ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Line
  • ทำให้เสียทรัพย์ (มาตรา 358)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • พ.ร.บ.ความสะอาดฯ
ดำ อ.507/2565

ผู้กล่าวหา
  • ไม่ทราบชื่อ (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Line
  • พ.ร.บ.ความสะอาดฯ
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ทำให้เสียทรัพย์ (มาตรา 358)

หมายเลขคดี

ดำ อ.507/2565
ผู้กล่าวหา
  • 1

ความสำคัญของคดี

สมพล (นามสมมติ) พนักงานบริษัทวัย 28 ปี ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดนนทบุรีและถูกดำเนินคดีในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ทำให้เสียทรัพย์, ข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ รวมทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยถูกกล่าวหาว่า ปาสีใส่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 บริเวณทางขึ้นทางด่วนศรีสมาน อ.ปากเกร็ด เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2565 และส่งภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่เปื้อนสีไปในกลุ่มไลน์ สมพลถูกจับในคดีนี้พร้อมกับคดีของ สภ.เมืองปทุมธานี และภายหลังถูกจับสมพลรับกับตำรวจว่า ได้ปาสีใส่รูปในจุดอื่นๆ อีก ทำให้เขาถูกดำเนินคดีถึง 6 คดี โดยทั้งหมดเป็นคดีมาตรา 112 อย่างไรก็ตาม สมพลได้รับการประกันตัวทั้งในชั้นสอบสวนและพิจารณาคดี

กรณีของสมพลเป็นอีกกรณีที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความขยายขอบเขตเกินกว่าตัวบทของกฎหมาย ครอบคลุมถึงการกระทำต่อรูปภาพ ไม่ใช่เฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

จารณต์ บูรณชัย พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี บรรยายฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

ประเทศไทยมีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”

จําเลยได้กระทําความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ

1. เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2565 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จําเลยได้ใช้ของเหลวสีแดงบรรจุถุงพลาสติก 1 ถุง ขว้างปา สาดใส่ พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ของเทศบาลตําบลปากเกร็ด ผู้เสียหาย ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่บริเวณซุ้มเฉลิมพระเกียรติทางขึ้นทางด่วนด่านศรีสมาน อําเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ที่ได้จัดทําไว้เพื่อสาธารณชนแสดงความจงรักภักดีและรําลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ทําให้มีคราบสีแดงเปรอะเปื้อนพระบรมฉายาลักษณ์และโครงป้ายประดับ อันเป็นการไม่แสดงความเคารพสักการะหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติยศ และทําให้โครงป้ายประดับและพระบรมฉายาลักษณ์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 10,000 บาท

2. หลังจากนั้นจําเลยได้ใช้ภาพถ่ายจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจําเลยซึ่งบันทึกภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่มีคราบสีแดงเปรอะเปื้อน ส่งไปในกลุ่มไลน์พร้อมข้อความว่า “ส่งการบ้านคับ” อันเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติยศ และเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดนนทบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.507/2565 ลงวันที่ 12 พ.ค. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • ประมาณ 07.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นและจับกุมสมพล (นามสมมติ) จากบ้านพักย่านดอนเมือง โดยแสดงหมายจับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากนั้นควบคุมตัวไปยัง สภ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยญาติได้ติดตามไปด้วย แต่ขณะที่ทนายความยังติดตามไปไม่ถึง ตำรวจฝ่ายสืบสวนได้พาตัวสมพลไปชี้สถานที่เกิดเหตุ และยึดโทรศัพท์มือถือของเขาไป ทำให้ญาติและทนายความไม่สามารถติดต่อได้ และไม่ทราบว่า เขาถูกนำตัวไปที่ใดบ้าง

    กระทั่งประมาณ 17.10 น. ตำรวจจึงได้พาตัวสมพลกลับมายัง สภ.ปากเกร็ด แจ้งกับทนายความว่าจะสอบปากคำผู้ต้องหาในเช้าวันรุ่งขึ้น โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการทำบันทึกจับกุมเสร็จแล้ว ซึ่งทนายความไม่ได้เข้าร่วมด้วย

    จากการตรวจสอบบันทึกจับกุม พบว่าได้จัดทำขึ้นที่กองบังคับการสืบสวนตำรวจภูธรภาค 1 เป็นการจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดนนทบุรี และศาลจังหวัดปทุมธานี ลงวันที่ 18 ก.พ. 2565 ทั้งสองหมาย

    การจับกุมนำโดย พ.ต.ท.ยศวัฒน์ นิติรัฐพัฒนคุณ รองผู้กำกับสืบสวน 2 พร้อมเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการสืบสวนตำรวจภูธรภาค 1 จำนวน 13 นาย, ฝ่ายสืบ สภ.ปากเกร็ด จำนวน 6 นาย, สภ.เมืองปทุมธานี จำนวน 4 นาย และตำรวจ บก.ปอท. จำนวน 2 นาย รวมตำรวจชุดจับกุมกว่า 26 นาย

    บันทึกการจับกุมระบุว่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2565 ตำรวจภูธรภาค 1 ได้สืบสวนพบว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ถูกสาดสีจำนวน 6 รูป ต่อมาตรวจสอบในพื้นที่รับผิดชอบพบว่ามีป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ 3 จุด ในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 1 ถูกสาดสี แยกเป็นคดีในพื้นที่ สภ.เมืองปทุมธานี เป็นกรณีป้ายพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณเกาะกลางถนนด้านหน้าตลาด Awake (อเวค) อำเภอเมืองปทุมธานี และคดีในพื้นที่ สภ.ปากเกร็ด เป็นกรณีป้ายพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณทางขึ้นด่วนศรีสมาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี จากการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทราบว่าสมพลเป็นผู้ก่อเหตุ จึงได้ขออนุมัติศาลจังหวัดนนทบุรีและศาลจังหวัดปทุมธานีออกหมายจับ

    หมายจับของศาลจังหวัดนนทบุรี ระบุข้อกล่าวหาทั้งหมด 3 ข้อหา ได้แก่ “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, “ทำให้เสียทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และ “ทำให้โคมไฟ ป้าย หรือสิ่งใดๆ ที่ราชการได้จัดทำไว้เพื่อสาธารณชนเกิดความเสียหายหรือใช้ประโยชน์ไม่ได้” ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35

    การเข้าจับกุม ยังมีการแสดงหมายค้นที่ออกโดยศาลอาญาลงวันที่ 18 ก.พ. 2565 เข้าตรวจค้นบ้านของสมพล ก่อนเจ้าหน้าที่จะตรวจยึดของกลางรวมจำนวน 9 รายการ อาทิ รถจักรยานยนต์, หมวกนิรภัย, เสื้อผ้า, รองเท้า, คอมพิวเตอร์, โทรศัพท์มือถือ และกล้องถ่ายรูป

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม กองบังคับการสืบสวนตำรวจภูธรภาค 1 ลงวันที่ 19 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40583)
  • หลังจากควบคุมตัวสมพลไว้ที่ สภ.ปากเกร็ด ในคืนที่ผ่านมา ช่วงสาย พ.ต.ท.ประมวล นวลงาม พนักงานสอบสวน สภ.ปากเกร็ด ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนสมพล ในคดีที่เกิดขึ้นในท้องที่ อ.ปากเกร็ด โดยมีทนายความเข้าร่วมรับฟังการสอบปากคำด้วย

    พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์คดีว่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2565 ผู้กล่าวหาได้รับแจ้งจาก เจ้าหน้าที่ตํารวจสันติบาลว่ามีเหตุทําให้ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ บริเวณซุ้มเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10 บริเวณทางขึ้นทางด่วนศรีสมาน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เสียหาย หลังไปตรวจสอบพบป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ที่จุดดังกล่าวมีคราบสีแดงติดอยู่และพบถุงพลาสติกใสชนิดกดปิดภายในมีของเหลวสีแดงตกอยู่บริเวณฐานที่ตั้ง

    จากการสืบสวนสอบสวนหลังเกิดเหตุผู้กล่าวหาได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตํารวจฝ่ายสืบสวนสถานีตํารวจภูธรเมืองปทุมธานีว่ามีการกระทําผิดในลักษณะเดียวกันในพื้นที่ด้วย จึงได้ร่วมกันตรวจสอบพยานหลักฐานจากกล้องวงจรปิดทราบว่า ในวันที่ 13 ก.พ. 2565 เวลาประมาณ 03.52 น. ผู้ต้องหาได้ขับขี่รถจักรยานยนต์มาจอดบริเวณริมถนนศรีสมาน จากนั้นลงจากรถเดินเข้าไปขว้างปาถุงพลาสติกบรรจุสีแดงใส่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ได้รับความเสียหาย แล้วเดินกลับออกยังมาที่รถจอดไว้ขับขี่หลบหนีไป ผู้กล่าวหาและเจ้าหน้าที่เทศบาลนครปากเกร็ด จึงได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดําเนินคดีกับผู้ต้องหา

    พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อหาตามหมายจับ สมพลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือในวันที่ 21 มี.ค. 2565

    จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ให้สมพลพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และควบคุมตัวไว้ที่ สภ.ปากเกร็ด ต่ออีก 1 คืน โดยจะยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ต่อศาลในวันรุ่งขึ้น

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลจังหวัดนนทบุรี ลงวันที่ 21 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40583)
  • พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังสมพลต่อศาลจังหวัดนนทบุรี โดยคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว อ้างเหตุคดีมีอัตราโทษสูง และเป็นบุคคลตามหมายจับศาลจังหวัดปทุมธานี ประกอบกับผู้ต้องหาได้กระทําผิดในลักษณะดังกล่าวจํานวนหลายท้องที่ หากให้ประกันตัวผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี

    หลังศาลมีคำสั่งให้ฝากขัง ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาล ต่อมา ศาลอนุญาตให้ประกันตัวสมพล โดยให้วางหลักประกันเป็นเงินสด 200,000 บาท ซึ่งได้จากกองทุนราษฎรประสงค์ นัดสอบคำให้การในวันที่ 13 พ.ค. 2565 เวลา 08.30 น.

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลจังหวัดนนทบุรี ลงวันที่ 21 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40583)

  • พ.ต.ท.ประมวล นวลงาม พนักงานสอบสวน สภ.ปากเกร็ด นัดหมายสมพลพร้อมทนายความไปพบเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ระบุว่า หลังการจับกุมสมพลและตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ ได้ตรวจพิสูจน์พบว่า มีภาพถ่ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ที่ถูกปาสีแดงใส่ และมีการส่งข้อความและรูปภาพที่ถ่ายในคดีนี้และคดีอื่นไปในกลุ่มไลน์ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 10 คน จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมฐาน "นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)

    สมพลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สภ.ปากเกร็ด ลงวันที่ 28 เม.ย. 2565)
  • พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี ยื่นฟ้องสมพลในฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ทําให้เสียทรัพย์, ทำให้ป้ายของราชการท้องถิ่นเสียหาย และนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง โดยกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2565 จําเลยได้ใช้ของเหลวสีแดงบรรจุถุงพลาสติก 1 ถุง ขว้างปาใส่พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 บริเวณทางขึ้นทางด่วนด่านศรีสมาน ปากเกร็ด นนทบุรี ที่ได้จัดทําไว้เพื่อสาธารณชนแสดงความจงรักภักดี อันเป็นการไม่แสดงความเคารพสักการะหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ และทําให้โครงป้ายประดับและพระบรมฉายาลักษณ์ของเทศบาลตําบลปากเกร็ดได้รับความเสียหายเป็นเงิน 10,000 บาท

    จําเลยได้ใช้ภาพถ่ายพระบรมฉายาลักษณ์ที่มีคราบสีแดงเปรอะเปื้อนจากโทรศัพท์ของจําเลยส่งไปในกลุ่มไลน์พร้อมข้อความว่า “ส่งการบ้านคับ” อันเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

    ท้ายฟ้องอัยการคัดค้านการปล่อยชั่วคราวจําเลย ระบุว่า เป็นคดีที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคง หากจําเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวเกรงว่าจะหลบหนี ทั้งยังขอให้ศาลพิจารณาคดีเป็นการลับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 อ้างว่า เพื่อประโยชน์แห่งความเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดนนทบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.507/2565 ลงวันที่ 12 พ.ค. 2565)
  • เดินทางไปรายงานตัวตามที่ศาลนัด ก่อนเจ้าหน้าที่แจ้งว่า อัยการยื่นฟ้องแล้ว และนำตัวเขาไปควบคุมในห้องขังของศาล ทนายความได้ยื่นประกันในชั้นพิจารณา

    ต่อมาหลังศาลรับฟ้องและถามคำให้การเบื้องต้น ซึ่งสมพลให้การปฏิเสธ ศาลได้อนุญาตให้ประกันสมพล โดยใช้หลักประกันเดิมจากชั้นฝากขัง นัดคุ้มครองสิทธิและสอบคำให้การในวันที่ 6 ก.ค. 2565 เวลา 09.00 น.
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากติดนัดในคดีอื่นที่ได้นัดไว้ล่วงหน้่าแล้ว ศาลให้เลื่อนนัดคุ้มครองสิทธิและสอบคำให้การไปเป็นวันที่ 15 ส.ค. 2565 เวลา 09.00 น.
  • ศาลอธิบายฟ้องและแจ้งสิทธิให้จำเลยทราบ สมพลให้การปฏิเสธ และมีทนายความแล้ว ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 31 ต.ค.2565
  • หลังตรวจพยานหลักฐาน ศาลนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 23-25 ม.ค. 2567 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 26 ม.ค. 2567
  • จำเลยแถลงแนวทางต่อสู้คดี โดยยอมรับว่า เป็นผู้ปาสีใส่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์จริง แต่การกระทำดังกล่าวไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย แต่อย่างใด

    โจทก์นำพยานเข้าสืบ 3 ปาก ได้แก่ ชุดสืบสวน 2 ปาก และผู้รับมอบอำนาจผู้เสียหาย
  • โจทก์นำพยานเข้าสืบ 1 ปาก คือ พนักงานสอบสวน ก่อนแถลงหมดพยาน ด้านทนายจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน แต่ขอยื่นคำแถลงปิดคดีภายในวันที่ 27 ก.พ. 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 มี.ค. 2567 เวลา 09.00 น.
  • เวลา 09.00 น. สมพลและผู้รับมอบฉันทะทนายความได้เดินทางมารอที่ห้องพิจารณา 11 นอกจากนี้ยังมีผู้สังเกตการณ์จาก iLaw และสื่อมวลชนมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย

    เวลา 10.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษาโดยสรุปเห็นว่า จากการสืบพยานทราบได้ว่า จำเลยเป็นผู้ลงมือปาสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์จริง เนื่องจากปรากฏภาพทางกล้องวงจรปิดแล้วพบว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกันกับที่ปาสีใส่พระบรมฉายาลักษณ์ นอกจากนี้หลังเจ้าพนักงานตรวจค้นบ้านจำเลยแล้ว ยังพบสีแดงซึ่งเป็นสีเดียวกันที่ใช้ปา จึงเชื่อว่าได้ว่าจำเลยเป็นผู้ก่อเหตุจริง

    อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงการกระทำของจำเลยแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยเขียนข้อความ เครื่องหมาย หรือแสดงพฤติกรรมอันเป็นการพูด เขียน หรือแสดงกิริยาดูถูกเหยียดหยามพระมหากษัตริย์ อันจะทำให้พระมหากษัตริย์เสี่อมเสีย พฤติการณ์เห็นได้ชัดว่า การกระทำของจำเลยมุ่งให้ทรัพย์สินเสียหายเท่านั้น จึงเห็นว่าการกระทำไม่ได้เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 และจึงไม่ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เรื่องการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรด้วย

    เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ และ “ทำให้โคมไฟ ป้าย หรือสิ่งใด ๆ ที่ราชการได้จัดทำไว้เพื่อสาธารณชนเกิดความเสียหายหรือใช้ประโยชน์ไม่ได้” ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ลงโทษจำคุก 1 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 8 เดือน

    เห็นว่า การกระทำของจำเลยจงใจให้ทรัพย์สินส่วนราชการที่จัดทำให้เพื่อสาธารณชนเสียหาย ทั้งเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง และมีโทษร้ายแรง ไม่มีเหตุสมควรให้รอการลงโทษ

    หลังฟังคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวสมพลลงไปยังห้องขังใต้ถุนศาล ทนายความและนายประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ได้ยื่นขอประกันจำเลยระหว่างอุทธรณ์

    จนเวลาประมาณ 11.49 น. ศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน ใช้หลักทรัพย์เดิมจำนวน 200,000 บาท โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดเพิ่มเติม

    สำหรับสมพลถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไปแล้วรวม 6 คดี เป็นกรณีปาสีน้ำสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 จำนวน 5 คดี แยกคดีไปตามท้องที่เกิดเหตุ ได้แก่ คดีของ สภ.ปากเกร็ด, สภ.เมืองปทุมธานี, สภ.ปากคลองรังสิต, สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์, สน.ดอนเมือง และยังถูกแจ้งข้อหาอีกคดีหนึ่งของ สภ.คลองหลวง กรณีถูกกล่าวหาว่าพ่นสีสเปรย์ที่มีข้อความเกี่ยวกับกษัตริย์ ในส่วนคดีเกี่ยวกับการปาสีนั้น ศาลมีแนวทางยกฟ้องข้อหามาตรา 112 ทั้งหมด แต่ลงโทษจำคุกในข้อหาเกี่ยวกับการทำให้เสียทรัพย์ โดยสมพลได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ในทุกคดี

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/65927)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สมพล (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สมพล (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 27-03-2024

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สมพล (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์