ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1253/2565
แดง อ.1976/2566

ผู้กล่าวหา
  • ปิติ สมันตรัฐ (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1253/2565
แดง อ.1976/2566
ผู้กล่าวหา
  • ปิติ สมันตรัฐ

ความสำคัญของคดี

วัฒน์ (นามสมมติ) อายุ 28 ปี พ่อค้าขายของออนไลน์ชาวราชบุรี ถูกพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ดำเนินคดีข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังปิติ สมันตรัฐ ประชาชนรายหนึ่งเข้าแจ้งความกล่าวหาว่า วัฒน์โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่นชมการทรงงานของรัชกาลที่ 9 แต่วิพากษ์วิจารณ์การทรงงานของรัชกาลที่ 10 ทั้งนี้ วัฒน์เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในชั้นสอบสวนจึงไม่ถูกควบคุมตัว

กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกประชาชนด้วยกันเองนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นความเห็นที่แตกต่างไปจากตนเอง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

เมขลา อัจฉราวงศ์ชัย พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 บรรยายคำฟ้อง มีใจความโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2563 จำเลยได้หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ด้วยการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะ มีใจความในทำนองว่า จำเลยเคารพนับถือเพียงรัชกาลที่ 9 แม้จะเคยอ่านข้อมูลเรื่องสาเหตุการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 แต่ก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง และเห็นว่ารัชกาลที่ 9 ทรงทำงานหนักเพื่อประชาชน แต่จำเลยไม่เห็นว่ารัชกาลที่ 10 ได้ทรงงาน จึงไม่จำเป็นต้องเคารพ

ข้อความที่เกี่ยวกับกรณีสิ้นพระชนม์ของรัชกาลที่ 8 มีความหมายว่า รัชกาลที่ 9 มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งไม่เป็นความจริง อันเป็นการใส่ความรัชกาลที่ 9 ทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง

ส่วนข้อความส่วนที่พาดพิงรัชกาลที่ 10 ทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจได้ว่า รัชกาลที่ 10 ไม่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นการใส่ความรัชกาลที่ 10 ต่อบุคคลที่ 3 ทำให้พระองค์เสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง โดยจำเลยมีเจตนาอาฆาตมาดร้าย ทำลายสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชนชาวไทย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพกษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ใครจะละเมิดมิได้ และการที่จำเลยโพสต์ลงสื่อออนไลน์ยังเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1253/2565 ลงวันที่ 26 พ.ค. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลา 10.30 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) วัฒน์ (นามสมมติ) พร้อมทนายความ เดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียกครั้งที่ 2 ลงวันที่ 30 ก.ย. 2564 ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14

    พ.ต.ต.หญิง สุธัญดา เอมเอก สารวัตร (สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. และ ร.ต.ท.หญิง พรสถิตย บุราญรัตน์ รองสารวัตร (สอบสวน) ปรก.กก.3 บก.ปอท. แจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาให้วัฒน์ทราบ ใจความโดยสรุปว่า

    เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2563 ปิติ สมันตรัฐ ผู้กล่าวหา ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2563 เวลา 12.00 น. ได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์องค์ต่างๆ โดยข้อความมีเนื้อหาแสดงความชื่นชมการทรงงานของรัชกาลที่ 9 เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งต่อข้อมูลเรื่องสาเหตุการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 พร้อมแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทรงงานของรัชกาลที่ 10 แต่ยืนยันว่าเคารพในหลวงรัชกาลที่ 9

    ผู้กล่าวหาอ้างว่าการกระทําดังกล่าว เป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีเนื้อหาเป็นการกล่าวหา ใส่ความพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท และดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนที่เข้ามาอ่าน เกิดความรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชังพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ พนักงานสอบสวนระบุว่า จากการสืบสวนสอบสวนน่าเชื่อว่าบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นของวัฒน์

    พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหา คือ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์” ตามมาตรา 112 และ “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    ด้านวัฒน์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน โดยได้ลงลายมือชื่อไว้ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา

    หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการ วัฒน์ได้รับการปล่อยตัว โดยไม่ถูกควบคุมตัวไว้ เนื่องจากมาปรากฏตัวต่อพนักงานผู้รับมอบตัวตามหมายเรียก

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 14 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/36560)
  • พนักงานสอบสวนนัดวัฒน์ไปส่งสำนวนคดีให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 อัยการรับสำนวนแล้วนัดฟังคำสั่งในวันที่ 15 มี.ค. 2565 เวลา 10.00 น.
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง เลื่อนนัดไปเป็นวันที่ 26 เม.ย. 2565 เวลา 10.00 น.
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง เลื่อนนัดไปเป็นวันที่ 26 พ.ค. 2565 เวลา 10.00 น.
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องวัฒน์ต่อศาลอาญา ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14

    สำหรับพฤติการณ์คดีตามคำฟ้องของอัยการ ระบุว่า เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2563 จำเลยได้หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ด้วยการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะ มีใจความในทำนองว่า จำเลยเคารพนับถือเพียงรัชกาลที่ 9 แม้จะเคยอ่านข้อมูลเรื่องสาเหตุการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 แต่ก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง และเห็นว่ารัชกาลที่ 9 ทรงทำงานหนักเพื่อประชาชน แต่จำเลยไม่เห็นว่ารัชกาลที่ 10 ได้ทรงงาน จึงไม่จำเป็นต้องเคารพ

    อัยการระบุว่า สำหรับข้อความที่เกี่ยวกับกรณีสิ้นพระชนม์ของรัชกาลที่ 8 มีความหมายว่า รัชกาลที่ 9 มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งไม่เป็นความจริง อันเป็นการใส่ความรัชกาลที่ 9 ทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง

    ส่วนข้อความส่วนที่พาดพิงรัชกาลที่ 10 ทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจได้ว่า รัชกาลที่ 10 ไม่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นการใส่ความรัชกาลที่ 10 ต่อบุคคลที่ 3 ทำให้พระองค์เสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง โดยจำเลยมีเจตนาอาฆาตมาดร้าย ทำลายสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชนชาวไทย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพกษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ใครจะละเมิดมิได้ และการที่จำเลยโพสต์ลงสื่อออนไลน์ยังเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

    ท้ายคำฟ้อง อัยการได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว อ้างเหตุคดีมีอัตราโทษสูง และเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง

    อย่างไรก็ตาม หลังศาลรับฟ้อง และนายประกันของกองทุนราษฎรประสงค์ยื่นประกัน ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราววัฒน์ระหว่างพิจารณาคดี วงเงินประกัน 180,000 บาท กำหนดเงื่อนไขให้จำเลยไปรายงานตัวต่อผู้กำกับดูแลที่ศาลแต่งตั้ง ทุกวันที่ 15 ของเดือน และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 27 มิ.ย. 2565

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1253/2565 ลงวันที่ 26 พ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/44566)
  • นัดสืบพยานวันที่ 13, 14 มิ.ย. 2566
  • ก่อนเริ่มการสืบพยาน วัฒน์ตัดสินใจขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามที่โจทก์ฟ้อง เพื่อหวังจะได้รับโทษน้อยที่สุดหรือให้รอลงอาญา
  • ที่ห้องพิจารณา 812 เวลา 9.30 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดีและอ่านบรรยายฟ้องในคดีนี้ ก่อนจะอ่านคำพิพากษาสั้นๆ โดยสรุปว่า จำเลยกระทำผิดในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เนื่องจากเป็นการกระทำเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่หนักที่สุด ลงโทษจำคุก 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ จึงมีเหตุให้ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา

    หลังอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ศาลได้ใส่กุญแจมือวัฒน์แล้วพาลงไปรอห้องเวรชี้ ขณะทนายความยื่นขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

    ต่อมาเวลา 16.09 น. ศาลอาญามีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา โดยต้องใช้ระยะเวลาในอีกราว 2-3 วันข้างหน้า ในระหว่างนี้ วัฒน์จะถูกนำตัวไปคุมขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อน

    ก่อนฟังคำพิพากษาวัฒน์เปิดเผยว่า ก่อนเดินทางมาในวันนี้ เขาได้พูดกับลูกสาวว่า “พ่อจะไปทำงาน อาจจะไม่อยู่สักหลายเดือน” โดยวัฒน์ตั้งใจว่าหากได้ประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์ เขาก็จะเตรียมหาเงินส่งเสียค่าเล่าเรียนและค่ายาของลูกสาวที่ป่วยเป็นโรคลมชัก ก่อนจะเตรียมตัวเข้าเรือนจำ หากผลอุทธรณ์ไม่เป็นไปอย่างที่หวัง

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1253/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1976/2566 ลงวันที่ 17 ก.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/57497)
  • ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประตัววัฒน์ เห็นว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/57497)
  • หลังจากวัฒน์ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ทำให้เขาตัดสินใจที่จะไม่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา เพื่อให้คดีสิ้นสุดโดยเร็ว ขณะที่ฝ่ายอัยการโจทก์ยังขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ รวมทั้งหมด 3 ครั้ง จนถึงเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2566 เมื่อครบกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ พบว่าอัยการไม่ได้ขอขยายระยะเวลาต่ออีก ทำให้คดีสิ้นสุดลง

    หากวัฒน์ถูกคุมขังจนครบกำหนดโทษ จะได้รับการปล่อยตัวในช่วงเดือนมกราคม 2568

    “ผมไม่อยากเข้า ๆ ออก ๆ เรือนจำ ถ้าประกันออกไป เดี๋ยวเวลาเข้ามาใหม่ ผมทำใจลำบาก เดี๋ยวถ้าออกไปแล้วผมหางานทำ พอถึงเวลาถ้าต้องเข้า ผมก็ลำบากต้องลางาน ลาออก หางานใหม่ ถ้ายอมติดคุกไปเลย ปีครึ่งให้มันจบ ๆ มกราคมปี 68 ผมก็ได้ออกแล้ว” เป็นถ้อยคำที่เขาเคยกล่าวกับทนายความระหว่างตัดสินใจเกี่ยวกับคดีของตัวเองเมื่อถูกคุมขัง

    หลังถูกคุมขัง วัฒน์คิดว่าเขาพอปรับตัวให้อยู่ในเรือนจำได้ โดยได้รับความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายบางส่วนจากกองทุนช่วยเหลือผู้ต้องขังทางการเมือง จึงช่วยลดภาระทางบ้านไปบ้าง ทำให้เป็นส่วนหนึ่งทำให้เขาตัดสินใจไม่อุทธรณ์คดีต่อ

    สำหรับ “วัฒน์” เคยประกอบอาชีพขายของออนไลน์ ต่อมาประกอบอาชีพเป็นช่างตัดผม อาศัยอยู่กับภรรยาและลูกสาววัย 13 ขวบ ที่ป่วยเป็นโรคลมชัก ทำให้ครอบครัวต้องหารายได้ทั้งค่าดูแลรักษาและค่าเล่าเรียนของลูก

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/61794)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
วัฒน์ (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
วัฒน์ (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. อุไรวรรณ ประชุมจิตร ชัยพรรค
  2. อิศเรศร์ ปรางทอง

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 17-07-2023

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
วัฒน์ (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. อุไรวรรณ ประชุมจิตร ไชยพรรค
  2. อิศเรศร์ ปรางทอง

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์