สรุปความสำคัญ

"ภูมิ หัวลำโพง" (นามสมมติ) นักกิจกรรมเยาวชนวัย 17 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุม หลังเข้าร่วมชุมนุมหน้า สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ในวันที่ 14 ม.ค. 2564 เรียกร้องให้ปล่อยตัว “นิว” สิริชัย นาถึง ซึ่งถูกจับกุมในยามวิกาลด้วยข้อหามาตรา 112 โดยถูกกล่าวหาว่าร่วมกับนักกิจกรรมอีก 8 ราย ปาอาหารหมาใส่พระบรมฉายาลักษณ์ รวมทั้งกล่าวถ้อยคำใส่ความรัชกาลที่ 10

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ถูกตีความอย่างกว้าง กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งการดำเนินคดีกับเยาวชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเด็กตามพันธกรณีระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยได้ลงนามให้สัตยาบันไว้ต่อประชาคมโลก อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมไทยยังมีแนวโน้มที่จะสร้างภาระทางคดีแก่เยาวชนมากกว่าผู้ใหญ่อีกด้วย

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • “ภูมิ หัวลำโพง” (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

5 ก.พ. 2564 หลังพนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง ออกหมายเรียกนักกิจกรรม-นักศีกษา-เยาวชน รวม 12 ราย ให้เข้ารับข้อกล่าวหากรณีชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว “นิว” สิริชัย นาถึง กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งถูกจับกุมในข้อหามาตรา 112 ยามวิกาลของวันที่ 13 ม.ค. 2564 โดยมี พ.ต.ท.เศกสรรค์ บัวเรือง เป็นผู้กล่าวหา

ทั้ง 12 ราย ได้แก่ เบนจา อะปัญ, พริษฐ์ ชิวารักษ์, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ณัฐชนน ไพโรจน์, ชลทิศ โชติสวัสดิ์, ชนินทร์ วงษ์ศรี, ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, ภาณุพงศ์ จาดนอก, ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์, อรรถพล บัวพัฒน์, พรหมศร วีระธรรมจารี รวมถึงเยาวชนอายุ 17 ปี 1 ราย คือ “ภูมิ หัวลำโพง” (นามสมมติ) จึงเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาพร้อมทนายความ

ในส่วนของภูมิ พนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่า ในช่วงวันที่ 14 ม.ค. 2564 เวลา 02.00 – 03.50 น. ภูมิและพวกได้มาร่วมชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ที่หน้า สภ.คลองหลวง โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และยังเป็นการจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19

ผู้ชุมนุมมีการโปรยอาหารสัตว์ และขว้างอาหารใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ ทั้งยังร่วมกันน้ำเปล่าและน้ำแดงมาเทลงที่บันไดทางขึ้นพร้อมจุดธูป และมีการพูดใส่ไมค์คล้ายการพูดประกอบพิธีงานศพ พร้อมเปิดเพลงธรณีกันแสง เปรียบเสมือนการไว้อาลัยแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ และยังมีการขว้างปาอาหารสัตว์ใส่พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ที่ติดตั้งอยู่บริเวณหน้า สภ.คลองหลวง

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาภูมิทั้งหมด 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ร่วมกันจัดกิจกรรมและร่วมกันชุมนุมซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะแออัดหรือติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย, ร่วมกันกระทำการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นเหตุให้โรคแพร่ระบาดออกไป, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้า หรือผู้สั่งการ และร่วมกันดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งได้กระทำตามหน้าที่ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรค 3, มาตรา 136

เนื่องจากในวันนี้มีเพียงที่ปรึกษากฎหมายเข้าร่วมกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาภูมิ ซึ่งเป็นเยาวชน ไม่มีนักสังคมสงเคราะห์หรือนักจิตวิทยาเข้าร่วม พนักงานสอบสวนจึงยังไม่ได้สอบปากคำ และได้นัดหมายให้ภูมิไปพบที่สำนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี เพื่อสอบสวนแบบสหวิชาชีพต่อไปในวันที่ 10 ก.พ. 2564

11 มี.ค. 2564 ภูมิพร้อมที่ปรึกษากฎหมายเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังได้รับหมายเรียก

ทั้งนี้ ในจำนวนนักกิจกรรม 12 ราย ที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวสิริชัย หน้า สภ.คลองหลวง ในวันที่ 14 ม.ค. 2564 มีจำนวน 9 ราย ที่ถูกเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เพิ่มเติม นอกจากภูมิที่เป็นเยาวชนก็มี เบนจา, ณัฐชนน, ชลทิศ, พรหมศร, ณวรรษ, ภาณุพงศ์, พริษฐ์ และปนัสยา

พนักงานสอบสวนได้บรรยายพฤติการณ์ที่กล่าวหาเป็นความผิดตามมาตรา 112 ว่า “ร่วมกันกระทําผิดโดยการขว้างปาอาหารสุนัขชนิดเม็ด ไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อเปรียบเทียบผู้ปฏิบัติหน้าที่ดังเช่นเจ้าหน้าที่ตํารวจ เป็นเหมือนสุนัข และพระมหากษัตริย์ เป็นเจ้าของสุนัข”

อีกทั้งพรหมศรได้กล่าวโดยชัดเจนที่วิญญูชนสามารถเข้าใจได้ทันทีว่า ผู้กระทําผิดประสงค์ที่จะขว้างปาไปยังพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ และเป็นสิ่งซึ่งประชาชนชาวไทยทั่วไปเคารพ สักการะบูชา เสมือนหนึ่งแทนพระองค์ โดยการกล่าวถ้อยคํา จวบจ้วง เสียดสีด้วยวาจา อันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

พนักงานสอบสวนยังได้บรรยายข้อความที่ผู้ชุมนุมปราศรัยที่ด้านหน้า สภ.คลองหลวง ก่อนระบุว่า การกระทําผิดดังกล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นการร่วมกันกระทําผิด โดยการดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต่อประชาชนทั่วไปที่อยู่ในที่เกิดเหตุซึ่งเป็นบุคคลที่สาม และแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพิ่มเติมกับภูมิ โดยภูมิให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

(อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สภ.คลองหลวง ลงวันที่ 5 และ ก.พ. 2564, https://tlhr2014.com/archives/25761 และ https://tlhr2014.com/archives/26923)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์