ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • ทำให้เสียทรัพย์ (มาตรา 358)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • พ.ร.บ.ความสะอาดฯ
ดำ อ.1744/2566

ผู้กล่าวหา
  • ไม่ทราบชื่อ (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.ความสะอาดฯ
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ทำให้เสียทรัพย์ (มาตรา 358)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1744/2566
ผู้กล่าวหา
  • 1

ความสำคัญของคดี

สมพล (นามสมมติ) พนักงานบริษัทวัย 28 ปี ถูก สน.ดอนเมือง ดำเนินคดีในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ทำให้เสียทรัพย์ และข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ โดยถูกกล่าวหาว่า ปาสีใส่พระบรมฉายาลักษณ์ หน้าหมู่บ้านแกรนคาเนล และบริเวณถนนกำแพงเพชร 6 ของสำนักงานเขตดอนเมืองและการุณ โหสกุล เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2565 รวม 4 ป้าย สมพลยังถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อีก 5 คดี ในท้องที่ต่างๆ จากการปาสีใส่พระบรมฉายาลักษณ์และพ่นสีข้อความพาดพิงกษัตริย์

กรณีของสมพลเป็นอีกกรณีที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความขยายขอบเขตเกินกว่าตัวบทของกฎหมาย ครอบคลุมถึงการกระทำต่อรูปภาพ ไม่ใช่เฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ชญาณิศา กีรติชาญเดชา พนักงานอัยการ สำนักอัยการงานพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 บรรยายฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า

1. ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพรัก ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6

ระหว่างวันที่ 13 - 14 ก.พ. 2565 จำเลยได้ใช้ถุงพลาสติกบรรจุสีแดงปาใส่ป้ายเฉลิมพระเกียรติพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และพระราชินี รวมทั้งหมด 4 ป้าย โดยจําเลยต้องการให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปที่ได้พบเห็นเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ การกระทําของจําเลยดังกล่าวมีเจตนาลบหลู่ จาบจ้วงสถาบันกษัตริย์ ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อรัชกาลที่ 10 พระราชินี และสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยจําเลยมีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชัง และไม่เคารพเทิดทูน

2. การการะทำของจำเลยทำให้ป้ายเฉลิมพระเกียรติของการุณ โหสกุล ได้รับความเสียหายเปรอะเปื้อน จำนวน 1 ป้าย คิดเป็นค่าเสียหาย 10,000 บาท และป้ายเฉลิมพระเกียรติของสำนักงานเขตดอนเมือง ได้รับความเสียหายเปรอะเปื้อน จำนวน 3 ป้าย คิดค่าเสียหาย 15,000 บาท

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1744/2566 ลงวันที่ 19 มิ.ย. 2566)

ความคืบหน้าของคดี

  • ที่ สน.ดอนเมือง สมพล (นามสมมติ) เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เป็นคดีที่ 6 กรณีถูกกล่าวหาว่าปาสีน้ำสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ในพื้นที่เขตดอนเมือง

    ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ สมพลถูกจับกุมตามหมายจับถึง 2 ครั้ง พร้อมกับถูกแจ้งข้อหาหลักตามมาตรา 112 ไปแล้วรวม 5 คดี โดยเป็นเหตุเกี่ยวกับปาสีน้ำสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 จำนวน 4 คดี แยกคดีไปตามท้องที่เกิดเหตุ ได้แก่ คดีของ สภ.ปากเกร็ด, สภ.เมืองปทุมธานี, สภ.ปากคลองรังสิต, สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ และยังถูกแจ้งข้อหาอีกคดีหนึ่งของ สภ.คลองหลวง กรณีถูกกล่าวหาว่าพ่นสีสเปรย์ที่มีข้อความเกี่ยวกับกษัตริย์บนป้ายบอกทาง 2 แห่ง

    ในคดีที่ 6 นี้ มี พ.ต.ท.โอสถ ผ่าโผน รองผู้กำกับสอบสวน สน.ดอนเมือง เป็นผู้แจ้งข้อหา ระบุพฤติการณ์โดยสรุปว่าเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ สน.ดอนเมือง ได้พบป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ที่อยู่บริเวณหน้าหมู่บ้านแกรนคาเนล เขตดอนเมือง มีลักษณะเหมือนถูกคนใช้สีแดงปาใส่ ได้รับความเสียหาย จึงประสานฝ่ายสืบสวนให้ทำการตรวจสอบกล้องวงจรปิด พบภาพบุคคลขี่รถจักรยานยนต์มาจอดใช้ถุงพลาสติกที่ภายในบรรจุสีแดง ขว้างปาใส่พระบรมฉายาลักษณ์ เมื่อเวลา 02.00-02.30 น.

    ต่อมา วันที่ 19 ก.พ. 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปากเกร็ด ได้จับกุมตัวสมพล ผู้ต้องหาตามหมายจับ พร้อมตรวจยึดของกลาง และตำรวจอ้างว่าผู้ต้องหาได้ยอมรับว่า ยังได้ก่อเหตุในลักษณะเดียวกันในพื้นที่ของ สน.ดอนเมือง อีกจุดหนึ่ง โดยมีการปาถุงพลาสติกบรรจุสีแดงปาใส่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณถนนกำแพงเพชร 6 จำนวน 3 ป้าย

    พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 3 ข้อหา ต่อสมพล เช่นเดียวกับคดีอื่นๆ ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ข้อหา “ทำให้เสียทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และข้อหา “ทำให้โคมไฟ ป้าย หรือสิ่งใดๆ ที่ราชการได้จัดทำไว้เพื่อสาธารณชนเกิดความเสียหายหรือใช้ประโยชน์ไม่ได้” ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35

    สมพล ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือใน 30 วัน หลังจากรับทราบข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ให้ปล่อยตัวไปโดยไม่มีการควบคุมตัวไว้

    สมพลเปิดเผยหลังถูกกล่าวหาคดีมาตรา 112 รวมถึง 6 คดีแล้วว่า การถูกดำเนินคดีทำให้ชีวิตของเขาลำบากขึ้น เพราะต้องมานัดต่างๆ และยังไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับอะไรต่อไปหลังจากนี้ ภาระที่เกิดขึ้น อาจทำให้เขาต้องออกจากงานที่ทำอยู่ แต่ก็ได้เตรียมใจไว้ระดับหนึ่งแล้ว

    สมพลเล่าว่า เขาเคยไปร่วมการชุมนุมทางการเมืองมาเป็นระยะ โดยในสมัยการชุมนุมคนเสื้อแดง เขาเคยไปร่วมสังเกตการณ์ แต่ยังไม่ได้เข้าสังกัดเสื้อสีไหน จนมาร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยตั้งแต่ในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา เนื่องจากเห็นสภาพบ้านเมือง เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต ที่แย่ลงอย่างชัดเจนในด้านต่างๆ เห็นความอยุติธรรมที่มีอยู่เยอะมากในสังคมไทย เลยอยากออกมาร่วมต่อสู้ เพราะเห็นว่าประเทศเรามันควรจะดีกว่านี้ มันสามารถเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นกว่านี้ได้

    สมพลระบุว่า ในส่วนมาตรา 112 ได้ติดตามข่าวสารมา ก็พบว่าเป็นข้อหาที่อยุติธรรมอย่างชัดเจน อย่างคดีของคุณอัญชัญ ที่ถูกศาลตัดสินจำคุกถึงกว่า 80 ปี มันเยอะมากจริงๆ

    สำหรับในประเทศที่พัฒนาแล้ว สมพลคิดว่าไม่ได้มีแบบนี้ เรื่องหมิ่นประมาทต่างๆ ไม่ควรมีโทษจำคุก และยังเป็นโทษจำคุกที่สูงมากในสังคมไทย แล้วคดีนี้ ใครก็ไปกล่าวหากันได้ ทั้งที่ปกติควรจะเป็นผู้เสียหาย เขาจึงเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เห็นด้วยกับการปรับปรุงสถาบันกษัตริย์ให้เป็นประชาธิปไตยและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ในส่วนคดีของเขาเอง ก็เตรียมใจที่จะต่อสู้คดีต่อไป

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สน.ดอนเมือง ลงวันที่ 22 มี.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/41738)
  • ที่ศาลอาญา รัชดาฯ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ยื่นฟ้องสมพลในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ทำให้เสียทรัพย์ และข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35 กล่าวหาว่า สมพลปาสีแดงใส่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และพระราชินี ของสำนักงานเขตดอนเมือง และการุณ โหสกุล รวม 4 ป้าย โดยจําเลยต้องการให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปที่พบเห็นเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะรัชกาลที่ 10 พระราชินี และสถาบันพระมหากษัตริย์

    คำฟ้องยังระบุว่า การกระทำของจำเลยทำให้ป้ายเฉลิมพระเกียรติเปรอะเปื้อนคิดค่าเสียหายเป็นเงินรวม 25,000 บาท

    นอกจากนี้อัยการได้ขอให้ศาลนับโทษจําคุกต่อจากโทษจําคุกของจําเลยในคดีของศาลจังหวัดปทุมธานี ศาลจังหวัดนนทบุรี และศาลจังหวัดธัญบุรี

    ภายหลังศาลรับฟ้อง ได้อนุญาตให้ประกันตัวจำเลยในเวลา 15.30 น. โดยให้วางหลักทรัพย์จำนวน 180,000 บาท เนื่องจากเห็นว่ายังมีคดีที่ค้างอยู่ในศาลอื่น พร้อมกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 4 ก.ย. 2566 เวลา 09.00 น.

    คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 6 ที่สมพลถูกฟ้อง

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1744/2566 ลงวันที่ 19 มิ.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/56820)
  • ทนายความจำเลยติดพิจารณาคดีที่ศาลอื่น จึงยื่นคำร้องขอเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐาน ศาลอนุญาตให้เลื่อนนัดพร้อมเพื่อประชุมคดีและตรวจพยานหลักฐานไปในวันที่ 30 ต.ค. 2566 เวลา 09.00 น.

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สมพล (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สมพล (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์