ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
ดำ อ.938/2565
แดง อ.923/2567

ผู้กล่าวหา
  • ไม่ทราบชื่อ (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ (ใช้เครื่องขยายเสียง)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.938/2565
แดง อ.923/2567
ผู้กล่าวหา
  • 1

ความสำคัญของคดี

“ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมทางการเมือง ถูกจับกุมตามหมายจับออกโดยศาลจังหวัดนนทบุรีในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" หลังปราศรัยในกิจกรรม "ยืนหยุดขัง" ที่หอนาฬิกา ท่าน้ำนนทบุรี เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 วิพากษ์วิจารณ์การโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ แม้ชินวัตรจะได้รับการประกันตัว แต่ถูกศาลกำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำการที่เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์และศาล ห้ามขัดขวางกระบวนการพิจารณาคดีของศาล และห้ามเข้าร่วมการชุมนุมที่อาจก่อความวุ่นวาย ซึ่งตีความได้กว้างขวาง และถูกพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอให้ศาลถอนประกัน อ้างเหตุว่าเขาผิดเงื่อนไขประกันจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตีความอย่างกว้าง เพื่อเป็นเครื่องมือปิดกั้นการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

โชติ จ้ายหนองบัว พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี บรรยายฟ้องโดยสรุประบุว่า

เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 จำเลยได้ทำการโฆษณาปราศรัยแก่ประชาชน ที่บริเวณวงเวียนหอนาฬิกา ท่าน้ำนนทบุรี โดยใช้เครื่องขยายเสียงไมโครโฟนไร้สาย (ไมค์ลอย) ผ่านไปยังลำโพงให้ดังขึ้น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

จำเลยยังกล่าวปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ โดยมีข้อความที่เป็นความเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่นใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ กล่าวหาใส่ความว่า พระมหากษัตริย์รับโอนทรัพย์สินของชาติ มาเป็นของตนเองโดยส่วนตัว โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต โดยจำเลยมีเจตนาบิดเบือนใส่ร้ายและมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดนนทบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.938/2565 ลงวันที่ 7 ก.ย. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลาประมาณ 15.30 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ จาก สภ.รัตนาธิเบศร์ และ สภ.เมืองนนทบุรี ได้สนธิกำลังเข้าจับกุม “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมทางการเมือง ถึงบ้านพักในจังหวัดนนทบุรี เป็นการจับกุมตามหมายจับ ออกโดยศาลจังหวัดนนทบุรีเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2565

    เบื้องต้น เจ้าหน้าที่แจ้งว่า เป็นการจับกุมในคดีจากเหตุเข้าร่วมกิจกรรมยืนหยุดขัง จัดที่หน้าหอนาฬิกา ท่าน้ำนนทบุรี เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 เขาถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ต่อมา ได้ถูกนำตัวไปทำบันทึกการรับมอบตัวและจับกุมที่ สภ.รัตนาธิเบศร์

    สำหรับบันทึกจับกุมในคดีนี้ ระบุว่าการจับกุมอยู่ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 โดยมีจุดจับกุมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งจากกองกำกับการสืบสวนภูธรจังหวัดนนทบุรี, สภ.รัตนาธิเบศร์ และ สภ.เมืองนนทบุรี รวมทั้งสิ้น 22 นาย

    ในชั้นจับกุม ชินวัตรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่ยอมรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับจริง และประสงค์ให้มีทนายความคอยอยู่ร่วมในกระบวนการด้วย รวมทั้งเขาปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม หลังทำบันทึกจับกุม ชินวัตรถูกส่งตัวต่อมายัง สภ.เมืองนนทบุรี ซึ่งเป็นสถานีตำรวจท้องที่เจ้าของคดี

    พนักงานสอบสวน สภ.เมืองนนทบุรี แจ้งพฤติการณ์คดีโดยสรุปว่า เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 4 ก.พ. 2565 ชินวัตรได้ทํากิจกรรม “ยืนหยุดขัง” ที่บริเวณวงเวียนหอนาฬิกา ท่าน้ำนนทบุรี และได้นําแผ่นกระดาษที่เขียนข้อความ “ยกเลิก 112” และภาพของพริษฐ์ ชิวารักษ์, ภาณุพงษ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒน์กุล วางไว้บนต้นไม้ บริเวณรอบวงเวียน

    นอกจากนี้ ชินวัตรได้ใช้เครื่องขยายเสียงแบบไมล์ลอยพูดปราศรัยเพื่อให้ประชนชนที่เดินผ่านไปมารับฟัง โดยมีข้อความบางส่วนว่า

    “พอเปลี่ยนผ่านรัชกาลมา และในสมัยของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการไปเซ็นโอนย้ายโอนถ่ายนะครับทรัพย์สมบัติของชาติ จากปกติเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ พูดกันง่าย ๆ ยกตัวอย่างกันง่าย ๆ เช่น บริษัทไทยพาณิชย์ ก็คือธนาคารไทยพาณิชย์ นะครับพี่น้อง ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริยนะครับ สมัยก่อนนู้น”

    “แต่พอมาในยุคของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปเซ็นเอกสารอะไรก็ไม่รู้นั้น โอนผ่านมาเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ เราเป็นห่วงรัชทายาทต่างๆ ที่จะต้องใช้ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นเหมือนกัน ท่านจะใช้อย่างไร หากเรามีในหลวงพระองค์ต่อไป ท่านจะใช้อย่างไร ในเมื่อมีการโอนย้ายมาแล้วจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งทุกคนในตระกูลสามารถใช้ได้กันหมด แต่อยู่ดี ๆ เปลี่ยนมาเป็นของส่วนตัว แล้วอย่างนี้ทรัพย์สมบัติของชาติจะตกไปอยู่ที่ของใคร”

    “นี่คือข้อสังเกต นี้คือข้อสงสัยของพวกเรา หากท่านต้องการจะตอบให้กระจ่าง ก็เป็นหน้าที่ของท่านที่จะต้องชี้แจงให้ประชาชนนั้นเข้าใจ แต่สถานการณ์มันก็กลับตรงกันข้าม แทนที่จะชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจกลับเป็นการดําเนินคดีกับคนที่ออกมาตั้งข้อสงสัย แสดงว่าประชาชนไม่สามารถตั้งข้อสงสัยอะไรกันใครได้เลย แบบนี้มันก็ไม่มีการตรวจสอบ แบบนี้ก็โกงกินทรัพย์สมบัติของชาติกันมหาศาลสิครับ”

    พนักงานสอบสวนอ้างว่าข้อความดังกล่าว เป็นการพูดใส่ความพระมหากษัตริย์ต่อประชาชนที่เดินผ่านไปมาให้เข้าใจผิด หรือหลงเชื่อว่าพระมหากษัตริย์จะทุจริต ยักยอก คอร์รัปชั่นทรัพย์สมบัติของชาติเป็นของตนเอง และจากการตรวจสอบจากเทศบาลนครนนทบุรี ทราบว่าผู้ต้องหาไม่ได้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงบริเวณที่เกิดเหตุ ในวันเวลาดังกล่าวแต่อย่างใด

    พนักงานสอบสวนได้แจ้งชินวัตร 2 ข้อหา ได้แก่ “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ "ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต" ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 ชินวัตรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

    หลังจากสอบคำให้การเสร็จสิ้นแล้ว ชินวัตรได้ถูกควบคุมตัวไว้ที่ สภ.เมืองนนทบุรี 1 คืน

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลจังหวัดนนทบุรี ลงวันที่ 24 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40783)
  • พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขออำนาจศาลจังหวัดนนทบุรีฝากขัง ระบุว่า การสอบสวนไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบพยานเพิ่มอีก 5 ปาก รอผลการตรวจลายนิ้วมือ

    ท้ายคำร้องยังระบุด้วยว่า หากผู้ต้องหายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว พนักงานสอบสวนขอคัดค้านการประกัน เนื่องจากเป็นคดีหมิ่นเบื้องสูง ที่มีอัตราโทษสูง และผู้ต้องหากระทําผิดลักษณะเดียวกันถูกดําเนินคดีหลายท้องที่ หากให้ประกันตัวเกรงผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี

    ด้านทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางเงินสดจำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เป็นหลักประกัน

    ต่อมา ศาลมีคำสั่งให้อนุญาตให้ฝากขัง และอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมกำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำการอันใดเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาล ห้ามขัดขวางกระบวนการพิจารณาคดีของศาล และห้ามเข้าร่วมการชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ทำให้เขาได้รับการปล่อยตัวในที่สุด

    สำหรับคดีนี้ นับเป็นคดีมาตรา 112 ที่ชินวัตรถูกกล่าวหาคดีที่ 5 แล้ว

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลจังหวัดนนทบุรี ลงวันที่ 24 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40783)
  • ศาลจังหวัดนนทบุรีนัดไต่สวนคำร้องขอถอนประกันชินวัตร สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2565 ชินวัตรได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวมีเนื้อหาว่า อยากเข้าเฝ้าและขอให้องค์ภาฯ แสดงความคิดเห็นถึงการมีอยู่ของมาตรา 112 ว่าส่งผลดีและผลเสียอย่างไรต่อสถาบันกษัตริย์ โดยพนักงานสอบสวนอ้างว่าการโพสต์ข้อความดังกล่าวถือเป็นการกระทำผิดเงื่อนไขประกันของศาล จึงขอให้ศาลเรียกตัวผู้ต้องหามาไ้ต่สวนเพื่อเพิกถอนสัญญาประกัน

    ที่ห้องพิจารณา 12 เวลา 10.50 น. ศาลออกพิจารณา ภายในห้องประกอบด้วย ชินวัตร พร้อมทนายความ และผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ iLaw เข้าร่วมสังเกตการณ์ โดยในครั้งแรก ศาลอนุญาตให้เฉพาะคู่ความเข้าห้องพิจารณาเท่านั้น ก่อนอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์คดีเข้าห้องพิจารณาได้ในภายหลัง

    ก่อนเริ่มการไต่สวน ศาลได้สอบถามชินวัตรถึงเหตุแห่งการไต่สวนเพิกถอนประกันครั้งนี้ ชินวัตรจึงชี้แจงต่อศาลว่า เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2564 ที่ผ่านมา มีขบวนเสด็จผ่านบริเวณเส้นทางแคราย จังหวัดนนทบุรี อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งทุกครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.รัตนาธิเบศร์ จะมาคุกคามตนถึงที่บ้านพัก เนื่องจากบ้านพักของตนอยู่ใกล้กับเส้นทางที่ขบวนเสด็จผ่าน ชินวัตรจึงได้โพสต์ข้อความตั้งคำถามถึงพระองค์ภาฯ ว่า “การมีหรือไม่มี มาตรา 112 ส่งผลดีและผลเสียอย่างไรต่อสถาบัน” โดยข้อความดังกล่าว ชินวัตรยืนยันว่าตนตั้งคำถามโดยสุภาพและสุจริต ไม่ได้พูดถึงสถาบันกษัตริย์ในทางเสื่อมเสียแต่อย่างใด

    ต่อมา ศาลได้ตั้งคำถามกับชินวัตรว่า พระองค์ภาฯ เป็นผู้บัญญัติกฎหมายมาตรา 112 หรือไม่ และพระองค์มีสิทธิตอบคำถามหรือไม่ นอกจากนี้ ศาลระบุว่าหากจะถามเรื่องมาตรา 112 ควรจะต้องถามคณะกรรมการกฤษฎีกา นักวิชาการ หรือนักกฎหมาย ไม่ควรที่จะไปถามเชื้อพระวงศ์

    เวลา 11.00 น. พ.ต.ท.สมุทร์ เกตุยา รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.เมืองนนทบุรี ผู้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนประกัน เข้าเบิกความต่อศาลว่า เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2565 ผู้ต้องหาได้โพสต์ข้อความว่า “องค์ภาอยู่หมู่บ้านลดาวัลย์นนทบุรี ผมอยากเข้าเฝ้าท่านมากเร็ว ๆ นี้ ผมในฐานะประชาชนคนธรรมดาคนหนึ่ง อยากให้องค์ภา ท่านแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการมีมาตรา 112 กับไม่มีมาตรา 112 ส่งผลเสียอย่างไรต่อสถาบันอย่างไร” ซึ่งแม้ข้อความดังกล่าวจะยังไม่ได้ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ข้อความได้มีการพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในลักษณะหมิ่นเหม่

    ในประเด็นนี้ ศาลถาม พ.ต.ท.สมุทร์ ว่าการพูดถึงองค์ภาฯ ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไร พร้อมกันนี้ศาลระบุว่า การจะมองว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดสัญญาประกันหรือไม่ จะต้องดูหลักเกณฑ์ที่ศาลกำหนดเป็นหลัก ไม่ใช่ความคิดเห็นของพนักงานสอบสวน ซึ่งหากพิจารณาตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดว่า “ห้ามผู้ต้องหาทำกิจกรรมหรือกระทำการใด ๆ ที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัติรย์ฯ” ศาลเห็นว่าข้อความของผู้ต้องหายังไม่ถึงขั้นเสื่อมเสียหรือก่อความวุ่นวาย เพียงแต่ไม่ควรกระทำเท่านั้น อีกทั้งในคดีดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนฝากขัง และอัยการยังไม่ได้สั่งฟ้องคดีแต่อย่างใด

    พ.ต.ท.สมุทร์ จึงขอให้เรื่องการเพิกถอนประกันของชินวัตรอยู่ในดุลยพินิจของศาล ก่อนที่ศาลจะขอปรึกษากับ พ.ต.ท.สมุทร์ อยู่ประมาณ 15 นาที โดยให้ชินวัตร ทนายความ และคนอื่น ๆ ออกไปรอนอกห้องพิจารณา

    เวลา 12.28 น. ชินวัตร และทนายความได้กลับเข้าห้องพิจารณา โดย พ.ต.ท.สมุทร์ ได้เข้ามาพูดคุยกับชินวัตรว่า ไม่อยากให้พูดประเด็นที่เกี่ยวกับมาตรา 112 หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะไม่อยากให้เกิดปัญหาขึ้น ด้านชินวัตรชี้แจงว่าข้อความที่เป็นประเด็นดังกล่าวตนได้ลบทิ้งไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ก็ได้มีการยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนประกัน จนศาลออกหมายเรียกตนมาไต่สวน ชินวัตรจึงโพสต์ข้อความเดิมอีกครั้งเพื่อชี้แจงว่า เหตุที่ถูกเรียกมาไต่สวนเพิกถอนประกันเกิดจากข้อความข้างต้น

    ศาลจึงได้ขอดูโทรศัพท์มือถือของชินวัตรเพื่อตรวจสอบว่า เขาได้ลบข้อความดังกล่าวไปแล้วหรือไม่ หลังตรวจสอบเสร็จแล้ว ศาลได้แจ้งว่าจะให้คู่ความทั้งสองเจรจากันเพื่อตกลงเกี่ยวกับการถอนสัญญาประกัน โดยเขียนกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวอย่างชัดเจน และให้อีกฝ่ายตรวจสอบว่าเงื่อนไขใดรับได้ เงื่อนไขใดรับไม่ได้

    ต่อมา ทั้งสองฝ่ายสามารถเจรจาตกลงกันเพื่อไม่ให้มีการเพิกถอนสัญญาประกัน โดยชินวัตรระบุว่า ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในจังหวัดนนทบุรีอย่าไปคุกคามตนที่บ้านพัก พร้อมกับสัญญาว่าจะไม่โพสต์ข้อความใด ๆ หรือยกป้ายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

    ทางพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนนทบุรี รับเงื่อนไขดังกล่าว พร้อมเสนอเงื่อนไขให้ชินวัตรว่า ประการแรก ห้ามผู้ต้องหาชูป้ายเกี่ยวกับสถาบันหรือข้อความที่สื่อถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในระหว่างทางเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์และพระมหากษัตริย์ และประการที่สอง ห้ามปราศรัยพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่บริเวณหอนาฬิกา ท่าน้ำนนท์ เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    ด้านชินวัตรรับเงื่อนไขดังกล่าวและจะปฏิบัติตาม หากฝ่าฝืนยินยอมให้ถอนประกัน ก่อนที่ พ.ต.ท.สมุทร์ จะยื่นคำร้องขอถอนคำร้องให้เพิกถอนสัญญาประกันผู้ต้องหา

    ทั้งนี้ ศาลได้เน้นย้ำกับชินวัตรว่า หากมีการทำผิดสัญญาประกันอีก ครั้งหน้าจะไม่เรียกมาไต่สวน แต่จะถอนประกันและคุมขังเลย ชินวัตรยินยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว พร้อมถามศาลว่า หากเจ้าหน้าที่ตำรวจทำผิดเงื่อนไข มาคุกคามตนจะทำอย่างไร ซึ่งศาลกล่าวตอบว่า หากมีการผิดเงื่อนไขดังกล่าว ให้ผู้ต้องหามาแถลงต่อศาล และศาลจะดำเนินการต่อไป

    อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า การตั้งเงื่อนไขประกันตัวเป็นอำนาจของศาลที่ให้ประกันผู้ต้องหาหรือจำเลย หากตำรวจหรืออัยการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการประกันตัว โดยอ้างเหตุว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยผิดเงื่อนไขประกันตัวของศาล ศาลต้องตรวจสอบคำร้องดังกล่าวและวินิจฉัยว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้กระทำผิดเงื่อนไขตามที่พนักงานสอบสวนอ้างหรือไม่ และศาลอาจกำหนดเงื่อนไขประกันตัวเพิ่มเติมเท่าที่จำเป็น แตกต่างจากกรณีนี้ซึ่งศาลให้พนักงานสอบสวนตกลงเงื่อนไขกับผู้ต้องหาเอง

    ++“ชินวัตร” เผยถูก ตร. คุกคามถึงบ้านไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง หวั่นขัดขวางขบวนเสด็จ++

    ภายหลังเสร็จสิ้นการไต่สวน ชินวัตรได้ให้สัมภาษณ์ถึงความรู้สึกที่ถูกตำรวจยื่นเพิกถอนประกันครั้งนี้ รวมถึงบอกเล่าเหตุการณ์ที่ตนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจมาคุกคามที่บ้านพักทุกครั้งที่มีขบวนเสด็จผ่าน ทั้ง ๆ ที่ตนไม่เคยไปขัดขวางขบวนเสด็จ หรือทำกิจกรรมใด ๆ ในลักษณะนั้นมาก่อน

    “ผมคิดว่าไม่ได้ทำผิดอะไร มันเป็นการตั้งคำถามที่สุภาพและสุจริต และเราเป็นประชาชนคนหนึ่ง เรามีความอึดอัดใจแและก็เครียด เพราะว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมาคุกคามเราในช่วงที่มีขบวนเสด็จทุกครั้ง พอมันเป็นแบบนี้เราก็ไม่ไหวเหมือนกัน เลยคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องถามเขาดีไหม เราเห็นว่าองค์ภาฯ อยู่ในหมู่บ้านลดาวัลย์ ไม่ได้ไกลจากชุมชนผม ที่ผมโพสต์ไปเนี่ย อยากให้ท่านได้เห็นสักนิดนึงว่า ผมอยากเข้าเฝ้าท่าน อยากจะถามท่าน ให้ท่านแสดงความคิดเห็นว่าการมีมาตรา 112 ดีหรือไม่ดีอย่างไรเท่านั้นเอง ไม่ได้มีเจตาอื่นใด แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีการยื่นถอนประกัน และฟ้องร้องนู้นนี่ มันเลยทำให้เรารู้สึกว่า ตำรวจมองว่าเราเป็นศัตรูหรือเปล่า ไหนบอกว่าตำรวจรับใช้ประชาชน”

    “วันนี้ที่ตำรวจทำคือการกลั่นแกล้งผม แต่ว่าการที่ศาลออกมาในรูปแบบที่ให้ทางเรากับตำรวจเจรจาแลกเปลี่ยนกัน ผมว่าโอเคในระดับหนึ่ง แต่เจตนาผมคืออยากให้ศาลมีการไต่สวนเลย เพราะอยากรู้จากปากศาลว่าข้อความดังกล่าวผิดหรือไม่ รวมถึงเงื่อนไขที่ได้มาในวันนี้ก็ไม่ได้ต่างจากเงื่อนไขอันเก่า แต่ก็โอเคที่ไม่มีการถอนประกัน ตำรวจก็จะยื่นถอนคำร้องเพิกถอนประกันให้ และข้อความก็ไม่ได้เข้าข่ายผิดอะไร ผมก็ให้ทนายดูข้อความแล้ว มันไม่ได้ผิดอะไรเลย พอเจอเจ้าหน้าที่ทำแบบนี้ มันทำให้เรารู้สึกเหมือนถูกกลั่นแกล้ง”

    นอกจากนี้ ชินวัตรเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 3-4 นาย มาคุกคามที่บ้านพักเวลามีขบวนเสด็จผ่าน ไม่ต่ำกว่า 10 ครั้งแล้ว

    “บางทีผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีขบวนเสด็จ แต่พักหลังนี่ถ้าเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมาหา ชาวบ้านก็จะรู้เลยว่ามีขบวนเสด็จ พอตำรวจมาถึงก็จะถ่ายรูปไปบ้าง มาถามโน้นถามนี่บ้างเป็นประจำ เช่นว่า ‘วันนี้ไปไหนไหม’ ‘จะเดินทางไปเมื่อไหร่ยังไง’ ‘วันนี้มีขบวนเสด็จนะ อย่าไปตรงนั้น อย่าไปยุ่งกับเขา พี่ขอนะ’ ผมก็บอกว่า

    ‘ไม่ไปยุ่ง พี่จะมาถามอะไรนักหนา’ ชาวบ้านในชุมชนหวาดระแวงไปหมด ไม่รู้ว่าตำรวจจะมาทำไม มันทำให้เรารู้สึกไม่ดี มันเหมือนเราเป็นผู้ร้าย ทำไมตำรวจจะต้องมายุ่งกับเรา บุกมาบ้านเราประจำ มันไม่ดีเลย”

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดนนทบุรี ลงวันที่ 4 เม.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/42255)
  • พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี นัดหมายชินวัตรฟังคำสั่ง โดยอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดนนทบุรี กล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 จำเลยได้ใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยแก่ประชาชน ที่บริเวณวงเวียนหอนาฬิกา ท่าน้ำนนทบุรี โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่

    อัยการโจทก์อ้างว่า จำเลยยังกล่าวปราศรัยโดยมีข้อความที่เป็นความเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่นใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ กล่าวหาใส่ความว่าพระมหากษัตริย์รับโอนทรัพย์สินของชาติ มาเป็นของตนเอง ทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

    ท้ายฟ้องระบุว่าหากจำเลยขอปล่อยตัวชั่วคราว ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล

    หลังศาลรับฟ้องไว้ ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์เดิมที่เคยวางในชั้นฝากขังเป็นจำนวน 200,000 บาท พร้อมกำหนดวันนัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 12 ต.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดนนทบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.938/2565 ลงวันที่ 7 ก.ย. 2565)
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้ฟัง ชินวัตรยืนยันให้การปฏิเสธ นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 26 ธ.ค. 2565 เวลา 09.00 น.
  • โจทก์แถลงติดใจสืบพยานโจทก์ 9 ปาก ใช้เวลาสืบ 2 นัด ด้านทนายจำเลยประสงค์นำพยานบุคคลเข้าสืบรวม 8 ปาก ใช้เวลาสืบ 2 นัด นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 7-8 พ.ค. 2567 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 9-10 พ.ค. 2567

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดนนทบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.938/2565 ลงวันที่ 26 ธ.ค. 2565)
  • นัดสืบพยานโจทก์วันแรก ชินวัตรถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง โดยแถลงต่อศาลว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง แต่ไม่ได้มีประสงค์ร้ายหรือมีเจตนาก้าวล่วงต่อสถาบันกษัตริย์ และขอยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพ ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 10 ก.ค. 2567 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดนนทบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.938/2565 ลงวันที่ 7 พ.ค. 2567)
  • ชินวัตรถูกเบิกตัวจากเรือนจำไปศาลในคดีอื่น ศาลจังหวัดนนทบุรีจึงเลื่อนฟังคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 19 ก.ค. 2567 เวลา 09.00 น.
  • ชินวัตรถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาศาล ศาลอ่านคำพิพากษา ระบุว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ข้อหาตามมาตรา 112 จำคุก 3 ปี ส่วนข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานนั้น ระหว่างพิจารณาได้มี พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ใช้บังคับ ความผิดดังกล่าวจึงเปลี่ยนจากความผิดทางอาญา เป็นความผิดทางพินัย จึงให้ลงโทษปรับเป็นพินัย 200 บาท

    จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ปรับเป็นพินัย 100 บาท โดยให้ชำระค่าปรับภายใน 30 วัน ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกต่อจากโทษจำคุกในคดีชุมนุม “19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” ซึ่งจำเลยถูกฟ้องที่ศาลอาญานั้น เนื่องจากคดีดังกล่าว ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษา จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้

    คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 8 ของชินวัตรที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และเป็นคดีสุดท้าย หลังไบรท์เปลี่ยนมาให้การรับสารภาพในทุกคดี โดยมีเพียงคดีเดียวที่ศาลให้รอลงอาญา ได้แก่ กรณีปราศรัยที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดนนทบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.938/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.923/2567 ลงวันที่ 19 ก.ค. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/68726)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ชินวัตร จันทร์กระจ่าง

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ชินวัตร จันทร์กระจ่าง

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 19-07-2024

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์