สรุปความสำคัญ

"สุรีมาศ" หรือ "จีน่า" ชาวกระบี่วัย 52 ปี ถูกตำรวจไซเบอร์เข้าจับกุมตามหมายจับในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) หลังแชร์ลิงก์คลิปพิธีขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากกลุ่มเฟซบุ๊ก "รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส" โดยมี พรลภัส ศรีช่วย ประชาชนด้วยกันเองเข้าแจ้งความดำเนินคดี กล่าวหาว่า สุรีมาศโพสต์ข้อความพร้อมแปะลิงค์ ซึ่งเมื่อกดเข้าไปดูพบภาพ ร.10 (รูปโปรไฟล์ของกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส) จึงเข้าใจว่าโพสต์ของสุรีมาศกล่าวถึง ร.10 และเห็นว่าเป็นการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม หลังถูกจับตำรวจฝากขังสุรีมาศต่อศาล ทำให้ครอบครัวต้องใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์จำนวน 150,000 บาท เพื่อประกันตัว

กรณีนี้สะท้อนให้เห็นปัญหาของมาตรา 112 ที่ถูกตีความอย่างกว้างขวาง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานฝ่ายเห็นต่างทางการเมือง ทำให้มีประชาชนได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวาง แม้การกระทำจะไม่เข้าข่ายที่กฎหมายบัญญัติ

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • สุรีมาศ (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

7 เม.ย. 2565 เวลาประมาณ 11.20 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมสุรีมาศ (สงวนนามสกุล) ประชาชนชาวจังหวัดกระบี่วัย 52 ปี ที่บ้านพัก โดยแสดงหมายจับออกโดยศาลจังหวัดกระบี่ ลงวันที่ 7 ต.ค. 2564 โดยมี พ.ต.ท.โสภณ คงทอง พนักงานสอบสวน สภ.เมืองกระบี่ เป็นผู้ร้องขอออกหมาย ในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

ทั้งนี้ สุรีมาศไม่เคยได้รับหมายเรียกในคดีมาตรา 112 นี้มาก่อน แต่กลับถูกออกหมายจับในทันที ก่อนหน้านี้เธอเคยถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบในจังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 โดยเธอเดินทางไปพบตำรวจ สภ.เมืองกระบี่ และอัยการโดยตลอดในช่วงที่ผ่านมา และเพิ่งถูกฟ้องคดีที่ศาลแขวงกระบี่เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2565 โดยเธอไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีใดๆ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับมีการขอออกหมายจับในคดีนี้ และเพิ่งมีการจับกุมโดยหมายจับที่ออกตั้งแต่ 6 เดือนก่อนหน้านี้

เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจากกองบังคับการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5 สุราษฎร์ธานี ได้พาตัวสุรีมาศไปทำบันทึกจับกุมที่ สภ.เหนือคลอง โดยสุรีมาศไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม เนื่องจากระบุพฤติการณ์จับกุมไม่ตรงข้อเท็จจริง ก่อนชุดจับกุมพาตัวเธอไปยัง สภ.เมืองกระบี่ โดยมีญาติและทนายความอาสาติดตามไปที่สถานีตำรวจ และต้องรอพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีเดินทางมาสอบปากคำในเวลาประมาณ 20.00 น.

พ.ต.ท.ชาติชาย นาคปักษี พนักงานสอบสวน สภ.เมืองกระบี่ ได้เป็นผู้แจ้งข้อหาทั้งสองข้อหาต่อสุรีมาศ กล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 เวลาประมาณ 14.30 น. น.ส.พรลภัส ศรีช่วย ได้เข้าดูเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อเดียวกันกับสุรีมาศ และได้พบโพสต์ข้อความว่า “หนทางเดียวของกูละ ไอ่เปรตนี่..เด๋วกูจัด!!” พร้อมกับแนบลิงก์ไปยังกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส-ตลาดหลวง ซึ่งผู้กล่าวหาอ้างว่าเมื่อกดลิงก์เข้าไปดู เป็นภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 กำลังเล่นสไลเดอร์อยู่ จึงเห็นว่าเป็นการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ จึงมาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน

พนักงานสอบสวนอ้างว่าจากการตรวจสอบเฟซบุ๊กที่แชร์โพสต์ดังกล่าว ยืนยันว่าเป็นบุคคลเดียวกับสุรีมาศ จึงได้ยื่นคำร้องขอออกหมายจับผู้ต้องหาต่อศาลจังหวัดกระบี่

หลังทราบข้อกล่าวหา สุรีมาศได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังการสอบสวนและพิมพ์ลายนิ้วมือ ตำรวจควบคุมตัวไว้ที่ สภ.เมืองกระบี่ 1 คืน เพื่อนำตัวไปฝากขังต่อศาลในวันรุ่งขึ้น

8 เม.ย. 2565 หลังศาลจังหวัดกระบี่อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา ได้อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงิน 150,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์

ภายหลังได้รับการปล่อยตัว สุรีมาศได้เล่าเรื่องราวขณะถูกจับกุมในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ตนถูกจับกุมโดยตำรวจนอกเครื่องแบบและพยายามจะจับตนใส่กุญแจมือ ขณะที่ตนยังแต่งกายไม่เรียบร้อยใส่เพียงกระโจมอก โดยมีการขึ้นคร่อมตัวขณะที่ตนนั่งทรุดลงกับพื้นเพื่อพยายามจับกุมใส่กุญแจมือ แม้ว่าตนไม่ได้ขัดขืนการจับกุม ขณะนั้นมีมารดาของสุรีมาศอยู่ในเหตุการณ์แต่ถูกกันตัวออกไป

(อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สภ.เหนือคลอง ลงวันที่ 7 เม.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/42343)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์