สรุปความสำคัญ

นักกิจกรรมกลุ่ม “ทะลุฟ้า” ได้แก่ "แซม" พรชัย ยวนยี, "บัง" (สงวนชื่อสกุลจริง) และ "คาริม" จิตริน พลาก้านตง ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการวางเพลิงซุ้มเฉลิมพระเกียรติบนสะพานลอยหน้าโรงเรียนราชวินิต มัธยม ระหว่างการชุมนุมครบรอบ 15 ปี รัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 ทำให้ซุ้มฯ ถูกไฟไหม้เป็นรอยดำ 2 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 1,000 บาท

แซม, บัง, จิตริน รวมทั้ง "แม็ก" สินบุรี แสนกล้า ยังถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการวางเพลิงป้อมจราจรบริเวณแยกนางเลิ้งในเวลาใกล้เคียงกัน มูลค่าความเสียหาย 15,000 บาท ทั้งสี่ถูกดำเนินคดีในข้อหา วางเพลิงเผาทรัพย์, ทำให้เสียทรัพย์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แซม, บัง และคาริม ยังถูกดำเนินคดี "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น แซมและแม็กยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัวตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณา แม้ว่าทนายจะยื่นประกันหลายต่อหลายครั้ง ก่อนได้ประกันโดยต้องติด EM และมีกำหนดเวลาออกนอกเคหสถาน หลังแซมถูกคุมขังเกือบ 5 เดือน

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้าง ให้ครอบคลุมไปถึงการกระทำต่อรูป ไม่ใช่ตัวบุคคล ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด เนื่องจากมีบทลงโทษที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน นอกจากนั้น การไม่ให้สิทธิประกันตัวเพียงเพราะเป็นคดีมาตรา 112 โดยที่ศาลยังไม่ได้พิจารณาถึงหลักฐานในคดียังขัดต่อหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ซึ่งศาลจะต้องให้สิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • “บัง” (สงวนชื่อสกุลจริง)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • พรชัย ยวนยี
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • สินบุรี แสนกล้า
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • จิตริน พลาก้านตง
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

8 ต.ค. 2564 “บัง” (สงวนชื่อสกุลจริง) นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช วัย 22 ปี ซึ่งร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มโมกหลวงริมน้ำและกลุ่มทะลุฟ้า พร้อมทนายความ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาอื่นๆ ที่ สน.นางเลิ้ง

บังระบุว่าตนได้รับหมายเรียกจาก สน.นางเลิ้ง ลงวันที่ 7 ต.ค. 2564 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการนำมาส่งที่บ้านในวันนั้นเลย คดีมี พ.ต.ท.จงศักดิ์ ชาญศรี เป็นผู้กล่าวหา หมายระบุให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 8 ต.ค. 2564 เพียงวันเดียวหลังออกหมาย โดยไม่ให้เวลาเตรียมตัวใดๆ

พ.ต.ท.สำเนียง โสธร สารวัตร (สอบสวน) สน.นางเลิ้ง แจ้งข้อกล่าวหาบังทั้งหมด 5 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 32 และชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวกับความมั่นคง ฉบับที่ 10

พฤติการณ์ข้อกล่าวหาโดยสรุประบุว่าเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมคาร์ม็อบบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังแยกนางเลิ้ง ซึ่งเป็นการชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการขว้างปาสิ่งของ ประทัด ยิงหนังสติ๊กใส่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน บริเวณแนวสะพานชมัยมรุเชษฐฯ

ผู้กล่าวหาอ้างว่า ระหว่างนั้นได้พบ “บัง” ซึ่งร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวขับขี่รถจักรยานยนต์ไปจอดที่แยกนางเลิ้ง ต่อมาเวลาประมาณ 19.14 น. ได้มีชายคนหนึ่งใช้วัตถุขว้างขึ้นไปบนสะพานลอยคนข้าม ไปยังซุ้มเฉลิมพระเกียรติพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และพระราชินี ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณสะพานลอยหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย จากนั้นชายคนดังกล่าวได้วิ่งไปขึ้นซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของ “บัง” หลบหนีออกจากที่เกิดเหตุ

ผู้กล่าวหาอ้างว่าการกระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นสิ่งที่คนไทยเคารพเทิดทูนเสมอกับพระองค์จริง พิจารณาได้จากตำแหน่งที่ประดิษฐาน เราจะไม่ตั้ง วาง ติด หรือแขวนพระบรมฉายาลักษณ์ฯ ไม่ว่ารูปแบบใดๆ ไว้ในที่อันไม่สมควร และจะไม่ข้ามกรายพระบรมฉายาลักษณ์ฯ อันเป็นการแสดงถึงความไม่เคารพ ความสำคัญของพระบรมฉายาลักษณ์ฯ คือเป็นสื่อให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีที่ก่อสร้างชาติไทยสืบมาแต่บรรพกาล เป็นเหตุให้ลูกหลานไทยมีแผ่นดินถิ่นเกิดถิ่นอาศัยในโลกอยู่ทุกวันนี้ การระลึกถึงคุณของผู้มีพระคุณเป็นคุณธรรมสำคัญของความเป็นมนุษย์ เป็นการประพฤติปฏิบัติตามคำสอนในพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาประจำชีวิตของคนไทยมาแต่โบราณกาล

พฤติการณ์ข้อกล่าวหามีเพียงในลักษณะดังกล่าว บังจึงให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป โดยพนักงานสอบสวนได้ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ลงบันทึกประจำวันไว้ และให้ปล่อยตัวไป โดยนัดหมายให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 7 พ.ย. 2564

หลังรับทราบข้อกล่าวหา บังเปิดเผยว่าตนยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด แม้ตนจะเข้าร่วมการชุมนุมวันดังกล่าวจริง แต่ไม่ได้ไปก่อเหตุร่วมเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติแต่อย่างใด เพื่อนๆ ตนจะทราบดีว่าที่ผ่านมา ตนระมัดระวังเรื่องการเคลื่อนไหวที่สุ่มเสี่ยง การถูกแจ้งข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้เห็นชัดเจนว่าความไม่เป็นธรรมกำลังมาเยือนเราแล้ว ตนเข้าใจว่าพยานหลักฐานที่ตำรวจมีเป็นเพียงรูปจากกล้องวงจรปิดที่ไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด

(อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สน.นางเลิ้ง คดีอาญาที่ 341/2564 ลงวันที่ 8 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/36606)

7 ก.ค. 2565 เวลาประมาณ 12.00 น. “แซม” พรชัย ยวนยี นักกิจกรรมกลุ่ม “ทะลุฟ้า” ถูกตำรวจ สน.นางเลิ้ง จับกุมตามหมายจับของศาลอาญา ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาอื่นๆ จากกรณีไฟไหม้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติหน้าโรงเรียนราชวินิต มัธยม เช่นเดียวกับบัง

ก่อนหน้าถูกจับกุม พรชัยเดินทางไปที่ศาลทหารเพื่อไปดำเนินการขอเพิกถอนหมายจับของศาลทหาร ในคดี 14 นักศึกษา เมื่อปี 2562 โดยศาลทหารได้บอกให้เดินทางไปยัง สน.สำราญราษฎร์ ซึ่งเป็นเจ้าของคดี อย่างไรก็ตาม เมื่อพรชัยเดินทางไปถึง สน.สำราญราษฎร์ ตำรวจได้แจ้งว่าตนมีหมายจับค้างในคดี ม.112 ของ สน.นางเลิ้ง อยู่ด้วย โดยเป็นหมายจับออกโดยศาลอาญา เลขที่ 490/2565 ลงวันที่ 16 มี.ค. 2565

ทางตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ จึงได้ประสานงานให้ตำรวจ สน.นางเลิ้ง นำโดย พ.ต.ท.จงศักดิ์ ชาญศรี รอง ผกก.สส.สน.นางเลิ้ง, ร.ต.ต.สุชาติ รัตนมณี รอง สว.สส.สน.นางเลิ้ง, ด.ต.แหวนเพชร วรรณมาศ, ส.ต.อ.อิสระ วงษ์ชัยเพ็ง, ส.ต.ต.อภิวัฒน์ เดชเชียร เจ้าหน้าที่ ฝ่ายสืบสวน สน.นางเลิ้ง เดินทางเข้าจับกุมและควบคุมตัวพรชัยไปที่ สน.นางเลิ้ง โดยพรชัยยืนยันว่าตนไม่เคยได้รับหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหามาก่อน

พ.ต.ท.สำเนียง โสธร สารวัตร (สอบสวน) สน.นางเลิ้ง ได้แจ้ง 5 ข้อกล่าวหากับพรชัย ได้แก่ ร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันจัดกิจกรรมและชุมนุมรวมกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ฝ่าฝืนประกาศและข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นเดียวกับบัง พรชัยให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหาและจะให้การเป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้ง วันที่ 5 ส.ค. 2565 โดยเขาปฏิเสธไม่ลงชื่อในเอกสารของตำรวจ

พนักงานสอบสวนนำตัวพรชัยไปขอฝากขังที่ศาลอาญา รัชดาในเวลา 15.00 น. โดยคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว ก่อนที่ในเวลา 16.50 น. ศาลอาญามีคำสั่งให้ฝากขัง และไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว หลังทนายยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวด้วยเงินสด 100,000 บาท

ศาลอาญาให้เหตุผลว่า พิเคราะห์กรณีการกระทำของผู้ต้องหาตามที่ถูกกล่าวหาเป็นข้อหาร้ายแรง มีอัตราโทษสูง มีลักษณะร่วมกันกระทำโดยใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะ และกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการอันเป็นการไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย น่าเชื่อว่าหากปล่อยชั่วคราวไป ผู้ต้องหาอาจหลบหนีหรือไปก่อภยันอันตรายประการอื่นอีก ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้าน ในชั้นนี้จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง

(อ้างอิง: บันทึกจับกุม สน.นางเลิ้ง คดีอาญาที่ 341/2564 ลงวันที่ 7 ก.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/45767)

8 ส.ค. 2565 สินบุรี แสนกล้า หรือ “แม็ก” จากกลุ่มทะลุฟ้า อายุ 26 ปี พร้อมทนายความ ได้เดินทางเข้าแสดงตัวที่ สน.นางเลิ้ง หลังทราบว่าตนมีหมายจับในข้อกล่าวหา “วางเพลิงเผาทรัพย์ฯ”, “ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ฯ” และฝ่าฝืนประกาศและข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สืบเนื่องมาจากกรณีเข้าร่วมการชุมนุมครบรอบ 15 ปี รัฐประหาร 2549 ที่บริเวณแยกนางเลิ้ง เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564

ก่อนเข้ามอบตัว สินบุรีได้เปิดเผยว่า ไม่รู้มาก่อนว่าตัวเองมีหมายจับในคดีนี้ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ได้เคยมีการส่งหมายเรียกมาที่บ้านแต่อย่างใด เมื่อทราบ เขาจึงมาแสดงตัวกับเจ้าหน้าที่ เพื่อยืนยันว่าไม่ได้กระทำผิดตามที่กล่าวหา ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี ยินดีจะทำตามกระบวนการทางกฎหมาย พร้อมกับระบุว่าขอให้ผู้ใช้กฎหมายปฏิบัติตามกระบวนการที่มีการบัญญัติไว้ เพราะตอนนี้กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐที่กลั่นแกล้งประชาชนผู้เห็นต่าง

สำหรับเหตุที่สินบุรีถูกกล่าวหา เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์เผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติบริเวณหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม และเผาป้อมจราจรบริเวณแยกนางเลิ้ง ระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 เช่นเดียวกับ “บัง” ที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก และ “แซม” พรชัย ที่ถูกจับตามหมายจับไปก่อนหน้านี้

กรณีของสินบุรีถูกกล่าวหาเฉพาะเหตุการณ์เผาป้อมจราจร ทำให้ถูกแจ้งข้อกล่าวหา “วางเพลิงเผาทรัพย์ฯ”, “ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ฯ” และฝ่าฝืนประกาศและข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สินบุรีได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการสอบสวน พนักงานสอบสวนได้นำตัวสินบุรีไปขอฝากขังต่อศาลอาญา รัชดาฯ ในเวลา 13.30 น. ก่อนที่ศาลอาญามีคำสั่งให้ฝากขังและไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

คำสั่งไม่ให้ประกันระบุเหตุผลว่า “พิเคราะห์แล้วกรณีการกระทำของผู้ต้องหาตามที่ถูกกล่าวหาเป็นข้อหาร้ายแรง มีอัตราโทษสูง มีลักษณะร่วมกันกระทำโดยใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะ และกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการ อันเป็นการไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย น่าเชื่อว่าหากปล่อยชั่วคราวไป ผู้ต้องหาอาจหลบหนีหรือไปก่อภยันอันตรายประการอื่นอีก ในชั้นนี้จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง” ลงนามคำสั่งผู้พิพากษาโดย อรรถการ ฟูเจริญ

(อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/46992)

30 พ.ย. 2565 เวลา 09.30 น. ที่ สน.นางเลิ้ง จิตริน พลาก้านตง หรือ “คาริม” สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้าวัย 25 ปี พร้อมกับทนายความ ได้เดินทางเข้าพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังทราบว่ามีหมายจับในคดีเดียวกับ 3 สมาชิกทะลุฟ้า

หลังเข้าพบ ตำรวจได้จัดทำบันทึกจับกุมจิตริน แม้เป็นการเข้าแสดงตัวด้วยตนเอง และพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้แจ้งข้อกล่าวหา 4 ข้อหา เช่นเดียวกับแซมและมิกกี้บัง โดยจิตรินให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้นำตัวเขาไปขอฝากขังที่ศาลอาญา ก่อนศาลอนุญาตให้ฝากขัง และอนุญาตให้ประกัน โดยให้วางหลักทรัพย์ 100,000 บาท กำหนดเงื่อนไขให้ติด EM และห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 18.00 ถึง 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น, ห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง, ห้ามใช้ความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อทรัพย์สินสาธารณะและทรัพย์สินทางราชการ และให้ตั้งบิดาของจิตรินเป็นผู้กำกับดูแล หากผู้ต้องหาผิดเงื่อนไขให้ถือว่าผิดสัญญาประกัน

ทั้งนี้ ทางครอบครัวของจิตรินได้นำหลักทรัพย์ดังกล่าวมาวางสำหรับการประกันตัวด้วยตนเอง โดยที่ก่อนหน้านี้ในคดีสาดสีหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จิตรินมีเงื่อนไขการประกันตัวที่ต้องติดกำไล EM อยู่ก่อนแล้ว ทำให้เขาติดกำไลนี้มาตั้งแต่ได้รับการประกันตัวเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

(อ้างอิง: บันทึกจับกุม สน.นางเลิ้ง ลงวันที่ 30 พ.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/51165)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์