สรุปความสำคัญ

พิมชนก ใจหงษ์ นักกิจกรรมกลุ่มมังกรปฏิวัติ ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" จากหน้าที่พักย่านบางบอน ก่อนถูกนำตัวไปดำเนินคดีที่ยัง สภ.แม่โจ้ จ.เชียงใหม่ โดยตำรวจไม่มีการออกหมายเรียกมาก่อน พิมชนกถูกตำรวจสืบสวนกล่าวโทษจากการโพสต์วิจารณ์ตำรวจ 1 ข้อความในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2565 โดยกล่าวหาว่า ข้อความดังกล่าวมีลักษณะดูหมิ่นกษัตริย์ หลังศาลให้ฝากขัง ได้ให้ประกันพิมชนก มีเงื่อนไขห้ามโพสต์ข้อความหรือกระทำการให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย และให้รายงานตัวต่อศาลทุก 12 วัน ซึ่งสร้างภาระให้กับพิมชนกซึ่งไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ที่เชียงใหม่เป็นอย่างมาก

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้างจนครอบคลุมให้การกระทำหรือข้อความหลายอย่างเป็นความผิด แม้ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตราดังกล่าว ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัดเนื่องจากมีบทลงโทษที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • พิมชนก ใจหงษ์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

18 มี.ค. 2565 เวลาประมาณ 16.20 น. พิมชนก ใจหงษ์ นักกิจกรรมกลุ่มมังกรปฏิวัติ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 15 นาย เข้าจับกุมหน้าที่พักย่านบางบอน ชุดจับกุมนำโดย พ.ต.อ.เอนก ยอดหมวก รองผู้กำกับกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ได้เข้าแสดงหมายจับของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 11 มี.ค. 2565 ในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" โดยมีพนักงานสอบสวน สภ.แม่โจ้ จ.เชียงใหม่ เป็นผู้ร้องขอออกหมาย และมี รัตน์ จ๋วงพานิช ผู้พิพากษาศาลจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ออกหมายจับ โดยเธอไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน

ตำรวจนำตัวพิมชนกไปจัดทำบันทึกจับกุมที่ สน.แสมดำ โดยมีนักกิจกรรมและทนายความติดตามไป ต่อมาเวลาประมาณ 19.00 น. เศษ หลังทำบันทึกจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พาตัวพิมชนกเดินทางโดยรถยนต์ เพื่อไปยัง สภ.แม่โจ้ เจ้าของคดี โดยมีเพื่อนของพิมชนกติดตามไปด้วย 1 ราย ทั้งนี้ พิมชนกได้แจ้งกับตำรวจ สน.แสมดำ ด้วยว่า เธอมีกำหนดสอบ TCAS ในเช้าวันพรุ่งนี้

เวลาประมาณ 04.45 น. พิมชนกถูกนำตัวไปถึง สภ.แม่โจ้ โดยมีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบราว 15 นาย รอรับตัว หลังทนายความติดตามไป พนักงาสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาพิมชนก ฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

พฤติการณ์ที่กล่าวหาระบุว่า เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2565 เวลาประมาณ 15.00 น. พิมชนกได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กทำการโพสต์ข้อความ “รัฐบาลส้นตีน สถาบันก็ส้นตีน” ลักษณะเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ กระทบต่อสถาบัน ซึ่งเป็นสถาบันหลักและศูนย์รวมใจของชาติ

ด้านพิมชนกได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้สอบถามความยินยอมให้ยึดโทรศัพท์มือถือและขอรหัสเข้าถึงข้อมูลของพิมชนกด้วย แต่พิมชนกปฏิเสธไม่ให้พนักงานสอบสวนยึดและเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือของตนเอง

จากนั้น ทนายความได้ร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพิมชนกในชั้นสอบสวน เนื่องจากในตอนเช้า พิมชนกมีกำหนดเข้าสอบ TCAS แต่พนักงานสอบสวน ระบุว่าตนเองไม่มีอำนาจตัดสินใจเรื่องดังกล่าว ให้สอบถามผู้กำกับ ด้านผู้กำกับระบุว่า เพื่อให้รวดเร็วที่สุด ให้ทนายยื่นประกันตัวพิมชนกที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ หลังพนักงานสอบสวนขอฝากขัง เท่ากับตำรวจไม่อนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน

ช่วงเช้า หลังพนักงานสอบสวนควบคุมตัวพิมชนกไปยื่นขอฝากขังที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลอนุญาตให้ฝากขัง ก่อนอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ใช้หลักทรัพย์จำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดเงื่อนไข “ห้ามผู้ต้องหาลงข้อความเสื่อมเสียในสังคมออนไลน์หรือกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเดินทางออกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลเท่านั้น และให้ผู้ต้องหามารายงานตัวต่อศาลทุก 12 วัน”

กว่าพิมชนกได้รับการปล่อยตัวก็เกือบเที่ยงครึ่ง รวมระยะเวลาตั้งแต่ถูกจับกุมตัว ส่งตัวมาสอบสวนที่จังหวัดเชียงใหม่ และฝากขังต่อศาล กว่า 20 ชั่วโมง เดินทางไกลเป็นระยะทางกว่า 700 กิโลเมตร รวมทั้งยังไม่สามารถไปสอบ TCAS ตามกำหนดการได้ทันเวลาอีกด้วย

สำหรับคดีนี้ เป็นคดีแรกที่พิมชนกถูกกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 112 หลังก่อนหน้านี้เธอถูกกล่าวหาในคดีจากการชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองมาแล้วรวม 6 คดี โดยในจำนวนนี้สิ้นสุดไปแล้ว 4 คดี เนื่องจากคดีมีอัตราโทษปรับ

(อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 19 มี.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/41627)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์