สรุปความสำคัญ

อุดม (สงวนนามสกุล) พนักงานโรงงานในปราจีนบุรี วัย 33 ปี ถูกดำเนินคดีไกลถึง สภ.สุไหงโก-ลก จ.นราธวาส ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการแชร์และโพสต์ข้อความแสดงความเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัวพาดพิงถึงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 รวม 7 ข้อความ ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 และมกราคม 2564 โดยมี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ติวเตอร์ในอำเภอสุไหงโก-ลก เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี

การดำเนินคดีต่ออุดมสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้างและเปิดช่องให้บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เป็นผู้เสียหายสามารถแจ้งความได้ ทำให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานคนที่มีความเห็นในทางการเมืองแตกต่างจากตน จนกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนเกินควร

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • อุดม (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

14 มิ.ย. 2564 อุดม (สงวนนามสกุล) ซึ่งอาศัยอยู่ที่ จ.ปราจีนบุรี เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เพียงลำพังโดยไม่มีทนายความ หลังได้รับหมายเรียกในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหา

ว่าที่ พ.ต.ต.นที จันทร์แสงศรี พนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์คดีที่กล่าวหาให้อุดมทราบว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 ผู้กล่าวได้พบผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก ซึ่งคาดว่าเป็นอุดม แชร์ข้อความจากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” และโพสต์แสดงความเห็นถึงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ตลอดจนคดี สวรรคตของรัชกาลที่ 8 รวม 4 ข้อความ ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่า เป็นการกล่าวหา ดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่ชัดแจ้ง และเป็นการนำข้อความเท็จลงในระบบคอมพิวเตอร์

พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาอุดมรวม 2 ข้อหา คือ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

อุดมให้การรับสารภาพว่า เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชีดังกล่าว โพสต์ข้อความตามที่ถูกกล่าวหาจริง

จากนั้นพนักงานสอบสวนได้นำตัวอุดมไปขอฝากขังต่อศาลจังหวัดนราธิวาส ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้ประกันตัว โดยญาติของอุดมใช้หลักทรัพย์ 30,000 บาท วางเป็นหลักประกัน

สำหรับคดีตามมาตรา 112 ที่ จ.นราธิวาส นี้ มีนายพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหาต่อประชาชนคนอื่น ๆ อย่างน้อย 6 รายแล้ว โดยเท่าที่ศูนย์ทนายฯ ทราบข้อมูล ไม่มีผู้ใดมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ภาคใต้เลย ทำให้เป็นภาระของผู้ถูกกล่าวหาที่ต้องเดินทางไปยัง จ.นราธิวาส เพื่อต่อสู้คดี

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.สุไหงโก-ลก ลงวันที่ 14 มิ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/38476)

ภูมิหลัง

  • อุดม (สงวนนามสกุล)
    หลังการรัฐประหาร 2557 ด้วยความสงสัยในสาเหตุของการรัฐประหาร และสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น อุดมเริ่มเข้าไปดูช่องยูทูบที่วิเคราะห์การเมือง และศึกษาค้นคว้าในโลกออนไลน์ด้วยตนเองหลายปี ทั้งทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือเสิร์ชกูเกิล ทำให้เขาค่อยๆ เริ่มเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการเมืองและสังคมไทย เริ่มเห็นปัญหาของสถาบันการเมืองต่างๆ มากขึ้น แต่อุดมไม่เคยไปร่วมชุมนุมทางการเมืองครั้งใดมาก่อน ไม่ว่าในฝ่ายเสื้อแดง เสื้อเหลือง หรือการชุมนุมล่าสุดของคนรุ่นใหม่ในช่วงสองปีที่ผ่านมา และไม่เคยคิดจะไปร่วมสังกัดกลุ่มการเมืองกลุ่มไหน เขาเพียงติดตามข่าวสารในโลกออนไลน์ตามที่มีเวลาว่าง

    (อ่านเพิ่มเติมที่: https://tlhr2014.com/archives/46042)

ผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ

  • อุดม (สงวนนามสกุล)
    สูญเสียรายได้จากงาน เนื่องจากการเดินทางไปต่อสู้คดีแต่ละครั้งทำให้อุดมต้องลาหยุดเป็นเวลา 4-5 วันขึ้นไปในแต่ละครั้ง ทำให้สถานการณ์การเงินในครัวเรือน แทบจะเดือนชนเดือน ค่าใช้จ่ายในคดีความก็ต้องขุดเงินเก็บมาใช้

    นอกจากนี้ครอบครัวมีความเครียดขึ้นทุกวัน เพราะไม่มีใครเคยเจอแบบนี้ และไม่รู้ต้องทำอย่างไร บางช่วงก่อนเดินทางไปตามนัดคดี และอาจจะไม่ได้กลับมา อุดมและแฟนนอนไม่หลับ กินข้าวไม่ลง บางวันหยุด อุดมก็จะหมกตัวอยู่แต่ในห้อง

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์