ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1075/2566
แดง อ.749/2567

ผู้กล่าวหา
  • สุรวัช สังขฤกษ์ (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1075/2566
แดง อ.749/2567
ผู้กล่าวหา
  • สุรวัช สังขฤกษ์

ความสำคัญของคดี

"วุฒิ" (นามสมมติ) ช่างเชื่อม วัย 49 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) หลัง สุรวัช สังขฤกษ์ ประชาชนทั่วไป เข้าแจ้งความที่ สน.นิมิตรใหม่ กล่าวหาว่า วุฒิโพสต์ข้อความและภาพในเฟซบุ๊กส่วนตัวใส่ความรัชกาลที่ 10, พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ รวม 12 ข้อความ ช่วงมีนาคม-พฤศจิกายน 2564 ชั้นสอบสวนวุฒิไม่ได้ถูกควบคุมตัว แต่หลังจากอัยการฟ้องคดี ศาลกลับไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว ทำให้วุฒิถูกขังระหว่างการพิจารณาคดีอยู่มากกว่า 1 เดือน

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุก 3-15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น ซึ่งกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบของประชาชนอย่างกว้างขวาง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

รุ่งโรจน์ แดงสวัสดิ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญามีนบุรี 2 บรรยายคำฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

ระหว่างวันที่ 21 มี.ค. 2564 ถึง 15 พ.ย. 2564 จำเลยได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพในเฟซบุ๊กของจำเลย รวม 12 ข้อความ อันเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 และพระราชินี เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญามีนบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.1075/2566 ลงวันที่ 27 มี.ค. 2566)

ความคืบหน้าของคดี

  • ที่ สน.นิมิตรใหม่ วุฒิ (นามสมมติ) ประกอบอาชีพเป็นช่างเชื่อม วัย 49 ปี ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    ก่อนหน้านี้ วุฒิได้รับหมายเรียกลงวันที่ 25 พ.ย. 2564 ซึ่งระบุว่า สุรวัช สังขฤกษ์ เป็นผู้กล่าวหา และให้เขาไปรับทราบข้อหาในวันที่ 9 ธ.ค. 2564 แต่เขาได้ขอเลื่อนนัดออกมาก่อน เนื่องจากยังไม่สะดวกเดินทางไปในวันดังกล่าว

    วุฒิพร้อมทนายความเดินทางเข้าพบ ร.ต.อ.หญิง วรัญญ์รัตน์ ศรีเพชร รองสารวัตร (สอบสวน) สน.นิมิตรใหม่ ซึ่งเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อวุฒิรวม 2 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาตามมาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    พฤติการณ์ข้อกล่าวหาระบุว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2564 ระหว่างที่สุรวัชร สังขฤกษ์ ผู้กล่าวหา เปิดดูเฟซบุ๊กได้พบเฟซบุ๊กบัญชีหนึ่งโพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในวันเดียวกันนั้น โดยนอกจากข้อความแล้ว มีการโพสต์พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ผู้กล่าวหาจึงได้เปิดย้อนดูเฟซบุ๊กดังกล่าวเพิ่มเติม และได้พบการโพสต์อีก 9 ข้อความ ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-พฤศจิกายน 2564

    ผู้กล่าวหาอ้างว่าข้อความทั้งหมดดังกล่าว ซึ่งบางข้อความมีการโพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10, พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ ประกอบ เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ไปในทางที่ชี้นำประชาชนที่เข้ามาคอมเมนต์ให้เข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นบุคคลไม่ดี ลดคุณค่าความน่าเชื่อถือและความนับถือลง และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

    ผู้กล่าวหาได้ติดตามความเคลื่อนไหวของเฟซบุ๊กดังกล่าว ติดตามรูปโปรไฟล์ที่บุคคลดังกล่าวตั้งไว้ จึงมั่นใจว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวคือวุฒิ จึงได้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีนี้

    วุฒิได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะขอให้การในชั้นศาลต่อไป พนักงานสอบสวนจึงได้ให้พิมพ์ลายนิ้วมือตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ก่อนให้ปล่อยตัวไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้ และจะติดต่อนัดหมายให้มารายงานตัวอีกครั้ง เมื่อจัดทำสำนวนเสร็จสิ้น

    วุฒิระบุว่า ตนเป็นคนจังหวัดเพชรบูรณ์ แต่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เคยทำงานเป็นช่างเชื่อมในโรงงาน แต่ตอนหลังได้มารับงานเป็นช่างเชื่อมอิสระ ก่อนหน้านี้ได้ติดตามการเมืองมาตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อปี 2549 และเคยไปร่วมการชุมนุมทั้งการคัดค้านรัฐประหารและการชุมนุมกับคนเสื้อแดงมาก่อน แต่ไปในฐานะผู้ชุมนุม ไม่เคยมีสังกัดกลุ่มใด จนกระทั่งในการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่และเยาวชนตั้งแต่ปีที่แล้ว ตนก็ไปร่วมสังเกตการณ์บางครั้ง แต่ไม่เคยถูกดำเนินคดีใดมาก่อน จนกระทั่งมาถูกดำเนินคดีจากการโพสต์เรื่องการเมืองในเฟซบุ๊กนี้

    วุฒิเปิดเผยว่า ตนไม่เคยรู้จักผู้กล่าวหามาก่อน และไม่ทราบว่าเป็นใคร เมื่อเห็นข้อกล่าวหาก็มีความกังวลอยู่เหมือนกัน เพราะไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน เป็นคดีทางการเมืองแรก ทั้งยังมาถูกกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 112 ที่ตนก็ติดตามสถานการณ์อยู่บ้าง เห็นถึงความร้ายแรง และช่องว่างที่เปิดโอกาสให้ใครก็ได้ไปกล่าวหาแบบนี้ แต่ก็พร้อมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และยืนยันจะต่อสู้ทางคดีต่อไป

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สน.นิมิตรใหม่ ลงวันที่ 20 ธ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/39043)
  • วุฒิเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก จากนั้นพนักงานสอบสวนส่งตัววุฒิพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญามีนบุรี 2 หลังอัยการรับตัวได้นัดหมายวุฒิมาฟังคำสั่งในวันที่ 4 พ.ย. 2565
  • วุฒิเข้าพบพนักงานสอบสวนอีก หลังมีหมายเรียกให้เขาไปรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม โดยพนักงานสอบสวนแจ้งว่าอัยการมีคำสั่งให้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม

    ร.ต.อ.หญิง วรัญญ์รัตน์ ศรีเพชร แจ้งพฤติการณ์คดีเพิ่มจากการโพสต์ข้อความอีก 2 ข้อความ ช่วงเดือนกันยายนและพฤศจิกายน 2564 โดยกล่าวหาว่า เป็นความผิดในข้อหาตามมาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เช่นเดิม วุฒิให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญามีนบุรี 2 นัดหมายวุฒิมาส่งฟ้องต่อศาลอาญามีนบุรี หลังมีคำสั่งฟ้องในฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    พนักงานอัยการ บรรยายคำฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า ระหว่างวันที่ 21 มี.ค. 2564 ถึง 15 พ.ย. 2564 จำเลยได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพในเฟซบุ๊กของจำเลย รวม 12 ข้อความ อันเป็นการดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 และพระราชินี เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง

    ทั้งนี้ อัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวจำเลย โดยขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล

    ภายหลังถูกฟ้อง วุฒิได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และยื่นขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 150,000 บาท

    ต่อมาเวลา 16.55 น. สุรพันธ์ เจริญกิตติ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามีนบุรี มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการกระทำที่ถูกฟ้องเป็นการกระทำหลายครั้งต่อเนื่องกัน โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย คดีมีอัตราโทษสูง หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี ในชั้นนี้จึงไม่อนุญาต ยกคำร้อง

    ผลของคำสั่งดังกล่าว ทำให้วุฒิถูกนำตัวไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษมีนบุรี

    ทั้งนี้ สุรวัชร ผู้กล่าวหาในคดีนี้ มีรายงานข่าวว่าเคยเคลื่อนไหวในนามกลุ่มการเมืองภาคประชาชน มีข้อมูลว่า เป็นผู้แจ้งความกล่าวหาคดีมาตรา 112 ไว้ที่ สน.นิมิตรใหม่ อย่างน้อย 2 คดี รวมทั้งคดีของวุฒิคดีนี้ด้วย

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญามีนบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.1075/2566 ลงวันที่ 27 มี.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/54805)
  • ทนายความเข้ายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวของศาลอาญามีนบุรีต่อศาลอุทธรณ์ ระบุเหตุผลโดยสรุปว่า

    คดีนี้จำเลยได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ตั้งแต่ในชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณา และหนทางต่อสู้คดีได้ จึงขอศาลพิจารณาถึงสิทธิของจำเลยตามมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด และจะปฏิบัติต่อผู้นั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้

    อีกทั้งพฤติการณ์ของจำเลยในคดีนี้ไม่ปรากฏเหตุที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า หากปล่อยชั่วคราวเกรงว่าจำเลยจะหลบหนีนั้น ข้อเท็จจริงคือ จำเลยเป็นผู้มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง สามารถติดตามตัวได้โดยง่าย ประกอบกับจำเลยเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการตามกำหนดนัดทุกครั้ง ไม่มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด ทั้งไม่เคยมีประวัติการกระทำความผิดอาชญากรรมใด ๆ จึงไม่อาจไปก่ออันตรายประการอื่นได้

    จำเลยเป็นเพียงบุคคลธรรมดา ประกอบอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัย ไม่มีความสามารถที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ หากจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจะส่งผลกระทบต่อครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากจำเลยเป็นหัวหน้าครอบครัวมีภาระต้องเลี้ยงดูภรรยาและบุตร ทั้งต้องผ่อนชำระค่าบ้านและรถที่ใช้เป็นเครื่องมือประกอบอาชีพอีกด้วย การควบคุมตัวจำเลยไว้จึงมิได้เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรม แต่กลับเป็นโทษต่อจำเลยอย่างร้ายแรง และหากศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขในการประกันตัวจำเลยประการใด จำเลยยินยอมรับเงื่อนไขและพร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัวอย่างเคร่งครัด

    นอกจากนี้ ศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอื่นในคดีที่เป็นความผิดฐานความผิดเดียวกันนี้มาแล้ว จึงขอศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในคดีนี้เช่นเดียวกันด้วย

    (อ้างอิง: คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลย ศาลอาญามีนบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.1075/2566 ลงวันที่ 1 เม.ย. 2566)
  • ศาลอาญามีนบุรีอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ยังคงไม่อนุญาตให้ประกันวุฒิ ระบุว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูงและลักษณะการกระทำที่ถูกฟ้องไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง กระทบต่อความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงในชั้นนี้หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่า จำเลยจะหลบหนีไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวชอบแล้วให้ยกคำร้อง

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.1075/2566 ลงวันที่ 3 เม.ย. 2566)
  • วุฒิถูกเบิกตัวจากเรือนจำมาศาล ทนายจําเลยแถลงว่า เนื่องจากเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นทนายความในคดี ยังตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายละเอียดในคดียังไม่ครบถ้วน โดยจะขอตรวจสอบเอกสารที่โจทก์นํามาเป็นพยานหลักฐานในการฟ้องคดีนี้ก่อน โดยจะยื่นคําให้การในนัดหน้า และขอเลื่อนการตรวจพยานหลักฐานไปพร้อมกัน โจทก์แถลงไม่ค้าน ศาลอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสอบคําให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกําหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 30 พ.ค. 2566 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญามีนบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.1075/2566 ลงวันที่ 25 เม.ย. 2566)
  • วุฒิถูกเบิกตัวมาศาล และได้ยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ทนายจำเลยได้ยื่นบัญชีพยานจำนวน 5 อันดับ เป็นพยานบุคคล 3 คน เป็นพยานเอกสาร 2 ฉบับ ขณะที่อัยการยื่นบัญชีพยานจำนวน 17 อันดับ เป็นพยานบุคคล 8 คน ประกอบด้วยผู้กล่าวหา, ประชาชนทั่วไปผู้มาให้ความเห็นต่อข้อความ 2 คน, ตำรวจผู้ตรวจสอบเฟซบุ๊ก 2 คน, ตำรวจผู้ตรวจสอบการจราจรทางคอมพิวเตอร์ 1 คน, ตำรวจผู้ทำการสืบสวนรวบรวมหลักฐาน 1 คน และ มีพยานเอกสาร อีก 7 ฉบับ

    ศาลกำหนดวันสืบพยานทั้งหมด 3 นัด ในวันที่ 22-24 พ.ย. 2566

    ในวันนี้ได้มีการยื่นประกันวุฒิเป็นครั้งที่ 2 ด้วยหลักทรัพย์ 150,000 บาท พร้อมยินยอมให้ติดกำไล EM โดยคำร้องประกอบการขอประกันตัวระบุว่า จำเลยไม่ใช่ผู้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ อีกทั้งคดีนี้ได้ ผ่านพ้นกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานแล้ว พยานหลักฐานทั้งหมดในคดีนี้ล้วนแล้วแต่อยู่ในความครอบครองของพนักงานอัยการโจทก์และศาลแล้วทั้งสิ้น หากจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวย่อมไม่อาจก่ออุปสรรค หรือความเสียหายต่อการดำเนินคดีในศาล

    ในทางกลับกันหากจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจะกระทบต่อการทำมาหาได้ของจำเลย ทำให้จำเลยไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติได้และส่งผลกระทบต่อครอบครัวของจำเลยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากจำเลยเป็นหัวหน้าครอบครัวมีภาระต้องเลี้ยงดูภรรยาและบุตร อีกทั้งยังมีภาระในการผ่อนชำระค่าบ้านและรถที่ใช้เป็นเครื่องมือประกอบอาชีพ ซึ่งอาจทำให้บ้านและรถของจำเลยต้องถูกยึด

    การควบคุมตัวจำเลยไว้ จึงมิได้เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรม แต่กลับเป็นโทษต่อจำเลยอย่างร้ายแรง และหากศาลพิจารณาแล้วเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขในการประกันตัวจำเลยประการใด จำเลยยินยอมรับเงื่อนไข และพร้อมปฎิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัวอย่างเคร่งครัด

    เวลา 16.00 น. ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง ระบุว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลนี้และศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวระหว่างพิจารณามาแล้ว เหตุผลตามคำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวไม่เป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม คดีนี้มีอัตราโทษสูง และลักษณะการกระทำที่ถูกฟ้องไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ทั้งกระทบต่อความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ให้ยกคำร้อง

    ปัจจุบันวุฒิถูกคุมขังมาแล้ว 65 วัน เขายืนยันในการต่อสู้คดี และหากไม่ได้รับการประกันตัว จะต้องถูกคุมขังรอการสืบพยานไปถึงช่วงปลายปีนี้ต่อไป

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณาและคำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลอาญามีนบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.1075/2566 ลงวันที่ 30 พ.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/56444)
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 2 วันต่อมา ศาลอาญามีนบุรีอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 20 มิ.ย. 2566 ยังคงยกคำร้อง ระบุว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง ลักษณะการกระทำที่ถูกฟ้องไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ทั้งกระทบต่อความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณามาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง
  • ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอประกันวุฒิเป็นครั้งที่ 3 แต่ศาลอาญามีนบุรียังคงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ระบุว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ยังไม่มีเหตุผลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ยกคำร้อง
  • ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights: FIDH) ได้ส่งคำร้องต่อกลไกพิเศษขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN Special Procedures ทั้งหมด 5 หน่วยงาน ได้แก่ (1) คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (2) ผู้รายงานพิเศษเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มโดยสันติ (3) ผู้รายงานพิเศษเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก (4) ผู้รายงานพิเศษเรื่องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และ (5) ผู้รายงานพิเศษเรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและทนายความ

    โดยศูนย์ทนายฯ ได้รายงานข้อเท็จจริงให้กับ UN เกี่ยวกับประเด็นผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดีในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 5 ราย ได้แก่

    1.เวหา แสนชนชนะศึก นักกิจกรรมวัย 39 ปี ซึ่งถูกขังระหว่างอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. 2566 และอดอาหารประท้วงมาตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. 2566

    2. “น้ำ” วารุณี ชาวพิษณุโลกวัย 30 ปี ซึ่งถูกขังระหว่างอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2566 และอดอาหารประท้วงมาตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. 2566

    3. ทีปกร (สงวนนามสกุล) หมอนวดอิสระ วัย 38 ปี ถูกขังระหว่างอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. 2566

    4. วุฒิ (นามสมมติ) ประชาชนวัย 50 ปี ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. 2566 ปัจจุบันเขาถูกคุมขังมาแล้ว 158 วัน

    5. ‘เก็ท’ โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง สมาชิกกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ วัย 24 ปี ถูกขังระหว่างอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2566

    ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ต้องหาไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว อาจขัดกับหลักการภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR กฎหมายระหว่างประเทศจะถือว่าการควบคุมตัวดังกล่าวเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ หรือ arbitrary detention

    ในปี ค.ศ. 1996 รัฐไทยได้เข้าเป็นภาคี ICCPR ทำให้รัฐไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและบทบัญญัติภายใต้กติกาฯ ดังกล่าว โดยข้อ 9 วรรค 3 ของ ICCPR บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิในการประกันตัวไว้ว่า “บุคคลใดที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในข้อหาทางอาญา จะต้อง … ได้รับการปล่อยตัว มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี แต่ในการปล่อยตัวอาจกำหนดให้มีการประกันว่าจะมาปรากฏตัวในการพิจารณาคดีในขั้นตอนอื่นของกระบวนการพิจารณา และจะมาปรากฏตัวเพื่อการบังคับตามคำพิพากษาเมื่อถึงวาระนั้น” (เน้นโดยผู้เขียน)

    ในความเห็นทั่วไปที่ 35 เกี่ยวกับเสรีภาพของบุคคล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Human Rights Committee ได้อธิบายไว้ว่า การคุมขังบุคคลก่อนหรือระหว่างการพิจารณาคดี หรือที่เรียกว่า pretrial detention ควรเป็นข้อยกเว้น ไม่ใช่กฎ (“exception rather than the rule”) การคุมขังบุคคลก่อนหรือระหว่างพิจารณาคดีไม่ควรเป็นการปฏิบัติทั่วไป การคุมขังดังกล่าวจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น (necessary) เพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้จำเลยหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำความผิดซ้ำ

    สำหรับความผิดที่มีโทษสูง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ให้ความเห็นว่า การคุมขังก่อนหรือระหว่างพิจารณาคดีไม่ควรถือว่าเป็นมาตรการจำเป็นสำหรับความผิดใดความผิดหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงพฤติการณ์คดีและปัจจัยแวดล้อม อีกทั้งศาลไม่ควรสั่งคุมขังบุคคลโดยอ้างอัตราโทษของความผิด การคุมขังบุคคลจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น ซึ่งการที่ความผิดที่บุคคลถูกกล่าวหามีโทษสูง ไม่ได้ตอบคำถามว่าการคุมขังมีความจำเป็นหรือไม่ (ย่อหน้าที่ 38)

    ในคำร้องที่ศูนย์ทนายฯ ได้ยื่นไปที่ UN วันที่ 28 ส.ค. 2566 ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาแล้วอย่างน้อย 41 คน ปัจจุบัน (31 ส.ค. 2566) มีผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี มาตรา 112 ทั้งสิ้น 6 ราย โดยส่วนมากแล้ว คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลจะอ้าง “ความหนักเบาแห่งข้อหา” หรือ “ข้อหามีอัตราโทษสูง” ก่อนจะสรุปว่ามีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ซึ่งการให้เหตุผลดังกล่าวไม่ได้เป็นการพิจารณาความเหมาะสมของการไม่ให้ประกันตัวเป็นรายบุคคล (individualized determination) ขัดกับหลักการภายใต้ ICCPR ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

    ไม่เพียงเท่านี้ คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (UN Working Group on Arbitrary Detention) ซึ่งเป็นหน่วยงานของ UN ที่รับผิดชอบประเด็นเกี่ยวกับการควบคุมตัวโดยพลการที่เกิดขึ้นในทุก ๆ ประเทศ ได้เคยมีความเห็นเกี่ยวกับประเทศไทยอยู่หลายหน โดยมีความเห็นเกี่ยวกับการคุมขังบุคคลภายใต้มาตรา 112 รวมทั้งหมด 9 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา ซึ่งคณะทำงานฯ มีความเห็นในทุก ๆ กรณีว่า การคุมขังบุคคลภายใต้มาตรา 112 เป็นการคุมขังโดยพลการ

    ในความเห็นของคณะทำงานฯ มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา มีความคลุมเครือแล้วกว้างจนเกินไป (vague and overbroad) ไม่ได้มีการนิยามชัดเจนว่าการแสดงออกใดเข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ อีกทั้งการคุมขังภายใต้ มาตรา 112 เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก (ข้อ 19 ICCPR) เพราะเหตุนี้ การคุมขังภายใต้มาตรา 112 จึงถือว่าเป็นการคุมขังโดยพลการทุกกรณี

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/59016)
  • กรองแก้ว ถนอมรอด ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนได้อธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟังและสอบถามว่ามีแนวทางการต่อสู้คดีอย่างไร วุฒิและทนายความได้แถลงต่อศาลว่าขอให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว

    ต่อมาศาลได้แจ้งสิทธิให้แก่จำเลยว่า หากจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลจะสามารถใช้ดุลยพินิจในการลงโทษสถานเบาได้ ภายหลังการปรึกษาหารือกับทนายความ วุฒิจึงตัดสินใจถอนคำให้การเดิมจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา และศาลมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติทำการสืบเสาะและพินิจจำเลยก่อนพิพากษา และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 21 ธ.ค. 2566 เวลา 09.00 น.

    ทนายความได้ยื่นขอปล่อยชั่วคราวอีกเป็นครั้งที่ 4 เนื่องจากมีเหตุในคดีที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ศาลยังคงมีคำสั่งไม่ให้ประกัน
  • ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 201 ญาติของวุฒิ ได้แก่ น้องสาว, ภรรยา และลูกชาย เดินทางมาเพื่อรอพบและให้กำลังใจวุฒิที่ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำพิเศษมีนบุรี โดยมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, เจ้าหน้าที่จาก iLaw, ผู้สื่อข่าวอิสระ และ “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ พร้อมเพื่อนนักกิจกรรม เข้าร่วมสังเกตการณ์คดี

    เวลา 10.30 น. หลังจากศาลเสร็จการพิจารณาในคดีอื่น ๆ วุฒิถูกนำตัวขึ้นมาที่ห้องพิจารณาคดีโดยถูกพันธนาการด้วยกุญแจข้อมือและข้อเท้า เขานั่งลงก่อนหันมาทักทายกลุ่มคนที่มาร่วมสังเกตการณ์และให้กำลังใจ

    ต่อมาเวลา 10.38 น. ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนออกนั่งพิจารณาคดี ก่อนแจ้งกับทนายความและวุฒิว่า หลังจากได้ไปปรึกษาแล้วเห็นว่า คดีนี้ไม่สามารถลงโทษสถานเบาได้ เนื่องจากข้อความเกี่ยวข้องกับระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงสอบถามจำเลยอีกครั้งว่ายังคงจะให้การรับสารภาพเช่นเดิมหรือไม่ พร้อมระบุว่า จากรายงานการสืบเสาะของพนักงานคุมประพฤติ ไม่พบว่าจำเลยเคยกระทำความผิดมาก่อน และไม่ปรากฏว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมทางการเมือง

    หลังจากที่ทนายความและวุฒิปรึกษาหารือกัน วุฒิตัดสินใจแถลงต่อศาลขอถอนคำให้การในวันที่ 22 พ.ย. 2566 จากรับสารภาพเป็นปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยอ้างว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้องโจทก์ พร้อมยื่นคำให้การใหม่

    ผู้พิพากษาระบุว่า จากคำให้การในวันที่ 22 พ.ย. 2566 เท่ากับว่าจำเลยรับข้อเท็จจริงแล้วว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง หากจะเปลี่ยนไปให้การปฏิเสธ จะต้องยกข้อต่อสู้อื่นขึ้นมา เช่น ข้อความตามฟ้องไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112

    ทนายความจึงแถลงต่อศาลว่า พยานหลักฐานของโจทก์ซึ่งเป็นภาพโพสต์ข้อความโดยไม่ระบุที่มา (ไม่ระบุ URL) และไม่ได้ตรวจสอบระบุตัวบุคคลที่เป็นผู้โพสต์ (ไม่มีการตรวจสอบ IP Address) จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ จึงยืนยันขอต่อสู้ว่าจำเลยไม่ใช่ผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว โดยฝ่ายของจำเลยมีพยานผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2 คน ซึ่งตรวจสอบพิสูจน์ตัวตนของผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ที่จะมาให้ความเห็นในเรื่องนี้

    อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาเห็นว่า จำเลยขอถอนคำให้การเป็นรับสารภาพแล้ว จึงไม่มีเหตุให้ถอนคำให้การรับสารภาพเป็นปฏิเสธ และไม่อนุญาตให้จำเลยถอนคำให้การในวันที่ 22 พ.ย. 2566 แต่เห็นควรให้โอกาสจำเลยในการรวบรวมพยานหลักฐานและรวบรวมเหตุบรรเทาโทษมาเสนอต่อศาลเพื่อประกอบดุลยพินิจในการพิพากษาภายในวันที่ 2 ก.พ. 2567 และให้เลื่อนไปนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 14 ก.พ. 2567

    นอกจากนี้ ทนายความยังพยายามสอบถามถึงเรื่องการประกันตัวของวุฒิหลังจากที่วุฒิตัดสินใจให้การรับสารภาพ เนื่องจากมีเหตุในคดีที่เปลี่ยนแปลงไป แต่วุฒิก็ยังคงไม่ได้รับการประกันตัว ผู้พิพากษาระบุว่า การสั่งประกันตัวไม่ได้ขึ้นกับผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน แต่ขึ้นอยู่กับผู้พิพากษาเวรที่มีหน้าที่สั่งประกันตัวในวันนั้น

    หลังจากนี้ทนายความจะเข้าเยี่ยมวุฒิที่เรือนจำพิเศษมีนบุรีเพื่อปรึกษาหารือเรื่องแนวทางในคดี และจะดำเนินการใด ๆ ตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป

    ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่า ตามหลักสิทธิของจำเลยในคดีอาญา จำเลยมีสิทธิที่จะให้การปฏิเสธเพื่อให้จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่แม้เคยให้การรับสารภาพก่อนหน้านี้ แต่ในการถอนคำให้การในชั้นศาลนั้น มีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคสอง วางหลักไว้ว่า เมื่อมีเหตุอันควร จำเลยอาจยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การก่อนศาลพิพากษาได้ ถ้าศาลเห็นสมควรอนุญาต กล่าวคือในการถอนคำให้การในชั้นศาล ศาลจะใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาว่ามี ‘เหตุอันควร’ หรือไม่ ก่อนมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาต

    อย่างไรก็ตาม คดีนี้จำเลยมีข้อต่อสู้ว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้โพสต์ พยานหลักฐานของโจทก์เป็นพยานหลักฐานปลอม ผ่านการตัดต่อ จึงไม่เพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งเป็นเหตุสำคัญที่อาจจะสามารถเปลี่ยนผลของคดีได้ จำเลยจึงควรมีสิทธิในการถอนคำให้การเดิมเพื่อต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมต่อไป

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/62524)
  • ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 201 น้องสาวของวุฒิเดินทางมาเพื่อรอพบและให้กำลังใจวุฒิที่ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำพิเศษมีนบุรีเพียงคนเดียว เนื่องจากแม่และภรรยาของวุฒิต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วยอาการเจ็บป่วย โดยมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้าร่วมสังเกตการณ์

    เวลา 09.35 น. วุฒิถูกนำตัวขึ้นมาที่ห้องพิจารณาคดีโดยถูกพันธนาการด้วยกุญแจข้อมือและข้อเท้า ต่อมาผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนออกนั่งพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษาดังนี้

    จำเลยถูกฟ้องในความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงราชอาณาจักร และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำเลยถอนคำให้การปฏิเสธเป็นรับสารภาพ และต่อมาถอนคำให้การรับสารภาพเป็นปฏิเสธ ศาลไม่อนุญาต

    พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุด คือ มาตรา 112 จำเลยกระทำความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 36 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 12 ปี 72 เดือน (หรือประมาณ 18 ปี)

    ผู้พิพากษาที่ทำคำพิพากษาคือ กรองแก้ว ถนอมรอด

    ทั้งนี้ ก่อนนัดพิพากษา ทนายความได้เข้าเยี่ยมวุฒิในเรือนจำเพื่อปรึกษาหารือเรื่องแนวทางการต่อสู้คดี หลังจากที่ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวมานานเกือบ 11 เดือน วุฒิตัดสินใจที่จะยุติการต่อสู้คดีเพียงเท่านี้ โดยต่อจากนี้วุฒิจะรอคอยเวลาให้คดีถึงที่สุด เพื่อที่จะดำเนินการตามกฎหมายในเรื่องต่าง ๆ เช่น การขอย้ายไปเรือนจำซึ่งเป็นภูมิลำเนา หรือการขออภัยโทษต่อไป

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/64806)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
"วุฒิ" (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
"วุฒิ" (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 14-02-2024

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์