สรุปความสำคัญ

วารี (นามสมมติ) พนักงานขายอิสระ ชาวสมุทรปราการ วัย 23 ปี ถูกดำเนินคดีข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) โดยถูกกล่าวหาว่านำภาพข้อความจากทวิตเตอร์เกี่ยวกับการเลือกปกป้องกษัตริย์ของตำรวจและนำมาโพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมทั้งโพสต์ภาพการ์ตูนล้อเลียนและข้อความในช่องคอมเมนต์ คดีมี นายพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ทำให้วารีต้องเดินทางไกลจากสมุทรปราการหลายต่อหลายครั้งเพื่อไปต่อสู้คดีถึงนราธิวาส

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น โดยเฉพาะกลั่นแกล้งให้ถูกดำเนินคดีในพื้นที่ห่างไกล

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • วารี (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

14 ต.ค. 2564 เวลา 09.00 น. ที่ สภ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส วารี (นามสมมติ) เดินทางจากจังหวัดสมุทรปราการไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยปรากฏชื่อ พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้

ว่าที่ พ.ต.ต.นที จันทร์แสงศรี สารวัตร (สอบสวน) สภ.สุไหงโก-ลก แจ้งพฤติการณ์และข้อกล่าวหาแก่วารี โดยมีทนายความเข้าร่วม ระบุว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 เวลาประมาณ 21.30 น. พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ได้เปิดเฟซบุ๊กพบผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้นําข้อมูลจากบัญชีทวิตเตอร์ที่เขียนข้อความเกี่ยวกับการเลือกปกป้องกษัตริย์ของตำรวจ โดยนำรูปภาพการ์ตูนแต่งกายชุดสีขาวนั่งบนเก้าอี้กําลังมอบสายคล้องคอที่มีเหรียญ โดยมีการ์ตูนที่มีหัวเป็นสุนัขและรูปร่างเป็นมนุษย์ก้มหมอบลงกราบ และมีตัวการ์ตูนที่มีลักษณะคล้ายๆ กันยืนตบมือข้างๆ

ขณะที่ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวได้เขียนข้อความประกอบภาพที่นำมาแชร์ว่า “มารับปลอกคอเร้ววว” และผู้กล่าวหาอ้างว่ามีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กอีกรายหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นต่อท้ายโพสต์นั้นว่า “รับใช้แทบตายยศถึงก็ไม่เท่าฟูฟู 555”

เมื่ออ่านข้อความข้างต้นและข้อความที่ต่อท้ายรวมกันแล้ว ทําให้เข้าใจความหมายว่า ตํารวจ ทหาร หรือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทํางานตามคําสั่งของในหลวงรัชกาลที่ 10 เปรียบได้กับสุนัข ทั้งยังนําข้าราชการเหล่านั้นไปเปรียบเทียบกับสุนัขทรงเลี้ยงของพระมหากษัตริย์ อันเป็นการดูหมิ่น และหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์

พสิษฐ์อ้างว่าได้ตรวจสอบแล้วพบว่า บัญชีเฟซบุ๊กที่โพสต์ข้อความดังกล่าวมีวารีเป็นเจ้าของ จึงได้มาแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สภ.สุไหงโก-ลก ให้ดําเนินคดี

พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหากับวารีใน 2 ข้อหา ได้แก่ “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

วารีให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และแจ้งว่าจะให้การในชั้นศาลเท่านั้น

เวลา 13.00 น. พนักงานสอบสวนได้ยื่นขอฝากขังวารีผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ต่อศาลจังหวัดนราธิวาส โดยอ้างเหตุผลว่า เป็นคดีที่อัตราโทษสูงและเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี แม้ผู้ต้องหาจะเดินทางมาพบตามหมายเรียกก็ตาม ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอประกันตัววารี ด้วยวงเงินประกันจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

16.00 น. ศาลจังหวัดนราธิวาสได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวตามคำร้อง โดยให้วางหลักประกันเป็นเงินสด 150,000 บาท

หลังได้รับการประกันตัว วารีเปิดเผยว่า การเดินทางจากสมุทรปราการไปรับทราบข้อกล่าวหาไกลถึง สภ.สุไหงโก-ลก ในครั้งนี้ ตนและแฟนหนุ่มต้องเสียค่าเดินทางและค่าที่พักรวมทั้งสิ้น ประมาณ 20,000 บาท อีกทั้งพวกเธอทั้งสองคนต้องหยุดพักงานถึง 3 วัน ทำให้ในเดือนนี้จะไม่สามารถลาพักงานได้อีกแล้ว

วารียังเล่าอีกว่าในวันที่รับทราบข้อกล่าวหาที่สภ.สุไหงโก-ลก เธอได้พบกับหญิงสาวรายหนึ่ง ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 โดยมีพสิษฐ์ เป็นผู้กล่าวหาเช่นเดียวกับเธอ และจะเข้ารับทราบข้อหาในวันถัดไป ทั้งสองได้พูดคุยถึงรายละเอียดในคดีและกล่าวให้กำลังใจกันและกัน

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังระบุว่า พสิษฐ์แจ้งความร้องทุกข์ในข้อหาตามมาตรา 112 กับประชาชนอีกอย่างน้อย 20 ราย ที่สถานีตำรวจแห่งนี้ ในจำนวนนี้รวมถึงคดีของ “ชัยชนะ” ผู้ป่วยจิตเวชในจังหวัดลำพูน ที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาไกลถึงจังหวัดนราธิวาส

(อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สภ.สุไหงโก-ลก ลงวันที่ 14 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/36639)

ผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ

  • วารี (นามสมมติ)
    สูญเสียเงินค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางไปต่อสู้คดี ได้รับผลกระทบต่อภาวะจิตใจจนกลายเป็นปัญหาต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงาน เช่น วิตกกังวลจนมีอาการนอนไม่หลับ ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์