สรุปความสำคัญ

“ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมทางการเมือง ถูกจับกุมตามหมายจับออกโดยศาลจังหวัดนนทบุรีในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" หลังปราศรัยในกิจกรรม "ยืนหยุดขัง" ที่หอนาฬิกา ท่าน้ำนนทบุรี เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 วิพากษ์วิจารณ์การโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ แม้ชินวัตรจะได้รับการประกันตัว แต่ถูกศาลกำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำการที่เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์และศาล ห้ามขัดขวางกระบวนการพิจารณาคดีของศาล และห้ามเข้าร่วมการชุมนุมที่อาจก่อความวุ่นวาย ซึ่งตีความได้กว้างขวาง และถูกพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอให้ศาลถอนประกัน อ้างเหตุว่าเขาผิดเงื่อนไขประกันจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตีความอย่างกว้าง เพื่อเป็นเครื่องมือปิดกั้นการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ชินวัตร จันทร์กระจ่าง
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

23 ก.พ. 2565 เวลาประมาณ 15.30 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ จาก สภ.รัตนาธิเบศร์ และ สภ.เมืองนนทบุรี ได้สนธิกำลังเข้าจับกุม “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมทางการเมือง ถึงบ้านพักในจังหวัดนนทบุรี เป็นการจับกุมตามหมายจับ ออกโดยศาลจังหวัดนนทบุรีเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2565

เบื้องต้น เจ้าหน้าที่แจ้งว่า เป็นการจับกุมในคดีจากเหตุเข้าร่วมกิจกรรมยืนหยุดขัง จัดที่หน้าหอนาฬิกา ท่าน้ำนนทบุรี เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 เขาถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ต่อมา ได้ถูกนำตัวไปทำบันทึกการรับมอบตัวและจับกุมที่ สภ.รัตนาธิเบศร์ จากนั้นชินวัตรถูกส่งตัวต่อมายัง สภ.เมืองนนทบุรี ซึ่งเป็นสถานีตำรวจท้องที่เจ้าของคดี

พนักงานสอบสวน สภ.เมืองนนทบุรี แจ้งพฤติการณ์คดีโดยสรุปว่า เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 4 ก.พ. 2565 ชินวัตรได้ทํากิจกรรม “ยืนหยุดขัง” ที่บริเวณวงเวียนหอนาฬิกา ท่าน้ำนนทบุรี และได้ใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์

พนักงานสอบสวนอ้างว่าข้อความดังกล่าว เป็นการพูดใส่ความพระมหากษัตริย์ต่อประชาชนที่เดินผ่านไปมาให้เข้าใจผิด หรือหลงเชื่อว่าพระมหากษัตริย์จะทุจริต ยักยอก คอร์รัปชั่นทรัพย์สมบัติของชาติเป็นของตนเอง และจากการตรวจสอบจากเทศบาลนครนนทบุรี ทราบว่าผู้ต้องหาไม่ได้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงบริเวณที่เกิดเหตุ ในวันเวลาดังกล่าวแต่อย่างใด

พนักงานสอบสวนได้แจ้งชินวัตร 2 ข้อหา ได้แก่ “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ "ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต" ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 ชินวัตรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

หลังจากสอบคำให้การเสร็จสิ้นแล้ว ชินวัตรได้ถูกควบคุมตัวไว้ที่ สภ.เมืองนนทบุรี 1 คืน ก่อนในวันที่ 24 ก.พ. 2565 พนักงานสอบสวนได้ยื่นขออำนาจศาลจังหวัดนนทบุรีฝากขัง พร้อมคัดค้านการประกันตัว อ้างว่าเป็นคดีหมิ่นเบื้องสูง ที่มีอัตราโทษสูง และผู้ต้องหากระทําผิดลักษณะเดียวกันถูกดําเนินคดีหลายท้องที่ หากให้ประกันตัวเกรงผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี

ต่อมา ศาลมีคำสั่งให้อนุญาตให้ฝากขัง และอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมกำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำการอันใดเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาล ห้ามขัดขวางกระบวนการพิจารณาคดีของศาล และห้ามเข้าร่วมการชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ทำให้เขาได้รับการปล่อยตัวในที่สุด

(อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลจังหวัดนนทบุรี ลงวันที่ 24 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40783)

ภูมิหลัง

  • ชินวัตร จันทร์กระจ่าง
    แกนนำกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป. รุ่น 2, ประธานเครือข่ายคนรุ่นใหม่ จ.นนทบุรี

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์