ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • อื่นๆ
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.2012/2565
แดง อ.1258/2566

ผู้กล่าวหา
  • ชุมพล ศรีวิชัยปัก (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • อื่นๆ
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.2012/2565
แดง อ.1258/2566
ผู้กล่าวหา
  • ชุมพล ศรีวิชัยปัก

ความสำคัญของคดี

“ธิดา” (นามสมมติ) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ในจังหวัดเชียงใหม่ ถูกดำเนินคดีที่ สภ.เมืองกำแพงเพชร ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) หลังชุมพล ศรีวิชัยปัก ประชาชนทั่วไปเข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีผู้ใช้ TikTok ซึ่งโพสต์ลิปซิงค์เพลง “พระราชาในนิทาน” เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 โดยระบุว่า คลิปดังกล่าวมีถ้อยคําหยาบคายด่ารัชกาลที่ 10 อันเป็นการดูหมิ่น และเป็นการใช้ถ้อยคําที่ไม่เหมาะสมต่อพระมหากษัตริย์ ส่งผลให้ธิดาต้องรับภาระในการเดินทางระหว่างจังหวัดเชียงใหม่ - กำแพงเพชร ระหว่างต่อสู้คดี

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

สุปราณี จิตรทหาร พนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชร บรรยายคำฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 จำเลยได้โพสต์วิดีโอลงในแอพพลิเคชั่น TikTok โดยการลิปซิงค์หรือการขยับปากตามเสียงเพลง โดยมีเนื้อหาไม่ตรงกับเพลงที่แท้จริงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และเมื่อบุคคลทั่วไปได้รับชมวิดีโอทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม พฤติการณ์ดังกล่าว เป็นการจาบจ้วง หมิ่นประมาท ใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง เกียรติคุณ โดยประการที่น่าจะทำให้ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ อ.2012/2565 ลงวันที่ 29 พ.ย. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • ที่ สภ.เมืองกำแพงเพชร “ธิดา” (นามสมมติ) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ในจังหวัดเชียงใหม่ และครอบครัวพร้อมด้วยทนายความ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกผู้ต้องหา ในคดีซึ่งมีชุมพล ศรีวิชัยปัก เป็นผู้กล่าวหาเธอในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการเผยแพร่คลิปวิดีโอใน TikTok ลิปซิงค์เพลงที่เป็นกระแสนิยมเล่นกันในช่วงเดือน ส.ค. 2564

    ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ม.ค. 2565 ธิดาได้รับหมายเรียกที่ออกโดย ร.ต.อ.ปรัชญา ทาบ้านฆ้อง พนักงานสอบสวน สภ.เมืองกำแพงเพชร ให้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" แต่เนื่องจากช่วงดังกล่าวธิดาติดเชื้อโควิด-19 ต้องทำการรักษาตัว จึงไม่สามารถเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนได้ ทางครอบครัวของธิดาจึงจัดทำหนังสือขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาออกไปก่อน

    ร.ต.อ.ปรัชญา ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ธิดาทราบโดยมีรายละเอียดโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 ขณะชุมพล ศรีวิชัยปัก ใช้แอพพลิเคชั่นติ๊กต่อก (TikTok) ได้พบผู้ใช้รายหนึ่งโพสต์ข้อความพร้อมภาพเคลื่อนไหวของตนเองร้องเพลงลิปซิงค์เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ โดยมีถ้อยคําหยาบคายด่ารัชกาลที่ 10 อันเป็นการดูหมิ่น และเป็นการใช้ถ้อยคําที่ไม่เหมาะสมต่อพระมหากษัตริย์ วันที่ 12 ส.ค. 2564 ชุมพลจึงเข้าร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้ TikTok รายดังกล่าว

    จากการสืบสวนสอบสวนทราบว่าผู้ใช้ TikTok รายดังกล่าวคือ ธิดา ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ จากพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้นจึงแจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความ อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    ธิดาได้ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา และยังไม่ขอให้การในรายละเอียดทางคดี ก่อนพนักงานสอบสวนจะให้พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม

    จากนั้นธิดาและครอบครัว ได้ถูกเชิญขึ้นไปบนห้องประชุมชั้น 2 ของ สภ.เมืองกำแพงเพชร เพื่อพบกับผู้กำกับการ สภ.เมืองกำแพงเพชร โดยพนักงานสอบสวนได้ทำการอ่านบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาและบันทึกการสอบสวนให้ธิดาฟังอีกครั้งต่อหน้าผู้กำกับ พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกนายทำการบันทึกวิดีโอเหตุการณ์ไว้ ก่อนที่ผู้กำกับการจะแจ้งว่าเมื่อเดินทางมาพบเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยตนเอง ก็จะทำการปล่อยตัวกลับโดยไม่มีการควบคุมตัวใดๆ เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ

    ทั้งนี้ จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าธิดานับเป็นผู้ต้องหารายที่ 3 แล้ว ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 112 ที่ สภ.เมืองกำแพงเพชร จากการทำคลิปเผยแพร่ใน TikTok

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สภ.เมืองกำแพงเพชร ลงวันที่ 15 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40513)
  • พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกธิดาอีกครั้ง หลังส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการแล้ว อัยการได้มีหนังสือถึงพนักงานสอบสวนลงวันที่ 19 ก.ย. 2565 ให้แจ้งข้อกล่าวหาธิดาเพิ่มเติม

    ร.ต.อ.ปรัชญา จึงได้แจ้งข้อกล่าวหา "นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง" ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) เพิ่มเติมอีก 1 ข้อหา โดยธิดาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาเช่นเดิม

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม สภ.เมืองกำแพงเพชร ลงวันที่ 6 ต.ค. 2565)
  • พนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชรมีความเห็นสั่งฟ้องคดี และนัดหมายธิดามาส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดกำแพงเพชร ภายหลังธิดาพร้อมญาติที่เดินทางมาให้กำลังใจเข้ารายงานตัวที่สำนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชร เจ้าหน้าที่ได้นำตัวธิดาขึ้นรถกระบะของสำนักงานอัยการไปที่ศาล ซึ่งห่างออกมาเพียง 500 เมตร และได้นำตัวธิดาเข้าไปควบคุมไว้ในห้องขังใต้ถุนศาล ขณะที่ทนายความและญาติได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว

    ระหว่างที่อยู่ในห้องขังใต้ศาล ผู้พิพากษาก็ได้มีการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เพื่อสอบถามคำให้การ โดยธิดายืนยันให้การปฏิเสธ อัยการได้บรรยายคำฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 จำเลยได้โพสต์วิดีโอลงในแอพพลิเคชั่น TikTok โดยการลิปซิงค์หรือการขยับปากตามเสียงเพลง โดยมีเนื้อหาไม่ตรงกับเพลงที่แท้จริงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และเมื่อบุคคลทั่วไปได้รับชมวิดีโอทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม

    อัยการบรรยายว่า พฤติการณ์ดังกล่าว เป็นการจาบจ้วง หมิ่นประมาท ใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง เกียรติคุณ โดยประการที่น่าจะทำให้ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

    ท้ายคำฟ้อง อัยการยังได้ระบุว่าหากจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โจทก์ขอคัดค้าน เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจะหลบหนี

    จนกระทั่งเวลาประมาณ 15.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วยหลักทรัพย์ 150,000 บาท โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวระหว่างการพิจารณาคดีว่า ห้ามกระทำความผิดลักษณะเดียวกันซ้ำอีกหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

    ศาลได้กำหนดวันนัดพร้อมเพื่อสอบถามคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 20 ธ.ค. 2565 เวลา 09.00 น. จากนั้นธิดาได้รับการปล่อยตัวจากห้องขังใต้ศาลและเดินทางกลับ

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ อ.2012/2565 ลงวันที่ 29 พ.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/51155)
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้ฟัง ธิดาให้การปฏิเสธ ทนายจําเลยแถลงแนวทางการต่อสู้คดี เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทําของจําเลยไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามฟ้อง

    โจทก์แถลงจะสืบพยานบุคคล 8 ปาก ใช้เวลาสืบพยาน 2 นัด ทนายจําเลยแถลงประสงค์จะสืบพยานบุคคล 4 ปาก ใช้เวลาสืบพยาน 1 นัดครึ่ง นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 18, 19 เม.ย. 2566 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 20, 21 เม.ย. 2566

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ อ.2012/2565 ลงวันที่ 20 ธ.ค. 2565)
  • นัดสืบพยานโจทก์นัดแรก ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่เป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ศาลมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจประวัติของจำเลย พฤติการณ์แห่งคดี และอื่นๆ ที่จำเป็นรายงานต่อศาลเพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจในการเขียนคำพิพากษาภายใน 15 วัน นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 13 มิ.ย. 2566 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ อ.2012/2565 ลงวันที่ 18 เม.ย. 2566)
  • ศาลอ่านคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน

    เมื่อพิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจแล้วเห็นว่า จำเลยประกอบอาชีพสุจริต ใช้ TikTok ในการเพิ่มยอดวิวและหาได้รายได้ เห็นว่า จำเลยโพสต์คลิปดังกล่าวเพื่อต้องการเพิ่มยอดวิวเท่านั้น จำเลยเพิ่งกระทำความผิดในลักษณะนี้เป็นครั้งแรก ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขาดความยับยั้งชั่งใจ ภายหลังเกิดเหตุรู้สึกเกรงกลัวต่อกฎหมายและได้ลบคลิปดังกล่าวแล้ว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ประกอบกับนิสัยและพฤติกรรมไม่มีข้อเสียหายร้ายแรง ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ 2 ปี แต่ให้คุมประพฤติไว้ 1 ปี โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง และให้ทำงานบริการสังคม 12 ชั่วโมง

    หลังอ่านคำพิพากษาศาลได้ตักเตือนจำเลยห้ามกระทำการลักษณะเดียวกันนี้อีก

    จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ในจังหวัดกำแพงเพชร อย่างน้อย 5 ราย ใน 5 คดี ทุกคดีมีบุคคลทั่วไปเป็นผู้ไปแจ้งความกล่าวหาไว้ โดยผู้ถูกกล่าวหา 4 ราย ไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่แต่อย่างใด

    สำหรับคดีของ “ธิดา” มีพฤติการณ์ในลักษณะเดียวกันกับกรณีของ “สายชล” โดยทั้งสองคดีมีชุมพล ศรีวิชัยปัก (ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อไปแล้ว) เป็นผู้กล่าวหาเช่นเดียวกัน และเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ศาลจังหวัดกำแพงเพชรได้พิพากษาคดีของสายชลให้รอการลงโทษเช่นเดียวกัน

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ อ.2012/2565 คดีหมายเลขดำที่ อ.1258/2566 ลงวันที่ 13 มิ.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/56703)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
“ธิดา” (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
“ธิดา” (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. พิมพ์อร พิรุณ
  2. จรัสพันธ์ เลิศอุดมโชค

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 13-06-2023

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์