ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.2626/2566

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ต.กิตติพงศ์ อมฤตโอฬาร สว.กก.3 บก.ปอท. (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.2626/2566
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ต.กิตติพงศ์ อมฤตโอฬาร สว.กก.3 บก.ปอท.

ความสำคัญของคดี

นัฏฐพล (สงวนนามสกุล) พ่อค้าวัย 26 ปี ประกอบอาชีพค้าขาย ถูก ปอท. ดำเนินคดีในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยถูกกล่าวหาจากการแสดงความคิดเห็นในโพสต์ของ “Somsak Jeamteerasakul” เกี่ยวกับข่าวลือถึงอาการป่วยของรัชกาลที่ 10 เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2564

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้าง ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พรทิพย์ บุตรภักดิ์ พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 เวลากลางวัน ได้มีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก “Somsak Jeamteerasakul” โพสต์ข้อความว่า “มีข่าวลือว่า วชิราลงกรณ์ป่วยอยู่ศิริราช มีใครยืนยันข่าวนี้ได้บ้าง?” ซึ่งตั้งค่าเปิดเป็นสาธารณะ ต่อมาวันเดียวกันภายหลังจากนั้นได้มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กอีกรายโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็น (Comment) ตอบกลับไปใต้โพสต์ดังกล่าว พร้อมแนบภาพการ์ตูน

ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปที่พบเห็นข้อความที่จําเลยได้โพสต์ดังกล่าว เข้าใจได้ว่า รัชกาลที่ 10 ถูกสาปแช่งให้ตายอย่างทรมาน เป็นการจองเวร อาฆาต อันเป็นการดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 ทําให้ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปเกิดความเข้าใจผิดต่อรัชกาลที่ 10 และสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ จนอาจนํามาซึ่งความเกลียดชังหรือความแตกแยกในสังคม และเป็นข้อมูลที่บิดเบือนต่อสถาบันฯ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2626/2566 ลงวันที่ 4 ก.ย. 2566)

ความคืบหน้าของคดี

  • ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) “นัฏฐพล” (สงวนนามสกุล) วัย 26 ปี พร้อมทนายความและบุคคลผู้ไว้วางใจเดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียกลงวันที่ 27 ส.ค. 2564 ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    ร.ต.อ.ฐานันดร สาสูงเนิน รองสารวัตร (สอบสวน) ปรก.ฯ กก.3 บก.ปอท. พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์แห่งคดีให้นัฏฐพลทราบว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2564 เวลากลางวัน พ.ต.ต.กิตติพงศ์ อมฤตโอฬาร ผู้กล่าวหา ได้รับคําสั่งจากผู้บังคับบัญชาทําการตรวจสอบโพสต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “Somsak Jeamteerasakul” ซึ่งโพสต์ข้อความว่า “มีข่าวลือว่า วชิราลงกรณ์ป่วย อยู่ศิริราช มีใครยืนยันข่าวนี้ได้บ้าง?” โพสต์เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 เวลา 16.50 น.

    ต่อมาในวันเดียวกัน ได้มีผู้ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กอีกราย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็น (Comment) ตอบกลับไป โดยผู้กล่าวหาระบุว่า เป็นข้อความดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในลักษณะสาปแช่งให้เป็นตายแบบทรมาน เป็นการจองเวร อาฆาต ประกอบโพสต์ข้อความการนําเสนอข้อมูลบิดเบือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อประชาชนทั่วไปได้พบเห็นทําให้เกิดความเสียหาย เสื่อมเสียพระเกียรติยศ และเป็นการดูหมิ่น ด้อยค่าพระมหากษัตริย์

    พนักงานสอบสวนระบุว่า จากการสืบสวนน่าเชื่อว่า เฟซบุ๊กที่โพสต์คอมเมนท์ดังกล่าวเป็นของนัฏฐพล จึงแจ้ง 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    ด้านนัฏฐพลได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายในวันที่ 15 ต.ค. 2564 โดยได้ลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาไว้ จากนั้นนัฏฐพลได้รับการปล่อยตัว โดยไม่ถูกควบคุมตัวไว้

    นัฏฐพลระบุว่า ตนเป็นประชาชนอีกคนหนึ่งที่ติดตามการเมืองไทยมาตลอด โดยแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเมืองบนโลกออนไลน์อยู่บ้าง หลังจากได้รับหมายเรียก ตนรู้สึกตกใจ ไม่รู้ว่าตัวเองไปโพสต์จากเรื่องไหน เนื่องจากส่วนใหญ่ไปแสดงความเห็นตามเพจต่าง ๆ ในเชิงตลกโปกฮาเสียมากกว่า หลังจากนี้กังวลว่าข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นอาจจะกระทบกับการงานที่ทำอยู่ และกล่าวปิดท้ายว่า หลังจากนี้ตนอาจจะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันฯ น้อยลง หรืออาจจะแสดงความคิดเห็นที่รอบคอบกว่านี้ แต่ก็พร้อมจะต่อสู้คดีที่ถูกกล่าวหาต่อไป

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งกข้อกล่าวหา กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 15 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35068)
  • นัฏฐพลไปพบพนักงานสอบสวนตามนัด ก่อนพนักงานสอบสวนส่งตัวให้อัยการที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 อัยการนัดฟังคำสั่งในวันที่ 18 ก.ค. 2565
  • เวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญา นัฏฐพลเดินทางไปในนัดฟังคำสั่งอัยการ หลังอัยการนัดหมายทุกเดือน ก่อนแจ้งล่วงหน้าว่า อัยการมีคำสั่งฟ้องคดีแล้วและจะยื่นฟ้องในวันนี้ โดยพนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนัฏฐพลในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)

    สำหรับคำฟ้อง พรทิพย์ บุตรภักดิ์ พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 เวลากลางวัน ได้มีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก “Somsak Jeamteerasakul” โพสต์ข้อความว่า “มีข่าวลือว่า วชิราลงกรณ์ป่วยอยู่ศิริราช มีใครยืนยันข่าวนี้ได้บ้าง?” ซึ่งตั้งค่าเปิดเป็นสาธารณะ ต่อมาวันเดียวกันภายหลังจากนั้นได้มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กอีกรายโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็น (Comment) ตอบกลับไปใต้โพสต์ดังกล่าว พร้อมแนบภาพการ์ตูน

    อัยการระบุว่า ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปที่พบเห็นข้อความที่จําเลยได้โพสต์ดังกล่าว เข้าใจได้ว่า รัชกาลที่ 10 ถูกสาปแช่งให้ตายอย่างทรมาน เป็นการจองเวร อาฆาต อันเป็นการดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 ทําให้ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปเกิดความเข้าใจผิดต่อรัชกาลที่ 10 และสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ จนอาจนํามาซึ่งความเกลียดชังหรือความแตกแยกในสังคม และเป็นข้อมูลที่บิดเบือนต่อสถาบันฯ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

    ภายหลังศาลรับฟ้อง และทนายยื่นประกัน เวลา 16.50 น. ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนัฏฐพลระหว่างพิจารณาคดี ด้วยวงเงินประกัน 90,000 บาท ซึ่งใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลยังกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกฟ้องซ้ำอีก พร้อมทั้งนัดประชุมคดีเพื่อสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 27 พ.ย. 2566 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2626/2566 ลงวันที่ 4 ก.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/59165)
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังก่อนถามคำให้การ นัฏฐพลให้การรับสารภาพตามฟ้อง และขอยื่นคำแถลงประกอบคำรับสารภาพภายใน 15 วัน ศาลอนุญาตและมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจความประพฤติจำเลยรายงานต่อศาลก่อนอ่านคำพิพากษาไม่น้อยกว่า 7 วัน นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 11 ม.ค. 2567 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2626/2566 ลงวันที่ 27 พ.ย. 2566)
  • ที่ห้อง 913 เวลา 09.00 น. ศาลได้อ่านพิพากษาโดยสรุปแต่เพียงสั้น ๆ ในส่วนของการพิจารณากำหนดโทษว่า พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหมายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยไม่มีเหตุให้รอลงอาญา

    ทั้งนี้ ศาลได้แจ้งกับทนายความของนัฏฐพลว่า แม้รายงานการสืบเสาะจะระบุว่า เห็นควรให้รอลงอาญา แต่ศาลเห็นว่าข้อความที่ถูกกล่าวหานั้นรุนแรง ไม่ได้อยู่ในวิสัยที่จะรอลงอาญาได้

    เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาแล้วเสร็จ นัฏฐพลจึงถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปยังห้องขังใต้ถุนศาลทันทีระหว่างรอการยื่นประกันตัว

    ต่อมาเวลาประมาณ 16.22 น. ศาลอนุญาตให้ประกันตัวนัฏฐพลระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา โดยให้วางหลักประกันเป็นจำนวน 100,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล

    ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า มีคดีมาตรา 112 จากการแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งถูกแจ้งความไว้ที่ บก.ปอท. ไม่น้อยกว่า 4 คดี โดยคดีนี้เป็นคดีที่ 2 ที่ศาลอาญามีคำพิพากษา ก่อนหน้านี้มีคดีของ “ปาฏิหาริย์” ที่ให้การรับสารภาพ และศาลลงโทษเช่นเดียวกับคดีนี้ โดยให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์เช่นกัน

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/63034)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นัฏฐพล (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นัฏฐพล (สงวนนามสกุล)

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 11-01-2024

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นัฏฐพล (สงวนนามสกุล)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์