สรุปความสำคัญ

เวหา แสนชนชนะศึก ถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) เป็นคดีที่ 2 โดยถูกกล่าวหาว่า แชร์และโพสต์เฟซบุ๊กรวม 2 โพสต์ เป็นการแชร์จากเพจ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การจัดการวัคซีนของรัฐบาล และโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2565 วิจารณ์ศาลและความอยุติธรรม ภายหลังถูกจับกุม เวหาไม่ได้รับการประกันตัว โดยศาลอ้างเหตุผลว่า เวหาเคยได้รับการประกันตัวในคดีที่มีลักษณะเดียวกัน โดยมีเงื่อนไขห้ามกระทําในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก หากให้ประกันอีก ผู้ต้องหาอาจจะก่อให้เกิดอันตรายประการอื่น และอาจจะหลบหนี

คดีนี้เป็นอีกกรณีที่สะท้อนปัญหาการตีความและบังคับใช้มาตรา 112 อย่างกว้างขวาง เพื่อเป็นเครื่องมือปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • เวหา แสนชนชนะศึก
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

10 มี.ค. 2565 เวลา 15.40 น. เฟซบุ๊กส่วนตัวของ ‘เวหา แสนชนชนะศึก’ ได้ไลฟ์เหตุการณ์ที่ตนเองถูกจับกุมบริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (หมอชิต) หลังจากเดินทางมาจากจังหวัดพิษณุโลก ก่อนตำรวจนอกเครื่องแบบจะนำตัวขึ้นรถไปยัง สน.พญาไท โดยการจับกุม ตำรวจได้แสดงหมายจับจากจอมือถือ ซึ่งออกโดยศาลอาญาเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2565 ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) แต่ไม่ได้มีการแสดงหมายจับที่เป็นตัวเอกสารแต่อย่างใด ทั้งขณะทำการไลฟ์สด ตำรวจได้แจ้งขอตรวจยึดโทรศัพท์โดยอ้างว่าเป็นของกลางที่ใช้กระทำความผิด

18.30 น. ทนายความได้รับแจ้งว่าเวหา ถูกนำตัวไปสอบสวนที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ไม่ได้นำตัวไปที่ สน.พญาไท ที่เป็นเจ้าของคดีแต่อย่างใด

เวลา 19.20 น. ทนายความได้เข้าพบผู้ถูกจับกุม โดยภายในห้องสอบสวนพบว่ามีตำรวจนอกเครื่องแบบกว่า 20 คน ทั้งนี้โทรศัพท์ของเวหาได้ถูกเจ้าหน้าที่ยึดไว้โดยไม่มีหมายเพื่อการเข้าถึงอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์จากศาล ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่ตำรวจให้เหตุผลว่ายึดไว้เพราะเห็นว่าเป็นวัตถุที่ใช้ในการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33

เวหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การเพิ่มเติมว่า การจับกุมเป็นไปโดยมิชอบ ขณะจับกุมไม่ได้แสดงหมายจับเพียงแต่ให้ดูเอกสารหมายจับจากโทรศัพท์มือถือและไม่ได้พาผู้ต้องหาไปยังท้องที่ที่ถูกจับ (สน.บางซื่อ) หรือไปยังท้องที่ที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ (สน.พญาไท) กลับนำตัวมาควบคุมและสอบสวนที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด จึงเป็นการจับกุมโดยมิชอบ พนักงานสอบสวนจะอ้างว่าเป็นระเบียบข้อตกลงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็รับฟังไม่ได้เพราะขัดต่อประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญาว่าด้วยการจับกุม คุมขัง และการสอบสวน นอกจากนี้เวหาจะขอยื่นคำให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมต่อไป

เวหาได้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ บช.ปส. ในคืนที่ผ่านมา ก่อนจะถูกฝากขังผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในวันต่อมา

11 มี.ค. 2565 พนักงานสอบสวน สน.พญาไท ได้ยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลอาญา ศาลได้อนุญาตให้ฝากขัง และไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ระบุเหตุผลว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าข้อหาที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหามีอัตราโทษสูง ประกอบกับเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2564 ผู้ต้องหาได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจากศาลนี้ ในคดีที่มีลักษณะข้อหาอย่างเดียวกัน โดยมีเงื่อนไขว่าห้ามผู้ต้องหากระทําการใดในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาอีก กรณี มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้ว ผู้ต้องหาอาจจะก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายประการอื่น และน่าเชื่อว่าผู้ต้องหาอาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว”

คำสั่งดังกล่าว ทำให้เวหาถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อีกครั้ง หลังจากเคยถูกคุมขังระหว่างสอบสวนในคดีมาตรา 112 ที่เขาเคยถูกจับกุมและกล่าวหาในช่วงปี 2564 จากกรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ “ฟ้าฝน ver. เกรี้ยวกราด” ที่ทวิตข้อความเล่าเรื่องประสบการณ์การถูกคุมขังในคุกเรือนจำชั่วคราวพุทธมณฑล เขตทวีวัฒนา โดยครั้งนั้นเขาถูกคุมขังเป็นระยะเวลา 53 วัน

(อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญา ลงวันที่ 11 มี.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/41258)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์