สรุปความสำคัญ

“ธิดา” (นามสมมติ) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ในจังหวัดเชียงใหม่ ถูกดำเนินคดีที่ สภ.เมืองกำแพงเพชร ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) หลังชุมพล ศรีวิชัยปัก ประชาชนทั่วไปเข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีผู้ใช้ TikTok ซึ่งโพสต์ลิปซิงค์เพลง “พระราชาในนิทาน” เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 โดยระบุว่า คลิปดังกล่าวมีถ้อยคําหยาบคายด่ารัชกาลที่ 10 อันเป็นการดูหมิ่น และเป็นการใช้ถ้อยคําที่ไม่เหมาะสมต่อพระมหากษัตริย์ ส่งผลให้ธิดาต้องรับภาระในการเดินทางระหว่างจังหวัดเชียงใหม่ - กำแพงเพชร ระหว่างต่อสู้คดี

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • “ธิดา” (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

15 ก.พ. 2565 ที่ สภ.เมืองกำแพงเพชร “ธิดา” (นามสมมติ) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ในจังหวัดเชียงใหม่ และครอบครัวพร้อมด้วยทนายความ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกผู้ต้องหา ในคดีซึ่งมีชุมพล ศรีวิชัยปัก เป็นผู้กล่าวหาเธอในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการเผยแพร่คลิปวิดีโอใน TikTok ลิปซิงค์เพลงที่เป็นกระแสนิยมเล่นกันในช่วงเดือน ส.ค. 2564

ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ม.ค. 2565 ธิดาได้รับหมายเรียกที่ออกโดย ร.ต.อ.ปรัชญา ทาบ้านฆ้อง พนักงานสอบสวน สภ.เมืองกำแพงเพชร ให้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" แต่เนื่องจากช่วงดังกล่าวธิดาติดเชื้อโควิด-19 ต้องทำการรักษาตัว จึงไม่สามารถเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนได้ ทางครอบครัวของธิดาจึงจัดทำหนังสือขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาออกไปก่อน

ร.ต.อ.ปรัชญา ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ธิดาทราบโดยมีรายละเอียดโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 ขณะชุมพล ศรีวิชัยปัก ใช้แอพพลิเคชั่นติ๊กต่อก (TikTok) ได้พบผู้ใช้รายหนึ่งโพสต์ข้อความพร้อมภาพเคลื่อนไหวของตนเองร้องเพลงลิปซิงค์เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ โดยมีถ้อยคําหยาบคายด่ารัชกาลที่ 10 อันเป็นการดูหมิ่น และเป็นการใช้ถ้อยคําที่ไม่เหมาะสมต่อพระมหากษัตริย์ วันที่ 12 ส.ค. 2564 ชุมพลจึงเข้าร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้ TikTok รายดังกล่าว

จากการสืบสวนสอบสวนทราบว่าผู้ใช้ TikTok รายดังกล่าวคือ ธิดา ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ จากพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้นจึงแจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความ อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ธิดาได้ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา และยังไม่ขอให้การในรายละเอียดทางคดี ก่อนพนักงานสอบสวนจะให้พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม

จากนั้นธิดาและครอบครัว ได้ถูกเชิญขึ้นไปบนห้องประชุมชั้น 2 ของ สภ.เมืองกำแพงเพชร เพื่อพบกับผู้กำกับการ สภ.เมืองกำแพงเพชร โดยพนักงานสอบสวนได้ทำการอ่านบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาและบันทึกการสอบสวนให้ธิดาฟังอีกครั้งต่อหน้าผู้กำกับ พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกนายทำการบันทึกวิดีโอเหตุการณ์ไว้ ก่อนที่ผู้กำกับการจะแจ้งว่าเมื่อเดินทางมาพบเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยตนเอง ก็จะทำการปล่อยตัวกลับโดยไม่มีการควบคุมตัวใดๆ เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ

6 ต.ค. 2565 พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกธิดาอีกครั้ง หลังส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการแล้ว อัยการได้มีหนังสือถึงพนักงานสอบสวนลงวันที่ 19 ก.ย. 2565 ให้แจ้งข้อกล่าวหาธิดาเพิ่มเติม

ร.ต.อ.ปรัชญา จึงได้แจ้งข้อกล่าวหา "นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง" ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) เพิ่มเติมอีก 1 ข้อหา โดยธิดาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาเช่นเดิม

ทั้งนี้ จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าธิดานับเป็นผู้ต้องหารายที่ 3 แล้ว ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 112 ที่ สภ.เมืองกำแพงเพชร จากการทำคลิปเผยแพร่ใน TikTok

(อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สภ.เมืองกำแพงเพชร ลงวันที่ 15 ก.พ. 2565 และ 6 ต.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40513)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์