สรุปความสำคัญ

“โชติช่วง” (นามสมมติ) อายุ 28 ปี อาชีพรับจ้าง ถูกจับกุมจากบ้านพักในจังหวัดนนทบุรีตามหมายจับของศาลจังหวัดนนทบุรี และถูกดำเนินคดีในข้อหา วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น และทำให้เสียทรัพย์ กรณีวางเพลิงป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ที่สวนหย่อมใต้ทางต่างระดับบางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เมื่อคืนวันที่ 10 พ.ย. 2564 ก่อนตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" เพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม โชติช่วงได้รับการประกันตัวทั้งในชั้นสอบสวนและพิจารณาคดีของศาล แต่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันถึง 300,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

กรณีนี้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้างขวางจนเกินกว่าตัวบทและเจตนารมณ์ของกฎหมาย และนำมาบังคับใช้แม้แต่กับกรณีการวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งน่าจะเข้าข่ายฐานความผิด “วางเพลิงเผาทรัพย์” และ “ทำให้เสียทรัพย์” เท่านั้น

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • โชติช่วง (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

22 พ.ย. 2564 เวลาประมาณ 18.00 น. “โชติช่วง” (นามสมมติ) อายุ 28 ปี ถูกจับกุมที่บ้านพักในจังหวัดนนทบุรี ตามหมายจับของศาลจังหวัดนนทบุรีที่ 588/2564 ลงวันที่ 22 พ.ย. 2564 ในข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์ จากนั้นชุดจับกุมได้เข้าตรวจค้นห้องพักและตรวจยึดสิ่งของหลายรายการ รวมทั้งโทรศัพท์มือถือ โดยไม่มีหมายค้น

ต่อมา โชติช่วงถูกนำตัวไปที่ สภ.ปลายบาง เพื่อทำบันทึกจับกุม ซึ่งระบุว่า เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมประกอบด้วยตำรวจชุดสืบจาก สภ.ปลายบาง, ตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี, ตำรวจภูธรภาค 1 รวมทั้งเจ้าหน้าที่ บก.ปอท.

จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา และสอบปากคำโชติช่วง โดยไม่มีทนายความที่เขาไว้วางใจเข้าร่วมด้วย พนักงานสอบสวนระบุพฤติการณ์คดีว่า เมื่อคืนวันที่ 10 พ.ย. 2564 โชติช่วงได้จุดไฟเผาแผ่นป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ที่ตั้งอยู่บริเวณสวนหย่อมใต้ทางต่างระดับบางคูเวียง ตรงข้ามโลตัส บางใหญ่ จนเกิดเปลวไฟลุกไหม้แผ่นป้ายดังกล่าวเกิดความเสียหาย ก่อนแจ้ง 2 ข้อกล่าวหาตามหมายจับ โดยโชติช่วงให้การรับสารภาพ

ต่อมา วันที่ 11 พ.ย. 2564 พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาโชติช่วงเพิ่มเติม ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” โดยไม่มีทนายความที่เขาไว้วางใจเข้าร่วมเช่นเดิม ซึ่งโชติช่วงให้การปฏิเสธในข้อหาดังกล่าว ก่อนถูกฝากขังต่อศาลจังหวัดนนทบุรี และศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสอบสวน กำหนดหลักทรัพย์ประกันเป็นเงิน 300,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์

(อ้างอิง: บันทึกจับกุม สภ.ปลายบาง ลงวันที่ 22 พ.ย. 2564, คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลจังหวัดนนทบุรี ลงวันที่ 23 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/40557)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์