สรุปความสำคัญ

นัฏฐพล (สงวนนามสกุล) พ่อค้าวัย 26 ปี ประกอบอาชีพค้าขาย ถูก ปอท. ดำเนินคดีในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยถูกกล่าวหาจากการแสดงความคิดเห็นในโพสต์ของ “Somsak Jeamteerasakul” เกี่ยวกับข่าวลือถึงอาการป่วยของรัชกาลที่ 10 เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2564

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้าง ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • นัฏฐพล (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

15 ก.ย. 2564 ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) “นัฏฐพล” (สงวนนามสกุล) วัย 26 ปี พร้อมทนายความและบุคคลผู้ไว้วางใจเดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียกลงวันที่ 27 ส.ค. 2564 ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

ร.ต.อ.ฐานันดร สาสูงเนิน รองสารวัตร (สอบสวน) ปรก.ฯ กก.3 บก.ปอท. พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์แห่งคดีให้นัฏฐพลทราบว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2564 เวลากลางวัน พ.ต.ต.กิตติพงศ์ อมฤตโอฬาร ผู้กล่าวหา ได้รับคําสั่งจากผู้บังคับบัญชาทําการตรวจสอบโพสต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “Somsak Jeamteerasakul” ซึ่งโพสต์ข้อความว่า “มีข่าวลือว่า วชิราลงกรณ์ป่วย อยู่ศิริราช มีใครยืนยันข่าวนี้ได้บ้าง?” โพสต์เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 เวลา 16.50 น.

ต่อมาในวันเดียวกัน ได้มีผู้ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กอีกราย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็น (Comment) ตอบกลับไป โดยผู้กล่าวหาระบุว่า เป็นข้อความดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในลักษณะสาปแช่งให้เป็นตายแบบทรมาน เป็นการจองเวร อาฆาต ประกอบโพสต์ข้อความการนําเสนอข้อมูลบิดเบือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อประชาชนทั่วไปได้พบเห็นทําให้เกิดความเสียหาย เสื่อมเสียพระเกียรติยศ และเป็นการดูหมิ่น ด้อยค่าพระมหากษัตริย์

พนักงานสอบสวนระบุว่า จากการสืบสวนน่าเชื่อว่า เฟซบุ๊กที่โพสต์คอมเมนท์ดังกล่าวเป็นของนัฏฐพล จึงแจ้ง 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

ด้านนัฏฐพลได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายในวันที่ 15 ต.ค. 2564 โดยได้ลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาไว้ จากนั้นนัฏฐพลได้รับการปล่อยตัว โดยไม่ถูกควบคุมตัวไว้

นัฏฐพลระบุว่า ตนเป็นประชาชนอีกคนหนึ่งที่ติดตามการเมืองไทยมาตลอด โดยแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเมืองบนโลกออนไลน์อยู่บ้าง หลังจากได้รับหมายเรียก ตนรู้สึกตกใจ ไม่รู้ว่าตัวเองไปโพสต์จากเรื่องไหน เนื่องจากส่วนใหญ่ไปแสดงความเห็นตามเพจต่าง ๆ ในเชิงตลกโปกฮาเสียมากกว่า หลังจากนี้กังวลว่าข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นอาจจะกระทบกับการงานที่ทำอยู่ และกล่าวปิดท้ายว่า หลังจากนี้ตนอาจจะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันฯ น้อยลง หรืออาจจะแสดงความคิดเห็นที่รอบคอบกว่านี้ แต่ก็พร้อมจะต่อสู้คดีที่ถูกกล่าวหาต่อไป

(อ้างอิง: บันทึกแจ้งกข้อกล่าวหา กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 15 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35068)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์