สรุปความสำคัญ

“ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักศึกษาและนักกิจกรรมวัย 20 ปี จากกลุ่มมังกรปฏิวัติ ถูกจับกุมขณะไปยืนไลฟ์สดหน้า UN ก่อนเวลาที่ขบวนเสด็จจะผ่านถนนราชดำเนินนอก ควบคุมตัวไป สน.พญาไท และ บช.ปส. โดยไม่ให้ทนายความเข้าพบเกือบ 2 ชั่วโมง ก่อนแจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามมาตรา 112, ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้าย อ้างว่าตำรวจให้หยุดไลฟ์สด แต่ทานตะวันไม่หยุด ทั้งยังกล่าวบรรยายในไลฟ์สดมีเนื้อหา “ด้อยค่า” กษัตริย์ แม้ศาลจะให้ประกันในชั้นฝากขัง แต่กำหนดให้ติด EM พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้างขวาง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่ในการปิดกั้นการแสดงออกโดยสงบของประชาชนที่เป็นไปในเชิงวิพากษ์วิจารณ์

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ทานตะวัน ตัวตุลานนท์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

5 มี.ค. 2565 ประมาณ 18.14 น. "ตะวัน" ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ไลฟ์สดทางเฟซบุ๊กส่วนตัวบริเวณทางเท้าบนถนนราชดำเนินนอก ตรงข้ามกับสำนักงานอาคารสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ (UN) ต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบทยอยกันเข้ามาล้อมตัวเธอ ห้ามไม่ให้เธอไลฟ์สด อ้างว่าจะมีขบวนเสด็จผ่าน และพยายามเชิญเธอออกจากบริเวณดังกล่าว

เจ้าหน้าที่ที่เข้าพูดคุยนำโดย พ.ต.อ.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ ผู้กำกับ สน.นางเลิ้ง ในชุดเครื่องแบบตำรวจรับเสด็จ พร้อมมีการนำกำลัง คฝ.หญิง, นอกเครื่องแบบที่เป็นชายฉกรรจ์ขับรถจักรยานยนต์เข้ามาล้อมกรอบ รวมกันมากกว่า 50 นาย ส่วนตะวันได้พยายามสอบถามตำรวจกรณีการให้ม็อบชาวนาย้ายออกจากพื้นที่ชุมนุม เพราะมีขบวนเสด็จ

ก่อนเวลาประมาณ 18.25 น. คฝ.หญิงได้เข้าควบคุมตัวทานตะวันขึ้นรถตำรวจ โดยผู้กำกับ สน.นางเลิ้ง กล่าวอ้างว่าเธอขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน บนรถได้มีเจ้าหน้าที่หญิงขึ้นนั่งประกบเธอ และพาตัวไปยัง สน.พญาไท ซึ่งไม่ใช่ท้องที่เกิดเหตุ

เวลา 18.40 น. เมื่อถูกนำตัวมาถึง สน.พญาไท ทานตะวันปฏิเสธไม่ยินยอมลงจากรถของตำรวจ โดยยืนยันว่าตนไม่ได้กระทำความผิดใด แม้เจ้าหน้าที่พยายามเกลี้ยกล่อม ต่อมาได้มีประชาชนและผู้สื่อข่าวอิสระทยอยติดตามไปยังสถานีตำรวจ

จนเวลา 19.12 น. เมื่อทานตะวันยังไม่ยอมลงจากรถ เจ้าหน้าที่ชายนอกเครื่องแบบได้เข้าใช้กำลังเข้ากระชากโทรศัพท์มือถือของเธอซึ่งทำการไลฟ์สดอยู่ ก่อนมีเจ้าหน้าที่ขับรถพาตัวออกจาก สน.พญาไท ทันที โดยไม่มีการแจ้งว่าจะนำตัวไปที่ใด และทานตะวันไม่สามารถใช้เครื่องมือสื่อสารติดต่อใครได้ระหว่างถูกควบคุมออกไปนี้

เวลาประมาณ 19.45 น. หลังมีผู้สื่อข่าวอิสระเดินทางติดตามรถตำรวจไป จึงพบว่าทานตะวันถูกนำตัวไปยังกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ซึ่งอยู่ภายในสโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดี-รังสิต

แต่เมื่อทนายความเดินทางไปถึง บช.ปส. ในเวลาประมาณ 20.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับไม่อนุญาตให้ทนายความพบกับทานตะวัน และไม่อนุญาตให้ติดต่อใดๆ อ้างว่าต้องรอคำสั่ง “นาย” ก่อน จึงจะให้เข้าไปได้ ทั้งที่เป็นสิทธิของผู้ถูกจับกุมในการได้พบและปรึกษาทนายความหรือผู้ไว้วางใจ

หลังการรอคอยเป็นเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง เวลา 21.48 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้อนุญาตให้ทนายความคนเดียวเข้าไปพบกับทานตะวัน แต่ไม่อนุญาตให้มีผู้ไว้วางใจหรือคนอื่นๆ ติดตามเข้าไป

เมื่อทนายความเข้าไป พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เริ่มจัดทำบันทึกจับกุมไปก่อนแล้ว โดยมีการแจ้งข้อกล่าวหา 2 ข้อหา ได้แก่ “ทราบคำสั่งเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 (อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท) และข้อหา “ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 (อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท)

ทานตะวันได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม เนื่องจากเจ้าพนักงานได้ยึดโทรศัพท์มือถือโดยไม่มีเหตุอันควร และไม่แจ้งว่าจะพาตัวผู้ถูกจับกุมไปที่ใด

จากนั้น เวลาประมาณ 01.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่ายังไม่ได้ตรวจร่างกายของผู้ต้องหา และต้องตรวจสอบว่ายังมีการกระทำเข้าข่ายข้อหาอื่นๆ หรือไม่ จึงไม่ปล่อยตัวทานตะวันหลังแจ้งข้อกล่าวหา โดยเบื้องต้นพบว่าทานตะวันมีบาดแผลรอยช้ำบริเวณแขนข้างขวา อันเนื่องจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ด้วย

นอกจากนั้น ยังมีรายงานว่าในช่วงกลางคืน ทานตะวันได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวไปคุมขังในห้องขังรวมกับผู้ต้องขังคดียาเสพติดรายอื่นๆ ภายใน บช.ปส. โดยไม่ได้มีอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19

วันต่อมา (6 มี.ค. 2565) พ.ต.ท.สำเนียง โสธร รองผู้กำกับสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาทานตะวันเพิ่มเติมอีก 3 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) และ มาตรา 14 (3)

ทานตะวันได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนไม่อนุญาตให้ประกันตัวทานตะวันในชั้นสอบสวน ทำให้เธอต้องถูกควบคุมตัวร่วมกับผู้ต้องหาในคดียาเสพติดอื่นๆ ที่ บช.ปส. อีก 1 คืน ก่อนพนักงานสอบสวนยื่นขอฝากขังต่อศาลอาญาในวันรุ่งขึ้น ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยคัดค้านการให้ประกันตัว อ้างเหตุว่า คดีมีอัตราโทษสูง เกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี และยากแก่การติดตามตัวมาดำเนินคดี

ศาลได้อนุญาตให้ฝากขัง แต่อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์ 100,000 บาท เป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ทั้งยังกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้ผู้ต้องหากระทำในลักษณะแบบเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และกิจกรรมหรือการกระทำใดๆ ในอันที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมกับให้ติด EM

(อ้างอิง: บันทึกการจับกุม บช.ปส. ลงวันที่ 5 มี.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/41057)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์