ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน (มาตรา 136)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยเป็นแกนนำ (มาตรา 215 วรรคสาม)
ดำ ยชอ.210/2565
แดง ยชอ.303/2566

ผู้กล่าวหา
  • ไม่ทราบชื่อ (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • การชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยเป็นแกนนำ (มาตรา 215 วรรคสาม)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน (มาตรา 136)

หมายเลขคดี

ดำ ยชอ.210/2565
แดง ยชอ.303/2566
ผู้กล่าวหา
  • 1

ความสำคัญของคดี

"ภูมิ หัวลำโพง" (นามสมมติ) นักกิจกรรมเยาวชนวัย 17 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุม หลังเข้าร่วมชุมนุมหน้า สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ในวันที่ 14 ม.ค. 2564 เรียกร้องให้ปล่อยตัว “นิว” สิริชัย นาถึง ซึ่งถูกจับกุมในยามวิกาลด้วยข้อหามาตรา 112 โดยถูกกล่าวหาว่าร่วมกับนักกิจกรรมอีก 8 ราย ปาอาหารหมาใส่พระบรมฉายาลักษณ์ รวมทั้งกล่าวถ้อยคำใส่ความรัชกาลที่ 10

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ถูกตีความอย่างกว้าง กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งการดำเนินคดีกับเยาวชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเด็กตามพันธกรณีระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยได้ลงนามให้สัตยาบันไว้ต่อประชาคมโลก อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมไทยยังมีแนวโน้มที่จะสร้างภาระทางคดีแก่เยาวชนมากกว่าผู้ใหญ่อีกด้วย

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ศราวุธ เสียงแจ้ว พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 บรรยายใจความโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564 จำเลยกับพวกได้ร่วมกันชุมนุมในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาด ทั้งมีการขว้างปาอาหารสุนัขชนิดเม็ดไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเหนือป้ายชื่อ สภ.คลองหลวง

อีกทั้งยังกล่าวถ้อยคำที่ประชาชนทั่วไปสามารถฟังแล้วเข้าใจได้ทันทีว่า จำเลยกับพวกประสงค์ที่จะขว้างปาอาหารสุนัขไปยังพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ และเป็นสิ่งซึ่งประชาชนชาวไทยทั่วไปเคารพ สักการะบูชา เสมือนหนึ่งแทนพระองค์ และยังกล่าวถ้อยคํา จวบจ้วง เสียดสีด้วยวาจา อันเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพนะมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง โดยจำเลยมีเจตนาทำลายสถาบันกษัตริย์ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง คดีหมายเลขดำที่ ยชอ.210/2565 ลงวันที่ 2 ก.ย. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังพนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง ออกหมายเรียกนักกิจกรรม-นักศีกษา-เยาวชน รวม 12 ราย ให้เข้ารับข้อกล่าวหากรณีชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว “นิว” สิริชัย นาถึง กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งถูกจับกุมในข้อหามาตรา 112 ยามวิกาลของวันที่ 13 ม.ค. 2564 โดยมี พ.ต.ท.เศกสรรค์ บัวเรือง เป็นผู้กล่าวหา

    ทั้ง 12 ราย ได้แก่ เบนจา อะปัญ, พริษฐ์ ชิวารักษ์, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ณัฐชนน ไพโรจน์, ชลทิศ โชติสวัสดิ์, ชนินทร์ วงษ์ศรี, ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, ภาณุพงศ์ จาดนอก, ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์, อรรถพล บัวพัฒน์, พรหมศร วีระธรรมจารี รวมถึงเยาวชนอายุ 17 ปี 1 ราย คือ “ภูมิ หัวลำโพง” (นามสมมติ) จึงเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาพร้อมทนายความ

    ในส่วนของภูมิ พนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่า ในช่วงวันที่ 14 ม.ค. 2564 เวลา 02.00 – 03.50 น. ภูมิและพวกได้มาร่วมชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ที่หน้า สภ.คลองหลวง โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง แกนนำมีการพูดปราศรัยโจมตีการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปลุกเร้า โดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อกดดันการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ สภ.คลองหลวง และยังเป็นการจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ลักษณะมั่วสุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายในลักษณะแออัดและเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

    ผู้ชุมนุมมีการนำผ้าสีขาวมีข้อความสีดำและแดงว่า “คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย” พร้อมรูปวาดบุคคล จิตร ภูมิศักดิ์ มาปูที่พื้น พร้อมโปรยอาหารสัตว์ และขว้างอาหารใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ ทั้งยังร่วมกันน้ำเปล่าและน้ำแดงมาเทลงที่บันไดทางขึ้นพร้อมจุดธูป และมีการพูดใส่ไมค์คล้ายการพูดประกอบพิธีงานศพ พร้อมเปิดเพลงธรณีกันแสง เปรียบเสมือนการไว้อาลัยแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ และยังมีการขว้างปาอาหารสัตว์ใส่พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ที่ติดตั้งอยู่บริเวณหน้า สภ.คลองหลวง

    พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาภูมิทั้งหมด 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ร่วมกันจัดกิจกรรมและร่วมกันชุมนุมซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะแออัดหรือติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย, ร่วมกันกระทำการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นเหตุให้โรคแพร่ระบาดออกไป, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้า หรือผู้สั่งการ และร่วมกันดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งได้กระทำตามหน้าที่ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรค 3, มาตรา 136

    เนื่องจากในวันนี้มีเพียงที่ปรึกษากฎหมายเข้าร่วมกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาภูมิ ซึ่งเป็นเยาวชน ไม่มีนักสังคมสงเคราะห์หรือนักจิตวิทยาเข้าร่วม พนักงานสอบสวนจึงยังไม่ได้สอบปากคำ และได้นัดหมายให้ภูมิไปพบที่สำนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี เพื่อสอบสวนแบบสหวิชาชีพต่อไปในวันที่ 10 ก.พ. 2564

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สภ.คลองหลวง ลงวันที่ 5 ก.พ. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/25761)
  • ภูมิพร้อมที่ปรึกษากฎหมายเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังได้รับหมายเรียก

    ทั้งนี้ ในจำนวนนักกิจกรรม 12 ราย ที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวสิริชัย หน้า สภ.คลองหลวง ในวันที่ 14 ม.ค. 2564 มีจำนวน 9 ราย ที่ถูกเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เพิ่มเติม นอกจากภูมิที่เป็นเยาวชนก็มี เบนจา, ณัฐชนน, ชลทิศ, พรหมศร, ณวรรษ, ภาณุพงศ์, พริษฐ์ และปนัสยา

    พนักงานสอบสวนได้บรรยายพฤติการณ์ที่กล่าวหาเป็นความผิดตามมาตรา 112 ว่า “ร่วมกันกระทําผิดโดยการขว้างปาอาหารสุนัขชนิดเม็ด ไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อเปรียบเทียบผู้ปฏิบัติหน้าที่ดังเช่นเจ้าหน้าที่ตํารวจ เป็นเหมือนสุนัข และพระมหากษัตริย์ เป็นเจ้าของสุนัข”

    อีกทั้งพรหมศรได้กล่าวโดยชัดเจนที่วิญญูชนสามารถเข้าใจได้ทันทีว่า ผู้กระทําผิดประสงค์ที่จะขว้างปาไปยังพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ และเป็นสิ่งซึ่งประชาชนชาวไทยทั่วไปเคารพ สักการะบูชา เสมือนหนึ่งแทนพระองค์ โดยการกล่าวถ้อยคํา จวบจ้วง เสียดสีด้วยวาจา อันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    พนักงานสอบสวนยังได้บรรยายข้อความที่ผู้ชุมนุมปราศรัยที่ด้านหน้า สภ.คลองหลวง ก่อนระบุว่า การกระทําผิดดังกล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นการร่วมกันกระทําผิด โดยการดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต่อประชาชนทั่วไปที่อยู่ในที่เกิดเหตุซึ่งเป็นบุคคลที่สาม และแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพิ่มเติมกับภูมิ โดยภูมิให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม สภ.คลองหลวง ลงวันที่ 11 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/26923)
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 ยื่นฟ้องภูมิต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และดูหมิ่นเจ้าพนักงาน

    คำฟ้องโดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564 จำเลยกับพวกได้ร่วมกันชุมนุมในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาด ทั้งมีการขว้างปาอาหารสุนัขชนิดเม็ดไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเหนือป้ายชื่อ สภ.คลองหลวง

    อีกทั้งยังกล่าวถ้อยคำที่ประชาชนทั่วไปสามารถฟังแล้วเข้าใจได้ทันทีว่า จำเลยกับพวกประสงค์ที่จะขว้างปาอาหารสุนัขไปยังพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ และเป็นสิ่งซึ่งประชาชนชาวไทยทั่วไปเคารพ สักการะบูชา เสมือนหนึ่งแทนพระองค์ และยังกล่าวถ้อยคํา จวบจ้วง เสียดสีด้วยวาจา อันเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพนะมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง โดยจำเลยมีเจตนาทำลายสถาบันกษัตริย์ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา

    ในวันที่อัยการยื่นฟ้องนี้ ภูมิถูกคุมขังระหว่างสอบสวนอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในคดี #ม็อบ14มิถุนา65 ตามหมายขังของศาลอาญา

    คดีนี้เดิมอยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปทุมธานี ตามท้องที่เกิดเหตุ คือ สภ.คลองหลวง แต่เนื่องจากภูมิพักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และประสงค์ให้พิจารณาคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง จึงมีการยื่นฟ้องคดีที่ศาลนี้ โดยศาลนัดสอบถามในวันที่ 25 ต.ค. 2565

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง คดีหมายเลขดำที่ ยชอ.210/2565 ลงวันที่ 2 ก.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/60688)
  • นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 18-20, 25 ต.ค. 2566 สืบพยานจำเลยวันที่ 26,27 ต.ค. 2566
  • ที่ห้องพิจารณาที่ 1 ภูมิเดินทางมาศาล พร้อมผู้ปกครอง และที่ปรึกษากฎหมาย ศาลออกนั่งพิจารณาคดีในเวลา 10.00 น.

    ก่อนเริ่มการสืบพยาน ศาลได้อ่านคำฟ้องและคำขอนับโทษต่อของโจทก์ให้จำเลยฟัง ภูมิลุกขึ้นแถลงต่อศาล ขอถอนคำให้การซึ่งปฎิเสธไว้เดิม และให้การใหม่เป็นรับสารภาพ

    ศาลได้เรียกภูมิมาสอบถามถึงประวัติครอบครัว และการศึกษา ภูมิแถลงว่า ปัจจุบันทำงานอาสาในหน่วยกู้ภัย และกำลังจะสมัครเรียน กศน. ต่อ รวมถึงอาศัยอยู่กับผู้ปกครองซึ่งก็คืออาม่าเพียงสองคน ภูมิแถลงว่า ยินดีจะปฏิบัติตามเงื่อนไขทุกอย่างที่ศาลกำหนด รวมถึงผู้ปกครองก็ยืนยันว่าจะดูแลจำเลยอย่างดี

    องค์คณะผู้พิพากษาได้ออกไปปรึกษากันครู่หนึ่ง ก่อนจะกลับมานั่งพิจารณาคดีต่อ พร้อมกับอ่านคำวินิจฉัยโดยสรุปว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนของสถานพินิจฯ แล้วเห็นว่า คดีนี้ยังไม่สมควรมีคำพิพากษา เนื่องจากจำเลยไม่ได้อยู่กับบิดามารดา มีเพียงยายเลี้ยงดูโดยให้อิสระแก่จำเลย อีกทั้งจำเลยไม่ได้เรียนหนังสือ เคยกระทำความผิดทางอาญารวมทั้งหมด 8 คดี

    ที่สำคัญ ความผิดในคดีนี้จำเลยได้ร่วมกันก่อความวุ่นวายในบริเวณสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง ซึ่งเป็นสถานที่ราชการ และเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 จำเลยได้ดูหมิ่นเจ้าพนักงานตำรวจ และกระทำการไม่สมควรต่อพระบรมฉายาลักษณ์พระมหากษัตริย์ที่เป็นประมุขของประเทศและเป็นที่เคารพของปวงชนชาวไทย แสดงให้เห็นว่าผู้ปกครองไม่สามารถดูแลจำเลยได้

    ศาลจึงมีคำสั่งให้ใช้มาตรการพิเศษแทนคำพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 132 วรรค 2 โดยให้ส่งตัวจำเลยไปสถานพินิจฯ เป็นเวลา 1 ปี กำหนดเงื่อนไขให้จำเลยอบรมหลักสูตรวิชาชีพอย่างน้อย 2 หลักสูตร ตามที่จำเลยประสงค์ โดยให้ผู้อำนวยการสถานพินิจฯ รายงานความประพฤติจำเลยให้ศาลทราบทุก 3 เดือน

    ++ที่ปรึกษาโต้แย้งคำสั่งศาล แต่ยังต้องรอฟัง ทำให้ถูกส่งตัวเข้าสถานพินิจ

    หลังจากศาลมีคำสั่งดังกล่าว ที่ปรึกษากฎหมายได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งมีเนื้อหาโดยสรุปว่า ขอศาลพิจารณาอนุญาตให้จำเลยได้ใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดี ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มาตรา 132 วรรค 1 แก่จำเลยแทน เพื่อที่จำเลยจะได้มีโอกาสทำงานเพื่อมีรายได้เลี้ยงดูตนเองและยายที่อายุมากและมีโรคประจำตัว

    นอกจากนี้ พฤติการณ์ของจำเลยตามฟ้องในคดีนี้ยังไม่ถือเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมเกินสมควร อีกทั้งตลอดจนภายหลังจากเกิดเหตุคดีนี้จำเลยไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับการชุมนุมใด ๆ อีก และพร้อมเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย ไม่หลบหนี ทั้งผู้ปกครองก็ยังสามารถดูแลได้

    ด้านผู้ปกครองก็ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงการส่งตัวจำเลยไปยังสถานพินิจ โดยให้อยู่ในความดูแลของผู้ปกครองแทน โดยผู้ปกครองยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดทุกประการ

    ต่อมาช่วงเย็น เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งกับที่ปรึกษากฎหมายว่า จะต้องส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ซึ่งต้องใช้เวลา 2-3 เดือน แต่ทั้งนี้ที่ปรึกษากฎหมายยืนยันว่าเป็นการโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงคำสั่ง เจ้าหน้าที่ศาลจึงให้ติดตามคำสั่งอีกครั้งในวันพรุ่งนี้

    ทำให้ภูมิต้องถูกนำตัวไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร (บ้านเมตตา) กรณีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 ของเยาวชนคดีแรก ที่ศาลเยาวชนฯ ได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการพิเศษโดยให้มีการควบคุมตัวเยาวชนไปที่สถานพินิจฯ หลังเยาวชนให้การรับสารภาพ

    (อ้างอิง: คำร้องอุทธรณ์คำสั่งเข้ามาตรการแทนการพิพากษาคดี ตาม ม.132 วรรคสอง ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง คดีหมายเลขดำที่ ยชอ.210/2565 คดีหมายเลขแดงที่ ยชอ.303/2566 และ https://tlhr2014.com/archives/60688)
  • ศาลเยาวชนฯ มีคำสั่งต่อ ในกรณีคำร้องของผู้ปกครองขอให้เปลี่ยนแปลงการส่งตัวจำเลยไปยังสถานพินิจนั้น ศาลเยาวชนฯ ได้มีคำสั่งเห็นว่า ศาลมีคำสั่งให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนต่อจำเลยในวันนี้ ข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ ตามมาตรา 115 หรือ 119 แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และไม่มีเหตุอันสมควรให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ตามมาตรา 137 จึงไม่อนุญาต ยกคำร้อง

    ในกรณีคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของที่ปรึกษากฏหมาย ศาลเห็นว่า กรณีนี้เป็นเรื่องอุทธรณ์คำสั่งศาลกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนต่อจำเลย ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ตาม พ.ร.บ. ศาลเยาวชนฯ มาตรา 180 จึงไม่รับอุทธรณ์

    ทำให้ภูมิต้องถูกควบคุมตัวที่สถานพินิจฯ ต่อไป

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/60688)
  • ภูมิถูกนำตัวมาศาลเยาวชนฯ ในคดีไปร่วมชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารที่หน้าสถานทูตเมียนมา เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2564 โดยมารดาและที่ปรึกษากฎหมายของภูมิได้ยื่นคำร้อง ขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งกรณีให้ควบคุมตัวในสถานพินิจฯ ในคดีนี้ และให้มีการไต่สวนผู้ปกครองหรือผู้รับรองความประพฤติประกอบด้วย

    ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 15 พ.ย. เป็นต้นมา ภูมิยังได้เริ่มอดอาหารประท้วง หลังเขาถูกควบคุมตัวมาเกือบ 1 เดือน แต่ยังคงไม่ได้อบรมวิชาชีพตามที่ศาลมีคำสั่ง โดยเจ้าหน้าที่บ้านเมตตาแจ้งว่าจะต้องรอเวลาประมาณ 60-90 วัน ถึงจะรับการอบรมได้ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งเหตุผลว่าเหตุใดจึงต้องรอนานขนาดนั้น

    ภูมิแจ้งกับผู้ปกครองและที่ปรึกษากฎหมายว่าเขาได้เริ่มกลับมารับประทานอาหารตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2566 เนื่องจากสภาพร่างกายไม่ไหว รวมเวลาการอดอาหารของภูมิทั้งหมด 6 วัน

    ต่อมาเวลา 16.00 น. ศาลมีคำสั่งยกคำร้องของมารดาของภูมิ ระบุคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้วกรณียังไม่มีเหตุอันสมควรให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนต่อจำเลยตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ มาตรา 137 จึงไม่อนุญาต ยกคำร้อง”

    สำหรับคำร้องขอให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง ขอให้ศาลให้มาตรการแทนการพิพากษาคดี ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ มาตรา 132 วรรคหนึ่ง แทนวรรคสองนั้น มีใจความโดยสรุปดังนี้

    1. ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เกี่ยวกับผู้ปกครองที่ดูแลจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื่องจากมารดา ซึ่งเป็นผู้ปกครองของจำเลยได้กลับมาพักอาศัยและทำงานที่ประเทศไทย และจะรับจำเลยกลับไปดูแล

    ก่อนหน้านี้ผู้ร้อง (มารดา) ได้ไปทำงานอยู่ในต่างประเทศ และยายได้เลี้ยงดูโดยให้อิสระแก่จำเลย หลังศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2566 ผู้ร้องจึงตัดสินใจเดินทางกลับมาเยี่ยมลูกชายและมาแสดงตนต่อศาล เพื่อรับรองกับศาลว่าผู้ร้องจะกลับมาดูแลจำเลย ให้จำเลยเรียนหนังสือหรือฝึกอบรมวิชาชีพ ตลอดจนผู้ร้องยินยอมเข้าร่วมกิจกรรมหรือรับคำปรึกษาแนะนำตามที่ศาลสั่ง

    ด้วยเหตุที่ผู้ร้องเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวของบุตรสองคนและเป็นหัวหน้าครอบครัว และครอบครัวประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ผู้ร้องได้รับโอกาสในการทำงานที่ต่างประเทศ หวังว่าจะเก็บเงินให้ได้สักก้อนแล้วกลับมาอยู่กับครอบครัว ทำให้ช่วงเวลาที่ผู้ร้องไปทำงานที่ต่างประเทศ จำเลยต้องอยู่ในความดูแลของยายที่มีอายุมาก และมีช่องว่างระหว่างวัยกับจำเลย ซึ่งการดูแลเอาใจใส่และความเข้มงวดกวดขันในด้านความประพฤติและการศึกษายังไม่ทั่วถึง ประกอบกับเป็นช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 การเดินทางระหว่างประเทศหยุดชะงัก ผู้ร้องก็เป็นหนึ่งในคนที่ได้รับผลกระทบ ไม่สามารถเดินทางกลับมายังประเทศไทยได้

    มารดาของภูมิได้ยืนยันในคำร้องว่าจะกลับมาอบรมดูแลจำเลยให้เรียนหนังสือและฝึกอบรมวิชาชีพ ในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องหลักสูตรการปฏิบัติงานด้านกู้ชีพ กู้ภัย เพื่อให้จำเลยสามารถประกอบอาชีพอาสากู้ภัยที่จำเลยมีความชื่นชอบ และมีเป้าหมายในชีวิตว่าจะทำธุรกิจเกี่ยวกับการรับส่งผู้ป่วยหรือผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นอาชีพต่อยอดจากงานที่จำเลยทำในปัจจุบัน และยังเป็นอาชีพที่จำเลยสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยผู้ประสบภัย คนด้อยโอกาส และคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินได้

    2. ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เกี่ยวกับการศึกษาอบรม อาชีพ สังคมและสิ่งแวดล้อมของจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื่องจากแม้จำเลยยังไม่ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาภาคปกติ แต่เข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวกับหลักสูตรการปฏิบัติงานด้านกู้ชีพ กู้ภัย เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพอาสากู้ภัย

    คำร้องระบุว่า ในวัยเด็กจำเลยมีความฝันที่จะประกอบอาชีพเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร และมีความพยายามที่จะศึกษาต่อในหลักสูตรเตรียมนักเรียนตำรวจและทหาร นอกจากอาชีพดังกล่าวแล้วจำเลยยังอยากทำงานด้านอาสากู้ชีพ เนื่องจากได้รับแรงบันดาลใจจากผู้ปกครองของเพื่อนรุ่นพี่ ซึ่งขณะนั้นทำงานเป็นพนักงานวิทยุที่สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ และเป็นอาสากู้ภัยของร่วมกตัญญู ซึ่งได้ชักชวนและให้โอกาสจำเลยไปช่วยงานอาสากู้ภัย ซึ่งมารดาและยายของจำเลยสนับสนุนให้ทำ เพราะเป็นการใช้เวลาว่างที่เป็นประโยชน์และได้ช่วยเหลือผู้อื่น

    ขณะที่จำเลยอายุ 15 ปี จำเลยมีความสนใจอย่างจริงจังในงานด้านอาสากู้ชีพ กู้ภัย และเปลี่ยนความฝันจากการประกอบอาชีพตำรวจและทหาร มาเป็นอาชีพอาสากู้ภัย มารดาและยายจึงสนับสนุนให้จำเลยเข้าอบรมหลักสูตรการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานและการใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ ของมูลนิธิป่อเต็กตี๊ง

    จำเลยได้พัฒนาศักยภาพและความรู้ของตนเอง จะเห็นได้จากปี 2565 จำเลยเข้ารับการฝึกอบรมปฏิบัติหน้าที่ตรวจคัดกรองการติดเชื้อกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และปี 2566 ฝึกอบรมและทดสอบการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานโดยได้รับการแต่งตั้งเป็นอาสาสมัครกู้ชีพโรงพยาบาลศิริราชของศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราช

    ทำให้จำเลยได้มีโอกาสทำงานเป็นอาสากู้ภัย จนพอมีรายได้สามารถเลี้ยงดูตนเอง โดยจำเลยได้อยู่ในสังคมและสิ่งแวดล้อมใหม่ของคนทำงานด้านอาสากู้ภัยและสาธารณะประโยชน์ทางการแพทย์ฉุกเฉิน โดยมีหัวหน้าอาสาสมัคร มูลนิธิร่วมกตัญญู บริเวณจุด สน.ปทุมวัน ซึ่งดูแลและส่งเสริมผลักดันจำเลยในการทำงานอาสากู้ภัย ทำหนังสือให้การรับรองความประพฤติของจำเลยมาด้วย

    3. ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เกี่ยวกับอายุ นิสัย และความประพฤติของจำเลยเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากจำเลยบรรลุนิติภาวะ มีความมุ่งมั่นรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน ไม่ได้มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง และมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

    ในคดีที่จำเลยถูกกล่าวหาก่อนหน้านี้ และได้รับโอกาสให้ปฏิบัติตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู จำเลยสามารถปฏิบัติได้สำเร็จดังที่ให้สัญญากับยายและศาลไว้ในทุกคดี และในช่วงปี 2566 จำเลยไม่ได้ไปเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมและกระทำความผิดอื่นใดอีก

    ปัจจุบันจำเลยอายุ 20 ปี มีความมุ่งมั่นรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน ไม่ได้มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงที่จะกระทำผิดซ้ำอีก และมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น จำเลยมีความมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่เป็นอาสาสมัคร และมีความรับผิดชอบ สามารถดูแลครอบครัวในระหว่างที่มารดาทำงานในต่างประเทศ ดูแลน้องสาวซึ่งยังศึกษาอยู่ในระดับชั้น ม.ปลาย รวมถึงดูแลยายซึ่งป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวานและไขมัน ซึ่งต้องไปตรวจที่โรงพยาบาลทุก 2 เดือน และดูแลตาซึ่งเป็นพี่ชายยายที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวานและโรคไต ปัจจุบันขาบวมไม่สามารถเดินหรือใช้ชีวิตได้ตามปกติ

    4. ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เกี่ยวกับสภาพร่างกายและสภาพจิตใจของจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

    ก่อนถูกส่งเข้าสถานพินิจ จำเลยกำลังมีงานทำ มีรายได้และกำลังมีอนาคตที่ดีขึ้น และกว่า 2 ปีที่ผ่านมาจำเลยมีความตั้งใจที่จะปรับปรุงพฤติกรรมตนเอง เมื่อจำเลยได้ทราบคำสั่งและส่วนหนึ่งของเหตุผลที่ศาลให้จำเลยเข้ารับการฝึกอบรมจากเหตุที่จำเลยไม่ได้เรียนหนังสือ และยายไม่สามารถดูแลจำเลยได้ จำเลยรู้สึกเสียใจและรู้สึกมืดมนหนทางที่จะกลับไปแก้ไขในเหตุเหล่านี้ได้ และเสียใจที่ศาลไม่ได้พิจารณาความประพฤติของจำเลยในปัจจุบัน

    ประกอบกับจำเลยอยู่ในห้องกักโรคของสถานพินิจฯ ไม่ได้รับการเข้าอบรมใด ๆ เป็นเวลากว่า 1 เดือน จนจำเลยมีภาวะเครียด ทำให้จำเลยไม่รับประทานอาหารตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลกับสุขภาพร่างกายจนมีอาการปวดท้องแบบท้องเกร็ง บิด วิงเวียนศีรษะตลอดเวลา และได้รับการบรรเทาอาการเจ็บป่วยด้วยการจิบน้ำและน้ำเกลือ

    ผู้ร้องมีเจตนาเพื่อแจ้งข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ด้านสุขภาพจิตใจและร่างกายของจำเลยเท่านั้น ไม่ประสงค์ให้จำเลยซึ่งเป็นบุตรของผู้ร้องกระทำการใดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทางร่างกายทั้งสิ้น แต่เหตุที่เรียนต่อศาล เพื่อให้ได้ทราบว่าจำเลยถูกส่งเข้าสถานพินิจมาเป็นเวลากว่า 1 เดือน ได้รับบทเรียนสำคัญแก่ชีวิต และทางผู้ปกครองก็ได้รับทุกข์ทางใจ

    จึงขอศาลพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของการหันเหเยาวชนจากคดีอาญาในการใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดีที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคืนเยาวชนที่ดีให้สังคมยิ่งกว่าการที่จะลงโทษ โดยกำหนดมาตรการที่เหมาะสมกับเยาวชน

    5. พฤติการณ์คดีและพฤติกรรมของเยาวชนอยู่ในเกณฑ์ใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดี ตามมาตรา 132 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ตามข้อบังคับประธานศาลฎีกาได้

    คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ และจำเลยได้ปรับปรุงแก้ไขความประพฤติโดยภายหลังจากถูกดำเนินคดีไม่ไปกระทำผิดซ้ำ ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะเกี่ยวกับอาสากู้ภัย ประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่ง สามารถรับผิดชอบตนเองและดูแลครอบครัวร่วมกับผู้ร้องได้ เป็นเยาวชนที่มีแนวโน้มที่จะสามารถปรับปรุงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น

    ประการสำคัญพฤติการณ์ในคดีตามฟ้องเป็นการกระทำผิดร่วมกันของกลุ่มผู้ชุมนุมในการชุมนุม เยาวชนไม่ได้มีพฤติการณ์เป็นหัวหน้าสั่งการและไม่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมเกินสมควร จึงขอศาลยกเลิกคำสั่งให้ใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดี ตามมาตรา 132 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ แก่จำเลย เปลี่ยนไปใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดี ตามมาตรา 132 วรรคหนึ่งแทน

    (อ้างอิง: คำร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งให้ใช้ ม.132 วรรคหนึ่ง ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง คดีหมายเลขดำที่ ยชอ.210/2565 คดีหมายเลขแดงที่ ยชอ.303/2566 ลงวันที่ 21 พ.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/61712)
  • ที่ปรึกษากฎหมายได้เข้ายื่นคำร้องขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางอนุญาตให้อุทธรณ์คำสั่งของศาลที่ให้ควบคุมตัวเยาวชนในสถานพินิจฯ ต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พร้อมกับยื่นอุทธรณ์ขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนประกอบ โดยระบุถึงคำสั่งของศาลเยาวชนฯ ที่สั่งเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566 โดยไม่มีรายละเอียดสำคัญ และอาจขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

    สำหรับคำร้องขอให้อธิบดีผู้พิพากษาอนุญาตให้อุทธรณ์คำสั่ง ระบุโดยสรุปว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริงสำคัญที่เป็นข้อแพ้ชนะหรือประโยชน์แก่คดี หรือมีผลทำให้คำสั่งเปลี่ยนแปลงและเป็นสาระในอันที่จะให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย

    ทั้งปัญหาตามอุทธรณ์เป็นปัญหาเกี่ยวกับหลักประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชน และเพื่อการพัฒนาการตีความกฎหมาย นอกจากนี้ ยังเป็นปัญหาสำคัญกรณีคำสั่งของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง วินิจฉัยข้อกฎหมายสำคัญที่ไม่สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศ ได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่มีผลผูกพันกับประเทศไทย อันควรนำสู่ศาลอุทธรณ์ฯ วินิจฉัย

    แต่ด้วยคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ต้องห้ามอุทธรณ์ ตามมาตรา 180 แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธิพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 จึงขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลฯ อนุญาตให้รับอุทธรณ์ของจำเลย ตามมาตรา 181

    สำหรับอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว มีเนื้อหาโดยสรุปว่า

    1. คำสั่งของศาลไม่มีรายละเอียดข้อสำคัญที่ต้องระบุในคำสั่ง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

    การจัดทำคำสั่งศาลจะต้องมีเหตุผลอธิบายหรือชี้แจงแสดงเหตุหรือสาเหตุในการมีคำสั่งให้ชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัย เพื่อให้คู่ความทราบและเข้าใจเพื่อยอมรับ ตลอดจนเพื่อที่จะโต้แย้งอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งได้ถูกต้องกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ศาลนำมาพิจารณา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับจำเลยในการต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้องและอย่างเต็มที่

    เมื่อคดีนี้ศาลมีคำสั่งเพียงว่า “พิเคราะห์แล้วกรณียังไม่มีเหตุอันสมควรให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนต่อจำเลยตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธิพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 137 จึงไม่อนุญาตยกคำร้อง” เป็นคำสั่งที่ไม่มีรายละเอียดข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ และเหตุผลในการตัดสินทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

    2. คำสั่งของศาลรับฟังรายงานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของสถานพินิจฯ ตามมาตรา 115 ไม่สอดคล้องกับหลักการและวิธีการที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 118 แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ

    คดีนี้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงจากรายงานข้อเท็จจริงของสถานพินิจฯ ประกอบการทำคำสั่งว่า เยาวชนอาศัยอยู่กับมารดาและยาย มารดาไปทำงานที่ต่างประเทศ ยายเลี้ยงดูโดยให้อิสระแก่เยาวชน แต่เยาวชนไม่ได้เรียนหนังสือ และเคยกระทำความผิดคดีอาญาในคดีอื่นอีก 8 คดี

    ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ใช่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดที่ถูกฟ้องคดีนี้ และศาลเยาวชนและครอบครัวกลางรับฟังเป็นผลร้ายแก่เยาวชน ศาลไม่ได้แจ้งข้อความตามรายงานในส่วนที่ศาลจะรับฟังเป็นผลร้ายดังกล่าวให้เยาวชนทราบ เพื่อให้เยาวชนแถลงคัดค้านและสืบพยานหักล้างก่อนมีคำสั่ง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 118

    3. คำสั่งขัดต่อหลักประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชน อันเป็นหลักการสำคัญของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

    – ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เกี่ยวกับผู้ปกครองที่ดูแลจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื่องจากมารดาและเป็นผู้ปกครองของจำเลยได้กลับมาพักอาศัยและทำงานที่ประเทศไทย และมารดาประสงค์จะขอรับจำเลยกลับไปดูแล การให้จำเลยได้อยู่กับมารดาพร้อมกับได้รับการดูแลแก้ไขบำบัดฟื้นฟูความประพฤติในระหว่างที่อยู่ด้วยกันกับมารดา เป็นประโยชน์สูงสุดของจำเลย

    – ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เกี่ยวกับการศึกษาอบรม อาชีพ สังคมและสิ่งแวดล้อมของจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื่องจากแม้จำเลยยังไม่ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาภาคปกติ แต่จำเลยเข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวกับหลักสูตรการปฏิบัติงานด้านกู้ชีพ กู้ภัย เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพอาสากู้ภัย ตลอดจนสังคมและสิ่งแวดล้อมของจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เป็นสังคมการทำงานของผู้ปฏิบัติงานด้านอาสากู้ภัยและสาธารณประโยชน์ทางการแพทย์ฉุกเฉิน และกิจกรรมเพื่อประโยชน์สังคมด้านต่าง ๆ การให้จำเลยได้ประกอบอาชีพที่มั่นคงและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเป็นประโยชน์ในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเป็นความประสงค์ของจำเลยและยังเป็นประโยชน์สูงสุดของจำเลย

    คำร้องได้บอกเล่าถึงการเริ่มทำงานเป็นอาสากู้ภัยของจำเลย โดยมารดาและยายของจำเลยสนับสนุน และได้เข้าอบรมการเป็นอาสากู้ภัยในลักษณะต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 2565-66 รวมทั้งการรับรองจากหัวหน้าอาสาสมัคร มูลนิธิร่วมกตัญญู จุด สน.ปทุมวัน และเป็นหัวหน้างานในปัจจุบันของจำเลย ซึ่งให้การรับรองการดูแลพฤติกรรมของจำเลย

    – ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เกี่ยวกับอายุ นิสัย และความประพฤติของจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื่องจากจำเลยบรรลุนิติภาวะ มีความมุ่งมั่นรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน รู้จักแยกแยะความผิดชอบชั่วดี ไม่ได้มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงใดใดที่จะกระทำผิดซ้ำอีก และมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และจำเลยตลอดจนครอบครัวได้แสดงออกถึงความสำนึกผิดด้วยการทำจิตอาสาช่วยเหลือสังคมเป็นประโยชน์ของสังคมและเป็นประโยชน์สูงสุดของจำเลย

    – ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เกี่ยวกับสภาพร่างกายและสภาพจิตใจของจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื่องจากจำเลยได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจจากการถูกส่งไปสถานพินิจ เนื่องจากในระหว่างที่ศาลให้โอกาสประกันตัว จำเลยได้ตั้งใจปฏิบัติตามข้อแนะนำของพนักงานคุมประพฤติ นักจิตวิทยา และผู้อำนวยการสถานพินิจ และเมื่อถูกฟ้องเป็นคดีจำเลยได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้อำนวยการสถานพินิจ โดยตั้งใจปรับปรุงแก้ไขตนเอง ทำจิตอาสา การให้โอกาสจำเลยได้เข้ามาตรการแทนการพิพากษาและคุมประพฤติจำเลยแบบเข้มงวดหรือมีเงื่อนไขอื่นอีกครั้งเป็นประโยชน์สูงสุดของจำเลย

    คำสั่งของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางที่มีคำสั่งว่าไม่มีเหตุอันสมควรเปลี่ยนแปลงคำสั่งจึงเป็นคำสั่งที่ขัดต่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวน ไม่เหมาะสมกับอายุ สภาพจิตใจ วุฒิภาวะ และขัดต่อหลักประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชน

    4. พฤติการณ์คดีและพฤติกรรมของเยาวชนอยู่ในเกณฑ์ใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดี ตามมาตรา 132 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ตามข้อบังคับประธานศาลฎีกาได้

    นอกจากความเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ในข้อเท็จจริงของจำเลยแล้ว ประการสำคัญพฤติการณ์ในคดีตามฟ้องเป็นการกระทำผิดร่วมกันของกลุ่มผู้ชุมนุมในการชุมนุม เยาวชนไม่ได้มีพฤติการณ์เป็นหัวหน้าสั่งการและไม่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมเกินสมควร

    จึงขอให้ศาลเปลี่ยนใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดี และให้จำเลยอยู่ในความดูแลของมารดา ตามมาตรา 132 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ แทน
    .
    ต่อมาวันที่ 20 ธ.ค. 2566 อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของฝ่ายจำเลยดังกล่าว และส่งให้อัยการโจทก์ทำคำแก้อุทธรณ์ ทำให้ต้องติดตามการส่งคำร้องไปที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยต่อไป

    (อ้างอิง: คำร้องขออนุญาตอุทธรณ์และอุทธรณ์ของจำเลย ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง คดีหมายเลขดำที่ ยชอ.210/2565 คดีหมายเลขแดงที่ ยชอ.303/2566 ลงวันที่ 19 ธ.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/62463)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
“ภูมิ หัวลำโพง” (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
“ภูมิ หัวลำโพง” (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์