สรุปความสำคัญ

นักกิจกรรม "ราษฎร" 8 ราย ได้แก่ อานนท์ นำภา, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ, “แหวน” ณัฎฐธิดา มีวังปลา, พรหมศร วีระธรรมจารี, “ทราย” อินทิรา เจริญปุระ ถูกดำเนินคดีมาตรา 112, 116 และข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมอีกหลายข้อหา จากการเข้าร่วม #ม็อบ29พฤศจิกา หรือการชุมนุม “ปลดอาวุธศักดินาไทย” ที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2563 และขึ้นปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นสถานะของกษัตริย์ในปัจจุบันที่มีการโอนทรัพย์สินและกำลังทหารไปอยู่ภายใต้กษัตริย์ รวมถึงเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หลังประชาชนรายหนึ่งเข้าแจ้งความที่ สน.บางเขน อย่างไรก็ตาม เมื่ออัยการฟ้องคดีต่อศาล ไม่ได้ฟ้องอินทิราในข้อหา 112 เนื่องจากอินทิราไม่ได้ขึ้นกล่าวปราศรัย

ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ยกเว้นอานนท์และพริษฐ์ โดยศาลอ้างว่า ทั้งสองมีพฤติการณ์กระทำการซ้ำในทำนองเดียวกันกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาหลายคดี หากอนุญาตปล่อยชั่วคราว จะไปกระทำการในทำนองเดียวกันอีก

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • อานนท์ นำภา
    • ณัฏฐธิดา มีวังปลา
    • ชินวัตร จันทร์กระจ่าง
    • พริษฐ์ ชิวารักษ์
    • สมยศ พฤกษาเกษมสุข
    • พิมพ์สิริ เพ็ชรน้ำรอบ
    • พรหมศร วีระธรรมจารี
    • อินทิรา เจริญปุระ
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

29 พ.ย. 2563 หลังมีประกาศนัดชุมนุมที่กรมทหารราบที่ 1 มีการนำตู้คอนเทนเนอร์มาวางล้อมบริเวณทางเข้าออกกรมทหารราบที่ 1 วิภาวดี และบริเวณใกล้เคียงตั้งแต่ช่วงกลางดึก ก่อนผู้ชุมนุมประกาศย้ายสถานที่ชุมนุมไปเป็นกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์

ก่อนถึงเวลานัดหมาย เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนำลวดหนามหีบเพลงมาวางล้อมหน้าทางเข้าฝั่งถนนพหลโยธิน พร้อมทั้งนำซากรถเมล์มาจอดขวางทางเข้าอีกชั้น และมีรถฉีดน้ำแรงดันสูง 2 คัน เข้าประจำการในพื้นที่ด้วย

แกนนำปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงว่า เรามาเพื่อปลดอาวุธ จากนั้นเคลื่อนขบวนจากใต้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสวัดพระศรีฯ ไปที่กรมทหารราบที่ 11 และสลับกันขี้นปราศรัย

ประมาณ 20.35 น. พริษฐ์เป็นตัวแทนผู้ชุมนุมอ่านประกาศให้ยกเลิก พ.ร.ก. โอนอัตรากำลังพลฯ ที่ให้โอนกรมทหารราบที่ 1 และ 11 ไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ แล้วให้โอนหน่วยงานทั้งสองกลับคืนสู่ต้นสังกัดเดิมของกองทัพบก แ

ก่อนยุติการชุมนุมผู้ชุมนุมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยเทสีแดง ลงที่พื้นและลวดหนามหน้าแนวกั้นของตำรวจก่อนยุติการชุมนุมโดยไม่มีเหตุรุนแรง (อ้างอิง: https://freedom.ilaw.or.th/case/915#progress_of_case)

21 ธ.ค. 2563 ที่ สน.บางเขน 8 ผู้ได้รับหมายเรียกจากการชุมนุม #ม็อบ29พฤศจิกา หรือการชุมนุม “ปลดอาวุธศักดินาไทย” ได้แก่ อานนท์ นำภา, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ, “แหวน” ณัฎฐธิดา มีวังปลา, พรหมศร วีระธรรมจารี, “ทราย” อินทิรา เจริญปุระ เดินทางมารับทราบข้อหามาตรา 112 และมาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญา โดยคดีนี้มีผู้กล่าวหา คือวราวุธ สวาย

ผู้ได้รับหมายเรียกทั้งหมดเป็นผู้ปราศรัยในการชุมนุมดังกล่าว ยกเว้นอินทิราที่ไม่ได้ขึ้นปราศรัยใดๆ ทำให้มวลชนจับตานัดรับทราบข้อกล่าวหาครั้งนี้เป็นอย่างมาก

ในห้องสอบสวนมีกล้องวงจรปิดติดตั้งอยู่ที่ทุกมุมของห้อง ทั้งยังมีกล้องขนาดเล็กติดตั้งอยู่บริเวณหน้าผู้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาอีก 4 ตัว รวมเป็น 8 ตัว

หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน บรรยายพฤติการณ์ในคดีว่า พริษฐ์​, อานนท์ และเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้โพสต์ในเฟซบุ๊กเพื่อเชิญชวนประชาชนให้มาเข้าร่วมชุมนุมสาธารณะ โดยมีวัตถุประสงค์ในการปราศรัยเรื่องการปลดอาวุธศักดินาไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้ง 8 คน ได้ตกลงแบ่งหน้าที่กันทํา โดย 7 คนแรกนั้นทำหน้าที่ขึ้นปราศรัย ส่วนอินทิรามีหน้าที่จัดหารถตู้รับส่งประชาชนเพื่อให้ความสะดวกในการมาชุมนุม, เป็นผู้บริหารการทํางานของการ์ด และเป็นผู้ส่งอาหารน้ำดื่มให้กับผู้ชุมนุม

ทั้ง 8 คนจึงมีวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ว่าโอนกําลังทหารมาเป็นของพระองค์เอง ทำให้ผู้ชุมนุมต้องมาปลดอาวุธศักดินา ซึ่งถือเป็นการพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวิธีใดๆ อันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่แสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

พนักงานสอบสวนแจ้ง 9 ข้อหาแก่ 7 ผู้ปราศรัย ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116, มาตรา 215, มาตรา 216, มาตรา 385, ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ, พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 108, มาตรา 114, พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 12 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ในส่วนของอินทิรา พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 3 ข้อหา คือ มาตรา 112, มาตรา 116, และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10

ทั้ง 8 คนให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา บางคนไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา แต่ได้เขียนข้อความเพื่อแสดงอารยะขัดขืนถึงการดำเนินคดีครั้งนี้ลงในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาแทน เช่น ชินวัตรลงลายมือชื่อว่า “ยกเลิก 112” พรหมศรลงว่า “ไม่ยอมรับอำนาจศักดินาและมาตรา 112” อินทิราลงว่า “ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ” และพิมพ์สิริลงว่า “ไม่เข้าองค์ประกอบ ไปเรียนกฎหมายมาใหม่ค่า (รูปหัวใจ)”

จากนั้นพนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวไว้ เนื่องจากมารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สน.บางเขน ลงวันที่ 21 ธ.ค. 2563 และ https://tlhr2014.com/archives/24264)

ภูมิหลัง

  • อานนท์ นำภา
    จบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี 2551 เริ่มเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ปี 2553 ก่อตั้งสำนักงานทนายความราษฎรประสงค์ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน นอกจากนี้ยังเป็นทนายความในเครือข่ายของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม (ศปช.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
  • ชินวัตร จันทร์กระจ่าง
    แกนนำกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป. รุ่น 2, ประธานเครือข่ายคนรุ่นใหม่ จ.นนทบุรี
  • พริษฐ์ ชิวารักษ์
    อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท
  • สมยศ พฤกษาเกษมสุข
    แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์