ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1326/2565
แดง อ.3221/2566

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.อ.ศิรณวิชญ์ อินทร ผกก.สส.บก.น.1 (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1326/2565
แดง อ.3221/2566
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.อ.ศิรณวิชญ์ อินทร ผกก.สส.บก.น.1

ความสำคัญของคดี

เวหา แสนชนชนะศึก ถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) เป็นคดีที่ 2 โดยถูกกล่าวหาว่า แชร์และโพสต์เฟซบุ๊กรวม 2 โพสต์ เป็นการแชร์จากเพจ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การจัดการวัคซีนของรัฐบาล และโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2565 วิจารณ์ศาลและความอยุติธรรม ภายหลังถูกจับกุม เวหาไม่ได้รับการประกันตัว โดยศาลอ้างเหตุผลว่า เวหาเคยได้รับการประกันตัวในคดีที่มีลักษณะเดียวกัน โดยมีเงื่อนไขห้ามกระทําในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก หากให้ประกันอีก ผู้ต้องหาอาจจะก่อให้เกิดอันตรายประการอื่น และอาจจะหลบหนี

คดีนี้เป็นอีกกรณีที่สะท้อนปัญหาการตีความและบังคับใช้มาตรา 112 อย่างกว้างขวาง เพื่อเป็นเครื่องมือปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ภัทรกร อุดมผล พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 บรรยายคำฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และรัชกาลที่ 10 เป็นกษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน ดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใดๆ มิได้ ตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ 2560

จําเลยได้กระทําความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ

1. เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 จําเลยได้แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ด้วยการใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “Wayha Sky” ของจําเลย แชร์ภาพและข้อความประกอบจากบัญชีเฟซบุ๊ก “เยาวชนปลดแอก - Free YOUTH” มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การจัดการวัคซีนของรัฐบาลประยุทธ์ที่ล้มเหลวเชื่อมโยงกับกษัตริย์ พร้อมโพสต์ข้อความประกอบว่า “อ่านดู แล้วจะรู้ว่าเด็กๆ มันคิดอะไร พิทักษ์รักษากันไว้แทบตาย ชิบหายด้วยมือตัวเอง #เหนื่อยจนท้อ #พอกันที”

อันเป็นความเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง โดยจําเลยมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา โดยจําเลยรู้อยู่แล้วว่าข้อความในภาพและข้อความประกอบภาพดังกล่าวเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

2. เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2565 จําเลยได้หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ด้วยการใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “Wayha Sky” ของจําเลย โพสต์ข้อความว่า “ปี พ.ศ. 2565 จะเป็นปีสุดท้ายของชีวิตกู กูจะให้ทุกวินาทีในชีวิตของกูหน้าบัลลังก์ศาลเล่าขานความเหี้ยห่าจัญไรให้จดจารึกไว้ กูจะใช้ชีวิตเข้าต่อสู้กับความอยุติธรรมด้วยการแลกด้วยเลือดและจิตวิญญาณ กูจะให้ความตายปลดเปลื้องกูออกจากพันธนาการแห่งความอยุติธรรมทั้งหมด ก่อนที่โซ่ตรวนและกรงขังจะมาพรากอิสรภาพกูด้วยคําพิพากษาอันมาภายใต้นามของใครบางคน”

โดยผู้อ่านข้อความดังกล่าวย่อมทราบว่า ศาลพิพากษาคดีในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ และข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง โดยจําเลยมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1326/2565 ลงวันที่ 2 มิ.ย. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลา 15.40 น. เฟซบุ๊กส่วนตัวของ ‘เวหา แสนชนชนะศึก’ ได้ไลฟ์เหตุการณ์ที่ตนเองถูกจับกุมบริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (หมอชิต) หลังจากเดินทางมาจากจังหวัดพิษณุโลก ก่อนตำรวจนอกเครื่องแบบจะนำตัวขึ้นรถไปยัง สน.พญาไท โดยการจับกุม ตำรวจได้แสดงหมายจับจากจอมือถือ ซึ่งออกโดยศาลอาญาเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2565 ในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)(5) แต่ไม่ได้มีการแสดงหมายจับที่เป็นตัวเอกสารแต่อย่างใด ทั้งขณะทำการไลฟ์สด ตำรวจได้แจ้งขอตรวจยึดโทรศัพท์โดยอ้างว่าเป็นของกลางที่ใช้กระทำความผิด

    18.30 น. ทนายความได้รับแจ้งว่าเวหา ถูกนำตัวไปสอบสวนที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ไม่ได้นำตัวไปที่ สน.พญาไท ที่เป็นเจ้าของคดีแต่อย่างใด

    เวลา 19.20 น. ทนายความได้เข้าพบผู้ถูกจับกุม โดยภายในห้องสอบสวนพบว่ามีตำรวจนอกเครื่องแบบกว่า 20 คน ทั้งนี้โทรศัพท์ของเวหาได้ถูกเจ้าหน้าที่ยึดไว้โดยไม่มีคำสั่งศาล ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อนุญาตให้เข้าถึงอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ แต่ตำรวจให้เหตุผลว่ายึดไว้เพราะเห็นว่าเป็นวัตถุที่ใช้ในการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33

    พ.ต.ท.วิทยากร สุวรรณเรืองศรี พนักงานสอบสวน แจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่า เหตุจากการแชร์และโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กจำนวน 2 โพสต์ กล่าวคือ

    1. เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ได้แชร์เพจเฟซบุ๊ก ‘เยาวชนปลดแอก’ ซึ่งโพสต์ดังกล่าวมีรูปภาพศพและกำแพง มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การจัดการวัคซีนของรัฐบาล พร้อมแสดงความคิดเห็นว่า “อ่านดู แล้วจะรู้ว่าเด็กๆ มันคิดอะไร พิทักษ์รักษากันไว้แทบตาย ชิบหายด้วยมือตัวเอง #เหนื่อยจนท้อ #พอกันที”

    2. เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2565 เวลาประมาณ 00.36 น. มีการโพสต์ ข้อความว่า “ประกาศ ปี พ.ศ. 2565 จะเป็นปีสุดท้ายของชีวิตกู กะให้ทุกวินาทีในชีวิตของหน้าบัลลังก์ศาลเล่าขานความเหี้ยห่าจัญไรให้จดจำกูไว้ จะใช้ชีวิตเข้าต่อสู้กับความอยุติธรรมด้วยการแลกด้วยเลือดและจิตวิญญาณ กูจะให้ความตายปลดเปลื้องกูออกจากพันธนาการแห่งความอยุติธรรมทั้งหมดก่อนที่โซ่ตรวนและกรงขังจะมาพรากอิสรภาพด้วยคําพิพากษาอันมาภายใต้นามของใครบางคน”

    ก่อนแจ้งข้อกล่าวหาตามหมายจับ คือ หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, นำเข้า เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)(5) โดยพนักงานสอบสวนไม่ได้ระบุว่าข้อความส่วนใดในทั้งสองโพสต์ เป็นข้อความที่เข้าข่ายมาตรา 112

    เวหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การเพิ่มเติมว่า การจับกุมเป็นไปโดยมิชอบ ขณะจับกุมไม่ได้แสดงหมายจับ เพียงแต่ให้ดูภาพหมายจับจากโทรศัพท์มือถือ และไม่ได้พาผู้ต้องหาไปยังท้องที่ที่ถูกจับ (สน.บางซื่อ) หรือไปยังท้องที่ที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ (สน.พญาไท) กลับนำตัวมาควบคุมและสอบสวนที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด จึงเป็นการจับกุมโดยมิชอบ พนักงานสอบสวนจะอ้างว่าเป็นระเบียบข้อตกลงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็รับฟังไม่ได้เพราะขัดต่อประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญาว่าด้วยการจับกุม คุมขัง และการสอบสวน นอกจากนี้เวหาจะขอยื่นคำให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมต่อไป

    เวหาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ บช.ปส. ตลอดคืน ก่อนพนักงานสอบสวนจะฝากขังต่อศาลอาญาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในวันต่อมา

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม บช.ปส. ลงวันที่ 10 มี.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/41258)
  • เวลา 11.30 น. หลัง ร.ต.อ.อรุณ สืบสิงห์ พนักงานสอบสวน สน.พญาไท ได้ยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลอาญา ศาลได้อนุญาตให้ฝากขัง เป็นระยะเวลา 12 วัน เนื่องพนักงานสอบสวนอ้างว่าจะต้องทําการสอบสวนพยานอีก 4 ปาก, รอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหาจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร ทั้งยังค้านการประกันตับ อ้างเหตุ เกรงผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

    หลังทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว เสนอหลักประกันเป็นเงินสด 90,000 บาท เวลา 16.30 น. ชาญชัย ณ พิกุล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ระบุเหตุผลว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าข้อหาที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหามีอัตราโทษสูง ประกอบกับเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2564 ผู้ต้องหาได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจากศาลนี้ ในคดีที่มีลักษณะข้อหาอย่างเดียวกัน โดยมีเงื่อนไขว่าห้ามผู้ต้องหากระทําการใดในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาอีก กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้ว ผู้ต้องหาอาจจะก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายประการอื่น และน่าเชื่อว่าผู้ต้องหาอาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว”

    ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าพฤติการณ์ที่เวหาถูกกล่าวหา การแชร์โพสต์ข้อความแรกเกิดขึ้นก่อนการถูกกล่าวหาในคดีแรก ที่เขาได้รับการประกันตัว จึงไม่ใช่การฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกัน ขณะที่ข้อความที่ 2 เนื้อหาของโพสต์ก็ไม่ได้มีความแน่ชัดว่าเข้าข่ายข้อหาตามมาตรา 112 อย่างไร

    คำสั่งดังกล่าว ทำให้เวหาถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อีกครั้ง หลังจากเคยถูกคุมขังระหว่างสอบสวนในคดีมาตรา 112 ที่เขาเคยถูกจับกุมและกล่าวหาในช่วงปี 2564 จากกรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ “ฟ้าฝน ver. เกรี้ยวกราด” ที่ทวิตข้อความเล่าเรื่องประสบการณ์การถูกคุมขังในคุกเรือนจำชั่วคราวพุทธมณฑล เขตทวีวัฒนา โดยครั้งนั้นเขาถูกคุมขังเป็นระยะเวลา 53 วัน

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 คดีหมายเลขดำที่ ฝ.276/2565 ศาลอาญา ลงวันที่ 11 มี.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/41258)
  • ทนายความยื่นประกันเวหาเป็นครั้งที่ 2 เสนอหลักประกันเป็นเงินสด 90,000 บาท พร้อมทั้งระบุเหตุผลที่สำคัญว่า

    1. ตามคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวพร้อมคำสั่งศาลฉบับลงวันที่ 11 มี.ค. 2565 ซึ่งศาลมีคำสั่งว่า "เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2564 ผู้ต้องหาได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจากศาลนี้ ในคดีที่มีลักษณะข้อหาอย่างเดียวกัน โดยมีเงื่อนไขว่าห้ามผู้ต้องหากระทําการใดในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาอีก กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้ว ผู้ต้องหาอาจจะก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายประการอื่น และน่าเชื่อว่าผู้ต้องหาอาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว” นั้น พฤติการณ์ตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวหาว่า ผู้ต้องหาโพสต์ 2 ข้อความ ข้อความแรกโพสต์เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ก่อนศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2564 จึงถือมิได้ว่าผู้ต้องหากระทำการใดในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาอีก

    ส่วนข้อความที่สองพนักงานสอบสวนกล่าวหาผู้ต้องหาว่าโพสต์เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2565 พนักงานสอบสวนกล่าวอ้างมาเพียงลอยๆ โดยมิได้ระบุที่อยู่เว็บไซต์หรือ URL และเมื่อนำไปค้นหาในบัญชีเฟซบุ๊คตามวันเวลาดังกล่าวก็ไม่พบข้อความตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวหา ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างเพียงลอยๆ ไม่น่าเชื่อถือ จึงถือมิได้ว่าผู้ต้องหากระทำการใดในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาอีก

    2. ไม่ปรากฏเหตุและพฤติการณ์ใดๆ ของผู้ต้องหาที่เข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาแม้แต่น้อย

    3. ผู้ต้องหามีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาโรคประจำตัวอย่างต่อเนื่อง การถูกคุมขังไว้ระหว่างสอบสวนส่งผลกระทบต่อการรักษาโรคของผู้ต้องหา และผู้ต้องหาต้องพบแพทย์เพื่อรับยาและตรวจติดตามอาการ

    อย่างไรก็ตาม ชาญชัย ณ พิกุล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ยังคงไม่อนุญาตให้ประกันเวลา ระบุเหตุผลว่า ศาลเคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ ฝ.276/2565 ลงวันที่ 26 มี.ค. 2565)
  • ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวเวหาเป็นครั้งที่ 3 แต่ พลีส เทอดไทย ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติด มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ระบุเหตุผลเช่นเดียวกับครั้งก่อนว่า ศาลเคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

    ปัจจุบัน เวหายังคงถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นระยะเวลา 25 วันแล้ว โดยในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนมีระยะเวลาขอฝากขังได้ทั้งหมด 84 วัน

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ ฝ.276/2565 ลงวันที่ 1 เม.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/41258)
  • เวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญา ครอบครัวของเวหาได้เข้ายื่นขอประกันตัวเป็นครั้งที่ 4 ย้ำเหตุผลว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้ป่วยจิตเภทอยู่ระหว่างรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลในจังหวัดพิษณุโลก มีความจําเป็นต้องเข้ารับการรักษาอาการอย่างต่อเนื่อง การถูกคุมขังไว้ระหว่างสอบสวนส่งผลกระทบต่อการรักษาโรค และผู้ต้องหายังต้องพบแพทย์เพื่อรับยาและตรวจติดตามอาการ

    นอกจากนี้คำร้องยังได้ระบุว่า หากศาลเห็นสมควรกําหนดเงื่อนไขใดที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีของผู้ต้องหา และเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจให้เห็นว่าผู้ต้องหาไม่มีเจตนาคิดจะหลบหนี ผู้ต้องหายินยอมติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) รวมถึงยินยอมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นใดของศาลที่กําหนดเพื่อป้องกันมิให้หลบหนี โดยขอให้ศาลตั้งมารดาผู้ต้องหาหรือบุคคลอื่นที่ศาลกําหนดเป็นผู้กํากับดูแล

    อย่างไรก็ตาม ในเวลา 15.40 น. อรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้มีคำสั่งยกคำร้อง ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ด้วยเหตุผลเดียวกันกับการยื่นประกันในครั้งที่ 2 และ 3 ว่า ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากได้ระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว และไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

    ปัจจุบัน เวหายังคงถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. 2565 รวมเป็นระยะเวลา 39 วัน โดยในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนมีระยะเวลาขอฝากขังได้ทั้งหมด 84 วัน

    ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าพฤติการณ์ที่เวหาถูกกล่าวหา การแชร์โพสต์ข้อความแรกเกิดขึ้นก่อนการถูกกล่าวหาในคดีแรก ที่เขาได้รับการประกันตัว จึงไม่ใช่การฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกัน ขณะที่ข้อความที่ 2 เนื้อหาของโพสต์ก็ไม่ได้มีความแน่ชัดว่าเข้าข่ายข้อหาตามมาตรา 112 อย่างไร

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ ฝ.276/2565 ลงวันที่ 18 เม.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/42611)

  • พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเวหาในฐานความผิด "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ, เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้ว ว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง และนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)(5) โดยกล่าวว่าเวหากระทำความผิดโดยการแชร์และโพสต์ข้อความรวม 2 กรรม

    ท้ายคำฟ้อง อัยการได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณา โดยอ้างเหตุว่าคดีมีอัตราโทษสูง และเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง พร้อมทั้งขอให้นับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีมาตรา 112 อีกคดีของศาลอาญานี้

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1326/2565 ลงวันที่ 2 มิ.ย. 2565)
  • ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเวหา ในคดีมาตรา 112 ทั้งสองคดี ได้แก่ คดีนี้และคดีที่เวหาถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ “ฟ้าฝน ver. เกรี้ยวกราด”

    ต่อมา เวลา 17.00 น. ศาลมีคำสั่งให้นัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวทั้งสองคดี ในวันที่ 14 มิ.ย. 2565 เวลา 10.00 น. ผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ พร้อมกันนี้ศาลขอให้ทนายความเสนอพฤติการณ์พิเศษประกอบการพิจารณาคดี และแจ้งโจทก์ให้ทำคำคัดค้านก่อน หรือภายในวันนัดหมาย

    คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของเวหาทั้งสองคดี ระบุโดยสรุปว่า จำเลยขอวางหลักประกันเป็นเงินคดีละ 180,000 บาท เพื่อเป็นหลักประกันอันน่าเชื่อถือว่า จำเลยจะไม่หลบหนี ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น และไม่เป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาคดี

    ยิ่งไปกว่านั้นจำเลยเป็นผู้ป่วยจิตเภทอยู่ระหว่างรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลในจังหวัดพิษณุโลก มีความจําเป็นต้องเข้ารับการรักษาอาการอย่างต่อเนื่อง การถูกคุมขังไว้ระหว่างพิจารณาคดีส่งผลกระทบต่อการรักษาโรค รวมถึงจำเลยยังต้องพบแพทย์เพื่อรับยาและตรวจติดตามอาการต่อไป

    นอกจากนี้ จำเลยยินยอมติดกําไลติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) และให้มารดาเป็นผู้กํากับดูแล รวมถึงยินยอมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ ตามที่ศาลกําหนด เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่มีเจตนาจะหลบหนีแต่อย่างใด และเพื่อให้จำเลยสามารถออกไปหาพยานหลักฐานในการต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่และเป็นธรรม

    ที่สำคัญคดีที่จำเลยถูกกล่าวหาเป็นคดีที่เกี่ยวการแสดงออกทางการเมือง สิทธิเสรีภาพการชุมนุม และสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จำเลยยังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา ต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิด ตามที่รัฐธรรมนูญไทย และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) รับรองไว้

    จำเลยถูกขังตามหมายขังของศาลนี้มาเป็นระยะเวลายาวนาน ได้รับความยากลำบากในการใช้ชีวิตโดยปราศจากอิสรภาพเป็นอย่างมาก จึงตระหนักว่าจำเลยจะระมัดระวังไม่กระทำการใดให้ถูกฟ้องเป็นคดีขึ้นอีก พร้อมกันนี้ยืนยันว่าไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด รวมถึงได้ให้ความร่วมมือเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก มาพบพนักงานอัยการ ตามกําหนดนัด ตลอดจนการมาเข้าร่วมการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นในทุกนัด เพื่อพิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์และความประสงค์จะสู้คดี ไม่ได้มีพฤติการณ์อันเป็นเหตุที่จะไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายอาญาพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1

    ในท้ายคำร้องระบุว่า หากโจทก์คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลย ขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกโจทก์มาไต่สวน และให้จำเลยแต่งทนายซักค้านโจทก์เพื่อประกอบการพิจารณาของศาลต่อไป

    ปัจจุบัน เวหายังคงถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. 2565 รวมเป็นระยะเวลา 88 วัน

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1326/2565 ลงวันที่ 6 มิ.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/44512)
  • เวลา 10.00 น. ศาลอาญานัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเวหาในคดีมาตรา 112 จำนวน 2 คดี ได้แก่ คดีนี้และคดีที่เวหาถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ “ฟ้าฝน ver. เกรี้ยวกราด”

    เวลา 10.00 น. ณ ห้อง 609 เวหาถูกเบิกตัวเข้าร่วมการไต่สวนผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ถ่ายทอดสัญญาณจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค-19 ของศาลอาญา การไต่สวนเริ่มต้นขึ้นโดยมีพยาน 1 ปาก ได้แก่ แม่ของเวหา โดยอัยการโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะเข้าร่วมการไต่สวนในวันนี้ด้วย

    ++แม่เวหาเสนอให้ศาลแต่งตั้งเป็นผู้กำกับดูแล ยืนยันลูกชายเป็นคนจิตใจดี ไม่ก้าวร้าว

    แม่ของเวหา เบิกความว่า อาศัยอยู่กับเวหาที่บ้านในจังหวัดพิษณุโลกเพียง 2 คน โดยก่อนหน้านี้เวหาจะคอยทำงานเลี้ยงดูตนมาตลอด เวหามีโรคประจำตัว โดยป่วยเป็นโรคจิตเวชและโรคลมชัก สาเหตุการป่วยมาจากการถูกทำร้ายร่างกายในช่วงหลังเรียนจบระดับมหาวิทยาลัย

    แม่เวหาเบิกความอีกว่า ตนเองก็ป่วยเช่นกัน โดยมีโรคประจำตัวเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าจะต้องรับการผ่าตัดโดยเร็ววันนี้ แต่ตนยังไม่ได้เข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากไม่มีใครจะคอยไปอยู่เฝ้าและดูแลที่โรงพยาบาลเมื่อต้องทำการพักฟื้นหลังผ่าตัด ทุกวันนี้จึงบรรเทาอาการปวดข้อเข่าเสื่อมด้วยการกินยาให้ผ่านไปวันๆ เท่านั้น

    เวหา ซึ่งเป็นลูกชายนั้นเป็นคนจิตใจดี เพื่อนบ้านให้ความรักใคร่เอ็นดู สุภาพ ไม่ก้าวร้าว ตนเชื่อว่าสามารถตักเตือนและดูแลจำเลยให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดได้และยินดีให้ศาลแต่งตั้งเป็นผู้กำกับดูแลของจำเลย

    และได้ตอบศาลถามว่า หากไม่สามารถดูแลให้จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดได้ จนจำเลยกระทำการฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว ยินดีให้ศาลริบเงินประกันซึ่งได้จากกองทุนราษฎรประสงค์

    ++เวหาชี้ป่วยเป็น PTSD ต้องรักษาต่อเนื่อง ยินดีรับทุกเงื่อนไขของศาล ก่อนศาลนัดฟังคำสั่ง 17 มิ.ย. นี้

    ด้านเวหาเบิกความว่า ตนประกอบอาชีพเกษตรกรรม ป่วยเป็นโรคจิตเภท PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) โดยเข้ารับการรักษามาตลอด ตั้งแต่ปี 2561 ที่โรงพยาบาลในจังหวัดพิษณุโลก และในเร็ววันนี้จะต้องเข้ารับการรักษา ติดตามอาการ และรับยา ตามที่แพทย์นัดหมายในวันที่ 25 ก.ค. 2565

    เวหายินดีรับทุกเงื่อนไขที่ศาลเห็นควรจะกำหนดในการปล่อยตัวชั่วคราว แต่เวหาขอให้ศาลมีดุลยพินิจกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพของตนเองและการเดินทางเพื่อพาแม่ที่ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมไปหาหมอด้วย อีกทั้งยินดีให้ศาลแต่งตั้งแม่ของตนเองเป็นผู้กำกับดูแล โดยเบิกความว่า ก่อนหน้านี้ตนก็อยู่อาศัยและดูแลแม่กันเพียง 2 คนอยู่แล้ว และให้คำมั่นว่าจะมาตามนัดหมายของศาลทุกครั้ง

    เวหาตอบศาลถามว่า ตนเคยถูกดำเนินคดีมาแล้วรวม 4 คดีด้วยกัน ก่อนที่จะถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ใน 2 คดีนี้

    หลังไต่สวนแล้วเสร็จ ศาลได้นัดฟังคำสั่งว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่ ในวันที่ 17 มิ.ย. 2565 เวลา 13.30 น. โดยให้เบิกตัวเวหามาฟังคำสั่งผ่านทางจอภาพ และให้แม่ของเวหาเข้าร่วมฟังคำสั่งด้วย

    ++แม่เผยต้องนั่งรถตู้ ไป-กลับ พิษณุโลก-กทม. นานครั้งละ 6 ชม. ทำข้อเข่าเสื่อมกำเริบ หมอให้ผ่าตัดแต่ไม่มีใครไปเฝ้า เพราะเวหาติดคุกนาน 4 เดือนแล้ว

    หลังศาลทำการไต่สวนแล้วเสร็จ เวหายังคงติดต่อผ่านทางจอภาพอีกครู่หนึ่ง โดยเขาได้พูดกับแม่ว่า ศาลไม่ได้จะมีคำสั่งภายในวันนี้ ขอให้แม่ไม่ต้องกังวลและกลับบ้านที่พิษณุโลกเพื่อไปร่วมงานฌาปนกิจศพคุณตาก่อน และกล่าวทิ้งท้ายว่า “ขอบคุณครับ ขอให้แม่ดูแลสุขภาพและเดินทางกลับพิษณุโลกโดยปลอดภัยครับ”

    แม่เวหาเปิดเผยว่า จะต้องเดินทางกลับไปร่วมงานศพคุณตา ซึ่งมีกำหนดฌาปนกิจในวันที่ 16 มิ.ย. 2565 และภายในช่วงเย็นวันนั้นจะต้องเดินทางโดยรถตู้จากพิษณุโลกเพื่อมาร่วมฟังคำสั่งศาลอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น

    แม่เวหาระบุว่า การเดินทางไป-กลับที่อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก แต่ละครั้งนั้นยากลำบาก ต้องนั่งรถตู้นานกว่า 6 ชั่วโมง ซึ่งทำให้โรคเข่าเสื่อมทวีความรุนแรงและรู้สึกปวดที่เข่าอย่างมาก แต่ก็ยินดีและเต็มใจที่จะเดินทางมาศาลเพื่อให้ลูกชายของตัวเองได้รับอิสรภาพอีกครั้ง ด้านโรคข้อเข่าเสื่อมที่ป่วยอยู่นั้น เธอเล่าว่า จริง ๆ หมอให้ไปผ่าตัด แต่ถ้าไปผ่าตัดแล้วจะไม่สามารถเดินได้ในช่วงที่ทำการพักฟื้นอยู่ที่ทั้งโรงพยาบาลและบ้าน

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/44778)
  • 13.30 น. เวหาถูกเบิกตัวเข้าร่วมฟังคำสั่งผ่านทางจอภาพ ซึ่งถ่ายทอดสัญญาณจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยมีแม่ น้องชาย และน้าสาว 2 คนของเวหามาร่วมฟังคำสั่งในห้องพิจารณาด้วย

    ต่อมา พริษฐ์ ปิยะนราธร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้ง 2 คดี มีรายละเอียดคำสั่งโดยสรุป ดังนี้

    พิเคราะห์คำเบิกความของผู้ร้องและจำเลยแล้ว ผู้ร้องรับรองว่าจะดูแลจำเลยไม่ให้กระทำการผิดเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราวอีก และจำเลยรับว่าจะไม่ทำผิดเงื่อนไข พร้อมกับยินยอมให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) และเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถาน แสดงว่าจำเลยมีความรู้สึกสำนึกผิดพอสมควรแล้ว

    ประกอบกับแม่ของจำเลยให้การรับรองว่าจะเป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งมีความน่าเชื่อถือว่าจะดูแลจำเลยไม่ให้กระทำผิดเงื่อนไขได้ อีกทั้งจำเลยมีนัดหมายเข้ารับการตรวจรักษาและติดตามผลการตรวจโรค PTSD ที่โรงพยาบาลในจังหวัดพิษณุโลก ในวันที่ 25 ก.ค. 2565

    กรณีจึงมีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย โดยมีเงื่อนไข ดังนี้

    1. มีกำหนดระยะเวลาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเป็นระยะเวลา 2 เดือน
    2. ให้ติด EM
    3. ห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาตั้งแต่ 20.00 – 05.00 น. ของวันใหม่ ยกเว้นกรณีเจ็บป่วยหรือได้รับการอนุญาตจากศาลเท่านั้น
    4. ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก
    5. ห้ามเข้าร่วมการชุมนุมในลักษณะที่จะสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
    โดยศาลได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้แม่ของเวหาเป็นผู้กำกับดูแล หากจำเลยกระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวอีกจะถือว่าผู้ร้องผิดสัญญาประกัน โดยกำหนดวงเงินประกันคดีละ 180,000 บาท ซึ่งได้จากกองทุนราษฎรประสงค์

    หลังมีคำสั่ง ศาลได้พูดย้ำกับเวหาว่า อย่าทำผิดอีก หากทำผิดเงื่อนไขอีกจะโดนริบเงินประกันและจะไม่มีการให้ประกันอีกในครั้งหน้า อีกทั้งได้ย้ำกับแม่ของเวหาว่า ให้ดูแลลูกให้ดี เพราะครั้งนี้มีเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวหลายข้อด้วยกัน

    เวหาได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงค่ำ

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/44915)
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้เวหาฟัง และถามคำให้การ เวหายืนยันให้การปฏิเสธ โจทก์แถลงมีพยานบุคคลจะนำเข้าสืบ 12 ปาก ฝ่ายจำเลยรับข้อเท็จจริงได้ 4 ปาก และศาลสั่งตัดพยานความเห็น 4 ปาก โจทก์จึงยังคงติดใจสืบพยาน 4 ปาก ใช้เวลา 1 นัด ฝ่ายจำเลยประสงค์สืบพยาน 4 ปาก แต่ศาลเห็นว่า พยานจำเลย 2 ปาก เป็นบุคคลภายนอก ไม่เกี่ยวกับคดี จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยาน 2 ปากดังกล่าว นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 18 ก.ค. 2566 สืบพยานจำเลยในวันที่ 19 ก.ค. 2566

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1326/2565 ลงวันที่ 11 ก.ค. 2565)
  • ศาลแจ้งว่า ได้รับแจ้งจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่า ศาลจังหวัดพิษณุโลกได้เบิกตัวเวหาไปเพื่อสืบพยาน ทำให้มีเหตุขัดข้องไม่สามารถส่งตัวเวหามายังศาลอาญารัชดาเพื่อสืบพยานวันนี้ได้ โจทก์แถลงขอสืบพยานผ่านจอภาพ แต่ทนายจำเลยคัดค้าน ศาลจึงให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์และสืบพยานจำเลยในวันที่ 31 ต.ค. 2566 และให้ยกเลิกนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 19 ก.ค. 2566

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1326/2565 ลงวันที่ 18 ก.ค. 2566)
  • เวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณา 802 เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวเวหาซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในคดีมาตรา 112 กรณีทวีตเรื่องคุกวังทวีและแอร์ไม่เย็น หลังศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุกไปเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2566 มาที่ศาลอาญา

    เวหาสวมชุดสีน้ำตาลขาสั้น แขนเสื้อมีปลอกแขนสีแดงเย็บติดอยู่ และเท้าถูกล่ามด้วยกุญแจตรวน โดยก่อนเริ่มการสืบพยาน เวหาได้ตัดสินใจขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามที่โจทก์ฟ้อง ทำให้ศาลนัดฟังคำพิพากษาทันทีในช่วง 13.30 น. ของวันเดียวกันนี้

    เวลา 13.30 น. ศาลอ่านคำพิพากษาระบุว่า เวหามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 อันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด

    พิพากษา จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง รวมโทษจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวม 2 กระทง จำคุก 2 ปี 12 เดือน และให้ริบโทรศัพท์มือถือของกลาง กับให้นับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีหมายเลขดำที่ อ.2697/2564 ซึ่งศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี 18 เดือน ไปก่อนหน้านี้

    ในช่วงที่ผ่านมา หลังศาลอาญาพิพากษาจำคุกเวหาในคดีแรก และเวหาไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ เขาได้อดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัว แต่ศาลอุทธรณ์ก็ยังไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว ภายหลังอดอาหารประท้วงถึง 49 วัน เวหาได้ประกาศยุติการอดอาหาร รวมทั้งยุติการต่อสู้คดีในคดีดังกล่าวที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว โดยไม่ขออุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษา และยอมติดคุกเพื่อ ‘ประจาน’ กระบวนการยุติธรรม และกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อไปในฐานะผู้ต้องขังเด็ดขาด

    นอกจาก 2 คดี ที่ศาลมีคำพิพากษาไปแล้วนี้ เวหายังคงมีคดีมาตรา 112 ของศาลอาญาอีก 1 คดี คือ คดีจากการโพสต์ภาพประกอบข้อความวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาจำคุก “นรินทร์” ในคดีติดสติกเกอร์ “กูkult” บนพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ซึ่งในคดีที่ 3 ของเวหามีนัดสืบพยานในวันที่ 19-21 ธ.ค. 2566 ที่จะถึงนี้

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/61131)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
เวหา แสนชนชนะศึก

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
เวหา แสนชนชนะศึก

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 31-10-2023

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์