ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย (มาตรา 360)
  • พ.ร.บ.ความสะอาดฯ
ดำ อ.1462/2565
แดง อ.2825/2566

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.นิเวศน์ นิลวดี รอง ผกก.สส.สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.ความสะอาดฯ
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย (มาตรา 360)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1462/2565
แดง อ.2825/2566
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.นิเวศน์ นิลวดี รอง ผกก.สส.สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์

ความสำคัญของคดี

สมพล (นามสมมติ) พนักงานบริษัทวัย 28 ปี ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดธัญบุรีและนำตัวไปดำเนินคดีที่ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ อีก ในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ทำให้ทรัพย์สาธารณะเสียหาย และข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ หลังเขาได้รับการประกันตัวในคดีปาสีใส่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ของ สภ.ปากเกร็ด, สภ.เมืองปทุมธานี และ สภ.ปากคลองรังสิต รวม 3 คดี ในคดีของ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ นี้ สมพลถูกกล่าวหาว่า ปาสีใส่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณจุดกลับรถหน้าห้างสรรพสินค้าโลตัส รังสิต เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2565 คืนเดียวกับเหตุในคดีอื่น นอกจากนี้ สมพลยังถูกดำเนินคดีอีก 2 คดี รวมเป็น 6 คดี ทั้งหมดเป็นข้อหาตามมาตรา 112 จากการปาสีใส่พระบรมฉายาลักษณ์และพ่นสีข้อความพาดพิงกษัตริย์

กรณีของสมพลเป็นอีกกรณีที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความขยายขอบเขตเกินกว่าตัวบทของกฎหมาย ครอบคลุมถึงการกระทำต่อรูปภาพ ไม่ใช่เฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ณัฐพงศ์ ประคองทรัพย์ พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี บรรยายฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

ประเทศไทยปกครองโดยพระมหากษัตริย์มาแต่สร้าง เริ่มตั้งแต่การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนกระทั่งถึงปัจจุบันที่ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผู้ใดจะล่วงละเมิดพระมหากษัตริย์ในทางหนึ่งทางใดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ ทั้งรัฐและประชาชนต่างมีหน้าที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งพระมหากษัตริย์ ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6 และมาตรา 50

นอกจากนี้ประมวลกฎหมายอาญา ยังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ไว้เป็นพิเศษแตกต่างจากบุคคลทั่วไป ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวย่อมเห็นได้โดยแจ้งชัดว่า องค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รวมถึงสถาบันกษัตริย์ ทรงเป็นที่เคารพสักการะและเป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทยมาแต่ครั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2565 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จําเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินีฯ ด้วยการขว้างปาถุงบรรจุสีน้ำสีแดงใส่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 จำนวน 1 ป้าย ซึ่งเป็นทรัพย์สินของเทศบาลนครรังสิต ผู้เสียหาย ตั้งอยู่บริเวณถนนพหลโยธินขาออกใกล้จุดกลับรถหน้าห้างสรรพสินค้าโลตัส รังสิต อําเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ทําให้พระบรมฉายาลักษณ์เปรอะเปื้อนสีแดงที่บริเวณพระพักตร์และฉลองพระองค์ อันเป็นการกระทําที่มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ รวมถึงสถาบันกษัตริย์ ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ

และทําให้ทรัพย์สินของผู้เสียหายที่จัดขึ้นเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเคารพสักการะบูชา เปรอะเปื้อนเสียหาย เสื่อมค่า และใช้ประโยชน์ไม่ได้ คิดเป็นค่าเสียหายจํานวน 10,000 บาท

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดธัญบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.1462/2565 ลงวันที่ 12 พ.ค. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • ราว 20.00 น. หลังสมพล (นามสมมติ) ได้รับการประกันตัวจากศาลจังหวัดนนทบุรี และศาลจังหวัดปทุมธานี ในคดีปาสีใส่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และพระราชินี รวม 3 คดี และได้รับการที่ปล่อยตัว เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ได้เข้าอายัดตัวอีก แจ้งญาติที่ไปรอรับว่า จะนำตัวไปดำเนินคดีข้อหา 112 ตามหมายจับต่อ ก่อนนำตัวไปที่ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ โดยแจ้งทนายความว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำในช่วงบ่ายวันรุ่งขึ้น

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/40654)
  • หลังทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางไปถึง สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ พบว่า การอายัดตัวเมื่อคืนนี้ เป็นการจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดธัญบุรีที่ 114/2565 ลงวันที่ 21 ก.พ. 2565 จากนั้น ร.ต.ท.ภาณุมาศ นาคสุข รอง สว.(สอบสวน) สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ได้แจ้งข้อกล่าวหาโดยระบุพฤติการณ์คดีว่า

    เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2565 เจ้าหน้าที่ตํารวจฝ่ายสืบสวน สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ได้รับแจ้งว่ามีบุคคลนําถุงพลาสติกบรรจุสีแดงขว้างใส่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 บริเวณจุดกลับรถหน้าห้างสรรพสินค้าโลตัส รังสิต ต่อมาเทศบาลนครรังสิต ผู้กล่าวหา ได้มอบอํานาจให้ ภาณุพงษ์ หมีขยัน มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งความร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีกับผู้ก่อเหตุในความผิดฐาน “ทําให้เสียทรัพย์ซึ่งใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์”

    จากการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานจากภาพกล้องวงจรปิดทราบว่า สมพลคือผู้ก่อเหตุในคดีนี้ ในช่วงเวลา 02.39 น. วันที่ 13 ก.พ. 2565 และเชื่อมโยงกับผู้ต้องหาซึ่งได้ไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันในเขตพื้นที่ สภ.ปากคลองรังสิต, สภ.เมืองปทุมธานี และ สภ.ปากเกร็ด ในวันเดียวกัน

    ทั้งนี้ ตํารวจฝ่ายสืบสวนเห็นว่า การกระทําดังกล่าวเป็นความผิดฐาน "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ” พ.ต.ท.นิเวศน์ นิลวดี รอง ผกก.สส.สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ จึงร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหาดังกล่าวด้วย

    พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 3 ข้อกล่าวหากับสมพลเช่นเดียวกับในคดีก่อนหน้านี้ คือ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ฯ, ทําให้เสียทรัพย์ซึ่งใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ และกระทําด้วยประการใด ๆ ให้ป้ายหรือสิ่งอื่นใดที่ราชการส่วนท้องถิ่นได้จัดทําไว้เพื่อสาธารณชน เกิดความเสียหายหรือใช้ประโยชน์ไม่ได้"

    สมพลได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือต่อไปภายใน 30 วัน จากนั้น พนักงานสอบสวนได้นำตัวสมพลไปยื่นขอฝากขังต่อศาลจังหวัดธัญบุรี พร้อมกับคดีของ สภ.คลองหลวง ที่ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาในช่วงเช้า โดยคัดค้านการให้ประกันตัว อ้างเหตุว่า เกรงว่าผู้ต้องจะหลบหนี และไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

    ต่อมา ศาลอนุญาตให้ฝากขัง แต่อนุญาตให้ประกันตัวทั้งสองคดี โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันตัวคดีละ 150,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ลงวันที่ 22 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40654)
  • พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี ยื่นฟ้องสมพลในฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ทําให้ทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์เสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 360 และทำให้ป้ายของราชการท้องถิ่นเสียหาย ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35 โดยกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2565 จําเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ฯ ด้วยการขว้างปาถุงบรรจุสีน้ำสีแดงใส่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นทรัพย์สินของเทศบาลนครรังสิต ตั้งอยู่บริเวณถนนพหลโยธินขาออกใกล้จุดกลับรถหน้าห้างสรรพสินค้าโลตัส รังสิต อําเภอธัญบุรี ทําให้พระบรมฉายาลักษณ์เปรอะเปื้อนสีแดงที่บริเวณพระพักตร์และฉลองพระองค์ อันเป็นการกระทําที่มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ รวมถึงสถาบันกษัตริย์ ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ

    และทําให้ทรัพย์สินของผู้เสียหายที่จัดขึ้นเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเคารพสักการะบูชา เปรอะเปื้อนเสียหาย เสื่อมค่า และใช้ประโยชน์ไม่ได้ คิดเป็นค่าเสียหายจํานวน 10,000 บาท

    ท้ายฟ้องอัยการคัดค้านการให้ประกันระหว่างพิจารณาคดี อ้างว่าเป็นคดีที่มีโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี พร้อมทั้งขอให้นับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในอีกคดีของศาลนี้ด้วย

    ทั้งนี้ อัยการยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดธัญบุรีพร้อมกับคดีพ่นสีข้อความบนป้ายบอกทางที่คลองหลวง

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดธัญบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.1462/2565 ลงวันที่ 12 พ.ค. 2565)
  • โจทก์แถลงสืบพยานบุคคลใช้เวลา 2 นัดครึ่ง ทนายจำเลยแถลงสืบพยานจำเลยใช้เวลาครึ่งนัด นัดสืบพยานทั้งโจทก์และจำเลยในวันที่ 31 พ.ค. และ 1-2 มิ.ย. 2566
  • ก่อนเริ่มสืบพยาน จําเลยแถลงขอถอนคําให้การเดิมและขอให้การใหม่เป็นว่า จําเลยขอให้การรับสารภาพเฉพาะข้อหาทําให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 360 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35 แต่ให้การปฏิเสธข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    สืบพยานโจทก์ได้ 1 ปาก ส่วนพยานโจทก์ที่เหลือ ทนายจําเลยแถลงรับข้อเท็จจริงตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนและพยานเอกสารของโจทก์ โจทก์จึงไม่ติดใจนำพยานเข้าสืบ ด้านทนายจําเลยก็แถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน แต่ขอยื่นคําแถลงการณ์ปิดคดีภายใน 30 วัน ศาลนัดฟังคําพิพากษาในวันที่ 29 ส.ค. 2566 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดธัญบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.1462/2565 ลงวันที่ 31 พ.ค. 2566)
  • เวลา 09.45 น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 2 สมพลเดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วยรถจักรยานยนต์เพียงคนเดียว ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี ก่อนอ่านคำพิพากษา มีใจความโดยสรุปดังนี้

    พิเคราะห์แล้ว พฤติการณ์ของจำเลยเป็นเพียงการปาสีใส่รูปพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 แต่ไม่ได้ความว่าจำเลยได้พูด เขียน หรือแสดงอากัปกิริยาใดๆ ที่ทำให้เห็นว่าจำเลยเจตนาดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112

    เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้แค่เพียงว่า การกระทำของจำเลยเป็นการทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358 ประกอบมาตรา 360 เท่านั้น เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักที่สุด คือ มาตรา 360

    ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท แต่จำเลยให้การรับสารภาพจึงมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท และให้รอลงอาญา 2 ปี ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจากคดีอื่นของจำเลย ศาลเห็นว่าคดีนี้มีการรอการลงอาญาแล้ว จึงไม่มีเหตุให้นับโทษต่อ ให้ยกคำร้องส่วนนี้ ส่วนข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 พิพากษายกฟ้อง

    ทั้งนี้ สมพลถูกดำเนินคดีมาตรา 112 แยกไปตามท้องที่สถานีตำรวจที่รับผิดชอบที่เกิดเหตุ รวมทั้งสิ้น 6 คดี จากการปาสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ในจุดต่างๆ จำนวน 5 คดี และพฤติการณ์เกี่ยวกับการพ่นสีสเปรย์ 1 คดี

    ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 ศาลจังหวัดปทุมธานีได้มีคำพิพากษาใน 2 คดี ยกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 เช่นเดียวกันนี้ เพราะเห็นว่าจำเลยมีเจตนามุ่งทำลายทรัพย์สินของผู้อื่นเท่านั้น แต่ลงโทษในข้อหาตามมาตรา 360 โดยคดีแรกลงโทษจำคุก 6 เดือน และคดีที่สองจำคุก 18 เดือน โดยไม่รอลงอาญา แต่สมพลยังได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/58903)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สมพล (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สมพล (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 28-03-2023

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สมพล (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์