานที่พยานตรวจและที่โจทก์อ้างส่งอาจไม่ตรงกันทั้งหมด จ.ส.ต.อาทิตย์ ก็เบิกความว่า คลิปปราศรัยมาจากยูทูบ แต่พยานไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ดาวน์โหลดหรืออัพโหลด ทั้งจำเลยที่ 1 ก็มีการปราศรัยหลายที่ อาจเป็นไปได้ว่า ตำรวจนำคำปราศรัยที่อื่นมารวม หากเป็นเช่นนั้น ถ้อยคำปราศรัยดังกล่าวอาจไม่ใช่การกระทำของจำเลยที่ 1 ในวันเกิดเหตุโดยตรง ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 1

    แต่ที่จำเลยที่ 1 ปราศรัยถ้อยคำว่า “ปัญหาของสังคมไทยที่ยาวนานก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์…” ประชาชนที่ได้รับฟังย่อมเกิดความรู้สึกว่า พระมหากษัตริย์ไม่ดูแลประชาชน อันเป็นการกล่าวหาพระมหากษัตริย์ว่า ไม่อยู่ในทศพิธราชธรรม เป็นการด้อยค่าสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้

    ที่จำเลยอ้างว่า สถาบันกษัตริย์ที่พยานพูดมีความหมายถึง กลุ่มเครือข่ายชนชั้นนำที่ได้ผลประโยชน์จากความเหลื่อมล้ำ หากเป็นเช่นนั้นจริง จำเลยที่ 1 ก็ชอบที่จะใช้คำอื่นที่สื่อความหมายได้ตรงมากกว่า คำเบิกความของจำเลยที่ 1 ไม่สมเหตุสมผล ไม่น่าเชื่อถือ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์

    สำหรับคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 “ต้องไม่เอานโยบายรัฐบาลไปผูกขาดสัมปทาน…” เห็นได้ว่า เสียงปราศรัยของจำเลยที่ 2 ในคลิปตรงกับบันทึกการถอดเทป จำเลยที่ 2 ก็เบิกความรับว่า ปราศรัยข้อความดังกล่าว เชื่อว่า จำเลยที่ 2 ปราศรัยถ้อยคำดังกล่าวจริง

    การที่จำเลยที่ 2 พูดปราศรัยด้วยถ้อยคำดังกล่าว ประชาชนที่รับฟังอาจเข้าใจว่า พระมหากษัตริย์สั่งระเบิดภูเขา อันเป็นการใส่ความพระมหากษัตริย์ ทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ

    ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า การปราศรัยมีเจตนาแยกทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ให้ชัดระหว่างทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น เห็นว่า จากภาพและเสียงการปราศรัยของจำเลยที่ 2 บางส่วน จำเลยที่ 2 พูดถึงพระมหากษัตริย์ว่า “เศรษฐกิจพอเพียงไม่ศักดิ์สิทธิ์ ทําให้คนไทยทุกข์ ๆ พ่อจะไปแจกถุงยังชีพให้ เดี๋ยวพ่อจะเอาโครงการไปให้ โครงการที่ตรวจสอบไม่ได้ ดังนั้นใครละเซ็นต์รัฐประหาร…” คำพูดดังกล่าวล้วนใส่ความ ดูถูก เหยียดหยามพระมหากษัตริย์ ทำให้เห็นเจตนาร้ายของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน และได้กระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงซ้ำในอนุมาตราเดียวกันภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นโทษ เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง จำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 4 ปี 6 เดือน จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 2 ปี 12 เดือน จำเลยที่ 2 กำหนด 2 ปี

    ส่วนคำขอให้นับโทษจำคุกจำเลยทั้งสองในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่น ไม่ปรากฏว่าศาลมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวแล้วหรือไม่ และผลการพิพากษาเป็นอย่างไร จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

    องค์คณะผู้พิพากษา ได้แก่ สากล บุตรสำราญ และพิมลพรรณ ถิรางกูร
    .
    หลังศาลจบการอ่านคำพิพากษา ไผ่และครูใหญ่ได้พูดคุยกับเพื่อนและญาติซักพักก่อนถูกควบคุมตัวลงไปห้องขังด้านหลังศาลซึ่งเป็นช่วงใกล้เที่ยงแล้ว ทนายจึงยื่นประกันในช่วงบ่ายด้วยวงเงินประกันคนละ 300,000 บาท เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ศาลจะใช้เวลาในการพิจารณาสั่งนานหน่อย เนื่องจากต้องรอผลการประเมินความเสี่ยง

    อย่างไรก็ตาม หลังรออยู่จนกระทั่งราว 15.30 น. เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ศาลมีคำสั่งส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณา ยังไม่สามารถบอกได้ว่า คำสั่งศาลอุทธรณ์จะลงมาเมื่อไหร่

    ประมาณ 16.15 น. รถผู้ต้องขังของเรือนจำอำเภอภูเขียวควบคุมตัวผู้ต้องขังรวมทั้งไผ่และครูใหญ่ จากห้องขังศาลจังหวัดภูเขียวไปที่เรือนจำ ทั้งสองต้องถูกควบคุมตัวในเรือนจำระหว่างรอฟังคำสั่งคำร้องขอประกันชั้นอุทธรณ์

    วันต่อมา (14 ก.ย. 2567) เวลา 14.00 น. ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้ประกันไผ่และครูใหญ่ ระบุเหตุผลว่า "พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า จำเลยทั้งสองเคยได้รับอนุญาตให้การปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์หลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ตีราคาประกันเป็นเงินคนละ 300,000 บาท ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาหลักประกันแล้วดำเนินการต่อไป"

    หลังวางเงินประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยสำหรับไผ่วางเพิ่ม 100,000 บาท จากที่เคยวางไว้ในชั้น 200,000 บาท และครูใหญ่จำนวน 300,000 บาท เนื่องจากชั้นต้นใช้ตำแหน่ง สส. ทั้งสองได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำอำเภอภูเขียวในเวลาประมาณ 15.30 น. รวมเวลาถูกคุมขัง 2 วัน

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดภูเขียว คดีหมายเลขดำที่ อ.224/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1155/2567 ลงวันที่ 13 ก.ย. 2567, คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงวันที่ 14 ก.ย. 2467 และ https://tlhr2014.com/archives/69896)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อรรถพล บัวพัฒน์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
ผู้ถูกดำเนินคดี :
ภาณุพงศ์ จาดนอก

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
ผู้ถูกดำเนินคดี :
จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อรรถพล บัวพัฒน์

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. สากล บุตรสำราญ
  2. พิมลพรรณ ถิรางกูร

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 13-09-2024
ผู้ถูกดำเนินคดี :
ภาณุพงศ์ จาดนอก

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
ผู้ถูกดำเนินคดี :
จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. สากล บุตรสำราญ
  2. พิมลพรรณ ถิรางกูร

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 13-09-2024

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อรรถพล บัวพัฒน์

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
ผู้ถูกดำเนินคดี :
จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์