สรุปความสำคัญ

สมพล (นามสมมติ) พนักงานบริษัทวัย 28 ปี ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดนนทบุรีและถูกดำเนินคดีในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ทำให้เสียทรัพย์, ข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ รวมทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยถูกกล่าวหาว่า ปาสีใส่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 บริเวณทางขึ้นทางด่วนศรีสมาน อ.ปากเกร็ด เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2565 และส่งภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่เปื้อนสีไปในกลุ่มไลน์ สมพลถูกจับในคดีนี้พร้อมกับคดีของ สภ.เมืองปทุมธานี และภายหลังถูกจับสมพลรับกับตำรวจว่า ได้ปาสีใส่รูปในจุดอื่นๆ อีก ทำให้เขาถูกดำเนินคดีถึง 6 คดี โดยทั้งหมดเป็นคดีมาตรา 112 อย่างไรก็ตาม สมพลได้รับการประกันตัวทั้งในชั้นสอบสวนและพิจารณาคดี

กรณีของสมพลเป็นอีกกรณีที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความขยายขอบเขตเกินกว่าตัวบทของกฎหมาย ครอบคลุมถึงการกระทำต่อรูปภาพ ไม่ใช่เฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • สมพล (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

19 ก.พ. 2565 เวลาประมาณ 13.30 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งกรณีของสมพล (นามสมมติ) หนุ่มวัย 28 ปี ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นและจับกุมจากบ้านพักย่านดอนเมือง ในช่วงเวลาประมาณ 07.00 น. โดยทราบว่าเจ้าหน้าที่มีการแสดงหมายจับตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เหตุเกี่ยวกับปาสีใส่พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10

ญาติของสมพล ผู้แจ้งถึงการจับกุมระบุว่า ในตอนแรกตำรวจได้จับกุมตัวสมพลไปยัง สภ.ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยญาติได้ติดตามไปด้วย แต่ต่อมา ตำรวจฝ่ายสืบสวนได้พาตัวสมพลไปชี้สถานที่เกิดเหตุ โดยไม่รอทนายความติดตามมา และตำรวจยังตรวจยึดโทรศัพท์มือถือสมพลไป ทำให้ไม่สามารถติดต่อได้ ระหว่างนั้นก็ไม่ทราบว่าตำรวจนำตัวเขาไปที่ใดอีกบ้าง

ต่อมาเวลา 16.00 น. หลังทนายความติดตามไปที่ สภ.ปากเกร็ด ก็พบว่าตำรวจยังไม่นำตัวผู้ต้องหากลับมาที่สถานีตำรวจ จนเวลาประมาณ 17.10 น. ตำรวจฝ่ายสืบสวนจึงได้พาตัวสมพลกลับมายัง สภ.ปากเกร็ด พร้อมแจ้งทนายความว่าจะสอบปากคำผู้ต้องหาในช่วงเช้าวันที่ 20 ก.พ. 2565 ต่อไป แต่ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำบันทึกจับกุมและตรวจค้นเรียบร้อยไปแล้ว โดยไม่ได้มีทนายความอยู่ร่วมด้วย

การเข้าจับกุม ยังมีการแสดงหมายค้นที่ออกโดยศาลอาญาลงวันที่ 18 ก.พ. 2565 เข้าตรวจค้นบ้านของสมพล ก่อนเจ้าหน้าที่จะตรวจยึดของกลางรวมจำนวน 9 รายการ อาทิ รถจักรยานยนต์, หมวกนิรภัย, เสื้อผ้า, รองเท้า, คอมพิวเตอร์, โทรศัพท์มือถือ และกล้องถ่ายรูป

หลังจากควบคุมตัวสมพลไว้ที่ สภ.ปากเกร็ด 1 คืน ช่วงสายวันที่ 20 ก.พ. 2565 พ.ต.ท.ประมวล นวลงาม พนักงานสอบสวน สภ.ปากเกร็ด ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนสมพล ในข้อกล่าวหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ทําให้เสียทรัพย์ และทําให้ป้ายหรือสิ่งอื่นที่ราชการส่วนท้องถิ่นได้จัดทําไว้เพื่อสาธารณชนเกิดความเสียหาย โดยมีทนายความเข้าร่วมฟังการสอบปากคำด้วย สมพลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวไว้ที่ สภ.ปากเกร็ด ต่ออีก 1 คืน ก่อนยื่นคำร้องขอฝากขังสมพลต่อศาลจังหวัดนนทบุรีในวันรุ่งขึ้น โดยคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว อ้างเหตุคดีมีอัตราโทษสูง และเป็นบุคคลตามหมายจับศาลจังหวัดปทุมธานี ประกอบกับผู้ต้องหาได้กระทําผิดในลักษณะดังกล่าวจํานวนหลายท้องที่ หากให้ประกันตัวผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี

ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวสมพล โดยให้วางหลักประกันเป็นเงินสด 200,000 บาท ซึ่งได้จากกองทุนราษฎรประสงค์

(อ้างอิง: บันทึกจับกุม กองบังคับการสืบสวนตำรวจภูธรภาค 1 ลงวันที่ 19 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40583)

ภูมิหลัง

  • สมพล (นามสมมติ)
    สมพลเคยไปร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมทางการเมืองตั้งปี 2553 แต่ไม่ได้เข้าสังกัดเสื้อสีไหน และเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยตั้งแต่ในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา เนื่องจากเห็นสภาพบ้านเมือง เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต แย่ลงอย่างชัดเจน เห็นความอยุติธรรมในสังคมไทย จึงอยากออกมาร่วมต่อสู้ เพราะเห็นว่าประเทศไทยสามารถเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นกว่านี้ได้

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์