ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.830/2565
แดง อ.824/2565

ผู้กล่าวหา
  • พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.830/2565
แดง อ.824/2565
ผู้กล่าวหา
  • พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน

ความสำคัญของคดี

อุดม (สงวนนามสกุล) พนักงานโรงงานในจังหวัดปราจีนบุรี วัย 33 ปี ถูกดำเนินคดีไกลถึง สภ.สุไหงโก-ลก จ.นราธวาส ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการแชร์และโพสต์ข้อความแสดงความเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัวพาดพิงถึงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 รวม 7 ข้อความ ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 และมกราคม 2564 โดยมี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ติวเตอร์ในอำเภอสุไหงโก-ลก เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี

การดำเนินคดีต่ออุดมสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้างและเปิดช่องให้บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เป็นผู้เสียหายสามารถแจ้งความได้ ทำให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานคนที่มีความเห็นในทางการเมืองแตกต่างจากตน จนกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนเกินควร

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ว่าที่ ร.ต.นราชัย พรธีรภัทร พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 บรรยายคำฟ้องมีโดยสรุปว่า

ขณะเกิดเหตุประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีรัชกาลที่ 9 เป็นกษัตริย์ และรัชกาลที่ 10 เป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้

เมื่อเดือนตุลาคม 2563 และมกราคม 2564 จำเลยได้โพสต์ 5 ข้อความที่กล่าวถึงรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับสถานการณ์การทำรัฐประหาร กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ตลอดจนการตั้งคำถามถึงความร่ำรวยของสถาบันกษัตริย์และการสอนให้ประชาชนพอเพียง

ส่วนอีก 2 ข้อความ ได้โพสต์ถึงรัชกาลที่ 10 โพสต์แรกเป็นการแชร์ข้อความจากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” เป็นภาพเปรียบเทียบระหว่างประชาชนชนที่เข้ารับเสด็จของกษัตริย์ประเทศอังกฤษและไทย พร้อมข้อความว่า “บ้านอื่นมองคนเป็นคน แต่บ้านเมืองนี้มองคนเป็นฝุ่น” ส่วนอีกข้อความได้วิจารณ์ถึงการใช้ภาษีประชาชนไปกับการแต่งตั้งและเลื่อนยศให้คนกลุ่มหนึ่ง

ข้อความทั้งหมดเป็นการดูถูก เหยียดหยาม ด่าทอ พระมหากษัตริย์ทั้งสององค์ โดยประการที่น่าจะทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง อันมีเจตนาเพื่อทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา และไม่เป็นที่เคารพสักการะ ซึ่งถือเป็นการหมิ่นประมาท และเป็นการนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดนราธิวาส คดีหมายเลขดำที่ อ.830/2564 ลงวันที่ 6 ก.ย. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • อุดม (สงวนนามสกุล) ซึ่งอาศัยอยู่ที่ จ.ปราจีนบุรี เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เพียงลำพังโดยไม่มีทนายความ หลังได้รับหมายเรียกในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหา

    ว่าที่ พ.ต.ต.นที จันทร์แสงศรี พนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์คดีที่กล่าวหาให้อุดมทราบว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 ผู้กล่าวได้พบผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก ซึ่งคาดว่าเป็นอุดม แชร์ข้อความจากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” และโพสต์แสดงความเห็นถึงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ตลอดจนคดี สวรรคตของรัชกาลที่ 8 รวม 4 ข้อความ ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่า เป็นการกล่าวหา ดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่ชัดแจ้ง และเป็นการนำข้อความเท็จลงในระบบคอมพิวเตอร์

    พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาอุดมรวม 2 ข้อหา คือ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

    อุดมให้การรับสารภาพว่า เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชีดังกล่าว โพสต์ข้อความตามที่ถูกกล่าวหาจริง

    จากนั้นพนักงานสอบสวนได้นำตัวอุดมไปขอฝากขังต่อศาลจังหวัดนราธิวาส ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้ประกันตัว โดยญาติของอุดมใช้หลักทรัพย์ 30,000 บาท วางเป็นหลักประกัน

    สำหรับคดีตามมาตรา 112 ที่ จ.นราธิวาส นี้ มีนายพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหาต่อประชาชนคนอื่น ๆ อย่างน้อย 6 รายแล้ว โดยเท่าที่ศูนย์ทนายฯ ทราบข้อมูล ไม่มีผู้ใดมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ภาคใต้เลย ทำให้เป็นภาระของผู้ถูกกล่าวหาที่ต้องเดินทางไปยัง จ.นราธิวาส เพื่อต่อสู้คดี

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.สุไหงโก-ลก ลงวันที่ 14 มิ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/38476)
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 ยื่นฟ้องอุดมต่อศาลจังหวัดนราธิวาสใน 2 ข้อหา คือ หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)

    เนื้อหาคำฟ้องของอัยการมีเนื้อหาโดยสรุปว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2563 และเดือนมกราคม 2564 จำเลยได้โพสต์ 5 ข้อความที่กล่าวถึงรัชกาลที่ 9 และอีก 2 ข้อความ กล่าวถึงรัชกาลที่ 10 ในลักษณะที่เป็นการดูถูก เหยียดหยาม ด่าทอพระมหากษัตริย์ทั้งสององค์ โดยประการที่น่าจะทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติ อันมีเจตนาเพื่อทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา และไม่เป็นที่เคารพสักการะ

    อุดมได้รับการประกันตัวในชั้นศาล โดยใช้หลักทรัพย์เดิมจากชั้นฝากขัง โดยในขั้นตอนต่างๆ ในคดีจนกระทั่งถูกสั่งฟ้องนั้น อุดมไม่ได้มีทนายความให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย จนกระทั่งเขาติดต่อศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายหลังถูกสั่งฟ้องแล้ว

    หลังอัยการยื่นฟ้อง อุดมได้รับการประกันตัวในระหว่างพิจารณาคดี โดยใช้หลักทรัพย์เดิมจากชั้นฝากขัง ศาลนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 30 พ.ย. 2564 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดนราธิวาส คดีหมายเลขดำที่ อ.830/2564 ลงวันที่ 6 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/38476)
  • อุดมและทนายความเดินทางไปศาลตามนัด ศาลอ่านคำฟ้องให้จำเลยฟังอีกครั้ง อุดมยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อหา ทนายจำเลยแถลงแนวทางการต่อสู้คดีว่า การกระทำตามฟ้องไม่เป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ โดยข้อความที่ถูกฟ้อง 5 ข้อความเกี่ยวข้องกับอดีตพระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว มิใช่การกระทำต่อกษัตริย์ที่ครองราชย์ปัจจุบันจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลอาญา มาตรา 112 ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย

    ส่วนเหตุที่จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เนื่องจากจำเลยไม่เข้าใจข้อกฎหมายและไม่มีทนายความเข้าร่วมรับทราบข้อกล่าวหาและสอบคำให้การจำเลยแต่อย่างใด

    ฝ่ายอัยการโจทก์แถลงว่าประสงค์จะนำพยานเข้าสืบจำนวน 8 ปาก เป็นผู้กล่าวหา 1 ปาก พยานที่ให้ความเห็นต่อข้อความที่ถูกกล่าวหาจำนวน 6 ปาก และพนักงานสอบสวน 1 ปาก ด้านจำเลยประสงค์จะนำพยานสืบ 2 ปาก คือ ตัวจำเลย และนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์

    ศาลจึงกำหนดวันนัดสืบพยาน จำนวน 2 นัดครึ่ง โดยเป็นของฝ่ายโจทก์ 2 นัด และจำเลย ครึ่งนัด ในวันที่ 27-29 เม.ย. 2565

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดนราธิวาส คดีหมายเลขดำที่ อ.830/2564 ลงวันที่ 30 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/38476)

  • คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีแรกที่มีการสืบพยานในจำนวนหลายคดีที่พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษ เป็นผู้แจ้งความไว้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก

    สำหรับโพสต์ที่ถูกกล่าวหาทั้ง 7 โพสต์ในคดีนี้ โพสต์โดยใช้เฟซบุ๊กชื่อสกุลเดียวกับจำเลย เป็นโพสต์ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ถึงเดือนมกราคม 2564 โดยมีโพสต์ที่เป็นภาพและข้อความที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์เองเพียงอย่างเดียว 5 ข้อความ และเป็นโพสต์ที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กแชร์ข่าวของสำนักข่าวมติชน และแชร์ข้อความจากเพจ “คนไทยยูเค” พร้อมเขียนความเห็นประกอบอีกอย่างละโพสต์

    ในการต่อสู้คดี จำเลยได้ยอมรับว่าโพสต์ข้อความตามที่ถูกฟ้องจริง และเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กตามที่ถูกกล่าวหา แต่ข้อความต่างๆ ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาท-ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ไม่ได้มีการเอ่ยนามบุคคลใดในโพสต์ ทั้งข้อความแต่ละข้อความก็ตีความถึงบุคคลได้หลากหลาย แม้แต่พยานโจทก์ที่มาเบิกความเอง ก็เห็นไม่ตรงกันว่าแต่ละข้อความหมายถึงสิ่งใด ขณะที่บางข้อความ แม้พยานความเห็นของโจทก์จะระบุว่า ตีความได้หมายถึงรัชกาลที่ 9 แต่ฝ่ายจำเลยก็ถามค้านว่ามาตรา 112 มีองค์ประกอบคุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันเท่านั้น

    ภาพรวมการสืบพยานในคดีนี้ มีพยานโจทก์ขึ้นเบิกความรวมทั้งหมด 8 ปาก นอกจากผู้กล่าวหาและพนักงานสอบสวนในคดีแล้ว ทั้งหมดอีก 6 ปาก เป็นพยานความเห็นที่ตำรวจให้มาอ่านข้อความที่ถูกกล่าวหาและแสดงความเห็น ขณะที่ฝ่ายจำเลยไม่นำสืบพยาน แต่ถามค้านพยานความเห็นของโจทก์ปากต่างๆ เป็นหลัก

    ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าคดีในหมวดความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีอัยการจากสำนักงานอัยการภาค 9 มาทำหน้าที่โจทก์ในคดี ไม่ใช่สำนักงานอัยการจังหวัดเหมือนในพื้นที่อื่นๆ

    นอกจากนั้น ในระหว่างพิจารณาคดี จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ ราว 2-3 นาย สลับกันมานั่งอยู่ในห้องพิจารณา ตลอดการพิจารณา โดยพบว่าเจ้าหน้าที่ยังได้พยายามเข้ามาพูดคุยห้ามไม่ให้ผู้สังเกตการณ์จดบันทึกในห้องพิจารณา แต่ต่อมาศาลอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์จดบันทึกประเด็นการพิจารณาได้

    ++ผู้กล่าวหาปฏิเสธว่าไม่ใช่สมาชิกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ แต่นำเอกสารที่ใช้แจ้งความมาจากรุ่นพี่ในกลุ่ม คปส. รับเห็นว่า ม.112 คุ้มครองเฉพาะบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอยู่

    พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ครูสอนพิเศษภาษาอังกฤษ ที่อำเภอสุไหงโก-ลก เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 เขาได้เข้าไปใช้เฟซบุ๊กผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยมีการเข้าไปดูโพสต์ในกลุ่มเฟซบุ๊กต่างๆ แล้วบังเอิญไปเห็นผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อเดียวกันกับจำเลยในคดีนี้ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในกลุ่ม “ตลาดหลวง” จึงได้เข้าไปไล่ดูข้อมูลเฟซบุ๊กของจำเลย

    พสิษฐ์ระบุว่า หลังจากพบเห็นข้อความต่างๆ แล้ว ได้มีการปรึกษารุ่นพี่ในกรุงเทพฯ ที่อยู่ในกลุ่มเกี่ยวกับการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยสอบถามว่ามีกฎหมายที่ให้ประชาชนทั่วไปไปแจ้งความดำเนินการเรื่องสถาบันฯ ได้หรือไม่ เมื่อทราบว่ามี จึงได้ค้นคว้าข้อกฎหมายเพิ่มเติม ก่อนนำเรื่องไปแจ้งความเมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2564 โดยได้นำแบบฟอร์มของกลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบันกษัตริย์ (คปส.) ที่ได้รับมาจากรุ่นพี่มาใช้ในการร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยแคปหน้าจอข้อความแต่ละข้อความของจำเลยไปใช้ในการแจ้งความ

    ผู้กล่าวหาเบิกความอ้างว่า เหตุที่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว เพราะมีการใช้ชื่อนามสกุลจริง และสามารถดูที่อยู่ที่ส่งภาพบัตรประชาชนยืนยันตัวตนไปให้เฟซบุ๊กได้ เนื่องจากช่วงหลังเฟซบุ๊กมีระบบการให้ยืนยันตัวตนจริง โดยพยานอ้างว่าได้ตรวจสอบพบว่ามีเอกสารการยืนยันตัวตนของอุดม แต่ไม่ได้นำมายื่นประกอบการดำเนินคดี

    พยานระบุว่าในการแจ้งความ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้เปิดเข้าไปดูเฟซบุ๊กดังกล่าวด้วย และยังพบข้อความต่างๆ อยู่ และตำรวจยังพิมพ์ทะเบียนราษฎร์ของอุดมออกมาตรวจสอบ และพบว่าข้อมูลตรงกัน โดยพยานไม่ได้รู้จักจำเลยมาก่อน

    พสิษฐ์อ้างว่าอ่านข้อความของจำเลยรวมๆ แล้วทำให้เข้าใจว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยหากคนที่ไม่มีความรู้มาอ่าน อาจหลงเชื่อและเข้าใจสถาบันพระมหากษัตริย์ผิดไป ทำให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เขาจำโพสต์ที่แจ้งความไม่ได้ทั้งหมด ต้องให้อัยการเปิดสำนวนเอกสารคดีให้ดูในแต่ละโพสต์ เพื่อให้ความคิดเห็นถึงแต่ละโพสต์

    ในส่วนการถามค้านของทนายจำเลย พสิษฐ์เบิกความว่าเขาไปแจ้งความในคดีมาตรา 112 มาแล้วประมาณ 15 คดี แต่พยานไม่ได้สังกัดกลุ่ม ศปส. แม้ในเอกสารที่พยานนำมาแจ้งความ จะระบุว่าพยานเป็นสมาชิกของกลุ่มเครือข่ายนี้ พยานทราบว่ากลุ่มดังกล่าวมีการทำหน้าที่ในการจับตาดูข้อความในโซเชียลเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเขาไม่ได้ทำงานในลักษณะจับตาโซเชียลมีเดียแบบนั้น

    ส่วนเหตุที่พบข้อความตั้งแต่สิ้นเดือนมกราคม 2564 แต่ไปแจ้งความในวันที่ 12 เม.ย. 2564 พสิษฐ์เบิกความว่า เขามีงานต้องทำ ก่อนหน้านั้นเป็นช่วงเปิดเทอม จึงต้องสอนทั้งวัน อีกทั้งมีบางข้อความที่ไม่แน่ใจว่าเป็นความผิดมาตรา 112 หรือไม่ แต่หลังจากปรึกษารุ่นพี่แล้ว เห็นว่าน่าจะเป็นความผิด จึงได้รวบรวมไปแจ้งความ

    พสิษฐ์ทราบว่า มาตรา 112 มุ่งคุ้มครองบุคคล 4 บุคคล ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยทั้ง 4 บุคคลหมายถึงบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน หรือในขณะที่มีผู้กระทำความผิด

    พสิษฐ์รับว่าข้อความที่นำมาแจ้งความ เป็นการแคปภาพจากหน้าจอมือถือ ไม่ได้มี URL ของแต่ละโพสต์ ทั้งยังมีการตัดภาพหน้าจอให้เหลือเฉพาะข้อความ โดยรับว่ามีข้อความหนึ่งที่จำเลยแชร์มาจากเพจ คนไทยยูเค นั้น แคปข้อความที่แชร์มาไม่ครบถ้วน

    ++พยานโจทก์หลากหลายสาขาอาชีพถูก ตร. เรียกมาให้ความเห็น บางคนเบิกความว่า ตร. เตรียมเอกสารไว้ให้เซ็น ข้อความเหมือนกันกับคนอื่นๆ

    ขณะเดียวกัน พยานโจทก์ปากที่เหลือทั้งหมด นอกจากพนักงานสอบสวน เป็นพยานจากสาขาอาชีพต่างๆ ที่ตำรวจติดต่อมาให้ความเห็นต่อข้อความ โดยพบว่าหลายคนได้ถูกตำรวจขอให้ให้ความเห็นในคดีมาตรา 112 หลายคดีของ สภ.สุไหงโก-ลก พร้อมๆ กันด้วย

    ในการตอบคำถามค้านของทนาย พยานโจทก์ทุกปากรับว่าเมื่ออ่านข้อความตามฟ้องแล้ว ไม่ได้รู้สึกไม่รัก ไม่เทิดทูน หรือไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

    - พยานโจทก์ปากที่ 2 ทัศนีย์ อกนิษฐ์กุล แม่ยายของพสิษฐ์ เบิกความระบุว่า ลูกเขยได้เปิดเฟซบุ๊กที่กล่าวหาให้ดู และตนได้เดินทางไปให้ปากคำที่ สภ.สุไหงโก-ลก ร่วมกับลูกเขย เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2564 ตำรวจจึงสอบไว้เป็นพยานด้วย

    พยานระบุรวมๆ ว่า ได้อ่านข้อความของจำเลยทั้งหมดแล้วเห็นว่าเป็นข้อความในเรื่องไม่ดีเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ แต่เมื่อทนายจำเลยถามค้านในแต่ละโพสต์ พยานก็รับว่าแต่ละโพสต์ไม่ได้เอ่ยชื่อบุคคลใด และบางโพสต์อ่านดูใหม่ ก็เห็นว่าไม่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

    - พยานโจทก์ปากที่ 3 ประทุม พัฒนวงษ์ เป็นผู้ทำงานรับจ้างในอำเภอสุไหงโก-ลก และเคยไปแจ้งความเด็กนักเรียน 5 คน ในคดีมาตรา 112 เอาไว้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก ทำให้พนักงานสอบสวนติดต่อให้มาดูโพสต์ข้อความในคดีนี้ โดยพยานไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มหรือเครือข่ายเกี่ยวกับการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ พยานเบิกความเห็นว่าแต่ละข้อความเป็นข้อความเกี่ยวกับ “เบื้องสูง” และเป็นข้อความไม่สมควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

    ในการถามค้าน ทนายจำเลยพบว่า พยานมาให้การเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 ในคำให้การของพยานในหน้าที่ 2 เหมือนกันทุกตัวอักษรกับพยานโจทก์ปากที่ 2 ก่อนหน้านี้ พยานตอบว่าไม่ทราบว่าทำไมถึงเหมือนกัน

    พยานยังรับว่า ตนไม่ทราบว่ามาตรา 112 คุ้มครองบุคคลใดบ้าง แต่รับว่าน่าจะต้องเป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้นด้วย และรับว่าข้อความที่ “ไม่เหมาะสม” นั้น ไม่เท่ากับว่าข้อความนั้นเป็นความผิดตามมาตรา 112 โดยทันที

    - พยานโจทก์ปากที่ 4 ประสิทธิ์ ศรีสืบ เป็นประธานสภาทนายความในจังหวัดนราธิวาส โดยพยานปากนี้เบิกความว่ารับว่าตำรวจ สภ.สุไหงโก-ลก ได้ติดต่อให้มาลงชื่อในคำให้การในคดีนี้ โดยเมื่อไปถึงสถานี ตำรวจได้จัดทำเอกสารไว้เรียบร้อยแล้ว โดยพิมพ์มาให้พยานเซ็นชื่อ พยานได้ดูเอกสารก่อนเซ็น แต่จำเนื้อหาไม่ได้แล้ว

    พยานปากนี้ไม่ขอออกความเห็นใดๆ ในชั้นศาล ต่อข้อความที่โจทก์นำมาให้ดูทั้งหมด

    - พยานโจทก์ปากที่ 5 ผศ.วันชัย แก้วหนูนวล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เบิกความว่า ตนได้รับการโทรติดต่อจากรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัย เชิญให้ไปขอคำปรึกษาที่สำนักงานอธิการบดี เมื่อไปถึงก็พบว่ามีพนักงานสอบสวน สภ.สุไหงโก-ลก อยู่ด้วย ตำรวจได้ให้อ่านเอกสารข้อความโพสต์จากเฟซบุ๊ก และขอให้ช่วยพิจารณาตีความวิเคราะห์สาร และความหมายของข้อความ

    พยานได้ให้การในคดีมาตรา 112 ไว้ ทั้งหมด 3 คดี โดยทางตำรวจมีการบอกก่อนให้ดูข้อความว่าเป็นคดีเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่มีผู้มาแจ้งความไว้

    พยานเบิกความว่า บางข้อความสื่อโดยใช้ถ้อยคำผรุสวาท ในลักษณะการด่าทอ เสียดสี และมีองค์ประกอบเชื่อมโยงไปถึงบุคคลได้ในบางข้อความ โดยมีข้อความหนึ่งที่พยานเห็นว่าสื่อถึงโครงการในพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 และมีภาพของอีกข้อความหนึ่งที่มีพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 แต่ข้อความที่เหลือไม่สามารถระบุชัดเจนว่าหมายถึงบุคคลใด

    - พยานโจทก์ปากที่ 6 กิตติศักดิ์ กังวานโยธากุล รองนายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก เบิกความว่า ตนได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากตำรวจ สภ.สุไหงโก-ลก ให้มาเป็นพยาน โดยแจ้งว่าเป็น “คดีหมิ่นเบื้องสูง” จึงได้มาดูและให้ความเห็นต่อข้อความในคดีนี้

    ในการเบิกความพบว่า พยานปากนี้ไม่เคยเห็นโพสต์ตามฟ้องในชั้นสอบสวนมาก่อนจำนวน 3 โพสต์ ขณะที่เคยเห็นอีก 4 โพสต์ โดยพยานเบิกความว่า บางโพสต์คิดว่าสื่อถึงรัชกาลที่ 9 โดยไม่ได้มีการระบุพระนาม และเห็นว่ามีการใช้ข้อความไม่สมควรเป็นบางส่วน

    ขณะที่ทนายจำเลยยังพบว่า คำให้การชั้นสอบสวนของพยานปากนี้ ตรงกันกับพยานปากอื่นทุกตัวอักษร ซึ่งพยานตอบว่าไม่ทราบว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่พยานได้อ่านบันทึกคำให้การของตนก่อนลงลายมือชื่อ

    - พยานโจทก์ปากที่ 7 อภินันท์ ชาจิตตะ อดีตปลัดอำเภอสุไหงโก-ลก เบิกความว่า ในคดีนี้พนักงานสอบสวนได้โทรติดต่อให้พยานมาให้ความเห็น และตำรวจให้ดูโพสต์ข้อความที่ระบุว่ามีการพาดพิงสถาบันฯ แต่เมื่อพยานดูข้อความแล้ว มีทั้งหมด 4 ข้อความที่พยานไม่มีความเห็นใดๆ และมี 2 ข้อความที่ดูเหมือนจะสื่อถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ก็เป็นลักษณะคำถามลอยๆ และไม่มีการเอ่ยชื่อบุคคลใด

    ขณะที่ในการถามค้าน พยานปากนี้ก็ไม่ทราบว่าทำไมคำให้การในชั้นสอบสวนของตนถึงเหมือนกันทุกตัวอักษรกับคำให้การของพยานปากอื่น

    (อ้างอิง: คำเบิกความพยานโจทก์ ศาลจังหวัดนราธิวาส คดีหมายเลขดำที่ อ.830/2564 ลงวันที่ 27 เม.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/46486)
  • ++พนักงานสอบสวนรับเห็นว่าบางข้อความไม่เข้าข่าย ม.112 แต่คณะทำงานฯ เห็นว่าเข้า

    พยานโจทก์ปากที่ 8 พ.ต.ต.นที จันทร์แสงศรี พนักงานสอบสวน สภ.สุไหงโก-ลก เบิกความว่า คดีนี้เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2564 ขณะพยานเป็นพนักงานสอบสวนเวร พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ได้มาแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยนำเอกสารข้อความมาส่ง ระบุว่าเขาได้เปิดเฟซบุ๊กส่วนตัว และพบเฟซบุ๊กที่ลงข้อความที่เห็นว่าเข้าข่ายมาตรา 112

    พ.ต.ต.นที เบิกความว่า ตนได้จัดพิมพ์ทะเบียนราษฎร์ของอุดม เพื่อตรวจสอบผู้โพสต์ โดยพยานดูข้อความที่กล่าวหาจากเฉพาะที่ผู้กล่าวหาจัดพิมพ์เอกสารมา ไม่ได้เปิดเฟซบุ๊กเข้าดูในตอนหลัง แต่ไปตรวจสอบภายหลัง

    หลังรับแจ้งความ พยานรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส ต่อมาได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้ โดยคณะฯ มีการทำหนังสือขอให้ตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊ก ไปยัง บก.ปอท., กระทรวงดิจิทัลฯ แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ใดเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊ก เพราะฐานข้อมูลอยู่ต่างประเทศ ส่วนการตรวจสอบเฟซบุ๊กชื่ออุดมฯ นั้นพบว่ามีการโพสต์ภาพบุคคลที่เป็นภาพลักษณะเดียวกับภาพถ่ายนายอุดมฯ จึงน่าเชื่อว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กนี้คือนายอุดมฯ

    พ.ต.ต.นที ระบุว่า ตามแนวทางของคณะพนักงานสอบสวนในคดีมาตรา 112 ได้ให้มีการสอบพยานบุคคลจากหลากหลายสาขาอาชีพ พยานจึงมีการเรียกพยานมาให้ความเห็นต่อข้อความ โดยมีทั้งการสอบที่ สภ. หรือที่ๆ พยานปากนั้นอยู่ โดยใช้วิธีถามตอบ จัดทำคำให้การ

    อัยการถามว่ามีการพิมพ์คำให้การไว้ก่อนแล้วหรือไม่ พ.ต.ต.นที เบิกความว่า ไม่ใช่ ตำรวจมีการพิมพ์โครงร่างบันทึกคำให้การไว้ เมื่อให้ดูข้อความตามข้อกล่าวหา หากพยานมีความเห็นในทางเดียวกัน ก็จะเซ็นชื่อในบันทึกคำให้การนั้นได้ แต่ถ้าไม่เห็นด้วย ก็สามารถขอแก้ไขปรับเปลี่ยนก่อนลงชื่อได้

    เมื่อคณะพนักงานสอบสวน มีความเห็นว่าข้อความเข้าข่ายความผิด จึงมีการออกหมายเรียกจำเลยให้มารับทราบข้อหา ซึ่งผู้ต้องหาได้มาพบตามหมายเรียก เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2564 โดยอุดมให้การยอมรับว่าโพสต์ แต่ระบุว่าได้นำข้อความมาจากที่เขาส่งต่อๆ กันมา หรือแชร์ต่อๆ กันมา ทั้งข้อความที่เผยแพร่ ไม่ได้ระบุถึงใคร อย่างไร

    พ.ต.ต.นที ระบุว่า ตนได้แจ้งสิทธิฯ ให้อุดมทราบแล้ว แต่จำได้ว่าผู้ต้องหาระบุว่าไม่ต้องการทนายความ แม้ตนจะแจ้งให้ทราบแล้ว

    ในการตอบคำถามค้านของทนายจำเลย พ.ต.ต.นที รับว่าในเอกสารที่พิมพ์ข้อความที่อ้างว่าจำเลยโพสต์ ตนไม่ทราบว่าเรียงลำดับอยู่แบบนี้จริงๆ หรือไม่ในหน้าเฟซบุ๊ก และไม่ทราบว่าถูกต้องตรงตามต้นทางหรือไม่

    พ.ต.ต.นที ระบุว่า ในการเรียกพยานมาสอบปากคำ มีการเรียกเป็น 2 ชุด ในช่วงก่อนและหลัง 14 มิ.ย. 2564 ที่มีการแจ้งข้อหากับผู้ต้องหา แต่เมื่อทนายความไล่เรียงวันที่พยานแต่ละปากไปให้ปากคำ พบว่าพยาน 6 ปาก ไปให้ปากคำในเดือนสิงหาคม หลังจากการแจ้งข้อกล่าวหาต่อจำเลยแล้ว มีเพียงผู้กล่าวหาและแม่ยายที่ไปให้การก่อนเท่านั้น

    พ.ต.ต.นที จึงเบิกความว่า เนื่องจากในตอนแรกตำรวจภูธรจังหวัดเห็นว่าการสอบพยานผู้กล่าวหาเพียงคนเดียวก็เพียงพอแล้ว เนื่องจากมีการให้การรับสารภาพ แต่ตำรวจภูธรภาค 9 เห็นว่ายังไม่เพียงพอ จึงมีการเรียกพยานอื่นๆ มาสอบเพิ่มเติม เพื่อให้ปราศจากข้อสงสัย แต่พยานไม่มีเอกสารคำสั่งของตำรวจภูธรภาค 9 มาแสดงต่อศาล

    พ.ต.ต.นที เบิกความรับว่า องค์ประกอบของมาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะบุคคลใน 4 ตำแหน่ง แต่ความเห็นของคณะพนักงานสอบสวนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเป็นกษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์อยู่ในขณะกระทำความผิด แต่พยานก็รับว่าไม่เคยมีคนมาแจ้งความเรื่องหมิ่นสมเด็จพระนารายณ์ฯ

    พยานรับว่าตามองค์ประกอบความผิดมาตรา 112 ต้องชี้เฉพาะเจาะจงอย่างชัดเจนว่าหมายถึงบุคคลที่กฎหมายคุ้มครองทั้งสี่ พยานรับว่าในส่วนของตนมีความเห็นว่าบางข้อความในคดีนี้ อาจไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 112 แต่เนื่องจากการพิจารณาเป็นคณะฯ และตนเป็นอาวุโสน้อยที่สุด เจ้าพนักงานรายอื่นๆ อาจเห็นว่าครบองค์ประกอบ และตัวพยานก็ไม่ได้เสนอความเห็นแย้งต่อผู้บังคับบัญชา

    ทนายความได้อ่านทวนคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวน ระบุว่า “ข้าฯ ไม่รู้ว่าข้อความหมายถึงบุคคลใด แต่ได้นำข้อความมาจากเพื่อนในเฟซบุ๊ก และนำมาลงต่อๆ กันมา เมื่อเพื่อนได้เตือนว่าเป็นข้อความไม่เหมาะสม จึงได้ลบออก และไม่เคยนำมาลงอีก” พยานรับว่า จำเลยเคยให้การเช่นนี้ไว้

    พยานรับว่าจำเลยให้ความร่วมกับพนักงานสอบสวนด้วยดี มีการยอมรับว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กจริง โพสต์ข้อความจริง ทำให้พนักงานสอบสวนทราบข้อเท็จจริงได้

    พ.ต.ต.นที เบิกความเพิ่มเติมเรื่องการจัดทำคำให้การพยานปากต่างๆ ว่าแต่ละคนมีการตีความแตกต่างกันบ้าง ไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด พยานรับว่ากลุ่มพยานที่เรียกมาให้การนั้น ถูกเรียกมาในคดีมาตรา 112 ที่ สภ.สุไหงโก-ลก ในหลายคดี

    พยานไม่ทราบว่า ศาลจังหวัดนครพนมเคยมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยพิจารณาว่าข้อความที่ไม่ระบุตัวบุคคลชัดเจน ยังไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 112

    เมื่อตอบคำถามอัยการถามติง พยานเบิกความใหม่ในเรื่องเอกสารตรวจสอบเฟซบุ๊กจาก บก.ปอท. ที่ระบุว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ อุดมฯ น่าจะคือ อุดมฯ เอง ไม่ใช่เพียงว่า อุดมฯ ให้การรับสารภาพ จึงทำให้พนักงานสอบสวนได้ทราบข้อมูลนี้

    อัยการยังได้ถามว่า พยานทราบว่าเคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกา ในคดีมาตรา 112 ที่เห็นว่าตีความถึงพระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว คือรัชกาลที่ 4 หรือไม่ พยานรับว่าเคยมีการคุยกันในคณะพนักงานสอบสวน แต่พยานไม่เคยเห็นตัวคำพิพากษา อัยการจึงให้พยานดูและยื่นส่งต่อศาล

    .

    การสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 18.42 น.

    ฝ่ายจำเลยแถลงไม่ประสงค์จะนำพยานเข้าเบิกความ แต่แถลงขอส่งคำแถลงปิดคดีภายใน 30 วัน ซึ่งศาลอนุญาต และกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 ก.ค. 2565 เวลา 09.00 น. เหตุที่นัดนานเนื่องจากต้องส่งร่างให้กับอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ดูก่อน

    (อ้างอิง: คำเบิกความพยานโจทก์ ศาลจังหวัดนราธิวาส คดีหมายเลขดำที่ อ.830/2564 ลงวันที่ 28 เม.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/46486)
  • ศาลอ่านคำพิพากษาเห็นว่าจำเลยมีความผิดใน 2 กรรม ลงโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี รวมโทษจำคุก 6 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือโทษจำคุก 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา

    คำพิพากษาโดยสรุประบุว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร มีเจตนาเพื่อคุ้มครองบุคคลใน 4 ตำแหน่ง เป็นพิเศษกว่าบุคคลทั่วไป โดยต้องเป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน ไม่รวมถึงพระมหากษัตริย์ในอดีต ทำให้ข้อความตามฟ้องใน 4 ข้อความของจำเลย ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

    ขณะที่อีก 1 ข้อความ โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าหมายถึงบุคคลใด ส่วนอีก 2 ข้อความ ตีความได้ว่ามีการสื่อถึงรัชกาลที่ 10 พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ศาลจึงเห็นว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    หลังศาลอ่านคำพิพากษา อุดมได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปไว้ในห้องขังของศาล ขณะทนายความได้ยื่นขอประกันตัวจำเลยในชั้นอุทธรณ์

    ต่อมาเวลา 11.50 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลย ตีราคาประกัน 45,000 บาท โดยใช้หลักทรัพย์ประกันเดิมจำนวน 30,000 บาท ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ของญาติจำเลย และให้วางหลักประกันเพิ่มเติมเป็นจำนวน 15,000 บาท ซึ่งเป็นหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์ และกำหนดให้ไปรายงานตัวกับผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ที่จำเลยอยู่ ทุกวันที่ 1 ของเดือน จนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือครบกำหนดอุทธรณ์
    .
    อุดมต้องเดินทางโดยรถไฟจากจังหวัดปราจีนบุรีไปยังนราธิวาสเพื่อต่อสู้คดี โดยตั้งแต่การรับทราบข้อกล่าวหาจนกระทั่งมีคำพิพากษาในศาลชั้นต้น เขาต้องเดินทางมาที่นราธิวาสรวมทั้งหมด 5 ครั้ง

    อุดมเคยสะท้อนความคิดเห็นในคดีของเขาก่อนฟังคำพิพากษาว่า “เรามาแต่ละครั้งแบบไม่รู้จุดหมาย มาแบบเตรียมใจว่าไม่ได้กลับ คิดแค่ว่ามาก่อน ไม่นึกถึงเรื่องกลับ แต่พอมีทนายที่จะมาช่วยเหลือในด้านคดี ก็พอมีความหวังขึ้น จากตอนแรกที่มืด มองไปทางไหน ก็ไม่รู้ว่าเป็นไง ยอมรับว่ามาสองรอบแรกนี่ ผมไม่คิดถึงเรื่องกลับเลย”

    “มาตรา 112 คิดว่ามันหนักเกินไป เมื่อผมลองเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ อะไรพวกนี้ เรื่องสถาบันฯ มันก็เสียค่าปรับ เหมือนกับคนธรรมดา แต่บ้านเรามันหนักเกินไป มันไปโยงเป็นคดีความมั่นคง เหมือนกับเราเป็นกบฏ มันเลยรุนแรง มันไม่ใช่การไปถืออาวุธ ก่อความรุนแรง หรือไปเอาชีวิตใคร มันไม่ควรเหมือนกัน”

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดนราธิวาส คดีหมายเลขดำที่ อ.830/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.824/2565 ลงวันที่ 26 ก.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/46522)
  • เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 หลังโจทก์และจำเลยยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยอุดมเดินทางพร้อมแฟนมาจากจังหวัดปราจีนบุรีเพื่อมาฟังคำพิพากษา

    ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ว่าจำเลยมีความผิดใน 2 กรรม ที่ข้อความตีความได้ว่ากล่าวถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 รัชกาลปัจจุบัน เป็นความผิดตามมาตรา 112 พร้อมเห็นพ้องกับการกำหนดโทษจำคุกของศาลชั้นต้น โดยไม่ให้รอลงอาญา

    หลังฟังคำพิพากษา ทนายความได้ยื่นขอประกันอุดมระหว่างฏีกา ต่อมาในช่วงบ่าย ศาลจังหวัดนราธิวาสได้มีคำสั่งให้ส่งคำร้องไปให้ศาลฎีกาวินิจฉัย และศาลฎีกาไม่ได้มีคำสั่งในวันนี้ ต้องใช้ระยะเวลาอีก 1-3 วัน ทำให้อุดมต้องถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส เพื่อรอผลประกันตัวต่อไป

    ก่อนฟังคำพิพากษา อุดมบอกเล่าว่าก่อนหน้านี้เขาได้รับหมายเรียกให้มาฟังคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ในวันที่ 17 ก.ค. 2566 แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งเลื่อนออกไปก่อน โชคดีว่าเขายังไม่ได้เริ่มเดินทางมา ก่อนจะมีหมายแจ้งวันนัดใหม่ไปถึงเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว โดยนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้ ทำให้เขาไม่มีเวลาเตรียมตัวเท่าไร

    ในครั้งนี้เขากับแฟนก็ยังคงต้องขอลางานมา และเดินทางโดยรถไฟจากจังหวัดปราจีนบุรีมายังนราธิวาสเช่นเดิม โดยนับเป็นครั้งที่ 7 ในการเดินทางมาต่อสู้คดีแล้ว

    อุดมบอกความรู้สึกก่อนการฟังคำพิพากษาครั้งนี้ว่า พยายามทำใจให้ว่างและสงบ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ทุกอย่างอยู่ที่ศาล แต่ก็คาดหวังว่าจะได้เดินทางกลับบ้าน เพราะเห็นข่าวสารคดีมาตรา 112 ในหลายคดี ก็มีการให้รอลงอาญา หรือหากพิพากษายืน ก็ยังควรได้รับการประกันตัวไปถึงชั้นฎีกา

    อุดมบอกว่าช่วงที่ผ่านมา เขาต้องไปรายงานตัวกับผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ๆ อยู่ทุกเดือน แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นภาระมากนัก เนื่องจากบ้านผู้ใหญ่บ้านอยู่ไม่ไกลจากที่พักของเขา และสามารถยืดหยุ่นวันที่ไปรายงานตัวได้

    อุดมเห็นว่า คดีที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้สิ่งที่เคยคาดหวังเกี่ยวกับอนาคตครอบครัวยังไม่สามารถดำเนินการได้ โดยเขาและแฟนเคยอยากเก็บเงิน และออกจากงานลูกจ้างที่อยู่ มาทำธุรกิจเล็กๆ ส่วนตัว มีสถานะเป็นนายจ้างของตนเอง แต่ภาระคดีที่เกิดขึ้น ก็ยังไม่สามารถดำเนินการเช่นนั้นได้โดยง่าย

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 9 คดีหมายเลขดำที่ อ.830/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.824/2565 ลงวันที่ 11 ส.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/58966)
  • ศาลจังหวัดนราธิวาสเบิกตัวอุดมมาฟังคำสั่งของศาลฎีกา โดยศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันในระหว่างฎีกา ระบุในคำสั่งว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 4 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างฎีกา ให้ยกคำร้อง”

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลฎีกา คดีหมายเลขดำที่ อ.830/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.824/2565 ลงวันที่ 30 ส.ค. 2566)
  • นายประกันยื่นประกันอุดมระหว่างฎีกาเป็นครั้งที่ 2 ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำสั่งให้ส่งศาลฎีกาพิจารณาเช่นเดิม

    ต่อมา ศาลฎีกามีคำสั่งในวันเดียวกันไม่อนุญาตให้ประกัน ระบุว่า "พิเคราะห์เหตุผลการคำร้องของจำเลยแล้ว กรณียังไม่มีเหตุอันสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม และเหตุผลตามคำร้องที่อ้างอาการเจ็บป่วย จำเลยมีสิทธิได้รับการรักษาตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์อยู่แล้ว จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง"

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลฎีกา คดีหมายเลขดำที่ อ.830/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.824/2565 ลงวันที่ 6 ก.ย. 2566)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อุดม (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อุดม (สงวนนามสกุล)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. สมชัย เมธากวินโสภณ
  2. สุชาดา บัวงาม
  3. สุรพร ชลสาคร

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 26-07-2022

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อุดม (สงวนนามสกุล)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. วราภรณ์ สุระพัฒน์พิชัย
  2. นภาพร ถาวรศิริ
  3. สุชาติ อินประสิทธิ์

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 30-08-2023

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์