สรุปความสำคัญ

#ม็อบราษฎรยืนยันดันเพดาน ในโอกาสครบรอบ 89 ปี อภิวัฒน์สยาม เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564 ที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน ซึ่งจัดขึ้นเพื่อยืนยันข้อเรียกร้องดันเพดานเดิม ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีนักกิจกรรมที่ร่วมชุมนุมและขึ้นปราศรัยถูกดำเนินคดีฐานร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถึง 11 ราย เป็นเยาวชน 2 ราย และในจำนวนนี้มีนักศึกษา 3 ราย “บิ๊ก” เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ, เบนจา อะปัญ และ “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา ถูกมะลิวัลย์ หวาดน้อย เครือข่ายศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีตาม มาตรา 112 จากการปราศรัยถึงปัญหาของสถาบันกษัตริย์ซึ่งนำมาสู่ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

กรณีนี้ชี้ให้เห็นปัญหาสำคัญของมาตรา 112 ประการหนึ่ง คือ การเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้แม้ไม่ใช่ผู้เสียหายร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลอื่น รวมทั้งการตีความการกระทำที่เป็นความผิดเกินกว่าตัวบทและเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งทำให้บทบัญญัติดังกล่าวถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในยุครัฐบาลสืบทอดอำนาจของ คสช.

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • วรรณวลี ธรรมสัตยา
    • เบนจา อะปัญ
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

24 มิ.ย. 2564 เวลา 17.00 น. ที่สกายวอล์ค ปทุมวัน กลุ่ม "ราษฎร" และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นัดหมายทำกิจกรรม “ราษฎรยืนยันดันเพดาน” เพื่อย้ำข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ,ขับไล่รัฐบาล และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยเน้นย้ำเรื่องรัฐธรรมนูญที่รัฐสภามีนัดลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันที่ลานหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ กลุ่ม Re-solution ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เวลา 17.15 น. ตำรวจ สน.ปทุมวัน เข้ามาประกาศข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมบนสกายวอล์คฯ จากนั้นลงไปประกาศซ้ำอีกครั้งที่หน้าโต๊ะล่ารายชื่อของกลุ่ม Re-solution จากนั้นนักกิจกรรมกลุ่มต่างๆ ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัย

เวลา 18.00 น. แกนนำนำมวลชนร้องเพลงวันชาติ 24 มิถุนายน (แต่งโดยมนตรี ตราโมท เมื่อ พ.ศ.2483 ในสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา) โดยมีการส่งเนื้อเพลงให้ผู้ชุมนุมผ่าน Airdrop ผู้ชุมนุมร่วมกันชูสามนิ้วไปด้วยระหว่างการร้องเพลง กิจกรรมจบลงในเวลา 20.32 น. ทิ้งท้ายด้วยประโยคที่ว่า "สุขสันต์วันชาติไทย"

นอกจากนี้บริเวณสกายวอล์คโดยรอบ ปรากฏข้อความจำนวนมากในหลายรูปแบบ เริ่มตั้งแต่ #ม็อบกระดาษ ที่ผู้เข้าร่วมเขียนข้อความลงกระดาษเอ 4 และนำไปติดไว้ที่ตามระเบียงของสกายวอล์ค ปรากฏข้อความเช่น "เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้พวกกูที...", "เพิ่มราคาข้าว เพิ่มราคายาง ลดราคาน้ำมัน", "คนเท่ากัน ยกเลิก 112" , "ยกเลิกส.ว. 250 คนให้เหลือสภาเดียว" และ "วัคซีน Sinovac ถึงคุณภาพจะต่ำ แต่ราคาก็สูงน่ะจ้ะ" อีกรูปแบบหนึ่งคือ ประชาชนปูกระดาษให้คนเข้ามาเขียนความฝันของตนเอง ถ้าหากการเมืองดีกว่านี้ ข้อความที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเขียนเช่น "Freedom of expression?", "เปิดธุรกิจกัญชา", "Artist" และ งานสังคมสงเคราะห์จะไม่ใช่แค่การแจกของ ถ้าการเมืองดี!!"

(อ้างอิง: https://www.mobdatathailand.org/case-file/1624624380205/)

28 ส.ค. 2564 “บิ๊ก” เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของ สน. ปทุมวัน ในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีร่วมปราศรัยในกิจกรรม #ราษฎรยืนยันดันเพดาน ครบรอบ 89 ปี การอภิวัฒน์สยาม เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564 ที่บริเวณสกายวอล์คแยกปทุมวัน

พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่า ในกิจกรรม #ราษฎรยืนยันดันเพดาน ที่บริเวณสกายวอล์คแยกปทุมวัน ซึ่งเกียรติชัยเข้าร่วมชุมนุมและทำการปราศรัย นอกจากเป็นการชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่ง พ.ต.ท.ธนพล ติ๊บหนู ได้แจ้งความดำเนินคดีนักกิจกรรม 11 รายแล้ว มะลิวัลย์ หวาดน้อย ยังได้เข้าร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับเกียรติชัย, เบนจา อะปัญ และวรรณวลี ธรรมสัตยา อ้างว่า ข้อความที่ทั้งสามปราศรัยมีลักษณะก้าวล่วงวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต มีเจตนาทำให้ประชาชนที่ได้รับฟังเกิดความเกลียดชังพระมหากษัตริย์

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาเกียรติชัยใน 3 ข้อหา คือ "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต"

เกียรติชัยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และให้การเพิ่มเติมว่า ตนมาชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ มีวัตถุประสงค์เพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีเจตนาจะดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตรย์ แต่พูดถึงอดีตกษัตริย์ในแนววิชาการ เขายังได้ลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาว่า “ปฎิรูปสถาบันกษัตริย์” จากนั้นพนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวไว้ เนื่องจากมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก

ต่อมา วันที่ 9 ก.ย. 2564 เบนจาและวรรณวลีที่ได้รับหมายเรียกในข้อหาตามมาตรา 112 จากกิจกรรมดังกล่าวด้วยเช่นกัน เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา และให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนพนักงานสอบสวนปล่อยตัวกลับ

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สน.ปทุมวัน ลงวันที่ 28 ส.ค. 2564 และวันที่ 9 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/34206)

ภูมิหลัง

  • เบนจา อะปัญ
    สมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผันตัวจากเยาวชนที่สนใจในประเด็นเรื่องสิทธิและการเมืองตั้งแต่สมัยอยู่ในรั้วโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สู่การเป็นนักเคลื่อนไหวอย่างเต็มตัวเมื่อเริ่มต้นก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย

    (อ่านเพิ่มเติม: https://tlhr2014.com/archives/24286)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์