สรุปความสำคัญ

#ม็อบ14ตุลา ซึ่ง "คณะราษฎร" นัดหมายรวมตัวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 เพื่อกดดันให้รัฐบาลทำตาม 3 ข้อเรียกร้อง ก่อนเคลื่อนขบวนไปปักหลักชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เป็นเหตุให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในท้องที่กรุงเทพฯ และเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมในเวลา 04.30 น. ของวันที่ 15 ต.ค. 2563 ภายหลังเหตุการณ์ มีนักกิจกรรมถูกดำเนินคดีรวม 10 ราย ในข้อหาฝาฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมอื่นๆ อีกหลายข้อหา โดยมีเพียงอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน หนึ่งในผู้ปราศรัยในการชุมนุมครั้งนั้น ถูกดำเนินคดี "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" โดยถูกกล่าวหาว่า คำปราศรัยมีลักษณะใส่ร้ายรัชกาลที่ 10

หลังอัยการยื่นฟ้องคดีนี้ขณะอานนท์ถูกขังอยู่ในเรือนจำในคดี #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 ทนายความได้ยื่นประกันถึง 8 ครั้ง ศาลอาญาจึงอนุญาตให้ประกันระหว่างพิจารณาคดีเป็นเวลาจำกัดเพียง 3 เดือน ทั้งยังกำหนดเงื่อนไขอีกหลายข้อ

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • อานนท์ นำภา
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

14 ต.ค. 2563 ตั้งแต่ช่วงเช้า "คณะราษฎร" นัดหมายชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อกดดันให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และในตอนบ่ายได้มีการเคลื่อนขบวนที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เตรียมปักหลักชุมนุมค้างคืนเพื่อไล่ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ระดมกำลังปิดกั้นเส้นทาง แต่ในที่สุดผู้ชุมนุมสามารถเคลื่อนขบวนไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาลได้ในช่วงค่ำ

อย่างไรก็ตาม เวลา 04.00 น. ของวันที่ 15 ต.ค. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในท้องที่กรุงเทพฯ ก่อนที่กำลังตำรวจจจะเข้าสลายการชุมนุมในเวลาประมาณ 04.30 น. และมีผู้ถูกจับกุมจากที่ชุมนุมอย่างน้อย 27 ราย

(อ้างอิง: https://www.mobdatathailand.org/case-file/1617508758362/)

12 ธ.ค. 2563 อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของ สน.สำราญราษฎร์ พร้อม “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ จากเหตุการชุมนุม “ม็อบ 14 ตุลา” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ซึ่งมี พ.ต.ท.กฤติเดช เข็มเพชร์ รองผู้กำกับสืบสวน สน.สำราญราษฎร์ กับพวก เป็นผู้กล่าวหา

พนักงานสอบสวน บรรยายพฤติการณ์การกระทำความผิดว่า การชุมนุมในวันดังกล่าว อานนท์ได้ร่วมกับพริษฐ์ และ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต อานนท์ยังได้ขึ้นปราศรัยเชิญชวนกลุ่มผู้ชุมนุมให้ต่อสู้กับเผด็จการ โดยมี 3 ข้อความ เป็นการใส่ร้ายรัชกาลที่ 10 จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาอานนท์ว่า "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" และข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมอีกหลายข้อหา ขณะที่พริษฐ์ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการชุมนุมเท่านั้น เช่นเดียวกับปนัสยาและนักกิจกรรมอีก 7 ราย ที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในภายหลัง

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สน.สำราญราษฎร์ ลงวันที่ 16 ธ.ค. 2563 และ https://tlhr2014.com/archives/23649)

ภูมิหลัง

  • อานนท์ นำภา
    จบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี 2551 เริ่มเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ปี 2553 ก่อตั้งสำนักงานทนายความราษฎรประสงค์ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน นอกจากนี้ยังเป็นทนายความในเครือข่ายของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม (ศปช.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์