ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.370/2565

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.จิรศักดิ์ ฉวีนิล รอง ผกก.สส.สภ.หาดใหญ่ (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.370/2565
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.จิรศักดิ์ ฉวีนิล รอง ผกก.สส.สภ.หาดใหญ่

ความสำคัญของคดี

“เมนู” สุพิชฌาย์ ชัยลอม นักกิจกรรมจากเชียงใหม่วัย 19 ปี ถูก สภ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ออกหมายเรียกข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ30พฤศจิกามาหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2563 วิพากษ์วิจารณ์การแก้กฎหมายทําให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กลายเป็นทรัพย์สินของกษัตริย์องค์เดียว รวมทั้งการนำเรื่องศาสตร์พระราชาใส่ลงในหนังสือเรียน โดย รอง ผกก.สส.สภ.หาดใหญ่ เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ

แม้เมนูไม่ถูกควบคุมตัวในชั้นสอบสวน และได้รับการประกันตัวในชั้นพิจารณา แต่การถูกดำเนินคดีในจังหวัดที่ห่างไกลสร้างภาระให้กับเธอซึ่งยังศึกษาอยู่ในการเดินทางไปต่อสู้คดีเป็นอย่างมาก สะท้อนปัญหาการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

บรรจง อินทรพานิชย์ พนักงานอัยการจังหวัดสงขลา บรรยายฟ้องใจความโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2563 จำเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยการกล่าวปราศรัยต่อบุคคลที่มาร่วมชุมนุมหลายคน ผ่านเครื่องกระจายเสียงในที่ชุมนุมของ “กลุ่มราษฎรใต้”

ถ้อยคำที่จําเลยปราศรัยนั้นทำให้ผู้ชุมนุมจํานวนหลายคนเข้าใจว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นพระมหากษัตริย์ที่ไม่ดี ไม่มีพระปรีชาสามารถ ไม่เห็นหัวประชาชน มีการแก้กฎหมายทําให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กลายเป็นทรัพย์สินของในหลวงแต่พระองค์เดียว ทําให้ทรัพย์สินที่เป็นของประชาชนกลายเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ เอาเงินภาษีมาเป็นของพระองค์ ทรัพย์สินและเงินภาษีดังกล่าวไม่ได้นํามาใช้พัฒนาประเทศ แต่ได้นําไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนพระองค์ นําไปซื้อเครื่องบินและจัดงานศพให้สุนัขทรงเลี้ยง และศาสตร์ของพระราชาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เป็นเรื่องหลอกลวง ไม่มีประโยชน์ ไร้สาระ ไม่มีความจําเป็นที่จะมีเนื้อหาในหนังสือเรียน

นอกจากนี้ จําเลยได้ตะโกนด้วยถ้อยคําอันหยาบคายว่า “กูสั่งให้มึงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” ซึ่งหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ อันเป็นการสบประมาท ดูถูก เหยียดหยาม ลดคุณค่าของในหลวงรัชกาลที่ 10 ทําให้ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง และเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ ต้องการให้เกิดการต่อต้าน กระด้างกระเดื่อง และมีทัศนคติด้านลบต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เพื่อให้มีการปฏิรูปหรือล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ให้องค์พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดสงขลา คดีหมายเลขดำที่ อ.370/2565 ลงวันที่ 28 มี.ค. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • ที่สถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ “เมนู” สุพิชฌาย์ ชัยลอม นักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ ได้เดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 ตามหมายเรียก ในคดีที่มี พ.ต.ท.จิรศักดิ์ ฉวีนิล เป็นผู้กล่าวหา เหตุจากการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ30พฤศจิกามาหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2563

    สุพิชฌาย์, ผู้ปกครอง พร้อมด้วยทนายความเครือข่ายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้าพบพนักงานสอบสวน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากทั้ง พ.ต.อ.สุวโรจน์ ลุนหวิทยานนท์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา, พ.ต.อ.สมพร ดำราษฎ์ และ พ.ต.อ.คมกฤษณ์ ชินพงษ์ ผู้กำกับสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา, พ.ต.ท.หญิง ภัทรียา ปานนิ่ม, พ.ต.ท.เชาว์ ชุมวรเดช, พ.ต.ท.อุดม บุญพุฒ และ พ.ต.ท. สราวุธ ณะสุข รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.หาดใหญ่ ได้ร่วมกันแจ้งข้อกล่าวหาต่อสุพิชฌาย์

    พนักงานสอบสวนระบุพฤติการณ์คดีว่า เกิดจากการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ30พฤศจิกามาหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2563 ที่หน้าหอนาฬิกาหาดใหญ่ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่ม “เด็กเปรต” เนื้อหาการปราศรัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในรัชกาลที่ 10 รวมทั้งการยัดเยียดเนื้อหาเกี่ยวกับศาสตร์พระราชาในหนังสือเรียน

    ผู้กล่าวหาและพนักงานสอบสวนเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่าย “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์W ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    สุพิชฌาย์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนจะถูกนำตัวไปพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และปล่อยตัวกลับโดยไม่มีการควบคุมตัว เนื่องจากได้เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก

    สำหรับบรรยากาศในการเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ได้มีนักกิจกรรมกลุ่ม “เด็กเปรต” เดินทางมาให้กำลังใจเพื่อน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้วางกำลังทั้งในและนอกเครื่องแบบไม่น้อยกว่า 50 นาย กระจายตัวรอบ สภ.หาดใหญ่ อีกทั้งมีการใช้โดรน 1 เครื่องบินอยู่บนท้องฟ้าด้วย โดยก่อนที่จะเข้าไปภายในสถานีตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการตั้งจุดตรวจทำการตรวจสอบบัตรประชาชนและกระเป๋าของผู้ที่จะเดินทางเข้าไปภายในสถานีทุกคนด้วย

    สุพิชฌาย์ ได้โพสต์เปิดเผยถึงความรู้สึกหลังการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “หมายเรียกที่ได้รับในวันนี้แสดงถึงความกลัวของรัฐที่กำลังพยายามปกปิดความจริงจากประชาชน เมนูในฐานะของเยาวชนและประชาชนที่อายุน้อยกว่าท่านยังคงขอยืนยันว่าการพูด เรียกร้อง หรือวิพากษ์วิจารณ์ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่เราทุกคนสามารถทำได้โดยไม่สมควรถูกตั้งข้อหาความผิดใดๆ หากคำพูดวิพากษ์วิจารณ์หรือการแสดงความคิดเห็นนั้นกระทบต่อความมั่นคงของชาติ นั่นคงแปลว่าชาตินั้นช่างเปราะบางเหลือเกิน"

    “หากท่านฉลาดกว่านี้เพียงซักนิด แล้วปล่อยให้นักศึกษาคนนี้ได้ตั้งใจเรียนหนังสือต่อไป ภัยความมั่นคงของท่านจะหายไป 1 คน แต่การที่ท่านกระทำการเช่นนี้ ถือเป็นการดึง “เมนู สุพิชฌาย์” กลับเข้าสู่ถนนแห่งการต่อสู้ครั้งนี้ และการแจ้งข้อกล่าวหา 112 นั้นไม่ได้สร้างความกลัวหรือพยายามปิดปากได้สำเร็จเลยแม้แต่น้อย นี่คือหลักฐานที่แสดงถึงปัญหาของสถาบันและเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาต่อสู้อีกครั้ง”

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.หาดใหญ่ ลงวันที่ 22 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35543)
  • พนักงานสอบสวน สภ.หาดใหญ่ นัดสุพิชฌาย์เพื่อส่งตัวให้พนักงานอัยการจังหวัดสงขลา พร้อมสำนวนการสอบสวน หลังอัยการรับตัวนัดหมายฟังคำสั่งในวันที่ 29 ธ.ค. 2564
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง เลื่อนนัดไปเป็นวันที่ 31 ม.ค. 2565
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง เลื่อนนัดไปเป็นวันที่ 31 ม.ค. 2565
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง เลื่อนนัดไปเป็นวันที่ 24 ก.พ. 2565
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง เลื่อนนัดไปเป็นวันที่ 28 มี.ค. 2565
  • สุพิชฌาย์เดินทางเข้าฟังคำสั่งอัยการตามนัด โดยพนักงานอัยการจังหวัดสงขลามีคำสั่งฟ้องสุพิชฌาย์ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” และนำตัวสุพิชฌาย์ไปยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดสงขลา

    จากนั้น ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสุพิชฌาย์ในระหว่างพิจารณาคดี ทั้งนี้ พนักงานอัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวมาในยคำฟ้อง โดยให้อยู่ดุลพินิจของศาล

    ต่อมา ศาลอนุญาตให้ประกันตัวจำเลย โดยให้วางหลักทรัพย์จำนวน 150,000 บาท ใช้เงินสดจากกองทุนราษฎรประสงค์ กำหนดวันนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 25 เม.ย. 2565 เวลา 09.00 น.

    สุพิชฌาย์ได้ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ถึงความรู้สึกหลังการถูกฟ้องในคดีนี้ว่า รู้สึกว่าไม่ยุติธรรม และรู้สึกว่าตนไม่ควรถูกฟ้องด้วยมาตรา 112 ตั้งแต่แรก เพราะคำที่กล่าวปราศรัยนั้นไม่ได้มีความอาฆาตมาดร้าย เพียงแต่พูดเรื่อง พ.ร.บ.จัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ฯ เท่านั้น นอกจากนี้ยังรู้สึกโกรธกับวิธีปฎิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐต่อจำเลยคดี 112 โดยสุพิชฌาย์เปิดเผยว่า ขณะที่รออยู่ในห้องเวรชี้ เธอถูกชี้หน้าว่าเป็น ‘คนชังชาติ’ และเจ้าหน้าที่ได้เข้ามาใส่กุญแจข้อมือเธออย่างรุนแรง และกระชากจนรู้สึกเจ็บ

    นอกจากนี้ ทนายความยังได้เปิดเผยว่า ระหว่างที่เดินทางไปฟังคำสั่งฟ้องของอัยการ ได้มีเจ้าหน้าที่ทั้งนอกเครื่องแบบและในเครื่องแบบรวมกันไม่ต่ำกว่า 100 นาย มาคอยติดตามเฝ้าระวัง รวมถึงมีรถตำรวจติดกล้องวงจรปิด และรถตัดสัญญาณมือถือขับติดตาม ตั้งแต่สำนักงานอัยการจังหวัดสงขลา จนถึงศาลจังหวัดสงขลาอีกด้วย

    โดยขณะที่ทนายความกำลังทำเรื่องขอประกันตัว มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบและในเครื่องแบบติดตามเข้าไปในศาลจำนวนหนึ่ง พร้อมกับผู้กำกับ สภ.เมืองสงขลา ได้เข้ามาพูดคุยกับทนายความ และอ้างว่า “มาดูแลรักษาความปลอดภัยให้เท่านั้น ไม่ได้มีความผิดปกติอะไร”

    อนึ่ง สุพิชฌาย์ถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากการแสดงออกและชุมนุมทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 2 คดีด้วยกัน โดยอีกคดีหนึ่ง ได้แก่ คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ สน.ลุมพินี จากกรณีการชุมนุม #ราษฎรประสงค์ยกเลิก112 ที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดสงขลา คดีหมายเลขดำที่ อ.370/2565 ลงวันที่ 28 มี.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/42043)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สุพิชฌาย์ ชัยลอม

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สุพิชฌาย์ ชัยลอม

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์