สรุปความสำคัญ

“บิ๊ก” เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถูกดำเนินคดีในข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ สน.ชนะสงคราม จากกรณีปราศรัยถึงสถาบันกษัตริย์ในงานรำลึก 45 ปี 6 ตุลา 2519

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี ถูกใช้เป็นเครื่องมือปิดปากบุคคลที่ใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยสงบ

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

29 ม.ค. 2565 “บิ๊ก” เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พร้อมทนายความ เดินทางไปที่ สน.ชนะสงคราม เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีปราศรัยในงานรำลึก 45 ปี 6 ตุลา 2519 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2564 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.ชนะสงคราม แจ้งข้อกล่าวหาเกียรติชัย ระบุว่า เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2564 เวลาประมาณ 06.00 น.- 20.00 น. ได้มีกลุ่มมวลชนและกลุ่มบุคคลต่าง ๆ นัดหมายกันมาจัดกิจกรรม รําลึก 45 ปี 6 ตุลา 2519 ที่บริเวณภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

จนเวลา 18.40-19.00 น. เกียรติชัยได้พูดปราศรัยต่อหน้าบุคคลจํานวนมากที่มาร่วมกิจกรรมดังกล่าว เนื้อหาถ้อยคําปราศรัยอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยสรุป กล่าวถึงที่มาที่ไปของมาตรา 112 โดยเกียรติชัยเห็นว่า มาตราดังกล่าวเป็นผลพวงมาจากการรัฐประหาร 2490 โดยในปี 2499 มีการแก้ไขกฎหมาย (ประมวลกฎหมายอาญา) เปลี่ยนจากมาตรา 97 เป็นมาตรา 112 ในปัจจุบัน และจากความผิดฐานประทุษร้ายต่อพระมหากษัตริย์ เป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งทุกคนสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้ และยังมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอีกครั้งในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ซึ่งได้แก้ไขโทษจากจำคุกไม่เกิน 7 ปี มาเป็น 3-15 ปี

นอกจากนี้เขาได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ของฝ่ายขวา เช่น กลุ่มนวพล กลุ่มกระทิงแดง และกลุ่มลูกเสือชาวบ้านกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งภายหลังกลุ่มดังกล่าวได้ออกเข่นฆ่านักศึกษาที่ในช่วงเวลานั้นถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ก่อนจะจบการปราศรัยด้วยการยืนยันว่าตนกำลังปกป้องสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้ล้มล้างแต่อย่างใด

พ.ต.ท.ยุทธนา รัตนแพทย์ ผู้กล่าวหา อ้างว่าถ้อยคำปราศรัยดังกล่าว มีลักษณะของการกระทำที่มิบังควร จาบจ้วง ล่วงเกิน หรือกระทำให้ระคายเคืองเบื้องยุคลบาท ต่อองค์พระมหากษัตริย์ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงมาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน

หลังพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา เกียรติชัยให้การปฏิเสธ ทั้งยังปฏิเสธการพิมพ์ลายนิ้วมือ ทำให้พนักงานสอบสวนแจ้งว่าจะนัดเกียรติชัยมาแจ้งข้อกล่าวหาจากการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานอีกครั้งหนึ่ง

เกียรติชัยยังระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวภายหลังเข้ารับทราบข้อกล่าวหาว่า “พื้นที่มหาลัยที่ควรจะเป็นพื้นที่เสรีในการแสดงความคิดเห็นและสิ่งที่ตนปราศรัยเป็นข้อมูลที่มีบันทึกอย่างเป็นทางการ การปราศรัยดังกล่าวเป็นเพียงการรำลึกและย้ำเตือนให้คนเห็นถึงความสำคัญของเหตุการณ์ 6 ตุลาที่เป็นการสังหารหมู่ (massacre) โดยรัฐ และได้สร้างมรดกเลือดไว้คือมาตรา 112 นอกจากนี้ คดีดังกล่าวยังเป็นการตอกย้ำความรุนแรงโดยรัฐในมหาวิทยาลัยอีกครั้ง แม้เหตุการณ์จะผ่านแล้วกว่า 46 ปี แต่รัฐก็ยังใช้ความรุนแรงผ่านกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว”

คดีนี้นับเป็นคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ คดีที่ 3 ที่เกียรติชัยถูกแจ้งข้อกล่าวหา โดยก่อนหน้านี้ เขาถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 จากการปราศรัยในการชุมนุม #ไปสภาไล่ขี้ข้าศักดินา ที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2563 และ #ม็อบ24มิถุนา #ราษฎรยืนยันดันเพดาน บริเวณสกายวอล์คปทุมวัน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564

(อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สน.ชนะสงคราม ลงวันที่ 29 ม.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40080)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์