สรุปความสำคัญ

“เมนู” สุพิชฌาย์ ชัยลอม นักกิจกรรมจากเชียงใหม่วัย 19 ปี ถูก สภ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ออกหมายเรียกข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ30พฤศจิกามาหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2563 วิพากษ์วิจารณ์การแก้กฎหมายทําให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กลายเป็นทรัพย์สินของกษัตริย์องค์เดียว รวมทั้งการนำเรื่องศาสตร์พระราชาใส่ลงในหนังสือเรียน โดย รอง ผกก.สส.สภ.หาดใหญ่ เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ

แม้เมนูไม่ถูกควบคุมตัวในชั้นสอบสวน และได้รับการประกันตัวในชั้นพิจารณา แต่การถูกดำเนินคดีในจังหวัดที่ห่างไกลสร้างภาระให้กับเธอซึ่งยังศึกษาอยู่ในการเดินทางไปต่อสู้คดีเป็นอย่างมาก สะท้อนปัญหาการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • สุพิชฌาย์ ชัยลอม
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

22 ก.ย. 2564 ที่สถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ “เมนู” สุพิชฌาย์ ชัยลอม นักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ ได้เดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 ตามหมายเรียก เหตุจากการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ30พฤศจิกามาหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2563

พนักงานสอบสวนระบุพฤติการณ์คดีว่า เกิดจากการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ30พฤศจิกามาหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2563 ที่หน้าหอนาฬิกาหาดใหญ่ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่ม “เด็กเปรต” เนื้อหาการปราศรัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในรัชกาลที่ 10 รวมทั้งการยัดเยียดเนื้อหาเกี่ยวกับศาสตร์พระราชาในหนังสือเรียน

ผู้กล่าวหาและพนักงานสอบสวนเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่าย “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์W ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

สุพิชฌาย์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนจะถูกนำตัวไปพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และปล่อยตัวกลับโดยไม่มีการควบคุมตัว เนื่องจากได้เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก

สำหรับบรรยากาศในการเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ได้มีนักกิจกรรมกลุ่ม “เด็กเปรต” เดินทางมาให้กำลังใจเพื่อน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้วางกำลังทั้งในและนอกเครื่องแบบไม่น้อยกว่า 50 นาย กระจายตัวรอบ สภ.หาดใหญ่ อีกทั้งมีการใช้โดรน 1 เครื่องบินอยู่บนท้องฟ้าด้วย โดยก่อนที่จะเข้าไปภายในสถานีตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการตั้งจุดตรวจทำการตรวจสอบบัตรประชาชนและกระเป๋าของผู้ที่จะเดินทางเข้าไปภายในสถานีทุกคนด้วย

สุพิชฌาย์ถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากการแสดงออกและชุมนุมทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 2 คดีด้วยกัน โดยอีกคดีหนึ่ง ได้แก่ คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ สน.ลุมพินี จากกรณีการชุมนุม #ราษฎรประสงค์ยกเลิก112 ที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.หาดใหญ่ ลงวันที่ 22 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35543)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์