สรุปความสำคัญ

สมพล (นามสมมติ) พนักงานบริษัทวัย 28 ปี ถูก สภ.คลองหลวง ดำเนินคดีในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ทำให้ทรัพย์สาธารณะเสียหาย, ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ โดยถูกกล่าวหาว่า พ่นสีสเปรย์เป็นข้อความเกี่ยวกับกษัตริย์บนป้ายบอกทางหน้าสนามกอล์ฟเอไอที และหน้าศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใน อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2565 สมพลยังถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อีก 5 คดี ในท้องที่ต่างๆ จากการปาสีใส่พระบรมฉายาลักษณ์ เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2565

กรณีของสมพลเป็นอีกกรณีที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความขยายขอบเขตเกินกว่าตัวบทของกฎหมาย ครอบคลุมถึงการกระทำต่อรูปภาพ ไม่ใช่เฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • สมพล (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

22 ก.พ. 2565 เวลาประมาณ 11.00 น. พนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง เข้าแจ้งข้อกล่าวหาสมพล (นามสมมติ) ขณะที่เขาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ตามหมายจับศาลจังหวัดธัญบุรี ในคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่ง

พ.ต.ท.พิศิษฐ บุญมีสุข สารวัตร (สอบสวน) สภ.คลองหลวง แจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาโดยสรุปว่า จากการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเชื่อว่า สมพลเป็นผู้พ่นสีสเปรย์สีน้ำเงินที่มีข้อความเกี่ยวกับกษัตริย์ ทับป้ายบอกทาง 2 จุด ได้แก่ บริเวณหน้าสนามกอล์ฟเอไอที และหน้าศาลอุทธรณ์ภาค 1 เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2565 เวลา 02.41 น.

พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาสมพล 4 ข้อหา คือ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ, ทําให้เสียทรัพย์ซึ่งใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์, นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง และกระทําด้วยประการใด ๆ ให้ป้ายหรือสิ่งอื่นใดที่ราชการส่วนท้องถิ่นได้จัดทําไว้เพื่อสาธารณชน เกิดความเสียหายหรือใช้ประโยชน์ไม่ได้" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 360, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35

สมพลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากนั้น พนักงานสอบสวนได้นำตัวสมพลไปยื่นขอฝากขังต่อศาลจังหวัดธัญบุรี พร้อมกับคดีของ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ แม้ในคดีนี้ตำรวจจะไม่ได้มีหมายจับ แต่พนักงานสอบสวนอ้างว่ามีเหตุที่จะออกหมายขังผู้ต้องหาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 จึงได้สั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อขอออกหมายขังด้วย

ต่อมา ศาลอนุญาตให้ฝากขัง แต่อนุญาตให้ประกันตัวทั้งสองคดี โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันตัวคดีละ 150,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.คลองหลวง ลงวันที่ 22 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40654)

ภูมิหลัง

  • สมพล (นามสมมติ)
    สมพลเคยไปร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมทางการเมืองตั้งปี 2553 แต่ไม่ได้เข้าสังกัดเสื้อสีไหน และเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยตั้งแต่ในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา เนื่องจากเห็นสภาพบ้านเมือง เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต แย่ลงอย่างชัดเจน เห็นความอยุติธรรมในสังคมไทย จึงอยากออกมาร่วมต่อสู้ เพราะเห็นว่าประเทศไทยสามารถเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นกว่านี้ได้

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์