สรุปความสำคัญ

สมพล (นามสมมติ) พนักงานบริษัทวัย 28 ปี ถูก สน.ดอนเมือง ดำเนินคดีในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ทำให้เสียทรัพย์ และข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ โดยถูกกล่าวหาว่า ปาสีใส่พระบรมฉายาลักษณ์ หน้าหมู่บ้านแกรนคาเนล และบริเวณถนนกำแพงเพชร 6 ของสำนักงานเขตดอนเมืองและการุณ โหสกุล เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2565 รวม 4 ป้าย สมพลยังถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อีก 5 คดี ในท้องที่ต่างๆ จากการปาสีใส่พระบรมฉายาลักษณ์และพ่นสีข้อความพาดพิงกษัตริย์

กรณีของสมพลเป็นอีกกรณีที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความขยายขอบเขตเกินกว่าตัวบทของกฎหมาย ครอบคลุมถึงการกระทำต่อรูปภาพ ไม่ใช่เฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • สมพล (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

22 มี.ค. 2565 ที่ สน.ดอนเมือง สมพล (นามสมมติ) เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เป็นคดีที่ 6 กรณีถูกกล่าวหาว่าปาสีน้ำสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ในพื้นที่เขตดอนเมือง

ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ สมพลถูกจับกุมตามหมายจับถึง 2 ครั้ง พร้อมกับถูกแจ้งข้อหาหลักตามมาตรา 112 ไปแล้วรวม 5 คดี โดยเป็นเหตุเกี่ยวกับปาสีน้ำสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 จำนวน 4 คดี แยกคดีไปตามท้องที่เกิดเหตุ ได้แก่ คดีของ สภ.ปากเกร็ด, สภ.เมืองปทุมธานี, สภ.ปากคลองรังสิต, สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ และยังถูกแจ้งข้อหาอีกคดีหนึ่งของ สภ.คลองหลวง กรณีถูกกล่าวหาว่าพ่นสีสเปรย์ที่มีข้อความเกี่ยวกับกษัตริย์บนป้ายบอกทาง 2 แห่ง

ในคดีที่ 6 นี้ มี พ.ต.ท.โอสถ ผ่าโผน รองผู้กำกับสอบสวน สน.ดอนเมือง เป็นผู้แจ้งข้อหา ระบุพฤติการณ์โดยสรุปว่า จากการรวบรวมพยานหลักฐานเชื่อว่า เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2565 เวลา 02.00-02.30 น. สมพลได้ขี่รถจักรยานยนต์ไปจอดใช้ถุงพลาสติกที่ภายในบรรจุสีแดง ขว้างปาใส่พระบรมฉายาลักษณ์ บริเวณหน้าหมู่บ้านแกรนคาเนล เขตดอนเมือง และบริเวณถนนกำแพงเพชร 6 อีก 3 ป้าย

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 3 ข้อหา ต่อสมพล เช่นเดียวกับคดีอื่นๆ ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ข้อหา “ทำให้เสียทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และข้อหา “ทำให้โคมไฟ ป้าย หรือสิ่งใดๆ ที่ราชการได้จัดทำไว้เพื่อสาธารณชนเกิดความเสียหายหรือใช้ประโยชน์ไม่ได้” ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35

สมพล ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ให้ปล่อยตัวไปโดยไม่มีการควบคุมตัวไว้

(อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สน.ดอนเมือง ลงวันที่ 22 มี.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/41738)

ภูมิหลัง

  • สมพล (นามสมมติ)
    สมพลเคยไปร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมทางการเมืองตั้งปี 2553 แต่ไม่ได้เข้าสังกัดเสื้อสีไหน และเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยตั้งแต่ในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา เนื่องจากเห็นสภาพบ้านเมือง เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต แย่ลงอย่างชัดเจน เห็นความอยุติธรรมในสังคมไทย จึงอยากออกมาร่วมต่อสู้ เพราะเห็นว่าประเทศไทยสามารถเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นกว่านี้ได้

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์