สรุปความสำคัญ

สิทธิโชค เศรษฐเศวต พนักงานส่งอาหารบริษัทฟู้ดแพนด้า ถูกจับกุมที่บ้านพักย่านรังสิต ตามหมายจับของศาลอาญาในฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น และทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 217 และ 358 พร้อมกับข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการถูกกล่าวหาว่า นำน้ำมันไปฉีดพ่นใส่กองเพลิงที่ลุกไหม้รูปรัชกาลที่ 10 หลังเข้าร่วม #ม็อบ18กรกฎา เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และพยายามนำน้ำไปดับไฟที่ลุกไหม้รูปรัชกาลที่ 10 ระหว่างการชุมนุม

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้าง ครอบคลุมการกระทำหลายอย่างที่แม้ไม่ใช่การกระทำต่อตัวบุคคลที่กฎหมายคุ้มครองโดยตรง ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัดเนื่องจากมีบทลงโทษที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • สิทธิโชค เศรษฐเศวต
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

19 ก.ค. 2564 เวลา 19.15 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบราว 10 นาย เข้าจับกุม สิทธิโชค เศรษฐเศวต ที่บ้านพักย่านรังสิต ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1189/2564 ลงวันที่วันเดียวกันนี้ ในฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น และทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 217 และ 358 พร้อมกับข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการถูกกล่าวหาว่า นำน้ำมันไปฉีดพ่นใส่กองเพลิงที่ลุกไหม้รูปรัชกาลที่ 10 ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนที่จะควบคุมตัวมาที่ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ จังหวัดปทุมธานี เพื่อจัดทำบันทึกจับกุม

บันทึกการจับกุมบรรยายว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้สืบพบว่า สิทธิโชคพักที่บ้านพักย่านรังสิต จึงได้เฝ้าสืบสวนติดตาม จนเวลาประมาณ 21.15 น. พบนายสิทธิโชคขับรถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน และมีกระเป๋าฟู้ดแพนด้าสีชมพูติดอยู่ด้านเบาะหลังเข้ามาในบ้านพัก เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเข้าแสดงหมายจับ

บันทึกจับกุมยังระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้ยึดเสื้อคลุมสีดำมีตราโลโก้ไลน์แมน (Line Man) พร้อมกับรองเท้าแตะสีขาวที่สิทธิโชคสวมใส่ไปอีกด้วย ชั้นจับกุมสิทธิโชคให้การปฏิเสธ และไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม

จากนั้นชุดจับกุมจได้ควบคุมตัวสิทธิโชคมาคุมขังที่ สน.ห้วยขวาง เพื่อรอสอบปากคำในเช้าวันรุ่งขึ้น เนื่องจาก สน.นางเลิ้ง ท้องที่เกิดเหตุซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนคดี ไม่มีที่คุมขัง อีกทั้งการจับกุมเกิดขึ้นในช่วงเคอร์ฟิว ทำให้ทนายความไม่สามารถเดินทางไปเข้าร่วมการสอบสวนในช่วงกลางคืนได้

เวลา 05.00 น. วันที่ 20 ก.ค. 2564 หลังพ้นเคอร์ฟิว มีประชาชนจำนวนหนึ่งไปที่ สน.นางเลิ้ง เพื่อเข้าเยี่ยมและนำข้าวกล่องไปให้สิทธิโชติ แต่ไม่พบตัว เนื่องจากสิทธิโชคยังถูกคุมตัวอยู่ที่ สน.ห้วยขวาง

ต่อมา เวลา 07.00 น. ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ติดตามไปพบสิทธิโชคที่ สน.ห้วยขวาง ก่อนที่เวลา 09.00 น. พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้เดินทางมาควบคุมตัวสิทธิโชติไป สน.นางเลิ้ง เพื่อสอบปากคำต่อไป

เวลา 10.00 น. โดยประมาณ พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง เริ่มสอบปากคำสิทธิโชค โดยมี พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) เดินทางมาร่วมสอบปากคำด้วย

หลังการสอบปากคำ ซึ่งสิทธิโชคให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ขอยึดโทรศัพท์มือถือของสิทธิโชคไว้เป็นของกลาง แม้ไม่ได้แสดงคำสั่งศาลในการขอเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 18 และ 19 ทั้งยังไม่ใช่เจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจแสดงหมายขอเข้าถึงข้อมูลอิเล็คทรอนิกส์ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

สำหรับพฤติการณ์คดี คำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง บรรยายโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 เวลาประมาณ 14.00 น. มีกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตนเองว่า “เยาวชนปลดแอก” มาชุมนุมที่บริเวณหัวถนนราชดำเนินนอก แยกผ่านฟ้าลีลาศ และได้ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน และเผาหุ่น ต่อมา เวลา 16.40 น. มีชายรูปร่างท้วมใช้ขวดพลาสติกทึบบรรจุของเหลวลักษณะคล้ายน้ำมันเชื้อเพลิงพ่นใส่ที่กองเพลิงซึ่งลุกไหม้อยู่ที่บริเวณผ้าประดับพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินี บริเวณเกาะกลางถนน ถนนราชดําเนินนอก จนทําให้กองเพลิงดังกล่าวลุกไหม้เพิ่มขึ้น

พนักงานสอบสวนระบุว่า จากพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่าชายคนดังกล่าวมีเจตนาที่จะเผาพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินี ถ้าหากเจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชนไม่ได้ฉีดน้ำดับเพลิง เพลิงอาจลุกไหม้พระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าวได้

พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาสิทธิโชครวม 4 ข้อหา ได้แก่ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ, วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น. ทำให้เสียทรัพย์ และฝ่าฝืนข้อกำหนด ฉบับที่ 27 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 6 ซึ่งออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

สิทธิโชคให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เมื่อกระบวนการสอบสวนเสร็จสิ้น พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังสิทธิโชคในชั้นสอบสวน ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ พร้อมกับคัดค้านการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตฝากขังสิทธิโชค แต่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว ใช้หลักทรัพย์จำนวน 100,000 บาท เป็นหลักประกัน

ด้านแฟนสาวของสิทธิโชคได้เปิดเผยกับสำนักข่าวราษฎรว่า ในวันดังกล่าว สิทธิโชคและตนเดินทางไปส่งอาหารในที่ชุมนุมเท่านั้น เมื่อขับรถผ่านสถานที่ชุมนุม พบเห็นไฟที่กำลังลุกติดผ้า จึงนำน้ำไปดับไฟ

การจับกุมครั้งนี้นับเป็นการจับกุมคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นหลังเวลาเคอร์ฟิว หลังรัฐบาลประกาศข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 10 ก.ค. 2564 กำหนดเวลาออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ไม่ให้ประชาชนออกนอกบ้านหลังเวลา 21.00 - 04.00 น. ในจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2564 ในขณะที่ทนายความไม่สามารถที่จะเดินทางไปให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ถูกจับกุมในช่วงเวลาดังกล่าวได้ ซึ่งอาจทำให้ผู้ถูกจับกุมไม่ได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ตามสิทธิของผู้ถูกจับ

(อ้างอิง: บันทึกจับกุม สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ลงวันที่ 19 ก.ค. 2564, คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญา ลงวันที่ 20 ก.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/32431)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์