สรุปความสำคัญ

ปาฏิหาริย์ (สงวนนามสกุล) ชาวนนทบุรีวัย 25 ปี ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญาที่บ้านพักในจังหวัดนนทบุรี ก่อนถูกนำตัวไปดำเนินคดีที่ บก.ปอท. ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) โดยถูกกล่าวหาว่า โพสต์ภาพและข้อความแสดงความคิดเห็นบนโพสต์เฟซบุ๊ก “Somsak Jeamteerasakul” ซึ่งโพสต์เกี่ยวกับข่าวลือเรื่องการประชวรของรัชกาลที่ 10 เจ้าหน้าที่อ้างว่าเคยส่งหมายเรียกปาฏิหาริย์แล้ว 2 ครั้งจึงขอหมายจับที่ออกจากศาลอาญา ทั้งที่เขาไม่เคยได้รับหมายเรียกดังกล่าวมาก่อน อย่างไรก็ตาม ปาฏิหาริย์ได้รับการประกันตัวทั้งในชั้นฝากขังและชั้นพิจารณาของศาล โดยใช้เงินสด 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ วางเป็นหลักประกัน

กรณีนี้ชี้ให้เห็นปัญหาของมาตรา 112 ซึ่งถูกตีความอย่างกว้างขวาง และนำมาบังคับใช้ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ปาฏิหาริย์ (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

27 ธ.ค. 2564 ประมาณ 14.00 น. ปาฏิหาริย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี ประชาชนชาวจังหวัดนนทบุรีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมตามหมายจับศาลอาญา ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก่อนนำตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)

ปาฏิหาริย์เล่าเหตุการณ์ในวันที่ถูกจับกุมในภายหลังว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าเคยส่งหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ บก.ปอท. มาแล้ว 2 ครั้ง แต่เขาไม่ได้ตามนัดหมาย เจ้าหน้าที่จึงร้องขอศาลให้ออกหมายจับแทน แต่เขาไม่เคยได้รับหมายดังกล่าวเลย

ปาฏิหาริย์ยังเล่าอีกว่า ในระหว่างการจับกุม เจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง ไม่ได้ใส่กุญแจมือ แต่ใช้สายเคเบิ้ลมัดข้อมือไว้ ก่อนจะมีการยึดโทรศัพท์มือถือไปตรวจสอบ ภายหลังจากที่ปาฏิหาริย์ถูกพาตัวมา บก.ปอท. แล้ว เขาพยายามจะโทรศัพท์ติดต่อหาที่บ้าน แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต ก่อนถูกข่มขู่ให้ลงลายมือชื่อในเอกสารที่เข้าใจว่าเป็นการรับทราบหมายจับ และบันทึกตรวจยึด โดยไม่มีทนายความอยู่ด้วย

หลังทำบันทึกการจับกุมโดยไม่มีทนายความเข้าร่วม ปาฏิหาริย์ไม่ได้ลงลายมือชื่อ เมื่อทนายความเดินทางไปถึง บก.ปอท. พนักงานสอบสวนได้ทำการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำปาฎิหาริย์ โดยระบุพฤติการณ์คดีว่า ปาฏิหาริย์ได้ไปโพสต์ภาพพร้อมข้อความแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ในเฟซบุ๊กของ Somsak Jeamteerasakul ซึ่งโพสต์สอบถามถึงข่าวลือที่ว่า รัชกาลที่ 10 ประชวร

ปาฏิหาริย์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากนั้น พนักงานสอบสวนได้นำตัวปาฏิหาริย์ไปคุมขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง 1 คืน ก่อนยื่นขอฝากขังต่อศาลอาญาในวันรุ่งขึ้น โดยศาลอนุญาตให้ฝากขังและให้ประกันตัวโดยให้วางหลักประกันเป็นเงิน 100,000 บาท

(อ้างอิง: บันทึกจับกุม บก.ปอท. ลงวันที่ 27 ธ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/39493)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์