สรุปความสำคัญ

สมพล (นามสมมติ) พนักงานบริษัทวัย 28 ปี ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดธัญบุรีและนำตัวไปดำเนินคดีที่ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ อีก ในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ทำให้ทรัพย์สาธารณะเสียหาย และข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ หลังเขาได้รับการประกันตัวในคดีปาสีใส่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ของ สภ.ปากเกร็ด, สภ.เมืองปทุมธานี และ สภ.ปากคลองรังสิต รวม 3 คดี ในคดีของ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ นี้ สมพลถูกกล่าวหาว่า ปาสีใส่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณจุดกลับรถหน้าห้างสรรพสินค้าโลตัส รังสิต เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2565 คืนเดียวกับเหตุในคดีอื่น นอกจากนี้ สมพลยังถูกดำเนินคดีอีก 2 คดี รวมเป็น 6 คดี ทั้งหมดเป็นข้อหาตามมาตรา 112 จากการปาสีใส่พระบรมฉายาลักษณ์และพ่นสีข้อความพาดพิงกษัตริย์

กรณีของสมพลเป็นอีกกรณีที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความขยายขอบเขตเกินกว่าตัวบทของกฎหมาย ครอบคลุมถึงการกระทำต่อรูปภาพ ไม่ใช่เฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • สมพล (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

21 ก.พ. 2565 ราว 20.00 น. หลังสมพล (นามสมมติ) ได้รับการประกันตัวจากศาลจังหวัดนนทบุรี และศาลจังหวัดปทุมธานี ในคดีปาสีใส่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 รวม 3 คดี และได้รับการที่ปล่อยตัวที่ศาลจังหวัดปทุมธานี เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ได้เข้าอายัดตัวอีก แจ้งญาติที่ไปรอรับว่า จะนำตัวไปดำเนินคดีข้อหา 112 ตามหมายจับต่อ ก่อนนำตัวไปที่ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ โดยแจ้งทนายความว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำในช่วงบ่ายวันรุ่งขึ้น

แต่ในวันที่ 22 ก.พ. 2565 เวลาประมาณ 11.00 น. ญาติของสมพล ได้แจ้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า ได้มีพนักงานสอบสวนจาก สภ.คลองหลวง เดินทางเข้าแจ้งข้อกล่าวหาต่อสมพลในอีกคดีหนึ่ง มีการนำทนายความขอแรงที่ประจำที่สถานีตำรวจมาเข้าร่วมการสอบสวนด้วย โดยไม่รอทนายความของผู้ต้องหาเอง ที่จะเดินทางไปในช่วงบ่าย

ต่อมาหลังทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางไปถึง สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ พบว่า การอายัดตัวเมื่อคืนนี้ เป็นการจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดธัญบุรีที่ 114/2565 ลงวันที่ 21 ก.พ. 2565 จากนั้น พนักงานสอบสวน สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ได้แจ้งข้อกล่าวหาโดยระบุพฤติการณ์คดีว่า ในช่วงเวลา 02.39 น. วันที่ 13 ก.พ. 2565 สมพลได้นําถุงพลาสติกบรรจุสีแดงขว้างใส่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 บริเวณจุดกลับรถหน้าห้างสรรพสินค้าโลตัส รังสิต

พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 3 ข้อกล่าวหากับสมพลเช่นเดียวกับในคดีก่อนหน้านี้ คือ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ฯ, ทําให้เสียทรัพย์ซึ่งใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ และกระทําด้วยประการใด ๆ ให้ป้ายหรือสิ่งอื่นใดที่ราชการส่วนท้องถิ่นได้จัดทําไว้เพื่อสาธารณชน เกิดความเสียหายหรือใช้ประโยชน์ไม่ได้"

สมพลได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากนั้น พนักงานสอบสวนได้นำตัวสมพลไปยื่นขอฝากขังต่อศาลจังหวัดธัญบุรี พร้อมกับคดีของ สภ.คลองหลวง โดยคัดค้านการให้ประกันตัว อ้างเหตุว่า เกรงว่าผู้ต้องจะหลบหนี และไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

ต่อมา ศาลอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา แต่อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันตัว 150,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ลงวันที่ 22 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40654)

ภูมิหลัง

  • สมพล (นามสมมติ)
    สมพลเคยไปร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมทางการเมืองตั้งปี 2553 แต่ไม่ได้เข้าสังกัดเสื้อสีไหน และเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยตั้งแต่ในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา เนื่องจากเห็นสภาพบ้านเมือง เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต แย่ลงอย่างชัดเจน เห็นความอยุติธรรมในสังคมไทย จึงอยากออกมาร่วมต่อสู้ เพราะเห็นว่าประเทศไทยสามารถเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นกว่านี้ได้

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์