ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • ทำให้เสียทรัพย์ (มาตรา 358)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • กีดขวางทางสาธารณะ (มาตรา 385)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ความสะอาดฯ
  • พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 2558
  • ไม่แจ้งการชุมนุม
  • ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ผู้จัดการชุมนุม
  • ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ผู้ชุมนุม
  • อื่นๆ
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
  • พ.ร.บ.จราจรฯ
ดำ อ.2495/2564
แดง อ.2841/2566

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.กฤติเดช เข็มเพชร์ รอง ผกก.สส.สน.สำราญราษฎร์ กับพวก (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 2558
  • ไม่แจ้งการชุมนุม
  • ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ผู้จัดการชุมนุม
  • ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ผู้ชุมนุม
  • อื่นๆ
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • พ.ร.บ.ความสะอาดฯ
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
  • พ.ร.บ.จราจรฯ
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ทำให้เสียทรัพย์ (มาตรา 358)
  • กีดขวางทางสาธารณะ (มาตรา 385)

หมายเลขคดี

ดำ อ.2495/2564
แดง อ.2841/2566
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.กฤติเดช เข็มเพชร์ รอง ผกก.สส.สน.สำราญราษฎร์ กับพวก

ความสำคัญของคดี

#ม็อบ14ตุลา ซึ่ง "คณะราษฎร" นัดหมายรวมตัวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 เพื่อกดดันให้รัฐบาลทำตาม 3 ข้อเรียกร้อง ก่อนเคลื่อนขบวนไปปักหลักชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เป็นเหตุให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในท้องที่กรุงเทพฯ และเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมในเวลา 04.30 น. ของวันที่ 15 ต.ค. 2563 ภายหลังเหตุการณ์ มีนักกิจกรรมถูกดำเนินคดีรวม 10 ราย ในข้อหาฝาฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมอื่นๆ อีกหลายข้อหา โดยมีเพียงอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน หนึ่งในผู้ปราศรัยในการชุมนุมครั้งนั้น ถูกดำเนินคดี "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" โดยถูกกล่าวหาว่า คำปราศรัยมีลักษณะใส่ร้ายรัชกาลที่ 10

หลังอัยการยื่นฟ้องคดีนี้ขณะอานนท์ถูกขังอยู่ในเรือนจำในคดี #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 ทนายความได้ยื่นประกันถึง 8 ครั้ง ศาลอาญาจึงอนุญาตให้ประกันระหว่างพิจารณาคดีเป็นเวลาจำกัดเพียง 3 เดือน ทั้งยังกำหนดเงื่อนไขอีกหลายข้อ

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พัชรา ดีเพ็ง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 บรรยายฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า

1. ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2563 จําเลยกับพวก ซึ่งถูกแยกดําเนินคดีต่างหากแล้วที่ศาลแขวงดุสิต ใช้ชื่อกลุ่มว่า “คณะราษฎร 2563” ได้ร่วมกันแถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชนที่สนามหลวง เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนอออกมาร่วมชุมนุมขับไล่เผด็จการในวันที่ 14 ต.ค. 2563 ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฝั่งร้านแมคโดนัลด์

เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2563 จําเลยได้นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โดยใช้ชื่อบัญชี “อานนท์ นําภา” โพสต์ข้อความ “14 ตุลา หลังส่งเสด็จด้วยการชู 3 นิ้วที่ราชดําเนิน ขบวนประชาชนทั้งหมดจะเคลื่อนขบวนไปตั้งเวทีปราศรัยไล่ประยุทธ์และพักค้างรอบทําเนียบรัฐบาล ขอเชิญทุกท่านมาไล่ประยุทธ์ด้วยกัน นอนค้างบนถนนร่วมกับพี่น้องประชาชน”

ระหว่างวันที่ 14 ต.ค. 2563 ถึงวันที่ 15 ต.ค. 2563 ต่อเนื่องกัน จําเลยกับพวกได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมทางการเมืองโดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 กล่าวคือ จําเลยกับพวกดังกล่าวในฐานะผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ ได้นํารถบรรทุกติดตั้งเครื่องขยายเสียงมาจอดและตั้งเวทีปราศรัยขนาดเล็กกางเต็นท์ผ้าใบบนถนนราชดําเนินกลาง ฝั่งหน้าร้านแมคโดนัลด์ซึ่งเป็นทางจราจร ทางสาธารณะที่ประชาชนทั่วไปใช้สัญจร มีประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมรวมกลุ่มชุมนุมทางการเมืองฟังการปราศรัยจํานวนประมาณ 6,000 คน โดยยืนอยู่บนถนนจนเต็มพื้นที่เป็นเหตุให้ประชาชนไม่สามารถใช้รถยนต์สัญจรไปมาบนถนนราชดําเนินกลางขาเข้าได้

เมื่อพันตํารวจเอกอิทธิพล พงษ์ธร ผู้กํากับการสถานีตํารวจนครบาลสําราญราษฎร์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความเรียบร้อยและควบคุมสถานการณ์การจัดการชุมนุม ได้แจ้งให้จําเลยกับพวกและกลุ่มผู้ชุมนุม ชุมนุมอยู่ในกรอบของกฎหมาย ให้อยู่บนทางเท้า ให้รักษามาตรการป้องกันโรคโควิด และให้กลุ่มผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมและเดินทางกลับ จําเลยกับพวกได้ทราบคําสั่งดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ยอมเลิกการชุมนุม

จําเลยกับพวกมีการนํากลุ่มผู้ชุมนุม เคลื่อนขบวนออกจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เดินเท้าไปตามถนนราชดําเนินกลาง ผ่านสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เข้าถนนนครสวรรค์ มุ่งหน้าไปยังทําเนียบรัฐบาล โดยจําเลยกับพวกดังกล่าวได้ร่วมเดินไปกับกลุ่มผู้ร่วมชุมนุม อันเป็นการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมระหว่างเวลา 18.00 – 05.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น และโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้าต่อหัวหน้าสถานีตํารวจนครบาลซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการชุมนุมสาธารณะนั้น

การชุมนุมข้างต้นเป็นการทํากิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ สถานที่ใดๆ ที่แออัด และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โดยจําเลยกับพวกดังกล่าวไม่ได้จํากัดทางเข้า – ออก ในการเข้าร่วมกิจกรรมการรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมทางการเมือง และไม่จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมการรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมทางการเมืองทุกคนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และไม่จัดให้มีการเว้นระยะนั่งหรือยืนห่างทางสังคมระหว่างกัน เป็นการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมทางการเมืองโดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19

2. จําเลยกับพวกยังได้ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ โดยได้ใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าประกาศโฆษณาสั่งการให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมขึ้นไปยังบริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นํากระถางต้นไม้ที่วางประดับรอบๆ ฐานอนุสาวรีย์ออกไป ทําให้กิ่งก้านต้นไม้ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย หักเสียหาย จํานวน 11 รายการ รวมราคา 273,700 บาท

3. จําเลยยังได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ กล่าวคือ จําเลยได้ใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า กล่าวปราศรัยต่อประชาชนผู้เข้าร่วมการชุมนุม ว่า

“ข้อที่ 3 มาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ข้อเรียกร้องมีสามข้อเท่านั้น วันนี้จะไม่เหมือนเมื่อวานเพราะพี่น้องที่มาจากต่างจังหวัดทยอยมาสมทบกันเรื่อยๆ และนิสิตนักศึกษาก็ทยอยมาเรื่อยๆ ถ้ามีการสลายการชุมนุมวันนี้ คนที่จะสั่งสลายการชุมนุมมีเพียงคนเดียว คือในหลวงรัชกาลที่ 10 ถ้ามีการสลายการชุมนุม ไม่ต้องไปหาคนอื่นใด”

“อย่างที่ผมเรียนไว้ ถ้ามีการสลายการชุมนุม คนอื่นจะสั่งไม่ได้นอกจากในหลวงรัชกาลที่ 10”

“อย่างที่บอกถ้าวันนี้มีการสลายการชุมนุม คนที่จะสั่งได้คนเดียว คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ให้รู้ไว้เช่นนั้น”

ข้อความดังกล่าวที่จําเลยได้กล่าวปราศรัยขึ้นนั้น มิใช่การกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เป็นการหมิ่นประมาทใส่ร้าย ทําให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง ทําให้ประชาชนที่หลงเชื่อข้อความที่จําเลยได้พูดปราศรัยดังกล่าวเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้

4. จําเลยกับพวกดังกล่าว ได้ร่วมกันนํารถบรรทุกติดตั้งเครื่องขยายเสียงและตั้งเวทีขนาดเล็ก เต็นท์ผ้าใบสีขาว บนถนนราชดําเนินกลางฝั่งหน้าร้านแมคโดนัลด์ สาขาราชดําเนิน ซึ่งเป็นทางจราจร เพื่อใช้ดําเนินกิจกรรมรวมกลุ่มชุมนุมทางการเมือง เป็นการวาง ตั้ง ยื่น หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน หรือแขวนสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือทอดทิ้งสิ่งของ มีลักษณะเป็นการกีดขวางทางจราจร และทางสาธารณะ

5. จําเลยกับพวกดังกล่าวได้ร่วมกันโฆษณา ปราศรัย บอกกล่าว แสดงความคิดเห็น ต่อประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมรวมกันชุมนุมทางการเมือง โดยการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่ได้รับการยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2495/2564 ลงวันที่ 7 ต.ค. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลา 11.30 น. อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของ สน.สำราญราษฎร์ พร้อม “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ จากเหตุการชุมนุม “ม็อบ 14 ตุลา” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ซึ่งมี พ.ต.ท.กฤติเดช เข็มเพชร์ รองผู้กำกับสืบสวน สน.สำราญราษฎร์ กับพวก เป็นผู้กล่าวหา

    ร.ต.อ.อานนท์ ไทรด้วง รองสารวัตร (สอบสวน) สน.สำราญราษฎร์ บรรยายพฤติการณ์การกระทำความผิดว่า เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 เวลาประมาณ 08.00 น. อานนท์, พริษฐ์ และ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นผู้จัดการชุมนุม นัดหมายผู้ชุมนุมมารวมตัวกันที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการตั้งเวทีปราศรัย, ตั้งเต็นท์, จอดรถบรรทุกติดตั้งเครื่องขยายเสียง และมีการปิดเส้นทางการจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต

    เจ้าหน้าที่ตํารวจจึงได้แจ้งเตือนให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ผิวทางการจราจร เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เส้นทางในการสัญจรไปมาได้สะดวก แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงาน

    เวลาประมาณ 08.40 น. อานนท์ได้ขึ้นปราศรัยต่อหน้าผู้เข้าร่วมชุมนุมจํานวนมากบนเวทีขนาดเล็กที่ตั้งอยู่บนถนนราชดําเนินกลาง บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ สาขาราชดําเนิน สาระสําคัญของการปราศรัย คือ การกล่าวเชิญชวนกลุ่มผู้ชุมนุมให้ต่อสู้กับเผด็จการ

    นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวข้อความที่ถือเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดง ความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ จํานวน 3 ข้อความ คือ

    1. “ถ้ามีการสลายการชุมนุมวันนี้ คนที่จะสั่งสลายการชุมนุมมีเพียงคนเดียว คือในหลวงรัชกาลที่ 10 ถ้ามีการสลายการชุมนุม ไม่ต้องไปหาคนอื่นใด”
    2. “อย่างที่ผมเรียนไว้ ถ้ามีการสลายการชุมนุม คนอื่นจะสั่งไม่ได้ นอกจากในหลวงรัชกาลที่ 10”
    3. “อย่างที่บอก ถ้าวันนี้มีการสลายการชุมนุม คนที่จะสั่งได้คนเดียว คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ให้รู้ไว้เช่นนั้น”

    ต่อมา เวลาประมาณ 13.30 น. ได้ร่วมกันปราศรัย และมีการสั่งให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปรื้อกระถางต้นไว้ที่วางประดับอยู่รอบๆ ฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยออกไป กลุ่มผู้ชุมนุมจึงได้เข้าไปรื้อกระถางต้นไม้ ทําให้ต้นไม้ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานครได้รับความเสียหาย คิดเป็นเงินจํานวน 223,700 บาท จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนออกจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปปิดล้อมที่หน้าทําเนียบรัฐบาล

    พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาอานนท์ว่า "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" และข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมอีกหลายข้อหา ได้แก่

    1. ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385
    2. ไม่แจ้งการชุมนุมและไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ โดยไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้ขัดขวางหรือก่อความไม่สะดวกต่อประชาชนเกินสมควร บุกรุกหรือทําลายทรัพย์สินของผู้อื่น ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุม เดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมระหว่างเวลา 18.00 - 06.00 น.
    3. ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
    4. ร่วมกันจัดชุมนุมโดยไม่จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
    5. ร่วมกันกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ
    6. ร่วมกันตั้ง วาง กองวัตถุบนถนน ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ
    7. ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358
    8. ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ

    ขณะที่พริษฐ์ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการชุมนุมเท่านั้น เช่นเดียวกับปนัสยาที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในภายหลัง ในวันนี้พริษฐ์และอานนท์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติม

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สน.สำราญราษฎร์ ลงวันที่ 16 ธ.ค. 2563 และ https://tlhr2014.com/archives/23649)
  • พนักงานสอบสวนนัดอานนท์เพื่อส่งตัวให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 อัยการนัดฟังคำสั่งว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ในวันที่ 23 ก.พ. 2564 เวลา 10.00 น.
  • พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 ยื่นฟ้องอานนท์ต่อศาลอาญา ขณะเขาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในคดีม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ฐานความผิดที่อัยการฟ้องอานนท์ในคดีนี้ ประกอบด้วย

    1. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
    2. ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มเพื่อการชุมนุมใดๆ โดยไม่จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด”
    3. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ทำให้เสียทรัพย์
    4. พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ บุกรุกหรือทําให้เสียหาย ทําลาย หรือทําด้วยประการใดๆ ให้ใช้การไม่ได้ตามปกติซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น ขัดขวางหรือกระทําการใดๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ เดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมระหว่างเวลา 18.00 - 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคําสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ

    5. พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มเพื่อการชุมนุมใดๆ โดยไม่จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด

    6. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร

    7. พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร

    8. พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน

    9. พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

    อัยการได้ขอให้ศาลนับโทษจำคุกของอานนท์ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีหมายเลขดำที่ อ.649/2562, อ.1308/2562, อ.287/2564, อ.1629/2564, อ.1668/2564 ของศาลอาญาด้วย

    คดีนี้ถือเป็นคดี 112 ที่อานนท์ถูกฟ้องเป็นคดีที่ 10 หลังศาลรับฟ้อง ได้คอนเฟอเรนซ์ไปที่เรือนจำเพื่อถามคำให้การเบื้องต้น โดยอานนท์ได้ปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2495/2564 ลงวันที่ 7 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/40122)
  • ทนายความเข้ายื่นประกันอานนท์ในคดีนี้และคดีม็อบแฮรี่พอตเตอร์ 1 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 โดยมีแม่อานนท์เป็นนายประกัน เสนอหลักประกันเป็นเงินสด 200,000 บาท คำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราว ระบุยืนยันว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง โดยพฤติการณ์ต่างๆ ในคดีนี้เป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ ไม่ได้มีลักษณะเป็นอาชญากรรมร้ายแรงหรือก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามที่โจทก์ฟ้อง

    นอกจากนี้จำเลยยังเป็นผู้มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน เดินทางมาตามนัดของตำรวจและอัยการอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งจำเลยเป็นทนายความ การขังจำเลยไว้ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปว่าความตามที่ต้องรับผิดชอบได้ ที่สำคัญที่สุดคือปัจจุบันมีสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 และจำเลยเคยติดโควิดในเรือนจำมาแล้ว หากไม่ได้รับการปล่อยตัวก็จะมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับการติดเชื้อซ้ำ

    ต่อมา พลีส เทอดไท ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติด มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาทั้งสองคดี โดยคดีนี้ระบุว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหาตามฟ้องมีอัตราโทษสูง ประกอบกับจำเลยถูกดำเนินคดีที่ศาลนี้หลายเรื่อง บางคดีศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณา หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวอาจจะหลบหนีได้ กรณีจึงไม่มีเหตุให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณา

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2495/2564 ลงวันที่ 14 ต.ค. 2564)
  • ระหว่างการพิจารณาคดี แกนนำคนอยากเลือกตั้ง ARMY57 อานนท์ นำภา ยังได้เขียนคำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้ และคดีม็อบแฮรี่พอตเตอร์ 1 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563

    คำร้องของอานนท์ระบุว่า จำเลยเคยยื่นประกันในคดีนี้แล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ให้ยกคำร้องจำเลย” จำเลยประสงค์ขอยื่นประกันตัวอีกครั้งในวันนี้ โดยหากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่ายังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ขอศาลได้โปรดบอกหรือชี้แจงเหตุที่อาจทำให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งให้แก่จำเลยทราบด้วย เพื่อที่จำเลยจะได้ขวนขวายแสดงเหตุนั้นต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณา

    อนึ่ง หากศาลพิจารณาคำร้องแล้วเห็นว่าพอจะพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในวันนี้ จำเลยขอขอบพระคุณศาลในการพิจารณาให้สิทธิจำเลยในการประกันตัวออกไปต่อสู้คดีมา ณ ที่นี้ด้วย และหากศาลเห็นว่าจำเป็นต้องไต่สวนจำเลย ขณะนี้จำเลยถูกขังอยู่ที่แดน 4 เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขอศาลมีคำสั่งเบิกตัวจำเลยมาไต่สวนด้วยเพื่อความยุติธรรม

    การยื่นประกันครั้งนี้มีแม่อานนท์เป็นนายประกัน เสนอหลักประกันเป็นเงินสด 300,000 บาท

    ต่อมา พริษฐ์ ปิยะนราธร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาทั้งสองคดี โดยคดีนี้ระบุว่า พิเคราะห์แล้ว ผู้ขอประกันไม่ได้แสดงผลอื่นในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเพิ่มเติมจากครั้งที่แล้ว ซึ่งศาลนี้เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

    อานนท์ถูกคุมขังมาแล้ว 71 วัน โดยปัจจุบันอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2495/2564 ลงวันที่ 19 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/36761)
  • ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 4 นักกิจกรรม ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และอานนท์ นำภา ในทุกคดีที่มีหมายขังของศาลอาญา โดยใช้ตำแหน่ง ส.ส.พรรคก้าวไกล อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล และธีรัจชัย พันธุมาศเป็นหลักประกัน สำหรับอานนท์ทนายได้ยื่นประกันในคดีนี้ และคดี #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์1 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563

    เวลา 15.10 น. พลีส เทอดไทย ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติด มีคำสั่งยกคำร้องทุกฉบับ คำสั่งในคดีอานนท์ทั้งสองระบุว่า พิเคราะห์แล้ว กรณียังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณา ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลย

    ทำให้อานนท์ยังคงถูกคุมขังในเรือนจำต่อไป หลังถูกขังมาแล้ว 77 วัน

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2495/2564 ลงวันที่ 26 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/36989)
  • ที่ศาลอาญา ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 15 นักกิจกรรมและประชาชน ในคดีทางการเมือง รวมทั้งอานนท์ในคดีนี้ด้วย

    เวลา 16.50 น. อรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งยกคำร้องทุกฉบับ ให้เหตุผลคล้ายกัน โดยในคดีนี้ระบุว่า “ไม่ปรากฏพยานหลักฐาน และเหตุผลอันควรเชื่อว่าจำเลยจะไม่ไปก่อเหตุอันตรายอีก”

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 2495/2564 ลงวันที่ 3 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/37463)
  • ภายหลังศาลอาญามีคำสั่งไม่เพิกถอนประกันอานนท์ในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ทนายความได้ยื่นขอประกันอานนท์อีกครั้งในคดีที่เขาถูกหมายขังอยู่ คือคดีนี้และคดีชุมนุม “เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย” หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563

    คำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยสรุประบุว่าเนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงใหม่ว่า ในคดีหมายเลขดำที่ 287/2564 ของศาลนี้ จำเลยได้รับให้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวตลอดมา โดยศาลมีเงื่อนไขห้ามมิให้จำเลยไปกระทำการให้เกิดความวุ่นวายหรือกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

    ต่อมาโจทก์ในคดีดังกล่าวได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลยในคดีดังกล่าว ซึ่งศาลได้ไต่สวนคำร้องของโจทก์แล้ว และมีคำสั่งไม่เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลยแต่มีข้อกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม เนื่องจากข้อเท็จจริงและข้อกำหนดของศาลข้างต้นเป็นเงื่อนไขและข้อกำหนดเพิ่มเติม และยังชี้ให้เห็นว่าจำเลยมิได้กระทำการผิดเงื่อนไขใดๆ ของศาลอาญาเลย แต่เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาคดีศาล จึงได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มขึ้นดังกล่าวแล้ว

    ข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นย่อมเป็นข้อเท็จจริงใหม่ และเป็นการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม ซึ่งย่อมมีผลเพิ่มเติมให้การพิจารณาวินิจฉัยของศาลในการขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคราวนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคราวก่อนๆ ประกอบกับข้อหาและฐานความผิดในคดีนี้กับในคดีหมายเลขดำที่ 287/2564 เป็นข้อหาและฐานความผิดเดียวกัน ซึ่งเป็นเหตุเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งของศาลอาญาในคดีนี้ที่จะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยได้

    เวลา 17.00 น. ชาญชัย ณ พิกุล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวอานนท์ในทั้งสองคดี ระบุเช่นกันว่าศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย โดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง

    ปัจจุบันอานนท์ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 87 วัน โดยถูกคุมขังจากการไม่ได้รับการอนุญาตประกันตัวใน 3 คดี ประกอบด้วย คดีม็อบแฮรี่พอตเตอร์ 1 วันที่ 3 ส.ค. 2563, คดีม็อบ 14 ต.ค. 2563 เดินทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาล และคดีม็อบแฮรี่พอตเตอร์ 2 วันที่ 3 ส.ค. 2564

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2495/2564 ลงวันที่ 5 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/37513)
  • ทนายความได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ใน 2 คดี ได้แก่ คดีนี้ และคดี “เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย” หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563

    คำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ครั้งนี้ นอกจากยืนยันว่า มีข้อเท็จจริงใหม่ หลังศาลอาญาไม่เพิกถอนประกันในคดีหมายเลขดําที่ 287/2564 ของศาลนี้ หรือคดีชุมนุม 19 ก.ย. 2563 และเป็นการกําหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม ซึ่งย่อมมีผลให้การพิจารณาของศาลในการขอปล่อยตัวชั่วคราวจําเลยในคราวนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในคราวก่อนๆ ได้แล้ว ยังได้เสนอเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า จะอยู่ในเคหะสถานตลอดเวลา เว้นแต่มีเหตุจําเป็นเพื่อการรักษาพยาบาล เพื่อการประกอบวิชาชีพทนายความ หรือเหตุอื่น เมื่อได้รับอนุญาตจากศาล ยินยอมติด EM และหากศาลเห็นสมควรกําหนดเงื่อนไขอื่นใด จำเลยก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไข

    คำร้องยังกล่าวถึง เหตุที่กฎหมายจะยกเว้นไม่ให้ประกันที่ว่า “ผู้ต้องหาหรือจําเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น” นั้น ประเทศไทยนํามาจากกฎหมาย Bait Reform Act of 1984 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งกําหนดให้มีการคุมขังระหว่างพิจารณาเพื่อป้องกันอันตรายต่อชุมชน (danger to the community) อย่างไรก็ตาม กฎหมายไทยกลับมีหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขแตกต่างจากกฎหมายในประเทศแม่แบบมาก ซึ่งนําไปสู่การตีความที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน และเป็นการละเมิดสิทธิของบุคคลอย่างร้ายแรง

    ความหมายของคําว่า “อันตราย” กฎหมาย Bait Reform Act ไม่ได้ให้ความหมายของคําว่า "Danger to the Community” แต่ได้กําหนดปัจจัย (Factors) หลายประการที่ศาลจะต้องพิจารณาว่าจะให้ประกันหรือไม่ แต่ปัจจัยที่สําคัญที่สุดประการหนึ่งก็คือ การกระทําความผิดที่ถูกกล่าวหา (Offence) นั้นเป็นอาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรง (crime of violence), อาชญากรรมการก่อการร้าย (crime of terrorism), การกระทําความผิดที่เด็กเป็นผู้เสียหาย (crime involving minor victim), การกระทําความผิดเกี่ยวกับสารเคมีควบคุม (Controlled substance) และการใช้อาวุธ ระเบิดหรือการทําลายล้าง (firearm, explosive, or destructive device) หรือไม่

    ฐานความผิดเหล่านี้ ทั้งหมดล้วนแต่เป็นการกระทําความผิดที่เกี่ยวข้องกับการใช้กําลังทางกายภาพต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นทั้งสิ้น จึงเห็นได้ว่า เหตุที่กฎหมายจะยกเว้นไม่ให้ประกันตัวนั้น ต้องเป็นไปเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อบุคคลหรือทรัพย์เท่านั้น ไม่ใช่ความผิดทางการเมือง หรือความมั่นคงของรัฐ ที่รัฐเป็นผู้เสียหาย ดังนั้น ความหมายของ “อันตรายประการอื่น” จึงไม่ได้หมายความถึงความผิดใดๆ ก็ได้ หรือความผิดที่ได้เคยถูกฟ้องมาแล้ว

    อีกทั้งในการจะคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว รัฐต้องมีหน้าที่ในการนําสืบข้อเท็จจริงว่า หากศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาหรือจําเลยนั้น จะไปก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่นหรือสังคม รัฐต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดแจ้งและน่าเชื่อถือมาแสดง ไม่ใช่หน้าที่ของศาลที่จะไปคาดหมายเช่นนั้นเอง และไม่ใช่หน้าที่ของผู้ต้องหาหรือจําเลยที่จะต้องมานําสืบให้ศาลเห็นว่า หากตนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ตนจะไม่หลบหนีหรือก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่น เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็ย่อมขัดกับหลักสันนิษฐานความบริสุทธิ์อย่างชัดแจ้ง

    อย่างไรก็ตาม หากศาลเห็นว่ายังไม่ได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนเพียงพอ ขอให้นัดไต่สวนในวันที่ 12 พ.ย. 2564 เวลา 13.00 น. โดยในวันดังกล่าวจําเลยจะต้องถูกเบิกตัวมาที่ศาลอาญาอยู่แล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้โอกาสจําเลยได้แสดงพยานหลักฐานต่อศาลประกอบการพิจารณาใช้ดุลพินิจสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วย

    เวลา 15.30 น. มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์ มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวอานนท์ในทั้งสองคดี ระบุว่า “ที่ประชุมผู้บริหารศาลอาญาพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลนี้เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยตลอดมา จนครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 พ.ย. ศกนี้ เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีตามที่ปรากฏแล้ว ยังเห็นว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม คงให้ขังจำเลยไว้ โดยเหตุเกรงว่าจำเลยจะก่อเหตุร้าย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 (3) เช่นเดิม”

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2495/2564 ลงวันที่ 9 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/37592)
  • นัดพร้อมเพื่อประชุมคดี สอบคําให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกําหนดวันนัดสืบพยาน โจทก์ จําเลย และผู้รับมอบฉันทะทนายจําเลย มาศาล ทนายจําเลยยื่นคําร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากเพิ่งได้รับการแต่งตั้งเข้ามาเป็นทนายความในคดีนี้ และจําเลยถูกคุมขังมาโดยตลอดทําให้จําเลยไม่มีโอกาสได้ปรึกษาคดีกับทนายความ อีกทั้งทนายจําเลยติดพิจารณาคดีที่ศาลอื่น โจทก์ไม่คัดค้านการขอเลื่อนคดี ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อนคดีไปนัดพร้อมเพื่อประชุมคดี สอบคําให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกําหนดวันนัดสืบพยานใหม่ ในวันที่ 31 ม.ค. 2565 เวลา 15.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2495/2564 ลงวันที่ 22 พ.ย. 2564)
  • ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ในคดีนี้และทุกคดีของศาลอาญาที่มีหมายขัง รวมถึงยื่นประกันแกนนำ "ราษฎร" อีก 3 คนด้วย

    ต่อมา พริษฐ์ ปิยะนราธร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งเหมือนกันในทุกคำร้อง นัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในวันที่ 17 ธ.ค. 2564 เวลา 10.00 น. โดยให้เบิกจำเลยไต่สวนทางวีดีโอคอนเฟอเรนซ์

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 2495/2564 ลงวันที่ 2 ธ.ค. 2564)
  • ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดไต่สวนคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 4 แกนนำราษฎร ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ซึ่งถูกขังตามหมายขังระหว่างพิจารณาในคดีชุมนุมต่างๆ และทนายยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้าวันนัด ทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้เบิกตัวทั้ง 4 คน มาไต่สวนที่ศาล

    บรรยากาศในศาลอาญาช่วงเช้ามีการตั้งจุดคัดกรอง วัดอุณหภูมิ และมีบัตรชั่วคราวสำหรับบุคคลที่จะเข้าร่วมฟังการไต่สวน ส่วนที่ห้องพิจารณา 704 เจ้าหน้าที่ศาลไม่ได้เก็บเครื่องมือสื่อสารเหมือนที่ผ่านมา ทั้งยังให้ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับคดีเข้าร่วมฟังการไต่สวนครั้งนี้ได้ โดยมีผู้สังเกตการณ์จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมสังเกตการณ์

    เวลา 09.50 น.เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ราว 8 นาย คุมตัวนักกิจกรรมทั้งสี่ในชุดผู้ต้องขังสีน้ำตาลอ่อน สวมหน้ากากอนามัยเข้าห้องพิจารณา ครอบครัวและประชาชนที่มาให้กำลังใจต่างทยอยเข้าไปสวมกอดและทักทาย ในช่วงเวลาที่การพิจารณาคดียังไม่เริ่ม

    ++“อานนท์ นำภา” ชี้ ติดคุกว่าความไม่ได้ ศาลยังคงไม่ได้ประกันตัวคดีอื่น แม้ศาลเคยยกคำร้องขอถอนประกันมาแล้ว++

    เวลา 11.20 น. อานนท์เข้าเบิกความว่า ตนจบเนติบัณฑิตรุ่น 62 ประกอบอาชีพทนายความมา 13 ปี ในคดีนี้ตนถูกขังมาตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. 2564 จนถึงปัจจุบัน ระหว่างถูกคุมขังครั้งก่อน ตนได้ติดโควิดในเรือนจำเมื่อช่วงกลางปี และปัจจุบันยังมีอาการ Long COVID (อาการที่หลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19) ทำให้เหนื่อยง่าย

    กอปรกับการที่ตนประกอบอาชีพทนาย การทำหน้าที่ว่าความในคดีต่างๆ ทำได้ลำบาก เนื่องจากถูกคุมขังอยู่ หลายคดีต้องเลื่อนการพิจารณา ทั้งที่เดิมในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่ตนเป็นจำเลย ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ต่อมามีพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนมายื่นคำร้องขอเพิกถอนประกัน เนื่องจากเห็นว่าผิดเงื่อนไข ที่ตนเข้าร่วมชุมนุมทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย ก่อนศาลสั่งให้มีการไต่สวนและยกคำร้องโจทก์ไป โดยวินิจฉัยว่าตนไม่ได้กระทำผิดเงื่อนไข

    เหตุที่ตนไม่ได้ประกัน หลังยื่นขอประกันหลายครั้ง เนื่องจากศาลให้เหตุผลว่าจะไปกระทำความผิดซ้ำ หากแต่ก่อนหน้านั้น ศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า การกระทำที่ถูกร้องให้เพิกถอนประกันนั้นไม่ได้เป็นการกระทำผิดเงื่อนไข

    สำหรับคดีที่ถูกฟ้องใหม่ เป็นคดีที่เกิดขึ้นก่อนการไต่สวนถอนประกัน และหลังจากที่ไต่สวนเสร็จแล้ว ตนถูกเพิ่มเงื่อนไขอีก 2 ข้อ คือ ห้ามออกจากเคหสถาน 24 ชั่วโมง และให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) แต่ยังไม่ได้ปฎิบัติตาม เนื่องจากถูกขังตามหมายขังคดีอื่นๆ

    ก่อนศาลถามว่า เคยถูกไต่สวนในคดีละเมิดอำนาจศาลไหม อานนท์ตอบไม่เคย

    ++อนุญาตอัยการยื่นคำคัดค้าน ก่อนนัดฟังคำสั่ง 24 ธ.ค.++

    เวลา 14.45 น. ภายหลังศาลไต่สวนจำเลยพร้อมทั้งพยานแล้ว ได้กล่าวกับจำเลยว่า จะต้องนำข้อเท็จจริงจากการไต่สวนไปพิจารณาในที่ประชุมของศาล เนื่องจากไม่อยากให้การสั่งปล่อยหรือไม่ปล่อยเป็นการสั่งโดยผู้พิพากษาคนเดียว พร้อมทั้งย้ำว่า อย่าเข้าใจว่าการให้โอกาสไต่สวนในครั้งนี้จะเป็นเหตุให้ปล่อยตัวได้ทันที การอ้างว่าจะต้องกลับไปเรียนหรือกลับไปทำงานไม่ใช่เหตุที่จะนำไปสู่การปล่อยตัว ไม่เช่นนั้นทุกคนที่ถูกขังอยู่ก็คงอ้างได้

    นอกจากนี้ศาลยังกล่าวด้วยว่า ไม่ใช่ว่าจำเลยแถลงยอมรับเงื่อนไขแล้วศาลจะต้องปล่อยตัวเท่านั้น การเสนอเงื่อนไขไม่ใช่เหตุปล่อยตัวอย่างเดียว ศาลจะต้องพิจารณาที่การกระทำ ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าควรให้ปล่อย จึงจะอนุญาตปล่อยชั่วคราว ไม่ว่าจะสั่งอย่างไร สังคมก็จะมีคำวิพากษ์วิจารณ์ต่อคำสั่งนั้น ศาลจึงต้องให้โอกาสในการเรียกมาไต่สวน

    จากนั้นศาลได้ถามพนักงานอัยการฝ่ายโจทก์ว่า จะคัดค้านคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ ก่อนกล่าวว่าอันที่จริงอัยการได้แถลงคัดค้านไว้แล้วก่อนจะมีการไต่สวน อัยการแถลงว่า จะต้องคัดค้านเนื่องจากคดีทั้งหมดเป็นคดีที่มีโทษสูง หากปล่อยตัวเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี

    ต่อมา คณะพนักงานอัยการราว 15 คน ได้ปรึกษากันอีกครั้ง ก่อนจะแถลงว่าไม่สามารถแถลงคัดค้านภายในวันนี้ได้ เนื่องจากจำเลยแต่ละคนมีหลายคดี จึงขอทำคำแถลงเป็นเอกสารมายื่นภายในสัปดาห์หน้าซึ่งอาจจะเป็นวันพุธที่ 22 ธ.ค. 2564

    อานนท์ได้ขอแถลงต่อศาลว่า ตนรู้สึกว่าขั้นตอนการไต่สวนค่อนข้างแปลก เนื่องจากเปิดให้มีการไต่สวนแล้ว ยังจะเปิดให้มีการแถลงคัดค้านหลังเสร็จสิ้นการไต่สวนอีก ซึ่งตนกังวลว่าหากอัยการทำคำแถลงมาแล้วปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงใหม่ ฝ่ายจำเลยก็จะไม่ได้โต้แย้ง จะเป็นเสมือนการตอกฝาโลงตนหรือไม่ จึงขอท้วงติงไว้

    ศาลกล่าวตอบอานนท์ว่า จำเลยอย่าบังคับศาลมากเกินไป ศาลได้ย่นย่อการพิจารณาให้สั้นลงโดยไม่ได้เรียกพนักงานสอบสวนแต่ละคดีมาไต่สวน หรืออานนท์อยากจะให้มีการสืบพยานอีกซัก 2-3 นัด ซึ่งมันก็อาจจะช้าออกไปอีก อานนท์จึงกล่าวว่า การพูดอย่างนี้ก็เหมือนเอาคนที่ถูกคุมขังอยู่เป็นตัวประกัน เพราะเวลาของคนข้างนอกกับคนที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำไม่ได้เท่ากัน

    หลังศาลและจำเลยโต้เถียงเหตุผลกันอยู่ราวครึ่งชั่วโมง ศาลจึงกล่าวสรุปว่า เพื่อให้เกิดความยุติธรรม ต้องให้โอกาสทั้งสองฝ่ายเต็มที่ โดยโจทก์ได้ยืนยันว่าจะไม่มีข้อเท็จจริงใหม่ การทำหนังสือคัดค้านเป็นเพียงการคัดค้านตามปกติ ส่วนฝ่ายจำเลยก็สามารถทำคำแถลงคล้ายกับการทำคำแถลงปิดคดีได้เช่นกันหากประสงค์จะทำ

    ให้พนักงานอัยการยื่นคำคัดค้านคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหนังสือภายในวันที่ 23 ธ.ค. 2564 และนัดฟังคำสั่งว่าศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ในวันที่ 24 ธันวาคม 2564 ในเวลา 13.00 น.

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/38980)
  • เวลา 13.30 น. ศาลได้เบิกตัวอานนท์, พริษฐ์ และภาณุพงศ์ รวมทั้งจตุภัทร์ ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนคดีไม่ได้เดินทางมาฟังคำสั่งด้วยแต่อย่างใด

    เวลา 14.10 น. พริษฐ์ ปิยะนราธร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา อ่านคำสั่งไม่ให้ประกันทั้งหมด กรณีของอานนท์ระบุเหตุผลว่า

    “พิเคราะห์แล้ว ที่ประชุมผู้บริหารศาลอาญาเห็นว่า เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ของจำเลยในการแสดงออก ปราศรัย หรือชักนำในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ประกอบกับจำเลยถูกกล่าวหาในลักษณะเช่นนี้ที่ศาลนี้และศาลอื่นหลายคดี

    กรณีมีเหตุอันควรให้เชื่อว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยจะไปกระทำการในทำนองเดียวกันกับที่ถูกฟ้องร้องหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ในชั้นนี้จึงยังไม่มีข้อเท็จจริงในทางคดีที่เปลี่ยนแปลงไป ย่อมไม่มีเหตุที่ศาลจะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่ศาลสั่งไว้โดยชอบแล้ว ยกคำร้อง”

    ศาลยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ที่ประชุมผู้บริหารศาลอยากให้ประกันมากนะ แต่เมื่อพิจารณาถึงความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อปล่อยตัวออกมาแล้วก็จึงมีคำสั่งแบบนี้ ขนาดนี้วันนี้ยังมีเลย” และกล่าวต่ออีกว่า “ในชั้นนี้มีคำสั่งไม่ให้ประกัน แต่ไม่ได้หมายความว่า ครั้งหน้าจะไม่ให้ประกันนะ”

    หลังผู้พิพากษาเดินออกจากห้องพิจารณาคดีไป แม่ของภาณุพงศ์ จตุภัทร์ และอานนท์ ทยอยเดินไปที่ด้านหน้าของห้องพิจารณาเพื่อสับเปลี่ยนกันพูดคุยกับลูกของตัวเองผ่านจอวิดีโอ แม่ของอานนท์พูดเป็นภาษาอีสานใจความว่า “คิดถึงลูกนะ ขอให้เข้มแข็ง”

    ทั้งนี้ ในวันเดียวกัน กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุ่มทะลุฟ้า ได้จัดกิจกรรมจับตาผลการให้ประกันตัวนักกิจกรรมทั้ง 4 ราย โดยได้นัดหมายมวลชนไปรวมตัวกันบริเวณหน้าศาลอาญาเพื่อรอรับเพื่อนกลับบ้านตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป และจัดกิจกรรม “เดิน หยุด ขัง” โดยนัดหมายประชาชนให้เริ่มต้นเดินตั้งแต่ห้างสรรพสินค้ายูเนี่ยนมอล์ในเวลา 11.00 น. เพื่อเดินไปจนถึงศาลอาญา รัชดาฯ

    ภายหลังมวลชนเดินทางมาถึงหน้าศาลอาญาในเวลาประมาณ 13.30 น. และต่อมาทราบว่าศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวนักกิจกรรมทั้ง 4 ราย กลุ่มมวลชนได้จัดกิจกรรมพูดปราศรัยเกี่ยวกับการไม่ทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรงของศาลและสถาบันตุลาการ รวมไปถึงมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น เผาชุดครุยผู้พิพากษา เผาหนังสือประมวลกฎหมายอาญา และขีดเขียนพ่นสีสเปรย์ที่ป้ายของศาลอาญา เพื่อแสดงความไว้อาลัยแก่กระบวนการยุติธรรมไทย

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/39156)
  • เวลาประมาณ 15.00 น. อานนท์ นำภา ได้ถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาที่ศาลอาญาในนัดตรวจพยานหลักฐาน ทนายจำเลยแถลงว่า เนื่องจากเพิ่งได้รับสำเนาคำฟ้องโจทก์ในวันนี้ จึงขอศาลเลื่อนตรวจพยานออกไปอีกสักนัดหนึ่ง โจทก์ไม่ค้าน ศาลอนุญาตให้เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานไปเป็นวันที่ 28 ก.พ. 2565 เวลา 13.30 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2495/2564 ลงวันที่ 31 ม.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40122)
  • ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ อานนท์ นำภา ในคดีการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองที่มีหมายขังทั้งหมดของศาลอาญา ในส่วนของอานนท์รวมแล้ว 9 คดี ประกอบด้วย คดี “เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย” หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563, คดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563, คดี #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563, คดี #ม็อบ17พฤศจิกา63 ที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563, คดี #ม็อบ25พฤศจิกาไปscb เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2563, คดีชุมนุม #ปลดอาวุธศักดินาไทย หน้าราบ 11 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2563, คดีชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2563, คดีปราศรัยหน้า สน. บางเขน 21 ธ.ค. 2563 และคดีโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ 3 ข้อความ ช่วง 1-3 ม.ค. 2564

    สำหรับคดีของศาลอาญาข้างต้น อานนท์เคยยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง และศาลเคยให้มีการไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2564 อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมผู้บริหารศาลอาญาก็ยังยืนกรานไม่ให้ประกัน ‘เพนกวิน-อานนท์-ไมค์-ไผ่’ ในครั้งนั้น อ้างเหตุว่า “เกรงว่าจะกระทำผิดซ้ำ”

    การยื่นประกันในครั้งล่าสุดนี้ อานนท์ได้ระบุในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในทุกคดีของทุกศาลเช่นเดียวกับครั้งที่ผ่านมาว่า จะไม่กระทําการใดๆ ให้สถาบันกษัตริย์เกิดความเสื่อมเสีย ไม่ทํากิจกรรมใดที่จะทําให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย ไม่เดินทางออกนอกประเทศ และพร้อมที่จะเดินทางมาศาลตามที่มีการนัดหมายทุกครั้ง รวมถึงยินยอมติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ทั้งยังมีคำร้องเพิ่มเติมเข้ามาว่า

    1. นับจนถึงวันนี้จําเลยถูกคุมขังไว้ในระหว่างการพิจารณาคดีเกินกว่า 6 เดือนแล้ว ซึ่งในคดีนี้พยานโจทก์และพยานจําเลยมีจํานวนมาก ยังไม่อาจกําหนดได้ว่าจะสามารถพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นเสร็จสิ้นเมื่อใด และยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานใด ๆ ในการสืบพยานโจทก์ที่ผ่านมาให้เห็นถึงความผิดของจําเลย
    2. ในคดีหมายเลขดําที่ อ.287/2564 ของศาลอาญา (คดี 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร) ซึ่งมีจําเลยคนอื่น ๆ ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดร่วมกันกับจําเลยทั้งสองนี้ ศาลก็ได้มีคําสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจําเลยในคดีนี้จํานวนหลายคน เช่น ปนัสยา หรือรุ้ง สิทธิจิรวัฒนกุล, จตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน บุญภัทรรักษา, ภาณุพงศ์ หรือไมค์ จาดนอก โดยศาลได้กําหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ให้จําเลยปฏิบัติตาม ก็ปรากฏว่าจําเลยเหล่านั้นได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลได้เคร่งครัดทุกประการ และไม่ได้ผิดเงื่อนไขของศาลเลย ซึ่งจําเลยทั้งสองก็ขอยืนยันว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ เหมือนดังเช่นจําเลยคนอื่นที่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวไปก่อนหน้านี้

    เวลา 16.30 น. พลีส เทอดไทย ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติดของศาลอาญา มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์และเพนกวินในทุกคดี ระบุในคำสั่งว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีโดยรวมแล้ว กรณีเห็นควรให้โอกาสจําเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เสนอต่อศาลสักช่วงระยะเวลาหนึ่ง อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณามีกําหนดเวลา 3 เดือน (ครบกําหนดวันที่ 22 พ.ค. 2565) กําหนดเงื่อนไข

    1. ห้ามทํากิจกรรมหรือกระทําการใด ๆ อันจะทําให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน รวมทั้งห้ามกระทําการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล
    2. ห้ามเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
    3. ให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ EM
    4. ห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 21.00 – 06.00 น. เว้นแต่มีเหตุจําเป็นเพื่อการรักษาพยาบาล ไปศึกษาเล่าเรียน ไปสถานีตํารวจ สํานักงานอัยการ หรือศาล หรือได้รับอนุญาตจากศาล
    5. ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
    หากจําเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ศาลอาจมีคําสั่งเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมคําสั่งเดิมตามพฤติการณ์ของจําเลยที่เปลี่ยนไป ตามความเหมาะสมและความร้ายแรงของพฤติการณ์ต่อไป นอกจากนี้ กรณีครบกําหนดการปล่อยชั่วคราวโดยมีกําหนดระยะเวลาแล้ว หากจําเลยไม่มีพฤติการณ์ที่ผิดเงื่อนไข ศาลจะมีคําสั่งเปลี่ยนแปลงคําสั่งเดิมต่อไป

    อย่างไรก็ตาม อานนท์ซึ่งถูกขังมาแล้ว 196 วัน ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ เนื่องจากศาลอาญากรุงเทพใต้ยังคงยืนยันไม่ให้ประกันในอีก 2 คดี

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 2495/2564 ลงวันที่ 22 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40716)
  • วีระ พรหมอยู่ องค์คณะผู้พิพากษาในคดี มีเหตุจำเป็นไม่อาจมาศาลในนัดตรวจพยานหลักฐานนี้ได้ จึงให้ จักรพงศ์ โฮมแพน ผู้พิพากษาประจําศาล ช่วยทํางานชั่วคราวในตําแหน่งผู้พิพากษาศาลอาญา มานั่งพิจารณาคดีนี้แทน ตามที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามอบหมาย

    เวลา 13.30 น. ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้อานนท์ฟัง โดยเขาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังการตรวจพยานเอกสาร โจทก์และจำเลยไม่มีข้อเท็จจริงใดที่รับกันได้

    อัยการโจทก์แถลงติดใจสืบพยานทั้งหมด 56 ปาก ประกอบด้วย ผู้กล่าวหาในคดีนี้ 3 ราย, เจ้าหน้าที่ดูแลการชุมนุมและการจราจร 6 ราย, เจ้าหน้าที่สืบสวนติดตามพฤติกรรมของกลุ่มผู้ชุมนุม 3 ราย, เจ้าหน้าที่ตํารวจฝ่ายสืบสวน, เจ้าหน้าที่สืบสวนหาข่าวและทําการถอดเทปบันทึกภาพและเสียงกิจกรรมชุมนุมใหญ่ #ม็อบ14ตุลา 3 ราย, เจ้าหน้าที่ดูแลระบบและรับแจ้งเหตุ 191, เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบการจราจรบริเวณถนนและทางด่วน, เจ้าหน้าที่สืบสวนภาพหาความเชื่อมโยงของกลุ่มผู้ชุมนุม, เจ้าหน้าที่รับหนังสือผู้มาติดต่อราชการและรับอีเมล, เจ้าหน้าที่ป้องกันและควบคุมโรค, เจ้าหน้าที่ผู้แปลถ้อยคําการถอดเทป 4 ราย, ผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเมืองการปกครองและการเคลื่อนไหวของกลุ่มทางการเมือง, เจ้าหน้าที่ผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับถ้อยคําและความหมายของคําปราศรัย 7 ราย, เจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์ รถกระบะ และรถบรรทุกที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม 6 ราย และพนักงานสอบสวน 7 ราย

    ด้านจําเลยและทนายจําเลยแถลงแนวทางการต่อสู้คดีว่า การปราศรัยของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต บนกรอบพื้นฐานของรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, การชุมนุมเป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และจําเลยไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมแต่อย่างใด

    ฝ่ายจำเลยแถลงขอสืบพยานรวม 29 ปาก ประกอบด้วย ประจักษ์พยานที่อยู่ในเหตุการณ์ชุมนุม 7 ราย, นักวิชาการด้านกฎหมาย 4 ราย, นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ 4 ปาก, นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์, พยานเกี่ยวกับข้อหามาตรา 112 จํานวน 11 ปาก และพยานเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19

    ต่อมา ศาลได้กำหนดวันนัดสืบพยานรวมทั้งหมด 10 นัด เป็นนัดสืบพยานโจทก์ 6 นัด และนัดสืบพยานจำเลย 4 นัด โดยกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์เป็นวันที่ 20-23 และ 27-28 มิ.ย. 2566 และสืบพยานจำเลยวันที่ 29-30 มิ.ย. และ 4-5 ก.ค. 2566 เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 2495/2564 ลงวันที่ 28 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40975)
  • อัยการนำพยานโจทก์เข้าสืบทั้งหมด 22 ปาก ในระหว่างวันที่ 20-23, 27–28 มิ.ย. 2566 และจำเลยอ้างตัวเป็นพยานจำเลยขึ้นเบิกความต่อสู้ด้วยตนเองในนัดสืบพยานวันสุดท้าย เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2566

    โจทก์นำสืบว่าการชุมนุมในวันดังกล่าวไม่เป็นไปตามกรอบกฎหมาย การเชิญชวนเข้าร่วมชุมนุมของแกนนำทำให้ทรัพย์สินของกรุงเทพมหาครเสียหาย อีกทั้งการกล่าวข้อความตามฟ้องของจำเลยสร้างความเสื่อมเสียต่อองค์พระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนหลงเชื่อข้อความดังกล่าว และทำให้กษัตริย์ไม่เป็นที่เคารพ ศรัทธาของประชาชน

    ด้านจำเลยต่อสู้ว่า การปราศรัยข้อความตามฟ้องมีเจตนาเพียงต้องการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมและใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุม ซึ่งมีมากกว่า 6,000 คน และไม่ได้มีเจตนาให้ร้ายต่อรัชกาลที่ 10 อย่างที่โจทก์กล่าวหา

    ทั้งนี้ จำเลยตั้งข้อสังเกตว่า แม้ตำรวจประกาศจะสลายการชุมนุม แต่ก็ปล่อยให้การชุมนุมดำเนินไปจนยุติลงในเวลาหลังเที่ยงคืนของอีกวันหนึ่ง และเมื่อการชุมนุมยุติลง ผู้ชุมนุมทยอยเดินทางกลับบ้านแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงค่อยเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมแกนนำรวมถึงผู้ชุมนุมบางส่วน

    ++รองผู้กำกับสืบสวน สน.สำราญราษฎร์ ผู้กล่าวหา เบิกความยอมรับว่ารู้เรื่องการชุมนุมก่อนวันจริง

    พ.ต.ต.กฤติเดช เข็มเพชร์ ในขณะเกิดเหตุเป็นรองผู้กำกับสืบสวน สน.สำราญราษฎร์

    เกี่ยวกับคดีนี้ พยานได้รับรายงานจากสายข่าวว่า จะมีการจัดชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 โดยจะเริ่มต้นชุมนุมที่บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ ถนนราชดำเนิน ซึ่งหลังจากได้รับทราบข่าวการชุมนุม พยานได้ออกแผนกำหนดหน้าที่ของฝ่ายสืบสวน ฝ่ายบันทึกวิดีโอถอดเทป และรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ

    พยานได้ประสานงานขอความร่วมมือจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 และ 6 รวมถึงกองบัญชาการตำรวจสันติบาล เพื่อประสานงานเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมและออกแผนการควบคุมพื้นที่ชุมนุม ซึ่งพยานก็มีส่วนร่วมในการออกแบบควบคุมดังพื้นที่ดังกล่าวด้วย

    นอกจากนี้ พยานได้อธิบายถึงเหตุผลที่ต้องมีการประสานงานจากหลายหน่วยงาน เนื่องจากในวันดังกล่าวจะมีขบวนเสด็จของรัชกาลที่ 10 ซึ่งเสด็จออกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตัวพยานและพวกก็ต้องไปรับเสด็จด้วย

    พ.ต.ต.กฤติเดช เบิกความต่อไปว่า ในคดีนี้มีผู้กระทำผิดหลายคน ซึ่งถูกฟ้องหลายข้อหาต่างกัน และในวันที่ 6 ต.ค. 2563 กลุ่มคณะราษฎร ได้มีการตั้งโต๊ะแถลงข่าวบริเวณสนามหลวง เชิญชวนให้ผู้คนเข้าร่วมการชุมนุมในวันครบรอบเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 โดยในการแถลงข่าว พยานจำได้ว่ามีกลุ่มแกนนำผู้ชุมนุมราว 10 คน โดยมีอานนท์ จำเลยในคดีนี้ร่วมแถลงข่าวด้วย

    จากการสืบสวน พยานได้ทราบว่าแถลงการณ์ในวันดังกล่าว ได้มีการเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 เวลา 14.00 น. ซึ่งภายหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเวลา 18.00 น. ซึ่งในการชุมนุมดังกล่าว พยานเข้าใจว่ามีข้อเรียกร้อง 3 ประการคือ 1. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2. เปลี่ยนแปลงกฎหมายรัฐธรรมนูญ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

    นอกจากนี้ พ.ต.ต.กฤติเดช ยังได้ทราบว่า จำเลยมีการโพสต์เชิญชวนผ่านโซเชียลมีเดีย ‘ปลุกระดม’ ให้คนออกมา แต่พยานจำไม่ได้ว่าจำเลยโพสต์ว่าอะไรบ้าง

    ส่วนเหตุการณ์ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 พยานกล่าวว่าในช่วงเวลา 08.40 น. จำเลยได้ขึ้นปราศรัยโดยมีการพูดที่เข้าข่ายการทำผิดมาตรา 112 โดยกล่าวในทำนองว่า หากมีการสลายการชุมนุมในวันนี้ คนที่จะสั่งจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากในหลวงรัชกาลที่ 10

    หลังจากนั้นอานนท์ได้ขึ้นปราศรัยอีกครั้งหนึ่งในช่วงเวลาหลังเที่ยง เนื่องจากมีมวลชนจำนวนมาก จึงทำให้แกนนำประกาศเชิญชวนให้มวลชนนำกระถางต้นไม้รอบอนุสาวรีย์ออก เพื่อให้มวลชนสามารถขึ้นไปยืนได้

    และเมื่อเวลา 14.00 น. แกนนำได้เคลื่อนพามวลชนออกไปจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และในการเคลื่อนไหวดังกล่าวก็มีการทับซ้อนกันในหลายพื้นที่ของสถานีตำรวจที่ดูแลท้องที่อยู่

    ส่วนในเรื่องการควบคุมโรคในขณะนั้น พยานเบิกความว่าไม่มีการปฏิบัติตามมาตรฐานต่าง ๆ ไม่ได้มีการตั้งจุดคัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิ ไม่มีจุดบริการแอลกอฮอล์ ไม่มีการเว้นระยะห่าง

    พ.ต.ต.กฤติเดช เบิกความต่อไปว่า ในส่วนของการติดเครื่องขยายเสียงตามรถยนต์ที่ใช้เคลื่อนขบวนชุมนุม ไม่มีการขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเมื่อมีจำนวนมวลชนที่มากขึ้น ก็เริ่มเกิดการกีดขวางทางจราจร ตลอดจนมีการตั้งเวทีอยู่บริเวณพื้นที่หน้าร้านแมคโดนัลด์

    เมื่ออัยการโจทก์ถามพยานว่า การที่จำเลยและพวกได้ประกาศให้มวลชนช่วยกันเคลื่อนย้ายต้นไม้ออกไปจากบริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีความเสียหายมากน้อยเพียงใด พยานตอบว่า เชื่อว่าต้นไม้มีความเสียหายบางส่วน แต่ไม่สามารถตอบได้ว่ามูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนเท่าใด เนื่องจากว่าต้นไม้ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร ที่มีเทศกิจดูแลอยู่

    อัยการโจทก์จึงถามว่า ในคดีนี้พยานได้รวบรวมสิ่งใดไว้เป็นพยานหลักฐานบ้าง พยานได้ตอบว่ารวบรวมคลิปวิดีโอต่าง ๆ เอาไว้ และพยานทราบว่าในคดีนี้ไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมอย่างถูกต้อง

    อัยการจึงถามต่อไปว่าในการแจ้งการชุมนุมในคดีนี้ต้องไปแจ้งที่ใด พยานตอบว่าต้องเข้าไปแจ้งกับ สน.ชนะสงคราม เนื่องจาก สน.สำราญราษฎร์ มีท้องที่รับผิดชอบแค่พื้นผิวถนนเท่านั้น แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมกับสถานีตำรวจท้องที่ใดเลยที่มีส่วนรับผิดชอบบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

    อัยการถามต่อว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการประกาศให้เลิกการชุมนุมหรือไม่ พยานตอบว่า มีการประกาศให้ยุติการชุมนุม แต่แกนนำไม่ได้มีการปฏิบัติตามที่ผู้กำกับแจ้ง และยังคงมีการชุมนุมต่อไปจนถึงเวลา 14.00 น.

    การกระทำของจำเลยและพวกเป็นการทำผิดกฎหมายหลายมาตรา โดยเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อ, พ.ร.บ.จราจรฯ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง ส่วนในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นข้อกล่าวหาแค่เฉพาะตัวจำเลยในคดีนี้

    ต่อมา ทนายจำเลยถามค้านว่า ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 พยานได้รับมอบหมายงานอะไรในที่ชุมนุม พ.ต.ต.กฤติเดช ตอบว่าในช่วงเวลาดังกล่าว พยานเป็นรองผู้กำกับการสืบสวน สน.สำราญราษฎร์ มีหน้าที่ควบคุมสั่งการ และรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย

    พยานได้เดินทางไปถึงพื้นที่การชุมนุมเในเวลา 08.00 น. แต่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนอื่นประจำอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งในวันดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่เวรสืบสวนประมาณ 10 นาย แต่กองสนับสนุนจะมีจำนวนเท่าใด พยานจำไม่ได้ และยืนยันว่าพยานหลักฐานต่าง ๆ พยานไม่ได้เป็นผู้บันทึกหรือถ่ายด้วยตนเอง และไม่ได้เป็นผู้จัดทำสำนวนในคดีนี้ แต่เป็นเพียงผู้รวบรวมพยานหลักฐานส่งไปให้พนักงานสอบสวนเท่านั้น

    แต่รายงานสืบสวนจากหน่วยอื่น ๆ พยานไม่รู้ในรายละเอียด เพราะเป็นการส่งไปที่ฝ่ายสอบสวนโดยตรง พยานในฐานะคณะทำงาน รับรู้เพียงว่ามีการส่งรายงานเข้ามา

    ทนายจำเลยถามต่อว่า ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ การชุมนุมในพื้นที่ใด ๆ ผู้ควบคุมสั่งการในท้องที่คือผู้กำกับการสถานีตำรวจ แต่หากมีการชุมนุมต่อเนื่องกันในหลายพื้นที่ ผู้สั่งการจะเป็นระดับผู้บัญชาการใช่หรือไม่ พยานตอบว่า อาจเป็นเช่นนั้นได้

    พยานเบิกความว่า ไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมกับ สน.สำราญราษฎร์ ซึ่งอาจเป็นเพราะเวทีปราศรัยของกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้ตั้งอยู่บนผิวถนน ซึ่งเป็นขอบข่ายความรับผิดชอบของ สน.สำราญราษฎร์ แต่เมื่อทนายถามว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมีการตั้งเวทีบริเวณใด หรือตั้งแต่เมื่อไหร่ พยานบอกว่า จำไม่ได้

    พยานยอมรับว่า ในวันเกิดเหตุมีการวางแผนการจราจรเพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่การชุมนุม เนื่องจากตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ได้ระบุไว้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่อำนวยความสะดวก แต่พยานไม่ทราบในรายละเอียดเรื่องการจราจรในวันดังกล่าว เนื่องจากไม่ใช่หน้าที่ของพยาน

    ทั้งนี้ พ.ต.ต.กฤติเดช ไม่ทราบว่า ในการรวมตัวของประชาชนในวันดังกล่าวจะเป็นการชุมนุมเพื่อกดดันหรือเรียกร้องต่อใคร แต่ยืนยันตามที่ทนายจำเลยถามว่าพื้นที่การชุมนุมเป็นพื้นที่เปิดโล่ง แม้จะมีคนร่วมชุมนุมกว่า 1,000 คน แต่ขบวนก็เดินกันไปได้โดยไม่มีความวุ่นวาย

    พยานรับว่า บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นพื้นที่ที่ประชาชนมักจะใช้เป็นพื้นที่ในการทำกิจกรรมทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง แต่เรื่องที่มีการจัดต้นไม้ไปวางไว้บริเวณโดยรอบ จะเป็นการขวางไม่ให้ประชาชนเข้าทำกิจกรรมในบริเวณดังกล่าวหรือไม่ พยานไม่ทราบ และก็ไม่ทราบว่ากิจกรรมการชุมนุมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 จะมีกิจกรรมอะไรบ้าง เพราะย้ายมาอยู่ที่ สน.สำราญราษฎร์ เพียง 1 ปีเท่านั้น

    ทนายจำเลยจึงถามต่อไปว่า ในการประกาศของแกนนำ ที่ขอให้ผู้ชุมนุมช่วยกันเคลื่อนย้ายกระถางต้นไม้ออกไปวางไว้บนผิวถนนนั้น ไม่ได้มีลักษณะที่ขอให้มีการขว้างปา หรือทำลายต้นไม้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่

    พยานจำไม่ได้ว่า จำเลยมีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงไปที่หน่วยงานใด

    ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปที่ทำเนียบรัฐบาลในช่วงบ่ายโมง ต่อมา พยานทราบว่ามีการประกาศยุติการชุมนุมในช่วงกลางดึก และไม่มีการเข้าสลายการชุมนุมหรือใช้ความรุนแรงใด ๆ กับประชาชนที่อยู่ในชุมนุมดังกล่าว

    จากนั้น อัยการได้ถามติงว่า จำนวนผู้ชุมนุมในวันนั้นมีจำนวนมากเกินกว่าบริเวณพื้นที่ของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจะรองรับได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ แต่ถึงจะมีคนเข้าร่วมไม่เยอะ ผู้ชุมนุมก็มักจะนิยมลงถนนมากกว่าอยู่ในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง

    พยานยืนยันตามที่อัยการถามว่า ในส่วนเรื่องการเคลื่อนย้ายกระถางต้นไม้ออกจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พบว่ามีการปราศรัยเชิญชวนกันในระหว่างการชุมนุม แต่ก่อนหน้านี้ไม่มีการเคลื่อนย้ายแต่อย่างใด

    ++ผู้กำกับการ 4 สน. เบิกความเห็นว่าจำเลยกระทำผิดกฎหมายหลายข้อหา

    ผู้กำกับการ 4 สถานีตำรวจ ซึ่งเป็นพื้นที่การชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 ได้แก่ พ.ต.ท.อิทธิพล พงษ์ธร ผู้กำกับการ สน.สำราญราษฎร์, พ.ต.อ.ประสพโชค เอี่ยมพินิจ ผู้กำกับการ สน.นางเลิ้ง, พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิฐบรรณกร ผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม และ พ.ต.อ.วิวัฒนชัย บุญญานุพงศ์ ผู้กำกับการ สน.ดุสิต ทั้งหมดมีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยในท้องที่รับผิดชอบ เบิกความในลักษณะคล้ายคลึงกัน

    ในวันที่ 8 ต.ค. 2563 พยานได้รับรายงานการสืบสวนทราบว่า แกนนำกลุ่มคณะราษฎรตั้งโต๊ะแถลงการณ์เชิญชวนให้ประชาชนออกมาเข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563

    ในส่วนพฤติการณ์คดี พยานทั้งสี่คนเบิกความสอดคล้องกับ พ.ต.ต.กฤติเดช และยืนยันว่าเวทีปราศรัยในช่วงเช้าอยู่บนฟุตปาธ ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของ สน.ชนะสงคราม แต่พอผู้ชุมนุมเริ่มเยอะขึ้นก็มีการกระจายตัวลงพื้นผิวถนน ซึ่งอยู่ในเขตความรับผิดชอบของ สน.สำราญราษฎร์ ทั้งนี้ พยานบอกว่าเหตุการณ์ชุมนุมทั้งหมด รวมถึงคำปราศรัยของแกนนำกลุ่มคณะราษฎร มีการถอดเทปไว้เป็นหลักฐานแล้ว แต่พยานจำไม่ได้ว่าผู้ใดเป็นผู้ถอดเทป แต่จำข้อความที่จำเลยพูดในคดีนี้ได้

    อย่างไรก็ตาม ศาลได้ถาม พ.ต.ท.อิทธิพล ว่า ในขณะที่จำเลยขึ้นปราศรัย พยานอยู่ในพื้นที่ชุมนุมหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ แต่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ทำหน้าที่สังเกตการณ์การชุมนุมเท่านั้น ข้อความส่วนใหญ่ฟังไม่ถนัด ได้ยินเพียงเสียงเบา ๆ

    สำหรับ พ.ต.อ.วรศักดิ์ ผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่คาบเกี่ยวกันกับ สน.สำราญราษฎร์ ได้เบิกความว่า มีการประกาศขอให้ยุติการชุมนุมโดย สน.สำราญราษฎร์ แต่ในรายละเอียดของการชุมนุมพยานไม่ทราบว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ส่วนคำปราศรัยของจำเลยที่ถูกฟ้องนั้น พยานไม่ทราบว่า จะเป็นการพูดไปเพื่อไม่ให้เกิดการสลายการชุมนุมหรือไม่ แต่ยอมรับว่าทุกครั้งที่มีการชุมนุมในบริเวณราชดำเนินก็เป็นการชุมนุมด้วยความสงบโดยตลอด

    ส่วน พ.ต.อ.ประสพโชค มีหน้าที่ดูแลพื้นที่ต่อเนื่องตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และแยกนางเลิ้ง ได้ลงพื้นที่ดูแลและคอยสั่งการผู้ใต้บังคับบัญชาตลอด โดยในเวลา 14.30 น. ขบวนของผู้ชุมนุมได้มาที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ แต่มีแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. อยู่ และมีการเจรจากับผู้ชุมนุมสักพักหนึ่งเพื่อขอไม่ให้ผู้ชุมนุมฝ่าแนวกั้นมุ่งหน้าผ่านสะพานมัฆวานรังสรรค์ ซึ่งผลสรุปผู้ชุมนุมไม่ได้มีการฝ่าแนวกั้น และเลี้ยวขวาเดินไปเข้าที่บริเวณแยกนางเลิ้ง เพื่อไปให้ถึงจุดหมายคือทำเนียบรัฐบาล โดยปักหลักกันบริเวณหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม

    และ พ.ต.อ.วิวัฒนชัย ผู้กำกับ สน.ดุสิต ได้เบิกความในส่วนการดูแลในพื้นที่ที่ตัวเองรับผิดชอบว่า พยานเห็นผู้ชุมนุมมาที่สะพานชมัยมรุเชฐ ในเวลาประมาณ 17.30 น. ในการดำเนินงานต่าง ๆ ของ สน.ดุสิต ก็เป็นไปตามแผนของกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 พยานเพียงควบคุมให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำตามแผนเท่านั้น

    พยานทั้งสี่คนอธิบายว่า ตนเองเป็นคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนในคดีนี้ ซึ่งผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนลงความเห็นให้สั่งฟ้องจำเลยในข้อหาตามมาตรา 112 ไม่ใช่เป็นความเห็นของพยานเพียงคนใดคนหนึ่ง ส่วนในฐานความผิดอื่น ๆ คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ลงความเห็นว่า จำเลยได้ทำผิดในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.จราจรฯ ด้วย ดังนี้

    - ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากไม่จัดมาตรการให้เกิดความปลอดภัย
    - ฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เนื่องจากไม่มีการปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยของการควบคุมโรค อันเป็นการฝ่าฝืนต่อเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ
    - ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมฯ เนื่องจากไม่มีการแจ้งการชุมนุม
    - ฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรฯ โดยร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะกีดขวางทางจราจร ซึ่งเกิดจากการที่จำเลยไม่ดูแลหรือรับผิดชอบ อันทำให้เกิดความเดือดร้อนของประชาชนที่ใช้เส้นทางสาธารณะ
    - ฝ่าฝืน พ.ร.บ.คบวคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ โดยมีการตั้งเวทีและติดลำโพงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานเขต

    ส่วนในเรื่องความเสียหายของต้นไม้ พยานทุกคนเบิกความสอดคล้องกันว่า ตีเป็นค่าความเสียหาย 200,000 บาท จากการที่กลุ่มผู้ชุมนุมไปร่วมกันขนต้นไม้ออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเกิดจากการชักชวนของจำเลย และเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ไปเจรจาให้แกนนำยุติการชุมนุม ก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากจำเลย

    หลังจากที่มีการชักชวนไปรื้อต้นไม้ก็ได้มีการเคลื่อนขบวนออกไปหน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งในการเคลื่อนขบวนดังกล่าวก็ไม่ได้มีการแจ้งต่อเจ้าพนักงาน แต่ พ.ต.อ.วรศักดิ์ เบิกความว่า ในการเคลื่อนขบวนไม่ได้มีความวุ่นวาย และประชาชนก็ทยอยออกไปโดยใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากระหว่างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับทำเนียบรัฐบาลห่างกันเพียง 2 กิโลเมตร

    นอกจากนี้ อัยการได้ถามกับ พ.ต.ท.อิทธิพล ว่า นอกจากจำเลยในคดีนี้แล้ว แกนนำคนอื่น ๆ ได้ถูกฟ้องดำเนินคดีด้วยหรือไม่ พยานบอกว่าแกนนำคนอื่น ๆ มีการแยกฟ้องไปที่ศาลอื่น และที่แจ้งข้อหามาตรา 112 กับจำเลยในคดีนี้เพียงคนเดียวเนื่องจากจำเลยเป็นผู้ชักชวนให้ประชาชนออกมาชุมนุม

    ทนายจำเลยถามค้านโดยถามผู้กำกับทั้งสี่ สน. ว่า การนัดหมายผู้ชุมนุม ในวันที่ 8 ต.ค. 2563 มีการนัดหมายให้ไปรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อจะเคลื่อนขบวนไปปักหลักที่ทำเนียบรัฐบาลใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่า ไม่ทราบในรายละเอียดเรื่องนี้

    พยานทุกคนไปสังเกตการณ์โดยรอบพื้นที่ที่ตัวเองรับผิดชอบเท่านั้น มีเพียง พ.ต.ท.อิทธิพล ที่เบิกความว่า ตนเองไม่ได้เข้าไปในพื้นที่ชุมนุม แต่ผู้กำกับอีกสาม สน. อ้างว่าสังเกตการณ์โดยรอบพื้นที่ชุมนุมตลอดเวลา

    พ.ต.อ.ประสพโชค เบิกความว่า ในส่วนพื้นที่ของตนช่วงสะพานผ่านฟ้าและแยกนางเลิ้ง การเจรจากับผู้ชุมนุมเป็นหน้าที่ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่เข้ามาบริหารเหตุการณ์เป็นหลักไม่ใช่หน้าที่พยาน

    ทนายจำเลยถาม พ.ต.ท.อิทธิพล ว่า เมื่อผู้ชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเยอะขึ้น และมีการนำรถยนต์ส่วนตัวมาร่วมชุมนุม ก็ได้มีการจอดเทียบเลนซ้ายสุด ไม่ได้มีการกีดขวางทางจราจร พยานบอกว่า จำเลนถนนไม่ได้ แต่จำได้ว่าจอดกันไว้บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ สาขาราชดำเนิน

    พยานทั้งหมดไม่สามารถตอบได้ว่า พื้นที่การชุมนุมในคดีนี้จะเกี่ยวพันกับสถานีตำรวจใดบ้าง และไม่สามารถรับรองได้ว่า การชุมนุมในวันดังกล่าวสามารถทำได้หรือไม่ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประสานกำลังกันรับผิดชอบหลาย สน.

    ทั้งนี้ พ.ต.ท.อิทธิพล ยืนยันว่า สน.ชนะสงคราม และ สน.นางเลิ้ง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 และในกรณีนี้พื้นที่การชุมนุมก็มีความเกี่ยวข้องกับกองบังคับการตำรวจนครบาล 6 ด้วย การดูแลการชุมนุมจึงอยู่ในอำนาจของผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 และ 6

    ทนายจำเลยถามผู้กำกับทั้งสี่คนอีกว่า ในการดูแลการชุมนุมสาธารณะ เจ้าหน้าที่จะต้องอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้สัญจรผ่านพื้นที่ชุมนุมใช่หรือไม่ พยานบอกว่าใช่ และในวันดังกล่าวได้มีการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรแล้วและยืนยันว่าหลัง 14.06 น. ผู้ชุมนุมก็ได้เคลื่อนตัวออกจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเคลื่อนย้ายสิ่งของทั้งหมดออกไปด้วย

    ทนายจำเลยได้ถาม พ.ต.อ.วรศักดิ์ และ พ.ต.ท.อิทธิพล ต่อว่า จำเลยไม่ได้เพียงบอกให้ขนต้นไม้ออกจากบริเวณลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่ก่อนจะเดินขบวนชุมนุมก็ได้บอกผู้เข้าร่วมชุมนุมขนต้นไม้ออกจากบริเวณฟุตปาธด้วย เพื่อให้การเคลื่อนตัวเป็นไปด้วยความสะดวก พยานทั้งสองบอกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวพยานจำไม่ได้ เพราะรายงานที่ได้รับส่วนใหญ่มาจากผู้ใต้บังคับบัญชา

    พ.ต.ท.อิทธิพล ยอมรับว่า ตัวเองไม่ได้อยู่ในพื้นที่การชุมนุม และไม่ได้เดินเข้าไปในบริเวณเวทีปราศรัย ทำให้จำไม่ได้ว่าในการประกาศยุติการชุมนุมจะใช้เวลากี่นาที หรือใครจะปราศรัยอยู่บนเวทีบ้าง และจำเลยจะทำอะไรอยู่ที่ไหน แต่ทราบว่า ผู้ชุมนุมมีการเคลื่อนขบวนไปปักหลักอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล และอยู่กันจนดึกดื่น ก่อนจะประกาศยุติการชุมนุม โดยไม่มีการสลายการชุมนุม หรือความรุนแรงเกิดขึ้น

    ด้าน พ.ต.อ.วิวัฒนชัย ซึ่งดูแลพื้นที่การชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลตอนช่วงค่ำ เบิกความว่า จำเลยได้ประกาศให้ชาวบ้านพักผ่อนและปักหลักกันอยู่ที่บริเวณดังกล่าว แต่ในเช้าวันที่ 15 ต.ค. 2563 เวลา 04.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เตรียมเข้าสลายการชุมนุม และจำเลยได้ประกาศยุติการชุมนุมก่อนที่จะมีการสลายการชุมนุมเกิดขึ้น ทั้งนี้ ภายหลังเวลา 05.00 น. ยังมีผู้ชุมนุมบางคน รวมทั้งแกนนำกับจำเลยอยู่ในพื้นที่จึงทำให้เกิดการจับกุม และสลายการชุมนุม

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/59835)

  • ++ฝ่ายสืบสวนรับ ถอดเทปด้วยวิธีการใช้รายการข่าวที่ไปถ่ายทอดสดในพื้นที่ชุมนุม และหนึ่งในเจ้าหน้าที่ยอมรับว่าเมื่อฟังคำปราศรัยแล้วก็คงไม่กล้าสลายการชุมนุม กลัวทำพระองค์เสื่อมเสีย

    ในการถอดเทปและบันทึกเทปในพื้นที่ชุมนุม มี ส.ต.อ.เผ่าพัชร บรรจงดวง ชุดสืบสวน, ส.ต.ท.อนุชา บริสุทธ์ ผู้บังคับหมู่ปราบปราม สน.สำราญราษฎร์ และ ร.ต.อ.ปฐมพงษ์ ศรีหาพล เจ้าหน้าที่สายตรวจ สน.พญาไท เข้าเป็นพยาน

    เกี่ยวกับคดีนี้ พยานทั้ง 3 คน ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่ในการถอดเทปคำปราศรัยการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 โดยไม่ได้ลงสังเกตการณ์พื้นที่ชุมนุม เป็นการได้รับเทปมาจากตำรวจคนอื่นอีกที มีเพียงคนเดียวที่ลงพื้นที่คือ ส.ต.อ.อนุชา ซึ่งพยานทั้งหมดได้ถอดเทปจากรายการข่าว และคลิปวิดีโอจากตำรวจนอกเครื่องแบบที่ปะปนอยู่กับฝูงชน

    จากการถอดเทป ส.ต.อ.เผ่าพัชร เห็นว่า จำเลยขึ้นปราศรัยในเวลา 11.00 – 12.00 น. โดยบางส่วนของคำปราศรัยของจำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 แต่ ส.ต.ท.อนุชา เบิกความไม่สอดคล้องกันโดยกล่าวว่า ข้อความตามฟ้องของจำเลยเป็นการกล่าวในช่วงเวลา 13.00 น. ไม่ใช่ช่วงเช้า และมีการบันทึกเทปตลอดทั้งวัน ตามรายงานการถอดเทปของพยานมีทั้งส่วนที่บันทึกด้วยตนเอง และจากที่อื่น

    ทั้งนี้ ศาลถามต่อ ส.ต.ท.อนุชา ว่า เหตุใดบันทึกการถอดเทปในสำนวนคดีนี้ถึงไม่ใช้วิดีโอของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ลงพื้นที่ทั้งหมด พยานบอกว่าเพราะมีการถ่ายสลับกัน ส่วนมากเห็นภาพเหตุการณ์ไม่ชัด จึงต้องใช้วิดีโอของสำนักข่าวมาถอดเทปเป็นหลัก

    ส่วน ร.ต.อ.ปฐมพงษ์ เบิกความว่า พยานได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ทำหน้าที่ถอดเทป ได้รับคลิปวิดีโอจากเจ้าหน้าที่ตำรวจคนอื่นที่ปฏิบัติอยู่หน้างาน โดยถอดเทปเฉพาะส่วนคำปราศรัยของอานนท์ ถอดเฉพาะสาระสำคัญ ประเด็นเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง การนัดหมายชุมนุม และการปราศรัยทั่ว ๆ ไป

    ต่อมา อานนท์แถลงต่อศาลขอถามค้านพยานโจทก์ปากนี้ด้วยตนเอง โดยถามต่อ ส.ต.อ.เผ่าพัชร ว่า ในการสืบสวน พยานไม่ได้ทำความเห็นเกี่ยวกับข้อความไว้ พยานตอบว่าใช่

    ส่วน ส.ต.ท.อนุชา ตอบจำเลยว่า จำไม่ได้แล้วว่าตัวเองเคยให้ความเห็นเรื่องข้อความไว้ในชั้นสอบสวนหรือไม่ และในเรื่องขบวนเสด็จช่วงเย็นที่ผ่านเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม พยานก็ไม่ทราบว่า ตำรวจอ้างขบวนเสด็จเพื่อสลายการชุมนุมหรือไม่ แต่ก็ยอมรับตามที่จำเลยถามว่าแม้ได้ยินคำปราศรัย ก็ไม่ได้มีความคิดจะไปแจ้งความแต่อย่างใด

    เมื่อจำเลยถามว่า พยานอยากให้ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ติดคุกหรือไม่ พยานบอกว่า ให้เป็นกระบวนการในชั้นศาล แต่เห็นด้วยกับที่จำเลยถามว่า หากพยานเป็นหนึ่งในตำรวจที่จะต้องเข้าสลายการชุมนุม เมื่อได้ยินคำปราศรัยของจำเลย ก็คงไม่กล้าสลายการชุมนุม เพราะกลัวระคายเคืองถึงพระองค์ท่าน

    ต่อมา อัยการถามติง ส.ต.ท.อนุชา เกี่ยวกับเรื่องคำปราศรัยที่ตอบจำเลยว่า ไม่ได้มีความคิดจะไปแจ้งความเป็นเพราะอะไร พยานตอบว่าเพราะตนเองไม่ได้มีหน้าที่เป็นผู้เข้าแจ้งความ เป็นเพียงผู้รวบรวมพยานหลักฐานให้พนักงานสอบสวนเท่านั้น

    ++ตำรวจจราจร 3 นาย ที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุมชี้ หากเกิดการสลายการชุมนุม แกนนำก็ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อยุติไม่ให้เกิดการสูญเสียขึ้น

    พ.ต.ท.ศิริ ราชรักษา รองผู้กำกับการตำรวจจราจร สน.สำราญราษฎร์, พ.ต.ท.วิโรจน์ สาขากร สารวัตรตำรวจจราจร สน.นางเลิ้ง และ ร.ต.ต.กฤษณะ ครูศรี ผบ.หมู่งานจราจรกรุงเทพฯ กองบังคับการตำรวจจราจร ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการจราจรในวันเกิดเหตุ เบิกความว่า ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 มีคำสั่งให้พยานทั้งสามจัดการจราจรที่บริเวณถนนราชดำเนินกลาง และพื้นที่โดยรอบในท้องที่ของตัวเอง โดย ร.ต.ต.กฤษณะ มีหน้าที่หลักในการประสานอำนวยความสะดวกด้านงานจราจรทั้งหมดในกรุงเทพฯ

    จากการประชุมแผนจราจรก่อนออกปฏิบัติหน้าที่ พ.ต.ท.ศิริ ได้ไปประจำการที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเวลาประมาณ 08.00 น. ส่วน พ.ต.ท.วิโรจน์ เริ่มปฏิบัติงานตอน 05.00 น. และ ร.ต.ต.กฤษณะ บอกว่าตัวเองปฏิบัติงานตั้งแต่ 06.00 – 14.00 น. โดยลงพื้นที่การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ด้วย แต่พยานดูจอมอนิเตอร์ที่ตู้จราจรไม่ได้ปะปนอยู่กับฝูงชน

    พ.ต.ท.ศิริ ได้เจอกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่หน้าร้านแมคโดนัลด์ ซึ่งในขณะนั้นจำนวนผู้ร่วมชุมนุมยังมีไม่มาก และการตั้งเวทีขนาดเล็กพร้อมเครื่องเสียงบนฟุตปาธอีกด้วย ส่วน พ.ต.ท.วิโรจน์ เบิกความว่าในการดูแลการจราจรวันดังกล่าว พยานไม่ได้มีการบันทึกภาพ เนื่องจากดูแลการจราจรเท่านั้น

    พ.ต.ท.ศิริ และ พ.ต.ท.วิโรจน์ รับทราบและรู้ว่าในการชุมนุมวันดังกล่าวเป็นกิจกรรมของกลุ่มราษฎร เนื่องจากพยานอยู่ในที่เกิดเหตุ และมีหน้าที่ควบคุมสัญญาณไฟจราจร โดยเมื่อเวลาผ่านไปสักครู่หนึ่ง กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มหนาแน่น และมีการกระจายตัวลงมาที่พื้นผิวถนนทั้งที่ราชดำเนินและทั้งที่บริเวณแยกนางเลิ้ง

    พ.ต.ท.ศิริ เบิกความต่อไปว่า ตนเองอยู่ในพื้นที่การชุมนุมตั้งแต่เริ่มจนถึงเลิกการชุมนุมในพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยประเมินจำนวนคนที่ร่วมชุมนุมได้ราว 1,000 คน และในการปราศรัยของแกนนำผู้ชุมนุมก็มีข้อเรียกร้อง 3 ประการ คือ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

    ในช่วงเวลา 08.40 น. พ.ต.ท.ศิริ เล่าว่า พบจำเลยขึ้นปราศรัย และพยานได้ยินคำปราศรัยของจำเลยทั้งหมด โดยประกอบไปด้วยข้อเรียกร้องทั้งสามข้อ และได้ยินว่า จำเลยได้พูดข้อความตามฟ้องจริง

    พ.ต.ท.ศิริ เห็นว่า คำพูดตามฟ้องของพยานเป็นการดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 เพราะประชาชนเป็นข้าฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงเห็นว่าไม่เหมาะสม แต่พยานทำอะไรไม่ได้ และได้แต่จัดการจราจรต่อไป

    เมื่ออัยการนำภาพการชุมนุมในวันดังกล่าว โดยมีภาพที่ประชาชนอยู่บนลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งในภาพไม่มีต้นไม้อยู่แล้ว เนื่องจากมีการรื้อออกไป อัยการขอให้พยานยืนยันว่า เป็นภาพของการชุมนุมในวันเกิดเหตุ ซึ่งพยานยืนยันว่า ใช่

    ส่วน พ.ต.ท.วิโรจน์ ประจำการอยู่ที่บริเวณถนนนครสวรรค์ โดยเมื่อผู้ชุมนุมผ่านแยกนางเลิ้งมารวมตัวกัน ก็ได้มีการเจรจากับตำรวจในพื้นที่จนถึง 17.00 น. เพื่อขอให้ขบวนเสด็จขับผ่านไปก่อน จึงจะอนุญาตให้ผู้ชุมนุมมุ่งหน้าต่อไปที่ทำเนียบรัฐบาลได้

    แต่ในส่วนภาพถ่ายตอนกลางคืน ที่มีการปักหลักอยู่บริเวณทำเนียบรัฐบาล พ.ต.ท.ศิริ ไม่แน่ใจว่าเป็นวันเดียวกันหรือไม่ เพราะไม่ใช่พื้นที่ที่พยานรับผิดชอบการจราจร

    ส่วน ร.ต.ต.กฤษณะ เบิกความเพียงว่า ปัญหาการจราจรเกิดขึ้นบ่อยครั้งเมื่อมีการชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยในขอบเขตความรับผิดชอบและสนับสนุนในฐานะส่วนกลาง พยานก็อาจส่งตำรวจไปโบกจราจร นำกรวยจราจรไปปิดกั้นถนนในบางพื้นที่

    พ.ต.ท.ศิริ และ พ.ต.ท.วิโรจน์ เบิกความสอดคล้องกันว่า ผู้กำกับการ สน.สำราญราษฎร์ เป็นคนประกาศให้ยุติการชุมนุมในช่วงเวลากลางวันด้วยตนเอง ซึ่งแกนนำไม่ปฏิบัติตาม แต่ยุติกันไปเองในช่วงเวลาประมาณ 14.00 น. เพราะมีการเคลื่อนขบวนไปปักหลักที่อื่นต่อ

    จากนั้น อานนท์ถามค้านด้วยตนเองอีก โดยถาม พ.ต.ท.ศิริ ว่า ที่พยานเบิกความว่า การปราศรัยของจำเลยผิดมาตรา 112 นั้น ในชั้นสอบสวนพยานไม่เคยให้การในเรื่องดังกล่าวไว้ใช่หรือไม่ พยานรับว่า ใช่ และรับว่า พยานได้รับรายงานข่าวมาก่อนหน้านั้นแล้วว่า จะมีการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 และก่อนหน้านั้นก็เคยมีการชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563

    จำเลยถามต่อไปว่า พยานรู้จักเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 หรือไม่ พยานบอกว่า ทราบว่ามีการรวมตัวกันของนักศึกษาเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งมีประชาชนเสียชีวิตและล้มตายจำนานมาก และทราบถึงเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่มีการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมจำนานมากที่ถนนราชดำเนิน

    สำหรับการชุมนุมตามฟ้อง พ.ต.ท.ศิริ ก็ทราบว่า เป็นการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ มีคนเข้าร่วมหลักหมื่นคน จนต้องปิดถนน ในวันดังกล่าวมีกลุ่มการ์ดของผู้ชุมนุม นำโดย โตโต้ ปิยรัฐ และลูกเกด ชลธิชา ที่คอยประสานงานกับตำรวจ และช่วยจัดการเรื่องจราจรอยู่ด้วย โดยในการชุมนุมช่วงเช้าที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่ได้มีการสลายการชุมนุมเกิดขึ้น

    เมื่อจำเลยถามต่อว่า ในการชุมนุมที่มีคนจำนวนมากขนาดนี้ แกนนำก็จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงหรือการสลายการชุมนุม หรือเกิดความสูญเสียขึ้น และหากมีความสูญเสียเกิดขึ้นความรับผิดชอบก็ควรจะเป็นของแกนนำใช่หรือไม่ พยานบอกว่าเห็นด้วยตามที่จำเลยถาม

    และเห็นด้วยกับที่จำเลยบอกว่าในการปราศรัยวันดังกล่าว มีการบอกให้ประชาชนระมัดระวังในการเคลื่อนย้ายต้นไม้จริง และถึงแม้ตลอดการชุมนุมที่อนุสาวรีย์จะมีกลุ่มคนเสื้อเหลือง ซึ่งเป็นกลุ่มชุมนุมฝ่ายตรงข้ามกับกลุ่มของจำเลยอยู่ด้วย ก็ไม่มีการปะทะหรือมีความรุนแรงเกิดขึ้น

    จำเลยได้ถาม พ.ต.ท.วิโรจน์ ว่า เมื่อผู้ชุมนุมไปถึงถนนนครสวรรค์และแยกนางเลิ้ง ตำรวจได้เจรจากับชลธิชาให้ขบวนเสด็จผ่านไปก่อนในช่วงเวลาประมาณ 17.45 – 18.00 น. ใช่หรือไม่ และพยานยืนยันทามไลน์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบริเวณแยกนางเลิ้งตามที่เคยให้ปากคำไว้ตอนชั้นสอบสวนหรือไม่ พยานบอกว่า ใช่ และผู้ชุมนุมไม่ได้มีความชุลมุน ทุกอย่างเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/59835)
  • ++รองผู้กำกับสืบสวน สน.นางเลิ้ง และ สน.ชนะสงคราม ไม่สามารถตอบศาลได้ว่าทำไมขบวนเสด็จของราชินีถึงฝ่าเข้าพื้นที่ชุมนุม

    พ.ต.ท.สมศักดิ์ ใหม่บุญมี รองผู้กำกับการสืบสวน สน.นางเลิ้ง และ พ.ต.ท.สุธิศักดิ์ พิริยะภิญโญ รองผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม มีหน้าที่สืบสวนหาข่าวในท้องที่ที่รับผิดชอบ เบิกความคล้ายกันกันว่า ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้จัดชุดสืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 เนื่องจากเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกันหลาย สน.

    พ.ต.ท.สุธิศักดิ์ เบิกความว่า ในการชุมนุมพยานได้ลงพื้นที่หาข่าวด้วยตนเอง แต่ไม่สามารถจับประเด็นของการปราศรัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่การชุมนุมได้ แต่รับรู้ว่ามีข้อเรียกร้องอะไรบ้าง ส่วนเวทีที่ตั้งอยู่บนฟุตปาธหน้าร้านแมคโดนัลด์ ก็มีขนาดเล็กตามพยานหลักฐานที่อัยการให้ดู และมีการนำกระถางต้นไม้ออกมาจากลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจริง และเห็นว่าการยกกระถางต้นไม้ออกมาเป็นเพราะการ ‘ปลุกระดม’ ของจำเลยกับแกนนำ แต่ไม่ทราบในรายละเอียดว่าทำเพื่ออะไร และภายหลังกลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนออกจากบริเวณอนุสาวรีย์เพื่อไปปักหลักกันที่หน้าทำเนียบ ซึ่งไม่ใช่ท้องที่รับผิดชอบของพยาน

    ด้าน พ.ต.ท.สมศักดิ์ เบิกความว่า ทราบจากฝ่ายสืบสวนว่าผู้ชุมนุมมีการเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ไปทำเนียบรัฐบาลในเวลา 14.00 น. ฝ่ายสืบสวน สน.นางเลิ้ง จึงได้กระจายกำลังปะปนกับฝูงชน เพื่อทำการบันทึกภาพและถ่ายคลิปวิดีโอในช่วงที่ผู้ชุมนุมอยู่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามได้ประกาศให้ยุติการชุมนุม ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดการสลายการชุมนุม จึงได้ทำการกระจายตัวเพื่อบันทึกภาพไว้

    ต่อมาเวลา 16.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนได้นำรถตู้จำนวน 4 – 5 คัน มาขวางที่บนสะพานชมัยมรุเชฐเพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมผ่านไปได้ เนื่องจากฝั่งผู้ชุมนุมไม่ยอมยุติ จนกระทั่งเวลา 17.00 น. ขบวนเสด็จผ่านมาจึงต้องเอารถตู้ถอยออก 1 คัน เพื่อให้ขบวนเสด็จผ่านไปได้ แต่ภายหลังขบวนเสด็จผ่านพ้นไป เจ้าหน้าที่ตำรวจก็กลับมาตรึงกำลังเหมือนเดิม

    พ.ต.ท.สมศักดิ์ เบิกความต่อในส่วนพื้นที่ของตัวเองว่า ตามภาพถ่ายพยานหลักฐานในสำนวนคดีนี้ไม่ใช่ภาพที่พยานบันทึกเอง แต่ยืนยันว่า ภาพที่กลุ่มผู้ชุมนุมอยู่บริเวณข้างทำเนียบฯ และพยายามดันรถตู้ออกจากทางของขบวนชุมนุมเป็นภาพในวันเกิดเหตุ

    พ.ต.ท.สมศักดิ์ ตอบจำเลยถามค้านว่า ชุดสืบสวน สน.นางเลิ้ง ได้เข้าเจรจากับผู้ชุมนุมว่า ขอให้เปลี่ยนเส้นทางของขบวนผู้ชุมนุมไปที่ถนนนครสวรรค์เพื่อไม่ให้ทับกับเส้นทางขบวนเสด็จ และรับว่า ในช่วงเวลา 16.00 – 17.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการพยายามปิดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าถึงบริเวณทำเนียบฯ โดยมีกองกำลังตำรวจราว 1 กองร้อย และยืนยันว่าได้เจรจาให้ผู้ชุมนุมสามารถผ่านเข้าไปได้ภายหลังจากที่ขบวนเสด็จผ่านไปแล้วในช่วงเกือบ 18.00 น.

    ทั้งนี้ ศาลได้ถาม พ.ต.ท.สมศักดิ์ โดยไม่ได้บันทึกในคำเบิกความว่า เหตุการณ์ที่ขบวนเสด็จของพระราชินีผ่านเข้าไปบริเวณพื้นที่การชุมนุม เป็นเพราะเหตุใด ทำไมถึงไม่มีการเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น ในเมื่อบริเวณดังกล่าวมีเส้นทางที่สามารถเลี่ยงพื้นที่การชุมนุมได้ พยานตอบว่า ไม่สามารถตอบได้ เพราะเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอีกทีหนึ่ง

    ด้าน พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ ตอบจำเลยถามค้านว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมของเยาวชน ซึ่งไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ก็ใส่หน้ากากอนามัย พยานจำเหตุการณ์ทั้งหมดไม่ได้ และไม่รู้ว่าขบวนเสด็จใช้เส้นทางไหนบ้าง แต่ยืนยันว่าการชุมนุมในวันเกิดเหตุเป็นไปด้วยความสงบ

    ++พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ เจ้าของสำนวนคดี เห็นว่าจำเลยผิดข้อหาอะไรบ้างต้องผ่านคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน

    ร.ต.อ.อานนท์ ไทรด้วง ในขณะเกิดเหตุเป็นพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ เกี่ยวข้องในคดีนี้เนื่องจากพยานเป็นพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนคดี เบิกความว่า ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 พยานเข้าเวร และได้รับแจ้งว่าจะมีการชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผู้กำกับสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกหน่วยไปดูแลพื้นที่การชุมนุม

    ต่อมาในวันที่ 16 ต.ค. 2563 พนักงานดูแลต้นไม้ของ กทม. ได้เข้ามาแจ้งความร้องทุกข์กับพยานว่ามีความเสียหายของต้นไม้ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ฯ เป็นจำนวนประมาณ 200,000 บาท และยืนยันว่าในคดีนี้ไม่มีการแจ้งการชุมนุมอย่างถูกต้อง แต่ยอมรับข้อเท็จจริงว่าเมื่อแกนนำประกาศยุติการชุมนุมในช่วงเวลากลางคืน ก็ไม่ได้มีการชุมนุมแล้ว

    ร.ต.อ.อานนท์ บอกว่าภาพตามพยานหลักฐานทั้งหมดนี้ พยานเป็นคนลงลายมือชื่อรับรองด้วยตนเอง และเมื่อสรุปสำนวนเสร็จก็มีความเห็นว่าจำเลยกระทำผิดกฎหมายหลายบท อาทิเช่น มาตรา 112, ทำให้เสียทรัพย์, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เป็นต้น แต่ทั้งหมดพยานไม่ได้มีความเห็นเพียงคนเดียว แต่ได้นำส่งให้คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนด้วย โดยนำเสนอผ่านผู้บังคับบัญชา

    ในคดีนี้พยานได้สอบปากคำพยานบุคคลไว้หลายปาก เช่น บุศบงค์ ธนกิจวิไล, ศิริลักษณ์ สีนวลขำ, พ.ต.ท.กฤติเดช เข็มเพชร์ และ พ.ต.ท.วิโรจน์ หินเธาร์

    ทนายจำเลยถามค้านว่า ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 พยานเป็นพนักงานสอบสวนเวร ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่ลงพื้นที่เกิดเหตุ แต่ติดตามรายงานจากการสื่อและข่าวใช่หรือไม่ พยานบอกว่าใช่

    ส่วนเรื่องพยานหลักฐานที่เป็นภาพถ่าย พยานบอกว่ามีเพียงภาพความเสียหายของต้นไม้ที่พยานเป็นผู้ถ่ายเอง ส่วนภาพอื่น ๆ ในสำนวนคดีนี้ เจ้าหน้าที่คนอื่นเป็นคนนำมาให้ โดยภาพถ่ายที่มาจากสำนักข่าว พยานไม่เคยเรียกนักข่าว หรือช่างภาพคนใดมาสอบปากคำ

    ส่วนที่เกี่ยวกับข้อหาทำให้เสียทรัพย์ มูลค่าความเสียหายได้ข้อเท็จจริงจากยงทวี ไม่ได้ไปสอบหาข้อเท็จจริงจากตัวกลางหรือพ่อค้าต้นไม้ในตลาด และก็ไม่ทราบว่าในวงการราชการจะมีการจัดซื้อประเมินที่มักจะเกินกว่าราคาในท้องตลาดหรือไม่

    สำหรับเรื่องพื้นที่การชุมนุมที่ทับซ้อน ทนายถามกับพยานว่าหากมีการทับซ้อนกัน 2 สน. ขึ้นไป ผู้ดูแลการชุมนุมจะต้องเป็นคนที่สูงกว่าผู้กำกับการ สน. เช่น ผู้บังคับบัญชาการ กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 และหากคาบเกี่ยวกันกับพื้นที่ สน. ในกองบังคับการตำรวจนครบาลอื่น ก็ต้องเปลี่ยนเป็นผู้ดูแลที่มีตำแหน่งสูงขึ้นไปอีกคือ ผู้บังคับบัญชาการตำรวจนครบาลใช่หรือไม่ พยานบอกว่าใช่

    ในส่วนความผิดฐานจราจร เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรมีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการชุมนุม พยานได้สอบปากคำผู้กำกับการทั้ง 3 สน. ได้แก่ ผู้กำกับการ สน.สำราญราษฎร์, ผู้กำกับการ สน.นางลิ้ง และผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม พบว่าทั้งสามพื้นที่ไม่มีที่ใดได้รับหนังสือแจ้งการชุมนุม ส่วนเรื่องความผิดฐาน พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ พยานไม่ได้สอบปากคำพยานบุคคลใดไว้

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/59835)
  • ++นักวิชาการสุขภิบาล เบิกความชี้ว่าถึงแม้จะชุมนุมในพื้นที่เปิดโล่ง ก็ยังคงสามารถติดโรคได้

    สัมฤทธิ์ พันธ์แสน เป็นนักวิชาการสุขภิบาล ประจำการอยู่ที่สำนักงานเขตพระนคร เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ เขตพระนคร ตามหนังสือลงวันที่ 26 มิ.ย. 2563

    ในการชุมนุมวันที่ 14 ต.ค. 2563 พยานเห็นว่าเป็นช่วงที่อยู่ในระหว่างการสั่งปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดชั่วคราวในกรุงเทพมหานคร และเห็นว่าการชุมนุมจะสามารถทำได้หากผู้จัดการชุมนุมจัดกิจกรรมโดยมีมาตรการป้องกันตามมาตรการควบคุมโรคของสาธารณสุข จัดให้มีจุดคัดกรองโรค เจลล้างมือ และสวมใส่หน้ากากอนามัย ตลอดจนชุมนุมในพื้นที่โล่งแจ้ง

    ส่วนการชุมนุมที่เกิดขึ้น พยานเห็นว่ามีผู้ชุมนุมที่สวมหน้ากากอนามัยบ้างและไม่สวมด้วย ไม่มีจุดคัดกรองการเข้าร่วมทำกิจกรรมชุมนุมอย่างชัดเจน ถือว่าเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดโควิด – 19

    ทนายจำเลยถามค้านว่า โรคโควิด – 19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ตอนที่พยานยังเรียนหนังสืออยู่ก็ไม่ได้มีการเรียนการสอนให้ป้องกันโรคนี้อย่างไร โดยในช่วงเดือน ต.ค. 2563 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ห้างร้านต่าง ๆ ก็ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ พยานตอบว่าใช่ แต่ร้านต่าง ๆ ก็ต้องมีมาตรการตามที่ราชการกำหนด

    และยอมรับว่าหากชุมนุมกันในที่ปิดก็จะเสี่ยงต่อการแพร่โรคมากกว่าในพื้นที่โล่งแจ้ง และยอมรับตามที่ถามว่าพื้นที่ชุมนุมในวันดังกล่าวเป็นพื้นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ส่วนในวันที่ 14 ต.ค. 2563 พยานเห็นว่ามีผู้ติดเชื้ออยู่ ไม่ใช่ไม่มีเลย พยานจำได้ว่ามีการติดเชื้อประมาณ 8 – 9 คนทั่วประเทศ แต่จำนวนทั้งหมดในตอนนั้นพยานไม่สามารถจำได้

    ทั้งนี้ ทนายถามว่าสถานการณ์การป้องกันโรคโควิด – 19 ในตอนนั้นรัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ใช่ สถานการณ์ในตอนนั้นราชการสามารถควบคุมการแพร่โรคระบาดได้

    ต่อมา อัยการถามติงว่า ที่พยานเบิกความยืนยันเรื่องพื้นที่การชุมนุมเป็นพื้นที่เปิดโล่ง แต่ถึงแม้จะเปิดโล่ง แต่ถ้ามีผู้เข้าร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนมาก โดยไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย และไม่มีจุดคัดกรอง ก็มีโอกาสที่จะแพร่โรคได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ถึงแม้จะใส่หน้ากากอนามัย แต่หากบุคคลมีการใช้มือสัมผัส และไม่มีการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ก็สามารถแพร่โรคติดต่อกันได้ และถึงแม้จะเว้นระยะห่างกันแค่ช่วงศอก ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการป้องกันโรคได้

    ++พนักงานดูแลสิ่งแวดล้อมของ กทม. รับว่าต้นไม้บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในสมัยผู้ว่าฯ ชัชชาติไม่ได้จัดแล้ว เนื่องจากถูกใช้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมทางการเมืองบ่อยครั้ง

    ยงทวี โพธิษา พนักงานดูแลสิ่งแวดล้อมของ กทม. มีหน้าที่ดูแลต้นไม้บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยในวันที่ 14 ต.ค. 2563 เวลาประมาณ 13.30 น. พยานได้ออกตรวจทันทีหลังได้ทราบเรื่องการรื้อกระถางต้นไม้ในบริเวณดังกล่าว

    พยานเบิกความว่า ลักษณะของการขนต้นไม้มีทั้งแบบที่ขนด้วยความระมัดระวัง และเทกระจัดกระจาย พยานยืนยันตามภาพที่อัยการให้ดูว่ามีความเสียหายของต้นไม้เกิดขึ้นจริง โดยทั้งหมดมีหลายชนิด เช่น ไทรเกาหลี, เฟื้องฟ้า, ต้อยติ่ง เป็นต้น ทั้งหมดมีประมาณ 30,000 ต้น ซึ่งประดับอยู่โดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

    พยานอธิบายต่อว่า ที่ประดับต้นไม้ในบริเวณดังกล่าว เนื่องมาจากว่าถนนราชดำเนินเป็นพื้นที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ตลอดจนเป็นเส้นทางเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้ถนนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบสวยงาม

    สาเหตุที่พยานได้เข้าไปตรวจต้นไม้ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 เนื่องจากว่าในวันนั้นมีขบวนเสด็จของรัชกาลที่ 10 พยานจึงมีหน้าที่ในการเข้าไปตรวจสอบความเสียหายว่ามีส่วนใดที่ชำรุดหรือไม่สวยงาม จะได้แก้ไขกันทันก่อนที่จะมีขบวนเสด็จผ่าน

    ในวันดังกล่าว พยานได้เห็นว่าจำเลยและแกนนำกลุ่มมีการชักชวนให้ผู้ชุมนุม ขนย้ายต้นไม้ลงมาที่ถนนโดยรอบ และจากการตรวจสอบพบความเสียหายหลายชนิด เช่น ต้อยติ่ง, บานบุรี, ศุภโชค เป็นต้น

    ทั้งนี้ เมื่อพบความเสียหาย ยงทวีบอกว่าตัวเองได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และได้รับคำสั่งให้ประเมินความเสียหาทั้งหมด โดยหนังสือคำสั่งได้มีลงมาถึงรองผู้อำนวยการ สำนักงานสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร โดยรอง ผอ. ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้พยานมาร้องทุกข์

    ระหว่างที่ไปตรวจสอบความเสียหาย ยงทวีได้พบว่ามีผู้ชุมนุมอยู่เยอะเกิน 1,000 คน และพยานได้ไปพร้อมกับลูกน้องจำนวน 3 คน พบว่าต้นไม้มีการวางกระจัดกระจาย แต่พยานก็ไม่ได้เข้าไปห้ามปราม เนื่องจากผู้ชุมนุมมีจำนวนเยอะ จึงได้แต่ทำการดูแลบริเวณโดยรอบเท่านั้น เพราะหลังจากการขนย้ายต้นไม้ออกแล้ว ผู้ชุมนุมได้ขึ้นไปอยู่บริเวณลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการแสดงสัญลักษณ์สามนิ้ว และโบกธงไปมา

    ส่วนเรื่องค่าเสียหาย พยานได้ประเมินจากความเสียหายของกระถางที่แตกไป กิ่งไม้ที่หัก และถุงดินที่ขาด ยกเว้นต้นไม้ที่เห็นว่าสามารถเอาไปอนุบาลใหม่ได้ ก็จะไม่ถูกคิดรวมไว้ในความเสียตรงนี้ ส่วนที่เสียหายก็จะมีการกำหนดค่าเสียหายตามระเบียบของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 223,700 บาท

    นอกจากนี้ พยานยังได้เบิกความต่อไปว่า ต้นไม้ทั้งหมดถูกปลูกขึ้นโดยใช้ภาษีของประชาชนในการเพาะเลี้ยง และจัดซื้อมา และเหตุที่พยานต้องเข้ามาแจ้งความเรียกค่าเสียหายในคดีนี้ เนื่องจากแกนนำประกาศเชิญชวนให้ผู้ชุมนุมไปรื้อต้นไม้

    อานนท์ถามค้านพยานว่า ในตอนที่เข้าไปแจ้งความ ในขณะนั้นกรุงเทพมหานครอยู่ในช่วงการบริหารราชการของผู้ว่าฯ ชื่อ อัศวิน ขวัญเมือง ซึ่ถูกแต่งตั้งมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช่หรือไม่ พยานยืนยันตามที่จำเลยถาม

    จำเลยจึงถามว่า ปัจจุบันที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไม่มีการจัดแต่งต้นไม้ที่ลานอนุสาวรีย์แล้ว และไม่มีการปิดรั้วกั้นด้วย ยงทวีตอบว่าใช่ จำเลยจึงถามต่อว่าในการล้อมรั้วกับการวางต้นไม้ทั้งหมดก็เพราะกันไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปใช่หรือไม่ พยานตอบว่าสำหรับรั้วที่เอามากั้นไว้เป็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ใช่ทรัพย์สินของสำนักงานสิ่งแวดล้อม กทม.

    แต่ส่วนต้นไม้ที่ถูกจัดตกแต่ง ยงทวีอธิบายว่ามีการตกแต่งในบริเวณลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมานานแล้ว แต่ถูกยกเลิกไปในภายหลัง เนื่องด้วยปัญหาหลายปัจจัย และ กทม. ไม่มีงบประมาณมาดูแลต้นไม้แล้ว

    จำเลยจึงถามในประเด็นต้นไม้กับยงทวีต่อว่า จริง ๆ ที่ยกเลิกไปในสมัยของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เนื่องจากผู้ว่าฯ ไม่ต้องการให้ตั้งต้นไม้อีก เพราะลานของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มักถูกใช้เป็นพื้นที่จัดการชุมนุมทางการเมืองบ่อยครั้งใช่หรือไม่ พยานตอบว่าก็เข้าใจได้แบบนั้น

    ทั้งนี้ ยงทวีบอกว่าการตกแต่งต้นไม้มีมานานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 พยานขอยืนยันว่าไม่ได้เพิ่งมีการมาจัดแต่งช่วงที่มีการชุมนุมการเมืองที่ผ่านมา เพราะพยานเริ่มทำงานที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมของ กทม. มาตั้งแต่ปี 2531 ขอยืนยัน แม้ว่าจำเลยจะถามย้ำว่าก่อนหน้าที่จะมีการชุมนุมในปี 2563 ไม่มีการจัดแต่งต้นไม้ตามที่พยานกล่าวอ้าง แต่พยานบอกว่าตนเองมีรูปการจัดแต่งต้นไม้ก่อนช่วงปี 2563 แต่ในวันนี้ไม่ได้นำภาพถ่ายดังกล่าวมา

    ในการชุมนุมที่เกิดขึ้นพยานเห็นว่าผู้ชุมนุมไม่จำเป็นต้องขึ้นไปบริเวณลานอนุสาวรีย์ก็ได้ และพยานไม่เคยได้ยินเรื่องที่มีการกล่าวหา กทม. ว่าที่มาจัดแต่งต้นไม้ล้อมอนุสาวรีย์ไว้ ก็เพื่อกันไม่ให้ผู้ชุมนุมสามารถมาชุมนุมกันในบริเวณดังกล่าวได้ แต่เห็นด้วยกับที่จำเลยถามว่าการชุมนุมจะสามารถแสดงออกที่ไหนก็ได้

    จำเลยจึงถามต่อไปว่า พยานได้ยินในสิ่งที่จำเลยปราศรัยวันนั้นหรือไม่เรื่องการขนย้ายต้นไม้ที่ขอให้ผู้ชุมนุมทำด้วยความระมัดระวัง พยานยืนยันว่าได้ยินและจำในสิ่งที่อานนท์พูดในวันนั้นได้ แต่ไม่เห็นด้วยในสิ่งที่จำเลยถามต่อว่าการขนย้ายในวันนั้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพราะพยานเห็นว่ามีบางส่วนที่สร้างความไม่เรียบร้อยเหมือนกัน

    จำเลยจึงถามต่อไปว่า กระถางที่แตกส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวออกจากบริเวณอนุสาวรีย์แล้ว และเกิดขึ้นจากการรีบเก็บกวาดของเจ้าหน้าที่เอง เพื่อให้ทันเวลาที่ขบวนเสด็จจะเสด็จผ่าน ไม่ใช่จากกลุ่มผู้ชุมนุม ยงทวีตอบว่าไม่จริง เพราะมีบางส่วนที่เสียหายจากการเชิญชวนของแกนนำ แม้พยานจะอยู่ในที่เกิดเหตุ แต่วันนี้ก็ไม่ได้มีหลักฐานใดมานำเสนอต่อศาลว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างการชุมนุมจากผู้ชุมนุมตามที่เบิกความไว้

    จำเลยถามต่อพยานในประเด็นการประเมินค่าราคาความเสียหายของต้นไม้ว่า จริง ๆ แล้วไม่ใช่การประเมินจากราคาต้นไม้ตามชนิดพันธุ์ต่าง ๆ แต่เป็นการประเมินตามระเบียบของกรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่ใช่ราคาจริงตามท้องตลาดต้นไม้ทั่วไปใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่

    พยานบอกว่า ตนเองไม่ทราบรายชื่อบุคคลที่ทำให้ต้นไม้เสียหาย และไม่ทราบถึงชื่อผู้ที่มาช่วยเคลียร์ต้นไม้ที่ได้รับความเสียหายด้วย การพิสูจน์และประเมินความเสียหายเกิดขึ้นตอนเวลาประมาณ 16.00 น. ของวันที่ 14 ต.ค. 2563

    จำเลยจึงถามยงทวีว่า ในหนังสือมอบอำนาจจากรองผู้อำนวยการ สำนักงานสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ปรากฏเลยว่า ให้ไปแจ้งความกับใคร ด้วยเหตุใด พยานตอบว่า ใช่ และอธิบายต่อว่า ในการมอบอำนาจดังกล่าว พยานได้รับมอบหมายอยู่ภายใต้การบริหารราชการของ อัศวิน ขวัญเมือง แต่เมื่อจำเลยถามว่าในขณะนั้นอัศวินมีตำแหน่งเป็นเพียง ‘รักษาการผู้ว่าฯ’ ซึ่งอยู่ในระหว่างเลือกตั้งใหม่ พยานมีหลักฐานใดมานำเสนอต่อศาลหรือไม่ว่าตำแหน่งรักษาการดังกล่าวสามารถออกคำสั่งมอบอำนาจให้พยานมาแจ้งความร้องทุกข์ในคดีนี้ได้ พยานตอบว่า ไม่มี

    และในขณะที่ไปแจ้งความ พยานได้แจ้งความให้ดำเนินคดีพริษฐ์ ชิวารักษ์ หนึ่งในแกนนำการชุมนุมนี้ด้วย แต่เป็นการแจ้งความเพิ่มเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563

    สุดท้าย จำเลยถามกับพยานว่าในการชุมนุมมีผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก และแม้จะมีการขนย้ายต้นไม้และทำร่วงหล่นกันไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของผู้ชุมนุม พยานบอกว่า ใช่

    จากนั้นอัยการติงว่า ในการมอบอำนาจให้พยานไปร้องทุกข์ ก็เนื่องมาจากว่าเกิดความเสียหายของต้นไม้ และมีสาเหตุมาจากการชุมนุมกันที่บริเวณอนุสาวรีย์ฯ ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่

    ++คนขับรถรับจ้างมากางเต็นท์ในพื้นที่ชุมนุม เบิกความว่าตนเองเป็นหนึ่งในคนที่ถูกจับไปพร้อมกับผู้ชุมนุมในช่วงที่มีการสลายการชุมนุม

    ปาร์พิรัชย์ ปุญญาธนาภูเดช เข้ามาเกี่ยวกับคดีนี้เนื่องจากไปรับจ้างกางเต็นท์ให้บริเวณหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม แต่จำรายละเอียดไม่ค่อยได้ เพราะเรื่องเกิดนานมาแล้ว

    ในวันที่ 13 ต.ค. 2563 ได้รับโทรศัพท์ให้ไปช่วยกางเต็นท์ทั้งหมด 3 หลัง ที่หน้าโรงเรียนดังกล่าวในวันที่ 14 ต.ค. 2563 โดยให้ไปรอที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในเวลา 12.00 น. ซึ่งต่อมาก็มีกลุ่มคนแต่งกายชุดดำให้ขับรถตามขบวนชุมนุมไป แต่พยานไม่รู้ว่าเป็นขบวนอะไร กำหนดในการเก็บเต็นท์ออกจากพื้นที่คือเวลา 04.00 น. ของวันถัดไป (15 ต.ค. 2563)

    ทั้งนี้ พยานเป็นคนหนึ่งที่ถูกตำรวจ คฝ. ควบคุมตัว แต่จะถูกนำตัวไปที่ใดพยานก็จำไม่ได้แล้ว ในคืนดังกล่าวพยานรู้ว่าตำรวจได้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง และมีการเข้าสลายการชุมนุม จึงได้พยายามโทรหาที่บ้าน แต่มีนายตำรวจคนหนึ่งในพื้นที่ชุมนุมได้เข้ามายึดโทรศัพท์ และขว้างโทรศัพท์ของพยานลงกับพื้นจนเสียหาย

    ปาร์พิรัชย์ตอบจำเลยถามค้านว่าพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นพื้นที่เปิดโล่งแจ้ง ระหว่างทางของขบวนผู้ชุมนุมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยอำนวยความสะดวกโดยตลอด แต่พอถึงจุดหมายที่ต้องกางเต็นท์ ผู้ชุมนุมจะใช้เต็นท์ของพยานทำอะไรบ้างไม่สามารถทราบได้

    พยานทราบเรื่องการสลายการชุมนุม จึงได้พยายามเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมกลางดึกเพราะต้องการจะไปเก็บเต็นท์ของตนเอง เพราะคิดว่าตำรวจคงไม่ได้ทำอะไรพยาน แต่ในเช้าวันนั้น พยานก็ถูกนำตัวไปพร้อมกับกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย

    แต่ทั้งนี้ พยานจำชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำโทรศัพท์ของพยานเสียหายไม่ได้

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/59835)
  • ++จนท.กทม.ให้ความเห็นต่อคำปราศรัยของจำเลย ชี้ข้อความไม่เป็นจริง

    สุภัชฌา อนวัชรพงศ์พันธ์ รับราชการในหน่วยงานวางผังและพัฒนาเมือง สำนักงานโยธา กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้อ่านคำปราศรัยของจำเลยในคดีนี้ มีความรู้สึกว่าไม่เหมาะสม เป็นการดูหมิ่นในหลวง ที่วางตัวเป็นกลางทางการเมือง ไม่ควรถูกดึงมาพูดถึงในเรื่องอะไรแบบนี้ ซึ่งจากการอ่านข้อความแล้วพยานเห็นว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีใครทราบได้ว่าข้อความนั้นเป็นจริงอย่างไร

    ในการสอบปากคำชั้นสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้พยานอ่านข้อความที่ถูกถอดเทปมา และให้ออกความเห็นว่ามีความเห็นอย่างไร สาเหตุที่พยานได้ไปให้ความเห็นในคดีนี้ เนื่องจากมีการทำหนังสือส่งมาที่สำนักวางผังเมืองให้พยานไปแจ้งความร้องทุกข์

    จำเลยถามค้านว่า พยานเห็นด้วยกับการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 หรือไม่ พยานบอกว่า ไม่ขอออกความเห็น และไม่ขอตอบว่า เห็นด้วยกับ 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมหรือไม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และคิดว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม

    พยานยอมรับว่า ตัวเองไม่เคยแสดงออกทางการเมืองในพื้นที่สาธารณะ แต่ขอไม่ตอบว่า หากวันนั้นตำรวจมีการสลายการชุมนุม จะเข้าใจว่าในหลวงเป็นคนสั่งได้หรือไม่ และไม่ขอตอบว่า เห็นด้วยหรือไม่กับการสลายการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง ส่วนใครจะเป็นคนสั่งให้สลายการชุมนุม พยานไม่ทราบ แต่ไม่ใช่ในหลวงแน่นอน

    ++ประชาชนที่ไปเข้าร่วมรับเสด็จเห็นด้วยว่า หากตัวเองเป็นแกนนำการชุมนุมก็จะทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้เกิดการสลายการชุมนุม และหากต้องติดคุกเพื่อแสดงความรับผิดชอบก็ยอมรับได้

    รัฐธนภักษ์ สุวรรณรัตน์ ประกอบอาชีพเป็นติวเตอร์อิสระ เกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 พยานไปรับเสด็จกับเพื่อนที่บริเวณกองทัพบก ประมาณ 11.00 น. ได้พบเห็นเหตุการณ์การล้อมรั้วลวดหนามของตำรวจกั้นไว้ไม่ให้ผู้ชุมนุมทั้ง 2 ฝ่ายปะทะกัน

    ในช่วงเวลาประมาณ 18.00 น. พยานเห็นว่ามีขบวนเสด็จของพระราชินีกับพระองค์ทีปังกร ผ่านมาทางทำเนียบรัฐบาล และเห็นเหตุการณ์ของกลุ่มพวกเสื้อดำ ซึ่งคือกลุ่มผู้ชุมนุมของจำเลย และกลุ่มคนเสื้อเหลืองซึ่งคือกลุ่มคนที่มารอรับขบวนเสด็จด่าทอกัน โดยกล่าวใส่กันประมาณว่าเสียงของพวกสามนิ้วกับเสียงทรงพระเจริญอะไรจะดังกว่ากัน และมีการทุบรถพระที่นั่งด้วย

    พยานมีความรู้สึกต่อข้อความที่จำเลยปราศรัยว่า เป็นการหมิ่นประมาทอย่างร้ายแรง เพราะรัชกาลที่ 10 ไม่ได้มีอำนาจในการบริหารประเทศ การบริหารประเทศเป็นอำนาจของรัฐบาล จึงรู้สึกว่าการที่จำเลยพูดข้อความตามฟ้องเป็นการบิดเบือนให้ประชาชนเกลียดชังในหลวงว่าสามารถทำร้ายรังแกประชาชนได้

    พยานตอบจำเลยถามค้านว่า ตัวของพยานเองเคยไปเป็นพยานโจทก์ให้คดีมาตรา 112 และเคยเป็นผู้กล่าวหาในคดีมาตราดังกล่าวที่ศาลอาญากรุงเทพใต้

    พยานเป็นผู้จงรักภักดี และตั้งใจไปรับเสด็จในวันที่ 14 ต.ค. 2563 แต่พยานไปกับเพื่อนคนใด ขอไม่ระบุชื่อ เนื่องจากเป็นเรื่องส่วนตัว และที่ไปรอรับเสด็จที่กองทัพบกก็เพราะเพื่อนบอกว่าขบวนเสด็จจะผ่านมาทางนั้น และที่เดินไปดูเหตุการณ์ด่าทอกัน ไม่ได้มีความตั้งใจจะเข้าไปร่วมปะทะด้วย แต่ต้องการไปดูเท่านั้น

    ที่พยานเบิกความว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีการทุบรถขบวนเสด็จ พยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์และเห็นด้วยตนเอง เป็นเพียงการตามอ่านข่าวในภายหลังเท่านั้น

    จำเลยจึงถามต่อว่าในภาพเหตุการณ์ที่มีการทุบรถ พยานโกรธหรือไม่ พยานบอกว่าโกรธมาก มากถึงมากที่สุด และตั้งใจออกจากบ้านมาเพื่อให้ปากคำกับตำรวจในคดีนี้โดยเฉพาะ เมื่อจำเลยเอาคำปราศรัยตามฟ้องให้พยานดู แล้วจึงถามความรู้สึกกับพยานว่าเห็นคำปราศรัยแล้วโกรธหรือไม่ พยานตอบว่าโกรธมาก เห็นใครพูดแบบนี้ก็ต้องโกรธเป็นธรรมดา

    นอกจากนี้ พยานยังยอมรับว่าได้ตามดูข่าวในยูทูบภายหลัง แต่ติดตามดูเหตุการณ์เรื่องการขัดขวางขบวนเสด็จเป็นหลัก ไม่ได้ตามดูข่าวของกลุ่มผู้ชุมนุม และไม่ได้เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของ ‘กลุ่มสามนิ้ว’ แต่จำไม่ได้ว่าไม่เห็นด้วยเรื่องอะไรบ้าง แต่รู้ว่าเป็นกลุ่มไม่จงรักภักดี และยอมรับว่าผู้ชุมนุมไม่ได้มีการฝ่าแนวกั้นที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศของเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด

    เมื่อจำเลยถามต่อในประเด็นการสลายการชุมนุมของตำรวจว่าในคืนนั้นอยากให้มีการสลายการชุมนุมเกิดขึ้นหรือไม่ พยานบอกว่าไม่อยากให้สลายเพราะว่ามีคนอยู่เยอะมาก และเห็นด้วยกับที่จำเลยถามว่า หากพยานเป็นแกนนำการชุมนุมก็จะทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมในวันนั้น และหากต้องติดคุกเพราะออกไปชุมนุมก็ยินดีที่จะยอมรับผิดจากการกระทำของตัวเอง

    พยานตอบอัยการถามติงว่า ที่ให้การไปในชั้นสอบสวนทั้งหมด พยานให้การตามความนึกคิดของตัวเอง ไม่ได้เป็นเพราะอยู่กลุ่มหรือสังกัดฝ่ายใด และพยานก็ไม่รู้จักจำเลย ที่แสดงความรู้สึกโกรธก็เป็นการโกรธที่ข้อความไม่ได้มีเจตนาให้ร้าย

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/59835)
  • ++อาจารย์รัฐศาสตร์ชี้ การดื้อแพ่งเป็นการละเมิดกฎหมายเพื่อต่อสู้กับระบบ แต่ยังถือว่าเป็นอาชญากร

    ไชยันต์ ไชยพร รับราชการตำแหน่งศาสตราจารย์ที่ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยรับราชการตำแหน่งอาจารย์มาตั้งแต่ปี 2535 จนกระทั่งปัจจุบัน ได้รับมอบหมายให้สอนวิชาปรัชญาทางการเมือง วิชาประชาธิปไตยเปรียบเทียบ และวิชาสถาบันพระมหากษัตริย์กับการเมืองสมัยใหม่

    นอกจากนี้พยานยังเขียนหนังสือชื่อ ประเพณีการปกครองประชาธิปไตยอันมีประมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หนังสือว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่การปกครองพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของเดนมาร์ก และหนังสือเรื่องความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง

    คดีนี้พยานได้รับการติดต่อจากพนักงานสอบสวนให้มาให้ความเห็นเกี่ยวกับคำปราศรัยของจำเลย ในฐานะอาจารย์รัฐศาสตร์ พยานเห็นว่าตำแหน่งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ แต่ไม่ได้มีอำนาจในการบริหารประเทศ โดยในการใช้อำนาจบริหารต่าง ๆ ก็จะเป็นการทำผ่านรัฐบาล

    ทั้งนี้ ไชยันต์บอกว่าการแสดงความคิดเห็นของบุคคล เป็นเสรีภาพที่พึงกระทำได้หากอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย และการชุมนุมเองก็เป็นสิ่งที่ควรทำภายใต้กรอบของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ซึ่งไม่ควรไปละเมิดการใช้สิทธิเสรีภาพและทรัพย์สินของใคร

    ในเหตุการณ์วันที่ 14 ต.ค. 2563 พยานจำการชุมนุมในวันดังกล่าวไม่ได้ แต่หากการชุมนุมมีการแสดงความคิดเห็นที่รุนแรงต่อสถาบันกษัตริย์ เช่น การเผาทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ หรือการจำลองทำกิโยติน พยานเห็นว่าเป็นการแสดงให้เห็นเจตนาอาฆาตมาดร้ายต่อพระบรมวงศานุวงศ์ได้

    ไชยันต์บอกว่าตนเองรู้จักกลุ่มคณะราษฎร์ 2563 และในการเคลื่อนไหวหลายครั้งก็ต้องยอมรับว่ามีทั้งใช้ได้และที่ใช้ไม่ได้ แต่สำหรับการชุมนุมในคดีนี้ คำปราศรัยของจำเลยที่พยานได้ดูตามฟ้อง พยานมีความเห็นว่าเป็นคำกล่าวที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้คนเข้าใจผิดว่ากษัตริย์มีอำนาจสั่งการซึ่งไม่ใช่อย่างที่จำเลยกล่าวหา และอาจทำให้ผู้คนเกิดความเกลียดชังต่อกษัตริย์ได้

    ในขณะเดียวกัน คำกล่าวนี้อาจสร้างความวุ่นวาย ทำให้เกิดความไม่มั่นคงของระบบการปกครอง ศาลควรพิจารณาเอาผิดในมาตรา 112 และมาตรา 116 ด้วย

    จำเลยถามค้านไชยันต์ว่า พยานเคยออกมาให้ความเห็นและเห็นด้วยเกี่ยวกับข้อเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่จำเลยปราศรัยในม็อบแฮรี่พอตเตอร์ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 พยานบอกว่าใช่ และเคยเสนอว่าเห็นด้วยจริง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรถกเถียงกันได้ โดยไม่ต้องกระทำการอะไรที่รุนแรงภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

    ในฐานะที่พยานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ จำเลยจึงขอถามกับพยานว่าแนวคิดแบบ Civil Disobedience หรือการดื้อแพ่งต่อกฎหมาย มีความหมายว่าอย่างไร ไชยันต์บอกว่าคือการละเมิดกฎหมายโดยปราศจากความรุนแรง เพื่อมุ่งหมายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายของรัฐ เป็นการกระทำที่ท้าทายต่อแหล่งอำนาจต่าง ๆ แต่ผู้กระทำย่อมมอบตัวต่อกระบวนการยุติธรรมเพื่อไปต่อสู้ในระบบ หรือกล่าวได้ว่าเป็นฮีโร่ในคาบอาชญากร เนื่องจากเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย จึงต้องเป็นอาชญากรไปก่อนที่จะถูกเรียกว่าฮีโร่

    เมื่อจำเลยถามกับไชยันต์ว่า ตัวของพยานเองก็เคยทำการดื้อแพ่งมาแล้ว โดยการฉีกบัตรเลือกตั้งเมื่อปี 2549 ใช่หรือไม่ พยานบอกว่าการกระะทำตอนนั้นทำด้วยความจำเป็น และพยานเองก็ได้เข้ามอบตัวกับกระบวนการยุติธรรม และต่อสู้ในศาลถึง 3 ชั้น สุดท้ายพยานก็ถูกตัดสินให้มีความผิด

    ในประเด็นประวัติศาสตร์การชุมนุมในประเทศไทยที่ผ่านมา จำเลยถามพยานว่ารู้จักเหตุการณ์ชุมนุมวันที่ 14 ต.ค. 2516 หรือไม่ พยานบอกว่ารู้จัก การชุมนุมในขณะนั้นเป็นของนักศึกษาที่ออกมาประท้วงจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหาร การเรียกร้องของนักศึกษาในวันดังกล่าวส่งผลให้เกิดการล้มตาย และกลายมาเป็นสัญลักษณ์ในการเรียกร้องหลักนิติรัฐให้กับประเทศ

    อย่างไรก็ตาม ไชยันต์ตอบว่าตนเองไม่ได้ดูคลิปการปราศรัยของจำเลย ในการมาเบิกความวันนี้เป็นการอ่านบันทึกถอดเทปที่ตำรวจให้อ่านเท่านั้น และในบริบทการชุมนุมดังกล่าว พยานไม่ทราบตามที่ถามว่าเกิดอะไรขึ้นทำไมจำเลยถึงต้องปราศรัยด้วยคำพูดตามฟ้อง

    พยานอธิบายต่อไปว่า คำปราศรัยของจำเลยเป็นการพูดที่อันตรายมาก เพราะอาจสร้างการปลุกเร้าระดมฝูงชนได้มาก และถึงแม้จำเลยจะบอกว่าเป็นการสื่อสารถึงตำรวจ แต่การสลายการชุมนุมก็น่าจะเกิดขึ้นจากการที่ผู้บังคับบัญชาจะเป็นคนสั่งการอย่างไรมากกว่า

    พยานได้อ่านถ้อยคำและไม่สามารถคิดเป็นอย่างอื่นไปได้ว่าถ้ามีการสลายการชุมนุมจะเป็นคำสั่งของรัชกาลที่ 10 แต่ถ้าใครเชื่อพยานก็เห็นว่าโง่เต็มที

    จำเลยจึงถามต่อไปว่า พยานเห็นด้วยกับการสลายการชุมนุมในวันดังกล่าวหรือไม่ พยานบอกว่าขึ้นอยู่กับว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทำตามกรอบของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ หรือไม่ และมีการปฏิบัติตามหลักสากลของการสลายการชุมนุมหรือไม่ ส่วนในเรื่องขบวนเสด็จที่ผ่านไปบริเวณที่มีผู้ชุมนุม พยานคิดว่าเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องควบคุมฝูงชนอยู่แล้ว เพื่อคุ้มครองบุคคลที่เป็นประมุขของรัฐ

    พยานเห็นด้วยตามที่จำเลยถามว่า หากศาลจะลงโทษเอาผิดจำเลยควรจะต้องผิดทั้งมาตรา 112 และมาตรา 116 และยอมรับเรื่องที่จำเลยถามว่าพยานไม่ได้ให้การไว้ว่าคำพูดของจำเลยเป็นความผิดร้ายแรงและอันตรายไว้ในชั้นสอบสวน พยานขยายคำเบิกความของตัวเอง

    ++อาจารย์นิด้าไม่ขอตอบว่าอยากให้มีการสลายการชุมนุมเกิดขึ้นจริงหรือไม่

    อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์มหาวิทยาลัย คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สอนวิชาเกี่ยวกับสถิติประยุกต์เป็นหลักและไม่ได้จบหรือศึกษาวิชากฎหมายใด ๆ

    เกี่ยวกับคดีนี้ พนักงานสอบสวนติดต่อให้พยานไปอ่านบันทึกคำถอดเทปคำปราศรัยของจำเลย พยานมีความเห็นว่าเป็นการปฏิบัติที่ล่วงละเมิดสถาบันกษัตริย์ และละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะเป็นการพูดโดยปราศจากข้อเท็จจริงและไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้

    นอกจากนี้ พยานยังเบิกความต่อว่า การชุมนุมของจำเลยสามารถทำได้โดยไม่ละเมิดผู้อื่น แต่สิ่งที่จำเลยทำเป็นการละเมิดในหลวง ซึ่งเป็นองค์รัฎฐาธิปัตย์ จึงเป็นการทำผิดต่อประเพณีอันดี ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ไม่เป็นการกระทำที่สอดคล้องกับศีลธรรมอันดีของไทย

    พยานตอบจำเลยถามค้านโดยยอมรับว่า เคยเข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 112 เป็นจำนวนมากกว่า 10 คดีแล้ว และยอมรับว่าไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรม แต่มาในฐานะผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เพราะเคยเป็นอนุกรรมการศาสตร์พระราชา ตลอดจนเขียนหนังสือเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์

    จำเลยถามกับพยานว่า ตอนที่พยานโพสต์เรื่องเล่าจากการใช้ชีวิตในต่างแดนว่าตนเองเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศอื่น เนื่องจากเจอเหตุการณ์ฝังใจในวันที่อากาศหนาวจัด แล้วพยานเอามือไปจับลูกบิดประตูบ้านจนทำให้มือของพยานติดกับลูกบิด โดยมีคนไปแซะว่าทำไมถึงใช้มือเปล่าจับลูกบิดในตอนที่อากาศหนาวเย็นแบบนั้น พยานโกรธหรือไม่ พยานบอกว่าตัวเองไม่ได้คิดอะไร

    ส่วนกรณีที่พยานชอบโพสต์ด่ากลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองที่อยู่ฝั่งตรงข้ามว่าเป็น ‘สามกีบ’ พยานขอไม่ออกความเห็นตามที่จำเลยถามว่าจะหมายถึงวัว ควายหรือไม่

    พยานแสดงความไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 และไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องทั้งสามข้อ และไม่ทราบว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 6 จะเป็นการคัดลอกกฎหมายมาจากประเทศใด

    การเบิกความอ้างถึงมาตรา 6 ก็มาจากการอ่านหนังสือของ ผศ.กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ แต่ไม่ทราบว่าอาจารย์ท่านนี้จะเป็นหนึ่งในพยานโจทก์คดีนี้ด้วยหรือไม่ และพยานยังยอมรับตามที่จำเลยถามว่าเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญของหยุด แสงอุทัย ในสมัยเรียน

    พยานเห็นว่า กลุ่ม กปปส. และกลุ่มราษฎร มีความคิดเห็นแตกต่างกัน แต่กลุ่ม กปปส. ได้ยุติบทบาทการชุมนุมไปตั้งแต่หลังรัฐประหารแล้ว แต่ทั้งนี้พยานไม่ขอตอบว่าเห็นด้วยกับการรัฐประหารในปี 2557 หรือไม่

    จำเลยจึงถามต่อไปว่า หากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นคนมีคำสั่งเกี่ยวกับการชุมนุมจริง และหากพยานเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำตามคำสั่งดังกล่าวหรือไม่ พยานบอกว่า รัชกาลที่ 10 ทรงอยู่เหนือการเมือง ไม่ขอตอบในประเด็นนี้

    พยานยังไม่ขอตอบในประเด็นคำถามที่จำเลยถามว่า รัชกาลที่ 9 เคยสั่งให้มีการยุติการชุมนุมในสมัยพฤษภาทมิฬ 2535 ภายหลังพลเอกสุจินดา คราประยูร สั่งให้สลายการชุมนุมที่มีแกนนำคือพลตรีจำลอง ศรีเมือง ซึ่งในหลวงทรงรับสั่งให้ทั้งสองฝ่ายมาเข้าเฝ้าและขอให้ยุติการชุมนุมด้วย ซึ่งภายหลังมีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้ถูกจับกุม จำเลยจึงถามต่อพยานว่าในเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2563 พยานอยากให้มีเหตุการณ์สลายการชุมนุมหรือไม่ พยานบอกว่าขอไม่ตอบ

    ทั้งพยานไม่ขอตอบว่าเห็นด้วยหรือไม่ในการใช้ชื่อของพระมหากษัตริย์มาอ้างในเรื่องการสลายการชุมนุม พยานทราบแต่เพียงว่าหากจะชุมนุมก็ห้ามเข้าใกล้เขตพระราชวัง ตลอดจนพยานไม่ขอตอบถึงเหตุการณ์ในวันก่อนหน้าอย่าง 13 ต.ค. 2563 ที่มีการสลายการชุมนุม อันเนื่องมาจากขบวนเสด็จที่จะผ่านแถวราชดำเนินด้วย

    จำเลยจึงถามต่อในประเด็นเรื่องคำปราศรัยว่า หากในวันที่ 14 ต.ค. 2563 ไม่มีการสลายการชุมนุมเกิดขึ้นจริงคำปราศรัยของจำเลยก็ไม่ใช่เรื่องบิดเบือนแต่อย่างใด พยานบอกว่าไม่ใช่ ยังคงเป็นคำบิดเบือนอยู่ เพราะรัชกาลที่ 10 ทรงอยู่เหนือการเมือง จะมีการสลายการชุมนุมหรือไม่ แต่การปราศรัยในวันดังกล่าวไม่ได้มีหลักฐาน นอกจากนี้พยานไม่เคยไปถามตำรวจเลยว่าเหตุที่ไม่สลายการชุมนุมในวันดังกล่าวเพราะเหตุใด

    ส่วนเรื่องขบวนเสด็จที่ผ่านหน้าทำเนียบรัฐบาล และไม่ได้มีการหลีกเลี่ยงผู้ชุมนุมนั้นจะเป็นการทำเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรงหรือไม่ พยานก็ไม่ขอตอบ

    ++ประชาชนที่เข้าไปทำโรงทานในพื้นที่ชุมนุม ยืนยันว่าพื้นที่ชุมนุมเป็นพื้นที่เปิดโล่ง มีรถพยาบาลคอยดูแลผู้ชุมนุมโดยรอบ

    เทวินทร์ พูลทวี มีอาชีพรับจ้าง เกี่ยวกับวันที่ 14 ต.ค. 2563 พยานเข้าไปทำโรงทานในพื้นที่ชุมนุม เนื่องจากส่วนตัวเป็นคนชอบทำโรงทานและชอบตอบแทนสังคม โดยเห็นว่าในทุก ๆ วันที่ 14 ต.ค. จะมีการรำลึกถึงผู้ชุมนุมในอดีตที่เคยเสียชีวิตจากการเรียกร้องทางการเมือง ทั้งนี้พยานทำอาหารมาจากบ้านของตนเอง และแจกให้ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้ชุมนุมที่อยู่ในบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

    เทวินทร์ตอบจำเลยถามค้านว่า พื้นที่การชุมนุมเป็นพื้นที่เปิดกว้าง และร้านแมคโดนัลด์ก็เปิดให้คนเข้าไปใช้บริการ มีห้องน้ำในร้านให้ใช้ และยืนยันว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่ใส่ และในช่วงที่พยานเข้าไปแจกอาหาร ก็เป็นช่วงที่โควิดยังไม่มีการระบาดร้ายแรง

    สำหรับเรื่องมาตรการป้องกันโรค พยานเห็นว่ามีพยาบาลอาสา และมีรถพยาบาลอยู่ในพื้นที่การชุมนุม แต่พยานไม่ทราบว่าเป็นของหน่วยพยาบาลใด

    ศาลถามเทวินทร์ว่า พยานนำอาหารมาแจกเป็นจำนวนเท่าไหร่ พยานบอกว่าจำไม่ได้แล้ว แต่เตรียมมาประมาณ 500 ถ้วย

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/59835)
  • ++อานนท์อ้างตัวเองเป็นพยานจำเลย

    อานนท์ นำภา ประกอบอาชีพทนายความ ในคดีนี้สืบเนื่องมาจากการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 ในนามของกลุ่มคณะราษฎร ซึ่งมีข้อเรียกร้อง 3 ประการคือ ขอให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

    ในการชุมนุมครั้งนี้ ก็สืบเนื่องมาจากการทำรัฐประหารของประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ซึ่งประยุทธ์ได้ยึดอำนาจการปกครอง และออกกฎหมายละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายฉบับ รวมไปถึงจับกุมนักกิจกรรมทางการเมืองและประชาชนหลายคน

    จำเลยเริ่มจัดกิจกรรมชุมนุมทางการเมืองครั้งแรกที่หอศิลป์กรุงเทพมหานคร โดยเรียกร้องให้รัฐบาลภายใต้การบริหารของประยุทธ์ไม่นำประชาชนขึ้นพิจารณาคดีที่ศาลทหาร เนื่องจากมีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนหลายส่วน รัฐบาล คสช. ยังได้วางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะเป็นปัญหาต่อการพัฒนาประเทศ และไม่อาจรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีอยู่ทุกวันได้

    จากปัญหาข้างต้นนี้ ทำให้จำเลยและพวกไม่เห็นด้วยจึงออกมาเรียกร้องและเคลื่อนไหวทางการเมือง

    อานนท์เบิกความต่อไปว่า สำหรับแนวคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จำเลยไม่เห็นด้วยกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 15 ที่ระบุว่า การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เนื่องจากเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 10 มีการเสด็จออกประพาสต่างประเทศ ก็ควรจะมีการแต่งตั้งตัวแทนผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสมอ มิควรดำเนินการสำเร็จราชการด้วยพระองค์เองจากต่างประเทศ

    นอกจากนี้ จำเลยยังเห็นว่ามีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ถูกออกมาภายใต้รัฐบาลของประยุทธ์ ดังนี้

    1. การร่าง พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ ของกรมทหารราบที่ 1 และ 11 การโอนทหารเข้าไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ ซึ่งพยานเห็นว่ากษัตริย์ไม่ควรจะมีกองกำลังส่วนตัวเช่นนี้

    2. การแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ทรัพย์สินส่วนพระมหาษัตริย์ ซึ่งทำให้กษัตริย์มีอำนาจถ่ายโอนทรัพย์สิน รวมถึงส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และงบประมาณตามพระราชอัธยาศัย และไม่อยู่ในการดูแลของกระทรวงการคลังอีกต่อไป พยานเห็นว่าสิ่งนี้สร้างความคลุมเคลือและไม่ชัดเจนในส่วนการใช้จ่ายที่มาจากภาษีของประชาชน

    ส่วนประเด็นตามฟ้องที่จำเลยถูกกล่าวหา จำเลยเห็นว่าตนเองได้พูดอย่างเป็นทางการในม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 เรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ จนทำให้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และไม่ใช่แค่จำเลย แต่ยังมีเยาวชน และผู้ชุมนุมอีกหลายคนที่ถูกดำเนินคดีในมาตรานี้อย่างกว้างขวาง

    ในทุกครั้งที่มีการชุมนุม จำเลยได้พูดเรื่องการแก้ไขกฎหมายอย่างชัดเจนทุกครั้ง ตลอดจนเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็มีการพูดเช่นเดียวกัน และทุกครั้งที่ปราศรัยก็ได้เตือนให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมพูดอยู่ในกรอบของกฎหมายเสมอ

    แต่ในการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน รัฐไม่ได้รับฟังเสียงของประชาชนที่ออกมาเรียกร้อง ทั้งจำเลยสังเกตเห็นว่ามีการพยายามทำลายสมบัติของคณะราษฎร 2475 หลายครั้ง ตลอดจนมีการอุ้มหายผู้ลี้ภัยอย่าง วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ โดยที่รัฐไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ เหตุการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมนี้ จำเลยคิดว่าเป็นต้นเหตุที่สร้างความโกรธให้กับประชาชน

    ตลอดจน ในวันที่ 19 ก.ย. 2563 ที่มีการชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวง และเป็นครั้งแรกที่ใช้พื้นที่ดังกล่าวทำกิจกรรมสาธารณะ หลังที่รัฐปิดไม่ให้ประชาชนเข้าใช้ ทั้ง ๆ ที่เป็นทรัพยากรที่ประชาชนสามารถใช้ร่วมกันได้ ทั้งการรื้อถอนศาลฎีกาเก่า ซึ่งถือเป็นมรดกคณะราษฎร 2475 จำเลยเห็นว่าเป็นการพยายามลบเลือนประวัติศาสตร์ และเป็นการทำลายคุณค่าทางสถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์ทางการเมืองอีกด้วย

    นอกจากนี้ ในการแต่งตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครอย่าง อัศวิน ขวัญเมือง ที่เข้ามาลบเลือนคุณค่าของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมืองมาช้านาน การเอาต้นไม้มาประดับเป็นการไม่เคารพพื้นที่และสิทธิของประชาชนที่ต้องการแสดงออกทางการเมือง

    หากจะถามว่าทำไมจำเลยกับพวกถึงออกมาชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 อย่างละเอียด จำเลยขออธิบายว่าเป็นเหตุสืบเนื่องมาจากวันที่ 19 ก.ย. 2563 ที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้เสนอข้อเรียกร้องทั้งสามประการข้างต้นไป ซึ่งจำเลยขอยืนยันว่าได้ปราศรัยและทำกิจกรรมอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายทุกประการ แต่ไม่มีการตอบรับจากหน่วยงานไหนเลย จนทำให้เกิดการชุมนุมในวันดังกล่าวขึ้น

    ถึงแม้ว่าในขณะที่ชุมนุมจะมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ในขณะนั้นก็ไม่ได้มีการติดเชื้อโควิด และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ตามกฎหมายแล้ว มีผลให้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ไม่ถูกบังคับใช้ ซึ่งแสดงว่าไม่มีกฎหมายที่จะบังคับให้ผู้ชุมนุมต้องไปแจ้งการชุมนุม แต่แกนนำก็ยังจัดแถลงการณ์ก่อนล่วงหน้าในวันที่ 8 ต.ค. 2563 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบว่าจะมีการรวมตัวกันของประชาชนแล้ว

    ส่วนประเด็นการรื้อถอนต้นไม้ที่พยานโจทก์เบิกความกล่าวหา จำเลยขออธิบายว่าการยกต้นไม้ออกเป็นกิจกรรมคืนความสวยงามให้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพราะสภาพของอนุสาวรีย์ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการจัดแต่งต้นไม้เช่นนี้มาก่อน ดังนั้นการยกต้นไม้ออกถือเป็นการคืนความสวยงามด้านสถาปัตยกรรมให้กับอนุสาวรีย์

    อีกทั้ง ในวันที่ 13 ต.ค. 2563 ‘ไผ่ จตุภัทร์’ ได้มีการนำประชาชนมาปักหลักค้างคืนรอชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. ด้วย แต่ได้มีการจับกุมเกิดขึ้น ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก่อนจะมีขบวนเสด็จผ่าน เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าการมาปักหลักของประชาชนแบบนั้นจะไม่เกิดภาพที่สวยงามของพื้นที่เมื่อมีขบวนเสด็จผ่าน

    หลังจากจำเลยทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช้าวันชุมนุมก็ได้มีปักหลักตั้งแต่ 07.00 น. เพื่อให้การชุมนุมดำเนินต่อไปได้ แต่เมื่อมีประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมมากขึ้น จึงทำให้มีการขยายตัวลงถนน เป็นธรรมชาติของการรวมตัวกัน และกลุ่มผู้จัดการชุมนุมก็ได้มีการระมัดระวังเรื่องเลนถนน เกิดการขยายตัวไปไม่เกิน 6 เลนเท่านั้นในฝั่งขาเข้าของอนุสาวรย์ และมีข้อตกลงรวมกันกับผู้ชุมนุมว่าเราจะไม่ขัดขวางทางจราจร หรือแม้แต่ขบวนเสด็จก็จะไม่ทำอะไรที่ดูไม่ดี จะชุมนุมกันด้วยความสงบ

    การชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก มีความเสี่ยงที่ตำรวจจะเข้าสลายการชุมนุมมาก เพราะในวันที่ 13 ต.ค. 2563 ก็มีคนบาดเจ็บจากการเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมแกนนำที่มารอปักหลักไปแล้ว และจำเลยก็ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าหากยังชุมนุมกันอยู่ จะมีการสลายการชุมนุมเกิดขึ้น ดังนั้นจำเลยจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ตำรวจเข้าปราบปรามกลุ่มประชาชน และหลังจากที่จำเลยได้พูดประโยคตามฟ้องออกไป ก็ทำให้ตำรวจไม่กล้าเข้ามาสลายการชุมนุม และทำให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยจนถึงกลางคืน

    ทั้งนี้ อานนท์ได้พูดกับศาลว่า หากท่านฟังการปราศรัยทั้งหมดจะเห็นว่าไม่ได้มีข้อความใดที่พาดพิงถึงกษัตริย์ไปมากกว่านี้อีกแล้ว เพราะทั้งหมดเป็นการเรียกร้องต่อรัฐบาลและประยุทธ์ จันทร์โอชา

    นอกจากนี้ ในการจัดขบวนเสด็จให้ผ่านหน้าทำเนียบรัฐบาล จำเลยเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความจงใจของตำรวจที่ต้องการให้ขบวนเสด็จผ่านเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง จนทำให้มีประชาชนโดนดำเนินคดีตามมาตรา 110 แต่ผลของคดีดังกล่าวก็ได้มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว

    เหตุที่จำเลยสามารถกล่าวได้เช่นนี้ ก็เพราะในวันที่ชุมนุม จำเลยได้คุยโทรศัพท์กับรองผู้บัญชาการตำรวจ ซึ่งขอเจรจาให้จำเลยและพวกยุติการชุมนุม และถามว่าจำเลยจะเอาอย่างไร เพราะหากจำเลยนำประชาชนมาปักหลักอยู่ที่ทำเนียบทั้งคืนนี้แบบนี้ ตำรวจก็จะยกระดับ โดยประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง และเข้าสลายการชุมนุม ซึ่งในช่วงเช้าของวันถัดมา (15 ต.ค. 2563) ตำรวจก็ได้เข้าสลายการชุมนุมจริง

    ในคืนดังกล่าว จำเลยยังได้รับแจ้งว่ามีการขอกำลังเป็นทหารบกเข้ามาเสริมด้วย การมีกองกำลังทหารเข้ามาเช่นนี้ จำเลยเห็นว่ามันมีความเสี่ยงที่ตำรวจต้องการจะยกระดับความรุนแรง และอาจมีการสูญเสียเกิดขึ้นได้ ทำให้ในช่วงรุ่งเช้าของการชุมนุม จำเลยก็ได้ยอมประกาศยุติการชุมนุม และได้ส่งชาวบ้านที่มาร่วมชุมนุมกลับบ้านจนหมด จนกระทั่งจำเลยถูกจับกุมพร้อมแกนนำทั้งหมด

    การจับกุมที่เกิดขึ้น จำเลยขอยืนยันว่าเป็นไปด้วยความยินยอม และตัวเองได้เดินไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นางเลิ้ง แต่ในเช้าวันถัดมาก็พบว่าถูกนำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปยังศาลจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อฝากขังคดีที่เกิดขึ้นที่เชียงใหม่ทันที โดยมีหน่วยคอมมาโด (หนุมาน) ควบคุมตัวจำเลยไปอยู่บนฮอร์ลำนั้นด้วย

    อานนท์พูดต่อว่า ด้วยความสุจริตใจของตัวเอง จำเลยขอยืนยันว่าข้อเรียกร้องทั้งหมดก็เพื่ออยากเห็นสถาบันกษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนในประเทศนี้ การพูดออกไปเช่นนั้นมีเพียงเจตนาเดียวคือต้องการหลีกเลี่ยงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบสูงสุดของแกนนำม็อบที่จะทำได้

    อานนท์แถลงต่อในช่วงท้ายว่า การออกมาเคลื่อนไหวเช่นนี้มีราคาที่ต้องจ่าย แต่ก็คุ้มค่าแล้วในการที่จะไม่พาใครไปตาย ในฐานะแกนนำ จำเลยไม่ขอโทษใคร แต่ขอโทษรัฐที่เข้ามาปราบปรามประชาชนเช่นนี้

    ศาลบอกอานนท์ว่า ขอให้สรุปเรื่องทั้งหมดที่เบิกความเป็นประเด็นได้หรือไม่ เพราะจำเลยอธิบายเยอะมาก และหากสรุปศาลก็เห็นควรว่าจำเลยพูดมามากพอแล้ว และอยากให้เหลือเวลาให้อัยการได้ถามค้านด้วย

    จำเลยบอกว่าหากต้องสรุป จำเลยมีประเด็นทั้งหมดมี 4 ข้อ ดังนี้

    1. เรื่องความเสียหายของต้นไม้ เบิกความค้านพยานโจทก์ ว่าไม่ได้มีความตั้งใจทำลายต้นไม้ที่เป็นทรัพย์สินของ กทม. และในตอนปราศรัยก็ได้พูดกับมวลชนชัดเจนและย้ำกับทุกคนว่าการเคลื่อนย้ายต้องทำโดยความระมัดระวัง ไม่ให้ต้นไม้เสียหาย โดยมีเจตนาในการเคลื่อนย้าย เพื่อคืนต้นไม้ให้กับ กทม. และคืนความสวยงามให้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็น

    2. ประเด็นการจราจรติดขัด จำเลยเบิกความค้านโจทก์ว่า ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะสร้างปัญหาการจราจร แต่เมื่อการชุมนุมมีการขยายตัวของมวลชน การขยายพื้นที่จึงเป็นความจำเป็นและเป็นเรื่องธรรมชาติของการชุมนุม ทั้งได้มีการประสานงานตำรวจจราจร เพื่ออำนวยความสะดวกแล้ว และไม่ได้มีความไม่เรียบร้อยแต่อย่างใด ไม่ได้มีการสลายการชุมนุม หรือเข้าไปขัดขวางขบวนเสด็จ ส่วนการตั้งเต้นท์และเครื่องขยายเสียงก็ตั้งในจุดที่ไม่ได้มีการขัดขวางการจราจร

    3. เหตุที่ไม่ได้แจ้งการชุมนุม เป็นเพราะในขณะเกิดเหตุมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 3 (6) งดเว้นการบังคับใช้กฎหมายนี้ในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

    4. เหตุตามคำฟ้องในความผิดตามมาตรา 112 จำเลยขอยืนยันว่ามีเจตนาเพียงต้องการไม่ให้เกิดการสลายการชุมนุมเท่านั้น เพราะหลังจากการพูดไปก็ไม่ได้เกิดการสลายการชุมนุมจริง เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในวันที่ 13 ต.ค. 2563 จำเลยจึงขอสาบานให้ตายเลยว่าไม่ได้ต้องการพาดพิงถึงกษัตริย์ สิ่งเดียวที่ต้องการในวันดังกล่าว คือไม่อยากให้เกิดการสลายการชุมนุม จนทำให้มีความรุนแรงเสียหายถึงชีวิต

    ภายหลังอัยการโจทก์ขอไม่ใช้สิทธิถามค้านอานนท์ ศาลจึงนัดวันฟังคำพิพากษาเป็นวันที่ 26 ก.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ซึ่งภายหลังการพิจารณาคดี ผู้พิพากษาหัวหน้าองค์คณะได้พูดคุยกับจำเลย โดยไม่มีการบันทึกใด ๆ ไว้ในคำเบิกความ ถึงประเด็นเรื่องการพยายามทำลายมรดกคณะราษฎร 2475

    ศาลท้วงอานนท์ว่า ศาลฎีกาเก่าที่ต้องทุบทิ้งไป ไม่เกี่ยวกับคณะราษฎร แต่เพราะมีการสร้างมานานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว รากฐานของตึกทรุดโทรมไปมาก อาจเป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในตึกศาล จึงมีความจำเป็นที่ต้องสร้างใหม่ จำเลยได้แย้งอธิบายว่า จำเลยเข้าใจมาตลอดว่าศาลฎีกาสร้างในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่ศาลยังโต้ตอบว่าคำเบิกความที่อานนท์อธิบายมาเป็นสิ่งที่เขาคิดไปเอง

    ทั้งนี้ การโต้เถียงกันใช้เวลาไม่นาน แต่เหลือทิ้งไว้เพียงความสงสัยในใจของอานนท์ โดยเขาได้พูดกับทนายความที่อยู่ด้วยในวันนั้นว่า “สรุปแล้วตึกศาลฎีกานี่มันเป็นมรดกของคณะราษฎรไหม?”

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/59835)
  • เวลา 08.40 น. บริเวณหน้าศาลอาญา อานนท์เดินทางมาพร้อมครอบครัว โดยมีสื่อมวลชนจำนวนมากมารอสัมภาษณ์

    ต่อมา 08.50 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 811 เจ้าหน้าที่ประจำห้องพิจารณาได้ทำการล็อกประตูห้องพิจารณาคดี ภายหลังประชาชนเริ่มทยอยเดินทางมาเพื่อร่วมฟังคำพิพากษาเป็นจำนวนมาก โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) และตำรวจศาลร่วมเฝ้าอยู่หน้าห้องพิจารณาคดีด้วย

    ในช่วงเวลา 09.00 น. นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนแจ้งว่า ได้นำหนังสือถึงอธิบดีศาลอาญา เรื่องสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวของอานนท์ นำภา โดยไม่ต้องรอให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา รวมทั้งผู้ต้องหาและจำเลยในคดีการเมืองอื่น ๆ โดยต้องการยื่นต่ออธิบดีโดยตรง

    อย่างไรก็ตาม อธิบดีแจ้งผ่านเจ้าหน้าที่ศาลว่าขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ และไม่ขอมารับหนังสือดังกล่าวแต่อย่างใด แม้จะมีคำร้องขอถึง 2 ครั้งก็ตาม

    ในวันนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่สถานทูตจาก 3 ประเทศ ได้แก่ สถานทูตเยอรมนี, สถานทูตสวีเดน, สถานทูตสวิสเซอร์แลนด์ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล ตลอดจนเจ้าหน้าที่จากองค์กรสิทธิมนุษยชน ได้แก่ OHCHR, FIDH, iLAW และผู้สื่อข่าวข่าวจากสำนักข่าว The Momentum และ AP News เข้าร่วมสังเกตการณ์ในนัดฟังคำพิพากษานี้ด้วย

    เวลา 09.20 น. มีการเจรจาให้เจ้าหน้าที่ศาลเปิดห้องพิจารณาคดีที่ใหญ่กว่าเดิม เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากที่ต้องการเข้าร่วมฟัง แต่เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าไม่สามารถทำแบบนั้นได้ และได้จำกัดให้เฉพาะคู่ความ และทนายความของจำเลย ตลอดจนเจ้าหน้าที่สถานทูตและเจ้าหน้าที่องค์กรสิทธิที่มีการขออนุญาตมาแล้วเท่านั้นที่จะสามารถเข้าห้องพิจารณาคดีได้

    อย่างไรก็ตาม หนึ่งในเพื่อนทนายความของอานนท์ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ศาลว่า เหตุใดถึงไม่ยอมให้ประชาชนเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี ในเมื่อห้องพิจารณายังมีที่ว่างเหลืออยู่อีกเป็นจำนวนมาก ขอให้ประชาชนได้เข้าไปจนเต็มห้องก่อนได้หรือไม่ การเจรจาดังกล่าวใช้เวลาอีกสักพักหนึ่ง จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าจะเปิดห้องพิจารณาคดี 812 เพื่อให้ประชาชนเข้าไปนั่งดูถ่ายทอดสดร่วมกันได้

    ++ศาลชี้อานนท์ทำผิด ม.112 – พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การปราศรัยของจำเลยมีเจตนาสร้างความเสื่อมเสียให้กษัตริย์ รับฟังเป็นอย่างอื่นไม่ได้

    เวลา 09.53 น. ศาลนั่งพิจารณาคดี โดยเรียกให้อานนท์ลุกขึ้นรายงานตัวและขานชื่อตัวเองอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะเริ่มอ่านคำพิพากษา ซึ่งมีใจความโดยสรุปว่า จำเลยกระทำผิด 2 ข้อหาตามฟ้องคือ มาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และยกฟ้องจำเลยใน 7 ข้อกล่าวหา ได้แก่ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ, ข้อหาทำให้เสียทรัพย์ (มาตรา 358) และกีดขวางทางสาธารณะ (มาตรา 385)

    ศาลพิเคราะห์เห็นว่า จำเลยเป็นนักกฎหมาย และเป็นแกนนำการชุมนุมย่อมรู้ว่าจะต้องทำสิ่งใดไม่ให้กระทบกับข้อกฎหมายและสิทธิของบุคคลอื่น และในฐานะแกนนำย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือข้อปฏิบัติใด ๆ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบต่อความมั่นคงของชาติ

    ส่วนเรื่องคำปราศรัยของจำเลย ศาลเห็นว่า การควบคุมความสงบของการชุมนุมเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งต้องควบคุมให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย แต่หากผู้ชุมนุมมีการกระทำใดที่เป็นความรุนแรง วุ่นวายต่อบ้านเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจย่อมมีความจำเป็นในการเข้าสลายการชุมนุม และสามารถใช้กำลังได้ตามสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อแก้ไขสถานการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น หาใช่กระแสรับสั่งของกษัตริย์ไม่

    ข้ออ้างของจำเลยไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ และพยานของโจทก์มีน้ำหนักที่รับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง

    ในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การจัดการชุมนุมไม่มีการเว้นระยะห่าง ไม่มีมาตรการป้องกันและควบคุมโรค และตามมาตรา 112 การกระทำของจำเลยเป็นการทำให้กษัตริย์เสื่อมเสีย เจตนาของจำเลยรับฟังไม่ได้ว่าเป็นการป้องกันผู้ชุมนุม หรือป้องกันเหตุการณ์สลายการชุมนุมอย่างไร พิพากษาลงโทษตามมาตรา 112 จำคุก 4 ปี และลงโทษปรับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 20,000 บาท ไม่มีเหตุให้รอลงอาญา

    ส่วนคำร้องขอให้นับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่น เนื่องจากในคดีอื่นยังไม่มีคำพิพากษาจำคุกจำเลย คำขอส่วนนี้จึงให้ยกไป

    คดีนี้มี ธรรมสรณ์ ปทุมมาศ เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี

    ภายหลังการอ่านคำพิพากษา อานนท์ได้บอกกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ว่า ขอให้เขาได้อุ้มลูกชายวัย 10 เดือน ก่อนออกจากห้องพิจารณาได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่อนุญาตให้อานนท์ได้กอดลูกชายเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะนำตัวไปโดยไม่มีการคล้องกุญแจมือเขาแต่อย่างใด

    ทั้งนี้ ตลอดทางเดินไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ประชาชนได้ตะโกนอย่างพร้อมเพรียงกันว่า “สู้ ๆ อานนท์” ไปตลอดทาง ก่อนจะสิ้นสุดจุดสายตาที่ทุกคนจะมองเห็นเขาได้

    ++คำร้องขอประกันระบุชัด อานนท์ปฏิบัติตามเงื่อนไขตลอด ไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี ขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคำสั่งโดยไม่ต้องส่งศาลอุทธรณ์

    ภายหลังการอ่านคำพิพากษา ทนายได้ยื่นคำร้องขอประกันระหว่างอุทธรณ์ทันที โดยยื่นหลักทรัพย์ประกันเป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท ในคำร้องมีใจความสำคัญระบุว่า ภายหลังจำเลยได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างสอบสวนและพิจารณาคดี จำเลยไม่เคยกระทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว และไม่เคยถูกเพิกถอนประกันตัวในคดีนี้เลยสักครั้ง ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าหากจำเลยได้รับอนุญาตให้ประกันแล้วจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นหรือหลบหนีแต่อย่างใด

    และในคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี จำเลยได้รับการประกันตัวมาตลอด จึงขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ตามข้อบังคับประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยตัวชั่วคราวและวิธีเรียกประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 เพื่อให้จำเลยได้รับการประกันตัวและออกมาสู้คดีได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องส่งคำร้องขอประกันของจำเลยไปให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้สั่ง

    นอกจากนี้ จำเลยมีบุตรเป็นผู้เยาว์จำนวน 2 คนที่ต้องเลี้ยงอุปการะ โดยเป็นบุตรสาวอายุ 8 ปี และบุตรชายอายุเพียง 10 เดือน รวมทั้งมีพ่อแม่ที่แก่ชรา หากศาลไม่อนุญาตให้ประกันย่อมส่งผลต่อบุตรและบิดามารดาของจำเลยเป็นอย่างยิ่ง

    ต่อมาในเวลา 16.16 น. ปริญญา สิตะโปสะ มีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันของอานนท์ให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาอีก 2 – 3 วัน ก่อนจะทราบผล

    ขณะเดียวกัน ทนายความยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ไต่สวนคำร้องขอประกันก่อนมีคำสั่ง เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอด้วย

    ผลของคำสั่งศาลอาญา ทำให้อานนท์ต้องนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในระหว่างรอคำสั่งศาลอุทธรณ์

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/59950)
  • ศาลอาญาอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ ไม่อนุญาตให้ประกันตัวอานนท์โดยไม่มีการเรียกไต่สวน ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีประกอบพยานหลักฐานในสำนวนแล้ว การกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนและสร้างความเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง

    “ส่วนที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ไต่สวนพยานผู้ร้องก่อนมีคำสั่งในคำร้องขอปล่อยชั่วคราวนั้น เนื่องจากพยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอต่อการวินิจฉัยแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานผู้ร้องอีก ให้ยกคำร้องในส่วนนี้”

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/59950)
  • ที่ศาลอาญา ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันอานนท์ระหว่างอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 2 สำหรับรายละเอียดของคำร้องขอประกันตัวในครั้งนี้มีรายละเอียดเพิ่มเติมจากคำร้องในครั้งที่ 1 โดยสรุประบุว่า อานนท์เป็นผู้มีภูมิลำเนาถิ่นที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน สามารถติดตามได้โดยง่าย การคุมขังตัวไว้เป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ และเกินความจำเป็นแก่กรณี และจะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ เนื่องจากอานนท์ประกอบวิชาชีพเป็นทนายความให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ถูกดำเนินคดีอาญาจากการใช้สิทธิและเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองเป็นจำนวนรวมกว่า 39 คดีในหลายศาล ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด

    หากไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ทำให้จำเลยและลูกความในแต่ละคดีได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในการประกอบวิชาชีพทนายความนั้น มีความจำเป็นต้องจัดเตรียมพยานหลักฐาน วางแผนแนวทางการต่อสู้คดีร่วมกับลูกความ ตลอดจนการทำงานเอกสารและเดินทางไปศาลในนัดต่าง ๆ การที่จำเลยถูกคุมขังไว้ย่อมส่งผลกระทบต่อทุกคดีที่จำเลยเป็นทนายความอยู่อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ และส่งผลกระทบก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกความของจำเลย

    คดีนี้อานนท์ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและยืนยันต่อสู้คดีมาโดยตลอดตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณา เนื่องจากไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และมีความประสงค์จะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาเพื่อต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด

    ภายหลังจากอานนท์ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างสอบสวนและระหว่างพิจารณา ไม่เคยกระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวที่ศาลกำหนด และไม่เคยถูกเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวในคดีนี้เลยสักครั้ง ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าหากได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์จะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่นหรือจะหลบหนีแต่อย่างใด

    ศาลนี้และศาลอาญากรุงเทพใต้ เคยอนุญาตให้อานนท์ให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรไปยังประเทศสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อร่วมงานรับรางวัลควังจูเพื่อสิทธิมนุษยชน (Gwangju Prize for Human Rights) ในระหว่างวันที่ 12-22 พ.ค. 2566 เมื่ออานนท์เดินทางกลับมายังประเทศไทยตามกำหนดก็ได้มารายงานตัวต่อศาล ไม่ได้หลบหนีแต่อย่างใด

    กรณีนี้จึงเป็นข้อเท็จจริงยืนยันและรับรองพฤติกรรมได้ว่าอานนท์ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี คดีนี้ยังไม่ปรากฏเหตุและพฤติการณ์ใด ๆ ของจำเลยที่เข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยแม้แต่น้อย

    คำร้องขอประกันตัวยังระบุ ขอให้ศาลอาญาใช้ดุลพินิจพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยยึดถือหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อนศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29 วรรคสอง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่กระทบเสรีภาพของจำเลย

    ในคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี จำเลยได้รับการประกันตัวมาตลอด จึงขอให้ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ตามข้อบังคับประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยตัวชั่วคราวและวิธีเรียกประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 เพื่อให้จำเลยได้รับการประกันตัวและออกมาสู้คดีได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้สั่ง

    ในเวลา 13.57 น. ศาลอาญามีคำสั่งให้ส่งคำร้องคำขอประกันอานนท์ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา โดยคาดว่าจะใช้เวลา 2-3 วัน อย่างไรก็ตามตลอดช่วงวันที่ 12-15 ต.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์ไม่ได้มีคำสั่งแต่อย่างใด

    จนกระทั่งวันที่ 16 ต.ค. 2566 เวลา 15.22 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกัน ‘อานนท์’ เห็นว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาพฤติการณ์แห่งคดีและโทษที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลย ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์อันเนื่องจากเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี และตามพฤติการณ์ยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงให้ยกคำร้อง”

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2495/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.2841/2566 ลงวันที่ 12 ต.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/60594)
  • ทนายยื่นประกันอานนท์ระหว่างอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 3 คำร้องขอประกันระบุถึงคดีที่อานนท์เป็นทนายจำเลยและมีนัดสืบพยานอย่างน้อย 25 คดี ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งหากอานนท์ไม่ได้รับการประกันตัวจะส่งผลกระทบต่อลูกความเป็นอย่างยิ่ง

    คำร้องยังระบุถึง จดหมายของเนติบัณฑิตยสภาและองค์กรกฎหมายแห่งทวีปยุโรปที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ แสดงความห่วงกังวลต่อการคุมขังอานนท์ และเรียกร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการต่อสู้คดี

    ทั้งนี้ ทนายความยังได้ขอให้ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันอานนท์โดยไม่ต้องส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้สั่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยตัวชั่วคราวและวิธีเรียกประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565

    อย่างไรก็ตาม ศาลอาญายังคงมีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาเช่นเดียวกับ 2 ครั้งก่อน ทำให้ยังคงต้องจับตาคำสั่งของศาลอุทธรณ์อีกอย่างน้อย 2 วัน

    ต่อมา วันที่ 3 พ.ย. 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันอานนท์ ระบุว่า "พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี การกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนและสร้างความเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประกอบกับศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี อีกทั้งศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง"

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2495/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.2841/2566 ลงวันที่ 1 พ.ย. 2566)
  • ทนายความยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ยืนยันว่า อานนท์ไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี เคยได้รับอนุญาตให้ไปร่วมงานสิทธิมนุษยชนที่เกาหลีใต้ ก็เดินทางกลับมารายงานตัวตามนัด

    ต่อมา วันที่ 12 พ.ย. 2566 ศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้อง ยังไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวอานนท์ระหว่างอุทธรณ์ ระบุว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี ปรับ 20,000 บาท หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยอาจจะหลบหนี คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

    (อ้างอิง: คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2495/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.2841/2566 ลงวันที่ 10 พ.ย. 2566)
  • ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันอานนท์เป็นครั้งที่ 4 ต่อศาลอาญา โดยเนื้อหาคำร้องยืนยันอีกครั้งว่า จำเลยประสงค์จะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด และไม่เคยกระทำผิดเงื่อนไขการประกันตัวของศาล ข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยจะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น หรือจะหลบหนีแต่อย่างใด ทั้งศาลนี้และศาลอาญากรุงเทพใต้ยังเคยอนุญาตให้จำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ไปร่วมงานรับรางวัลควังจูเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ประเทศเกาหลีใต้ และจำเลยก็เดินทางกลับมารายงานตัวต่อศาลตามนัด

    “หากพบว่าจำเลยมีพฤติการณ์จะหลบหนี ย่อมต้องมีข้อเท็จจริงเป็นฐานรองรับการใช้ดุลพินิจ เช่น จำเลยเป็นผู้มีอิทธิพล มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงไม่มาศาล หรือผิดนัดไม่มาตามกำหนดนัด หรือมีพฤติการณ์ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานอย่างไร มีแนวโน้มจะไปก่ออันตรายประการอื่นอย่างไร เป็นต้น ซึ่งจำเลยหาได้มีพฤติการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใดไม่” คำร้องยืนยันต่อศาล

    คำร้องขอประกันตัวอานนท์ ยังระบุว่า การคุมขังตัวจำเลยไว้เป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ และเกินความจำเป็นแก่กรณี และส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพเป็นทนายความสิทธิมนุษยชน ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ถูกดำเนินคดีอาญาจากการใช้สิทธิและเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองเป็นจำนวนรวมกว่า 39 คดี ในหลายศาล ทั้งนอกจากภาระหน้าที่ด้านคดีความ จำเลยยังมีบุตร 2 คน ที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูด้วย

    นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2566 ศาลอาญาเคยอนุญาตให้ประกันตัวในคดีของรักชนก ศรีนอก ที่ถูกพิพากษาจำคุก 6 ปี ในคดีข้อหาเดียวกัน ซึ่งมีโทษมากกว่าโทษในคดีนี้ โดยไม่ส่งให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแต่อย่างใด

    ขณะเดียวกันยังระบุว่าตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีเรียกหลักประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 ข้อ 24 กำหนดว่ากรณีที่ศาลชั้นต้นหรือศาลชั้นอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี หากจำเลยไม่เคยถูกคุมขังมาก่อนหรือได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณา และไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือก่อภัยอันตรายใด ๆ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยไม่จำเป็นต้องส่งให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสั่ง

    อย่างไรก็ตาม ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเช่นเคย

    ต่อมา วันที่ 17 ธ.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันอานนท์เช่นเดิม ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูงพฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว เหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2495/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.2841/2566 ลงวันที่ 14 ธ.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/62347)

  • ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันอานนท์ต่อศาลอาญา ในคดีมาตรา 112 สองคดี ได้แก่ คดีนี้และคดีโพสต์ 3 ข้อความในเฟซบุ๊ก เมื่อเดือนมกราคม 2564 ซึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยในคดีนี้เป็นการยื่นประกันตัวเป็นครั้งที่ 5 ระบุเหตุผลดังนี้

    ++จำเลยไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี ศาลเคยอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศและกลับมาต่อสู้คดีต่อ

    จำเลยยืนยันว่าได้ต่อสู้คดีมาโดยตลอดตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณา และไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยจะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาเพื่อต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด

    อีกทั้งศาลเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา จำเลยไม่เคยกระทำผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนด และไม่เคยถูกเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า หากจำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ จำเลยจะไปก่อเหตุพยันอันตรายประการอื่นหรือหลบหนีแต่อย่างใด ทั้งศาลนี้และศาลอาญากรุงเทพใต้ก็เคยให้จำเลยเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อร่วมงานรับรางวัลควังจูเพื่อสิทธิมนุษยชน (Gwangju Prize for Human Rights) ในระหว่างวันที่ 12-22 พ.ค. 2566 เมื่อจำเลยเดินทางกลับมายังประเทศไทยตามกำหนดก็ได้มารายงานตัวต่อศาล ไม่ได้หลบหนีแต่อย่างใด

    กรณีนี้จึงเป็นข้อเท็จจริงยืนยันและรับรองพฤติกรรมได้ว่าอานนท์ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี คดีนี้ยังไม่ปรากฏเหตุและพฤติการณ์ใด ๆ ของจำเลยที่เข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยแม้แต่น้อย

    ++ศาลเคยให้ประกันในคดี ม.112 คดีอื่นที่มีอัตราโทษใกล้เคียงกัน

    คำร้องยังระบุถึงคดีอื่น ๆ ที่จำเลยได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ได้แก่ คดี “รักชนก ศรีนอก” ซึ่งศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุก 6 ปี และเป็นฐานความผิดเดียวกันกับจำเลยในคดีนี้ ศาลอาญาก็ยังอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ศาลจึงควรมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวเช่นเดียวกับคดีนี้ด้วย

    คำร้องขอประกันตัวยังระบุ ขอให้ศาลใช้ดุลพินิจโดยยึดถือหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อนศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรคสอง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่กระทบเสรีภาพของจำเลย

    คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี จำเลยได้รับการประกันตัวมาตลอด จึงขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ตามข้อบังคับประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยตัวชั่วคราวและวิธีเรียกประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 เพื่อให้จำเลยได้รับการประกันตัวและออกมาสู้คดีได้อย่างเต็มที่

    นอกจากนี้ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Right-ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี จะต้องปฏิบัติตามกติกาดังกล่าวว่าด้วยเรื่องทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญามีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ว่ามีความผิดตามกฎหมาย ดังนั้นการใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้จำเลยได้อนุญาตปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์จะทำให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศเป็นไปตามหลักความชอบธรรม และได้รับการยอมรับจากประเทศภาคีและสากล

    ++‘อานนท์’ มีภาระทางครอบครัวและในฐานะทนายความ

    ในส่วนสุดท้าย คำร้องระบุถึงการที่อานนท์มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน สามารถติดตามได้โดยง่าย การคุมขังตัวไว้เป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ และเกินความจำเป็นแก่กรณี และจะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ เนื่องจากอานนท์ประกอบวิชาชีพเป็นทนายความให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ถูกดำเนินคดีอาญาจากการใช้สิทธิและเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองเป็นจำนวนถึง 38 คดีในหลายศาล ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด

    หากไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ทำให้จำเลยและลูกความในแต่ละคดีได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในการประกอบวิชาชีพทนายความนั้น มีความจำเป็นต้องจัดเตรียมพยานหลักฐาน วางแผนแนวทางการต่อสู้คดีร่วมกับลูกความ ตลอดจนการทำงานเอกสารและเดินทางไปศาลในนัดต่าง ๆ การที่จำเลยถูกคุมขังไว้ย่อมส่งผลกระทบต่อทุกคดีที่จำเลยเป็นทนายความอยู่อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ และส่งผลกระทบก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกความของจำเลย

    นอกจากนี้อานนท์ยังมีบุตรผู้เยาว์วัยจำนวน 2 คนที่จำเลยต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู คือบุตรสาวอายุ 7 ปี และบุตรชายซึ่งเป็นทารกอายุเพียง 1 ปีเศษ และมีบิดามารดาซึ่งอยู่ในวัยชราที่จำเลยต้องส่งเสียเลี้ยงดู
    .
    อย่างไรก็ตาม หลังรับคำร้อง ศาลอาญาได้ส่งให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ก่อนเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2567 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันอานนท์ โดยระบุในคำสั่งว่า การกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนและสร้างความเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี และนับโทษต่อ หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมีเหตุเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ให้ยกคำร้อง

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2495/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.2841/2566 ลงวันที่ 16 ก.พ. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/64893)
  • ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และกลุ่มสังเกตการณ์เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (The Observatory for the Protection of Human Rights Defenders) ได้ส่งคำร้องเรียน (communication) กรณีการดำเนินคดี อานนท์ นำภา ภายใต้ มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ไปยังกลไกพิเศษขององค์การสหประชาชาติ (UN Special Procedures) ได้แก่

    1.คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitrary Detention)
    2.ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการสมาคม (Special Rapporteur on the rights to freedom of peaceful assembly and of association)
    3.ผู้รายงานพิเศษด้านการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น (Special Rapporteur on the promotion and protection of the right to freedom of opinion and expression) และ
    4.ผู้รายงานพิเศษด้านสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Special Rapporteur on the situation of human rights defenders)

    โดยคำร้องได้รายงานกลไกพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติถึงการที่ศาลอาญาได้พิพากษาว่าอานนท์มีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และตัดสินลงโทษจำคุก 4 ปี ในคดีการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และอีก 4 ปี ในคดีโพสต์ 3 ข้อความในเฟซบุ๊ก เมื่อเดือนมกราคม 2564 รวมโทษจำคุก 8 ปี โดยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์เรื่อยมา ปัจจุบัน อานนท์ยังถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ อีก 12 คดี

    ในคำร้องที่ส่งถึงผู้รายงานพิเศษฯ ระบุว่า การบังคับใช้และดำเนินคดีตามมาตรา 112 นั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาเป็นระยะเวลายาวนานทั้งในระดับภาคประชาสังคม และตามการเฝ้าสังเกตสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้กลไกขององค์การสหประชาชาติ แต่กระนั้นเองภาครัฐของไทยยังคงมีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน อย่างเช่น เสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น ซึ่งรวมไปถึงการดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งปรากฏให้เห็นได้จากการตั้งข้อหา ฟ้องร้อง และกักขังนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และประชาชนโดยทั่วไป

    ในคำร้องเรียนถึงคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ ศูนย์ทนายฯ ได้ระบุว่า การลงโทษจำคุกและคุมขังอานนท์นั้นเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ (arbitrary detention) อันเนื่องมาจากเหตุผล 4 ประการ

    1.ขาดฐานทางกฎหมายมารองรับ (lack of legal basis):

    คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการวางหลักไว้ว่า การควบคุมตัวบุคคลในทุกกรณีต้องมีฐานกฎหมาย (legal basis) มารองรับ และกฎหมายดังกล่าวต้องสอดคล้องกับหลักความชอบด้วยกฎหมาย (principle of legality) กล่าวคือ ต้องมีนิยามและขอบเขตที่ชัดเจน

    คำร้องเรียนยืนยันว่า มาตรา 112 ขัดและแย้งกับหลักความชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากตัวบทกฎหมายและคำพิพากษาของศาลไม่มีความชัดเจนว่าการแสดงออกใดบ้างเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 ศาลไม่เคยวางหลักเกณฑ์อย่างชัดเจนสำหรับขอบเขตของความผิดดังกล่าว บุคคลทั่วไปจึงไม่สามารถรู้ได้ถึงเส้นแบ่งระหว่างการแสดงออกเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่กฎหมายอนุญาตและไม่อนุญาต

    ข้อโต้แย้งดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของคณะทำงานฯ เกี่ยวกับมาตรา 112 ที่มีมาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปี 2566 รวมทั้งสิ้น 10 ความเห็น ซึ่งคณะทำงานฯ มีความเห็นมาอย่างต่อเนื่องว่า มาตรา 112 มีความคลุมเครือและกว้างจนเกินไป ไม่ได้มีการนิยามชัดเจนว่าการแสดงออกใดเข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เป็นการให้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่ของรัฐในการตัดสินว่าการกระทำใดผิดหรือไม่ผิดมากจนเกินไป

    2.ละเมิดสิทธิในการใช้เสรีภาพในการแสดงออก (right to freedom of expression):

    การลงโทษจำคุกและคุมขังอานนท์จากการปราศรัยในการชุมนุมและการโพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ค เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ เนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งได้ถูกรับรองไว้ในข้อ 19(2) แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งรัฐไทยได้เข้าเป็นภาคี เสรีภาพในการแสดงออกครอบคลุมไปถึงการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นสาธารณะ และการถกเถียงอภิปรายในประเด็นสิทธิมนุษยชน

    ถึงแม้ว่า ข้อ 19(3) ของ ICCPR อนุญาตให้รัฐสามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกได้ในบางกรณี แต่ต้องไม่ขัดกับหลักความจำเป็นและความได้สัดส่วน และต้องถูกบัญญัติขึ้นเพื่อปกป้องสิทธิหรือชื่อเสียงของผู้อื่น หรือเพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน สาธารณสุข หรือศีลธรรม

    ศูนย์ทนายฯ และ The Observatory มีความเห็นว่า หากพิจารณาความเห็นทั่วไปที่ 34 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) โทษจำคุกรวม 8 ปี ของอานนท์ขัดกับหลักความจำเป็นและความได้สัดส่วน อีกทั้งภาครัฐไม่ได้มีการพิสูจน์ว่าการแสดงออกโดยสันติวิธีของอานนท์เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศอย่างไร

    3.ละเมิดสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (right to fair trial):

    คณะทำงานฯ ได้อธิบายในประเด็นของการควบคุมตัวในระหว่างพิจารณาคดีไว้ว่า ต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลตามความจำเป็นและความสมเหตุสมผล โดยคำนึงถึงพฤติการณ์ทั้งหมด และต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการป้องกันการหลบหนี การแทรกแซงพยานหลักฐาน และการกระทำผิดซ้ำ ไม่ควรเป็นไปตามคำสั่งที่อยู่บนฐานของอัตราโทษอันน่าจะเกิดขึ้นกับบุคคลดังกล่าว ศาลต้องพิจารณามาตรการอื่นแทนการควบคุมตัวระหว่างการรอพิจารณาคดี เช่น การให้ประกันตัว หรือมาตรการอื่น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดการคุมขังตัวบุคคลโดยไม่มีความจำเป็นในกรณีดังกล่าว

    การคุมขังอานนท์ในระหว่างพิจารณาคดีทั้งสองคดีเป็นระยะเวลากว่า 139 วัน โดยอ้างถึงความหนักเบาแห่งข้อหาและอัตราโทษนั้น เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงการลิดรอนเสรีภาพของบุคคลที่ถูกรับรองไว้ตามข้อ 9(3) ของ ICCPR ที่ได้วางหลักการมิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี อีกทั้งการกระทำตามข้อเท็จจริงของคดี อันได้แก่ การปราศรัยในการชุมนุมและการโพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ค ยังเป็นการกระทำที่ได้รับการคุ้มครองตามข้อ 19(2) ของ ICCPR ฉะนั้นแล้วการที่ศาลออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยอ้างถึงการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ จึงเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิของบุคคลในระหว่างรอการพิจารณาคดี

    การตัดสินโทษจำคุกในความผิดในฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ต่ออานนท์ในทั้งสองคดีนั้น ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการคุ้มครองตามข้อ 9(1) ของ ICCPR ซึ่งวางหลักไว้ว่า บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนมิได้ ยกเว้นโดยเหตุและโดยเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย อีกทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุสำคัญสำหรับการจับกุมหรือคุมขังจะต้องถูกกำหนดไว้ในกฎหมายโดยละเอียด เพื่อป้องกันการตีความหรือการปรับใช้กฎหมายที่กว้างเกินไปหรือโดยพลการ

    ถึงแม้ว่าศาลจะมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว อานนท์ นำภา โดยให้เหตุผลว่า หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมีเหตุเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ซึ่งเป็นเหตุที่จะไม่ให้ประกันภายใต้ มาตรา 108/1(1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ศาลไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงอันจะทำให้เชื่อได้ว่าอานนท์จะไม่มีพฤติการณ์หลบหนี กล่าวคือ อานนท์ยังมีภาระงานในฐานะทนายความที่ต้องรับผิดชอบอีกกว่า 13 คดี รวมถึงยังมีพันธะทางครอบครัวที่ต้องดูแลบุตรทั้ง 2 คน จึงถือได้ว่าเป็นการตีความและบังคับใช้มาตรา 108/1(1) ที่กว้างเกินไปหรือโดยพลการ

    นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าการดำเนินการในการเริ่มพิจารณาคดีในคดีแรกและคดีที่สองนั้นยังกินระยะเวลาไปกว่า 916 วัน และ 667 วันตามลำดับ หลังจากที่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาภายใต้มาตรา 112 ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาโดยไม่ชักช้าเกินความจำเป็นอันขัดกับพันธกรณีตามตามข้อ 14(3)(c) ของ ICCPR

    4.เป็นการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของความคิดเห็นทางการเมืองและในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (discrimination on the basis of political opinion and status as a human rights defender):

    คณะทำงานฯ วางหลักไว้ว่า การคุมขังบุคคลด้วยเหตุความแตกต่างทางความคิดเห็นทางการเมืองเป็นการเลือกปฏิบัติโดยมิชอบรูปแบบหนึ่ง ให้ถือว่าการคุมขังดังกล่าวเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ เนื่องจากขัดกับหลักความเสมอภาคทางกฎหมาย และความคุ้มครองเท่าเทียมกันตามกฎหมายตามข้อ 2 และข้อ 7 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และข้อ 2(1) และข้อ 26 ของ ICCPR

    การลิดรอนเสรีภาพของอานนท์เป็นการคุมขังที่มีเหตุมาจากความแตกต่างทางความคิดเห็นทางการเมืองของอานนท์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์และการบังคับใช้มาตรา 112 และมีเหตุมาจากการที่อานนท์เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อันจะเห็นได้จากที่อานนท์ได้มีส่วนในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง รวมถึงยังได้ออกมาเรียกร้องและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในประเด็นของการบังคับใช้มาตรา 112 และนโยบายของรัฐบาลอันเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ทำให้อานนท์ถูกเพ่งเล็งจากกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐ อีกทั้งความคิดเห็นในลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทางฝั่งผู้มีอำนาจมองว่าอาจเป็นภัยต่อสถาบันกษัตริย์และรัฐบาล

    ++ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยจากกรณีคำพิพากษาคดี ม. 112 ของ อานนท์ นำภา

    ในคำร้องฉบับนี้ได้ขอให้กลไกพิเศษของ UN เรียกร้องต่อรัฐบาลไทย รวมถึงองค์กรตุลาการ ดังต่อไปนี้

    1.ให้ยุติการดำเนินคดี การจับกุม และปล่อยตัวผู้ต้องขังตามมาตรา 112 ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือประชาชนโดยทั่วไป และคุ้มครองบุคคลจากการถูกดำเนินคดีโดยมิชอบ จากการที่บุคคลดังกล่าวใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น เพื่อเป็นการประกันซึ่งสิทธิและเสรีภาพให้สอดคล้องกับ ข้อ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

    2.ให้ประกันสิทธิการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมสำหรับผู้ที่ถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ซึ่งรวมไปถึงสิทธิในการได้รับการประกันตัว

    3.ให้ตีความกฎหมายภายใน ในลักษณะที่สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมไปถึงมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

    4.ให้มีการทบทวนและแก้ไขมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิกการลงโทษทางอาญา และป้องกันไม่ให้บุคคลใดสามารถกล่าวโทษต่อบุคคลอื่นได้ตามอำเภอใจ

    5.ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำจากกลไกทางด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/66066)
  • ทนายความได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ โต้แย้งคำพิพากษาของศาลอาญา ที่พิพากษาจำคุก 4 ปี ในข้อหาตามมาตรา 112

    ++เปิดอุทธรณ์ของอานนท์ระบุ มีเจตนาเพื่อป้องปรามเจ้าหน้าที่ไม่ให้หยิบยกเรื่องขบวนเสด็จมาสลายการชุมนุม ทั้งเป็นประโยคเงื่อนไข ไม่ได้ใส่ความ – ด้อยค่า ร.10

    ในอุทธรณ์ของอานนท์ที่ยื่นต่อศาลอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง หรือลดโทษแก่จำเลย เนื่องจากการกระทำของจำเลยไม่ได้เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีเหตุผลโดยสรุปดังต่อไปนี้

    มูลเหตุในคดีนี้เกิดจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองของประชาชนซึ่งเรียกว่า “กลุ่มคณะราษฎร 2563” เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ซึ่งมีข้อเรียกร้องทางการเมือง 3 ประการ คือ 1. ให้นายกรัฐมนตรีลาออกหรือยุบสภา 2. ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3. ให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

    ซึ่งข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อเกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการรัฐประหารยึดอำนาจในปี 2557 ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ที่มีสาระสำคัญขัดต่อระบอบประชาธิปไตยหลายส่วน ทั้งยังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์หลังผ่านการทำประชามติแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการออกกฎหมาย 2 – 3 ฉบับ ที่เป็นการขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งจำเลยเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญและละเอียดอ่อน

    อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าการชุมนุมในวันเกิดเหตุ ได้มีการแถลงข่าวเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบว่า จะจัดการชุมนุมโดยเดินขบวนจากถนนราชดำเนินไปยังทำเนียบรัฐบาลก่อนที่จะมีขบวนเสด็จพระราชดำเนิน ส่วนการปราศรัยจะเกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหลัก

    คำกล่าวปราศรัยของจำเลยในวันเกิดเหตุตามฟ้องนั้น จำเลยไม่ได้มีเจตนาจะหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นต่อในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยมีข้อเท็จจริงว่า ในวันที่ 13 ต.ค. 2563 ซึ่งเป็นวันก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ 1 วัน ได้มีผู้ชุมนุมบางส่วนประมาณ 100 – 200 คน ซึ่งนำโดยจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ได้เดินทางล่วงหน้ามาจากจังหวัดขอนแก่น และพักรอที่บริเวณทางเท้าหน้าร้านแม็คโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 แต่ถูกเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม เป็นเหตุให้มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและถูกจับกุมหลายราย โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าบริเวณดังกล่าวเป็นเส้นทางที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินีจะเสด็จพระราชดำเนินผ่าน เพื่อไปบำเพ็ญพระราชกุศลที่วัดพระแก้ว ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 หากปล่อยให้ผู้ชุมนุมยังคงปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณดังกล่าวจะเป็นภาพไม่เหมาะสม

    ต่อมาในวันเกิดเหตุ เมื่อจำเลยและผู้ชุมนุมมาถึงบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จำเลยได้ประสานงานกับตำรวจที่ดูแลการจราจร และแจ้งกับผู้ชุมนุมให้ใช้พื้นที่ชุมนุมไม่เกิน 6 ช่องการจราจรในฝั่งขาเข้า เพื่อไม่ให้กีดขวางเส้นทางขบวนเสด็จ แต่พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีท่าทีที่จะสลายการชุมนุมอยู่ก่อนแล้ว โดยมีการระดมตำรวจนอกเครื่องแบบ และตำรวจควบคุมฝูงชนเข้ามาในบริเวณที่เกิดเหตุแล้วตั้งแต่ช่วงสายของวันดังกล่าว

    จำเลยเห็นว่าวันเกิดเหตุมีผู้ร่วมชุมนุมหลายพันคน หากมีการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม อาจทำให้เกิดความเสียหายหรือบาดเจ็บล้มตาย จนเป็นเหตุลุกลามบานปลายอันไม่อาจควบคุมได้ดังเช่นที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 หรือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 จำเลยจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องหาทางระงับยับยั้งไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น

    การที่จำเลยได้ปราศรัยด้วยถ้อยคำตามฟ้องก็มีเจตนาเพื่อป้องปรามเจ้าหน้าที่ไม่ให้หยิบยกเอาเหตุในเรื่องเส้นทางขบวนเสด็จมาเป็นข้ออ้างในการสลายการชุมนุม ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตระหนักว่า การกระทำเช่นนั้นอาจจะทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 ถูกเข้าใจผิด อันเป็นทางให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศได้

    เมื่อในวันดังกล่าวเหตุการณ์เป็นไปอย่างสงบ ไม่มีการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม การที่ประชาชนจะเข้าใจในหลวงรัชกาลที่ 10 ไปในทางที่ผิดย่อมไม่เกิดขึ้น และไม่มีเหตุให้ต้องถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และเสื่อมเสียพระเกียรติแต่อย่างใด

    นอกจากนี้ การที่จำเลยปราศรัยว่า “ข้อที่ 3 มาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ข้อเรียกร้องมี 3 ข้อเท่านั้น วันนี้จะไม่เหมือนเมื่อวาน เพราะพี่น้องที่มาจากต่างจังหวัดทยอยมาสมทบกันเรื่อย ๆ และนิสิตนักศึกษาก็ทยอยมาเรื่อย ๆ ถ้ามีการสลายการชุมนุมวันนี้ คนที่จะสั่งสลายการชุมนุมมีเพียงคนเดียว คือในหลวงรัชกาลที่ 10 ถ้ามีการสลายการชุมนุม ไม่ต้องไปหาคนอื่นใด”

    “อย่างที่ผมเรียนไว้ ถ้ามีการสลายการชุมนุม คนอื่นจะสั่งไม่ได้นอกจากในหลวงรัชกาลที่ 10”

    และ “อย่างที่บอกถ้าวันนี้มีการสลายการชุมนุม คนที่จะสั่งได้คนเดียว คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ให้รู้ไว้เช่นนั้น”

    ข้อความข้างต้นมีลักษณะเป็นประโยคเงื่อนไข คือ “ถ้ามีการสลายการชุมนุม…” อันเป็นการกล่าวถึงเหตุการณ์ในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น และไม่มีความแน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ ไม่ใช่การยืนยันข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นแล้วในอดีต หรือเกิดขึ้นในปัจจุบัน อันจะสามารถพิสูจน์ว่าเป็นความจริงหรือความเท็จได้ ข้อความที่จำเลยปราศรัยจึงไม่อาจถือเป็นการใส่ความในหลวงรัชกาลที่ 10 ต่อบุคคลที่สาม ทั้งข้อความดังกล่าวก็ไม่มีถ้อยคำใดที่มีความหมายในทางด่าทอ หยาบคาย หรือลดคุณค่า อันจะถือเป็นการดูหมิ่นต่อในหลวงรัชกาลที่ 10

    ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยกล่าวบิดเบือน ให้ร้ายรัชกาลที่ 10 โดยมีเจตนามุ่งประสงค์ให้ผู้ชุมนุมและประชาชนที่ได้ยินได้ฟังเข้าใจผิดว่ารัชกาลที่ 10 ทรงมีกระแสรับสั่งให้มีการสลายการชุมนุม อันเป็นความเท็จ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น เป็นการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ขอศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยพิพากษายกฟ้องด้วย

    อุทธรณ์ของอานนท์ยังระบุด้วยว่า คดีนี้จำเลยได้ต่อสู้คดีโดยถือเอาความสุจริตเป็นที่ตั้ง โดยได้ยอมรับพยานหลักฐานของโจทก์ และได้แถลงรับข้อเท็จจริงในหลายประเด็น ตลอดจนเบิกความรับว่าจำเลยได้กล่าวปราศรัยด้วยข้อความตามฟ้องจริง อันถือได้ว่าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีให้เป็นไปโดยรวดเร็ว แม้หากศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วยังคงเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดอยู่ ก็ขอให้พิจารณาลดโทษให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ด้วย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

    (อ้างอิง: อุทธรณ์ของจำเลย ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2495/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.2841/2566 ลงวันที่ 12 มี.ค. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/65899)
  • หลังการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ทนายความได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอประกันอานนท์ในคดีนี้อีกเป็นครั้งที่ 6 ระบุเหตุผลสำคัญว่า จำเลยขอยืนยันความประสงค์ที่จะต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ต่อศาลอย่างถึงที่สุด โดยก่อนการยื่นขอประกันในครั้งนี้ จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ได้รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาแล้ว จึงขอให้ศาลพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยประกอบการพิจารณาคำร้องขอประกันนี้ด้วย

    นอกจากนี้ คำร้องขอประกันครั้งนี้ ยังหยิบยกเหตุผลอื่น ๆ มาแสดงต่อศาล อาทิ อานนท์ไม่เคยกระทำผิดเงื่อนไขประกันที่ศาลกำหนด และไม่เคยถูกเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้ที่ศาลเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา, ศาลนี้เคยให้ประกันระหว่างอุทธรณ์ในคดี 112 คดีอื่นที่มีอัตราโทษที่ใกล้เคียงกัน ได้แก่ คดีของ “รักชนก ศรีนอก” ซึ่งศาลนี้มีคำพิพากษาจำคุก 6 ปี

    อีกทั้งคดีนี้ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ก่อนมีคำพิพากษาจำเลยได้รับการประกันตัวมาตลอด จึงขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ตามข้อบังคับประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยตัวชั่วคราวและวิธีเรียกประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 เพื่อให้จำเลยได้รับการประกันตัวและออกมาสู้คดีได้อย่างเต็มที่

    ประกอบกับอานนท์ประกอบวิชาชีพเป็นทนายความให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ถูกดำเนินคดีอาญาจากการใช้สิทธิและเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองเป็นจำนวนถึง 38 คดี ในหลายศาล ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด หากไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันจะส่งผลกระทบก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกความในแต่ละคดี กระทบต่อการอำนวยความยุติธรรมต่อไป
    .
    อย่างไรก็ตาม หลังรับคำร้องขอประกัน ศาลอาญาได้ส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ก่อนเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2567 ศาลอุทธรณ์ยังคงมีคำสั่งไม่ให้ประกันอานนท์ โดยระบุในคำสั่งว่า

    “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2495/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.2841/2566 ลงวันที่ 19 มี.ค. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/65899)
  • ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติได้ออกมาแสดงความกังวลในประเด็นการดำเนินคดีต่ออานนท์ นำภา ทนายความและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งถูกตัดสินลงโทษจำคุก 4 ปี ในความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ทั้งหมด 2 คดี รวมเป็นโทษจำคุกทั้งสิ้น 8 ปี จากการตั้งคำถามเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 112 ซึ่งรวมไปถึงการเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

    เว็บไซต์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ได้เผยแพร่ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติ เรียกร้องให้มีการกลับคำพิพากษา และยุติการดำเนินคดีที่เหลือทั้งหมดของอานนท์ นำภา และผู้ถูกดำเนินตามมาตรา 112 รวมถึงการปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง และเน้นย้ำข้อเรียกร้องที่มีมาอย่างยาวนานให้รัฐบาลไทย “ยกเลิก” (repeal) มาตรา 112 เพื่อให้ประมวลกฎหมายอาญาของไทยเป็นไปตามมาตรฐานทางด้านสิทธิมนุษยชน

    อานนท์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำนับตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 2566 หลังศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี ในคดีมาตรา 112 คดีแรก และขณะนี้ยังถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ อีก 12 คดี ยิ่งไปกว่านั้นอานนท์ยังถูกร้องเรียนต่อสภาทนายความฯ เพื่อให้มีการพิจารณาถอดถอนใบอนุญาตว่าความ โดยคำร้องเรียนกล่าวหาอานนท์ว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายผิดมรรยาททนายความ เนื่องจากปราศรัยในการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

    ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติยังได้แสดงความคิดเห็น โดยมีใจความว่า:

    1. การลงโทษจำคุกและการดำเนินคดีซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่ออานนท์ นำภา นั้น ไม่ได้สัดส่วนโดยสิ้นเชิง อีกทั้งยังแสดงถึงความน่ากังวลต่อการปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้เห็นต่างคนอื่น ๆ

    2. การใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ นั้น สร้างความตื่นตระหนกเป็นระยะเวลาหลายปี และคณะทำงานกลไกพิเศษขององค์การสหประชาชาติได้ส่งเรื่องร้องเรียนไปยังรัฐบาลไทยแล้วหลายฉบับ เพื่อแสดงถึงความกังวลในประเด็นดังกล่าว

    3. การลงโทษหนักต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและบุคคลที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบนั้นไม่สอดคล้องกับพันธกรณีในทางกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยพึงปฏิบัติตาม การกระทำเช่นว่ายังเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงภาคประชาสังคม

    4. การวิพากษ์วิจารณ์และการปราศรัยเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อการสนับสนุนทางด้านสิทธิมนุษยชน ควรได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมในสังคมประชาธิปไตย

    5. ทนายความมีสิทธิในการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและจะต้องไม่ถูกลิดรอนสิทธิในการประกอบวิชาชีพ

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/65905)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อานนท์ นำภา

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อานนท์ นำภา

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. ธรรมสรณ์ ปทุมมาศ

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 26-09-2023

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อานนท์ นำภา

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์