สรุปความสำคัญ

วัฒน์ (นามสมมติ) อายุ 28 ปี พ่อค้าขายของออนไลน์ชาวราชบุรี ถูกพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ดำเนินคดีข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังปิติ สมันตรัฐ ประชาชนรายหนึ่งเข้าแจ้งความกล่าวหาว่า วัฒน์โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่นชมการทรงงานของรัชกาลที่ 9 แต่วิพากษ์วิจารณ์การทรงงานของรัชกาลที่ 10 ทังนี้ วัฒน์เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในชั้นสอบสวนจึงไม่ถูกควบคุมตัว

กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกประชาชนด้วยกันเองนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นความเห็นที่แตกต่างไปจากตนเอง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • วัฒน์ (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

14 ต.ค. 2564 เวลา 10.30 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) วัฒน์ (นามสมมติ) พร้อมทนายความ เดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียกครั้งที่ 2 ลงวันที่ 30 ก.ย. 2564 ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14

พนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. แจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาให้วัฒน์ทราบ ใจความโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2563 ปิติ สมันตรัฐ ได้มาแจ้งความให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2563 เวลา 12.00 น. ได้โพสต์ข้อความแสดงความชื่นชมการทรงงานของรัชกาลที่ 9 เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งต่อข้อมูลเรื่องสาเหตุการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 พร้อมแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทรงงานของรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นการกล่าวหา ใส่ความรัชกาลที่ 10 ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์

พนักงานสอบสวนระบุว่า จากการสืบสวนสอบสวนน่าเชื่อว่าบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นของวัฒน์ จึงได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหา คือ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์” ตามมาตรา 112 และ “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

ด้านวัฒน์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากนั้นวัฒน์ได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากมาปรากฏตัวต่อพนักงานผู้รับมอบตัวตามหมายเรียก

(อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 14 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/36560)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์