ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.428/2565
แดง อ.1335/2566

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ต.ประยุทธ สอนสวาท สว.กก.3 บก.ปอท. (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.428/2565
แดง อ.1335/2566
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ต.ประยุทธ สอนสวาท สว.กก.3 บก.ปอท.

ความสำคัญของคดี

ปาฏิหาริย์ (สงวนนามสกุล) ชาวนนทบุรีวัย 25 ปี ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญาที่บ้านพักในจังหวัดนนทบุรี ก่อนถูกนำตัวไปดำเนินคดีที่ บก.ปอท. ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) โดยถูกกล่าวหาว่า โพสต์ภาพและข้อความแสดงความคิดเห็นบนโพสต์เฟซบุ๊ก “Somsak Jeamteerasakul” ซึ่งโพสต์เกี่ยวกับข่าวลือเรื่องการประชวรของรัชกาลที่ 10 เจ้าหน้าที่อ้างว่าเคยส่งหมายเรียกปาฏิหาริย์แล้ว 2 ครั้งจึงขอหมายจับที่ออกจากศาลอาญา ทั้งที่เขาไม่เคยได้รับหมายเรียกดังกล่าวมาก่อน อย่างไรก็ตาม ปาฏิหาริย์ได้รับการประกันตัวทั้งในชั้นฝากขังและชั้นพิจารณาของศาล โดยใช้เงินสด 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ วางเป็นหลักประกัน

กรณีนี้ชี้ให้เห็นปัญหาของมาตรา 112 ซึ่งถูกตีความอย่างกว้างขวาง และนำมาบังคับใช้ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

อานนท์ ปราการรัตน์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 บรรยายคำฟ้องโดยสรุปว่า

ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6 พระมหากษัตริย์ดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้

เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 ผู้ใช้บัญชีเพจเฟซบุ๊กชื่อ “Somsak Jeamteerasakul” ได้โพสต์ข้อความว่า “มีข่าวลือว่า วชิราลงกรณ์ป่วยอยู่ศิริราช มีใครยืนยันข่าวนี้ได้บ้าง?” โดยมีการตั้งค่าข้อความเป็นสาธารณะ

ต่อมา จำเลยได้ไปแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ดังกล่าว โดยโพสต์รูปภาพของรัชกาลที่ 10 พร้อมข้อความประกอบ และมีการตั้งค่าข้อความแสดงความคิดเห็นเป็นสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปพบเห็นข้อความและรูปภาพดังกล่าวได้

ข้อความดังกล่าวเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ทําให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปที่ได้พบเห็นเข้าใจได้ว่าเป็นการสาปแช่ง และรัชกาลที่ 10 ทรงเป็นบุคคลไม่ดี หากสวรรคตคนในประเทศไทยจะอยู่รอดกันหมด อันเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยาม แสดงความอามาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นประมุข โดยประการที่น่าจะทําให้พระมหากษัตริย์ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง รวมถึงเป็นการปลุกปั่นให้ประชาชนเข้าใจผิดและจูงใจให้ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ จนอาจนํามาซึ่งความเกลียดชัง ก่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดออกมาละเมิดกฎหมาย

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.428/2565 ลงวันที่ 24 ก.พ. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • ประมาณ 14.00 น. ปาฏิหาริย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี ประชาชนชาวจังหวัดนนทบุรีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมตามหมายจับศาลอาญา ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก่อนนำตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และทำบันทึกการจับกุม

    บันทึกจับกุมระบุว่า ในคดีนี้อยู่ภายใต้การสั่งการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง, พล.ต.ต.อํานาจ ไตรพจน์ ผู้บังคับการตำรวจรถไฟ และ พล.ต.ต.ศารุติ แขวงโสภา ผู้บังคับการ บก.ปอท. ได้สั่งการให้เจ้าพนักงานตำรวจประจำจาก กองบังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 1, กองบังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธร จังหวัดสมุทรปราการ, สน.รถไฟสุวรรณภูมิ และ บก.ปอท. ทั้งหมด 18 นาย ได้เข้าจับกุมปาฏิหาริย์

    ตำรวจระบุว่าเป็นการจับกุมตามหมายจับคดีเก่าค้าง คือหมายจับออกโดยศาลอาญาที่ 1929/2564 ลงวันที่ 15 พ.ย. 2564 ซึ่งต้องหาฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งต้องความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา”

    เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมอ้างว่า ได้พบปาฏิหาริย์กําลังตากผ้าอยู่ภายในบ้านดังกล่าว จึงได้เรียกให้ออกมาที่บริเวณหน้าบ้าน หลังปาฏิหาริย์เดินออกมาจากบ้านแล้ว เจ้าหน้าที่แสดงตัวว่าเป็นตํารวจ และแสดงหมายจับให้ผู้ต้องหาดู

    ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบถามว่าบัญชีเฟซบุ๊กตามข้อกล่าวหาว่าเป็นของผู้ต้องหาหรือไม่ และได้ทำการขอตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาไว้เป็นของกลาง พร้อมกับให้ผู้ต้องหาปลดล็อกโทรศัพท์มือถือ ก่อนจะนำตัวไป บก.ปอท. เพื่อดำเนินคดีต่อไป

    หลังทำบันทึกการจับกุมโดยไม่มีทนายความเข้าร่วม ปาฏิหาริย์ไม่ได้ลงลายมือชื่อ เมื่อทนายความเดินทางไปถึง บก.ปอท. พนักงานสอบสวนได้ทำการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำปาฎิหาริย์ โดยระบุพฤติการณ์คดีว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 ปาฏิหาริย์ได้ไปโพสต์ภาพพร้อมข้อความแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ในเฟซบุ๊กของ Somsak Jeamteerasakul ซึ่งโพสต์สอบถามถึงข่าวลือที่ว่า รัชกาลที่ 10 ประชวร จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    ด้านปาฏิหาริย์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และให้การเพิ่มเติมด้วยว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าว ผู้กล่าวหาจินตนาการยกขึ้นมาอ้างไปเอง ไม่มีมูลตวามจริงแต่อย่างใด ภายหลังสอบปากคำ พนักงานสอบสวนได้นำตัวปาฏิหาริย์ไปคุมขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง 1 คืน เพื่อยื่นขอฝากขังต่อศาลอาญาในวันรุ่งขึ้น

    ปาฏิหาริย์เล่าเหตุการณ์ในวันที่ถูกจับกุมในภายหลังว่า “ตอนนั้นเวลาประมาณบ่ายสอง ผมกำลังตากผ้าให้ลูกอยู่ และก็เห็นมีรถยนต์มาจอดหน้าบ้านคันหนึ่ง มีผู้ชายมาด้อมๆ มองๆ และก็ถามว่า ‘ใช่คุณปาฏิหาริย์ไหม? มีพัสดุมาส่ง’ เขาใส่ชุดคลุมไปรษณีย์มา แต่ผมดูก็รู้ว่าไม่ใช่ไปรษณีย์”

    หลังเขาเดินออกไปดูหน้าบ้านแล้วพบว่า มีรถยนต์จอดอยู่อีก 2-3 คัน พร้อมกับเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสวมชุดนอกเครื่องแบบไม่ต่ำกว่า 10 นาย ยืนรออยู่

    “พอผมปิดประตูรั้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เข้ามาจับตัวเลย เขาแสดงบัตรเจ้าพนักงาน แนะนำตัว และก็ถามว่า ‘นี่ใช่เราไหม?’ เราก็ตอบว่าใช่ แต่ตอนจับกุม เจ้าหน้าที่ไม่ได้บอกว่าผมโดนข้อหาอะไร โดนเรื่องอะไร จากเหตุไหน เขาไม่ได้บอก”

    นอกจากนี้ ปาฏิหาริย์เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าเคยส่งหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ บก.ปอท. มาแล้ว 2 ครั้ง แต่เขาไม่ได้ตามนัดหมาย เจ้าหน้าที่จึงร้องขอศาลให้ออกหมายจับแทน

    “ผมงง ตอนที่เขาบอกว่ามีหมายเรียก เจ้าหน้าที่บอกว่าเคยเอาหมายเรียกมาแปะที่บ้าน 2 ครั้งแล้ว ผมก็เลยไปย้อนดูกล้องวงจรปิดที่หน้าบ้าน แต่ไม่เคยมีหมายมาแปะตามที่เขาบอก ถ้ามันมี ผมก็ไปตามที่เรียกอยู่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งอะไรเลย ญาติผมก็อยู่บ้านกัน ถ้ามันมีหมายมาส่ง เขาก็ต้องเห็น แต่นี่ไม่เห็นเลย”

    ปาฏิหาริย์ยังเล่าอีกว่า ในระหว่างการจับกุม เจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง ไม่ได้ใส่กุญแจมือ แต่ใช้สายเคเบิ้ลมัดข้อมือไว้ ก่อนจะมีการยึดโทรศัพท์มือถือไปตรวจสอบ

    “เจ้าหน้าที่พยายามกดดันจะตรวจมือถือ แต่ผมบอกว่า ‘ไม่ได้ เป็นของส่วนตัว มีรูปถ่าย รหัสผ่าน ข้อมูลส่วนตัว ให้พี่ดูไม่ได้หรอก’ ทีนี้เจ้าหน้าที่ก็เข้ามากดดัน ให้หลายๆ คนมาพูดว่า ‘ต้องให้นะ’ และก็เอากระดาษ (บันทึกตรวจค้น) มาบังคับให้ผมเซ็นชื่อ”

    ภายหลังจากที่ปาฏิหาริย์ถูกพาตัวมา บก.ปอท. แล้ว เขาพยายามจะโทรศัพท์ติดต่อหาที่บ้าน แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต ก่อนถูกข่มขู่ให้ลงลายมือชื่อในเอกสารที่เข้าใจว่าเป็นการรับทราบหมายจับ และบันทึกตรวจยึด โดยไม่มีทนายความอยู่ด้วย

    “ตอนอยู่ ปอท. ผมอยู่คนเดียว ไม่มีใครอยู่ด้วย เจ้าหน้าที่ก็ไม่ให้ผมคุยโทรศัพท์กับทางครอบครัว แต่อนุญาตให้คุยกับทนายได้ ตอนนั้น ทนายบอกว่า อย่าเพิ่งเซ็นเอกสารอะไรนะ รอให้ทนายไปถึงก่อน แต่เจ้าหน้าที่ ปอท. ก็บอกว่า ‘ยังไงก็ต้องเซ็น มันไม่เกี่ยวกัน อันนั้นมันตอนที่ทนายมา แต่ถ้ายังไม่มีใครมา ก็ต้องทำตามที่เขาสั่ง’ แต่ผมก็ยืนยันไปว่า ยังไงก็ต้องรอทนายมาก่อน”

    (อ้างอิง: บันทึกจับกุม บก.ปอท. ลงวันที่ 27 ธ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/39493)
  • พนักงานสอบสวนนำตัวปาฎิหาริย์มาที่ บก.ปอท. และได้ยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลอาญาผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ หลังศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยขอวางเงินสดจำนวน 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เป็นหลักประกัน ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวโดยไม่มีเงื่อนไข นัดรายงานตัววันที่ 14 ก.พ. 2565 เวลา 08.30 น.

    จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นอกจากคดีของปาฏิหาริย์ ยังมีคดีมาตรา 112 อย่างน้อยอีก 3 คดี ที่พบว่าเหตุแห่งการกล่าวหาเกิดจากการเข้าไปแสดงความคิดเห็นในโพสต์เฟซบุ๊กลักษณะดังกล่าวของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้แก่ คดีของ “นันท์” (นามสมมติ), คดีของ “ภู” (นามสมมติ) และคดีของลักขณา (นามสมมติ) ทั้งหมดถูกดำเนินคดีที่ บก.ปอท. เช่นเดียวกัน

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/39493)
  • ปาฏิหาริย์เดินทางมาศาลตามนัด เจ้าหน้าที่รัดรายงานตัวครั้งต่อไปวันที่ 28 ก.พ. 2565
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ยื่นฟ้องปาฏิหาริย์ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 กล่าวหาว่าโพสต์ภาพและข้อความแสดงความคิดเห็นบนโพสต์เฟซบุ๊กของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งโพสต์เกี่ยวกับข่าวลือเรื่องการประชวรของรัชกาลที่ 10

    ทั้งนี้ อัยการได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีมาในท้ายคำฟ้อง อ้างเหตุว่า เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงและเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งริบโทรศัพท์มือถือของจำเลยซึ่งถูกตำรวจยึดเป็นของกลางในระหว่างการถูกจับกุมด้วย 

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.428/2565 ลงวันที่ 24 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40902)
  • ปาฏิหาริย์เดินทางไปรายงานตัวต่อศาลตามสัญญาประกันในชั้นฝากขัง ก่อนทราบว่า พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีแล้ว จากนั้นทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวปาฏิหาริย์ระหว่างพิจารณาคดี ศาลมีคำสั่งอนุญาต โดยให้ใช้หลักทรัพย์ประกันเดิมชั้นสอบสวน เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท พร้อมทั้งกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 11 เม.ย. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/40902)
  • นัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยในวันที่ 11, 12 เม.ย. 2566
  • ปาฏิหาริย์ได้แถลงขอกลับคำให้การเดิมจากปฏิเสธ เป็นรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ศาลจึงให้งดการสืบพยาน และมีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจพฤติการณ์ของจำเลย ก่อนมีคำพิพากษา

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/56280)
  • ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 708 ปาฏิหาริย์เดินทางมาศาลพร้อมมารดา ภรรยา และลูกสาววัย 1 ขวบเศษ ก่อนเจ้าหน้าที่ศาลจะนำรายงานการสืบเสาะของเจ้าพนักงานคุมประพฤติมาให้อ่านเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง

    ในรายงานการสืบเสาะระบุถึงประวัติทั่วไปของจำเลย ประวัติการกระทำความผิด และความเห็นของเจ้าพนักงานคุมประพฤติ ซึ่งกรณีนี้ เจ้าพนักงานคุมประพฤติเห็นควรคุมประพฤติจำเลยและระบุมาตรการคุมประพฤติที่เห็นว่าเหมาะสมมาในช่วงท้ายของรายงาน

    ปาฏิหาริย์เล่าว่า วันนี้เขาขับรถจักรยานยนต์มาจากนนทบุรีเพื่อมาฟังคำพิพากษา ก่อนหน้านี้เขาทำงานเป็นไรเดอร์ของแพลตฟอร์มส่งพัสดุแห่งหนึ่ง แต่ปัจจุบันเขาทำงานส่งของให้กับลูกค้าเก่าและคนรู้จัก

    ปาฏิหาริย์เปิดเผยว่า หากต้องเข้าเรือนจำ เขาเป็นกังวลเรื่องลูกสาวมากที่สุด เนื่องจากเขาเป็นเสาหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว และปัจจุบันลูกสาวของเขาอยู่ในวัยเพิ่งหัดพูดเท่านั้น

    เวลา 09.35 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี อ่านรายงานสืบเสาะให้จำเลยฟังอีกครั้ง ก่อนอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ มีรายละเอียดดังนี้

    เห็นว่า สภาพพฤติการณ์ความผิดและคำให้การของจำเลย ปรากฏว่า จำเลยใช้เพจเฟซบุ๊กของตัวเอง ในวันเกิดเหตุขณะกำลังดูเฟซบุ๊ก มีฟีดข่าวของ Somsak Jeamteerasakul ซึ่งเป็นบุคคลที่จำเลยไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นมาก่อน โพสต์ข่าวลือเรื่องการประชวรของรัชกาลที่ 10 จำเลยรู้สึกสนใจเนื่องจากเห็นข้อความผ่านหน้าฟีดข่าว 2-3 ครั้ง เป็นข่าวที่โด่งดัง มีผู้กดไลค์และคอมเมนต์จำนวนมาก จำเลยจึงเข้าไปดูและคอมเมนต์อย่างคนอื่นบ้าง

    หลังจากผ่านไป 5 วัน มารดาเห็นคอมเมนต์ของจำเลย จึงต่อว่าและร้องไห้ จำเลยรู้สึกผิดจะเข้าไปลบคอมเมนต์ดังกล่าว แต่จำเลยหาไม่เจอ จึงโกหกมารดาว่าลบคอมเมนต์ไปแล้ว

    พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักที่สุด คือ มาตรา 112 จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน เห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยมีความร้ายแรง กระทบต่อประมุขของประเทศ แม้จำเลยประกอบอาชีพสุจริตเลี้ยงดูครอบครัว ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และความประพฤติทั่วไปไม่ปรากฏข้อเสียหายร้ายแรงก็ตาม ก็ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกจำเลย

    ต่อมาหลังยื่นขอประกันตัวจำเลยระหว่างอุทธรณ์ ในเวลา 15.20 น. ทนายความแจ้งว่า ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางเงินหลักประกันจำนวน 100,000 บาท เท่ากับที่เคยวางประกันในระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.428/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1335/2566 ลงวันที่ 23 พ.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/56280
  • ทนายจำเลยมาศาล ส่วนจำเลยไม่ได้มาศาล ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีเนื่องจากจำเลยติดโควิด-19 อยู่ในระหว่างการพักรักษาตัว ศาลอนุญาตให้เลื่อนไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 14 ส.ค. 2567 เวลา 09.00 น.
  • ทนายจำเลย และปาฏิหาริย์พร้อมครอบครัวเดินทางมาศาล โดยมีผู้สังเกตการณ์คดีจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเดินทางมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย

    อย่างไรก็ตาม ก่อนศาลออกอ่านคำพิพากษา ปาฏิหาริย์ได้เดินออกจากห้องพิจารณาคดี จากนั้นก็ไม่ได้กลับเข้ามาอีก ทนายจำเลยพยายามติดต่อ แต่ติดต่อไม่ได้ ศาลเห็นว่า จำเลยมีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ออกหมายจับจำเลยมาฟังคำพิพากษา โดยเลื่อนไปอ่านคำพิพากษาในวันที่ 19 ก.ย. 2567
  • ที่ห้องพิจารณา 609 เวลา 09.00 น. โจทก์และจำเลยไม่ได้เดินทางมาศาล มีเพียงทนายจำเลย และผู้สังเกตการณ์คดีจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมสังเกตการณ์

    เวลา 09.15 น. ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี ทนายจำเลยแถลงว่า ไม่สามารถติดต่อจำเลยได้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลส่งหมายนัดให้แก่จำเลย จำเลยทราบนัดโดยชอบแล้ว การที่จำเลยไม่มาศาลถือว่ามีพฤติการณ์หลบหนี เมื่อศาลออกหมายจับเกิน 1 เดือนแล้ว ยังไม่สามารถจับตัวได้ เห็นสมควรให้อ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย และถือว่าจำเลยรับทราบคำพิพากษาแล้ว

    ผู้พิพากษาได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มีใจความโดยสรุปว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์แสดงข้อความอาฆาตมาดร้ายซึ่งข้อความมีความรุนแรง บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อความดังกล่าวได้ สร้างความเสื่อมเสียแก่พระมหากษัตริย์และสร้างความไม่สบายใจแก่ประชาชนที่พบเห็น เห็นสมควรว่าต้องกำราบจำเลยให้หลาบจำ

    ขณะเกิดเหตุจำเลยอายุ 25 ปี มีความนึกคิดรู้ผิดชอบชั่วดี ไม่สามารถอ้างว่ากระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือทำไปโดยพลาดได้ แม้จำเลยประกอบอาชีพสุจริตเป็นเสาหลักของครอบครัว มีลูกวัย 2 ปีเศษ และจำเลยได้กระทำความผิดเป็นครั้งแรกไม่ใช่เหตุเพียงพอให้รอการลงโทษได้

    ในส่วนที่จำเลยได้มีการขอพระราชทานอภัยโทษนั้นเป็นเพียงความสำนึกผิดส่วนหนึ่งของจำเลย ศาลเห็นว่าไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

    พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักที่สุด คือ มาตรา 112 จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ไม่รอการลงโทษ และศาลได้ออกหมายจับเพื่อนำตัวจำเลยมารับโทษ

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/70067)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ปาฏิหาริย์ (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ปาฏิหาริย์ (สงวนนามสกุล)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. ชัชวาลย์ กันฉาย
  2. ปิยะวัฒน์ วัฒนแสงประเสริฐ

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 23-05-2023

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ปาฏิหาริย์ (สงวนนามสกุล)

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 19-09-2024

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์