สรุปความสำคัญ

สมพล (นามสมมติ) พนักงานบริษัทวัย 28 ปี ถูก สภ.ปากคลองรังสิต ดำเนินคดีในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ทำให้ทรัพย์สาธารณะเสียหาย และข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ โดยถูกกล่าวหาว่า ปาสีใส่ป้ายพระฉายาลักษณ์พระราชินีริมถนนติวานนท์ เขตเมืองปทุมธานี เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2565 หลังสมพลถูกจับตามหมายจับในคดีของ สภ.ปากเกร็ด และ สภ.เมืองปทุมธานี จากเหตุป้ายพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณทางขึ้นทางด่วนศรีสมาน และหน้าตลาดอเวค อ.เมืองปทุมธานี ถูกปาสีในคืนเดียวกัน โดยสมพลรับกับตำรวจว่า ได้ปาสีใส่รูปในจุดอื่นๆ อีก ทำให้เขาถูกดำเนินคดีถึง 6 คดี โดยทั้งหมดเป็นคดีมาตรา 112 อย่างไรก็ตาม สมพลได้รับการประกันตัวทั้งในชั้นสอบสวนและพิจารณาคดี

กรณีของสมพลเป็นอีกกรณีที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความขยายขอบเขตเกินกว่าตัวบทของกฎหมาย ครอบคลุมถึงการกระทำต่อรูปภาพ ไม่ใช่เฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • สมพล (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

หลังจากเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายหน่วยสนธิกำลังเข้าจับกุมสมพล (นามสมมติ) จากบ้านพักย่านดอนเมือง ตามหมายจับของศาลจังหวัดนนทบุรีและศาลจังหวัดปทุมธานี โดยกล่าวหาว่า สมพลปาสีน้ำสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 บริเวณทางขึ้นทางด่วนศรีสมาน อ.ปากเกร็ด และบริเวณเกาะกลางถนนหน้าตลาดอเวค อ.เมืองปทุมธานี เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2565 นำตัวไปชี้ที่เกิดเหตุ จากนั้นควบคุมตัวอยู่ที่ สภ.ปากเกร็ด 2 คืน เพื่อสอบปากคำ และรอส่งฝากขังในวันจันทร์

21 ก.พ. 2565 ระหว่างการรอขอฝากขังสมพลต่อศาลจังหวัดปทุมธานีและศาลจังหวัดนนทบุรีผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ พนักงานสอบสวน สภ.ปากคลองรังสิต ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาสมพลอีกคดีหนึ่ง โดยไม่ได้มีหมายจับ และไม่ได้มีทนายความอยู่ร่วมด้วย ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, “ทำให้ทรัพย์สาธารณะเสียหาย” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 และ “ทำให้โคมไฟ ป้าย หรือสิ่งใดๆ ที่ราชการได้จัดทำไว้เพื่อสาธารณชนเกิดความเสียหายหรือใช้ประโยชน์ไม่ได้” ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35 เช่นเดียวกับคดีก่อนหน้านั้น จากการที่เขาให้การหลังถูกจับกุมว่า ได้ปาสีใส่รูปในจุดอื่นๆ อีก 4 จุด โดยในคดีของ สภ.ปากคลองรังสิต นี้ เป็นการปาสีใส่รูปของพระราชินีสุทิดาบริเวณริมถนนติวานนท์

จากนั้น พนักงานสอบสวน สภ.ปากคลองรังสิต ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังสมพลในคดีนี้ต่อศาลจังหวัดปทุมธานี และทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสอบสวน

ต่อมา เวลาประมาณ 15.30 น. ศาลอนุญาตให้ประกันตัวสมพล โดยให้วางหลักประกันเป็นเงินสด 200,000 บาท ซึ่งได้จากกองทุนราษฎรประสงค์ และนัดสมพลไปรับทราบฟ้องในวันที่ 17 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

(อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/40654)

ภูมิหลัง

  • สมพล (นามสมมติ)
    สมพลเคยไปร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมทางการเมืองตั้งปี 2553 แต่ไม่ได้เข้าสังกัดเสื้อสีไหน และเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยตั้งแต่ในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา เนื่องจากเห็นสภาพบ้านเมือง เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต แย่ลงอย่างชัดเจน เห็นความอยุติธรรมในสังคมไทย จึงอยากออกมาร่วมต่อสู้ เพราะเห็นว่าประเทศไทยสามารถเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นกว่านี้ได้

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์