ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • ทำให้เสียทรัพย์ (มาตรา 358)
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.144/2565

ผู้กล่าวหา
  • ไม่ทราบชื่อ (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ทำให้เสียทรัพย์ (มาตรา 358)
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)

หมายเลขคดี

ดำ อ.144/2565
ผู้กล่าวหา
  • 1

ความสำคัญของคดี

“โชติช่วง” (นามสมมติ) อายุ 28 ปี อาชีพรับจ้าง ถูกจับกุมจากบ้านพักในจังหวัดนนทบุรีตามหมายจับของศาลจังหวัดนนทบุรี และถูกดำเนินคดีในข้อหา วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น และทำให้เสียทรัพย์ กรณีวางเพลิงป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ที่สวนหย่อมใต้ทางต่างระดับบางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เมื่อคืนวันที่ 10 พ.ย. 2564 ก่อนตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" เพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม โชติช่วงได้รับการประกันตัวทั้งในชั้นสอบสวนและพิจารณาคดีของศาล แต่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันถึง 300,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

กรณีนี้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้างขวางจนเกินกว่าตัวบทและเจตนารมณ์ของกฎหมาย และนำมาบังคับใช้แม้แต่กับกรณีการวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งน่าจะเข้าข่ายฐานความผิด “วางเพลิงเผาทรัพย์” และ “ทำให้เสียทรัพย์” เท่านั้น

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

กฤติมา ธรรมรักษ์ พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี บรรยายฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า

ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และในหลวงองค์ปัจจุบัน เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 6 บัญญัติว่า กษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิด กล่าวหา ฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 จำเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อกษัตริย์ โดยการวางเพลิงเผาแผ่นป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ขนาดสูง 4.8 เมตร กว้าง 2.4 เมตร ราคา 99,000 บาท ของเทศบาลตำบลปลายบาง ผู้เสียหาย ซึ่งติดตั้งอยู่ที่สวนหย่อมใต้ทางต่างระดับบางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เพื่อแสดงความจงรักภักดี โดยจำเลยได้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงราดบริเวณรูปแล้วจุดไฟ จนเกิดเพลิงลุกลามติดแผ่นป้ายดังกล่าว ได้รับความเสียหาย อันเป็นการดูถูกเหยียดหยาม ไม่แสดงความเคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์

ต่อมาวันที่ 11 พ.ย. 2564 เจ้าพนักงานได้ยึดขวดเครื่องดื่มชูกำลัง จำนวน 1 ขวด พร้อมฝา ซึ่งจำเลยใช้ในการบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงไว้เป็นของกลาง โดยขอให้ศาลมีคำสั่งริบของกลางดังกล่าวด้วย

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดนนทบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.144/2565 ลงวันที่ 15 ก.พ. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลาประมาณ 18.00 น. “โชติช่วง” (นามสมมติ) อายุ 28 ปี ถูกจับกุมที่บ้านพักในจังหวัดนนทบุรี ตามหมายจับของศาลจังหวัดนนทบุรีที่ 588/2564 ลงวันที่ 22 พ.ย. 2564 ในข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์ จากนั้นชุดจับกุมได้เข้าตรวจค้นห้องพักและตรวจยึดสิ่งของหลายรายการ รวมทั้งโทรศัพท์มือถือ โดยไม่มีหมายค้น

    ต่อมา โชติช่วงถูกนำตัวไปที่ สภ.ปลายบาง เพื่อทำบันทึกจับกุม ซึ่งระบุว่า เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมประกอบด้วยตำรวจชุดสืบจาก สภ.ปลายบาง, ตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี, ตำรวจภูธรภาค 1 รวมทั้งเจ้าหน้าที่ บก.ปอท.

    จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา และสอบปากคำโชติช่วง โดยไม่มีทนายความที่เขาไว้วางใจเข้าร่วมด้วย พนักงานสอบสวนระบุพฤติการณ์คดีว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 เวลาประมาณ 23.00 น. โชติช่วงได้ขับรถจักรยานยนต์ไปตามถนนนครอินทร์ และได้จอดรถใกล้สวนหย่อมใต้ทางต่างระดับบางคูเวียง ตรงข้ามโลตัส บางใหญ่ แล้วเดินเข้าไปจุดไฟเผาแผ่นป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ที่ตั้งอยู่บริเวณนั้น จนเกิดเปลวไฟลุกไหม้แผ่นป้ายดังกล่าวเกิดความเสียหาย ก่อนแจ้ง 2 ข้อกล่าวหาตามหมายจับ โดยโชติช่วงให้การรับสารภาพ

    (อ้างอิง: บันทึกจับกุม สภ.ปลายบาง ลงวันที่ 22 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/40557)
  • พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาโชติช่วงเพิ่มเติม ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” โดยไม่มีทนายความที่เขาไว้วางใจเข้าร่วมเช่นเดิม ซึ่งโชติช่วงให้การปฏิเสธในข้อหาดังกล่าว

    ต่อมา พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังโชติช่วงต่อศาลจังหวัดนนทบุรี โดยคัดค้านการประกันตัว อ้างเหตุว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง หากให้ประกันตัวผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี

    อย่างไรก็ตาม หลังศาลอนุญาตให้ฝากขัง ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสอบสวน กำหนดหลักทรัพย์ประกันเป็นเงิน 300,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ นัดรายงานตัวต่อศาลวันที่ 16 ก.พ. 2565

    แม้คดีวางเพลิงหรือกระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยส่วนใหญ่ตำรวจหรืออัยการจะแจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามมาตรา 112 ด้วย รวมทั้งคดีนี้ ทั้งที่ในการขอออกหมายจับและแจ้งข้อกล่าวหาครั้งแรกไม่มีข้อหานี้ แต่ก็มีคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ทั้งพนักงานสอบสวนและอัยการตั้งข้อหาเพียง “วางเพลิงเผาทรัพย์” และ “ทำให้เสียทรัพย์” ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่น่าจะตรงกับรูปแบบการกระทำความผิดที่สุด การตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ในคดีวางเพลิงหรือกระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์ส่วนใหญ่ จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการตีความมาตรา 112 ขยายขอบเขตออกจนเกินกว่าตัวบทและเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลจังหวัดนนทบุรี ลงวันที่ 23 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/40557)
  • พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรีได้ยื่นฟ้องโชติช่วงต่อศาลจังหวัดนนทบุรี ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ”, มาตรา 217 “วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น”, และมาตรา 358 “ทำให้เสียทรัพย์” กล่าวหาว่า โชติช่วงได้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงราดบริเวณป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ราคา 99,000 บาท ของเทศบาลตำบลปลายบาง ซึ่งติดตั้งอยู่ที่สวนหย่อมใต้ทางต่างระดับบางคูเวียง แล้วจุดไฟจนเกิดเพลิงลุกลามติดแผ่นป้ายดังกล่าวได้รับความเสียหาย อันเป็นการดูถูกเหยียดหยาม ไม่แสดงความเคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์

    อัยการยังระบุว่า เจ้าพนักงานได้ยึดขวดเครื่องดื่มชูกำลัง จำนวน 1 ขวด พร้อมฝา ซึ่งจำเลยใช้ในการบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงไว้เป็นของกลาง โดยขอให้ศาลมีคำสั่งริบของกลางดังกล่าวด้วย

    นอกจากนี้ อัยการยังได้ระบุมาในท้ายคำฟ้องด้วยว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นความผิดข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” เพื่อประโยชน์แห่งความเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์จึงขอให้ศาลพิจารณาคดีเป็นการลับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดนนทบุรี คดีหมายเลขดำที่ อ.144/2565 ลงวันที่ 15 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40557)
  • โชติช่วงเข้ารายงานตัวตามสัญญาประกัน และรับทราบคำฟ้องของอัยการ จากนั้นศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในชั้นพิจารณาโดยใช้หลักทรัพย์ประกันเดิมในชั้นสอบสวน กำหนดนัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 23 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/40557)
  • นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 22 ส.ค. 2565
  • นัดสืบพยานโจทก์ 13-14 ก.ย. 2566 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 15 ก.ย. 2566

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
โชติช่วง (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
โชติช่วง (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์