ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • ทำให้เสียทรัพย์ (มาตรา 358)
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
ดำ อ.2528/2564
แดง อ.55/2566

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.จงศักดิ์ ชาญศรี รอง ผกก.สืบสวน สน.นางเลิ้ง (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • การชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ทำให้เสียทรัพย์ (มาตรา 358)
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)

หมายเลขคดี

ดำ อ.2528/2564
แดง อ.55/2566
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.จงศักดิ์ ชาญศรี รอง ผกก.สืบสวน สน.นางเลิ้ง

ความสำคัญของคดี

สิทธิโชค เศรษฐเศวต พนักงานส่งอาหารบริษัทฟู้ดแพนด้าวัย 25 ปี ถูกจับกุมที่บ้านพักย่านรังสิต ตามหมายจับของศาลอาญาในฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น และทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 217 และ 358 พร้อมกับข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการถูกกล่าวหาว่า นำน้ำมันไปฉีดพ่นใส่กองเพลิงที่ลุกไหม้รูปรัชกาลที่ 10 หลังเข้าร่วม #ม็อบ18กรกฎา เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และพยายามนำน้ำไปดับไฟที่ลุกไหม้รูปรัชกาลที่ 10 ระหว่างการชุมนุม

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้าง ครอบคลุมการกระทำหลายอย่างที่แม้ไม่ใช่การกระทำต่อตัวบุคคลที่กฎหมายคุ้มครองโดยตรง ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัดเนื่องจากมีบทลงโทษที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ภูวิศิษฏ์ ปิลกะพันธ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 บรรยายคำฟ้องว่า

1. เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 ได้มีการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มบุคคลหลายร้อยคนที่ใช้ชื่อว่า “เยาวชนปลดแอก” จําเลยได้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มบุคคลดังกล่าว ซึ่งเป็นการชุมนุม ณ สถานที่ใดๆ ที่แออัด และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกําหนด และประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด อันเป็นการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจํานวนรวมกันมากกว่า 5 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่

2. ขณะที่จําเลยกระทําความผิดตามฟ้องข้อ 1 จําเลยได้วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นโดยการจุดไฟเผาหุ่นฟางที่ห่อหุ้มด้วยผ้าสีขาว มีลักษณะคล้ายผ้าห่อศพ และใช้ขวดพลาสติกซึ่งภายในบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงบีบพ่นใส่ผ้าประดับฐานซุ้มเฉลิมพระเกียรติพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินี ซึ่งประดิษฐานที่เกาะกลางถนน ถนนราชดําเนินนอก ซึ่งเป็นทรัพย์สินของสํานักการโยธา กรุงเทพมหานคร จนไฟได้ลุกลามไหม้ผ้าและกําลังจะลุกลามไปยังพระบรมฉายาลักษณ์ตามความประสงค์ของจําเลย แต่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่พบเห็นเหตุการณ์ได้ฉีดน้ำดับเพลิงดังกล่าวได้ทัน เพลิงจึงไม่ลุกลามไปถึงพระบรมฉายาลักษณ์ แต่เป็นเหตุให้ผ้าดังกล่าวได้รับความเสียหายเป็นรอยไหม้ มูลค่าความเสียหาย 25,000 บาท

พระบรมฉายาลักษณ์ที่ประดิษฐานอยู่นั้น สํานักการโยธา กรุงเทพมหานคร อันเป็นหน่วยงานราชการได้จัดทําขึ้นไว้เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี เป็นการเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระบรมราชินี โดยขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” และมาตรา 50 ว่าด้วยหน้าที่ของปวงชนชาวไทย บุคคลมีหน้าที่ (1) พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ดังนั้น การกระทําของจําเลยข้างต้น จึงเป็นการกระทําอันไม่สมควรล่วงละเมิด เป็นการแสดงออกมาด้วยประการใดต่อพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 และพระบรมราชินี ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของพระองค์ ทําให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท และเสื่อมเสียพระเกียรติ อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และพระราชินี

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2528/2564 ลงวันที่ 11 ต.ค. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลา 19.15 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบราว 10 นาย เข้าจับกุม สิทธิโชค เศรษฐเศวต ที่บ้านพักย่านรังสิต ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1189/2564 ลงวันที่วันเดียวกันนี้ ในฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น และทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 217 และ 358 พร้อมกับข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการถูกกล่าวหาว่า นำน้ำมันไปฉีดพ่นใส่กองเพลิงที่ลุกไหม้รูปรัชกาลที่ 10 ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนที่จะควบคุมตัวมาที่ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ จังหวัดปทุมธานี เพื่อจัดทำบันทึกจับกุม

    บันทึกการจับกุมบรรยายว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมครั้งนี้ ได้แก่ พ.ต.อ.ศราวุธ วินัยประเสริฐ ผกก.3 บก.ส.1, พ.ต.ท.ณพอนนต์ ส่องแสงจันทร์ รอง ผกก.1 บก.ส.1, พ.ต.ท.คชา ศรชัย รอง ผกก.3 บก.ส.1, ร.ต.อ.ชัชถทธิ์ ลาภักดิ์ รอง สว.กก.2 บก.ส.1, ร.ต.อ.ประพันธ์ ทองจันทร์ รองสารวัตร กก.1 บก.ส.1, ร.ต.อ.จรูญ ครึ่งค้างพลู รองสารวัตร กก.1 บก.ส.1 และ ด.ต.ชัยวัฒน์ ศรีจันทร์โฉม ผบ.หมู่ กก.1 บก.ส.1

    โดยเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้สืบพบว่า สิทธิโชคพักที่บ้านพักย่านรังสิต จึงได้เฝ้าสืบสวนติดตาม จนเวลาประมาณ 21.15 น. พบนายสิทธิโชคขับรถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน และมีกระเป๋าฟู้ดแพนด้าสีชมพูติดอยู่ด้านเบาะหลังเข้ามาในบ้านพัก เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเข้าแสดงหมายจับ

    บันทึกจับกุมยังระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้ยึดเสื้อคลุมสีดำมีตราโลโก้ไลน์แมน (Line Man) พร้อมกับรองเท้าแตะสีขาวที่สิทธิโชคสวมใส่ไปอีกด้วย

    ในชั้นจับกุมนี้ สิทธิโชคให้การปฏิเสธ และไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุมข้างต้น

    เมื่อจัดทำบันทึกจับกุมเสร็จสิ้น ชุดจับกุมจึงควบคุมตัวสิทธิโชคมาคุมขังที่ สน.ห้วยขวาง เพื่อรอสอบปากคำในเช้าวันรุ่งขึ้น เนื่องจาก สน.นางเลิ้ง ท้องที่เกิดเหตุซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนคดี ไม่มีที่คุมขัง อีกทั้งการจับกุมเกิดขึ้นในช่วงเคอร์ฟิว ทำให้ทนายความไม่สามารถเดินทางไปเข้าร่วมการสอบสวนในช่วงกลางคืนได้

    (อ้างอิง: บันทึกจับกุม สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ลงวันที่ 19 ก.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/32431)
  • เวลา 05.00 น. หลังพ้นเคอร์ฟิว มีประชาชนจำนวนหนึ่งไปที่ สน.นางเลิ้ง เพื่อเข้าเยี่ยมและนำข้าวกล่องไปให้สิทธิโชติ แต่ไม่พบตัว เนื่องจากสิทธิโชคยังถูกคุมตัวอยู่ที่ สน.ห้วยขวาง

    ต่อมา เวลา 07.00 น. ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ติดตามไปพบสิทธิโชคที่ สน.ห้วยขวาง ก่อนที่เวลา 09.00 น. พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้เดินทางมาควบคุมตัวสิทธิโชติไป สน.นางเลิ้ง เพื่อสอบปากคำต่อไป

    เวลา 10.00 น. โดยประมาณ พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง เริ่มสอบปากคำสิทธิโชค โดยมี พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) เดินทางมาร่วมสอบปากคำด้วย

    หลังการสอบปากคำ ซึ่งสิทธิโชคให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ขอยึดโทรศัพท์มือถือของสิทธิโชคไว้เป็นของกลาง แม้ไม่ได้แสดงคำสั่งศาลในการขอเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 18 และ 19 ทั้งยังไม่ใช่เจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจแสดงหมายขอเข้าถึงข้อมูลอิเล็คทรอนิกส์ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

    สำหรับพฤติการณ์คดี คำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง บรรยายโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 เวลาประมาณ 14.00 น. มีกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตนเองว่า “เยาวชนปลดแอก” มาชุมนุมที่บริเวณหัวถนนราชดำเนินนอก แยกผ่านฟ้าลีลาศ และได้ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน และเผาหุ่นที่มีลักษณะคล้ายศพ

    ต่อมา เวลา 16.40 น. มีชายรูปร่างท้วม สวมเสื้อคลุมสีดํา สวมกางเกงขาสั้นสีดํา สวมหน้ากากอนามัยสีแดงปิดปากและจมูก โดยมีหน้ากากอนามัยสีฟ้าปิดอยู่ที่บริเวณหน้าผาก กําลังใช้ขวดพลาสติกทึบบรรจุของเหลวลักษณะคล้ายน้ำมันเชื้อเพลิงพ่นใส่ที่กองเพลิงซึ่งลุกไหม้อยู่ที่บริเวณผ้าประดับพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินี บริเวณเกาะกลางถนน ถนนราชดําเนินนอก จนทําให้กองเพลิงดังกล่าวลุกไหม้เพิ่มขึ้น แต่เจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชน สามารถฉีดน้ำควบคุมเพลิงไว้ได้ เพลิงจึงไม่ลุกลามไหม้ไปถึงพระบรมฉายาลักษณ์แต่อย่างใด

    ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบทางสังคมออนไลน์ พบภาพและคลิปวิดิโอจากเหตุการณ์ดังกล่าวโพสต์เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 ในบัญชึเฟซบุ๊กชื่อ “Kanok Ratwongsakul” โดยพบอีกว่า ชายลักษณะท้วม สวมเสื้อคลุมสีดำพร้อมลายปักสีขาวเป็นสัญลักษณ์ตัว “H” และข้อความว่า “LINEMAN” ได้ขี่รถจักรยานยนต์ไม่ทราบทะเบียน หลบหนีไปหลังใช้ขวดพลาสติกบีบของเหลวคล้ายน้ำมันเชื้อเพลิงใส่กองเพลิง โดยบริเวณด้านท้ายรถจักรยานยนต์คันดังกล่าว มีกล่องใส่อาหารสีชมพูของฟู้ดแพนด้า (foodpanda)

    พนักงานสอบสวนระบุว่า จากพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่าชายคนดังกล่าวมีเจตนาที่จะเผาพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินี ถ้าหากเจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชนไม่ได้ฉีดน้ำดับเพลิง เพลิงอาจลุกไหม้พระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าวได้

    พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาสิทธิโชครวม 4 ข้อหา ได้แก่ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ, วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น. ทำให้เสียทรัพย์ และฝ่าฝืนข้อกำหนด ฉบับที่ 27 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 6 ซึ่งออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

    สิทธิโชคให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เมื่อกระบวนการสอบสวนเสร็จสิ้น พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังสิทธิโชคในชั้นสอบสวน ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยระบุถึงเหตุผลของการฝากขังว่า เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบปากคำพยานอีก 10 ปาก รอผลตรวจลายพิมพ์นิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา

    พร้อมกันนี้ พนักงานสอบสวนได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน อ้างเหตุว่า คดีนี้มีอัตราโทษสูง อาจหลบหนีและยากแก่การติดตามตัวมาดำเนินคดี อีกทั้งผู้ต้องหามีพฤติกรรมต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ และกลุ่มผู้ต้องหาที่มาชุมนุมได้ใช้สีสเปรย์พ่นสี, ข้อความอันมิบังควร และสัญลักษณ์ที่ไม่สามารถจะรับได้ ที่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชินี ทั้งยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมตะโกนว่า “กษัตริย์ออกไป”

    พนักงานสอบสวนระบุอีกว่า พฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงของรัฐ และยังพบว่าผู้ต้องหาได้ไปร่วมชุมนุมหลายครั้ง และมีพฤติกรรมอันมิบังควรหลายครั้ง ถ้าหากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัว เกรงว่าผู้ต้องหาจะไปกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้ซ้ำอีก

    ด้านทนายความได้วางหลักทรัพย์จำนวน 150,000 บาท เป็นหลักประกัน พร้อมยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปว่า พฤติการณ์ที่กล่าวหานั้นเป็นข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวนฝ่ายเดียว ยังไม่ผ่านการพิสูจน์โดยศาล และผู้ต้องหาพร้อมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลต่อไป ทั้งนี้ ผู้ต้องหายังมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน เมื่อถูกจับกุมยังให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ไม่มีอิทธิพลที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ทั้งผู้ต้องหายังคงเป็นผู้ถูกกล่าวหา ยังไม่ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิด จึงต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) และรัฐธรรมนูญของไทย

    เวลา 17.00 น. มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์ มีคำสั่งอนุญาตฝากขังสิทธิโชค แต่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 100,000 บาท เป็นหลักประกัน โดยระบุเหตุผลว่า ไต่สวนแล้ว พนักงานสอบสวนไม่มีข้อเท็จจริงว่า ผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุร้าย หรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานอย่างไร ทำให้สิทธิโชคได้รับการปล่อยตัวที่ สน.นางเลิ้ง ในช่วงเย็น

    ด้านแฟนสาวของสิทธิโชคได้เปิดเผยกับสำนักข่าวราษฎรว่า ในวันดังกล่าว สิทธิโชคและตนเดินทางไปส่งอาหารในที่ชุมนุมเท่านั้น เมื่อขับรถผ่านสถานที่ชุมนุม พบเห็นไฟที่กำลังลุกติดผ้า จึงนำน้ำไปดับไฟ

    ทั้งนี้ เมื่อค่ำของวันที่ 18 ก.ค. 2564 ยังมีกระแสจากโลกอินเทอร์เน็ต ให้แบนแอปพลิเคชั่นฟู้ดแพนด้า หลังทวิตเตอร์ของบริษัทได้ตอบกลับทวิตที่เผยแพร่รูปภาพของชายบุคคลหนึ่ง ซึ่งสวมเสื้อไลน์แมน และมีกระเป๋าฟู้ดแพนด้าอยู่ด้านหลังจักรยานยนต์ จอดรถจักรยานยนต์อยู่ที่บริเวณที่ชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา ด้วยข้อความว่า “ทางบริษัทจะเร่งดำเนินการตามกฎระเบียบขั้นเด็ดขาดของบริษัท โดยให้พ้นสภาพการเป็นพนักงานทันที ขอเรียนให้ทราบว่าทางฟู้ดแพนด้ามีนโยบายต่อต้านความรุนแรงและการก่อการร้ายทุกรูปแบบ และยินดีช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการดำเนินคดีต่อคนร้ายอย่างเต็มที่”

    ข้อความดังกล่าวสร้างความไม่พอใจกับประชาชนเป็นจำนวนมาก ทำให้มีผู้ใช้บัญชีฟู้ดแพนด้าทยอยยกเลิกบัญชีผู้ใช้ รวมไปถึงร้านค้าพันธมิตรที่ยกเลิกการใช้งานแอปพลิเคชั่นนี้เช่นกัน ก่อนที่ทางบริษัทจะออกแถลงการณ์ขอโทษ และยืนยันสนับสนุนการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

    การจับกุมครั้งนี้นับเป็นการจับกุมคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นหลังเวลาเคอร์ฟิว หลังรัฐบาลประกาศข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 10 ก.ค. 2564 กำหนดเวลาออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ไม่ให้ประชาชนออกนอกบ้านหลังเวลา 21.00 - 04.00 น. ในจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2564 ในขณะที่ทนายความไม่สามารถที่จะเดินทางไปให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ถูกจับกุมในช่วงเวลาดังกล่าวได้ ซึ่งอาจทำให้ผู้ถูกจับกุมไม่ได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ตามสิทธิของผู้ถูกจับ

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญา ลงวันที่ 20 ก.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/32431)
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ยื่นฟ้องสิทธิโชคต่อศาลอาญา ในฐานความผิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ, วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น. ทำให้เสียทรัพย์ และฝ่าฝืนข้อกำหนด ฉบับที่ 27 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 6 ซึ่งออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยบรรยายฟ้องว่า

    1. เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 จําเลยได้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค อันเป็นการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจํานวนรวมกันมากกว่า 5 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่

    2. ขณะร่วมชุมนุมดังกล่าว จําเลยได้วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นโดยการจุดไฟเผาหุ่นฟาง และใช้ขวดพลาสติกบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงบีบพ่นใส่ผ้าประดับฐานซุ้มเฉลิมพระเกียรติพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินี บริเวณเกาะกลางถนน ถนนราชดําเนินนอก ซึ่งเป็นทรัพย์สินของสํานักการโยธา กรุงเทพมหานคร จนไฟได้ลุกลามไหม้ผ้าและกําลังจะลุกลามไปยังพระบรมฉายาลักษณ์ แต่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนฉีดน้ำดับเพลิงดังกล่าวได้ทัน เป็นเหตุให้ผ้าดังกล่าวเป็นรอยไหม้ มูลค่าความเสียหาย 25,000 บาท

    การกระทําของจําเลยข้างต้น เป็นการกระทําอันไม่สมควรล่วงละเมิด เป็นการแสดงออกมาด้วยประการใดต่อพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 และพระบรมราชินี ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของพระองค์ ทําให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท และเสื่อมเสียพระเกียรติ อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และพระราชินี

    ท้ายฟ้องอัยการไม่คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณา

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2528/2564 ลงวันที่ 11 ต.ค. 2564)
  • สิทธิโชคเข้ารายงานตัวต่อศาลตามสัญญาประกัน โดยเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวไว้ เนื่องจากอัยการยื่นฟ้องคดีแล้ว หลังศาลถามคำให้การเบื้องต้น ซึ่งสิทธิโชคให้การปฏิเสธ ทนายความได้ยื่นประกันโดยใช้หลักประกันเดิมในชั้นฝากขัง

    ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันระหว่างพิจารณาคดี นัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานวันที่ 22 พ.ย. 2564 เวลา 09.00 น.
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากติดนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีอื่นที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอนุญาตให้เลื่อนนัดออกไปเป็นวันที่ 29 พ.ย. 2564 เวลา 13.30 น.
  • สิทธิโชคพร้อมทนายจำเลยเดินทางไปศาล และให้การปฏิเสธตามคำให้การเป็นเอกสารลงวันที่วันเดียวกันนี้ โจทก์อ้างพยานบุคคล 24 ปาก จำเลยอ้างพยานบุคคล 6 ปาก ไม่มีพยานใดที่รับกันได้ ศาลกำหนดนัดสืบพยานโจทก์ 4 นัด สืบพยานจำเลย 1 นัด นัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันที่ 1, 2, 4, 8, 22 พ.ย. 2565
  • ก่อนจะเริ่มกระบวนการสืบพยานที่ห้องพิจารณา 703 ศาลได้สอบถามว่า จำเลยยืนยันจะต่อสู้คดีและปฏิเสธข้อกล่าวหาใช่หรือไม่ สิทธิโชคลุกขึ้นยืนแถลงต่อศาลว่า “ยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาและจะขอสู้คดีต่อไป”

    ด้านทนายจำเลยแถลงแนวทางการต่อสู้คดีว่า จำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุจริง แต่ไม่ได้มีเจตนาวางเพลิงเผาทรัพย์ต่อพระบรมฉายาลักษณ์ แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยเพียงเพราะต้องการดับไฟเท่านั้น

    การสืบพยานในคดีนี้ มีพยานโจทก์เข้าเบิกความทั้งหมดรวม 11 ปาก เบิกความในทำนองเดียวกันว่า การกระทำของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายต่อพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งมีลักษณะเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ขณะที่ฝ่ายจำเลย นำพยานเข้าเบิกความ 1 ปาก คือ สิทธิโชค อ้างตัวเองเป็นพยาน เบิกความโดยสรุปว่า ในวันเกิดเหตุ ตนเพิ่งจะทำงานส่งอาหารเสร็จ และได้แวะหยุดดูการชุมนุมอยู่ครู่หนึ่ง กระทั่งพบว่ามีจุดหนึ่งที่ไฟลุกไหม้ จึงได้เอาน้ำไปช่วยดับไฟ ซึ่งน้ำดังกล่าวเป็นน้ำเปล่าที่ผสมกับน้ำโคล่าสีม่วง ไม่ได้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงแต่อย่างใด โดยตัวเขาเองก็ไม่ทราบเช่นกันว่าบุคคลใดเป็นผู้ทำให้เกิดไฟลุกไหม้

    ++ผู้กล่าวหายืนยันเป็นผู้สังเกตการณ์การชุมนุมในที่เกิดเหตุ แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นต้นเพลิง และไม่ยืนยันว่าของเหลวที่จำเลยฉีดใส่เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงหรือไม่

    พ.ต.ท.จงศักดิ์ ชาญศรี รองผู้กำกับการสืบสวน สน.นางเลิ้ง และผู้กล่าวหาในคดีนี้ เบิกความว่าก่อนเกิดเหตุ ตนได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้สืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ซึ่งกลุ่มที่ปรากฏตัวในวันที่ 18 ก.ค. 2564 คือ “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” มารวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ที่ประชาธิปไตย เวลาประมาณ 14.00 น. ก่อนที่มวลชนจะนัดหมายพากันเดินไปหน้าทำเนียบรัฐบาลโดยใช้เส้นถนนราชดำเนินนอก และมีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้เข้าควบคุมตั้งแนวที่บริเวณแยกผ่านฟ้าลีลาศ มีการนำแผงเหล็กมากั้น โดยชุดควบคุมฝูงชนจะยืนอยู่หลังแนวกั้น

    พ.ต.ท.จงศักดิ์ เบิกความว่า ระหว่างที่มีการชุมนุม ตนได้ยืนปะปนอยู่กับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน เห็นว่าผู้ชุมนุมได้ทำการเผาหุ่นฟาง ขว้างปาสิ่งของ ปะทะกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ทำให้เกิดเพลิงไหม้ในหลายจุด

    พ.ต.ท.จงศักดิ์ พบว่า เกิดเพลิงไหม้บริเวณฐานของพระบรมฉายาลักษณ์ จำเลยได้ถือขวดน้ำพลาสติกแล้วเทของเหลวที่อยู่บรรจุด้านในจนเกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้น ในเบื้องต้นผู้กล่าวหายังเห็นว่าไม่มีเพลิง แต่พอจำเลยเทน้ำดังกล่าวลงไป เพลิงก็ลุกไหม้ขึ้นมาที่ผ้าประดับซุ้มเฉลิมพระเกียรติ

    พ.ต.ท.จงศักดิ์ เห็นว่า ของเหลวดังกล่าว น่าจะเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะเมื่อบีบลงไปแล้วเพลิงได้ลุกไหม้ขึ้นมา ที่สำคัญขวดน้ำดังกล่าวมีการเจาะรูตรงฝาขวดพลาสติก หากเป็นขวดน้ำดื่มปกติจะไม่มีการเจาะฝาในลักษณะนั้น

    ต่อมา เจ้าหน้าที่ คฝ. ได้เข้าควบคุมเพลิง หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ประมาณ 5 นาที พระบรมฉายาลักษณ์จึงไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด

    พ.ต.ท.จงศักดิ์ เบิกความต่ออีกว่า ในสื่อโซเชียลมีเดียของ “กนก รัตน์วงศ์สกุล” และจากหลายสำนักข่าว มีภาพตรวจสอบตัวตนของจำเลย เมื่อหาข้อมูลจากทะเบียนราษฎร์แล้วก็พบว่าเป็นบุคคลๆ คนเดียวกัน ผู้กล่าวหายอมรับว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีการถ่ายวิดีโอในที่เกิดเหตุไว้ เพราะกำลังวุ่นวายกับการดับเพลิง

    หลังจากการชุมนุมเสร็จสิ้นลง พ.ต.ท.จงศักดิ์ ได้สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาจัดทำสำนวน ก่อนไปแจ้งความที่ สน.นางเลิ้ง ในข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เกี่ยวกับคดีนี้มีเยาวชนอีกคนที่ถูกแจ้งข้อหาเช่นกัน โดยแยกไปดำเนินคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง

    ต่อมา พ.ต.ท.จงศักดิ์ เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านโดยสรุปว่า ตนรับราชการอยู่ สน.นางเลิ้ง มาตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน โดยทราบว่าบริเวณถนนแยกผ่านฟ้า, ราชดำเนินกลาง และราชดำเนินนอก มีการติดกล้องวงจรปิดเอาไว้ สามารถดึงข้อมูลออกมาตรวจสอบได้

    วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 14.00 น. เป็นต้นไป เจ้าหน้าที่ คฝ. ประจำการอยู่หลังแนวรั้วลวดหนาม ในวันนั้นพยานทำหน้าที่สังเกตการณ์การชุมนุม แต่จากการตรวจสอบไม่พบว่าจำเลยอยู่ใน “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” รวมถึงไม่ทราบว่าจำเลยมาถึงที่ชุมนุมกี่โมง ทั้งนี้ บริเวณแยกผ่านฟ้าเป็นสถานที่เปิดโล่ง และการชุมนุมไม่ได้มีลักษณะแออัดแต่อย่างใด

    เวลา 15.00 น. มวลชนได้เริ่มนำหุ่นฟางมาเผา แต่ขณะนั้นยังไม่เห็นตัวจำเลยร่วมเผาหุ่นฟางดังกล่าว หลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมงให้หลัง กลุ่มผู้ชุมนุมได้เริ่มตัดลวดหนาม, ฝ่าแนว และขว้างปาสิ่งของ ในนั้นมีทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมและผู้สื่อข่าวปะปนอยู่ด้วยกัน โดยเขาได้เดินสังเกตการณ์อยู่หลังแนวลวดหนาม

    จุดที่เขายืนอยู่คือจุดที่หันหน้าเข้าหาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ สามารถมองเห็นที่เกิดเหตุได้อย่างชัดเจน ผู้กล่าวหาเห็นจำเลยเป็นครั้งแรกที่ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ

    อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.จงศักดิ์ไม่ทราบว่าต้นเพลิงที่เกิดขึ้นบริเวณซุ้มเฉลิมพระเกียรตินั้น บุคคลใดเป็นคนทำ เนื่องจากไม่ได้สังเกตดู ต่อมา เขาเห็นว่าจำเลยได้มีการบีบของเหลวบางอย่างลงในซุ้มฯ จากที่สังเกตเห็นเปลวไฟได้ลุกพรึบขึ้นมาก่อนจะดับมอดลง ซึ่งภายหลังก็ไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่คนใดได้เข้าไปควบคุมเพลิงดังกล่าว

    หลังจากเกิดเหตุแล้ว พยานได้ไปตรวจสอบกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ แต่ไม่ปรากฏชัดว่าใครเป็นต้นเพลิง และในทางสืบสวนก็ไม่ปรากฏว่าของเหลวที่อยู่ในขวดเป็นของเหลวชนิดใด แต่คาดว่าน่าจะเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง

    พ.ต.ท.จงศักดิ์ เบิกความว่า สาเหตุที่เขาไม่ได้จับกุมจำเลยซึ่งหน้า เป็นเพราะว่าอาจจะเกิดความรุนแรงขึ้น อีกทั้งเป็นคดีความมั่นคง จะต้องสืบหาพยานหลักฐานก่อน

    ++เจ้าหน้าที่โยธา กทม. เข้าแจ้งความ คิดค่าเสียหายผ้าประดับสองหมื่นกว่าบาท แม้เพลิงไม่ได้ไหม้ลามถึงพระบรมฉายาลักษณ์

    ประทีป ศรีจันทร์ ผู้กล่าวหาคนที่ 2 รับราชการที่สำนักการโยธา กทม. ตำแหน่งนายช่างศิลป์อาวุโส มีหน้าที่ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างซุ้มเฉลิมพระเกียรติ โดยหน่วยงานมัณฑนศิลป์จะเป็นผู้ออกแบบดูแลในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด

    เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 ประทีปเบิกความว่า ตนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่มาทราบภายหลังจากในไลน์กลุ่มที่ส่งต่อกันมา ก่อนที่จะได้รับมอบหมายจาก กทม. ให้ไปแจ้งความร้องทุกข์ในเรื่องวัตถุสิ่งของเสียหาย

    ในแง่ความเสียหายที่เกิดขึ้น เขาตรวจสอบแล้วพบว่า มีผ้าที่เสียหายด้านหนึ่งเป็นรอยไหม้คิดเป็นค่าเสียหายทั้งหมดประมาณ 25,000 บาท แม้จะไหม้แค่จุดเดียว แต่ตัวผ้าประดับจะต้องถูกรื้อออกมาใหม่ ทาสีใหม่ และปัดรอยเขม่าออก

    พยานไม่ทราบว่าใครเป็นคนวางเพลิง ไม่ได้รู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน เพียงแต่ได้รับมอบหมายจาก กทม. ให้มาแจ้งความ

    ช่วงทนายจำเลยถามค้าน ประทีปเบิกความโดยสรุปว่า หลังรู้ว่ามีทรัพย์สินเสียหายก็ได้ไปสำรวจในที่เกิดเหตุประมาณ 1 วันให้หลัง เพื่อตรวจดูความเสียหาย

    ประทีปเบิกความด้วยว่า บริเวณฐานซุ้มเฉลิมพระเกียรตินั้นทำจากวัสดุไฟเบอร์ซีเมนต์ ไฟจึงไม่สามารถไหม้ได้ในฉับพลัน จึงมีแค่ผ้าประดับที่ได้รับความเสียหาย ประทีปรับว่า ไม่ได้พบเห็นเชื้อเพลิงหรือเศษฟางที่ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ เพราะไปหลังจากที่เกิดเหตุแล้ว 1 วัน

    ++2 ตำรวจจราจร ยืนยันเห็นจำเลยบีบของเหลวใส่พระบรมฉายาลักษณ์ แต่เพลิงไหม้ไม่ได้ลุกลาม

    ส.ต.ท.สุกัลย์ รัตนปริญญานนท์ กองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจจราจร เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ พยานได้รับมอบหมายให้ดูแลการจราจร เนื่องจากมีการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมเยาวชนปลดแอก ช่วงเวลา 14.00 น. มีชายใส่คนหนึ่งใส่เสื้อไลน์แมน สวมหน้ากากอนามัยปิดบริเวณหน้าผากและปาก กำลังหยิบขวดน้ำซึ่งบรรจุของเหลวลักษณะคล้ายน้ำมัน บีบใส่บริเวณพระบรมฉายาลักษณ์และแผงกั้นเหล็ก เมื่อพยานเห็นดังนั้นจึงรีบวิ่งเข้าไปห้าม เมื่อบีบแล้วเพลิงได้ลุกขึ้นมาวูบหนึ่งก่อนจะดับลง เนื่องจากบริเวณนั้นมีความชื้น

    ช่วงทนายจำเลยถามค้าน ส.ต.ท.สุกัลย์ เบิกความว่า วันที่ตนปฏิบัติหน้าที่นั้นเป็นภารกิจพิเศษที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ไปร่วมมือกับ สน.นางเลิ้ง มีการกระจายกำลังไปตามแยกจุดต่างๆ มีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 700 คน และเจ้าหน้าที่รัฐที่ดูแลความเรียบร้อยอยู่ประมาณ 200-300 นาย

    เท่าที่พยานสังเกตเห็น กลุ่มผู้ชุมนุมได้ขนหุ่นฟางมาโยนลงในแผงเหล็กกั้นที่บริเวณเกาะกลาง โดยมีเจ้าหน้าที่ คฝ. ตั้งแนวห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 100 เมตร บุคคลใดจะเป็นผู้จุดไฟตรงบริเวณหุ่นฟางพยานไม่ทราบ

    พยานรับว่า ก่อนที่จำเลยจะบีบของเหลวลงบนผ้าประดับซุ้มเฉลิมพระเกียรติ บริเวณนั้นมีเพลิงไหม้อยู่ก่อนแล้ว เมื่อบีบของเหลวลงไปเพลิงก็ลุกไหม้อยู่วูบหนึ่งถึงค่อยดับลง ทั้งนี้ในบริเวณใต้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติไม่ปรากฏว่ามีเศษฟางไหม้ และพยานก็ไม่ทราบว่าต้นเพลิงมาจากที่ใด

    เหตุที่พยานไม่จับกุมจำเลยในขณะนั้น เนื่องจากไม่แน่ใจว่าของเหลวที่จำเลยบีบใส่เป็นเหตุให้ไฟลุกหรือไม่ อีกทั้งสถานการณ์ก็กำลังวุ่นวาย พยานเลยห้ามไว้ก่อน แต่จำเลยไม่ได้มีพฤติการณ์ตกใจและไม่ได้หลบหนีแต่อย่างใด

    ส.ต.ท.สุกัลย์รับว่า ขณะที่จำเลยบีบของเหลวลงไป ไฟก็ลุกพรึบขึ้นมา แต่ไม่ได้ลามมาถึงขวด แค่ลุกไหม้ขึ้นมาเฉยๆ

    ด.ต.อำนาจ เก็บรักษา ตำรวจกองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจจราจร เบิกความว่า วันเกิดเหตุพยานได้รับมอบหมายให้ดูแลการจราจรที่แยกผ่านฟ้า ซึ่งมีการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก

    พยานสังเกตการณ์อยู่ตรงตู้สัญญาณไฟจราจร พฤติการณ์ของผู้ชุมนุมมีการเผาหุ่นฟางและมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อเวลา 16.40 น. ที่แยกนางเลิ้งและแยกผ่านฟ้า รวมถึงมีการเผาพระบรมฉายาลักษณ์

    ด.ต.อำนาจ เบิกความว่า ในช่วงปฏิบัติหน้าที่ พบเห็นชายสวมชุดไลน์แมน บีบของเหลวใส่ซุ้มพระเฉลิมพระเกียรติ แล้วไฟลุกพรึบขึ้นมา แต่พยานไม่ทราบว่าของเหลวดังกล่าวเป็นอะไร

    ช่วงทนายจำเลยถามค้าน พยานเบิกความโดยสรุปว่า ในวันเกิดเหตุพยานปฏิบัติหน้าที่กับ ส.ต.ท.สุกัลย์ อยู่ในป้อมควบคุมสัญญาณจราจร มองเห็นผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายมาถึงแยกผ่านฟ้า เริ่มมีการเผาหุ่นและปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

    ด.ต.อำนาจ รับว่า ในป้อมควบคุมสัญญาณจราจรนั้น ปิดด้วยกระจกทึบ 4 ด้าน และพยานก็ไม่ทราบว่าใครเป็นคนเริ่มเผาหุ่นฟางดังกล่าวก่อน

    พยานออกจากป้อมควบคุมสัญญาณจราจรหลัง ส.ต.ท.สุกัลย์ สาเหตุที่ออกมาเพราะเห็นไฟลุกไหม้ที่ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ พบเห็นชายบีบของเหลวดังกล่าวใส่ผ้าประดับซุ้มฯ 2-3 ครั้ง แต่ไฟก็ยังลุกพรึบอยู่ประมาณ 1-2 นาที พยานรับว่าไม่ได้เข้าตรวจยึดขวดพลาสติกดังกล่าวของจำเลยไว้เป็นของกลางเพื่อตรวจสอบ

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/52320)
  • ++สันติบาลไม่ได้ส่งบันทึกภาพและคลิปเหตุการณ์ให้พนักงานสอบสวน แต่ใช้ภาพที่ได้จาก “แหล่งข่าว”

    พ.ต.ท.ฌพอนนท์ สองแสงจันทร์ กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 เบิกความว่า ตนได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้แฝงตัวเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุมเยาวชนปลดแอก เพื่อสอดส่องผู้กระทำความผิดทั้งหมด โดยในวันเกิดเหตุพยานแต่งกายนอกเครื่องแบบ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชาอีกประมาณ 10 นาย

    พยานสังเกตการณ์ชุมนุมอยู่ที่สะพานผ่านฟ้าตั้งแต่เวลา 15.00 น. กระทั่ง ช่วงเวลาประมาณ 17.00 น. พยานได้ยินจากผู้ชุมนุมว่ามีการวางเพลิงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ

    พยานได้เข้าไปดูแลตรงที่เกิดเหตุ ขณะที่เจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ทำหน้าที่ถ่ายรูปบรรยากาศโดยรอบ และถ่ายตรงซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่มีไฟลุกและควันโขมงขึ้นมา หลังจากนั้นก็มีเสียงในที่เกิดเหตุตะโกนบอกว่า มีคนใส่เสื้อไลน์แมนเป็นผู้ก่อเหตุ ขี่มอเตอร์ไซค์ที่มีกล่องส่งอาหารสีชมพู ซึ่งขณะนั้นยังจอดอยู่ที่บริเวณที่เกิดเหตุ พยานจึงบอกผู้ใต้บังคับบัญชาให้ติดตามไป

    ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ติดตามผู้ต้องสงสัยไปถึงที่บ้านพักแห่งหนึ่ง เห็นว่าชายคนดังกล่าวได้เดินเข้าไปในบ้าน ผู้ใต้บังคับบัญชาของพยานได้เฝ้ารออยู่ 1 คืน ก่อนเช้าวันรุ่งขึ้นก็ปรากฏว่ามีรถจักรยานยนต์จอดอยู่และมีรองเท้าสีขาวเหมือนในวันที่เกิดเหตุ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบข้อมูลทะเบียนราษฎร์จึงพบว่า ผู้ต้องสงสัยคือจำเลยในคดีนี้

    พยานได้ทำรายงานการสืบสวนส่งมอบให้พนักงานสอบสวน จากนั้นได้ขอศาลออกหมายจับ พร้อมเข้าจับกุมจำเลยในวันที่ 19 ก.ค. 2564 โดยมีการยึดเสื้อคลุมสีดำมีข้อความว่า Line man และรองเท้าแตะสีขาว 1 คู่ เป็นของกลาง ในชั้นจับกุมจำเลยให้การปฏิเสธ

    ทนายจำเลยถามค้านว่า จากรายงานการสืบสวนปรากฏข้อความว่า “วันที่ 18 ก.ค. 2564 ปรากฏชายใส่เสื้อสีดำฯ เผาพระบรมฉายาลักษณ์” แต่ในที่เกิดเหตุมีแค่ผ้าประดับที่เสียหาย ทำไมถึงรายงานว่าเป็นการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ พยานตอบว่า เป็นการรายงานตามภาพรวมที่เห็น ไม่ได้สังเกตรายละเอียดอย่างชัดเจน เนื่องจากวันนั้นมีไฟลุกไหม้

    ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า ในการปฏิบัติตามหน้าที่วันนั้น พยานและผู้ใต้บังคับบัญชามีสาระสำคัญในการทำงานคือเก็บภาพนิ่งและถ่ายภาพเคลื่อนไหวให้ได้มากที่สุดใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ พยานไม่ได้มอบหมายงานให้ผู้ใต้บังคับบัญชาคนใดเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องรู้อยู่แล้ว

    พ.ต.ท.ฌพอนนท์ รับว่า คลิปวิดีโอที่บันทึกภาพขณะจำเลยกระทำผิดได้มาจากแหล่งข่าว ในคดีนี้ตัวพยานและผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ได้ส่งภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวขณะที่จำเลยบีบของเหลวแก่พนักงานสอบสวนเลย

    พ.ต.ท.ณพอนนท์ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ ตนยืนอยู่ห่างจากซุ้มดังกล่าวประมาณ 10 เมตร มีผู้ชุมนุมอยู่ด้วยกันมากกว่า 10 คน เกี่ยวกับไฟที่ลุกไหม้ใต้ฐานพระบรมฉายาลักษณ์ พยานไม่ทราบว่าไฟลุกไหม้อยู่นานเท่าไหร่ เพราะไม่ได้สนใจเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้น แต่สนใจแค่ว่าใครเป็นคนทำ

    ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า ในคดีนี้ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ได้ทำเอกสารระบุว่า ใครเป็นผู้ลงมือวางเพลิงใต้พระบรมฉายาลักษณ์ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ ทั้งในวันเกิดเหตุ พยานไม่ได้ทำการจับกุมจำเลยซึ่งหน้า เพราะต้องมีการสืบสวนให้แน่ชัดก่อน

    ++เจ้าหน้าที่พิสูจน์วัตถุพยานระบุ ไม่พบวัตถุไวไฟบนเศษผ้า แต่คาดว่าของเหลวที่จำเลยราดใส่พระบรมฉายาลักษณ์เป็นวัตถุไวไฟชนิดหนึ่ง

    ร.ต.อ.ธีรวัตน์ อึ้งสิทธิพูนพร เจ้าหน้าที่พิสูจน์วัตถุพยาน จากกองพิสูจน์หลักฐาน เบิกความว่าตนจบการศึกษาสาขานิติเวช และเริ่มรับราชการตั้งแต่ 1 พ.ค. 2558 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 7 ปี แล้ว

    ในการตรวจการเกิดเพลิงไหม้ พยานตรวจจากวัตถุพยานที่ได้รับจากพนักงานสอบสวนในที่เกิดเหตุ ซึ่งจะตรวจในลักษณะที่หาน้ำมันเชื้อเพลิงและวัตถุไวไฟ โดยคดีนี้พนักงานสอบสวนได้ส่งผ้าสีขาวและสีเหลืองที่มีลักษณะถูกเพลิงไหม้ไปตรวจสอบทั้งผืน จุดประสงค์เพื่อทราบว่ามีน้ำมันเชื้อเพลิงหรือวัตถุไวไฟติดมาหรือไม่ และจากการตรวจสอบก็ไม่พบวัตถุไวไฟดังกล่าว

    กรณีที่ตรวจไม่พบวัตถุไวไฟ อาจเนื่องจากน้ำมันเชื้อเพลิงหรือวัตถุไวไฟมีคุณสมบัติระเหยได้ง่าย ซึ่งน่าจะระเหยไปหมดก่อนการนำส่งตรวจพิสูจน์

    ร.ต.อ.ธีรวัฒน์ เบิกความต่อว่า เนื่องจากของเหลวที่จำเลยบีบใส่ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้นำส่งให้ตนพิสูจน์ จึงไม่สามารถตรวจสอบทราบได้ว่าเป็นวัตถุเคมีชนิดใด แต่จากที่ปรากฏตามคลิปวิดีโอจะเห็นว่า เมื่อของเหลวดังกล่าวถูกไฟก็มีการลุกไหม้ทันที จึงเชื่อได้ว่าเป็นวัตถุไวไฟชนิดใดชนิดหนึ่ง

    ช่วงทนายจำเลยถามค้าน ร.ต.อ.ธีรวัฒน์ เบิกความโดยสรุปว่า ตนเคยทำการตรวจพิสูจน์คดีเพลิงไหม้มาแล้วกว่า 200 คดี ในกรณีที่ตรวจไม่เจอน้ำมันเชื่อเพลิงหรือสารไวไฟ สามารถนำคราบเขม่าจากที่เกิดเหตุมาให้ตรวจสอบได้ ถ้ายังมีเชื้อเพลิงหรือสารไวไฟหลงเหลืออยู่

    หากจะทราบว่าของเหลวที่จำเลยบีบเทลงนั้น เป็นของเหลวชนิดใด พนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่จะต้องเก็บของเหลวดังกล่าวมาส่งให้พยานตรวจพิสูจน์

    ทนายจำเลยถามค้านว่า กรณีที่มีไฟลุกไหม้อยู่และมีเชื้อเพลิงอยู่ การฉีดน้ำเป็นฝอยเข้าไปมีโอกาสที่ไฟจะวาบขึ้นได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบ แต่ตามหลักการแล้ว น้ำควรดับไฟได้ หากมีไฟลุกไหม้อยู่แล้วฉีดน้ำเข้าไป ไฟจะดับลงโดยไม่ลุกไหม้ขึ้น

    ในกรณีที่มีการเทน้ำมันลงบนเพลิงไหม้ดังกล่าว ไฟจะมีโอกาสลามมาติดที่ขวดหรือไม่ พยานตอบว่า ไฟจะลามขึ้นมาถึงขวดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับระยะห่างและหลายปัจจัย

    ++พยานความเห็น-นักวิชาการ ให้ความเห็น พระบรมฉายาลักษณ์มีค่าเท่ากับตัวบุคคล ไม่สามารถล่วงเกินได้ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เคยมีคำพิพากษายกฟ้อง ม.112 กรณีเผาซุ้มอีกคดี

    พล.ร.ต.ทองย้อย แสงสินชัย ข้าราชการบำนาญ สังกัดกองทัพเรือ เบิกความว่า เคยรับราชการที่หอสมุดแห่งชาติ และดำรงตำแหน่งอนุศาสนาจารย์ในกองทัพเรือ มีหน้าที่อบรมศีลธรรมในกองทัพเรือ ปัจจุบันเกษียณแล้ว

    พล.ร.ต.ทองย้อย เบิกความว่า ในทัศนะสังคมไทย พระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงและพระราชินี มีค่าเท่ากับตัวบุคคล เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่ใดก็เท่ากับเห็นพระองค์ท่านอยู่ตรงนั้น

    หลังพนักงานสอบสวนได้ส่งภาพถ่ายของจำเลยขณะกระทำผิดให้พยานดูแล้ว พยานเห็นว่าลักษณะการกระทำของจำเลยคือการจุดไฟเผาพระบรมฉายาลักษณ์ พยานเห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ถูกต้องและทำให้ทรัพย์สินเสียหาย หากจำเลยไม่พอใจต่อสถาบันกษัตริย์ สามารถที่จะแสดงออกได้หลายวิธี วิญญูชนทั่วไปไม่ควรกระทำเช่นนั้น

    ช่วงทนายจำเลยถามค้าน พล.ร.ต.ทองย้อย เบิกความโดยสรุปว่า ตนมาเป็นพยานในคดีนี้ได้เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อไปขอความร่วมมือ โดยก่อนหน้านี้เคยทำหน้าที่ตีความถ้อยคำให้พนักงานสอบสวน เพราะพยานมีความเชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณ

    เกี่ยวกับกระบวนการจัดทำคำให้การ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งเอกสารหลักฐานมาให้พยานที่บ้าน พยานไม่ได้เดินทางไป สน.นางเลิ้ง เพื่อให้การด้วยตนเอง พยานได้ตอบคำถามเป็นข้อๆ ตามที่พนักงานสอบสวนส่งมาให้ เมื่อเขียนคำตอบเสร็จ ก็ลงลายมือชื่อรับรองส่งกลับให้พนักงานสอบสวน

    พล.ร.ต.ทองย้อย รับว่า นอกจากคดีนี้ ตนเคยไปให้การเป็นพยานมาตรา 112 ในคดีอื่นๆ หลายคดี ส่วนใหญ่เป็นคดีที่มีการกล่าวข้อความ พูด และพิมพ์ โดยพยานได้ให้การไปตามเอกสารหลักฐานที่ปรากฏ

    พล.ร.ต.ทองย้อย ยอมรับว่าตนไม่ได้มีหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลที่พนักงานสอบสวนส่งมาให้ว่าตรงกับข้อเท็จจริงหรือไม่ ได้แต่ให้ความคิดเห็นไปตามที่ถาม โดยยอมรับว่า ตนไม่ได้เห็นคลิปวิดีโอขณะเกิดเหตุ เพราะพนักงานสอบสวนส่งมาแค่ภาพนิ่งเท่านั้น จากภาพที่เห็นก็ปรากฏว่า จำเลยกำลังจุดไฟตรงผ้าประดับพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่สมควร

    พยานเบิกความอีกว่า การจุดไฟเผาดังกล่าวแสดงถึงความไม่เคารพต่อในหลวงรัชกาลที่ 10 แม้จะเป็นเพียงแค่การเผาผ้าซึ่งเป็นส่วนประกอบของพระบรมฉายาลักษณ์ก็ตาม เป็นการแสดงให้เห็นว่าใครจะทำอะไรกับพระบรมฉายาลักษณ์ก็ได้ ไม่ได้มีความศักดิ์สิทธิ์หรือวิเศษอะไร และทำให้บุคคลในรูปเสื่อมเสียด้วย

    ทั้งนี้ พล.ร.ต.ทองย้อย รับว่า ไม่ทราบว่าจำเลยที่ปรากฏในภาพถ่ายมีจุดมุ่งหมายจะกระทำสิ่งใด จะเป็นการจุดไฟหรือดับไฟก็ไม่ทราบ

    ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เบิกความว่า จากภาพการกระทำของจำเลยที่เผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ เห็นว่ามีความพยายามจะจุดไฟเพื่อเผาที่ประดิษฐานรูปของในหลวงและราชินี ผู้กระทำมีเจตนาที่ไม่ดีต่อในหลวงรัชกาลที่ 10 จึงตั้งใจเผาทำลายสิ่งที่สื่อถึงตัวพระองค์ท่าน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต้องการดูหมิ่น เหยียดหยาม มุ่งทำร้ายต่อพระมหากษัตริย์

    ช่วงทนายจำเลยถามค้าน สมชายเบิกความโดยสรุปว่า เคยเขียนวิทยานิพธ์เกี่ยวกับกฎหมายการค้า และกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา พยานไม่เคยเขียนบทความหรืองานวิชาการเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    พยานมาให้การในคดีนี้เพราะพนักงานสอบสวนมาขอความเห็น ไม่ได้มีการออกหมายเรียก แต่เป็นการประสานทางโทรศัพท์ พยานไม่เคยสอนวิชาเกี่ยวกับกฎหมายอาญา แต่เคยศึกษาเกี่ยวกับมาตรา 112 และพยานไม่เคยขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญในศาลยุติธรรม ทั้งในช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก พยานไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

    ทนายจำเลยถามค้านว่า พยานทราบหรือไม่ว่า ศาลอุทธณ์ภาค 4 เคยมีคำพิพากษายกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 กรณีผู้ถูกกล่าวหาเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่จังหวัดขอนแก่น พยานเบิกความว่าไม่ทราบรายละเอียดในคดีดังกล่าว ทนายความได้ยื่นคำพิพากษาคดีดังกล่าวประกอบการพิจารณา

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2528/2564 ลงวันที่ 2 พ.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/52320)
  • ++เจ้าหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุรับ พบผ้าประดับซุ้มฯ มีรอยไหม้ แต่ไม่ได้เก็บมาตรวจสอบ

    ร.ต.ท.หญิงณัฐชยา สิงหมารศรี เจ้าหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุ สังกัดกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เบิกความว่า ทำงานอยู่ในกลุ่มตรวจสถานที่เกิดเหตุมาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน เคยตรวจสถานที่ชุมนุมมาประมาณ 30 คดี

    ในวันเกิดเหตุ พยานได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ให้ไปตรวจเก็บวัตถุพยานในคดีทางการเมือง ที่แยกสะพานผ่านฟ้า

    พยานกับพวกรวม 6 นาย ได้เดินทางไปสถานที่เกิดเหตุ พบว่ามีสติกเกอร์และข้อความประมาณ 5 แผ่น ติดอยู่ที่ฐานพระบรมฉายาลักษณ์ ผ้าประดับมีลักษณะหลอมละลาย และเศษฟางตกอยู่บริเวณใต้ฐาน ซึ่งพยานไม่ทราบว่า ผ้าที่มีลักษณะหลอมละลายเกิดจากเหตุใด และไม่ทราบว่ามีเศษฟางอยู่ใต้ฐานซุ้มเฉลิมพระเกียรติได้อย่างไร หลังจากการตรวจสอบเสร็จ พยานได้จัดทำรายงานส่งให้พนักงานสอบสวน

    ช่วงทนายจำเลยถามค้าน ร.ต.ท.ณัฐชยา เบิกความโดยสรุปว่า เคยอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการพิสูจน์พยานหลักฐานมาก่อนลงพื้นที่ รายงานตรวจเก็บวัตถุพยานทั้งหมด พยานเป็นคนทำ ทั้งนี้ พยานไม่พบว่ามีรอยเขม่าสีดำที่เกิดจากเผาไหม้ในซุ้มเฉลิมพระเกียรติแต่อย่างใด

    ในการปฏิบัติงาน ร.ต.ท.ณัฐชยา รับว่า เก็บแค่เศษฟางไปตรวจเท่านั้น เพราะคิดว่าอาจมีความเกี่ยวข้องกับเศษผ้าที่หลอมละลาย พยานไม่ได้เก็บผ้าประดับไปตรวจสอบด้วย เพราะพิจารณาตามความเหมาะสม ตามที่ได้รับการอบรมมา แม้ภายหลังจะมีการเก็บหลักฐานผ้าดังกล่าวโดยกองพิสูจน์หลักฐานกลาง แต่พยานไม่ทราบว่าใครเป็นคนเก็บ

    ++สมาชิกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ เข้าแจ้งความ 112-วางเพลิงเผาทรัพย์ ชี้การกระทำของจำเลยแสดงความอาฆาดมาดร้ายต่อสถาบันฯ

    ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เบิกความว่า ตนเป็นผู้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สืบเนื่องจากเห็นคลิปของสำนักข่าวท็อปนิวส์ ที่มีชายไม่ทราบชื่อได้ถือของเหลวสีแดง ฉีดพ่นผ้าแพรประดับพระบรมฉายาลักษณ์ พอฉีดพ่นเข้าไปแล้วก็ทำให้ไฟลุกพรึบขึ้นมา จึงคาดว่าน่าจะเป็นเชื้อเพลิง ไม่ใช่น้ำแน่นอน

    ต่อมา พยานได้ปรึกษากับสมาชิกในกลุ่มปกป้องสถาบันฯ แล้ว ถึงค่อยนำไปกล่าวโทษที่ สน.นางเลิ้ง โดยพยานเป็นตัวแทนผู้กล่าวโทษข้อหามาตรา 112, วางเพลิงเผาทรัพย์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สาเหตุที่คิดว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด เพราะพระบรมฉายาลักษณ์เป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ ให้ประชาชนเคารพสักการะ

    ระพีพงษ์เบิกความว่า หากเป็นคนจิตใจปกติที่ไม่มีความอาฆาตมาดร้าย จะไม่มีทางเผาพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าว การกระทำของจำเลยแสดงให้เห็นว่ามีความอาฆาดมาดร้ายต่อสถาบันฯ ทั้งนี้พยานไม่รู้จักและไม่มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลย

    ช่วงทนายจำเลยถามค้าน ระพีพงษ์เบิกความว่า ตามหนังสือร้องทุกข์ตนเป็นคนจัดทำด้วยตนเอง พิมพ์ระบุไว้ว่ามีการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่ถนนนครสวรรค์ แต่ขณะเกิดเหตุ พยานไม่ได้อยู่ในสถานที่เกิดเหตุ เพราะเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องไปหาหลักฐานเพิ่มเติม

    ทั้งนี้ ในการกล่าวโทษ พยานไม่ทราบว่าต้นเพลิงที่ฐานซุ้มเฉลิมพระเกียรติใครเป็นคนทำ แต่ตามที่ปรากฏในคลิปวิดีโอของช่องท็อปนิวส์ หลังจากจำเลยฉีดของเหลวดังกล่าวใส่ผ้าใต้ฐานพระบรมฉายาลักษณ์แล้วไฟลุกพรึบขึ้นมาประมาณ 1 นาที ก่อนดับลง

    พยานไม่ทราบว่า จำเลยพยายามจะดับเพลิงไหม้ดังกล่าว ไม่ทราบว่าการกระทำดังกล่าวจำเลยมีเจตนาเช่นไร แต่ความคิดของพยานเห็นว่าเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย

    ++พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี เห็นว่าการกระทำของจำเลยเข้าข่าย ม.112 ก่อนมีความเห็นสั่งฟ้อง

    พ.ต.อ.อธิชย์ ดอนนันชัย รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สน.นางเลิ้ง เบิกความว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 มีกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองประมาณ 700-900 คน พยานจำชื่อกลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวไม่ได้

    ขณะที่พยานปฏิบัติหน้าที่ที่ สน.นางเลิ้ง ได้รับแจ้งเหตุจากทางวิทยุเมื่อเวลา 14.00 น. ว่ามีการชุมนุมที่แยกผ่านฟ้าลีลาศ พยานจึงเดินทางไปสังเกตการณ์ตรงสี่แยกผ่านฟ้า แต่เหตุการณ์ช่วงนั้นยังปกติดี

    ต่อมา 16.40 น. พยานได้รับแจ้งว่ามีการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10 มีการเผาหุ่นฟาง และขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ

    หลังเหตุการณ์สงบลง กลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนย้ายไปที่แยกนางเลิ้ง พยานได้เข้าไปตรวจที่เกิดเหตุอีกรอบ มีเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายเข้าไปด้วย แล้วพบว่าบริเวณฐานซุ้มเฉลิมพระเกียรติและผ้าประดับถูกเผา และพบสีสเปรย์พ่นเป็นข้อความต่างๆ

    พยานได้ตรวจที่เกิดเหตุพร้อมกับหน่วยพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งได้จัดทำรายงานตรวจเก็บวัตถุพยานแล้วส่งให้ตนดู ปรากฏว่ามีผ้าประดับที่บางส่วนถูกเผาไหม้ และข้อความที่พ่นสีพ่นเสปย์

    ก่อนที่ต่อมา พ.ต.ท.จงศักดิ์ ชาญศรี รองผู้กำกับสืบสวน สน.นางเลิ้ง จะเข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112, วางเพลิงเผาทรัพย์ และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พร้อมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานกรมโยธา กรุงเทพมหานคร และสมาชิกกลุ่ม ศปปส. ก็มาดำเนินการร้องทุกข์เช่นกัน

    พ.ต.อ.อธิชย์ เบิกความย้อนไปว่า กลุ่ม ศปปส. และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มอบไฟล์ภาพและคลิปวิดีโอรายการของท็อปนิวส์ (Top News) ให้พยาน เนื่องจากเป็นคดีความมั่นคง จึงได้มีการตั้งคณะพนักงานสอบสวน โดยมีพยานเป็นหนึ่งในนั้น มีประจักษ์พยานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรสองนาย บรรดาผู้ที่มาแจ้งความได้ส่งภาพและรายงานการสืบสวนให้พยาน ซึ่งมีการลงลายมือชื่อรับรองไว้

    พ.ต.อ.อธิชย์ ได้นำสำเนาข้อมูล ภาพถ่ายทะเบียนราษฎร์เพื่อยืนยันตัวจำเลย และยื่นคำร้องต่อศาลอาญา ดำเนินการขอออกหมายจับ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้จับกุมตัวจำเลยตามหมายจับ พร้อมยึดของกลางคือเสื้อแจ็กเก็ต รองเท้าแตะสีขาวจำนวน 1 คู่ และตรวจยืดมือถือของจำเลยเป็นของกลางเพิ่มเติม

    นอกจากนี้ พยานเป็นผู้จัดทำบัญชีของกลางคดีอาญา และยังส่งของกลางผ้าสีเหลืองและผ้าสีขาวไปทำการตรวจพิสูจน์ จากนั้นจึงเรียกจำเลยมารับทราบข้อกล่าวหา และจำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้ว พยานมีความเห็นควรสั่งฟ้องจำเลยในทุกข้อหา

    ช่วงทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.อ.อธิชย์เบิกความโดยสรุปว่า เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการวางเพลิงเผาทรัพย์ คดีนี้เป็นคดีแรกที่พยานทำ

    เกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุ พ.ต.อ.อธิชย์ เบิกความว่า เป็นสถานที่เปิดโล่ง แต่จำนวนคนที่มาชุมนุมมีจำนวนประมาณ 600-1,000 คน สถานที่จึงมีความแออัด อย่างไรก็ตาม ในทางสอบสวนไม่ปรากฏว่า จำเลยมาถึงที่เกิดเหตุเวลาใด และไม่ปรากฏว่า จำเลยเป็นแกนนำ, ผู้จัดชุมนุม หรือสมาชิกกลุ่มเยาวชนปลดแอกแต่อย่างใด เป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุมเท่านั้น

    ในคดีนี้พยานจำไม่ได้ว่า ได้สอบผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแพทย์หรือระบาดวิทยาไว้หรือไม่ แต่ในช่วงเวลานั้นรัฐบาลมีการประกาศห้ามการชุมนุมที่มีความเสี่ยง และในส่วนของวันที่ 18 ก.ค 2564 พื้นที่กรุงเทพฯ ถูกประกาศเป็นที่ควบคุมโรคสูงสุดหรือไม่ พยานจำไม่ได้ อีกทั้งพยานก็จำไม่ได้ว่ามีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีสาเหตุจากการชุมนุมในวันเกิดเหตุหรือไม่

    สาเหตุที่พยานสอบปากคำจากพยานหลากหลายอาชีพ เนื่องด้วยจะถามความเห็นความรู้สึกของประชาชนว่ารู้สึกอย่างไร ว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือไม่ พ.ต.อ.อธิชย์ ย้ำว่า ในกระบวนการคัดสรรพยานได้หาจากกลุ่มที่มีความเห็นที่หลากหลาย ไม่ได้รู้จักคนที่ให้การเป็นการส่วนตัว

    ทนายจำเลยถามค้านว่า ทำไมถึงไม่เลือกสอบปากคำพยานที่เป็นประโยชน์กับจำเลยเพื่อถ่วงดุล พยานเบิกความว่า พยานไม่ทราบว่าคนที่มาให้การอยู่ฝ่ายไหน และพยานทุกคนก็ให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิด

    ในการตั้งประเด็นสอบสวน พยานมุ่งสอบว่า จำเลยกระทำผิดหรือไม่เป็นสำคัญ เพราะพยานหลักฐานปรากฏชัดแจ้งแล้ว แม้ในรายงานจะไม่ปรากฏว่ามีการเก็บผ้าประดับดังกล่าว แต่ข้อเท็จจริงคือกองพิสูจน์หลักฐานกลางได้มีการจัดเก็บผ้าประดับสีขาวและเหลืองตั้งแต่ในวันเกิดเหตุแล้ว

    ต่อมา ในวันที่ 29 ก.ค. 2564 กองพิสูจน์หลักฐานเพิ่งส่งผลตรวจผ้าประดับมาให้พยาน จึงทราบว่าไม่มีน้ำมันเชื้อเพลิงหรือสารไวไฟ สาเหตุที่กองพิสูจน์หลักฐานส่งผลมาล่าช้า อาจเพราะมีหลายคดี และมีการชุมนุมในหลายๆ พื้นที่ นอกจากนี้ ในหนังสือส่งพิสูจน์หลักฐานกลาง พยานรับว่า ไม่ได้เจาะจงให้ตรวจหาคราบน้ำมันตรงรองเท้ากับเสื้อของจำเลยที่สวมใส่

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/52320)
  • ++“สิทธิโชค” ยืนยันแค่ขับรถผ่านสถานที่ชุมนุม พบเห็นไฟที่กำลังลุกติดผ้า จึงนำน้ำผสมโคล่าไปดับไฟเท่านั้น

    สิทธิโชค เศรษฐเศวต จำเลยในคดีนี้ ผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์ส่งอาหารวัย 26 ปี ขึ้นเบิกความโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 ตนได้ออกไปทำงานปกติ ในช่วงเวลา 11.00 น. แถวย่านสยามและเซ็นทรัลเวิร์ล โดยเดินทางไปกับแฟนสาว นั่งซ้อนท้ายกันไป

    ในวันนั้นพยานรับงานแรกเมื่อประมาณเวลา 12.00 น. จนถึงช่วงเวลา 14.00 น. ก่อนไปส่งอาหารลูกค้าครั้งสุดท้ายของช่วงเวลานั้นที่บริเวณย่านฝั่งธนบุรี จากนั้นก็ขับกลับมาเส้นทางจรัญสนิทวงศ์และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อมารับงานที่ร้านแมคโดนัลด์

    หลังพยานขับรถไปสักพักก็ทราบว่ามีการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เลยขับไปดูที่แยกผ่านฟ้าลีลาศตรงจุดบริเวณเกิดเหตุ แล้วจอดรถจักรยานยนต์ฝั่งตรงข้ามซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่เกิดเหตุ ประมาณ 10-20 เมตร ซึ่งถนนเส้นนั้นมุ่งหน้าไปทำเนียบรัฐบาล

    สิทธิโชคเบิกความถึงบรรยากาศโดยรอบว่า บริเวณนั้นมีนักศึกษาและนักข่าวรวมตัวกัน มีกองไฟจุดหนึ่งตรงซุ้มเฉลิมพระเกียรติ และกองไฟใหญ่ๆ รวม 2 จุด จุดที่จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องคือซุ้มเฉลิมพระเกียรติและกองไฟขนาดใหญ่ที่เผาหุ่นฟาง เนื่องจากไฟกระเด็นออกมาจากจุดเผาหุ่นฟางที่กลุ่มผู้ชุมนุมล้อมรั้วรอบไว้ และเริ่มลามออกมาข้างนอก พยานจึงหาน้ำมาดับไฟบริเวณดังกล่าว

    กลุ่มผู้ชุมนุมได้นำน้ำออกมาแจกจ่ายเพื่อควบคุมไฟไม่ให้ออกมาบริเวณนอกรั้ว ซึ่งพบว่าเป็นน้ำดื่มที่เก็บมาจากพื้น ภายหลังสามารถควบคุมเพลิงได้สำเร็จ

    สิทธิโชคเบิกความว่า เทคนิคในการควบคุมเพลิงคือจะต้องใช้กุญแจจักรยานยนต์ในการเจาะฝาเพื่อให้น้ำกระจายตัวและพรมทั่วบริเวณ หากเปิดขวดน้ำและเทออกรวดเดียวก็จะทำให้สิ้นเปลือง

    ต่อมา หลังจากควบคุมกองเพลิงดังกล่าวโดยใช้น้ำประมาณ 2 ขวด พยานเหลือบไปเห็นซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่มีไฟติดขึ้นมา จึงหยิบขวดน้ำอันใหม่มาจากรถจักรยานยนต์ฟู้ดแพนด้า ทำการเปลี่ยนฝาเป็นน้ำเปล่าผสมบิ๊กโคล่าสีม่วง ประกอบด้วยน้ำเปล่า 335 มล. และน้ำขวด 600 มล. ซึ่งเป็นน้ำที่จำเลยดื่มประจำ

    พยานได้พรมน้ำดื่มลงบนผ้าประดับพระบรมฉายาลักษณ์เพื่อให้เกิดความชื้น เปลวไฟจะได้ไม่ลุกลามไปจุดอื่น ก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งกับพยานบอกว่าให้ลงมาก่อน เดี๋ยวจะให้รถจีโน่ดับไฟให้ แต่พยานดับไฟเรียบร้อยแล้ว

    ประมาณ 10-15 นาทีให้หลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ฉีดน้ำตรงหุ่นฟางทั้งสองกอง และซุ้มเฉลิมพระเกียรติแต่น้ำอยู่ไกล รถจีโน่เข้าไปไม่ได้ เพราะมีนักศึกษาและผู้ชุมนุมกำลังอารมณ์พลุ่งพล่าน เจ้าหน้าที่เลยออกจากแนวรั้วไม่ได้

    ต่อมา พยานได้ออกจากที่เกิดเหตุไปรับงานส่งอาหารต่อ และเลิกงานรอบสุดท้ายคือช่วงประมาณเวลา 19.47 น.

    สิทธิโชคเบิกความว่า ตนมีความรู้เกี่ยวกับการดับเพลิง เนื่องจากเคยผ่านการอบรมมาก่อน ในกรณีที่น้ำน้อยฉีดเข้าไปในเชื้อเพลิงที่มีมากกว่า น้ำน้อยย่อมจะดับไฟไม่ได้ แต่ลักษณะของไฟที่ถูกน้ำพรมใส่จะเป็นอย่างไรแล้วแต่สภาพแวดล้อมและหลายปัจจัย เช่น อุณหภูมิ ทิศทางลม อุณหภูมิของสิ่งที่จุดไหม้ ปริมาณออกซิเจนโดยรอบ

    พยานไม่ได้มีใบรับรองประกอบวิชาชีพในการควบคุมเพลิง แต่บุคคลในกลุ่มอาสานักดับเพลิงได้สอนพยานและมาจากประสบการณ์จริงในการดับเพลิง เพราะเคยทำงานอาสามากับกลุ่มสมาคมวิทยุสื่อสาร ตั้งแต่อายุ 20 ปี จนถึงปัจจุบัน

    ช่วงอัยการถามค้าน สิทธิโชคเบิกความโดยสรุปว่า ตอนเกิดเหตุไม่ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ควบคุมเพลิง ไม่ได้ขอความร่วมมือจากกลุ่มคนที่อยู่ในบริเวณรอบซุ้มเฉลิมพระเกียรติให้เข้าช่วยควบคุมเพลิงแต่อย่างใด นอกจากพยานแล้ว ไม่มีใครใช้น้ำมาราดกองเพลิงอีก

    หลังถูกจับกุมคดีนี้ พยานรับว่าเคยเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ และเป็นสมาชิกกลุ่มสมาคมวิทยุสื่อสารประชาชนไทยตั้งแต่ปี 2563 แต่วันออกบัตรสมาชิกลงวันที่ 16 ก.ค. 2564 ซึ่งอาจจะเกิดความล่าช้าเพราะโควิด-19 และช่วงนั้นก็มีการล็อกดาวน์เกิดขึ้น

    .

    หลังสืบพยานทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้น ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 17 ม.ค. 2566 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2528/2564 ลงวันที่ 8 พ.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/52320)
  • สิทธิโชคเดินทางมาศาลพร้อมญาติที่มาให้กำลังใจ โดยมีทนายความ ผู้สังเกตการณ์คดีจาก iLaw และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้าร่วมฟังคำพิพากษาด้วย

    เวลา 09.45 น. ศาลออกนั่งพิจารณา และเริ่มอ่านคำพิพากษา มีเนื้อหาโดยสรุปว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดจริงหรือไม่ พิเคราะห์จากพยานหลักฐานแล้วเห็นว่า

    ในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทางพยานโจทก์ คือเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้เป็นประจักษ์พยาน เบิกความในทำนองเดียวกันว่า เห็นจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุจริง รวมถึงมีภาพกับคลิปวิดีโอเป็นหลักฐานยืนยัน พยานไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความตามความเป็นจริง การที่จำเลยอยู่ในที่ชุมนุมขณะที่มีการประกาศบังคับใช้ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงถือว่าเป็นความผิด

    แม้จำเลยจะอ้างว่า ขณะนั้นตนกำลังทำหน้าที่รับส่งอาหารหน้าร้านแมคโดนัลด์ และแวะหยุดดูการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าวแต่อย่างใด ศาลเห็นว่าคำเบิกความของจำเลย เป็นเพียงการเบิกความลอยๆ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยกำลังทำงานรับส่งอาหารตามที่กล่าวอ้าง

    กรณีความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ และมาตรา 112 พยานโจทก์ผู้เป็นประจักษ์พยาน เบิกความในทำนองเดียวกันว่า เห็นจำเลยบีบของเหลวสีม่วงใส่ผ้าประดับซุ้มฯ และไฟก็ลุกพรึบขึ้นมา รวมถึงมีภาพและคลิปวิดีโอเป็นหลักฐานยืนยันว่า จำเลยได้กระทำการดังกล่าวจริง

    ตามข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ที่โจทก์นำสืบรับฟังได้ว่า หากของเหลวดังกล่าวเป็นน้ำจริง ไฟจะไม่ลุกไหม้ขึ้นมา ศาลจึงเชื่อว่า ของเหลวดังกล่าวเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงหรือวัตถุไวไฟบางชนิด แม้ผลจากกองตรวจพิสูจน์หลักฐานจะไม่ปรากฏว่าผ้าประดับซุ้มฯ มีคราบน้ำมันเชื้อเพลิงหรือวัตถุไวไฟ ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะการส่งตรวจพิสูจน์ล่าช้า ทำให้สารดังกล่าวระเหยออกไปหมด

    การที่จำเลยเบิกความว่า ต้องการช่วยดับไฟนั้น เป็นการเบิกความลอยๆ ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ แม้ไฟจะไม่ได้ไหม้ลามไปถึงพระบรมฉายาลักษณ์ แต่การที่จำเลยบีบของเหลวใส่ฐานประดับที่มีไฟลุกไหม้อยู่แล้วนั้น ถือว่าจำเลยได้เล็งเห็นผลของการกระทำแล้วว่าไฟจะลุกลามไปถึงพระบรมฉายาลักษณ์ จึงถือว่าจำเลยเจตนาต้องการเผาพระบรมฉายาลักษณ์

    ศาลวินิจฉัยต่อว่า พยานผู้เชี่ยวชาญของโจทก์ยังเบิกความว่าในทรรศนะของสังคมไทย พระบรมฉายาลักษณ์มีค่าเท่าตัวบุคคล มีไว้กราบไหว้และเป็นที่เคารพสักการะ ต้องเก็บรักษาและดูแลไม่ให้เสื่อมเสียเกียรติ ไม่ควรแสดงเสรีภาพที่เป็นปฎิปักษ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด

    พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 217, มาตรา 358 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 6 เดือน ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ฯ, วางเพลิงเผาทรัพย์ และทำให้เสียทรัพย์ เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุด คือความผิดตามมาตรา 112 จำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี 4 เดือน

    หลังฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว ตำรวจศาลได้ใส่กุญแจมือสิทธิโชค และพาเขาลงไปรอที่ห้องเวรชี้ ขณะที่ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมขอวางเงินประกันตัวเพิ่มเติมจำนวน 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

    อย่างไรก็ตาม เวลา 12.27 น. ศาลอาญามีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา โดยศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งออกมาในอีก 2-3 วันข้างหน้า ในระหว่างนี้ สิทธิโชคจะถูกนำตัวไปคุมขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อน

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/52392)
  • ศาลอาญาอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวสิทธิโชคในระหว่างอุทธรณ์ ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยอุกอาจ ไม่ยำเกรงกฎหมายบ้านเมือง ทั้งยังกระทบต่อความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน พฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรง หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นหรืออาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”

    ทั้งนี้ สิทธิโชคได้เริ่มอดอาหารตั้งแต่วันแรกที่ถูกคุมขังเมื่อ 17 ม.ค. 2566 เพื่อประท้วงศาลที่เลือกปฏิบัติต่อผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองและไม่ให้สิทธิประกันตัว รวมถึงเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีการเมืองทุกคน

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขแดงที่ อ.55/2566 ลงวันที่ 18 ม.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/52392)
  • ที่ศาลอาญา ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวสิทธิโชคระหว่างอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 2 ต่อมา ศาลอาญามีคำสั่งให้ส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา

    คำร้องขอประกันของจำเลยโดยวางเงินสดเป็นหลักประกันจำนวน 100,000 บาท ระบุเหตุผลสำคัญดังนี้

    1. จำเลยประกอบธุรกิจเป็นพนักงานส่งอาหาร (เดลิเวอรี่) หากไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะส่งผลกระทบต่อครอบครัว เนื่องจากจำเลยมีภาระหน้าที่ต้องเลี้ยงดูครอบครัว ส่งเงินเลี้ยงดูให้ปู่ทุกเดือน ช่วยเลี้ยงดูแลแม่ของแฟน และหาเลี้ยงชีพตนเอง

    2. นับตั้งแต่ที่จำเลยถูกร้องทุกข์กล่าวโทษและถูกฟ้องเป็นคดีนี้ จำเลยได้ให้ความร่วมมือเข้าร่วมกระบวนการยุติธรรมโดยตลอด และปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลชั้นต้นหลังจากได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว รวมถึงไม่ได้ถูกดำเนินคดีอื่นในข้อหาลักษณะอย่างเดียวกับคดีนี้แต่อย่างใด ทำให้เห็นได้ว่าจำเลยไม่มีพฤติกรรมที่จะหลบหนี หรือก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นในอนาคตอีกแต่อย่างใด

    3. หากจำเลยได้รับอนุญาตปล่อยชั่วคราว จำเลยยินดีปฏิบัติตามเงื่อนไขเดิมที่ศาลชั้นต้นเคยกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราวจำเลยไว้ทุกประการ และยินดีติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) มารายงานตัวต่อศาลทุก 14 วัน และยินดีที่จะไม่เข้าร่วมการชุมนุมที่จะก่อให้เกิดความเสื่อเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง

    4. คดีนี้ ถึงแม้ว่าศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย แต่ยังมิได้ผ่านการพิจารณามีคำพิพากษาคดีถึงที่สุด อีกทั้ง การถูกฟ้องคดีในฐานความผิดที่มีอัตราโทษทางอาญามิได้เป็นเหตุผลเบ็ดเสร็จเพียงพอว่า จำเลยจะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี หรือเป็นอุปสรรค หรือก่อให้เกิดความเสียหายในการดำเนินคดีในศาลแต่ประการใด

    (อ้างอิง: คำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2528/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.55/2566 ลงวันที่ 24 ม.ค. 2566)
  • ศาลอาญาอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 25 ม.ค. 2566 ยังไม่ให้ประกันสิทธิโชค ระบุว่า "พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ยกคำร้อง"

    นอกจากการอดอาหารแล้วสิทธิโชคได้ตัดสินใจยกระดับการแสดงออกของตัวเองเป็นการอดอาหารและอดน้ำ (Dry Hunger Strike) ตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. 2566 เพื่อยืนหยัดตามข้อเรียกร้องของตัวเอง ซึ่งยังไม่ได้รับการตอบสนอง

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/52906)
  • ทนายความพร้อมกลุ่มญาติเข้ายื่นคำร้องขอประกันผู้ต้องขังคดีทางการเมืองที่ยังอยู่ระหว่างการต่อสู้คดีอีกครั้ง โดยยื่นประกันจำเลยทั้งหมด 11 ราย ที่ศาลอาญา รวมทั้งสิทธิโชค และยื่นประกันที่ศาลอาญากรุงเทพใต้อีก 1 ราย

    ต่อมา กีรติ กีรติยุติ ผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดีรวม 9 ราย ส่วนสิทธิโชครวมทั้งอุกฤษฏ์ ซึ่งคดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์มีคำสั่งให้ส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา
  • ศาลอาญาอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ ยังไม่ให้ประกันสิทธิโชค ระบุว่า "พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี 4 เดือน มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ยกคำร้อง"
  • ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอประกันสิทธิโชคระหว่างอุทธรณ์อีกครั้งเป็นครั้งที่ 4 โดยขอวางหลักประกันเป็นเงินสด 150,000 บาท พร้อมทั้งระบุในคำร้องว่า ยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขประกันที่ศาลกำหนดทุกเงื่อนไข รวมทั้งยินยอมให้ติด EM ซึ่งต่อมา ศาลอาญามีคำสั่งให้ส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา

    สิทธิโชคถูกส่งตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา หลังเขามีอาการไม่สู้ดีจากการอดอาหารและน้ำเรียกร้องสิทธิประกันตัว
  • ศาลอาญาอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ ยังไม่ให้ประกันสิทธิโชค ระบุในคำสั่งว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหา และพฤติการณ์แห่งคดี ศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ยกคำร้อง”

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/53277)
  • ทนายความยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยอ้างถึงคดีมาตรา 112 ของสมบัติ ทองย้อย, อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์, ภัคภิญญา และมงคล ถิระโคตร ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกสูงกว่าคดีนี้ แต่ศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ยังมีคำสั่งให้ประกันระหว่างอุทธรณ์

    (อ้างอิง: คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยต่อศาลฎีกา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2528/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.55/2566 ลงวันที่ 9 ก.พ. 2566)
  • ศาลอาญาอ่านคำสั่งศาลฎีกา อนุญาตให้ประกันสิทธิโชคระหว่างอุทธรณ์ ความว่า "พิเคราะห์แล้วศาลชั้นต้นพิพักษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่สูงมากนัก และจำเลยเคยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาก่อน ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ตีราคาประกัน 130,000 บาท ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาหลักประกันและดำเนินการต่อไป"

    ต่อมา ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ตามคำสั่งศาลฎีกาโดยให้วางหลักประกัน 130,000 บาท ทำให้สิทธิโชคได้รับการปล่อยตัวในช่วงเย็นที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ หลังกองทุนราษฎรประสงค์วางเงินประกันต่อศาล รวมเวลาถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ทั้งสิน 25 วัน อย่างไรก็ตาม สิทธิโชคยังคงต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลก่อน เนื่องจากหมอมีความเห็นว่าร่างกายอ่อนแอ

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สิทธิโชค เศรษฐเศวต

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สิทธิโชค เศรษฐเศวต

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 17-01-2023

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สิทธิโชค เศรษฐเศวต

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์